สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๑.๖


ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย
ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย  (๑.๖)

 

 

ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์

เวลาต่อมา ได้มีผู้แทนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ทางเอเชียบูรพา คือ Dr. Victor G. Heiser เข้ามาดูกิจการสาธารณสุขในประเทศไทย ได้ทูลเชิญกรมพระยาชัยนาทฯ ไปทอดพระเนตรการสอนวิชาแพทย์ที่มนิลา และได้พบปะเจรจากับเจ้าหน้าที่กระทรวงธรรมการ และตกลงกันว่าถ้ารัฐบาลไทยจะเชิญให้มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เข้ามาช่วยเหลือปรับปรุงอย่างเป็นทางการ มูลนิธิฯ ก็ยินดีจะช่วย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการอยู่ขณะนั้น ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล และได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดการต่อไปได้ จึงได้มีหนังสือราชการติดต่อไปยังมูลนิธิฯ มีใจความสำคัญว่า “ประเทศไทยยินดีมอบให้แก่มูลนิธิฯ มีโอกาสช่วยในการศึกษาวิชาแพทย์ เช่นที่ได้ปฏิบัติในที่อื่น”

Dr. Richard M. Pearce ประธานแผนกการศึกษาวิชาแพทย์ของมูลนิธิฯ ได้เข้ามาดูกิจการของโรงเรียนแพทย์ในขณะนั้น แล้วได้มีจดหมายเสนอหลักการเกี่ยวกับความตกลงช่วยเหลือมาให้กระทรวงธรรมการพิจารณาหลักการสำคัญๆ มีดังนี้

๑. ให้รัฐบาลไทยกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับนายแพทย์เพิ่มขึ้นจาก ๘๐ บาท (อัตราในขณะนั้น) เป็น ๒ เท่า หรือมากกว่า

๒. ให้จัดแผนกวิชาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยตรงขึ้นที่ศิริราช

๓. การศึกษาวิทยาศาสตร์เบื้องต้นสำหรับชั้นเตรียมแพทย์ให้คงกระทำที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อไป โดยมูลนิธิฯ จะช่วยในการปรับปรุง

๔. ให้เลือกคนที่เหมาะสมจะทำหน้าที่หัวหน้าแผนกวิชาต่างๆ ในคณะแพทยศาสตร์รวม ๖ นาย ส่งไปเรียนเพิ่มเติมในต่างประเทศ ระหว่างนี้มูลนิธิฯ จะจัดส่งศาสตราจารย์มาทำหน้าที่ในแผนกเหล่านั้นไปก่อนจนกว่าเจ้าหน้าที่ไทยจะสามารถกลับมารับทอดการสอนไป

๕. ข้อตกลงเกี่ยวกับการก่อสร้าง คือให้รัฐบาลสร้างตึกพยาธิวิทยา (๘๐,๐๐๐ บาท) ตึกคนไข้หนึ่งหลัง จุสี่สิบคน (๘๐,๐๐๐ บาท) และตึกอำนวยการหนึ่งหลัง (๒๐๐,๐๐๐ บาท) ส่วนมูลนิธิฯ รับจะสร้างอาคารสำหรับแผนกสรีรวิทยา (๘๐,๐๐๐ บาท) อาคารสำหรับแผนกกายวิภาคศาสตร์ (๕๐,๐๐๐ บาท – ๘๐,๐๐๐ บาท) และตึกคนไข้หนึ่งหลัง (๘๐,๐๐๐ บาท)

๖. ให้ทางการตั้งศาสตราจารย์ชาวอเมริกันหนึ่งคนรับผิดชอบในการศึกษาแต่ไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองในคณะแพทยศาสตร์

นอกจากนี้ ยังแจ้งว่าในการจ้างศาสตราจารย์ต่างประเทศนั้น หากรัฐบาลไทยมีเงินไม่พอ มูลนิธิฯ ก็รับจะช่วยเพิ่มเงินให้จนครบ

กระทรวงธรรมการได้ตอบรับหลักการใหญ่ ส่วนรายละเอียด ได้ทูลขอให้สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเป็นผู้แทนในการเจรจา มีอำนาจเต็มแทนเสนาบดีกระทรวงธรรมการ

การประชุมมีขึ้นที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๔ ทางฝ่ายไทยมีสมเด็จพระบรมราชชนกเป็นผู้แทน ทางฝ่ายมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มี Dr. G.E. Vincent และ Dr. W. Rose เป็นผู้แทน ซึ่งทั้งสองมีความพอใจเป็นอย่างยิ่ง ในความใฝ่พระทัยของสมเด็จพระบรมราชชนกในเรื่องการศึกษาวิชาแพทย์ ทรงสนพระทัยในกิจการนี้อย่างยิ่ง และทรงสามารถแถลงความเป็นจริงอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถานการณ์ของการแพทย์ของประเทศไทยขณะนั้นการประชุมกับ Dr. G.E.Vincent นี้ได้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ที่สวิตเซอร์แลนด์

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ได้ทรงปรึกษากับ Dr. Vincent อีกครั้งหนึ่งที่กรุงเบอร์น สวิตเซอร์แลนด์ ในเรื่องการออกเงินช่วยในการสร้างและบำรุงโรงเรียนแพทย์อย่างใหม่ ทรงตระหนักถึงความลำบากที่จะต้องประสบในประเทศไทย ทรงทำให้ Dr. Vincent พอใจมาก เมื่อรับสั่งเป็นเชิงให้เข้าใจว่าต้องพระราชประสงค์จะให้มูลนิธิฯ ทราบถึงความเป็นไปโดยตลอดเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ในภายหน้า

สมเด็จพระบรมราชชนกทรงเจรจากับ Dr. Vincent เป็นครั้งแรกในกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ และได้กระทำต่อมาอีกที่กรุงลอนดอนและนิวยอร์คบรรลุผลสำเร็จให้รัฐบาลไทยและมูลนิธิฯ รับหลักการแน่นอน ดังนี้คือ

๑. ทางมูลนิธิฯ จัดส่งศาสตราจารย์ ๖ คนมาช่วยปรับปรุงการสอนในสาขาใหญ่ๆ ของคณะแพทยศาสตร์

๒. มูลนิธิฯ มีโครงการก่อสร้างโดยใช้เงิน ๑๒๕,๐๐๐ เหรียญ ต่อมาได้เพิ่มเป็น ๑๓๐,๐๐๐ เหรียญ

๓. มูลนิธิฯ ให้ทุนการศึกษาแต่อาจารย์ไทยไปศึกษา Post-Graduate ในต่างประเทศ

ต่อมามีโครงการก่อสร้างร่วมกันสำหรับโรงเรียนแพทย์และพยาบาล โดยทั้งสองฝ่ายออกเงินฝ่ายละ ๓๐๐,๐๐๐ บาท

Dr. Pearce ได้มาประเทศไทยและเจรจาเรื่องเพิ่มการช่วยเหลือแก่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพื่อปรับปรุงการสอนเตรียมแพทย์ โครงการนี้ได้เสนอให้สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับเองและมูลนิธิฯ ได้รับดำเนินการเป็นโครงการ ๕ ปี โดยรัฐบาลไทยรับจะสร้างตึกวิทยาศาสตร์หลังหนึ่ง ตั้งเงินเดือนศาสตราจารย์วิชา เคมี ฟิสิกส์ และชีววิทยาเดือนละ ๘๐๐-๑,๐๐๐ บาทส่วนมูลนิธิฯ จะหาศาสตราจารย์และจะเพิ่มเงินเดือนให้จนครบที่จะต้องจ่าย ทั้งจะให้ศาสตราจารย์ภาษาอังกฤษด้วยอีกคนหนึ่งเป็นเวลา ๓ ปี ในขั้นแรกไม่ได้มีสัญญาช่วยเหลืออาจารย์ไทย แต่ภายหลังมูลนิธิฯ ได้ส่งอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ไปเรียนเพิ่มเติม

ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ประสูติ

เสด็จนิวัติพระนคร ทรงปรับปรุงการแพทย์และพยาบาลในประเทศไทย

 

* ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

………….โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ………..

หมายเลขบันทึก: 40601เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท