สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๑


                   วันนี้ขออนุญาตนำเสนอพระราชประวัติของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อวงการแพทย์ของประเทศไทย ให้ท่านได้ทราบกันค่ะ   โดยขอแบ่งเป็นสองตอนใหญ่ๆ คือ

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย

            นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งติดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย

ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

               นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย

ประสูติกาลเฉลิมพระนาม และพระชนม์ชีพในปฐมวัย  

             สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชปิโยรสพระองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ ๗ ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๔ มีพระนามเต็มว่า

 "สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดชนเรศวร มหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณ์เบญจพร สิริสวัสดิ์ ขัตติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ์ ลักษณะวิจิตรพิสิฏฐบุรุษย์ ชนุตมรัตนพัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร"

             เมื่อยังทรงพระเยาว์ ประทับอยู่กับสมเด็จพระราชชนนี ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีกรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ์ รับสั่งเรียกอย่างสนิทสนมว่า “ป้าโสม” เป็นผู้ถวายการดูแลอย่างใกล้ชิด พระพี่เลี้ยงคือ มจ. กุสุมา เกษมสันต์ และมีพระพี่เลี้ยงรุ่นเยาว์อีก ๔ คน เท่าที่ทราบนามคือ พระพี่เลี้ยง หวน และคุณพระอู่ พระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก ต้องเสวยน้ำมันตับปลาเป็นประจำ พระกระยาหารที่ทรงโปรดมากคือ ปลากุเลา กับส้มโอฉีก ส่วนเครื่องหวานทรงโปรดอ้อยควั่นแช่น้ำดอกไม้สด

            ได้รับการถวายพระอักษรตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มากที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวังโดยมีพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู) เป็นพระอาจารย์ภาษาไทยคนแรก ทรงมีพระปรีชาสามารถเหนือกว่าเจ้าฟ้าพระองค์อื่นๆ ที่ทรงศึกษาพร้อมกัน ในตอนแรกมิได้สนพระราชหฤทัยวิชาหนึ่งวิชาใด โดยเฉพาะต่อมาทรงสนพระราชหฤทัยภาษาอังกฤษมากขึ้น ทรงมีพระสหายสนิทคือ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ตั้งแต่เสด็จในกรมฯ มีพระชนมายุได้เพียง ๑๑ วัน เพราะเจ้าจอมมารดาถึงแก่อนิจกรรมในเวลาต่อมา เสด็จในกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นผู้ชักชวนสมเด็จพระบรมราชชนกให้ทรงหันมาสนพระทัยกิจการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย ซึ่งการเปลี่ยนพระราชหฤทัยครั้งนั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศ

             ในส่วนพระราชจริยาวัตรนั้นไม่ทรงถือพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ มีเรื่องเล่ากันมากมายในหมู่ผู้ใกล้ชิด ทรงโปรดให้พระพี่เลี้ยงช่วยในการถ่ายรูป โดยใช้ผ้าคลุมกล้องร่วมกับพระองค์ได้ ซึ่งผิดกับเจ้านายพระองค์อื่นๆ และในระหว่างที่ประทับอยู่กับสมเด็จพระราชมารดา ทรงมีโอกาสโดยเสด็จไปในที่ต่างๆ ได้ทรงพบเห็นประชาชนผู้มาเฝ้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่งสำหรับพระองค์ ถึงกับเคยทรงปลอมพระองค์เป็นสามัญชนตามเสด็จบิณฑบาต สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ขณะทรงผนวช คงเป็นด้วยเหตุนี้ ที่ทำให้เปลี่ยนพระราชหฤทัยมามุ่งทำนุบำรุงส่งเสริมกิจการแพทย์เนื่องจากทรงมีน้ำพระทัยเมตตากรุณาต่อบรรดาประชาราษฎร์

         เมื่อทรงพระเจริญวัยเสด็จศึกษาต่อในต่างประเทศ มีบางครั้งทรงโปรดรับนักเรียนทุนส่วนพระองค์ ซึ่งยังไม่ได้เข้าประจำมหาวิทยาลัยให้อยู่ร่วมกับพระองค์ด้วย มิใช่เพียงร่วมอพาร์ทเมนต์ ที่ทรงเช่าอยู่ บางครั้งถึงกับให้ร่วมห้องบรรทมด้วย นับเป็นความลำบากใจแก่ผู้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง

* จากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

 

.................... โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ ...........................

 

 

หมายเลขบันทึก: 39822เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท