เรียนรู้การเป็นคุณอำนวยด้วยการฝึกเป็นคุณอำนวย


ผมปิ้งแว้ปเรื่องที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีรรมราช(ท่านวิชม ทองสงค์)อยากเห็นการประชุมวงเรียนรู้ของคุณอำนวยอำเภอนี้ทั้ง ผอ.กศน.เกษตรอำเภอ พัฒนาการอำเภอ และปลัดอำเภอ ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่คุณอำนวยของการประชุมเสวนาแต่ละครั้ง

เมื่อวานนี้ราวสัก 4 โมงเย็นเห็นจะได้ ขณะนั่งประสานงานกับทีมงานที่จะไปร่วมเสวนาทางวิชาการกันที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็ได้รับแฟกซ์บันทึกการประชุมโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน "วงเรียนรู้คุณอำนวยอำเภอ" ณ ห้องประชุมศรีปราชญ์ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งประชุมกันไปเมื่อ 15 มกราคม 2550 เป็นเอกสารข้อความ 5 หน้า บอกรายละเอียดการประชุมเสวนาครั้งนั้น

โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนจังหวัดนครศรีธรรมราช คือชื่อเต็มของโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร ที่เราเรียกกันจนติดปากนั่นเอง

"วงเรียนรู้คุณอำนวยอำเภอ" เป็นเวทีของคุณอำนวยอำเภอๆละ 4 คน ได้แก่ ผอ.กศน.เกษตร พัฒนาการ และปลัดอำเภอ สมาชิกในวงเรียนรู้นี้ร่วม 100 คน มีแผนการเรียนรู้ร่วมกันชัดเจนว่าจะพบปะกันเมื่อไร ผมเองได้เขียนรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ในบันทึกนี้ครับ และในบทความดังกล่าวผมได้ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่าหากประชุมกันครั้งแรกเสร็จแล้วผลเป็นประการใด ให้แจ้งหรือ AAR ลงในบล็อก ซึ่ง KM ทีม กศน.จังหวัดมีบล็อกกันแล้วหลายคน ผมจะตามเรียนรู้และต่อภาพการทำงานให้มันชัดเจนยิ่งขึ้น

บันทึกการประชุมนี้ดีมาก ผู้ที่บันทึกหรือลิขิต คือ น้องวาสนา โส้สะหมัน เป็น KM ทีม กศน.จังหวัดนครศรีฯ บันทึกได้ละเอียดทีเดียว 4 - 5 หน้า (แฟกซ์ที่ผมได้รับมันขาดๆไม่เต็มหน้า แต่รวมๆแล้วก็น่าจะประมาณ 4-5 หน้ากระดาษ A4) น้องวาสนาเองก็มีบล็อกชื่อ ถังความคิดสู่ความรู้ Km http://gotoknow.org/blog/ksn-ns  ครั้นผมจะเอาบันทึกของน้องเขามาลงเสียเอง คงจะไม่ดีแน่ จึงอยากจะให้น้องวาสนา ทยอยนำผลการประชุมเสวนาดังกล่าวซึ่งเป็นรายละเอียดลงบล็อกของน้องเอง ท่านอื่นๆจะได้เรียนรู้กันแพร่หลายมากขึ้น หาก KM ทีม กศน.ท่านอื่นๆ หรือท่านใดที่อยู่ร่วมในที่ประชุมเสวนาจะได้ร่วมกันเขียนก็จะทำให้ได้มุมมองความคิดที่หลากหลายและเป็นประโยชน์อย่างมากเลย

ผมอ่านบันทึกการประชุมเสวนานี้แล้ว ผมปิ้งแว้ปเรื่องที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีรรมราช(ท่านวิชม ทองสงค์)อยากเห็นการประชุมวงเรียนรู้ของคุณอำนวยอำเภอที่มีทั้ง ผอ.กศน.เกษตรอำเภอ พัฒนาการอำเภอ และปลัดอำเภอ ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่คุณอำนวยของการประชุมเสวนาแต่ละครั้ง เพื่อเป็นการฝึกสมรรถนะคุณอำนวยอำเภอ เพราะคุณอำนวยอำเภอเหล่านี้ต้องมาทำวงเรียนรู้กับคุณอำนวยตำบล อาจจะในวงคุณกิจครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการในบางโอกาส หากไม่มีทักษะตรงนี้เสียแล้ว คงจะทำงานกันลำบากมาก KM  ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้ จนเราท่องกันขึ้นใจแล้ว และในบันทึกการประชุมเดียกันนี้ท่านผู้ว่าฯท่านก็เสนอแนะให้มีการเชิญวิทยาการกระบวนการ(คณะทำงานวิชาการ)จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และบุคคลที่น่าสนใจในแต่ละเนื้อหาประเด็นมานำการเสวนา เรื่องนี้ผมมีความเห็นที่จะแสดง แต่ในบันทึกนี้คงไม่เหมาะเพราะจะยาวไป ไว้เป็นบันทึกต่อๆไป

 

ครูนงเมืองคอน

18 ม.ค.50

หมายเลขบันทึก: 73196เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2007 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ผมไม่ค่อยเข้าใจคำนี้เท่าไหร่ครับ ว่าคุณอำนวยต้องมีคุณลักษณะอย่างไร

แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าคุณอำนวยกับคุณกิจได้ได้แตกต่างกันในหลักการ อาจแตกต่างตามเวลา และสถานที่เท่านั้น

ผมจึงอยากตามดูว่า "คุณอำนวย" จะต้องมีฐานคิดของ "คุณกิจ" ด้วยหรือไม่ จึงจะเป็นคุณอำนวยที่ดี

จากประสบการณ์ผมพบว่า "คุณอำนวย"

  • จะมีปัญหามาก ถ้าไม่เข้าใจคุณกิจ
  • จะยิ่งมีปัญหามากขึ้นถ้ารู้จัคุณกิจมากเกินไป
  • จึงลำบากในการที่จะหาคุณอำนวยที่เหมาะสม

ในเชิงวิชาการ ผมยังเจอปัญหา "คุณอำนวย" ติดกรอบตัวเอง หรือติดกรอบพื้นที่ หรือติดกรอบตัวอย่างแคบๆ เลยไม่ใช่คุณอำนวย

แต่กลายเป็น "คุณคุม" ความคิดของคนอื่น ให้อยู่ในกรอบที่ตนเองเข้าใจ

และถ้าได้นักวิชาการปากคาบคัมภีร์ หรือหอคอยงาช้าง (ทั้งจริง และพลาสติก) เรียกว่า ล้มตั้งแต่ยังไม่เริ่มครับ

แต่ทั้งหมดนี้ผมก็กำลังมอลความคิดตัวเองเหมือนกันครับ

 

ผมคิดว่า หัวใจคือการเปลี่ยนบทบาทของส่วนราชการให้ทำหน้าที่สนับสนุนชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คำหลักมี2คำคือ

1.สนับสนุน

2.หน้าที่

ทำหน้าที่ "จัดการความรู้" ซึ่งเป็นการจัดการกับ"คน"ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้าใจเพื่อให้คนๆนั้นสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ภาษาพระ คือเป็นกัลยาณมิตรนั่นเอง

ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่นั้นให้ดียิ่งๆขึ้น

คุณเอื้อ คุณอำนวย และคุณกิจเป็นชื่อทั่วไปหลักๆในวาทกรรมจัดการความรู้ที่ช่วยวางกรอบหน้าที่ในลักษณะของการ"สนับสนุน"เอาไว้ เป็นวาทกรรมกัลยาณมิตร ไม่ใช่อำนาจเชิงโครงสร้าง

ทุกคนเป็นคุณกิจ คือ คนหน้างานในหน้าที่ของตนเองตั้งแต่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงผู้เกี่ยวข้องทุกคน

ท่านผู้ว่าเป็นคุณกิจในบทบาทของประธานคุณเอื้อ

เราอยากให้นายอำเภอทุกอำเภอเป็นคุณกิจในฐานะประธานคุณเอื้ออำเภอ

คุณกิจที่เป็นคุณอำนวยต้องมีบทบาทหน้าที่ คุณลักษณะและทักษะความรู้อย่างไรบ้างเป็นการเรียนรู้ฝึกฝน ทดลองปฏิบัติและค้นหาในวงเรียนรู้คุณอำนวยอย่างต่อเนื่องเดือนละ1ครั้ง ครั้งต่อไปควรจะนำงาน"คุณอำนวย"ที่ลงไปปฏิบัติมาคุยกัน ไม่งั้นจะเป็นการทำKMเพื่อKMไม่ใช่เพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้

เป้าหมายคือพัฒนาคนให้มีความสามารถ เป็นบุคคลเรียนรู้ สามารถนำความรู้มาใช้ได้อย่างสอดคล้องกับงานจนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งเป้าหมายรายทางและเป้าหมายใหญ่

ขอบคุณครับอาจารย์ภีม

ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นครับ

สิ่งที่คุณอำนวยทำก็คือคุณกิจ แล้วสิ่งที่คุณกิจทำก็เป็นงานของ"คุณอำนวย"  และ กรณีของคุณประสาน และคุณเอื้อก็เช่นกัน

แม้แต่คุณลิขิตก็ยังมีบทบาทของคุณกิจด้วยจึงจะเป็นคุณลิขิตที่ดี ไม่งั้นก็จะหลงทางได้ง่าย

ผมจึงว่าน่าจะเหลื่อมกัน แต่จุดเน้นต่างกันนิดหน่อย

ผมจะลองร่างดู เผื่อความคิดของผมจะชัดเจนกว่าเดิม

ดร.แสวงครับ

    ตอบช้าไปหน่อย ขออภัยครับ ผมขอต่อความคิดอาจารย์ด้วยความรู้แค่หางอึ่งของผมเหมือนกันดังนี้ครับ

  1. KM คือการทำงาน แล้วแต่หน้างานของตัวละคอนKM จะเป็นใคร จะเป็นงานอะไร เช่นงานหนุนเสริมการทำงานให้กลไกเชิงระบมันไหลลื่น เติมพลังให้คนอื่น ยกย่องเชิดชู ชื่นชมคนที่ทำงานสำเร็จ (ไม่ใช่เอาเป็นความดีใส่ตัวเสียเอง)  ฯลฯ ของคุณเอื้อในบทบาทของคุณเอื้อ(ศัพท์วาทกรรมที่บัญญัติขึ้น....สมมตินะครับสมมติ ) งานลักษณะดังกล่าวนี้ถือเป็นงานปกติธุรของเขา เขาจะต้องทำกิจกรรมอันนั้น ก็คือเป็นคุณกิจนั่นเอง แล้วใครจะเอื้อคุณเอื้อกันละเนี่ย...? เอื้อกันเอง หรือบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า ซุปเปอร์คุณเอื้อ เอานายเหนือหัว หรือชาวบ้าน รากหญ้าที่เก่งมาหนุนเสริม หรือใครที่ไหนก็ได้ที่จะมาเอื้อการทำงานคุณเอื้อได้ อย่างนี้ไหมครับอาจารย์......คุณอำนวยก็เช่นเดียวกัน หน้างานเขาคือส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เขาทำหน้าที่นี้ก็เท่ากับเป็นคุณกิจเช่นเดียวกัน ..คุณประสาน....คุณลิขิต...คุณวิจัย ฯลฯ ก็ต้องทำงานหน้างานของตน คือคุณกิจ
  2. หากจะมองในแง่ของการเรียนรู้ KM คือการเรียนรู้ ไม่เรียนรู้ไม่รู้ และเป็นความรู้ชนิดที่ผ่านการกระทำมาแล้วด้วยนะ ไม่ทำก็จะรู้ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกคนก็จะต้องมาเป็นผู้เรียน เรียนรู้งานของตัวเอง หมวกใบใหญ่ใบใตใบเล็กแค่ไหนก็ต้องถอดตั้งไว้ก่อน มาคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างเพื่อนเรียนรู้ ทำบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิด ตัวละคอนที่จะมาทำกระบวนการตรงนี้เขากำหนดว่าคือคุณอำนวย ได้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนแล้ว ก็เอาความรู้นั้นไปปฏิบัติตามหน้าที่ของตน เลิกคุยกันแล้วก็ใส่หมวกของตน หมวกใหญ่หมวกเล็ก ไม่มีหมวก หรือไร้หมวก ก็แล้วแต่ นำความรู้นั้นไปปฏิบัติขับเคลื่อนงานกันต่อไป หรือหากจะมีใครลืมหมวกอำนาจจะไม่ใส่อีกต่อไป สนุกที่จะเป็นผู้เรียนทำงานแบบเพื่อนเรียนรู้เป็นกิจนิสสัย อันนี้ก็สุดยอดเลอเลิศประเสริฐศรีเลยละครับ
  3. ไอ้ข้อ 2 นี่แหละครับสำคัญ สำคัญว่าใครจะมาทำหน้าที่คุณอำนวย อาจารย์บอกว่าคนๆนี้ควรมีฐานคิดของ "คุณกิจ" ด้วยจึงจะเป็นคุณอำนวยที่ดี ผมเห็นด้วยเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคุณเอื้อในวงเรียนรู้คุณเอื้อจังหวัด มีความรู้ความเข้าใจในงานหนุนเสริมกลไกการทำงานเชิงระบบเป็นอย่างดี มาทำหน้าที่คุณอำนวยในวงเรียนรู้คุณเอื้อจังหวัด ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่มาเป็นภาคีเครือข่ายทำงานด้วยกัน 10 คน จาก10 หน่วยงาน....ไล่ลงมาอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ก็ต้องหาคนที่ทำกิจกรรมเก่งๆเอาธุระกับงานมีจิตสาธารณะ อุดมการณ์สูงส่ง มาเป็น ซึ่งพูดง่ายแต่หายาก และเป็นจริงได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง KM ภาครัฐ เพราะถูกอออกแบบไว้แล้วว่าจะต้องใครบ้างมาเป็นคุณอำนวยในระดับต่างๆ หากได้อย่างอาจารย์ว่าก็สุดยอดเลย...แต่ก็มีความเป็นไปได้ถ้าคนที่ถูกจับวางนั้นจะได้พัฒนาตนเองในเส้นทางคุณภาพ พัฒนาสมรรถนะตนเอง ทีมงาน
  4. ขอบคุณบทความของอาจารย์ บทความนี้ แล้วผมจะนำไปประกอบการทำงานผมในการพัฒนาตนเองและเพื่อนคุณอำนวยครับ

อ.ภีม ครับ

          เห็นด้วยใน 2 คำหลัก ทั้งสนับสนุน และหน้าที่ ครับ ว่าส่วนราชการต้องพลิกโฉมตนเองเป็นอย่างนี้

ขอบคุณครับครูนง

ผมขอเพิ่มนิดหนึ่งครับ

คำว่า "อำนวย" ผมยังมองว่าเป็นการพึ่งภายนอก เหมือนคนไข้ที่ต้องพึงหมอ แต่ถ้าเราแข็งแรงเราน่าจะดูแลตัวเองได้นะครับ

ฉะนั้น คุณอำนวยน่าจะเหมือนหมอ หรือพี่เลี้ยงชั่วคราวนะครับ

พอเด็กโตแล้วอาจไม่ต้องมีพี้เลี้ยง ใช่ไหมครับ

ครูนงว่าอย่างไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท