สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๑.๑


ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก   นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์    อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย

ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :  นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย  (๑.๑)

 อ่าน  [ประสูติกาลเฉลิมพระนาม และพระชนม์ชีพในปฐมวัย]

ทรงเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ

 

           สมัยนั้นเป็นประเพณีที่เจ้านายผู้ชายมักจะเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก สมเด็จพระบรมราชชนกก็ทรงเข้าเป็นนักเรียนพิเศษโรงเรียนนายร้อยพร้อมๆ กับพระเชษฐาและพระอนุชาคือ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกและสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์  เสด็จรับการฝึกหัดแถวทหารและกายบริหารที่โรงเรียนนายร้อยทุกๆ วันพุธ และตอนเช้าวันเสาร์ เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังประทับรถม้าพระที่นั่งไปพร้อมกันทุกพระองค์ในเวลาย่ำรุ่ง   แต่งพระองค์นักเรียนนายร้อยแต่ไม่มีเครื่องหมายเลขบอกชั้นอินทรธนู  และทางโรงเรียนนายร้อยได้คัดเลือกนักเรียนนายร้อยที่มีอายุและรูปร่างไล่เลี่ยทุกพระองค์ไว้ถวายอีก ๘ นาย    เพื่อรวมจำนวนสมทบจัดเป็นหน่วย ๑ หมู่ ๑๒ คน  สำหรับฝึกหัดเป็นหมู่ทหารราบมือเปล่า มีนายร้อยโทหยินเป็นครูถวายการฝึก   การฝึกแถวเริ่มเวลาประมาณ ๖.๓๐ น. ถึง ๘.๐๐ น. หลังจากนั้นทุกพระองค์จึงเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง

พระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัตร

             เมื่อพระชนม์ได้ ๑๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีมหามงคลโสกันต์ มีการสมโภช ๗ วัน ๗ คืน  ตั้งแต่วันที่ ๒๔ ถึง ๓๑ ธันวาคม พ.. ๒๔๔๖ หลังโสกันต์แล้ว เป็นราชประเพณีโบราณมา  ที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า   เมื่อทรงพระชันษาเจริญขึ้นสมควรกาลแล้วก็พระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามตามควรที่ตั้งอยู่ในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์     บางพระองค์โปรดเกล้าฯ  ให้ดำรงพระเกียรติยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมทรงศักดินาเต็มตามพระราชกำหนด   เป็นธรรมเนียมสืบมา  ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าชายมหิดลทรงพระเจริญวัย  สมควรที่จะได้รับพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามตามขัตติยราชประเพณีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   ให้มีพระราชพิธีตามอย่างที่เคยมีมาแต่ก่อน  ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าชายขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ   เจ้าฟ้าต่างกรม  มีพระนามตามจารึกในสุพรรณบัตรว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร  สมบูรณ์เบญจพรสิริสวัสดิ์  ขัตติยวโรภโตสุชาต  คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ์  ลักษณวิจิตร พิสิฎฐ์บุรุษย์ชนุดมรัตน์พัฒนศักดิ์  อรรควรราชกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์ มุสิกนาม  ให้ทรงศักดินา ๔๐,๐๐๐  ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าต่างกรมในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์” 

ทรงผนวช

             หลังจากพระราชพิธีโสกันต์ได้ประมาณ ๘ เดือน ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ทรงผนวชเป็นสามเณร ที่วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) ซึ่งการนี้มีการสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยระหว่างทรงผนวชนี้ ประทับที่ “ตำหนักทรงพรต” ทรงลาผนวชเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗

ทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ

  
* จากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

.................... โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ ...........................

หมายเลขบันทึก: 40436เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท