สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๑.๕


"เวลาฉันมาทำงานอยู่ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ควรจะถือเหมือนกับฉันเป็นนักเรียนผู้หนึ่ง และไม่ใช่เจ้านายเขาควรจะทำงานของเขาไป และช่วยฉันโดยตอบคำถามของฉัน”
ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย : นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก นับตั้งแต่ทรงพระราชสมภพ จนกระทั่งตัดสินพระทัยที่จะศึกษาวิชาการแพทย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของวงการแพทย์ไทย
ตอนที่ ๒ พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย :   นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ที่มีต่อวงการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย ในฐานะที่ทรงทุ่มเทพระองค์อย่างเต็มที่ในการใช้พระสติปัญญา พระวรกาย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อทรงพัฒนากิจการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก*

ตอนที่ ๑ จุดเริ่มการเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ไทย  (๑.๕)

อ่านตอนที่ ๑  [ประสูติกาลเฉลิมพระนาม และพระชนม์ชีพในปฐมวัย]
อ่านตอนที่ ๑.๑ [ทรงเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ, พระราชพิธีโสกันต์และพระราชทานพระสุพรรณบัตร, ทรงผนวช]
อ่านตอนที่ ๑.๒  [ทรงศึกษาต่อในต่างประเทศ, เสด็จนิวัติพระนคร ทรงเป็นทหารเรือ, ทรงเป็นนายทหารนอกกอง กองทัพเรือ]
อ่านตอนที่ ๑.๓ [ทรงหันมาสนพระทัยโรงเรียนแพทย์]
อ่านตอนที่ ๑.๔ [ทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขที่ประเทศสหรัฐอเมริกา]

เสด็จนิวัติพระนคร เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง

            ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้น มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี พระพันปีหลวง  ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระบรมราชชนก  ทรงศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ ๓ ของโรงเรียนสาธารณสุข  ได้เสด็จกลับมาร่วมในงานพระราชพิธี   และประทับอยู่ในพระนครชั่วระยะหนึ่ง  ก่อนที่จะเสด็จกลับสหรัฐอเมริกาเพื่อทรงศึกษาต่อ   ช่วงระยะเวลาที่ประทับอยู่ในพระนครนี้พระองค์มิได้ทรงอยู่เฉย  แต่กลับเสด็จห้องทดลองที่ศิริราช  เพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเชื้อโรคบิดอะมีบาและตัวเชื้อโรคไข้มาลาเรียที่ทรงศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด

             เมื่อทรงแสดงพระราชประสงค์จะเสด็จทำการทดลองที่ศิริราชนั้น   เป็นที่ปริวิตกของผู้เกี่ยวข้องมาก   แม้แต่ ดร. เอลลิส ซึ่งเป็นคณบดีในเวลานั้น  เพราะขณะนั้นห้องทดลองเล็กและแคบมาก  เครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่พอใช้    เทียบกันไม่ได้กับห้องทดลองของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประกอบกับพระองค์ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูง  จึงเป็นที่เกรงพระบารมีกันมาก      ในครั้งแรกที่เสด็จนั้น ผู้ที่ช่วยทำงานในห้องทดลองแทบจะทำอะไรกันไม่ได้ เมื่อรับสั่งถามอะไรก็ตามกันไม่ได้เนื้อถ้อยกระทงความ เมื่อทรงทราบถึงสาเหตุก็มีรับสั่งว่า "เวลาฉันมาทำงานอยู่ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ควรจะถือเหมือนกับฉันเป็นนักเรียนผู้หนึ่ง และไม่ใช่เจ้านายเขาควรจะทำงานของเขาไป และช่วยฉันโดยตอบคำถามของฉัน” ซึ่งทำให้ความประหม่าของผู้ร่วมงานลดน้อยลง แต่ก็ยังไม่มากตามพระราชประสงค์

           หลักสูตรวิชาสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เรียนจะต้องสำรวจการสุขาภิบาลของเมืองใดเมืองหนึ่งโดยละเอียด คือต้องทำรายงานแผนผังแสดงฐานะความเป็นจริงของเมืองนั้นในเรื่องถนนหนทาง บ้านเรือน วิธีการอยู่กิน การระบายถ่ายน้ำเสีย การทิ้งขยะมูลฝอย การประปา การตลาด และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอนามัยของประชาชน จึงทรงมีพระราชประสงค์จะสำรวจการสุขาภิบาลในจังหวัดพระนคร  อันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับบ้านเมืองของพระองค์ท่าน แต่การนี้มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ต้องเลิกไป เพราะการจะไปสำรวจที่แห่งใด ก็จะต้องทรงแจ้งพระราชประสงค์ไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อเป็นเช่นนั้นเวลาใดที่เสด็จที่ใด ก็จะมีพิธีการรับรอง ตกแต่งสถานที่ มีข้าราชการเสมียนพนักงานคอยเฝ้ารับเสด็จอย่างเต็มพิธีการ ถ้าทรงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรที่ใด เช่น ตลาด ก็จะมีการจัดทำความสะอาดล่วงหน้าก่อนการเสด็จ ทำให้ไม่ได้เห็นความเป็นจริง มีผู้แนะนำว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็อาจเสด็จโดยไม่แสดงพระองค์ ไม่ต้องทรงขออนุญาตเป็นทางการ หรือห้ามการรับรองทางราชการ ก็ย่อมจะทรงทำได้ ความนี้ทรงอธิบายว่าจะทรงทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะไม่ถูกต้องตามทางการ พระองค์จำต้องขออนุญาตก่อนและก็เป็นธรรมเนียมที่ข้าราชการจะต้องรับรอง ถ้าจะเสด็จโดยไม่แสดงพระองค์หรือไม่บอกล่วงหน้า ก็จะเป็นที่ขัดใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีความประสงค์จะเคารพนบนอบต่อพระองค์ทรงเห็นว่าไม่ถูกต้อง

           พระองค์จึงทรงเลิกการเสด็จไปสำรวจที่ต่างๆ ได้แต่ทำการค้นคว้าทดลองอยู่ในห้องทดลองที่ศิริราช และทรงสอนนักศึกษาเตรียมแพทย์ในแผนกอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่ง ทรงโปรดการค้นคว้าหาความรู้ด้วยพระองค์เอง ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องตัวพยาธิในเลือดของคนไทย ทรงคิดที่จะตรวจจากเลือดของนักโทษในเรือนจำ และจำเป็นต้องได้เลือดในเวลากลางคืน เพราะเวลานั้นตัวพยาธิอ่อนวิ่งวนเวียนอยู่ใกล้ผิวหนัง จึงเสด็จไปเจาะเลือดนักโทษ ๑๒๘ คน กับ ดร.เอลลิส เสด็จถึงเมื่อเวลาเที่ยงคืนพอดี พ.ต. อัทย์ หะสิตเวช ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า “ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ (น่าจะคลาดเคลื่อน ควรจะเป็นปี พ.ศ. ๒๔๖๓ อันเป็นปีที่เสด็จกลับพระนครเพื่อทรงร่วม พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ นั้นยังคงทรงศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด)

         สมเด็จพระราชบิดาได้เสด็จเข้าไปในกองมหันตโทษพระนครเวลา ๑ ทุ่ม  มีนายแพทย์อเมริกัน ๑ คน ตามเสด็จเข้าไปประทับที่ห้องรับแขกแล้วเจ้ากรมก็ไปเรียกนักโทษทหารมาเฝ้า ๑๐ คนด้วยกัน ทรงรับสั่งว่า  ฉันจะขอเลือดไปตรวจย้อมเชื้อไข้จับสั่นดู ท่านทรงเจาะด้วยเข็มที่ใบหู มีแพทย์อเมริกันคอยช่วยเอากระจกแตะเลือดจากทุกๆ คน  แล้วรับสั่งถามว่าเป็นนักโทษพวกไหนเจ้ากรมทูลว่า พวกปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ เสร็จแล้วท่านลาพระยาพัศดีกลางเจ้ากรมแลหันมายิ้มกับพวกนักโทษว่าขอบใจที่ให้เลือดแก่ฉัน แล้วเสด็จกลับ”

             และต่อมาอีก ๓ วันก็เสด็จอีก โดยคราวนี้ทรงขอทอดพระเนตรห้องส่วนในเรือนจำเพื่อตรวจดูพยาธิปากขอ ทำให้นักเรียนแพทย์ที่ตามเสด็จกระอักกระอ่วนอย่างยิ่ง เพราะส้วมนั้นสกปรกอย่างยิ่งและจากนั้นก็ได้เสด็จที่ขังนักโทษ ซึ่งอยู่กันอย่างยัดเยียดมาก มีทางระบายอากาศไม่เพียงพอ  ห้องมีกลิ่นเหม็นสาบ อบอ้าว ทรงเห็นว่าเหมือนเอาพลเมืองมาเพาะเชื้อโรค     จึงทรงโปรดฯ ให้ขยับขยายและให้เจาะช่องระบายลมเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

           ได้เคยมีพระราชดำริที่จะใช้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเพิ่งตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗  เป็นที่ฝึกหัดบำบัดโรค แทนโรงพยาบาลศิริราช เพื่อจะได้รวมนักศึกษาทุกสาขาเข้าไว้ในบริเวณเดียวกันทั้งหมดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าการดำรินี้เป็นผลสำเร็จโรงเรียนราชแพทยาลัยก็คงจะถูกย้ายไปจากโรงพยาบาลศิริราช   แต่เมื่อตกลงกันแน่นอนว่าจะยังคงใช้โรงพยาบาลศิริราชเป็นที่ฝึกหัดบำบัดโรคของโรงเรียนแพทย์ต่อไป ก็ต้องมีการปรับปรุงขยายเนื้อที่และกิจการของโรงพยาบาลให้เหมาะสมกับการจะเป็นโรงเรียนแพทย์

             ขณะนั้นเป็นเวลาเดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกประทับอยู่ในประเทศไทย และทรงสนพระทัยที่จะบำรุงโรงพยาบาลศิริราช “ทางฝั่งพระนครมีโรงพยาบาลสมัยใหม่ที่มีทุนรอนมากตั้งอยู่แล้ว ส่วนทางฝั่งธนบุรีโรงพยาบาลยังไม่เจริญพอ และเป็นโรงพยาบาลที่เก่าแก่เป็นโรงเรียนเพาะนายแพทย์ด้วย” (โรงพยาบาลสมัยใหม่ ทรงหมายถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) จึงได้ทรงรับเป็นพระธุระในการจัดหาเงิน เพื่อสร้างตึกใหม่ให้กับแผนกพยาธิวิทยาและห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล ทรงสัญญาว่าจะทรงออกค่าก่อสร้างเอง ถ้ารัฐบาลจะออกค่าอุปกรณ์ภายในตึก และออกเงินสำหรับจ้างบำรุงต่อไป สุดท้ายรัฐบาลก็ยอมรับสร้างตึกพยาธิวิทยาให้พร้อมทั้งเครื่องใช้สอย ตามข้อตกลงกับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ซึ่งฝ่ายไทยมีพระองค์เป็นองค์ผู้แทนในการเจรจา

          เมื่อรัฐบาลรับที่จะสร้างตึกพยาธิวิทยา รวมทั้งซื้ออุปกรณ์ต่างๆ เอง จึงพระราชทานเงินจำนวน ๘๐,๐๐๐ บาท (เงินจำนวนนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าพระราชทานเพื่อให้ทรงสร้างวังที่ประทับ) ที่ทรงพระราชดำริว่าจะทรงออกให้เป็นค่าก่อสร้างมาสร้างตึกศัลยกรรมชายแทน ต่อมาภายหลังจากที่เสด็จทิวงคตแล้ว จึงใช้ชื่อว่า ตึกมหิดลบำเพ็ญ เพราะไม่ทรงยอมให้ใช้พระนามเป็นชื่อตึกขณะยังทรงพระชนม์ชีพอยู่

           ในการวางแผนผังเพื่อสร้างตึกพยาธิวิทยา ทำให้เห็นว่าเนื้อที่ของโรงพยาบาลนั้นคับแคบมาก ต้องขยายออกไป จึงได้ทรงติดต่อเจรจาจนได้ที่ดินเพิ่มเติมให้กับโรงพยาบาลทางด้านที่ติดต่อกับทางรถไฟสายใต้

            ในวันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้ทรงบริจาคเงินจำนวนสองแสนบาทแก่มหาวิทยาลัย     เนื่องในการฉลองวันพระราชสมภพพระชนมายุครบ ๒๘ พรรษา และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนกนาถและสมเด็จพระอัยยิกา ทั้งนี้เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้เก็บดอกผลจากเงินทุนเป็นทุนส่งนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศ เป็นเวลาคนละ ๔ ปี เพื่อศึกษาวิชาแพทย์หรือเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา   ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญในการเรียนแพทย์

            การพระราชทานทุนนี้ก็เพราะทรงเล็งเห็นว่า เพื่อจะได้ครูในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่ดี ซึ่งเป็นรากเหง้าของวิชาการแพทย์    ทุนนี้เป็นส่วนที่ตั้งใหม่ นอกเหนือจากที่ได้พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ๒ คนแรกที่ไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐

             ในการพระราชทานทุนนี้ ทางมหาวิทยาลัยต้องการที่จะทำพิธีรับมอบอย่างถูกต้องเต็มขบวนการ แต่ก็ทรงปฏิเสธที่จะเสด็จร่วมงาน เพราะไม่ทรงต้องการจะเสด็จไปฟังผู้คนยกย่องสรรเสริญ ทรงปรารภว่าไม่มีหน้าที่จะเสด็จในการชุมชน ทรงทำตามหน้าที่ที่มีต่อมหาวิทยาลัยเท่านั้น ถ้าเสด็จก็เท่ากับทรงสนับสนุนการยกยอพระคุณซึ่งไม่ใช่ทางปฏิบัติของพระองค์ ในที่สุดงานนั้นก็ต้องระงับไป

          ระหว่างที่ประทับอยู่ในพระนครนี้ นอกจากพระราชกรณียกิจที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังทรงปลีกเวลาเรียบเรียงเรื่อง โรคทุเบอร์คุโลสิส คือโรคฝีในท้องหรือวัณโรค พระราชทานแก่กรมสาธารณสุขเพื่อจัดพิมพ์ ได้พระราชทานหนังสือนี้เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้าจักรพังษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓

                เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ วังสระปทุม ถนนพระราม ๑ สมเด็จพระบรมราชชนก ได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฎ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ผู้ซึ่งสำเร็จวิชาพยาบาลจากโรงพยาบาลศิริราช    แล้วได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาที่เมืองบอสตัน     เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๖๓ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้จัดเลี้ยงฉลองอภิเษกสมรสถวายที่ตำบลศาลาแดง ภายหลังการอภิเษกสมรสแล้ว สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีได้เสด็จไปสหรัฐอเมริกาอีกครั้งหนึ่งโดยผ่านทางยุโรปเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๓  เพื่อทรงศึกษาต่อ    ในการเสด็จอเมริกาครั้งนี้ ได้ทรงพระราชทานทุนพิเศษเพิ่มเติมส่วนพระองค์แก่เจ้าหน้าที่ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับพระองค์ให้ตามเสด็จไปด้วย เวลาต่อมาเมื่อเข้ารับราชการได้เป็นหัวหน้าแผนกพยาธิวิทยาแห่งคณะแพทยศาสตร์ (ศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม พรมมาส)

           ทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข (C.P.H.) เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๔ และได้เสด็จไปยุโรปลงเรือที่เมือง Boston ถึงอังกฤษเมื่อ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ พร้อมพระชายา   และทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์

ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยเจรจากับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ 

 

* ตัดตอนจากหนังสือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก. สภาอาจารย์ศิริราช, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, พิมพ์ครั้งที่ ๓, กรุงเทพฯ ไพศาลศิลป์การพิมพ์ ๒๕๒๖

………….โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ………..

หมายเลขบันทึก: 40594เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท