เขียนบทความดั่งเช่นนิยาย


“ยานอนหลับที่ดีที่สุดชนิดหนึ่งก็คือ การอ่านหนังสือ” หนังสือมันน่าเบื่อขนาดนั้นเลยเหรอ ,ทำไมคนอ่านนิยายถึงติดกันงอมแงม อ่านแล้วไม่ยอมหลับยอมนอน และถ้าผมเขียนบทความทางวิชาการได้เหมือนกับนิยายได้ก็คงจะดีครับ , เคยถูกเพื่อน ๆ อาจารย์ประณามว่า “เป็นกบฏทางวิชาการ” เพราะนักวิชาการต้องเขียนอะไรที่เป็นระเบียบ แบบแผน ให้ถูกต้องตามหลักครูบาอาจารย์ ใช้ภาษาให้ถูกต้อง ใช้ภาษาอังกฤษเยอะ ๆ และต้องใช้ภาษาที่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกถึงจะดี

วันนี้เมื่อได้อ่านบันทึกเรื่อง

ห้องเรียนพัฒนบูรณาการศาสตร์ข้างตลาดโต้รุ่งเมืองกาฬสินธุ์ ความสำเร็จแห่งการเขียนบันทึก..  ของนายบอน ที่ได้เขียนถึงผมและน้องพิไลไว้ว่า...

บันทึกธรรมดาๆ แต่ประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับเด็กวัยรุ่นแถวตลาดโต้รุ่งได้

 

 “ถึงแม้ว่า จะไม่ได้ไปนั่งเรียนปริญญาเอกด้วย หากเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆไปเรื่อยๆจนเรียนจบ ก็เหมือนกับคนอ่านได้ซึมซับความรู้จากห้องเรียนปริญญาเอกไปด้วย

 

ถือว่า เป็นบล็อกที่ได้รางวัลขวัญใจเด็กตลาดโต้รุ่งเลยนะครับเนี่ย””

 

          รางวัลที่คุณบอนมอบให้ผมและน้องพิไลนั้น ถือว่าเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ ครับ โดยเฉพาะคำพูดสั้น ๆ ที่เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่กาฬสินธุ์ ที่พูดว่า เหมือนได้ไปนั่งเรียนในห้องเรียนพัฒนศาสตร์ด้วย เป็นคำพูดที่ยิ่งใหญ่และสรุปความหมายของ การจัดการความรู้ ได้อย่างมีสีสันมาก ๆ เลยครับ

 

          กาลครั้งหนึ่งไม่นานเท่าไหร่... เคยมีเพื่อนอาจารย์พูดกับผมบ่อย ๆ ว่า ผมเขียนบทความเหมือนเขียนนิยาย คำพูดนี้ทำให้ผมอึ้งไปเลย อึ้งนี่ไม่ได้หมายความโกรธเขานะครับ แต่ที่อึ้งก็เพราะผมคิดว่า

เราเขียนได้น่าอ่านเหมือนนิยายเลยเหรอ

          ในอดีตและปัจจุบันได้ยินเพื่อนพูดบ่อย ๆ และผมเองยังเคยพูดเลยว่า  ยานอนหลับที่ดีที่สุดชนิดหนึ่งก็คือ การอ่านหนังสือ หนังสือมันน่าเบื่อขนาดนั้นเลยเหรอ

          ผมก็เลยกลับมาคิดว่าแล้วทำไมคนอ่านนิยายถึงติดกันงอมแงม อ่านแล้วไม่ยอมหลับยอมนอน และถ้าเราเขียนบทความทางวิชาการได้เหมือนกับนิยายได้ก็คงจะดีครับ

          ผมก็เลยลองถอดรหัส นิยาย ออกมาว่า เอ๊ะ นิยายมีอะไรที่ทำให้คนอ่านถึงติดกันได้งอมแงม"  เหมือนกับดูหนังดูละคร วันนี้มีแดจังกึม เราต้องรีบกลับบ้านไปดูให้ได้ ทำไมไม่เหมือนกับตอนเรียนหนังสือหรืออ่านหนังสือน๊า 

          ผมก็เลยได้ถอดรหัสปัจจัยของนิยายออกมาง่าย ๆ อยู่สองสามประการครับ นั่นก็คือ อ่านง่าย เข้าใจง่าย มีสีสัน เต็มไปด้วยบริบท และมีองค์ประกอบที่ต่าง ๆ ที่เข้ากัน นั่น ปาเข้าไปห้าประการเลยครับ 

            จากนั้นผมก็เลยพยายามเขียนบทความและสิ่งต่าง ๆ ออกมาให้คนอ่าน เคี้ยวง่าย กลืนง่าย  จนเคยถูกเพื่อน ๆ อาจารย์ประณามว่า

เป็นกบฏทางวิชาการ

            เพราะนักวิชาการต้องเขียนอะไรที่เป็นระเบียบ แบบแผน ให้ถูกต้องตามหลักครูบาอาจารย์ ใช้ภาษาให้ถูกต้อง ใช้ภาษาอังกฤษเยอะ ๆ และต้องใช้ภาษาที่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกถึงจะดี

 

            แต่ผมกลับคิดว่า การเขียนบทความหรือแม้กระทั่งหนังสือ จุดมุ่งหมายหลักอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไงนะ ที่ให้คนอ่านเข้าใจ แทนที่จะแสดงว่า คนเขียนนั้นเก่งอย่างไร นอกจากจะอ่านเข้าใจแล้ว ตัวหนังสือของเราจะต้องทำให้คนอ่านนั้นคิดตาม จินตนาการตามและทำตามได้ด้วย

พูดให้คิดยังทำได้เลยแล้วเขียนให้คิดทำไมจะทำไม่ได้ และถ้าเขียนให้ทำได้ด้วยแล้ว นี่สิ จุดมุ่งหมายของนักวิชาการ

 

                 เหมือนกับครั้งที่ผมนั่งรถไปกับ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ท่านได้เล่าถึงการแปลหนังสือเล่มแรกของท่าน ท่านเล่าให้ฟังว่า ผมอ่านแล้ววางไม่ลง อ่านแล้วแปล แล้วนอนไม่หลับ  

                 ถ้าหนังสือ หรือบทความของบ้านเราทำให้คนอ่านอ่านแล้ววางไม่ลงหรืออ่านแล้วนอนไม่หลับ ต้องคิดตามอยู่ตลอด ก็คงจะดีมาก ๆ เลยครับ

                 ตั้งแต่ผมได้เกิดมาลืมตาดูโลก เคยมีอยู่สิ่งหนึ่งครับที่ทำให้ผมหลับไม่ลง “Full House” Series เกาหลี วันนั้นผมได้ยืมน้องที่เป็นอาจารย์เอกภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยฯ มาดู ชุดแรกมีทั้งหมด 8 แผ่น ชุดที่สองอีก 8 แผ่นครับ รวมทั้งหมด 16 แผ่น

                ซึ่งโดยปกติผมจะไม่ค่อยชอบดูหนังแนวนี้อยู่แล้วครับ เพราะเมื่อก่อนคิดว่า มันช่างไร้สาระสิ้นดี จะดูแต่หนัง Action ฆ่า กัน ยิง กัน ระเบิดตูมตาม แต่หนัง Action นี่ ดูแล้วก็หลับไม่ลงเหมือนกันครับ เพราะมันทำให้สมองเครียด โดยเฉพาะยิ่งดูก่อนนอน หนังพวกเลือดท่วมจอ ดูแล้วนอนไม่หลับเลย

                แต่เมื่อตอนนั้นได้ดู Full House กะว่าจะดูแค่แผ่นเดียว แต่พอดูเข้าไปจริง ๆ ปาเข้าไป 6 แผ่นครับในคืนเดียว ตั้งแต่ 3 ทุ่มถึง ตีสี่กว่า ๆ ครับ

              พอตอนเช้า ผมก็มานั่งคิดว่า ทำไมนะ เราถึงเป็นได้ขนาดนั้น ก็เลยเริ่มถอดบทเรียนตัวเองถึงสิ่งที่เราได้สัมผัส ก็ได้พบตั้งแต่การเดินเรื่องของผู้เขียน การเลือกตัวละคร องค์ประกอบต่าง ๆ ฉาก เสื้อผ้า เพลงประกอบ ทุกอย่างที่สามารถส่งผ่านทั้งหูและตาออกมาทางโทรทัศน์ได้ เราจะต้องใช้สิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

               ประกอบกับการทิ้งประเด็นไว้ให้ติดตาม ตามหลักนิเทศศาสตร์และบริหารธุรกิจ พอจะจบแผ่น ก็ทิ้งประเด็นให้ผู้ชมอยากดูต่อแผ่นต่อไปเร็วๆ  จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม ถ้ามีแผ่นที่สี่ ห้า หก อยู่ในมือ ก็จะต้องเปิดดูให้หมด เพราะน่าติดตาม ดูหมด 16 แผ่นแล้ว ก็ต้องให้เขาดูได้อีกหนึ่งรอบ ดูหนังเสร็จแล้ว ต้องทำให้เขาไปซื้อ CD เพลงมาฟัง ซื้อ CD เพลงแล้ว ต้องไปดูคอนเสิร์ต ต้องชอบตัวศิลปิน ชอบศิลปินก็จะทำให้ติดตามไปดูเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

 

              ดังนั้นถ้าเราทำให้อะไรต่าง ๆ ที่มันเป็น วิชาก๊าน วิชาการ อ่านง่าย เคี้ยวง่าย น่าติดตาม นอนไม่หลับและวางไม่ลง อ่านแล้วต้องติดตาม ทำตาม คลั่งไคล้ทฤษฎี ต้องนำทฤษฎีนี้ไปใช้ นำทฤษฎีโน้นไปใช้ ใช้เดี๋ยวนี้ บัดนี้ ใช้แล้วใช้อีก ๆ ๆ ๆ ๆ ใช้แล้วบอกต่อ เหมือนกับที่เราดูหนัง หนังดีก็อยากให้เพื่อนดู คนรักที่อยู่รอบข้างดู ฉันใดก็ฉันใด หนังสือดี บทความดี ก็อยากให้เพื่อนอ่าน เพื่อนดู เพื่อนลองทำ

เรามาร่วมกันเขียนสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกันเถอะครับ

  

อยากให้เด็ก ๆ และทุก ๆ คนยกโป้งให้กับพวกเราแบบนี้ตลอดไปครับ

หมายเลขบันทึก: 40585เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

แหมหยิบยกโยงประเด็นได้เห็นภาพที่ชัดเจน และใกล้ๆตัวของคนอ่านแบบนี้นี่เอง ไม่ต้องเขียนในแบบนิยาย คนอ่านก็ติดกันงอมแงมได้เหมือนกันนะครับ

รางวัลเล็กๆ แต่ธรรมดา ที่โดนใจเด็กวัยรุ่น ใช่ว่าจะได้กันง่ายๆซะที่ไหนล่ะครับ เพราะข้อมูลที่มีประโยชน์ พวกเขาไม่มีโอกาสเข้าถึง เข้าเนตก็จะเล่นเกมส์ ดูเวบบันเทิง chat กันอย่างเดียว

 

เมื่อเปิดดูข้อมูลความรู้ ก็รู้สึกหนักสมอง หลายเรื่อง หยิบยกประเด็นเรื่องไกลตัวของพวกเขา แล้วเขาจะเข้าใจได้อย่างไรกัน

ผู้มีความรู้หลายท่าน มักจะหยิบยกทฤษฎีมรตำรามาอธิบายขยายความ  และเกิดความรู้ ความเข้าใจเฉพาะผู้ที่มีพื้นฐานความรู้มาก่อน

  แต่เรื่องธรรมดาสามัญกลับไม่เคยถูกหยิบยกมากล่าวถึง ทำให้ระยะทางระหว่างความเข้าใจข้อมูล ยิ่งห่างออกไปอีก

ถ้าการเขียนข้อความแล้วสามารถสื่อความหมายให้เข้าใจง่ายแ้ล้ว ถือว่า เป็นการสร้างสรรค์องค์ความรู้และให้กลุ่มเด็กและเยาวชนได้เห็นว่า ความจริงมีข้อมูลที่ใกล้ตัวและเข้าใจได้ง่าย ใช่ว่า ข้อมูลความรู้ วิชาการจะเป็นยิ่งที่ย่อยยาก เสมอไป

  • ผมเขียนบทความให้เข้าใจง่าย ไม่ใช้ศัพท์ทางวิชาการมากนัก เพราะบางคนต่างสาขาจะไม่เข้าใจ พยายามเขียนเหมือนกับว่าเราเล่าให้เขาฟังครับ
  • ดีใจที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ
  • สนใจตามไปอ่านในวารสารวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการนะครับ

บรรยากาศแบบที่อาจารย์ว่า ดิฉันเคยสัมผัสค่ะ เมื่อสมัยเรียนมัธยม ก็ 30 ปีที่ผ่านมานี่เอง ในวิชาประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าวิชานี้ เป็นยานอนหลับขนานเอก แต่มีอาจารย์ท่านหนึ่งจำได้แต่ชื่อคือ อาจารย์อัจฉรา จำนามสกุลไม่ได้แล้ว พอถึงชั่วโมงประวัติศาสตร์ดิฉันจำได้ว่าอยากเรียนมากๆ สนุกมาก จำติดตาจนถึงเดี๋ยวนี้ทั้งลีลาการสอน เนื้อหาซึ่งว่าด้วยสงครามเก้าทัพ อาจารย์อธิบายเหมือนได้ดูหนังเลย มีตัวละครยกทัพกันไปยกทัพกันมา มีพระเอกมีผู้ร้าย ด้วย อาจารย์ก็ตัวเล็กๆกระโดดไปทางโน้นทีทางนี้ทีของกระดานดำด้วยท่วงท่าที่ว่องไวกระฉับกระเฉง เสียงดังฟังชัด  นักเรียนงี้นั่ง ตัวไม่กระดิกเลย

บอกได้คำเดียวว่า "สุดยอด" ถ้าเรียนวิชาอื่นๆสนุกเหมือนเรียนวิชานี้ดิฉันว่า ถ้าให้เลือกระหว่างไปเที่ยวศูนย์การค้ากับไปโรงเรียน ดิฉันตอบโดยไม่ต้องคิดเลยว่าไปโรงเรียนสนุกกว่ากันเยอะเลย

อยากให้บรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นกับนักเรียนในทุกชั่วโมงที่เข้าห้องเรียนจัง มันจะเป็นไปได้ไหมเนี่ย

 

 

 

 

  • ไลขอเป็นกบฎทางวิชาการอีกคนค่ะ
  • พ่อครูบาสุทธินันท์ บอกเสมอว่า อยากให้คนเรามีทั้ง วิชาการ และวิชาเกิน อยู่ในตัวเสมอ

ถ้านักวิชาการยังถนัดการเขียนแบบวิชาการแล้วคนอื่นวิชาชีพอื่นอ่านไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง

น่าจะจัดให้แหล่งทุนมีแผนกการถอดความงานวิจัยแล้ว เขียนรายงานการวิจัยฉบับประชาชน นะครับ ผมว่าถ้ามีออกมาเยอะ ๆ ไม่อยู่บนชั้นแล้วล่ะก็

สังคมเราจะอุดมไปด้วยปัญญานะครับ

หรือนักวิจัยลองกบฎอย่างข้อคิดเห็นของอ.ปภังกรดูนะครับ

ขอบคุณทุก ๆ ท่านมาก ๆ เลยครับ ที่เข้ามาให้กำลังใจกบฎทางวิชาการอย่างผมครับ

แต่ตอนนี้ผมเริ่มจะเป็นกบฏไม่ค่อยได้แล้วครับ เพราะว่าถูกหลักสูตรและแผนการเรียนบังคับให้เป็นนักวิการเหมือนเดิมครับ

จะกลายเป็นคนธรรมดาเดินดินกินข้าวแกง พูดจาภาษาคนง่าย ๆ แบบเดิมไม่ได้แล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท