สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๑.๓


ฉันจะไปเรียนหมอละ เพราะว่าเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งคนจนและคนมั่งมีและเจ้านายต่างๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศลในการรักษาพยาบาลได้ดี

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย

ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย  (๑.๓)

อ่านตอนที่ ๑  [ประสูติกาลเฉลิมพระนาม และพระชนม์ชีพในปฐมวัย]
อ่านตอนที่ ๑.๑ [ทรงเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ, พระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัตร, ทรงผนวช]
อ่านตอนที่ ๑.๒  [ทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ, เสด็จนิวัติพระนคร ทรงเป็นทหารเรือ, ทรงเป็นนายทหารนอกกอง กองทัพเรือ]

ทรงหันมาสนพระทัยโรงเรียนแพทย์

       ความน้อยพระทัยในเรื่องพระราชดำริถูกขัดแย้งนั้นมีมากถึงกับทำให้ทรงเผาตำราและแบบจำลองเรือรบต่างๆ ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นเองที่หน้าพระตำหนัก สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทรเสด็จไปเฝ้าและทรงโน้มน้าวให้หันมาสนพระทัยการแพทย์การสาธารณสุข

             เวลานั้นอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๙ กับ พ.ศ. ๒๔๖๐ สมเด็จพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลองและผู้บัญชาการาชแพทยาลัย ขณะนั้นสังกัดกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการปัจจุบัน) เมื่อเสด็จมาดำรงตำแหน่ง ทรงพิจารณาเห็นว่าโรงเรียนแพทย์อยู่ในฐานะลำบากมาก เมื่อเทียบกับโรงเรียนที่ได้เคยทอดพระเนตร ในทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ ทรงตกลงพระทัยที่จะปรับปรุงเป็นการใหญ่ แต่ต้องประสบอุปสรรคใหญ่ คือหาผู้มีวิชามาเป็นอาจารย์ไม่ได้ จึงได้ทรงพยายามชักชวนผู้ที่มีความรู้มาร่วมงาน โดยไม่คำนึงถึงชาติ วรรณะ ฉะนั้นอาจารย์ในเวลานั้นจึงมีชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน อิตาเลียน อินเดียน แคนาเดียน เดนมาร์ค และไทย

             ได้ทรงขอร้องให้กระทรวงธรรมการติดต่อกับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ให้ช่วยจัดอาจารย์ในวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา และศัลยกรรมด้วย ถ้าเป็นไปได้ ซึ่งในครั้งนั้นประเทศไทยได้ผู้เชี่ยวชาญมาเพียงคนเดียวคือ เอ.จี. เอลลิส (A.G. Ellis) ต่อมากลายเป็นกำลังสำคัญในการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ตามโครงการช่วยเหลือของมูลนิธิ หม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ซึ่งทรงสำเร็จวิชาพฤกษศาสตร์ และเคมีจากประเทศอังกฤษ ก็ทรงได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมสอนและต่อมาก็ได้เป็นคู่คิดของเสด็จในกรมฯ

          เหตุผลที่เสด็จในกรมพระยาชัยนาทฯ ทรงชักจูงให้สมเด็จพระบรมราชชนก มาช่วยในกิจกรรมโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลศิริราชนั้นได้ทรงนิพนธ์ชี้แจงไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “ความเป็นมาของโรงเรียนแพทย์” ว่าการที่ข้าพเจ้าได้ชักชวนให้เจ้าฟ้าพระองค์นี้มาช่วยในทางการแพทย์และทางโรงพยาบาลศิริราชนั้นมีเหตุผลสำคัญอยู่สามประการคือ

                ๑. ท่านเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง เท่าที่ข้าพเจ้าผู้เป็นแค่พระองค์เจ้าได้เข้าไปจัดการศึกษาวิชาแพทย์ และโรงพยาบาลอยู่แล้วนั้น ก็ได้ทำให้เรื่องนี้เด่นขึ้นและเข้าอยู่ในสายตาของคนมากขึ้นแล้ว ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงไปจนถึงคนอื่นๆ ทั่วๆ ไป     ถ้าให้เจ้าฟ้าเข้ามาช่วยด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้เรื่องนี้เด่นขึ้นไปอีก สมัยนั้นคนยังนับถือ คนยังนับถือเจ้านายอยู่มาก    ถ้ามีเจ้านายชั้นสูงๆ ทำอะไร คนก็มักจะเห็นว่าเรื่องนั้นต้องเป็นเรื่องสำคัญมากถึงกับเจ้านายชั้นสูงต้องทรงอุทิศพระองค์ให้แก่เรื่องนั้น

                ๒. เจ้าฟ้าพระองค์นี้มีพระปัญญาแหลม มีความเพียรแก่กล้า จะทรงทำอะไรก็ทำจริงไม่ย่อท้อ

                  ๓. ท่านเป็นผู้มีรายได้สูงมาก แต่ไม่ทรงใช้จ่ายในการบำรุงความสุขสำราญของพระองค์เองอย่างฟุ่มเฟือย โปรดบำเพ็ญกุศลสาธารณะ นึกถึงแต่สาธารณประโยชน์ ไม่ทรงแจกเงินแก่บุคคลเป็นส่วนตัวอย่างพร่ำเพรื่อ โปรดอุดหนุนแต่ผู้ที่ทรงเชื่อว่าจะเล่าเรียนมาทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้ดี และโปรดจ่ายเงินให้ทำอะไรเป็นปึกแผ่นยั่งยืนสำหรับชาติบ้านเมืองต่อไป

                 ตัวข้าพเจ้ามีรายได้น้อย จะทำอะไรแต่ละทีก็ต้องไปเที่ยวบอกบุญ ขอเงินจากผู้ที่มีทรัพย์และใจบุญ เงินของตัวเองไม่มีจะให้แต่เจ้าฟ้ามหิดลมีทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงจ่ายได้มากๆ เมื่อทรงทำเป็นตัวอย่างได้เช่นนี้แล้วก็เท่ากับเป็นผู้นำให้คนอื่นจำเริญรอยตาม…

            เสด็จในกรมฯ ทรงออกอุบายเชิญเสด็จประทับเรือยนต์ประพาสทางน้ำเพื่อให้คลายความกลัดกลุ้มพระทัย ทรงยืมเรือยนต์เล็กๆ ได้ลำหนึ่งโดยนำของเสวยไปด้วยและได้ทรงแวะรับหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม แล่นเรือไปตามคลองบางกอกใหญ่ผ่านเข้าคลองบางกอกน้อย และจอดพักเสวยพระกระยาหารตามใต้ร่มไม้ริมคลองสังเกตว่าค่อยทรงสำราญพระราชหฤทัยขึ้น พอเรือออกปากคลองบางกอกน้อย เสด็จในกรมฯ จึงได้ทูลเชิญขอให้ทรงแวะที่ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นที่ทำงานของพระองค์และหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม

           เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินฝ่านเข้าไปตอนในของโรงพยาบาลได้เห็นคนนั่งบ้างนอนบ้างเป็นกลุ่มๆ ตามใต้ต้นมะขามซึ่งปลูกไว้มาก ก็รับสั่งถามว่าคนเหล่านั้นเป็นใครมาทำไมกัน เสด็จในกรมฯ ทูลว่าเป็นคนไข้ที่มาคอยรับการรักษา แต่ไม่มีที่พัก เมื่อเสด็จเจ้าไปในเรือนคนไข้ทรงพระราชปรารภว่า เหมือนโรงม้าแต่ก็ยังมีไม่พอให้คนไข้อยู่อีก ได้เสด็จทอดพระเนตรห้องยา ซึ่งสมัยนั้นจ่ายทั้งยาไทยและยาฝรั่ง ทอดพระเนตรห้องคลอดบุตร ซึ่งมีสภาพเป็นเรือนไม้โกโรโกโส พื้นปูกระดานห่างๆ ไม่สม่ำเสมอ มีร่องโตๆ คนไข้นอนเรียงกันแออัด ทรงสลดพระทัยเป็นอันมาก เสด็จในกรมฯ และหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม ทรงเห็นว่าสมเด็จพระบรมราชชนกทรงทราบถึงความยากลำบากและขาดแคลนของศิริราชดีแล้ว จึงช่วยกันทูลเฃิญให้โปรดพระราชทานพระราชาอนุเคราะห์   แต่ทรงรับสั่งว่าพระองค์เป็นทหารเรือไม่มีความรู้ทางแพทย์จะช่วยได้อย่างไร     เสด็จในกรมฯ ทูลว่าพระองค์ก็ไม่ใช่แพทย์ มีความรู้ทางการศึกษา   ส่วนหม่อมเจ้าพูนศรีเกษมก็ทรงเรียนมาทางเคมีและพฤกษศาสตร์ แต่ก็ได้พยายามช่วยอย่างเต็มที่   เพราะเห็นความจำเป็นและคิดว่าถึงอย่างไรก็ดีกว่าไม่มีใครช่วยเลย มิได้ทรงตอบรับประการใด

        หลายวันต่อมาจึงได้ทรงแจ้งว่าตกลงพระทัยที่จะฃ่วยงานทางโรงเรียนแพทย์ แต่จะเสด็จออกไปศึกษาวิชาเฉพาะเสียก่อน เพื่อจะให้งานได้ผลจริงๆ ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ

         พลตรี พระศักดาพลรักษ์ เล่าไว้เมื่อคราวแสดงสุนทรพจน์ในวันมหิดลปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ที่หอประชุมราชแพทยลัย ศิริราชพยาบาลว่า   วันหนึ่ง ข้าพเจ้าซึ่งเวลานั้นรับราชการอยู่ที่กรมทหารช่าง จ.อยุธยา ได้ลงมาเฝ้าพระองค์ท่านที่กรุงเทพฯ ได้ทรงรับสั่งเล่าเรื่องดังกล่าว ให้ฟังและรับสั่งกับข้าพเจ้าว่า "ฉันจะไปเรียนหมอละ เพราะว่าเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งคนจนและคนมั่งมีและเจ้านายต่างๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศลในการรักษาพยาบาลได้ดี" ทรงรับสั่งต่อไปว่า "เมืองไทยเรา ถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเข้าบ้าง เขาว่าเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่จะรักษาพระเกียรติอยู่ก็ไม่ต้องทำงานอะไรกัน”

ทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

* ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

.................... โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ ...........................

หมายเลขบันทึก: 40439เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท