สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๑.๒


"ดีแก เขาบังคับฉันอย่างนี้มากๆ เพราะว่าทางเมืองไทยเขาพะนอ ตัวฉันเคยตัวไปหมด สบายเกินไป”

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย
ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย  (๑.๒)

 

อ่านตอนที่ ๑  [ประสูติกาลเฉลิมพระนาม และพระชนม์ชีพในปฐมวัย]
อ่านตอนที่ ๑.๑ [ทรงเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ, พระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัตร, ทรงผนวช]

ทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ

             กล่าวได้ว่าพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแทบทุกพระองค์ที่ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์ จะต้องเสด็จไปศึกษาต่อในต่างประเทศ สมเด็จพระบรมราชชนกก็เช่นกัน หลังจากพิธีโสกันต์แล้วในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้เสด็จไปทรงศึกษาที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ เป็นเวลาปีครึ่ง    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้เสด็จไปศึกษาวิชาทหารบกที่เมืองปอตต์สดัม ประเทศเยอรมนี ทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนเตรียมนายร้อยนี้ ๑ ปี จากนั้นย้ายไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยที่ชานเมืองเบอร์ลิน (Gross Lichterelde) ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิเยอรมัน ไกเซอร์ วิลเฮล์ม ที่ ๒ ทรงโปรดให้แต่งตั้งนายร้อยเอก เอ็ก (Eck) เป็นนายทหารพี่เลี้ยง ทรงได้สิทธิพิเศษไม่ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนนายทหาร และประทับที่พระตำหนักส่วนพระองค์ได้    นอกจากสิทธิพิเศษ ๒ ประการนี้แล้ว ต้องทรงอยู่ในระเบียบวินัยและจรรยามารยาทอื่นๆ อย่างเคร่งครัด    แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการแบ่งเวลาทำงานบ้าน เวลาเสวย และเวลาทรงพระสำราญ  แต่พระองค์ก็มิได้ทรงรู้สึกอึดอัดพระทัย อีกทั้งรับสั่งกับผู้ใกล้ชิดที่ทูลถามว่า "ดีแก เขาบังคับฉันอย่างนี้มากๆ เพราะว่าทางเมืองไทยเขาพะนอ ตัวฉันเคยตัวไปหมด สบายเกินไป”

             เมื่อทรงสอบไล่ได้และสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก จะไปรับราชการเป็นนายสิบประจำกรมกองก็ต้องทรงเปลี่ยนแนวไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่จะให้พระองค์เสด็จไปศึกาาในโรงเรียนนายร้อยที่ Imperial German Naval College ที่โรงเรียนนี้ทรงฝึกอย่างหนักแบบพลทหาร มีการตีกรรเชียงเรือทุกวันถูล้างดาดฟ้าเรือ หัดเป็นช่างไฟใส่ถ่านหิน แต่ก็ทรงสนุกที่ได้ทรงทำหน้าที่ทุกอย่างที่นักเรียนเยอรมันต้องฝึก    พระวรกายที่เคยบอบบางก็แข็งแรงบึกบึนขึ้น

             ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในโรงเรียนการทหารเรือนี้ ทรงสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ และในปีสุดท้ายของการศึกษาทรงชนะการประกวดการออกแบบเรือดำน้ำ เมื่อมีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ สมเด็จพระบรมราชชนก ได้ทำการสอบไล่วิชาเฟนริช ณ โรงเรียนนายร้อยของเยอรมัน   สำเร็จทรงได้คะแนนดีเยี่ยมตามหลักสูตร เรียกอย่างเยอรมันว่า “Sehr Gut”  สมเด็จพระเจ้าไกเซอร์ ได้พระราชทานยูนิฟอร์มตำแหน่งยศนายเรือตรีของเยอรมันแต่สมเด็จพระบรมราชชนก ตั้งแต่แรกที่จะเข้าโรงเรียนให้เหมือนกับเจ้านายของเยอรมันเคยได้รับ เรื่องยูนิฟอร์มทหารเรือของเยอรมันนี้เป็นโอกาสพิเศษที่สมเด็จพระเจ้าไกเซอร์ ยังไม่เคยพระราชทานแก่เจ้านายต่างประเทศเลย

           สมเด็จพระบรมราชชนกพระราชทานทุน สั่งให้จัดสร้างโถเงินขึ้น มีลวดลายประกอบด้วยสิ่งสำคัญของไทยและมีพระบรมรูปเท่าเหรียญบาทติดอยู่ที่โถ สำหรับเป็นถ้วยหลวงพระราชทานแก่โรงเรียนนายเรือเยอรมัน เป็นรางวัลประจำในการแข่งขันกีฬาของโรงเรียนนั้น โดยทรงมุ่งมั่นจะกระชับสัมพันธไมตรี ระหว่างพระองค์ท่านกับโรงเรียนนายเรือ ที่ประทับรับการศึกษาอยู่ตลอดถึงกรมทหารเรือและผู้เป็นหัวหน้าทั่วไปให้เป็นการสนิทสนมยิ่งขึ้น ทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายเรือตรีแห่งราชนาวีในกองทัพเรือเยอรมันใน พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับพระราชทานพระยศจากเมืองไทยเป็นนายเรือตรีแห่งราชนาวีไทย เมื่อพระชนมายุได้ ๒๑ ปี อีก ๒ ปี ต่อมาได้ดำรงพระยศเป็นนายเรือโทเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้ทรงรับราชการในกองทัพเรือเยอรมัน เป็นเวลา ๓ ปี

               ในระหว่างที่ประทับประเทศเยอรมันนี้ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าไกเซอร์และพระมเหสีอย่างใกล้ชิดและร่วมเสวยพระกระยาหารด้วย   สมเด็จพระบรมราชชนกเคยทรงเล่าให้นักศึกษาแพทย์ฟังถึงพระอากัปกิริยาและพระนิสัยบางอย่างของทั้งสองพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้าไกเซอร์มีพระกรสั้นข้างหนึ่ง ไม่ทรงสามารถใช้ฉลองพระหัตถ์ส้อมและมีดพร้อมกัน จึงทรงมีฉลองพระหัตถ์ส้อมทองพิเศษข้างหนึ่งทำคมคล้ายมีด ทรงใช้พระหัตถ์ข้างเดียวหั่นเนื้อแล้วทรงจิ้มเข้าพระโอษฐ์รวดเร็วมาก    จนสมเด็จพระบรมราชินีเยอรมันเสวยตามไม่ทัน ทรงเล่าถึงสมเด็จพระบรมราชินีเยอรมันว่าทรงพิถีพิถันมาก ทรงวางสิ่งใดไว้ที่ใดแล้วกลับมาของสิ่งนั้นจะต้องวางไว้ที่เดิม มหาดเล็กต้องเอาดินสอวงไว้ เมื่อหยิบสิ่งใดไปจะได้นำกลับมาวางไว้ให้ถูกที่

            นอกจากนั้นทรงเล่าว่า การที่ได้ทรงย้ายไปเรียนที่ประเทศเยอรมนีนั้น ทรงพอพระราชหฤทัยมาก เพราะทรงสนพระทัยบทประพันธ์ของปราชญ์ชาวเยอรมันที่ชื่อเกอเต ความรู้ในภาษาเยอรมันของพระองค์ทำให้เข้าพระทัยบทประพันธ์ได้อย่างดี

 

เสด็จนิวัติพระนคร ทรงเป็นทหารเรือ

             เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ อุบัติขึ้น (พ.ศ. ๒๔๕๗) สมเด็จพระบรมราชชนกทรงออกจากกองทัพเยอรมันเสด็จกลับประเทศไทย และเข้ารับราชการในกองทัพเรือเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๘  ได้ย้ายไปประจำกองวิชาการ ในระหว่างที่ทรงรับราชการในกองทัพเรือทรงสนพระทัยในการสอนนักเรียนนายเรือมาก ทรงสามารถถอดปืนออกมาสอนมาแสดงทุกชิ้นและนำกลับเข้าที่เดิมได้เรียบร้อย

            ระหว่างที่ทรงเป็นนายทหารเรืออยู่นี้  ทรงขอร้องมิให้ตั้งแถวกองเกียรติยศรับเสด็จตามระเบียบของกองทัพเรือในสมัยนั้น  ซึ่งจะต้องตั้งแถวรับเสด็จพระราชวงศ์และไม่ทรงยอมให้นายทหารที่ยศสูงกว่าทำความเคารพพระองค์ก่อนในฐานะที่ทรงเป็นเจ้าฟ้า  แม้แต่การฝึกภาคทั่วไปก็ไม่ทรงยอมรับสิ่งใดที่เป็นพิเศษต่างจากคนอื่น

ทรงเป็นนายทหารนอกกอง กองทัพเรือ

              สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเป็นนายทหารแผนกเรือเล็ก เชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำ และเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่งซึ่งทรงศึกษามาจากประเทศเยอรมัน และทรงสนพระทัยอย่างยิ่ง ที่พระตำหนักเต็มไปด้วยแบบจำลองเรือรบแบบต่างๆ ที่ทำด้วยไม้

             มีอยู่คราวหนึ่ง  ทรงได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีกระทรวงทหารเรือ ให้ทรงวางแผนการจัดวางกำลังหน่วยเรือรบต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการรักษาอ่าวไทย   ทางฝ่ายทหารเรือ   ทรงจัดวางกำลังหน่วยเรือรบต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ ทรงได้รับคำชมเชยว่าดีมาก แต่ไม่มีงบประมาณพอจะจัดซื้อได้เร็วตามแผนการที่ทรงวางไว้ จึงทรงถามไปอย่างเป็นทางการว่าจะมีได้เมื่อไร ก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน สมัยนั้นเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะบูรณะกองทัพเรือ    ซึ่งในสมัยนั้นเล็กมาก  จึงได้จัดประชุมนายทหารเรือว่าควรจะจัดการอย่างไร    สมเด็จพระบรมราชชนกถวายความเห็นว่าเมืองไทยเป็นประเทศเล็กๆ ไม่มีฐานทัพเรือและอู่ใหญ่ๆ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะมีเรือรบขนาดใหญ่ ควรใช้เรือเล็กๆ เช่น เรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโด ซึ่งเข้าแม่น้ำได้สะดวกจะมีประโยชน์กว่า แต่ส่วนมากผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ได้เล่าเรียนมาจากประเทศอังกฤษ มีความเห็นว่าควรมีเรือใหญ่เพื่อจะได้อาศัยฝึกทหารไปในตัวและคิดว่าจะใช้เรือขนาดครูเซอร์ จึงได้จัดการเรี่ยไรสร้างเรือรบขึ้น ทรงไม่พอพระทัยที่พระราชดำริถูกขัดแย้ง แม้ในฐานะสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอก็มิได้ทรงถืออำนาจ ทรงยอมรับฟัง แต่น้อยพระทัยว่าทรงอุตส่าห์ไปเรียนวิชานี้โดยตรงมาจากเยอรมัน   ครั้นถึงเวลาจะปฏิบัติงานจริงๆ กลับไม่ได้ดังพระราชประสงค์     ต่อมาทรงลาออกจากประจำการ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙

              ตำแหน่งสุดท้ายที่พระองค์ทรงได้รับในกองทัพเรือคือได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนาวาเอก ดำรงตำแหน่งเป็นราชองครักษ์พิเศษ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๗

 

ทรงหันมาสนพระทัยโรงเรียนแพทย์

* ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

.................... โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ ...........................

หมายเลขบันทึก: 40438เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท