เรื่องเล่าจากญี่ปุ่น


คนญี่ปุ่นอาศัยในหมู่เกาะ ที่มีพื้นที่แคบๆและจำกัด แต่ความแคบและในความจำกัดของเนื้อที่นั้น กลับทำให้ชาวญี่ปุ่นเห็นคุณค่าของการใช้พื้นที่ว่าง โดยเฉพาะเป็นการใช้ที่มีทั้งคุณค่าทางประโยชน์การใช้สอยและคุณค่าทางความงาม จึงเป็นความจำกัดที่สร้างอุปนิสัยให้คนญี่ปุ่นเป็นคนที่ระมัดระวังในการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เรื่องเล่าจากญี่ปุ่น 

                 ผมไปญี่ปุ่นมาครับไปด้วยเจตนาสามประการ คือ หนึ่งไปเพื่อติดต่อกับมหาวิทยาลัยชิกะ เพื่อไปเจรจาเรื่องขอความช่วยเหลือทางด้านประสานอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นมาทำการสอน สองไปขยายวงในเรื่องการแลกเปลี่ยนจากสาขาทางภาษาเป็นสาขาอื่นๆที่เป็นไปได้เช่นทางศิลปวัฒนธรรม และสุดท้ายไปประสานในเรื่องการศึกษาดูงานของคณาจารย์ในระดับโปรแกรมวิชา

                        ท่านอธิการบดีมีนโยบายที่ให้คณบดีทำหน้าที่ประสานและติดต่อเจรจาความในเบื้องต้นก่อน โดยได้ให้อำนาจในการเจรจาไว้ระดับหนึ่ง  และได้กำชับว่าการแสวงหาผู้สอนเป็นหน้าที่ของคณบดีโดยตรงในการบริหารการศึกษาเพื่อการพัฒนาบุคลากรของโปรแกรมวิชาให้เข้มแข็งจริงๆ และจะได้ถือโอกาสพาผู้บริหารคณะได้มีโอกาสพบปะทำความรู้จักมักคุ้นกับคณะผู้บริหารของเขาเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในระดับผู้ปฏิบัติงานต่อไป ในการติดต่อหรือการต้อนรับจะลงมาถึงระดับผู้ปฏิบัติ เช่นคณะหรือโปรแกรมวิชา จะมีการสร้างสัมพันธภาพให้เกิดความคุ้นเคยยิ่งๆขึ้น

                       ตามพุทธภาษิตที่ว่า  ความคุ้นเคย เป็นญาติอย่างยิ่ง

                      โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวญี่ปุ่น มีธรรมเนียมที่อาศัยความสัมพันธ์ฉันเพื่อนเป็นรากฐานในการติดต่อ ประสานงาน หากคุ้นเคยกันแล้วอะไรๆก็จะง่ายขึ้นเยอะ

                      ไปคราวนี้ก็เช่นกัน อาศัยอาจารย์กัญญาภัค ยามาโมโต้ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยชิกะประสานกับอาจารย์ที่ปรึกษาเก่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฮาจิมี ฮิราอิ รองผอ.ศูนย์นักศึกษานานาชาติ จึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคณบดี รองคณบดีสามท่านและรองผอ. ได้ใช้เวลาร่วมครึ่งวันในการเจรจาอย่างเป็นทางการ

                      อันดับแรก ผมได้พูดถึงปัญหาและความต้องการของเรา ที่จะพัฒนาการสอนภาษาญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัยของเราให้สู่ความเป็นเลิศที่สุดในอนาคต โปรแกรมวิชาภาษาญี่ปุ่นเรามีปัญหาเรื่องขาดแคลนผู้สอนที่เป็นเจ้าของภาษามานานแล้ว อาจารย์ญี่ปุ่นที่มาสอนส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครและไม่ได้มีคุณวุฒิการสอนภาษาญี่ปุ่นโดยตรง ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์หนุ่มสาวที่เพิ่งจบมาหมาดๆ ไม่ใช่อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สอนและเราอยากให้มาช่วยพัฒนาหลักสูตรการสอนภาษาญี่ปุ่นอีกด้วยซึ่งคณบดีคณะครุศาสตร์ของมหาวิทยาชิกะ ศาสตราจารย์มูเนโทะซูกู คาวาซิมา ได้รับปากว่าจะช่วยประสานหาผู้เชี่ยวชาญทางภาษาให้จากเครือข่ายที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยอื่น เนื่องจากที่คณะไม่ได้เปิดสอนในภาษาญี่ปุ่นโดยตรง และได้บอกถึงปัญหาในเรื่องเงินเดือนผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งต้องพูดกันตรงๆว่าอัตราของเราน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ของเขา ทางออกก็ต้องมุ่งไปยังผู้ที่ประสงค์จะมาประเทศไทยเพื่อการศึกษาหรือทำการวิจัยด้วย หรืออาจารย์อาวุโสที่เกษียณแล้วอยากไปใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย

                           ซึ่งท่านคณบดียังแอบมากระซิบให้ฟังทีหลังว่าตัวท่านเองสนใจ เพราะเคยมาเชียงใหม่หลายครั้ง ชอบใจจนซื้อบ้านไว้ที่เชียงใหม่แล้ว อีกสองสามปีจะมาอยู่แน่นอน(และจะมาสอนให้ด้วย)               

                           ครับ นับว่าเป็นบุญวาสนาที่เราอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาที่ดี ที่เป็นต้นทุนอันล้ำค่าเป็นสมบัติอันประเสริฐ ที่สร้างแรงจูงใจให้เขาอยากมาอยู่กับเรา แต่เราก็ต้องคิดสร้างวิธีบริหารการเงินให้เขาสามารถอยู่กับเราให้นานขึ้นได้

                     นอกจากนั้น ท่านคณบดียังบอกว่าในวาระครบรอบ ๘๐ ปี ที่เราเชิญท่านมาร่วมงาน จะถือโอกาสมาพร้อมกับศาสตราจารย์คิโยฮิโร คิมาตะ ผู้เชี่ยวชาญทางหลักสูตรและการสอน จะได้ใช้เวลาช่วงนั้นช่วยแนะนำหลักสูตร โดยขอให้ส่งหลักสูตรไปให้ศึกษาก่อน ซึ่งผมจะฉวยโอกาสนี้ เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาในระดับนานาชาติเรื่องการพัฒนาหลักสูตรการสอนภาษาญี่ปุ่น โดยมีท่านคณบดีและศาสตราจารย์ยินดีเป็นวิทยากรให้ 

                             ลำดับต่อไป เจรจาประสานในเรื่องการขยายวงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งในปีนี้ ทางมหาวิทยาลัยชิกะ รับนักศึกษาไทยสี่คน สามคนมาจากของเรา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการผลิตนักศึกษาโปรแกรมญี่ปุ่นของเราและท่านเสนอโครงการที่น่าสนใจโครงการหนึ่ง คือ

                             International understanding Project ท่านบอกว่านักศึกษาญี่ปุ่นมีธรรมชาติค่อนข้างขี้อาย เก็บตัว ไม่ค่อยรู้จักวิธีการสื่อสารทางสังคม โดยเฉพาะกับชาวต่างชาติ ท่านจึงอยากให้ผมจัดโครงการรับนักศึกษาญี่ปุ่นสักหนึ่งกลุ่มเป็นโครงการนำร่องและจัดรายการทางเชียงใหม่ให้นักศึกษาทั้งสองชาติได้มีโอกาสพบปะและร่วมกิจกรรมกัน คงจะพัฒนาให้นักศึกษาของเขามีพัฒนาการทางสังคมขึ้น

                             ผมสังเกตดู ก็จริงอย่างเขาว่า ขณะอยู่ในรถไฟใต้ดิน คนญี่ปุ่นขึ้นมาทุกคนจะเงียบ หาที่นั่งที่ยืนได้แล้ว ต่างคนต่างมีกิจกรรมของตน ส่วนใหญ่จะอ่านหนังสือพิมพ์ที่มีติดตัวมาด้วย

                            หากเป็นเด็กวัยรุ่นจะเล่นเกมส์ทางมือถือ ไม่คุยโทรศัพท์นะครับหรือไม่ก็อ่านการ์ตูนกันเงียบๆ เฉยๆจนที่ไม่คุ้นกับบรรยากาศจะรู้สึกอึดอัดพอกลุ่มคนไทยขึ้นมาก็จะคุยเล่นหัวเราะกันเสียงดัง จนบางครั้งทำให้คนญี่ปุ่นต้องหันมามองด้วยสีหน้ารำคาญ พวกเราจึงเงียบบ้างเพราะรู้สึกแปลกปลอมและเสียมารยาท สักพักพี่ไทยพอไม่ได้พูด ก็นั่งหลับเป็นแถว

                           ตามภาษิตที่ว่า เงียบเป็นหลับ ขยับเป็นคุย

                   นอกจากนั้น ผมสังเกตว่าคนญี่ปุ่นมีกิริยาที่มีสัมมาคารวะสูงมาก ดูสุภาพและอ่อนน้อม เช่น เวลาชาวญี่ปุ่นเจอกัน ทั้งสองฝ่ายจะทักทายโดยยืนก้มหัวโค้งให้กันอย่างสุภาพและการโค้งนั้นมีพิธีรีตองพอสมควร คือเมื่อโค้งกันครั้งแรกแล้วนั้น การโค้งครั้งที่สองจะเกิดขึ้นโดยแต่ละฝ่ายจะพยายามก้มตัวให้ต่ำกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งเห็นก็พยายามก้มโค้งตอบให้ต่ำกว่านั้น  การโค้งอาจเป็นที่ยุติที่โค้งครั้งที่สาม สี่ ห้า เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพิจารณาว่า ได้แสดงความสุภาพเพียงพอแก่การแล้ว

                        คนตรวจตั๋วรถไฟใต้ดินญี่ปุ่นก็สุภาพมากเช่นกัน นับตั้งแต่แกเปิดประตูก้าวเข้ามาในโบกี้ แกก็ก้มตัวโค้งอย่างงามและอย่างตั้งใจเต็มที่ไม่มีอู้ พร้อมพูดพึมพำพอจับความได้ประมาณนี้ว่า

                       กระผมขอสวัสดีคร้าบ  รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มารับใช้ท่านอีกครั้งในวันนี้ เดี๋ยวกระผมจะขออนุญาตตรวจตั๋วของท่านที่เคารพอย่างสูงทุกท่านนะคร้าบ

                  เมื่อพูดจบ แกก็โค้งอย่างเต็มพิธีการอีกครั้ง โดยไม่สนใจด้วยซ้ำว่า จะมีใครมองหรือฟังแกอยู่หรือไม่ เมื่อเดินมาถึงผู้โดยสารแกก็โค้งให้อย่างสุภาพเป็นรายตัวพร้อมขอตั๋วไปตรวจแล้วโค้งอีกครั้งตอนเสร็จพิธีตรวจ เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจของผู้โดยสารในตู้แล้ว ก่อนจะออกจากตู้ แกก็ก้มตัวโค้งเหมือนตอนขามาอีกครั้งแล้วพูดพึมพำพอได้ยินเสียงว่า

                         กระผมขอกราบขอบพระคุณมาก ในความร่วมมือที่ดีของท่านผู้โดยสารทุกท่าน กระผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงและซาบซึ้งใจอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสรับใช้ทุกท่านในโอกาสนี้ หูผมเดาภาษาญี่ปุ่นออกได้ประมาณนี้

                          ผมประมาณการในตู้ที่ผมนั่งอยู่มีผู้โดยสารประมาณสี่สิบกว่าคน คูณด้วยสามโค้ง จะได้ประมาณหนึ่งร้อยยี่สิบกว่าโค้ง หากทั้งขบวนมีสิบตู้ ก็จะเป็นหนึ่งพันสองร้อยกว่าโค้งต่อขบวน!

                  สมมุติว่าแกต้องตรวจตั๋วประมาณสิบขบวนต่อหนึ่งวัน วันหนึ่งแกต้องโค้งไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นสองพันโค้งภายในหนึ่งวัน!!

                  นี่ไม่นับตอนแกเดินกลับบ้าน ที่ต้องโค้งดะไปตามถนนและซอกซอยและตอนเปิดประตูบ้านเจอเมีย รับรองว่าแกต้องโค้งแน่

                       ในเดือนเดือนหนึ่ง สิริรวมแล้วคงไม่ต่ำกว่า สามแสนหกพันโค้งแน่ๆ

                      ในที่สุดการเจรจาเป็นไปด้วยดีและราบรื่น จบท้ายด้วยท่านคณบดีลุกขึ้นไปชะโงกดูดินฟ้าอากาศที่หน้าต่างแล้วกลับมาบอกว่า ตอนบ่ายอย่าไปไหนเลย เลิกล้มโปรแกรมต่างๆเถิด เพราะในขณะนี้ไต้ฝุ่นกำลังมา และบริเวณที่เราอยู่อยู่ในจุดศูนย์กลางไต้ฝุ่นพอดี

                     คณะเราจึงต้องรีบกลับไปนอนอยู่ในที่พักตั้งแต่บ่ายจนถึงวันรุ่งขึ้น นอนดูแต่ทีวีที่มีข่าวทั้งเรื่องของอุทกภัยและวาตภัยทั้งวัน นอนดูหลังคาบ้านที่สั่นเป็นเจ้าเข้า ท้องฟ้าที่มืดมิดในยามกลางวันและแรงลมกับฝนที่โปรยปรายมาตลอดสองวัน

                     นับเป็นประสบการณ์ตรงที่ยืดอกคุยได้ว่ามีโอกาสเจอกับไต้ฝุ่นจังๆมาแล้ว

                     หกวันในญี่ปุ่น ทำให้ผมเข้าใจและนับถือคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมามาก อย่างแรกนับถือในเรื่องความอดทนของคนญี่ปุ่น ในเรื่องของการเผชิญต่อภัยทางธรรมชาติ ความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของเขาเลย ในทางตรงกันข้ามคนญี่ปุ่นจะยอมรับความจริงและปรับตัวให้อยู่ได้กับธรรมชาติเหล่านั้นโดยไม่ปริปากบ่นหรือคร่ำครวญ

                 ภัยธรรมชาติเหล่านี้กลับเป็นวิถีทางในการสร้างสม อบรมบ่มปัญญาด้วยซ้ำ      

                    เช่น สร้างบ้านไม่ใหญ่โตเกินไปไม่ต้านแรงลมและมีโครงสร้างที่สร้างด้วยวัสดุเบา ไม่เป็นอันตรายต่อคนอาศัยเมื่อยามพังพินาศด้วยแรงลมและหากจะสร้างใหม่ก็สร้างได้เร็วโดยไม่เสียกำลังใจคนญี่ปุ่นอาศัยในหมู่เกาะ ที่มีพื้นที่แคบๆและจำกัด

                  แต่ความแคบและในความจำกัดของเนื้อที่นั้น กลับทำให้ชาวญี่ปุ่นเห็นคุณค่าของการใช้พื้นที่ว่าง โดยเฉพาะเป็นการใช้ที่มีทั้งคุณค่าทางประโยชน์การใช้สอยและคุณค่าทางความงาม จึงเป็นความจำกัดที่สร้างอุปนิสัยให้คนญี่ปุ่นเป็นคนที่ระมัดระวังในการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

                 เป็นปัจจัยทำให้คนญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีอารมณ์และการแสดงออกทางสุนทรียภาพสูงมาก

                 ดังจะเห็นได้จาก ศิลปะการจัดดอกไม้เพียงดอกเดียวปักอยู่ในแจกันให้งามได้อย่างน่าพิศวง มีพื้นที่หน้าบ้านแคบๆเพียงหนึ่งคูณสองเมตร ก็เนรมิตให้เป็นสวนญี่ปุ่น ที่วางก้อนหินเพียงก้อนเดียวและขุดแอ่งน้ำเล็กๆเพียงหนึ่งแอ่ง แต่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงภูเขาและแม่น้ำได้ หรือจัดวางกองเม็ดกรวดเล็กๆเพียงไม่ก้อนแต่สะท้อนภาพธรรมชาติของแผ่นดินออกมาได้อย่างลึกซึ้ง

                 <p style="text-align: center">ขนม</p> <p style="text-align: center"> </p>

                   แม้ขนมเพียงหนึ่งก้อน เขาจะพิถีพิถันห่อให้สวยงามและนำมาวางประดับโชว์ไว้อย่างประณีต เพราะวัฒนธรรมการกินของญี่ปุ่น เป็นศิลปะชั้นสูงที่มีการสร้างอารมณ์ทางสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นทางใจก่อน ให้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้นๆอย่างแท้จริงทั้งทางรูปลักษณ์และทางสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะกิน

</span><p>                  ตามคติของพุทธศาสนา ที่เรียกว่า ตังขณิกปัจจเวกขณปาฐะ คือการพิจารณาทุกอย่างก่อนเสพ</p><p>                 เล่ามาเพียงอยากให้รู้ว่าคนญี่ปุ่นที่ทำได้อย่างนี้ ไม่ใช่ยกย่องว่าเขาเก่ง แต่ชี้ให้เห็นว่า เป็นเพราะเกิดจากการบ่มเพาะทางธรรมชาติและวัฒนธรรมและการสั่งสมวิถีทางปัญญาจากบรรพชน คนญี่ปุ่นจึงเป็นคนที่เข้าถึงธรรมชาติและนับถือธรรมชาติแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน</p><p>                 แต่คนญี่ปุ่นก็ยังมีอะไรที่ดูขัดๆกันอยู่บ้างไม่ได้กลมกลืนไปอย่างที่ผมว่าไปทั้งหมด เช่น ท่ามกลางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม วัดวาอารามที่ดู สงบ นิ่ง ผมเห็นคนญี่ปุ่นเดินเร็ว เร็วแทบเป็นวิ่ง เป็นกันหมดร้อยละเก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้า อาจมาจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบและต้องต่อสู้กับเวลาที่ต้องเสียไปกับภัยทางธรรมชาติ </p><p>                 ผมเห็นรถไฟด่วน ชินคันเซน (Bullet train) ที่วิ่งมาทีวูบวาบเร็วจนตาลาย ผมเห็นเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นที่วิ่งเร็วตามแฟชั่นโลกตะวันตกจนแทบจะเลยหน้าฝรั่งไปแล้ว          </p><p>                 เด็กผู้ชายส่วนใหญ่แต่งกายแบบแรบสเตอร์ ส่วนเด็กผู้หญิงกลายเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ย้อมผมทองนุ่งกระโปรงสั่นเต่อน่าหวาดเสียว ผมเห็นคนญี่ปุ่นที่อยู่ในวัยทำงานใส่สูทเต็มยศและเลิกงานก็เข้าพับดื่มเหล้าจนเมาถึงจะกลับบ้าน และผมเห็นเห็นความเจริญก้าวหน้าทางอีเล็คทรอนิกส์ที่รุดหน้าไปอย่างน่างงงวย</p><p>                  เป็นภาพที่มีให้ดูสองด้านที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง</p><p>                  ตอนขากลับ ผมหันไปมองสวนญี่ปุ่นอีกครั้งและนึกภาวนาอยู่ในใจ</p><p>                 ขอให้คนญี่ปุ่นรักษาความเป็นญี่ปุ่นไว้ให้นานที่สุดให้ได้เถิด</p><p>                  ผมจะกลับไปพยายามรักษาความเป็นคนไทย และรักษาเชียงใหม่ให้เป็นเชียงใหม่ให้นานเหมือนกัน </p><p>                  ซาโยนาระ ปะกันใหม่คราวหน้าครับ</p><p>                                                                                                                     </p><p> </p>

หมายเลขบันทึก: 67927เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2006 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • น่าชื่นชมยินดีมากครับ
  • เรียนเสนออาจารย์แบ่งย่อหน้าเพื่อให้อ่านง่าย
  • เรียนเสนออาจารย์แบ่งบันทึกออกเป็นสองบันทึกครับเพื่อง่ายต่อการอ่าน
  • ขอบพระคุณเรื่องดีดีครับ
  • เชียงใหม่คงหนาวแล้วนะครับ อีสานหนาวมาก

ขอบคุณครับ

สำหรับกำลังใจที่แวะเข้ามาอ่าน

ต้องขออภัย ขณะกำลังอัฟโหลด ผมอยู่ที่สนามบิน

เขาเรียกขึ้นพอดี เลยไม่มีเวลาแบ่งย่อหน้า

ตอนนี้แก้ไขตามคำแนะนำแล้วครับ

อากาศเชียงใหม่กำลังสบายดีครับ ประมาณ ๒๔ องศา ที่อีสานเท่าไหร่ครับ

ผมอยากไปกราบธาตุหลวงพ่อชาอีกครั้ง

พิชัย

 



เห็นอาจารย์พูดถึงสวนญี่ปุ่นก่อนจะจบเรื่องเล่า  หนูก็เลยนำรูปคนนั่งกำหนดดูสวนญี่ปุ่นมาฝากค่ะ

หนูอ่านที่อาจารย์เขียนแล้ว เมื่อเทียบเคียงกับการที่ตัวเองได้มาอยู่ที่ญี่ปุ่นนี้เป็นเวลาหลายเดือน ก็รู้สึกเห็นด้วยกับที่อาจารย์ว่าไว้ทุกประการ

ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นที่ว่า 

  • คนญี่ปุ่นกับคนไทยมีอะไรคล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะเรื่ืองของจิตใจ
  •  การที่ธรรมชาติมีความเปลี่ยนแปลงบ่อยตลอดทั้งปี ทำให้เขาสามารถเข้าถึงธรรมะเรื่อง "ความไม่เที่ยง" ได้ดีกว่าประเทศที่แสนจะสบายไม่ค่อยจะมีภัยพิบัติ ในน้ำมีปลา ในนามีข้่าว อุดมสมบูรณ์อย่างเรา
  • ความประณีตและสวยงามลงตัว (Aesthetics) ในทุก ๆ เรื่องที่เขาทำ  ประเด็นนี้หนูยกให้เป็นอิทธิพลของการเจริญสติไปเต็ม ๆ  ซึ่งจะว่าไปแล้ว  วิทยานิพนธ์หนูก็เรื่องนี้นะคะอาจารย์ แหะ ๆ  
  • ความอ่อนน้อมถ่อมตน  เรื่องการโค้งนี่หนูอ่านที่อาจารย์เขียนแล้วก็อมยิ้มไปด้วยเลยค่ะ  อาจารย์เล่นคูณออกมาเป็นตัวเลขนี่เห็นชัดดีจังเลยนะคะ  และเรื่องภาษาที่สุภาพของเขาอีก  หูอาจารย๋์แปลออกมาได้เก่งจริง ๆ ค่ะ  เพราะเขาพูดประมาณนั้นจริง ๆ ด้วยค่ะ  เขามีระดับความสุภาพของภาษาต่างๆ กันสำหรับแต่ละโอกาสเหมือนเรานี่ล่ะค่ะ  และในโอกาสที่ต้องใช้ในงานบริการหรือติดต่อกับลูกค้าหรือผู้อื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว เพื่อนสนิท มิตรสหาย นั้น เขาใช้ภาษาสุภาพชนิดที่ฟังแล้วตกกระไดได้ด้วยความตกใจเลยล่ะค่ะ (ว่าทำไมถึงให้เกียรติฉันผู้ต่ำต้อยขนาดนี้)  ฮิ ๆ อีกหนึ่งนิสัยของคนญี่ปุ่นคือถ่อมตัวนั่นเองค่ะ  เขาจะชิงยกย่องคนอื่น แล้วมีอีกภาษาหนึ่ง คือ ภาษาถ่อมตัวไว้ใช้กับตัวเองด้วยค่ะ
เรื่องความร่วมมือของมหาวิทยาลัยของอาจารย์และของญี่ปุ่นนั้น  หนูอยากเข้าไปมีส่วนอาสาช่วยด้วยได้จังเลยค่ะ  เพราะตอนหนูอยู่ป.ตรีที่จุฬา (นานมากแล้วค่ะ) หนูเคยไปช่วยทำโครงการ International Understanding Program ของสถาบันเอเชียศึกษาด้วย  และก็อย่างที่อาจารย์ทราบน่ะนะคะ  หลังจากนั้นหนูก็ได้ทุนสั้น ๆ มาที่นี่อีกนิดหน่อยหน่อมแน้มพอเป็นกระสาย  และมาหนนี้ก็รู้สึกเอ็นดูพวกเด็ก ๆ ป.ตรีที่ได้เข้าไปทำกิจกรรมด้วยมากเลยค่ะ  รู้สึกเขาใส ๆ ขี้อายน่ารักจริง ๆ ด้วยค่ะ  โดยเฉพาะเด็กผู้ชายน่ะนะคะ  นั่นขนาดหนูไปร่วมชมรมฟันดาบซามูไรน่ะนะคะ น่าจะเฮี้ยวหน่อยแล้วนะนั่น  เจอหนูฟันหัวแบะ ฮิ ๆ (ต้องอธิบายเขาค่ะว่าเมืองไทยเรามีวีรสตรีเยอะ เปลก็ำไกว ดาบก็แกว่ง เพราะกีฬาดาบซามูไรที่นี่แข่งไม่แยกผู้หญิงผู้ชายแล้วเขางงว่าหนูทำไมแววดีเหลือเกิน  ประเทศไทยนี่เลี้ยงด้วยอะไร ถึงได้ตัวโตอย่างนี้ เอ๊ย สู้ตายอย่างนี้ และได้เหรียญด้วยนะคะ ทำเป็นเล่น ฮิ ๆ)

 ยิ่งเด็กนักศึกษาต่างจังหวัด  ก็จะยิ่งมีความใสซื่อ น่ารัก มากกว่าเด็กในเมืองหลวงมากค่ะ  อย่างที่หนูมีโอกาสไปเยือนเมืองนาโงย่ากับรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยช่วงวันหยุดยาวก่อนปีใหม่  เขามีเพื่อนเป็นเด็กนาโงย่ามาอาสาพาไปชมเมืองและพาไปทานข้่าวกลางวัน  เขาบอกว่าเขาพามาร้านนี้เพราะพ่อแม่เขาแนะนำให้พามา  เนื่องจากเป็นร้านที่พ่อแม่เคยมาเดทกันครั้งแรก และอาหารอร่อยดีและไม่แพงด้วย และเป็นเขตวัฒนธรรมเขาด้วย คือ เป็นร้านที่อยู่ติดกับโรงละครโนะ นั่นเองค่ะ 

ดูสิคะอาจารย์  นั่นเด็กหนุ่มเพิ่งจบปริญญาตรีนะคะ ปิดวันหยุดปีใหม่ก็กลับไปอยู่กับพ่อกับแม่ และพามาร้านนี้ที่ตัวเองก็ยังไม่เคยมาด้วยซ้ำ  แต่พ่อแม่แนะนำให้พาแขกต่างบ้านต่้างเมืองมาก็เชื่อพ่อแม่  แล้วก็พ่อแม่เขาก็มีน้ำใจช่วยคิดให้เสร็จว่า น่าจะโชว์ัวัฒนธรรมเขาหน่อย   ร้านอาหารที่อยู่ในเขตโรงละครโนะ (คืออยู่ในโรงละครนั่นล่ะค่ะ compound เดียวกัน) อารมณ์ก็เหมือนกับร้านของโรงละครโอเปร่านั่นเอง  มองออกไปก็มีลานน้ำเป็นบ่อ เป็นน้ำพุ เป็นอะไรต่ออะไรที่ดูเหมือนน่าจะแพงแต่กลับไม่แพงเลย  ยังงงอยู่ว่าทำไม  หรือว่าทางเมืองเขามา subsidized ก็ไม่ทราบ

สรุปว่า มาญี่ปุ่นแล้ว หนูได้ความรู้สึกเดียวกับอาจารย์เลยค่ะ  แล้วก็รู้สึกหวาดเสียวกับวัฒนธรรมใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้ามาเรื่อย ๆ อย่างเป็นธรรมดาของโลกด้วย  หนูเสียดายจิตวิญญาณ และ ธรรมชาติของเขาน่ะค่ะ  ลองใครถ้าได้สัมผัสความใสซื่อและธรรมชาติที่บริสุทธิ์ของเขาแล้ว  รวมทั้งธรรมชาติรอบข้างที่สะอาด สงบ บริสุทธิ์ งดงาม  ก็คงไม่อยากจะเสียตรงนั้นไปให้กับป่าคอนกรีต มลพิษ และจิตใจที่หยาบกระด้าง ชีวิตที่รวดเร็ววุ่นวายเช่นกันน่ะค่ะ

 ฟังดูคุ้น ๆ ไหมคะ  คล้าย ๆ เมืองไทยยังไงก็ไม่ทราบ อาจารย์ว่าไหมคะ  เฮ้อ....(เผลอถอนหายใจหนอ)

สวัสดีค่ะ

ณัชร 

โอโฮ้! หนูเขียนตอบบรรยายได้ดีมาก อาจารย์จะคอยอ่านเรื่องจากอาทิตย์อุทัยของหนู อยากให้หนูเล่าประสบการณ์ชีวิตและการรับรู้ที่ญี่ปุ่นให้ฟัง เรื่อยๆนะ สวัสดีครับ พิชัย

ปล. ขอบคุณสำหรับรูปสวยมาก ได้บรรยากาศการเจริญสติดี

รัก

พิชัย

แหะ ๆ ขอบพระคุณค่ะ อาจารย์ มิบังอาจรับคำชมเท่าใด เพราะจริง ๆ เรื่องเล่าของอาจารย์เขียนไว้ดีมากแล้วน่ะค่ะ หนูแค่เข้ามาแสดงความเห็นด้วยเฉย ๆ เท่านั้นเอง

ตอนนี้กำลังวุ่นวายจัดของลงลังจะส่งกลับไทยค่ะ ได้ความรู้ใหม่ที่ไม่น่าเชื่อว่า ส่ง อีเอ็มเอส ถูกกว่าส่งแอร์เมล์ธรรมดา  แต่ก็ยังแพงอยู่ดี เพราะซื้อหนังสือไปหลายลังมาก  ตอนแรกว่าจะเซอร์ไพรส์ส่งอะไรไปให้อาจารย์กับอาจารย์ิศิริพรจากที่นี่เสียหน่อย แต่คิดว่ากุมภานี้ถือไปเองจะดีกว่า ต้องยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงแล้วค่ะตอนนี้ ฮี่ ๆ

หนูก็ชอบรูปมากเลยค่ะอาจารย์  ไปขอยืมของคนอื่นมาอีกทีจากเวบ www.flickr.com ที่หนูเคยส่งไปชวนอาจารย์สมัครเอาไว้เก็บภาพฟรีในเวบน่ะค่ะ   ตอนนี้ฟลิกเกอร์ก็ยังใหญ่ที่สุดอยู่  มีภาพสวย ๆ ให้ยืมไปประกอบพรีเซ็นเทชั่นเยอะ  ที่เจ้าของภาพเขาไม่ได้หวงลิขสิทธิ์น่ะนะคะ ต้องดูเป็นราย ๆ ไป

ถ้าอาจารย์ชอบบรรยากาศสวนสวยสำหรับการเจริญสติ ต้องที่เกียวโตค่ะ  หนูแนะนำวัดเซน กินคะคุจิ (ไม่ใช่คินคะคุจินะคะ คนละวัด)  กินคะคุจินั้นของโชกุนคนหลานสร้าง กิน แปลว่าเงิน คินแปลว่าทองค่ะ อันไก่ทองนั้นโชกุนคนปู่สร้างค่ะ  มันอลังการไป  อันที่ชื่อ เงินนั้น สวย สงบ แบบเศร้า ๆ มีภูเขา มีน้ำตกเล็ก ๆ แต่แรงมาก ลงโขดหิน มีลำธาร มีบ่อเล็กบ่อน้อย มีทางเิดินสารพัีดรูปแบบขึ้นภูเ้ขาส่วนตัีว  โอ๊ย...มีหลายอารมณ์มากค่ะ  คือแทบจะสำลักอารมณ์กำหนดไม่ัทันเลย  คือหนูว่าหนูอยู่ได้ทั้งวันเลยที่นั่น ถ้าเขาให้นอนวัดได้หนูก็คงจะนอน แหะ ๆ  

ที่เกียวโตน่าอยู่มากกว่าโตเกียวมากค่ะ  จิตวิญญาณของญี่ปุ่นอยู่ที่นั่นหมดเลย  มีแค่เกียวโตกับนาราที่ไม่โดนระเบิดตอนสงครามโลก  หนูว่าอานิสงส์ของบุญกุศลของทั้งสองเมืองนี่ล่ะค่ะ  คนบอกว่า
เพราะอเมริกาจงใจยกเว้นไว้ให้  เห็นเคยเป็นเมืองหลวงเก่า มีแค่วัด ไม่ได้เป็นที่ตั้งกองกำลังทางทหาร  แต่หนูกลับมองว่า  เป็นเพราะเป็นกุศลล้วน ๆ เลยต่างหาก  เพราะใช่ว่าทุกเมืองจะมีกองกำลังทหารไปหมด  แต่สองเมืองที่ไม่โดนระเบิดเลยนั้นมีวัดเยอะมากและเคยมีการสร้างกุศลไว้เยอะ มานานที่สุดในประวัติศาสตร์มามากกว่าพันปี  ทั้งศีล ทาน บารมี  หนูเลยเชื่อของหนูอย่างนี้น่ะค่ะ (ผิดถูกต้องขอประทานอภัย  ว่าแต่ว่า อาจารย์คิดว่าอย่างไรคะ?)

ด้วยความเคารพ,

ณัชร

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลเวปรวมภาพครับ

ฟังหนูเล่าชักอยากไปดูวัดเงินแล้วซิ อาจารย์เคยไปแค่วัดไก่ทอง เอาไว้มีโอกาสคราวหน้าจะได้แปลนว่าไป หากหนูมีรูปลองเล่าให้ฟังนะ

พิชัย

หนูเคยไปเที่ยวญี่ปุ่นเมื่อ14ปีที่แล้ว

แต่ก็สังเกตเห็นว่าสาวชาวญี่ปุ่นกล้าเกินตัว

จำได้ว่าตอนไปเที่ยวที่หอไอเฟิลของญี่ปุ่น(หนูเรียกของหนูแบบนี้แต่ไม่รู้ว่าจริงๆเค้าเรียกอะไรนะคะเรียกตามไกด์ที่พาไป)

หนูเห็นเด็กๆวัยรุ่นญี่ปุ่นแต่งตัวน่ารักทันสมัยนั่งพรอดรักกันอย่างไม่อายสายตาใครเลย

ตอนนั้นหนูเห็นเป็นครั้งแรกรู้สึกตกใจและไม่เชื่อสายตาตัวเองเผลอมองด้วยความงง

เพราะเด็กที่เห็นดูยังเด็กมากซึ่งตอนหนูอายุขนาดนี้หนูกับเพื่อนๆยังวิ่งเล่นกระโดดหนังยางอยู่เลยค่ะ

ถึงแม้นจะเข้าวัยรุ่นแล้วแต่พวกเราเด็กสมัยนั้นก็ยังเป็นเด็กๆกันอยู่

คิดว่าญี่ปุ่นคงมีการเปลี่ยนแปลงมานานหลายปีเหมือนกันนะคะ

คำบอกเล่าว่าสาวญี่ปุ่นเรียบร้อยคงเป็นเพียงตำนานเล่าขานกันในวันข้างหน้า

แต่ก็น่าชมอยู่อย่างนะคะตรงที่เค้าแต่งตัวเรียบร้อยกันทั้งผู้หญิงผู้ชายออกนอกบ้านก็ใส่รองเท้าคัทชูไม่ค่อยเห็นลากแตะแบบคนบ้านเราเลย

ไม่ว่าจะยังไงก็แต่งตัวเรียบร้อยดูเผินๆเป็นกุลสตรีน่ารัก  หนูคงจะเป็นคนหัวโบราณเลยมองอะไรแบบโบราณๆอะไรที่เค้าว่าเรื่องธรรมดาหนูก็ดูไม่ค่อยธรรมดาสักทีเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท