รวมพลัง G2K เพื่อการศึกษา...ตัวอย่างดีๆที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทางการศึกษาของเรา


ส่วนมาในบันทึกนี้ ผมอยากจะชวนทางมาดูอีกมุมหนึ่งนะครับ เพื่อสร้างแรงจูงใจ ตลอดจนการแนะนำกิจกรรม หรือประสบการณ์ดีๆ เกี่ยวกับชีวิตของท่านมาเล่าสู่กันฟัง (ฝนที่ตกทางโน่น หนาวถึงคนทางนี้ .... ยินดีที่เล่าสู่กันฟัง)

สวัสดีครับพี่น้องผองเพื่อน

          ตอนนี้มาเน้นเกี่ยวกับประเด็นการศึกษากันเป็นหลักนะครับ เป้าหมายหลักคือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สู่การนำไปปฏิบัติใช้จริงครับ ให้เกิดในชุมชนเครือข่ายทางการศึกษา ให้ครอบคลุมเท่าที่เราจะร่วมมือกันได้นะครับ

          หากคุณยังไม่ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ รวมพลัง G2K เพื่อ...การศึกษา....ปัญหาและแนวทางแก้ไข (ยกแรกร่วมระบาย ลปรร.)  ก็ขอเชิญพี่น้องทุกท่าน ไปร่วมจิบน้ำชา อุ่นน้ำชากันได้นะครับ อยากให้ระบายสิ่งที่อึดอัดทางการศึกษาออกมานะครับ หรือหากมีแนวทางการนำไปใช้ที่ดี ก็รบกวนฝากไว้ด้วยนะครับ สรุปว่าคุณเขียนไว้ได้ทุกอย่างเลยที่นั่นนะครับ

         ส่วนมาในบันทึกนี้ ผมอยากจะชวนทางมาดูอีกมุมหนึ่งนะครับ เพื่อสร้างแรงจูงใจ ตลอดจนการแนะนำกิจกรรม หรือประสบการณ์ดีๆ เกี่ยวกับชีวิตของท่านมาเล่าสู่กันฟัง (ฝนที่ตกทางโน่น หนาวถึงคนทางนี้ .... ยินดีที่เล่าสู่กันฟัง)

         แต่ผมจะยกตัวอย่างดีๆ ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับคุณมัทนา นะครับ ผมรู้สึกว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ เลย ดังนั้นผมจะขอยกตัวอย่างที่คุณมัทนาได้เขียนเอาไว้ในส่วนของการแสดงความเห็นในบันทึก รวมพลัง G2K เพื่อ...การศึกษา....ปัญหาและแนวทางแก้ไข (ยกแรกร่วมระบาย ลปรร.)  นี้นะครับ

___________________________________________________

P

มัทนา
เมื่อ จ. 07 พฤษภาคม 2550 @ 17:06 จาก 24.83.237.223

มาแล้วค่ะ....
อย่างที่เกริ่นไว้ วันนี้ขอไม่บ่น แต่จะมาเล่าว่าสมัยเรียนว่าประทับใจอะไรบ้างนะคะ
ต้องยอมรับว่ามัทโชคดีมากๆที่ได้เรียนโรงเรียนดีๆตั้งแต่อนุบาลจนถึงตอนนี้
  • ที่โรงเรียนอนุบาลมีครูที่รู้จักเด็กและครอบครัวของเด็กแบบ โตมาแล้วกลับไปเจอโดยบังเอิญ ครูยังจะเราและน้องเราได้ (เราจำไม่ค่อยได้ค่ะ แม่บอกถึงรู้ว่านี่ครู : P แต่ครูจำเราได้แม่นมากๆ)
  • ที่โรงเรียนอนุบาลมีสัตว์เลี้ยง มัทว่าเด็กได้อยู่ใกล้สัตว์ ได้อยู่ใกล้ธรรมชาติจะมีจิตใจที่ดีกว่าโตมากับเกมส์คอมนะคะ
  • โรงเรียนประถมของมัทนี่สุดยอด้เลยค่ะ ขอชมออกหน้าออกตานิด เพราะชอบมาจริงๆ รักมากๆ มีกิจกรรมเยอะมาก มีชมรมให้เข้า มัทเคยอยู่หลายชมรมค่ะ ชมรมวิทย์ สอนให้ทำสบู่ ยาสระผมเอง ชมรมภาษาไทยมีคุณ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์มาสอนแต่งกลอน ชมรมดนตรีการเชิญนักดนตรีมืออาชีพมาพูดมาเล่นดนตรีให้ฟัง
  • ผู้ปกครองมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในโรงเรียนมากค่ะ มาช่วยเป็นวิทยากรบ่อยมากๆ
  • โรงเรียนมีงานโขนประจำปี นร.ทุกคนรู้เรื่องรามเกียรติ์ ทุกคนเรียนนาฎศิลป์สัปดาห์ละครั้ง
  • เรียนศิลปะสัปดาห์ละครั้ง เรียนดนตรีสัปดาห์ละครั้ง นั่งสมาธิสัปดาห์ละครั้ง เรียนวิชาช่างไม้ ทำกรอบรูปกับที่ใส่ดินสอ เรียนการบ้านการเรืิอน เรียนงานประดิษฐ์ ปลูกผักสวนครัว
  • ได้ไปถวายตนเป็นพุทธมามากะที่วัดธรรมงคล ไปฝึกอาราธนาศีลอาราธนาธรรมที่วัดโพธิ ไปทัศนศึกษานอกสถานที่ทุกปี  คือความทรงจำมีแต่เรื่องนอกห้องเรียนซะมากอ่ะค่ะ
  • การจัดโต๊ะนั่งในห้องก็จัดเป็นกลุ่ม ไม่ได้นั่งหันหน้าเข้ากระดานทุกปีค่ะ แล้วแต่อาจารย์ ได้ฝึกพูดหน้าชั้นบ่อยมาก มัทเป็นคนขี้อายมากๆ ช่วยได้เยอะค่ะที่ได้ฝึก
  • ได้ทำงานเป็นกลุ่ม เล่นบทบาทสมมติก็บ่อยค่ะ
  • จำได้ว่าวิชาสปช. มีสอบ lab กริ๊งด้วย ตอนนั้นป. 5 เอง เรื่องหินชนิดต่างๆ แล้วก็เรื่องส่วนประกอบของพืช ได้ใช้กล้องจุลทรรศด้วย
  • แต่งกลอนกับเขียนเรียงความบ่อยมากค่ะ กระตุ้นต่อมความคิดสร้างสรรค์มาก
  • ในโรงเรียนมีแต่ขนมและอาหารที่มีประโยชน์ขาย ราคาก็ถูก
  • มีการเลือกตั้งประธานนักเรียนแบบเป็นเรื่องเป็นราวทีมผู้สมัครต้องหาเสียง เดินพบรุ่นน้อง มีการอภิปรายนโยบาย
  • ประธานรุ่นมัทตอนนี้เป็นนักร้องดังร้องเพลงปรัชญาและการเมืองไปแล้วค่ะ (ตุล แห่ง วง apartment คุณป้า นั่นเอง)
  • ห้องสมุดที่โรงเรียนก็มีหนังสือดีๆมากมาย เข้าห้องสมุดเป็นเรื่องเท่ห์ ชอบมากค่ะ
  • มีอ.นิสิตมาสอนเพิ่มสีสัน
  • นร. ป.6 ทุกคนต้องสลับกันมาชักธงชาติและนำสวดมนต์ตอนเช้า
  • มีพื้นที่ให้วิ่งเล่นมากมาย เคยเล่นเกมบอลลูนไม๊ค่ะ เล่นกันยาวมาก ได้รู้จักเพื่อนต่างห้อง เพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้อง ชั้นนึงมีแค่ 4 ห้อง ก็รู้จักคุ้นหน้ากันหมดจนโตมานี่เลยค่ะ
  • พูดถึงการส่งต่อระหว่างระดับ มัทไม่เคยมีปัญหาเรื่องการหาเพื่อนเลยเพราะเพื่อนจากโรงเรียนเก่า มาโรงเรียนใหม่เพียบ จะต้องปรับตัวก็แต่เรื่องการเรียนเพราะตอนประถมเรียนสนุกได้เล่นเยอะ
  • พอมัธยมเรียนเป็นเรียน กิจกรรมยังมีอยู่แต่ไม่เท่าตอนประถม
  • ได้เล่นดนตรีไทยเป็นเรื่องเป็นราว
  • มัธยมนี่มัทชอบการแนะแนวมากค่ะ เหมือนที่คุณเบิร์ดเขียนไว้ สำคัญมากๆค่ะ อ.ต้องพร้อมคุยและมีข้อมูลทางเลือกให้เด็กมากๆ
  • มัทประทับใจเพื่อนค่ะ ช่วงวัยรุ่นนี้เพื่อนสำคัญ จะเสียไม่เสียก็ตรงนี้ วัฒนธรรมอ.ปกครองของโรงเรียนไทยเรานี่ก็น่ารักดีนะคะ
  • มองกลับไปมันก็สำคัญน่าดู แต่ต้องปกครองแบบสร้างสรรค์และรู้ทันเด็กให้เด็กเกรงใจเอง ไม่ใช่ให้เด็กเกลียดนะคะ
  • ตอนเรียนวิชาชีวะ มีชั่วโมงนึงให้ออกเดินไปตามคูน้ำเก็บตัวอย่างมาศึกษาชอบมากคะ
  • ทัศนศึกษาที่ชอบมากที่สุดคือตอนไปลพบุรี ไปเมืองเก่า เรียนประวัติศาสตร์ถึงที่
  • ตอนม. 3 เรียนสังคมเรื่องทวีปต่างๆ แต่ละกลุ่มต้องไปติดต่อสถานทูตหรือกงศุลเองเพื่อขอข้อมูล
  • ได้ทำงานศิลปะ งานเกษตร ตัดตอนกิ่ง ปลูกเห็ด
  • มีงานกีฬาสีที่นักเรีนรับผิดชอบกันเอง รุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง ทำ stand เชียร์เอง บริหารงานกันเอง อ.แทบไม่ต้องเข้ามาช่วยอะไรเลย ดูอยู่ห่างๆ
  • ที่นี่ก็มีอ.นิสิตค่ะ มีสีสันอีกแล้ว : ) อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยด้วยก็ได้เห็นว่าพี่ๆในมหาวิทยาลัยเค้าใช้ชีวิตยังไง
  • นึกออกแค่นี้ค่ะ อ๋อ แถมอีกนิด....มัธยมนี้ทางถาดหลุมจนจบเลยค่ะ เอาช้อนส้อมและแก้วไปเองจากบ้าน : )
ตอบไม่ตรงคำถามแต่หวังว่าจะพอเป็นแนวทางให้ได้นะคะ ว่าเรียนแบบทำให้เด็กมีความสุขสนุกไปด้วยก็ืทำได้ : ) ถ้าเป้าหมายคือ entrance ไว้มาเรียนแบบเรียนตอนโตแล้วก็ได้ค่ะ ตอนเล็กๆอย่าให้เด็กเครียดโดยไม่จำเป็นเลย ทำอะไรให้สร้่างใจสร้างจินตนาการสร้างทักษะการใช้ชีวิตการอยู่ร่วมกันกับคนอื่นดีกว่า

___________________________________________________

เป็นอย่างไรบ้างครับ ผมว่าเห็นตัวอย่างเกี่ยวกับกิจกรรมที่ดีๆ และสิ่งนี้อยู่ในรอยประทับใจของคุณมัทนามาตลอด ดังนั้น ผมอยากจะทราบจากเพื่อนๆ ด้วยนะครับ ว่าเจอประสบการณ์ดีๆ กิจกรรมดีๆ เกิดขึ้นมาอย่างไรบ้างครับ นับตั้งแต่คุณจำความได้ในแง่ของการเรียนรู้ การศึกษาในระดับต่างๆ ตลอดจนการสนับสนุนหลายๆ อย่างนะครับ ที่ส่งผลให้การศึกษาของคุณเดินมาได้ถึงวันนี้ หรือกรณีอื่นๆ ด้วยนะครับ (อันนี้เปิดกว้างอีกเช่นกันนะครับ เน้นการสร้างแรงจูงใจที่ดีต่อการศึกษา) นะครับ

ปล. สำหรับส่วนตัวผม ผมจะมาต่อท้ายและเล่าสู่กันฟังด้วยนะครับ

ขอบคุณมากๆ เลยครับ

เม้ง สมพร ช่วยอารีย์

หมายเลขบันทึก: 94862เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2007 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (49)

สวัสดีครับ

  • ประเด็นนี้ขอใช้เวลานิดนึงครับ
  • ขอซดน้ำชาสัก2-3จอกก่อน
  • เชิญครับ   น้อรก
  • สวัสดีครับอาจารย์เม้ง
  • ผมขอสวมวิญญาณลูกบ้าน  ที่ว่าแล้วแต่กำนันว่าเถอะ
  • ที่พูดมาก็ดีอยู่  แต่ (มันสำคัญตรง...แต่..นี่แหละ)  การศึกษาในระบบ  เหมือนรูปสามเหลี่ยมหัวตั้ง  คือ ยิ่งสูงขึ้นก็หดหายลงหลายเปอร์เซ็นต์  จบป.๖  ม.๓  ม.๖  ป.ตรี  ป.โท  ป.เอก  และเชี่ยวชาญเฉพาะ
  • บรรดาคนเหล่านั้น  ไปไหน  คงจะมีมากกว่าในระบบเป็นแน่แท้  ใครรับผิดชอบเขา   เขาก็อยู่ร่วมในสังคมเรา  มีผลบวก ผลลบเช่นกัน  
  • หากตีกรรเชียงไปทางนั้น  วงสนทนาของอาจารย์เม้งจะแตกไหม?
  • คือ  ที่พูดกัน  ผมได้ยิน  ได้อ่าน  และร่วมวง  มามาก  ดูเหมือนเคลื่อนกันช้าๆ   หรือไม่มีทางออกกัน
  • พูดไป  นอกจากได้ระบายแล้ว  จะไปแหลมคมกว่าบรรดานักวิชาการที่ทำงานในกระทรวงศึกษา  หรือนอกกระทรวง 
  • ผมคิดว่าน่าจะมีนักวิชาการมากกว่าทุกกระทรวงมั้งครับ
  • หรือว่า  ได้ขบแตกไว้ทุกกระบวนท่าแล้ว
  • ได้ระบายเล็กน้อยก่อนนอน
  • ขอบคุณ   สวัสดีครับ
P

สวัสดีครับพี่สิทธิรักษ์

  • ขอบคุณมากครับผม
  • จิบน้ำชากันก่อนนะครับ
P

สวัสดีครับพี่แท็ฟส์

  • สบายดีไหมครับพี่
  • ขอบคุณมากๆ เลยครับ ที่มาร่วมแสดงความเห็นกันต่อนะครับ ในประเด็นนี้
  • รบกวนพี่ชี้แนะนำ ด้วยนะครับ ในเรื่องนี้ ผมเองประสบการณ์ยังน้อยมากๆ นะครับ แต่อยากจะเน้นการหาแนวทางร่วมกัน นำไปสู่การปฏิบัติเป็นเครือข่าย
  • พี่คิดว่าทำไม ที่ขับเคลื่อนกันช้าครับ รบกวนพี่เล่าแลกเปลี่ยนมุมมองนี้ด้วยครับ
  • สำหรับประเด็นคนหาย หรือเด็กหายนั้น ในแต่ละช่วงของการเรียนในระดับต่างๆ พี่คิดว่าเป็นเพราะปัญหาหรือสาเหตุอะไรครับ
  • เราจะทำให้สามเหลี่ยมนั้นเป็นสามเหลี่ยนกลายเป็นสี่เหลี่ยมได้ไหมครับ โดยให้ด้านบนกว้างขึ้น ควรจะมีกระบวนทางอย่างไรบ้างครับ
  • เราติดปัญหาตรงไหนครับ ถึงคนหายไปเรื่อยๆ จากที่พี่มองนะครับ เราจะทำอย่างไรดีครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ
  • เข้ามาทักทายค่ะ
  • ไปประชุมเตรียมงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ก่อนนะ
P

สวัสดีครับพี่อัมพร

  • สบายดีไหมครับ โชคดีในการเตรียมงานและงานผ่านไปได้ด้วยดีนะครับ
  • ดีจังครับ น้องๆ รุ่นใหม่ๆ ก็จะเดินทางก้าวเข้าสู่วงการอุดมแล้วอีกรุ่นนะครับ
  • โชคดีในการเดินทางเส้นของน้องๆทุกท่านครับ เรียนเพื่อพัฒนาสังคมร่วมกันนะครับ
มาเยี่ยมก่อนครับ...ยังไม่ได้อ่านเลยมีแขกเสียก่อน
P

สวัสดีครับ อ.ย่ามแดงครับ

  • ยินดีต้อนรับนะครับ อ.สบายดีไหมครับ
  • มีเวลาแล้วค่อยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ
  • โชคดีนะครับ

สังคมไทย ต้องการ คนเก่งและดี

แต่ ณ วันนี้ ทุกสถานศึกษา กำหนดวิธีการรับด้วยเกณฑ์ความรู้ คือจะรับคนเก่งก่อน ส่วนจะเป็นคนดีหรือเปล่าไม่รู้

เมื่อจบ ก็จะกำหนดระดับความรู้ ว่าเก่งแค่ไหน แต่เป็นคนดีได้แค่ไหน ไม่รู้ไม่เคยวัด ไม่เคยให้คุณค่าความดี

ระบบการศึกษาบ้านเรา รับ-ส่ง นักเรียน นศ. ด้วย ผลการเรียน แต่ผลความดีงาม ไม่เคยจะให้มีและแปลความดี เพื่อสร้างคุณค่าของบุคคลกันเลย

ผมคิด เรื่อง คะแนนชีวิต ไว้เขียนเสร็จจะขอมาขยายความต่อไปครับ

P

สวัสดีครับคุณตาหยู

  • ขอบคุณมากๆ เลยนะครับ
  • เราจะมีตัววัดความดีงาม ได้อย่างกับการ วัดคะแนนได้อย่างไรดีครับ
  • เพื่อที่จะได้เห็นและมีเด็กที่เก่งและดี หรือว่าเน้นความดีงามมาก่อนความเก่ง เราควรจะทำอย่างไรดีครับ
  • เป็นไปได้ไหมครับ ที่จะเปลี่ยนแนวสังคมให้หันมาเห็นส่วนดีๆ แล้วส่งเสริมคนทำดี เพื่อเป็นตัวอย่าง เน้นความดีนำ เอาวัตถุตาม
  • คะแนนชีวิต หรือคุณค่าชีวิต ควรจะนำด้วยความดีงามหรือเปล่าครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ เขียนเสร็จเมื่อไหร่รบกวนแจ้งผมด้วยนะครับ ขอบคุณล่วงนหน้าครับผม
  • เมื่อวันก่อนผมไปสนามบินครับที่สนามบินแฟรงค์เฟิร์ท เยอรมนี พอดีต้องไปที่เทอร์มินัล 2 เลยต้องขึ้น skyline เป็นคล้ายรถไฟฟ้า BTS นะครับ จุดที่อยากจะเล่าคือว่า
  • ที่เทอร์มินัล 2 มีบริเวณที่เป็นลานสร้างไว้ให้เด็กเล่น มีเครื่องเล่น
  • ขณะที่ผมเดินทางกลับจาก เทอร์มินัล 2 มาที่เทอร์มินัล 1 นั้น มีคนเข็นลูกตัวเล็กๆ มาแล้วเจ้าตัวเล็กเค้าก็อยากลงมาเดินแล้วไปยืนเกาะราวที่ด้านหน้าของตัวรถ ประมาณเหมือนว่ายืนหน้าสุดแล้วเหมือนคนขับรถเองเลย
  • พ่อแม่เค้าก็ปล่อยให้ไปยืนจับราว แล้วเค้าก็สนุกใหญ่เลยครับ สนุกแล้วก็เรียกแม่ด้วย
  • เป็นความตื่นเต้นของเด็ก ที่ได้รับอิสระในการเรียนรู้
  • ผมเห็นแล้วผมก็อมยิ้มเวลาเจอกรณีแบบนี้
  • แล้วคุณเคยเจออะไรทำนองนี้อะไรบ้างครับ เล่าสู่กันฟังครับ
  • หลายครั้งที่ผมขึ้นรถเมล์ ในเยอรมัน แล้วจะคนเดินทางขึ้นมาพร้อมลูกตัวเล็กๆ
  • ปกติก็จะมีการตอกบัตรที่ซื้อเข้าเครื่องเพื่อบอกว่าคุณเริ่มใช้บัตรแล้วเมื่อไหร่
  • ประเด็นอยู่ที่ว่า เจ้าตัวเล็กที่ขึ้นมาด้วยอยากเสียบบัตรเอง คุณแม่เค้าก็เลยให้ถือบัตรแล้วอุ้มตัวเด็กขึ้นแล้วเสียบบัตร จนเครื่องตอกบัตรก็ทำการตอก ดังปึ้ง แล้วก็ดึงบัตรออก จากนั้นก็เดินไปนั่งตามปกติครับ
  • จริงๆ ไม่ได้มีอะไรครับ แต่ผมเห็นถึงการให้โอกาสเด็กในการเรียนรู้ แล้วเล่าสู่กันฟังเฉยๆ นะครับ
  • พอดีวันก่อนไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่เมืองกีเซ่น เป็นเมืองที่มีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ สำหรับเด็กๆ ให้เด็กเรียนรู้
  • วันนั้นไปกัน เจอเด็กๆ เพียบเลยครับ ตลอดกันนั้น ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ มีถนนสายวิทยาศาสตร์ วางกันเป็นซุ้มๆ เรียงเต็มไปหมดครับ เด็กๆ ตั้งแต่ตัวเล็กๆ เดินเข้าไปร่วมทำแลปตามซุ้มต่างๆ มีตั้งแต่ ชีวะ เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ โดยมีโปรเฟสเซอร์และ ดร. ยืนให้คำแนะนำในแต่ละซุ้ม เต็มไปหมดเลย สงสัยโปรเฟสเซอร์เยอะจริงๆ ดร. ก็เยอะ จริงๆ แล้วลงมาประจำซุ้มให้เด็กสอบถามกัน สนุกจริงๆ เห็นเด็กเค้าสนุกกันใหญ่ครับ
  • ผมมีภาพมาฝากหนึ่งภาพครับ


  • จากภาพนี้ จะเห็นว่าจะมีไดนาโม ที่ให้เด็กนั่งแล้วใช้มือหมุน ต่อสายไฟไปยังหัวรถจักร หากพลังงานที่เด็กหมุนผ่านเกณฑ์ หัวรถไฟก็จะมีเสียงพร้อมกับล้อหมุน ตามที่ได้โปรแกรมไว้ครับ
  • ดูแล้วเด็กๆ เค้าจะมีความสุขมากๆ เลยครับ
  • ซุ้มอื่นๆ ก็มีการผสมสารเคมีต่างๆ
  • มีเกี่ยวกับฟิสิกส์ เกี่ยวกับแสง เสียง และอื่นๆ
  • สนุกสำหรับเด็กเค้าจริงๆ เลยครับ ผมเห็นแล้วว่านี่คือวัคซีนตัวยอดของเยอรมัน ที่ทำให้เด็กเข้าใจและคลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้กันตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ
  • ขอบคุณมากๆครับ คุณเองก็คงเคยเจอสิ่งเหล่าๆ นี้กันมาบ้างใช่ไหมครับ
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกันฟังนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • แถมอีกมุมนะครับ ขอเจ้าตัวน้อยคนเดิมครับ
  • มีความตั้งใจมากๆ เลยครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • ในงานเดียวกันครับผม ถนนสายวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก ที่เมืองกีเซ่น เยอรมนี
  • อ้าว นี่ลูกใครคับเนี่ย ผมยื่นมือไปปั๊บจับมือผมทันทีเลยครับ ดูหน้าตาแล้วท่าทางจะเครียด ท่าทางโตขึ้นจะเป็นนักฟิสิกส์ อิๆ
  • แม่เค้ายืนยิ้มใหญ่เลยครับ อิๆ
  • ขอบคุณมากครับ

มาแจ้ง เขียนเรื่องคะแนนชีวิตเสร็จแล้วครับ

อยากได้ความคิดเห็นบ้างครับ

. ถ้าผมได้มีโอกาสเข้าประชุมในกระทรวงศึกษา ว่าจะไปขายความคิดบ้าง

สวัสดีค่ะคุณเม้ง

มายิ้ม...มกับเรื่องราวและรูปที่เล่าเรื่องได้น่ารักนัก

ไทยมีพิพิธภัณฑ์เด็กเหมือนกันค่ะ ( ชื่อน่ากลัวเหมือนเอาเด็กไปสต๊าฟไว้ ^ ^..แต่เป็นการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้อง ) เบิร์ดเคยเดินเข้าไปดูก็น่าสนใจดีค่ะ..เพลินเลยเหมือนกัน

ท้องฟ้าจำลองก็น่าสนใจ..สยามพารากอนก็ดีแต่แพงไปนิด..เขาดินดูแล้วน่าสงสารสัตว์ไปหน่อย..นอกนั้นก็มีที่ประจวบ ฯ เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ไว้ดูดาว..พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่บางแสน  เริ่มนึกไม่ออก..อ้อ ! ถนนเด็กเดินที่น่าน ( จะปิดถนนทุกวันอาทิตย์ของเดือนหรือไงนี่แหละค่ะ แล้วก็มีของเล่นพื้นบ้าน ภูมิปัญญาไทยๆมาให้เด็กๆได้ดู ได้เล่น..น่ารักดีเหมือนกัน )..เด็กๆนี้เค้าสดใส น่ารักจริงๆนะคะ

ตอนเรียนก็มีเรื่องราวคล้ายๆของคุณมัทนั่นแหละค่ะ..ชั้นอนุบาลจะมีสวนสัตว์เล็กๆให้ดู มีชะนี มีกระต่าย

ประถม ฯ ก็มีพูดหน้าชั้น..พูดหน้าแถว..เสียงตามสายแข่งตอบปัญหา..มีการแข่งขี่จักรยานช้าเวลามีงานโรงเรียน ( เปิดโอกาสให้กับพวกที่ไม่ค่อยเด่นได้มีเวทีบ้าง )..มีการแข่งเปิดดิก ฯ เวลาเรียนอังกฤษ..แข่งชี้แผนที่แอตลาสเวลาเรียนภูมิศาสตร์..มีพี่สอนน้องเวลาครูติดประชุม..มีเพื่อนสอนเพื่อน..มีห้องสมุดที่ครูใจดีน่าดูและมีมุมให้เรานอนอ่านหนังสือได้ด้วย..มีทัศนศึกษาทุกปี มีการพาไปดูภูมิปัญญาในท้องถิ่น เช่นการทำของเล่นจากใบลาน..การทำตุง..ไปเมืองโบราณ ไปดูสถานที่ประวัติศาสตร์ ฯลฯ..เข้าชมรมอาหารไทย ขนมไทย..ก็มีของกลับมาให้ที่บ้านทานทุกอาทิตย์อิ่มดีจริงๆ..เข้าชมรมหมากรุกไทย  ก็เพลินจนลืมเวลา

คิดๆดูแล้วเหมือนคุณมัทเลยค่ะที่จำได้แต่เวลาออกนอกสถานที่..ส่วนเรื่องราวที่เรียนจำไม่ค่อยได้เท่าไหร่..รู้สึกว่าไม่ได้เน้นมากนักแต่ครูจะสอนแบบให้คิด ค้น คว้ามากกว่า แถมตอนเด็กๆจะเล่นมากกว่าเรียนซะอีก ( อย่างเรียนภาษาไทยอาจารย์ก็จะให้เราเล่นเป็นตัวละครต่างๆ..มีบทพากษณ์ บทเจรจา..เรียนภาษาอังกฤษก็มีเรียนจากเพลง..สนุกออกค่ะ )..แถมไม่เห็นต้องเรียนพิเศษเลย

 

 

เรียนแบบเล่นนี่น่าส่งเสริมนะคะ : )

ชอบเรื่องเล่าคุณเบิร์ดมากค่ะ อ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความสุขวัยเด็ก 

แต่ดูคนจะกลัวกันจังว่าจะ ent ไม่ติด สงสัยโจทย์มันจะอยู่ตรงนี้จริงๆ -_-'

 

P

สวัสดีครับคุณตาหยู

  • ขอบคุณมากนะครับสำหรับบทความ
  • ผมไปฝากไว้แล้วนะครับ น่าสนใจมากๆ เลยนะครับ ที่ทำให้ช่วยคิดต่อ
  • มีอะไรดีๆ อีก มาบอกกันอีกนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ
P

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • ขอบคุณมากๆเลยนะครับ ที่มาบอกเล่าหลายๆ อย่างที่เรามีในเมืองไทยให้ทราบกันนะครับ
  • ผมอยากจะให้พิพิธภัณฑ์เหล่านี้เกิดทั่วทุกหมู่บ้านเลยครับ เป็นพิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาชุมชน และมีศูนย์รวมการสร้างตรรก วิทย์ ศิลป์ ให้กระจายอยู่ทั่วเลยครับ เช่นมีจังหวัดละที่ โดยสร้างกันเพื่อลูกหลานในพื้นที่ครับ
  • ผมชอบถามเด็กๆ แบบคำถามง่ายๆ กับเด็กครับ เราจะได้ทราบอะไรมากมายเลยครับ บางทีเด็กทำให้เราคิดอะไรที่คิดไม่ถึงได้เยอะครับ
  • ผมว่าบางทีผู้ใหญ่เราต้องเรียนรู้จากเด็ก จากคำถามของเค้า ว่า ทำไม ทำไม ทำไม และทำไม
  • การเปิดเวทีให้กับเด็กเป็นสิ่งสำคัญมากครับ เราต้องมีวันเด็กทุกวันครับ....ในทั้งปีครับ..... เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เด็กและผู้ใหญ่ก็คือสิ่งเดียวกัน เรียนรู้ด้วยกันได้ และเราก็ต้องฟังเด็ก ให้เด็กคิดมากกว่าเราจัดการให้เค้าเพียงฝ่ายเดียวครับ
  • เข้าไปอ่านและแสดงความคิดในบทความคุณเบิร์ดเรื่อง คนไทยขาดอะไร  ทำให้ผมอยากจะถามต่อว่า แล้วเด็กไทยหล่ะขาดอะไร..... หากถามเจาะลงไปที่เด็ก
  • ความโชคดีที่ผมคิดว่าประเสริฐที่สุด คือ อะไร ในความเห็นของคุณเบิร์ดครับ ....สำหรับคือ การมีโอกาสในการเรียนรู้ รับรู้ และถ่ายทอด
  • ขอบคุณมากๆนะครับผม
P

สวัสดีครับคุณมัท

  • ขอบคุณมากครับ ผมว่าการทำเรื่องวิชาการ ความรู้ ให้เป็นเรื่องสนุก หรือเรื่องเล่น(ที่ไม่ใช่เล่นๆ) เป็นการทำให้เด็กได้อะไรไปแบบไม่รู้ตัวครับ แต่สิ่งนั้นได้ฝังอยู่ในความคิดเค้าไปเรียบร้อยแล้วครับ
  • สงสัยเรื่อง ent นี้เราต้องทำเรื่อง ent ให้เป็นเรื่องเล่น ดีไหมครับ อาจจะทำให้ไม่ต้องเกิดความกลัว แล้วเราจะทำอย่างไรดีครับ
  • ทั้งๆที่ การ ent เป็นแค่เส้นทางหนึ่งเท่านั้น ยังมีทางอื่นๆ อีกมากมายใช่ไหมครับ ให้เดิน ที่นำตัวเองไปสู่คำตอบของชีวิตได้เช่นกันครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ
P
  • อ่านประสบการณ์ในวัยเด็กการเรียนมีโอกาสได้ทำกิจกรรมหลายๆ อย่างของคุณเบิร์ดก็ทำให้ เราได้ผ่านอะไรมามากมาย
  • ความกล้าก็เกิดครับ ผมเองก็อายมากๆ ครับเมื่อก่อน เพิ่งจะมากล้าเอาก็ ป.ตรี แล้วครับ เพราะว่าโอกาสในการเปิดเวทีให้เราน้อยครับ ผสมกับความขี้อายในตัวมีอยู่เยอะครับ ประกอบกับความกลัว ผสมอยู่เช่นกันครับ
  • จากกิจกรรมของคุณมัท และคุณเบิร์ด กล่าวมา ผมว่าน่าจะดีมากๆ หากมีการนำไปประยุกต์ใช้ ตามโรงเรียนต่างๆ ตามรูปแบบที่สอดคล้องกับพื้นที่และเนื้อหาสาระ คงดีไม่น้อยเลยครับ
  • ขอบคุณมากครับ
P
มัทนา
เมื่อ พ. 09 พฤษภาคม 2550 @ 00:07 [253926]
P
มัทนา
เมื่อ พ. 09 พฤษภาคม 2550 @ 08:59 [254213]

สวัสดีค่ะ น้องเม้ง

  • พี่แอมป์ตามไปอ่านบันทึกของคุณตาหยู  ที่ว่าด้วยกุศโลบายการปลูกฝังคุณธรรมให้แก่เด็ก คือคะแนนชีวิต และ ธนาคารความดี ทั้งสองบันทึกแล้วค่ะ  เขียนดีจัง     แล้วก็รีบกลับมาดูเด็กไทยกับเด็กเยอรมันจับมือกันถ่ายรูป  น่าเอ็นดูเทียว  .......แม่เค้าถึงได้ยิ้มใหญ่   : )      เด็กฝรั่งนี่แปลกดี  ตอนเล็กๆดูน่ารักเหมือนตุ๊กตา  คือแทบทุกคนเลยอะค่ะ
  • เอ่อ.... วันก่อนแว่บไปห้องหว้ากอ ของ pantip.comเจอกระทู้แนะนำที่เล่าถึงท้องฟ้าจำลอง กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แล้วบอกไม่ถูกอะค่ะ  เท่าที่ทราบ  ประเด็นนี้ขึ้นเป็นกระทู้แนะนำสองหนแล้ว ถ้ามีเวลาแวะไปก็ลองอ่านดูนะคะ  
  • อ่านที่ อ.มัทนา กับ น้องเบิร์ด เล่าเรื่องโรงเรียนแล้วนึกย้อนไปสมัยนู้น..น..    ก็ได้ข้อคิดว่า ที่เราจำเรื่องนอกห้องเรียน ได้มากกว่าตอนนั่งเรียน  เพราะมันตรงกับ "วิถี"  ในชีวิตของเราจริงๆ   คือไม่ได้เป็นเส้นตรง
  • กิจกรรมลูกเสือ  เนตรนารี  ผู้บำเพ็ญประโยชน์  ยุวกาชาด  ต้องไปเข้าค่าย ไปทำกิจวัตรชีวิตนอกบ้านสามวันสี่คืน   ทำให้รู้สึกว่าชีวิตจริงๆมันหลากหลายและเปลี่ยนแปรไป  ต้องมีวิธีรับมือหลายๆแบบ    อาทิ  ถ้าหุงแบบนี้ไม่สุก  ต้องหุงอีกแบบ  หรือไม่ก็มาม่า ปลากระป๋อง ไข่เค็มกันไปเลยคับพี่น้องคับ
  • ตอนเรียน ม.ปลาย มีกิจกรรมคล้ายๆโฮมรูมของชั้นปี  นักเรียนชั้นปีนั้นๆทุกห้อง   ต้องเข้าห้องประชุม   เช่นของ ม.6 ก็เป็นทุกบ่ายวันศุกร์เป็นต้น
  • ครูจะเริ่มด้วยการสลับกันมานำสวดมนต์  ได้นั่งสวดมนตร์ถั่วงาถั่วงาตามเพื่อนไป    กุศลส่งให้สวดจบอยู่บทเดียวคือ อะระหังสัมมาสัมพุทโธภะคะวา.........  แต่พระธรรมก็ซึมซับเข้ามาในใจโดยไม่รู้ตัว  พอเป็นทุกข์ก็จะนึกถึงการสวดมนต์
  • จากนั้นแต่ละห้องก็ต้องส่งตัวแทนออกไปแสดง   ตอนจะออกไปก็เกี่ยงกันเพราะต่างคนต่างอาย  แต่เมื่อหลายคนผ่านเวทีบ่อยๆ  ความประหม่าก็ลดลง  บางคนโตขึ้นเป็นนักแสดงไปก็มี
  • และผลดีของการมานั่งรวมชั้นปีกันทุกห้องในทุกสัปดาห์   ทำให้เห็นหน้าเพื่อนๆทั่วถึงทุกคน  คือเห็นแล้วรู้สึกว่านั่นเพื่อนเรา  นี่เพื่อนเรา  โน่นก็เพื่อนเรา  บางคนถึงจะไม่ค่อยได้คุยกันก็ยังรู้สึกดี   เห็นหน้ากันอีกทีตอนแก่ก็ยังพอจำกันได้    แต่ต้องนึกนานหน่อย    กว่าจะร้องว่า  "อ๋อ...นึกว่าใคร..! .."          (ที่แท้ก็ใครนั่นเอง  : )  )
  • สรุปว่ากิจกรรมหลายกิจกรรมในโรงเรียน  มีส่วนคล้ายวิถีชีวิตจริงๆ  คือมีสถานการณ์ที่ทำนายล่วงหน้าไม่ได้   กำหนดวิธีรับมือล่วงหน้าไม่ได้  เพราะมันเกิดสดๆเดี๋ยวนั้น และไม่มีโจทย์สำเร็จรูปเสมอไป  ต้องหาวิธีรับมือที่หลากหลาย   ทำให้กิจกรรมดูเร้าใจกว่าการเรียนในห้องเรียนเยอะอะค่ะ   :-)

P

สวัสดีครับพี่แอมป์

  • ใช่ครับผม คุณตาหยูเขียนดีมากครับ นำไปใช้ได้จริงครับ แล้วอาจจะเอาไปใช้ตั้งแต่แรกเกิดกันเลยครับ จนถึงตายครับ
  • แม้จะมีแกล้งทำความดีเพื่อให้ได้คะแนน แต่สิ่งดีๆ ก็เกิดขึ้นในสังคมได้ครับ ดังนั้นไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ผู้ทำจะรู้แล้วจัดการตัวเองได้
  • ผมก็ชอบกิจกรรมในการสอนที่ทำให้เด็กได้เล่น ได้ปฏิบัติครับ
  • พอพี่พูดถึงวิถี เป็นเพราะเราเอาวิถีของเราเป็นมาตรฐานหรือเปล่าครับ ทำให้เรามองว่าเด็กปัจจุบันมีปัญหา ซึ่งจริงๆ แล้วเค้ามีปัญหาหรือเปล่า หากมองในมุมมองของเด็ก จะเป็นอย่างไรหนอ
  • การมีกิจกรรมร่วมกัน ในระดับโรงเรียนเป็นสิ่งที่ดีๆ ทั้งนั้นครับ และมีการช่วยเหลือสังคมด้วย ที่ผมเคยเขียนเกี่ยวกับว่า ครูให้เด็กเอาแกะเกี่ยวข้าวไปเกี่ยวข้าวกันทีละรวงให้ชาวบ้าน สนุกและได้ความรู้ สนุกสนาน มีการเอาซังข้าวมาทำเป็นปี่ เป่าปี่เล่นกันได้อีก มีอะไรให้เล่นหลายๆ อย่างครับ
  • การจำเพื่อนได้ แม้ว่าไม่เคยพูดกันก็ตามพอนึกถึงรุ่น หน้าเพื่อนๆ เหล่านั้นจะลอยกันมาเลยครับ
  • ผมยังนิยมสิ่งเหล่านี้มากกว่าเกมส์คอมพ์
  • พี่สบายดีนะครับผม
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะคุณเม้ง

" เด็กไทยขาดอะไร "

ขาดการสัมผัสด้วยหัวใจค่ะ ( ภาษาทางจิตวิทยาคือ encounter แปลว่า psychological  touching )...เราเลี้ยงเค้าให้เติบโตแต่ส่วนใหญ่เป็นทางกายภาพ แถมบางอย่างเป็นสิ่งที่เราคิดเอาเองเสียอีก..

อย่างเวลาเราผิดหวัง เจ็บปวด แล้วมีคนที่เรารักเข้ามากอด ( กรณีคุณเม้งก็คือแม่ ) อาจเป็นเพียงกอดนิ่งๆโดยไม่พูดอะไร หรือพูดเพียงแค่ว่าไม่เป็นไร เริ่มใหม่นะ..ช่วงเวลานี้แหละค่ะที่เรียกว่า สัมผัสด้วยหัวใจ เป็นเวลาที่น่าจดจำ เป็นช่วงความทรงจำที่มีความหมายไปตลอดชีวิต  เราอาจสัมผัสคนแค่ 10 วินาทีแต่รอยสัมผัสนั้นจะอยู่ไปตลอดชีวิต..

คุณค่าของการสัมผัสด้วยหัวใจมีมากล้นจนบรรยายลำบาก..แต่เบิร์ดคิดว่าเด็กไทยขาดสิ่งนี้มากกว่าสิ่งอื่นค่ะ..

คุณเม้งถามนักจิต ฯ..นักจิต ฯก็เน้นเรื่องทำนองนี้แหละค่ะ อิ อิ

สวัสดีค่ะ น้องเม้ง

พี่แอมป์นั่งมองภาพน้องเบิร์ดท้าวคางอมยิ้มในความเห็นข้างบนมาสามวันแล้ว .....คำตอบของเบิร์ดทำให้พี่แอมป์รู้สึกประทับใจเหลือเกิน 

พี่แอมป์รู้สึกเหมือนที่น้องเม้งเคยพูดกับเบิร์ดนะคะ  คำตอบของเบิร์ด จับเข้าที่ขั้วหัวใจพี่แอมป์เลย ....แล้วก็จับแน่นอยู่อย่างนั้น

มีจดหมายของเด็กๆ ที่เขียนถึงพี่อยู่สองฉบับที่เป็นแรงผลักดัน   ทำให้พี่แอมป์มุ่งมั่นที่จะเป็น "ครู" ทั้งที่มาอยู่อุดมศึกษา

คำว่าอาจารย์เป็นอาชีพ  แต่คำว่า"ครู" เป็นวิญญาณของเรา เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำตลอดชีวิต    (พี่แอมป์รู้สึกอย่างนั้น)

จดหมายฉบับแรก เด็กเขาเขียนเล่ายาวสามหน้ากระดาษถึงความเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนหลังจากที่พี่แอมป์จากมา       

 (จากแต่เดิม ที่มีเด็กชานเมือง  ในถิ่นบ้านนอกมอมแมมร้อยกว่าชีวิต มีตึกเปล่าๆ ที่ผนังยังโบกปูนไม่เสร็จ โรงอาหารไม่มี  ทั้งครูทั้งเด็กต้องกินข้าวถาดหลุมรวมกันใต้ถุนตึก  ที่มีกองไม้กองอิฐเป็นเฟอร์นิเจอร์ประกอบฉาก  อุปกรณ์การเล่นไม่มี  วันทั้งวันต้องอยู่ในโรงเรียนไปไหนไม่ได้เพราะไม่มีรถ  ต้องช่วยกันเก็บ กวาด ปลูก สร้าง กันเอง  ตอนเย็นต้องนั่งรถโรงเรียนปุโรทั่งกลับไปด้วยกัน)

ตอนที่จับใจมาก  เด็กเขาเล่าว่าอย่างนี้นะคะ

  • ตอนนี้พวกหนูโตขึ้นมากและโตไปพร้อมๆกับ รร.ด้วยค่ะ คือ รร.เริ่มมีสถานที่มากขึ้น
    มีนักเรียนเพิ่มเป็นสี่ร้อยกว่าคน 
  • มีห้องเรียน ห้องน้ำ โรงอาหาร มีเกาะกลางถนน มีดอกไม้ มีสวนหย่อม รถรับส่งนักเรียนมากขึ้น  อาหารการกินมากขึ้นตามจำนวนคน
  • รุ่นน้องที่เข้าใหม่ตั้งเยอะ ไม่เคารพ รร.เหมือนพวกหนูเลย  เขาพูดเสมอเลยว่าทำไมที่นี่กระจอกจัง ทางเข้าก็ไกล น้ำไม่ไหลบ่อย บางวันไฟก็ดับ เพื่อนของหนูได้ยินเกือบทั้งนั้นเลย
  • พวกเราถือว่าที่นี่คือบ้าน ที่เราสร้างขึ้นมาให้ดีขึ้น จะมาว่ากันอย่างนี้ไม่ได้
  • หนูบอกตามตรงเลยนะคะ ว่า ไม่ชอบ อาจจะเห็นแก่ตัวมากไป แต่ไม่ใช่หนูคนเดียว  เพื่อนๆก็เป็น....... 
  • อยากได้บ้านเก่าของเราที่เรียกว่า บ้านนอก คืนกลับมา   เอาตึก เอาคน เอาแสงสีเสียงกลับไปให้หมด
  • หนูรู้ว่ามันเป็นได้แค่ความฝันเท่านั้น ต้องทำใจกับตรงนั้นให้ได้  ถ้าครูมาเจอด้วยตัวเอง ครูก็จะทราบถึงความเปลี่ยนแปลง
  •  แต่ถ้าครูไปที่ชั้นม.2หรือที่ไหนก็ตามที่มีพวกหนูเรียนอยู่  ความทรงจำเก่าๆของครูก็จะกลับคืนมาและหนูเชื่อว่า ครูต้องมีความสุขแน่ๆเลย .......ถึงวันนั้นจะเป็นวันที่พวกเพื่อนๆและหนู ดีใจมากที่สุดที่ได้เรียนกับครูที่เป็น "ครู" จริงๆ

คืออย่างนี้นะคะ  ....พี่แอมป์อ่านถึงตรงนี้ก็น้ำตาร่วงกราว    ..... พี่มีโอกาสมีความสุขที่สุดในชีวิตอยู่ได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้น
 
เด็กเขาเขียนจดหมายแบบที่เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจเราเลย     ตอนที่แม่โทรฯมาบอกด้วยความดีใจว่าพี่สอบบรรจุได้โรงเรียนดีมีระดับนั้น     พี่ก็ร้องแงๆ ...บอกแม่ในใจว่า  เอาโรงเรียนบ้านนอกของหนูคินม๊า..า

น้องเม้งคะ   น้องเบิร์ดคะ

นี่คือสิ่งที่น้องเบิร์ดพูดถึงนะคะ  พี่ได้เห็นและได้ "สัมผัสเขาด้วยหัวใจ"

ในโรงเรียนบุกเบิกที่มีตึกๆเดียวและยังสร้างไม่เสร็จ
ผนังห้องยังไม่มี   ลานปูนโล่งๆข้างล่าง  และทุ่งกว้างข้างหลังนั่น    มีครูเจ็ดคน  รวมพี่ที่จบปริญญาโทใหม่ๆ  (ไม่รู้ว่าการเป็นครูคืออะไรด้วยซ้ำ) อีกหนึ่งคน   มีเด็กๆร้อยกว่าคน  อยู่รวมกันหนุกหนานในบ้านนอกของเรา

ทุกเช้าที่เข้าแถว ครูปกครองจะให้นักเรียนมานำร้องเพลงชาติสวดมนต์     เหตุการณ์ปกติของทุกโรงเรียนเลย  แต่ทำไมพี่มีความสุขนักก็ไม่รู้
พี่รู้สึกว่า นี่คือน้องเล็กๆร้อยกว่าคน "ของเรา" มังคะ  พี่รักเขาหมดทุกคนเลย  เห็นหน้าปุ๊บก็รักเลย

  • ทฤษฎีความรู้สึกเป็นเจ้าของ  ของใครอะจำไม่ได้ ที่ว่าถ้ารู้สึกเป็นเจ้าของเราก็จะรู้สึกผูกยึด   เมื่อรู้สึกผูกยึดเราก็มีความสุข 

ทุกวันที่เข้าสอน พี่ไม่รู้จะสอนอะไร  ดิฉันจบปริญญาโทเอกไทย  สอนไม่เป็น ..ฮา..
วันแรกพี่เลยเล่านิทาน วันที่สองเล่าเรื่องผี  หนักๆเข้าก็ให้เด็กเล่าเรื่องตัวเอง       แต่ทุกห้องต้องจับประเด็น เขียนสรุปย่อเรื่องให้ได้  แล้วมาเล่าให้เพื่อนฟัง 

เธอแต่งเรื่องใหม่กันหนุกหนานเลย    ทุกห้องสนุกกันถ้วนหน้า  เพราะรอฮานิทานใหม่ของเพื่อน  แบบที่ไม่ซ้ำใครในโลก  เด็กสี่ห้องเกือบสองร้อย พี่ก็ตรวจสมุดเขากันมือหงิก  เวลาตรวจ พี่ก็เขียนคุยกับเขาในสมุดด้วย  เขาก็แลกกันอ่านหนุกหนาน

  • ทฤษฎีกลมกลืนนี่ของใครก็ไม่รู้แหละ  พี่ว่าทั้งครูทั้งเด็กจะหนุกหนานมากเลย ถ้าทำตัวกลมกลืนกันไปได้  

ทุกห้องที่สอน ตอนเดินไปรอบๆห้องพี่จะโอบไหล่พวกเขา  แตะแขนเขา      ถ้าเขาคุยพี่ก็จะแตะสองแก้มเขาเบาๆ  ถ้าเขาเริ่มหลับพี่ก็จะเล่านิทานอีก  
(คือพอเริ่มคำนามคืออะไร  เธอก็จะหลับกันครึ่งห้อง) ถ้าเขาปากระดาษใส่หลังเพื่อน  พี่จะเดินไปเขย่ามือที่ปากระดาษ  หรือทำท่าตีอย่างแรงมาก แต่แตะที่มือเขาเบาๆเท่านั้น  แล้วบอกเขาดีๆว่า  "น้องแมนอย่าทำเพื่อนนะลูก"

  • ทฤษฎีพูดดีๆด้วยความรักจากหัวใจนั้น  จะเป็นของใครก็สุดแล้วแต่เถิด แต่น่าจะทำให้เด็กรู้สึกดีกว่า "พูดร้ายๆ"  ตั้งเยอะ  และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ด้วย  ถ้าทำให้ถูกจังหวะ

ทุกเที่ยง ครูจะนั่งทานข้าวด้วยกัน ครูปกครอง ที่ดูเหมือนดุมาก  ก็จะให้เด็กที่ซนมากๆมายืนท่องหนังสือให้ฟัง  ครูก็กินข้าวไป ดิชมไป เด็กก็ท่องไป  น้ำปลาหมด  ครูก็ใช้เด็กไปเอามาเติมให้  แล้วให้ยืนท่องต่อ
พี่แอมป์ฟังเด็กๆท่องทุกวันจนจำได้

  • ทฤษฏีลูกศิษย์คือลูกหลานในบ้าน ของใครนะคุ้นๆ  ตะวันออกเราเป็นแบบนี้มิใช่หรือ เราจึงมีคำว่า ศิษย์ก้นกุฏิ  เราจึงสืบทอดวัฒนธรรม "ความกตัญญู" มาได้ยาวนาน...
  • จนกระทั่งมาถึงวันที่ การศึกษาคือการลงทุน 
    (เอาเงินเป็นตัวตั้งและตัวกำหนด) นักศึกษาคือลูกค้า  (เอาคุณค่าการศึกษาเป็นตัวประกัน  เอาความพึงพอใจ แปลว่าถูกใจฉัน ไม่ถูกใจฉัน เป็นตัวชี้วัด)  อาจารย์ก็กลายเป็นแม่ค้า.. (จ่ายมากสอนดี  จ่ายน้อยไม่ค่อยสอน...  ฮา)
                จะเอาเงินเป็นตัวตั้งไปถึงไหนเนี่ย     โอ้....  พี่ปวดใจมาก!

และทุกเที่ยงที่เด็กๆกินข้าว  ครูก็จะช่วยกันกับเด็กรุ่นโตๆ ตักข้าวใส่ถาดหลุมให้น้องตัวเล็ก เหมือนในบ้านเปี๊ยบ

ทุกเย็นที่กลับบ้าน ทั้งครูทั้งเด็กต้องนั่งรถโรงเรียนคันเดียวกัน  นั่งคุยกันหนุกหนาน  และบางทีก็เป็นเวลาที่เด็กจะได้ปรับทุกข์  ....หัวใจเล็กๆแต่ละดวง ช่างแบกทุกข์เอาไว้หลากหลาย  เรื่องใหญ่ๆทั้งนั้น  ครูก็ได้แต่รับฟัง  แล้วก็ปลอบใจกันไปพอให้คลายทุกข์

  • ทฤษฎีปรับทุกข์กับคนที่ไว้ใจ ทำให้รู้สึกวางใจ สนิทใจ  แค่เขารับฟังเราก็รู้สึกดีแล้ว  เป็นการบำบัดขั้นต้นที่ช่วยลดภาระนักจิตวิทยาไปได้มาก  :)
  • พี่แอมป์เห็นเด็กๆเขาคุยกับครูอย่างใกล้ชิดแบบนี้แล้ว รู้สึกทึ่ง...และชื่นใจนัก   เพราะตอนเด็กๆพี่แอมป์ไม่เคยเดินเข้าไปปรึกษาปัญหาชีวิตกับครูคนใดเลย.......แม้แต่คนเดียว 

 และเมื่อถึงบ้านใคร  ก่อนจะลงต้องสวัสดีคุณครูก่อน  ครูก็ยกมือสวัสดีตอบ และต่อท้ายตามประสาครู เช่น  ลงรถดีๆนะลูก     ระวังแมงกะไชนะ  อย่าลืมล้วงเศษตังค์ล่ะ    นั่น... อย่าลืมถุงซิลูก    ทำการบ้านมาส่งครูด้วยนา  และ พรุ่งนี้อย่าตื่นสายนะจ๊ะ

  • ทฤษฎีความใกล้ชิดเป็นที่มาของความรัก   ทฤษฎีทำโรงเรียนให้เป็นบ้าน  ทฤษฎีครูดี(คือดีกับศิษย์ และรักลูกศิษย์)เหมือนพ่อแม่(รัก) 
                   โอ้..บ้านๆมากเลย


พี่ได้สัมผัสกับช่วงเวลาที่เบิร์ดเรียกว่า สัมผัสด้วยหัวใจ นับครั้งไม่ถ้วน 
พี่ทำด้วยหัวใจทั้งหมดของพี่  ทุกครั้งที่พี่กอดพวกเขา พี่กอดด้วยใจทั้งดวง
และพี่ก็รู้สึกเหมือนที่เบิร์ดว่าจริงๆ.......

เป็นเวลาที่น่าจดจำ เป็นช่วงความทรงจำที่มีความหมายไปตลอดชีวิต...... 
รอยสัมผัสนั้นจะอยู่ไปตลอดชีวิต.. (อยู่ในใจพี่แอมป์นะคะ)   :)

จดหมายฉบับที่สอง 

ขออนุญาตไม่เล่าที่เด็กเขียน   แต่อยากบอกสภาพที่เด็กเล่าให้ฟัง เรื่อง เขาคิดถึงเรื่องสอบเอ็นท์อย่างไร   เป็นแรงบีบให้พี่แอมป์หนีจากระบบ  เพราะรู้ว่าถ้าอยู่  ชีวิตจะต้องรันทดมาก เนื่องจากพี่แอมป์ขาดคุณสมบัติในระบบ 

พี่แอมป์รับระบบเอ็นทรานซ์แบบนับแต้มไม่ได้  จนถึงบัดนี้ก็ยังทำใจไม่ค่อยได้      ความจริงของชีวิตครูมัธยมในช่วงหนึ่ง  ทำให้พี่แอมป์ทุกข์ใจทุกวัน 

ที่ต้องเห็นเด็กๆที่เรารัก  เข้าลู่วิ่งเพื่อชัยชนะ  ....เพื่อชัยชนะเท่านั้น

พวกเขาจำนวนมากไม่รู้เท่าทันความหวังดีของระบบสอบเอ็นทรานซ์ ที่ต้องการคัดคนเรียนวิชาเก่งออกจากคนเรียนวิชาไม่เก่ง 

พวกเขาถูกกระทำผลข้างเคียงของระบบนับแต้ม เฉลี่ยเปอร์เซ็นต์  เห็นแต่คะแนน ว่า "ถึง หรือ ไม่ถึง"
โดยแยกส่วนออกจากจิตใจที่ดีงาม  หรือเชื่อเอาทื่อๆว่า ถ้าเก่ง  ก็ต้องดี

หรือเชื่อทื่อๆหนักเข้าไปอีกว่า จะเอาคนที่ผ่านเข้าระบบมาได้  มาทำให้เป็นมนุษย์ที่ดีกว่า   วิธีคิดอย่างนี้  ลดทอนความเป็นมนุษย์ "ที่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์" ลงไปทุกวัน

ไม่มีใครพูดถึงเรื่อง ผิด ชอบ ชั่ว ดี   เพราะระบบไม่ได้สร้างเพื่อวัดความรู้จักผิดชอบชั่วดี และวุฒิภาวะใดๆ
 แต่สร้างขึ้นเพื่อวัดว่าใคร "รู้"ตามที่เรียน ได้มากกว่ากัน

ขอโทษจริงๆนะคะ หากพูดเรื่องนี้แล้วทำให้พี่ๆน้องๆปวดศีรษะ    หรืออาจทำให้ท่านผู้อ่านระคายใจ  แต่ที่เล่ามานี้ เป็นเพียงความเห็นของครูบ้านนอกธรรมดาคนหนึ่ง 

ที่คงไม่มีอำนาจไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้  นอกจากแสดงความเห็นตามสิทธิในรัฐธรรมนูญเท่านั้น....

ขอบคุณน้องเม้งที่เป็นแรงบันดาลใจอย่างสำคัญและให้ยืมบันทึกระบายๆๆๆเสมอมาจนชาตะไคร้หมดหม้อ

ขอบคุณน้องเบิร์ดสำหรับหัวใจที่อบอุ่น สัมผัสได้ถึงความรักทุกตัวอักษร   ทำให้พี่ตั้งใจบ่นเอ๊ยระบายยาวๆอย่างสนิทใจ  อย่างเป็นตัวของตัวเองที่สุด

ขอบคุณพี่ๆน้องๆใน GotoKnow ที่ทำให้รู้สึกว่า  หากจะทุ่มชีวิตลงไปกับเรื่องใดนั้น
เราจะไม่ต้องเดินทางอย่างโดดเดี่ยว..... 


สุดท้ายนี้....พี่จะจำที่เบิร์ดบอกไว้เสมอนะคะ

   ...คุณค่าของการสัมผัสด้วยหัวใจมีมากล้น.....
            เราอาจสัมผัสคนแค่ 10 วินาที       
       
แต่รอยสัมผัสนั้นจะอยู่ไปตลอดชีวิต..  : )

P

สวัสดีครับคุณเบิร์ด

  • ขอบคุณมากเลยครับ
  • ชอบคำตอบมากๆ เลยครับ
  • ขาดการสัมผัสด้วยหัวใจค่ะ ( ภาษาทางจิตวิทยาคือ encounter แปลว่า psychological  touching )...เราเลี้ยงเค้าให้เติบโตแต่ส่วนใหญ่เป็นทางกายภาพ แถมบางอย่างเป็นสิ่งที่เราคิดเอาเองเสียอีก..

    อย่างเวลาเราผิดหวัง เจ็บปวด แล้วมีคนที่เรารักเข้ามากอด ( กรณีคุณเม้งก็คือแม่ ) อาจเป็นเพียงกอดนิ่งๆโดยไม่พูดอะไร หรือพูดเพียงแค่ว่าไม่เป็นไร เริ่มใหม่นะ..ช่วงเวลานี้แหละค่ะที่เรียกว่า สัมผัสด้วยหัวใจ เป็นเวลาที่น่าจดจำ เป็นช่วงความทรงจำที่มีความหมายไปตลอดชีวิต  เราอาจสัมผัสคนแค่ 10 วินาทีแต่รอยสัมผัสนั้นจะอยู่ไปตลอดชีวิต..

  • ดีมากๆ เลยครับผม ผมได้เริ่มเรียนรู้อะไรบ้างจากนักจิตวิทยาคนเก่ง

  • ไม่เป็นไร พยายามใหม่นะ

  • เพราะอยากได้คำตอบทำนองนี้ด้วยหล่ะครับ เลยต้องถามนักจิตวิทยา เพราะผมเชื่อว่าจิตวิทยาจะแทรกซึมไปทั่วทุกสาขาเช่นกันนะครับ

  •  แต่ถ้าครูไปที่ชั้นม.2หรือที่ไหนก็ตามที่มีพวกหนูเรียนอยู่  ความทรงจำเก่าๆของครูก็จะกลับคืนมาและหนูเชื่อว่า ครูต้องมีความสุขแน่ๆเลย .......ถึงวันนั้นจะเป็นวันที่พวกเพื่อนๆและหนู ดีใจมากที่สุดที่ได้เรียนกับครูที่เป็น "ครู" จริงๆ
  • อยากได้บ้านเก่าของเราที่เรียกว่า บ้านนอก คืนกลับมา   เอาตึก เอาคน เอาแสงสีเสียงกลับไปให้หมด ..............................            เด็กเขาเขียนจดหมายแบบที่เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจเราเลย     ตอนที่แม่โทรฯมาบอกด้วยความดีใจว่าพี่สอบบรรจุได้โรงเรียนดีมีระดับนั้น     พี่ก็ร้องแงๆ ...บอกแม่ในใจว่า  เอาโรงเรียนบ้านนอกของหนูคินม๊า..า

    • ทฤษฎีกลมกลืนนี่ของใครก็ไม่รู้แหละ  พี่ว่าทั้งครูทั้งเด็กจะหนุกหนานมากเลย ถ้าทำตัวกลมกลืนกันไปได้  

    ทุกห้องที่สอน ตอนเดินไปรอบๆห้องพี่จะโอบไหล่พวกเขา  แตะแขนเขา      ถ้าเขาคุยพี่ก็จะแตะสองแก้มเขาเบาๆ  ถ้าเขาเริ่มหลับพี่ก็จะเล่านิทานอีก  
    (คือพอเริ่มคำนามคืออะไร  เธอก็จะหลับกันครึ่งห้อง) ถ้าเขาปากระดาษใส่หลังเพื่อน  พี่จะเดินไปเขย่ามือที่ปากระดาษ  หรือทำท่าตีอย่างแรงมาก แต่แตะที่มือเขาเบาๆเท่านั้น  แล้วบอกเขาดีๆว่า  "น้องแมนอย่าทำเพื่อนนะลูก"

    • ทฤษฎีพูดดีๆด้วยความรักจากหัวใจนั้น  จะเป็นของใครก็สุดแล้วแต่เถิด แต่น่าจะทำให้เด็กรู้สึกดีกว่า "พูดร้ายๆ"  ตั้งเยอะ  และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ด้วย  ถ้าทำให้ถูกจังหวะ

    ทุกเที่ยง ครูจะนั่งทานข้าวด้วยกัน

    • ทฤษฎีปรับทุกข์กับคนที่ไว้ใจ ทำให้รู้สึกวางใจ สนิทใจ  แค่เขารับฟังเราก็รู้สึกดีแล้ว  เป็นการบำบัดขั้นต้นที่ช่วยลดภาระนักจิตวิทยาไปได้มาก  :)
    • พี่แอมป์เห็นเด็กๆเขาคุยกับครูอย่างใกล้ชิดแบบนี้แล้ว รู้สึกทึ่ง...และชื่นใจนัก   เพราะตอนเด็กๆพี่แอมป์ไม่เคยเดินเข้าไปปรึกษาปัญหาชีวิตกับครูคนใดเลย.......แม้แต่คนเดียว 
    • สุดท้ายนี้....พี่จะจำที่เบิร์ดบอกไว้เสมอนะคะ

         ...คุณค่าของการสัมผัสด้วยหัวใจมีมากล้น.....
                  เราอาจสัมผัสคนแค่ 10 วินาที       
              แต่รอยสัมผัสนั้นจะอยู่ไปตลอดชีวิต..  : )

    • เป็นบรรยากาศและความหวังทางหนึ่งที่น่าสนใจสุดๆ    

    อ้อ ลืมไปถ้าเป็นเช่นนี้ วิดน้ำให้บัวโผล่คงไม่เกิดขึ้น

    จิบน้ำชาครับ   น้อรก.......................

    • อ่านเรื่องที่พี่แอมป์เขียนแล้วรู้สึกตื้นตันจนไม่รู้จะเขียนอะไรเลย...
    • รับรู้ได้ค่ะ "หว้าจะเป็นครู..ที่สัมผัสลูกศิษย์ด้วยหัวใจค่ะ"
    • ขอบคุณสำหรับบทความที่น่าประทับใจนี้ค่ะ

    ตอนที่ผมทำงานที่ พระจอมเกล้าฯ ธนบุรี ได้นำนักศึกษา วิศวะฯ ต่อเนื่องไปปลูกป่าที่สระบุรี วันแรกที่ไปสำรวจสถานที่ ป่าไม้จังหวัดเขาก็ถามว่า น้องจะขุดเองปลูกเอง หรือว่าจะจ้างเขาขุดแล้วน้องปลูก ผมก็ตอบไปว่า ทำเองหมดครับ

    เราเดินทางไปปลูกป่ากัน ประมาณ 30 คน ต้องปลูกต้นไม้ 1000 ต้น วันแรกที่ไปถึงนอนโรงเรียน ตื่นเช้าขึ้นมาก็เตรียมตัวเดินทาง (ยังไม่เคยไปดูสถานที่ปลูก) เดินทางเข้าไปที่ดงพญาเย็น ประมาณ 5 กม ไปเจอสถานที่ปลูกแต่ละคนร้องเลยครับ เพราะเป็นภูเขาหินเนื่องจากต้นไม้ไม่มี มีแต่หญ้าคา แล้วก็หิน ต้องปลูกจากเนินเขาลงมา ต้นไม้ก็ต้องปลูกตามร่องหิน เริ่มแรกก็ถางหญ้าคาที่ขึ้นตามหินก่อน แล้วก็ขุดหลุม ปรากฏว่า ไม่เสร็จครับ ต้องใช้เวลาสองวันกว่าจะขุดหลุมเสร็จ เพราขุดยากมาก เสร็จงานวันทีสองมือแตกทุกคนเลย ได้เลือดกันหมด เห็นบางคนก็ท้อ ไม่ไหวแอบบมีอู้กันบ้าง

        วันทีสามวันสุดท้าย ก่อนที่จะปลูกเราต้องเอาดินวิทยาศาสตร์(ที่เป็นวุ้นๆมีสีนะครับ ไม่รู้ว่าเรียกอะไรจำไม่ได้แล้ว) ซึ่งเราได้แช่น้ำไว้สองถังน้ำมัน พอวันทีสามมันก็พองเต็มถังพอดีเอาไปรองก้นหลุม ป่าไม้จังหวัดเขาบอกว่าต้องทำอย่างนี้เพราะว่า ไม่งั้นต้นไม้ที่ปลูกจะตายเพราะว่ามันเป็นหิน จากนั้นก็เอาต้นไม้ลงแล้วก็กลบหน้าดิน เป็นอันว่าเสร็จ

       ตอนที่ผมเดินกลับได้ยินคำคำหนึ่งจากนักศึกษาเขาได้พูดกับเพื่อนๆ ว่า "ถ้ามีลูกหลานแล้วรู้ว่ามันตัดไม้ทำลายป่า กูจะตบให้กระโหลกร้าวเลย"   โครงการนี้ผมไม่ต้องประเมิน เพราะว่า ได้รับการประเมินแล้วจากคำพูดนี้

      หมายเหตุ :  

    ภูเขาที่ไม่มีต้นไม้ หน้าดินจะโดนน้ำพัดลงมาอยู่ด้านล่างหมด ส่วนภูเขาก็จะมีแต่แกน คือก้อนหิน การที่จะทำให้เหมือนเดิมได้ ต้องปลูกไม้โตไวก่อนเพื่อ เพื่อให้คลุมหน้าดินสร้างดิน แล้วจึงค่อยๆ ปลูกไม้ใหญ่ไปเรื่อย ๆ

     

       

     

     

     

    สวัสดีค่ะพี่เม็งตัดผมแล้วจำไม่ได้เลยค่ะหล่อขึ้นเท่าการบินไทยเลยค่ะ ยิ่งอ่านเรื่องที่พี่เขียนแล้วยิ่งอยากให้ครูในประเทศไทยเป็นแบบพี่จังค่ะ พี่ว่าครูประถม ต่างจากครูมหาวิทยาลัยยังไงค่ะ ในแง่ของการทำงาน ในแง่ของพื้นถานทางความคิดค่ะ  ครูเวลาเขาเรียนมาเขาใช้หลักสูตรเดียวกันหรือเปล่าค่ะ

    P

    สวัสดีครับพี่แอมป์

    • ผมเพิ่งมาเห็นคำตอบคุณเบิร์ด (แบบว่ามาเห็นเอาตอนที่ได้รับข้อความพี่แอมป์นี่หล่ะครับ) สงสัยลบเมล์ทิ้งเร็วไปหน่อย
    • อ่านข้อความคุณเบิร์ดเสร็จ ตอบเสร็จ อิ่มไปรอบหนึ่งแล้ว
    • จากนั้นมาอ่านของพี่แอมป์อีกสองตอน คราวนี้หล่ะครับ อิ่มล้นใจเลยครับ งานนี้
    • เอาซิครับ แบบนี้ ไม่โดดเดี่ยวแน่นอนแล้วครับ จะได้ลุยแนวคิดดีๆ แบบนี้ตลอดไปครับ
    • ตัวอย่างที่พี่เขียนบอกเล่ามานั้น ผมว่าทำให้หลายๆ คนอิ่มไปเลยครับ ผมว่านี่หล่ะสิ่งที่เราขาดด้วยตอนนี้
    • ครู เป็นจิตวิญญาณ จริงๆ เลยครับ แล้วอ่านแล้วทำให้ผมรู้ว่าพี่แอมป์มีวิญญาณของความเป็นครู เต็มเปี่ยมเลยครับ ผมจำได้ในบทความของพี่โอ๋ที่เขียนเกี่ยวกับบล็อกเกอร์ในดวงใจ ในส่วนของพี่แอมป์ เพราะตอนนั้น ผมเพิ่งจะได้แลกเปลี่ยนกับพี่เล็กน้อยครับ
    • แต่บทความนี้ เป็นตัวยืนยันชัดเจนครับ ผมว่าท่านอื่นๆ ก็จะมีตัวอย่างดีๆ แบบนี้ แบบที่คุณเบิร์ดว่า สัมผัสด้วยหัวใจ ซึ่งผมว่าใช่เลยและตรงที่สุด
    • ที่ผมเจอการสัมผัสด้วยหัวใจแบบที่พี่แอมป์ยกตัวอย่าง ผมเขียนไว้ในบทความหนึ่ง ว่า ผมไปส่งงานกับคุณครูประจำชั้นตอน ป.2 เป็นวิชาเลข ในวันนั้น ผมเสร็จก่อนเพื่อนเลย เพราะว่าผมทราบคำตอบไว้หมดแล้ว เพราะว่าพระอรหันต์ของผมที่บ้านสอนให้ผมล้ำหน้าไปแล้ว ดังนั้น การมานั่งเรียนในห้องตอนนั้นเป็นเพียงการทบทวนเท่านั้น ส่วนคำตอบที่ส่งนั้นคงไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นในส่วนที่ เมื่อไปส่งคุณครู คุณครูบอกว่า สมพร ทำอย่างไรหล่ะเนี่ยผิดหมดเลย ผมก็อมยิ้มตีหน้าเศร้า แล้วคิดในใจว่า ว้าทำไมเป็นแบบนี้หล่ะเนี่ย ก็คุณพ่อสอนมาให้หมดแล้วพิสูจน์กันแล้วว่าน่าจะถูกน้า จากนั้นคุณครูก็เอามือมาสัมผัสที่แก้ม แล้วบอกว่า โอ๋ๆ ครูล้อเล่น สมพรเก่งมากเลย ทำได้ถูกหมดเลย ดีมากๆ เลยนะ ขยันต่อไปนะค่ะ
    • นี่คือประโยคที่ผมได้รับ จากการสัมผัสด้วยหัวใจ ที่ผมไม่มีวันลืมเลยครับ คุณเชื่อไหมว่าแต่ละวันเวลาผมไปโรงเรียน ผมจะคอยเช็คว่าคุณครูของผมคนนี้มาถึงโรงเรียนแล้วหรือยัง โดยการดูรถมอร์เตอร์ไซต์ของคุณครู
    • ผมว่าตอนนั้น ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่เป็นแบบนี้ เราเป็นแบบนี้กันเกือบทุกๆ คน รู้สึกว่าคุณครูเหมือนคุณแม่อีกคนจริงๆ
    • ตอนขึ้นไป ป.3 คุณครูก็ตามพวกเราขึ้นไปสอนต่อใน ป.3 เพราะด้วยความผูกพันหรืออะไรก็ไม่ทราบครับ
    • นั่นคือส่วนหนึ่งในเบื้องต้นที่ผมได้รับ การสัมผัสด้วยหัวใจ ในโรงเรียนชั้นประถม แล้วมีอีกหลายๆ ครั้ง ไว้จะค่อยๆ ทะยอยเล่ากันนะครับ
    • สำหรับเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จริงๆ แล้วผมเองตอนนี้ก็ชักจะสับสนในระบบนี้เหลือเกินครับ แล้วเหมือนว่าสมองผมและใจผมเองก็ไม่ค่อยจะรับกับระบบนี้ซักเท่าไหร่
    • ผมยังคิดให้หนักไปกว่า ให้ไกลไปกว่านั้นด้วยซ้ำว่า เป็นไปได้ไหมที่จะมีการจัดคนตามที่อยากจะเรียนแล้วได้มีโอกาสเรียนจริงๆ ทุกคน
    • เด็กจะเก่งหรืออ่อน ก็เรียนด้วยกันได้ เรียนร่วมกันได้ เพราะนี่คือความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคม จบออกไปก็ต้องรับใช้สังคมโดยอยู่บนพื้นฐานความหลากหลาย การทำงานร่วมกันบนความหลากหลาย เอาใจเค้ามาใส่ใจเรา แล้วปรึกษาหาเรือกันให้ไปถึงเป้าที่แท้จริงของภาพรวมของประเทศ จำเป็นต้องการ การสัมผัสด้วยหัวใจ เช่นกัน ไม่ใช่จะต้องมาประหัดประหารกันด้วยคะแนน หรือเกรดผลการเรียน
    • หลายๆ ทฤษฏีที่พี่พูดและยกตัวอย่างมานั้น ล้วนดีทั้งนั้นครับ แล้วก็เข้าถึงแบบมีราก มีผล ได้ทั้งหมดครับเลยครับ
    • เวทีตรงนี้ผมยินดีเปิดไว้ให้พี่ และหลายๆ ท่านมาร่วมกันคิด แลกเปลี่ยนร่วมกันครับ
    • เราจะสร้างการสัมผัสด้วยใจให้เกิดกับคนตั้งแต่เด็ก คนละ 10 วินาที ได้และไม่น่าจะยากเลย เพื่อให้คนโตขึ้นมา ไม่ไปติดกับ การสัมผัสด้วยวัตถุ จนมากเกินไป และผมก็เชื่อเหลือเกินว่าการสัมผัสด้วยใจนั้น จะทำให้การสัมผัสด้วยวัตถุ จางลงได้
    • ขอบคุณทุกๆ ท่านเลยนะครับ ขอบคุณพี่แอมป์และคุณเบิร์ดมากๆ นะครับ
    • หากได้มีโอกาสเจอคน คงได้ให้พี่เลี้ยงขนมจีนนะครับ (อิๆๆ ผมจะได้เอาเส้นขนมจีนนั้นมัดหัวใจผมไว้ให้เดินบนถนนสายนี้ เส้นทางแคบที่คุณเบิร์ดว่าไว้นะครับ)
    • ขนาดผมไม่ได้เป็นลูกศิษย์พี่แอมป์ ผมยังรู้สึกดีไปด้วยเลยครับ 
    • ขอบคุณมากๆ มาย
    P

    สวัสดีครับพี่เหลียง

    • ขอบคุณมากครับ
    • ใช่แล้วครับ หากเป็นอย่างพี่แอมป์ว่า และเป็นอย่างพี่แอมป์ คงไม่ต้องเกิดปัญหาในระดับสูงตามมานะครับ
    • เรียนท่านอื่นๆลองเข้าไปอ่านกันดูนะครับ บทความวิดน้ำ ของพี่กมลวัลย์ นานาสาระกับอุดมศึกษาไทย ของพี่ กมลวัลย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
    • น่าสนใจมากๆ เลยครับ
    P

    สวัสดีครับ อ.หว้า

    • ขอบคุณมากๆนะครับ
    • ใช่เลยครับ ผมก็อยากสร้างแนวทางการสัมผัสด้วยใจ ทางการศึกษาบ้างครับ
    • ไหนๆ ชีวิตนี้ก็วางตัวเองไว้บนเรือลำนี้แล้วครับ
    • ขอบคุณมากๆ เลยครับ
    P

    สวัสดีครับน้องเลี่ยม

    • สุดยอดแห่งประสบการณ์แบบนี้ครับ พี่ลองจินตนาการตามไปด้วย ได้ผลมากๆ ครับ สัมผัสและรับรู้ ได้ถึงความรู้สึกถึงทุกขั้นตอนเลยครับ
    • นี่หล่ะครับที่เค้าเรียกว่าหัวเขาหัวโล้นเลยครับ
    • เพราะพอไม่มีป่า การชะล้างมันจะเกิดแบบหนักเลยครับ ดังนั้น เหลือแต่แกนภูเขาจริงๆ ครับผม โดนพายุเข้าไปซักลูกสองลูก แล้วจะเหลือหรือครับ
    • ต้นไม้ กว่าจะฟื้นฟูขึ้นมาได้อีกนะครับ จุกเลยครับ
    • ดังนั้นผลการประเมินผลนั้นก็ทำให้ทราบและรับรู้ที่มาของความลำบากที่ยอดเยี่ยมครับ
    • แล้วต้องไปดูกันต่อไปนะครับ ว่าต่อไปยังโล้นอยู่อีกไหม
    • ยังดีนะครับ ที่มีหญ้าคาขึ้น
    • ขอบคุณมากๆ เลยครับ สำหรับประสบการณ์ดีๆ ที่มาเล่าให้เห็นภาพชัดเจนครับ
    • โชคดีนะครั้บ
    ไม่มีรูป
    พัทยา เพียพยัคฆ์

    สวัสดีครับน้องกิ่ง

    • ขอบคุณมากครับ สำหรับคำชม
    • พี่เองยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติมากเท่าที่ควรนะครับ ยังต้องทำอีกเยอะครับ ตอนนี้มีแต่หัวคิด คิดนำไปก่อนครับ ส่วนทำก็ทำคู่ๆ ไปบ้างตามโอกาสที่เหมาะในตอนนี้ครับ
    •  พี่ว่าครูประถม ต่างจากครูมหาวิทยาลัยยังไงค่ะ ในแง่ของการทำงาน ในแง่ของพื้นฐานทางความคิดค่ะ  ครูเวลาเขาเรียนมาเขาใช้หลักสูตรเดียวกันหรือเปล่าค่ะ
    • สำหรับคำถามนี้ ตอบยากจังครับ เพราะพี่ไม่ได้ผ่านหลักสูตรครูมา แบบต้องมาเรียนรู้เอาภายหลังนะครับ และเรียนรู้เอาจากเสียงเรียกจากหัวใจนะครับ และสัมผัสเอาจากที่ได้รับสิ่งดีๆ จากคุณครูมานะครับ แล้วเอามาประมวลว่าเราควรจะให้อะไรกับเด็กในสิ่งที่เค้าขาด
    • สิ่งที่คุณเบิร์ดได้จุดประกายไว้ นั่นคือจุดสำคัญจุดใหญ่เลยครับ คือ ขาดการสัมผัสด้วยหัวใจ
    • จริงๆ แล้วครูประถมหน่ะครับ ต้องเป็นครูที่เก่งมากๆ เลยครับ พี่ว่า พี่สอนในมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่นานนะครับ แต่หากคิดถึงคุณครูในระดับประถม ต้องสอนเด็กๆ แล้วนับว่าคุณครูเหล่านั้นเก่งมากๆ สร้างแรงจูงใจให้เกิดกับเด็ก สัมผัสด้วยหัวใจ อย่างที่ว่า นะครับ
    • บางทีการเปรียบเทียบอาจจะทำได้ยากเหมือนกัน เพราะกลุ่มเด็กต่างกันครับ คนละช่วงอายุ แต่ก็ต้องรับส่งไม้ให้ทันกัน ต่อเนื่อง ครับ
    • เมื่อก่อนพี่เคยคิดว่า ครูจะสอน อนุบาลหรือประถม นี่ควรจะจบ ดร. นะคับ แบบว่าคุณภาพนะครับ และมีจิตวิทยาที่ดีนะครับ โดยที่ทำงานร่วมกับ อาจารย์ระดับที่สอน มัธยม และมหาวิทยาลัยได้ด้วย ทำวิจัยร่วมกัน ให้คนสอนในมหาวิทยาลัยรับรู้ลักษณะเด็กด้วย เพื่อจะได้รับส่งมอบ กันได้อย่างดีนะครับ
    • ที่มาของครูในชั้น ระดับ ประถม มัธยม  กับ มหาวิทยาลัย อาจจะต่างและเหมือนกันได้นะครับ แต่ส่วนใหญ่พี่ว่าต่างๆ กันนะครับ ในปัจจุบัน เพราะว่าเมื่อก่อน มีท่านอาจารย์จากมัธยมมาสอนในระดับมหาวิทยาลัยได้ด้วย
    • ตอนหลังการผลิตอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่จะเปิดสอบกันตามวุฒิและสาขาที่จบครับ อยู่ว่าจบสาขาอะไร แล้วต้องการจะรับเป็นอาจารย์ในสาขาไหนครับ
    • ส่วนมัธยม ประถม น่าจะจบเฉพาะทางที่มีเป้าหมายว่าจะไปสอน ในระดับประถม อนุบาล และมัธยม นะครับ โดยจบจากมหาวิทยาลัยนั่นหล่ะครับ หรือจะเป็น สถาบันราชภัฏในเมื่อก่อนนะครับ
    • ปกติการเรียนเพื่อออกมาเป็นครูจะมีวิชาส่วนที่เกี่ยวกับจิตวิทยาการสอน หรือเกี่ยวกับการเป็นครูอะไรทำนองนี้เสริมเข้าไปด้วยนะครับ
    • ส่วนพี่เองมาทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ไปเรียนในหลักสูตรนั้น เลยต้องฝึกเรียนรู้เอาเองนะครับ ดีบ้างไม่ดีบ้าง ต้องปรับ แต่เจตนาที่อยากจะให้เป็นแกนกลางนะครับ
    • รบกวนพี่แอมป์ และท่านอื่นๆ ช่วยตอบน้องกิ่งด้วยนะครับ ขอบคุณมากๆนะครับ

    สวัสดีค่ะคุณเม้ง ( ขออนุญาตินะคะ )

    ถึงพี่แอมป์ค่ะ

    P
    เบิร์ดขอกราบและกอด..คุณ " ครู "..ที่เป็นครูในดวงใจที่เบิร์ดรักตั้งแต่เห็น ( เชื่อในพรหมลิขิตมั้ยคะ ? น่าแปลกจริงๆที่รู้สึกคุ้นเคยนัก )..และยิ่งเคารพ ชื่นชมเมื่อได้แลกเปลี่ยน..พี่แอมป์น่ารัก อบอุ่นด้วย " ใจ "..ของพี่แอมป์เอง เบิร์ดอ่านความเห็นพี่แอมป์ด้วยความรู้สึกที่อบอุ่นในใจและอุ่นรื้นในตาด้วยความตื้นตันและภาคภูมิใจในตัวคุณ " ครู " คนนี้ยิ่งนัก..

    ประสบการณ์ต่างๆที่พี่แอมป์เล่ามายิ่งทำให้เบิร์ดเชื่อว่า " การศึกษาไทย " ...ไม่ขาดหรอกค่ะ แม่เบิร์ดบอกเสมอว่าไม่ว่าวงการใดๆต้องมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี ไม่อย่างนั้นวงการนั้นๆจะอยู่มาไม่ได้ ( ในที่นี้หมายถึงวงการที่เป็นวิชาชีพนะคะ มิใช่มิจฉาชีพ ^ ^ )..ยิ่งเข้ามาใน G2K ยิ่งทำให้เบิร์ดเชื่อมั่นอย่างนั้นมากยิ่งขึ้นค่ะ..

    ทฤษฎีต่างๆที่พี่แอมป์กล่าวมาคือสิ่งที่เบิร์ดเรียกว่า " คลื่นความถี่ช้าๆ "..ซึ่งเบิร์ดเคยบอกกับคุณตาหยูว่าเบิร์ดจะเขียนเรื่อง " คนไทย...โตมากับคลื่นความถี่ช้าๆ " ให้...เมื่อมาอ่านความเห็นของพี่แอมป์ยิ่งทำให้เบิร์ดตั้งใจว่าเบิร์ดจะเขียนให้อ่านอย่างแน่นอนค่ะ เขียนให้กับคุณครูและทุกๆท่านที่เราสัมผัสด้วยหัวใจ..ระหว่างกันและกันใน G2K

    ขอบพระคุณสำหรับความรัก ความอบอุ่นที่พี่แอมป์มีให้ตลอดมานะคะ.. เป็นกำลังใจให้พี่แอมป์และทุกๆท่านก้าวเดินบนเส้นทางของ " การให้ " ...ที่ยิ่งใหญ่นี้ตลอดไปค่ะ...ขอบพระคุณจริงๆจากหัวใจค่ะ

     

    P

    สวัสดีครับคุณเบิร์ด

    • เต็มที่เลยครับผม ที่นี่ยินดีเสมอครับ เปิดกว้างเต็มที่ครับผม อยากให้เป็นเวทีของทุกคนนะครับ และผมก็ไม่ได้เป็นเจ้าของด้วยนะครับ
    • ขอให้ความรู้สึกดีๆ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดขึ้น แบบที่เรียกว่า สัมผัสด้วยหัวใจ จนความรู้สึก 10 วินาที นั้น ฝังแน่นอยู่ที่ ขั้วความรู้สึกของใจ กันไปเลย ให้อยู่ไปตราบนานเท่านานครับ
    • ขอบคุณคุณเบิร์ด มากๆ เลยครับ ตอนนี้ผมชักจะเห็นอะไรเป็นเค้าลางแล้วหล่ะครับ
    • เวลาผมนึกถึงไอน์สไตน์ ผมจะนึกถึงตอนที่แลบลิ้น กลายเป็นจุดขายไปเลยครับ
    • เวลาผมนึกถึงคุณเบิร์ด ผมจะนึกถึง การห้อยมือเค้าคางยิ้มระรื่น นับว่าเป็นโลโก้นักจิตฯ คนนี้เลยทีเดียวครับ

     P   น้องเม้งคะ  พี่แอมป์ขออนุญาตนะคะ

    P
    น้องเบิร์ดคะ  

    ขอบคุณมากนะคะ สำหรับถ้อยคำอันอบอุ่นและความเป็นมิตรที่สัมผัสได้ด้วยหัวใจ

    ความจริงใจในการสื่อสาร ความฉลาดรอบรู้และความเฉียบแหลม ละเอียดอ่อน  ลึกซึ้ง แบบที่เบิร์ดมี ทำให้ทุกคนที่ร่วมสนทนาด้วย  อยากเล่าในสิ่งที่รู้  อยากพูดในสิ่งที่คิด   ด้วยความรู้สึกสนิทใจ

    เบิร์ดช่วยเชื่อมต่อระหว่างโบกี้ในสมองของพี่ ทำให้รถไฟชีวิตของพี่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า อย่างมีชีวิตชีวา  และมีความสุขสนุกสนานมากในทุกๆครั้ง...ที่ได้สื่อสารกัน....

    พี่แอมป์จะตั้งตารออ่านเรื่อง  " คนไทย...โตมากับคลื่นความถี่ช้าๆ.... "    ที่เบิร์ดเขียน  และรู้สึกมีกำลังใจมากที่ได้รู้ว่า "ความรัก"  ไม่ได้ขาดหายไปจากกระบวนการศึกษาไทย   ขอเพียงแต่เราหาให้เจอ  สร้างให้ได้ และรักษาไว้ให้ดี.......

                      ขอบคุณเบิร์ดมากที่สุดอีกครั้งนะคะ   : )

     เอ่อ...ขออนุญาตน้องเม้งอีกทีนะคะ
     ( บันทึกของเม้งกลายเป็นบันทึกสื่อจากใจถึงใจไปแล้วอะค่ะ : )  )

     

    P    คุณสิทธิรักษ์คะ

    ขอบพระคุณมากนะคะ ที่กรุณาสื่อสารสะท้อนกลับ ให้เห็นว่าได้สื่อสารอะไรออกไป  อ่านแล้วซาบซึ้งกว่าที่เขียนเองอีกต่างหาก  : )

    ขออนุญาตยืมใช้คำว่า "รถไฟ" ของคุณสิทธิรักษ์ แทนการอุปมาด้วยนะคะ      รู้สึกตรงใจมากเลย  สงสัยว่าจะได้ยืมใช้อีกหลายทีอะค่ะ   : )

     

     P   อ.ลูกหว้าคะ


    ขอบคุณมากค่ะที่หว้าแวะมาบอกพี่แอมป์ อย่างเป็นธรรมชาติ และจริงใจเช่นเคย : )

    พี่แอมป์อ่านที่หว้าเขียนในประวัติตั้งแต่แรกที่รู้จักหว้า ก็ได้รู้ว่าหว้าเป็น "ครู" ที่สัมผัสเด็กด้วยหัวใจเช่นกันนะคะ (ตอนรู้ว่าหว้าอยู่ราชภัฏ พี่ก็ดีใจออกนอกหน้าไปหลายที)

    ขอบคุณมากอีกครั้ง และขอให้หว้าทำงานที่หว้ารักอย่างมีความสุขนะคะ : )
    P

    สวัสดีครับพี่แอมป์

    • ขอบคุณมากๆ เลยครับพี่
    • พี่สบายดีนะครับ
    • ผมมีความสุขทุกครั้งที่เห็นพี่เข้ามาเยี่ยม แม้ว่าผมจะได้เข้าไปเยี่ยมพี่นานๆ ทีจะได้ฝากข้อความไว้ก็ตามครับ
    • พี่เขียนไว้ได้เต็มที่เลยนะครับผม อยากให้เกิดบรรยากาศแบบคุยถึงกันได้ นอกจากคุยกับเจ้าของบทความมากกว่านะครับ
    • เก็บเครือข่ายดีๆ แบบนี้เอาไว้สร้างกำลังใจ มอบความรักให้แก่กันแบบนี้ เติมน้ำใจให้แก่กันตลอดไป สิ่งดีๆ ในเมืองไทย ในสังคมก็จะเกิดและมีที่อยู่ได้นะครับ
    • ขอบคุณพี่มากๆ เลยครับ ไว้กลับไปเมืองคอนจะโทรไปหาครับ
    • สวัสดีครับ
    • นอกจากพรสวรรค์  พรแสวง  สมองของคนนั้น
    • ครูผู้ให้ความรู้  ผู้มีศิลปการถ่ายทอด  ผู้มีความรู้ในสาขานั้นๆ   และมีวิญญาณของความครู  มีความสำคัญมาก (เพราะเป็น คน)
    • ประสบการณ์ตรงของผม   ครูที่ผมไม่ประทับใจมีเยอะกว่ามาก   หมายถึง  การถ่ายทอดวิชาความรู้นะครับ
    • ผมต้องมาหาความรู้เอาเอง  เมื่อผ่านการเรียนตรงนั้นมาแล้ว  ยังนึกถึงอาจารย์หลายท่านอยู่เลย 
    • ถ้าท่านทำให้ผมเข้าใจเสียวันนั้น    ผมก็ไม่ต้องโง่ดักดาน  และต้องมาเสาะหาเองอีกเกือบตาย  เช่น  ภาษาอังกฤษ  เป็นต้น
    • โก ทู โน มีครูอยู่เยอะ  ผมว่าท่านนั่นแหละสำคัญที่สุด 
    • ต้องสำรวจตัวท่านเองว่า  วิญญาณของความเป็นครู  ยังอยู่หรือเปล่า  
    • หากว่ามันหล่นหายไป  ก็จะกระทบกับสิ่งต่างๆที่เราพูดถึงนี้อย่างมากเลยครับ
    • ขอบคุณครับ  สวัสดี
    P

    สวัสดีครับพี่แท็ฟส์

    • ขอบคุณมากครับ พี่สบายดีนะครับ
    • ดีใจครับที่ได้ยินคำว่า พรสวรรค์และพรแสวง ที่นี่ครับ คุณครูท่านหนึ่งสอนผมว่า พรสวรรค์ได้กันมาตั้งแต่เกิด ส่วนพรแสวงพวกเธอต้องขวนขวายหากกันเอง
    • เห็นด้วยครับ ว่า วิญญาณของการถ่ายทอดนั้น สำคัญมากๆ วิญญาณของความเป็นครูตลอดจนการสัมผัสด้วยหัวใจ อย่างที่คุณเบิร์ดกล่าวไว้ ก็สำคัญมากๆครับ
    • เอาหล่ะครับ คราวนี้ต้องเริ่มสำรวจตัวเองกันครับ ผมก็ต้องสำรวจให้มากๆ เช่นกันครับ คงต้องช่วยๆ กันนะครับ เติมเต็มให้กันได้ครับ เพราะแต่ละคนมีต่างประสบการณ์ในการช่วยเติมเต็มให้กันครับ
    • ผมเชื่อในพลังทางความคิดแห่งนี้ครับ G2K ต่อไปอาจจะเป็น G3K, GnK ไปเรื่อยๆ ครับ
    • เอพี่ครับ พี่มีเครือข่ายที่ บังคลาเทศและพม่าไหมครับ รบกวนแจ้งไปทางเครือข่ายพี่ด้วยนะครับ ให้ระวังพายุ จะขึ้นฝั่งเร็วๆ นี้ที่พม่า และบังคลาเทศนะครับ ผมไม่ทราบว่าเค้ามีระบบเตือนภัยอย่างไรบ้างนะครับ หน้าตาพายุดูได้ที่นี่ครับ ได้ที่นี่
    • ขอบคุณมากครับ
    • โอ...ขอบคุณมากครับ
    • บังคลาเทศ  เรามีทั้งจิตตกอง  และดากา เมืองหลวง 
    • บังคลาเทศ  เขาจะโดนหนักทุกปี   น่าสงสารมาก  จนก็จนอยู่แล้ว  สภาพภูมิประเทศเขาจะมีมรสุมมากๆเลย  
    • แกนนำที่นั่น  เขาก็จะมีเครือข่ายบอกกล่าวกันไป   ทำงานอยู่สหประชาชาติ  ด้านสิ่งแวดล้อมด้วยคนหนึ่ง
    • ส่วนพม่า  เรามีที่ย่างกุ้ง  เดี๋ยวจะเข้าเมลบอกไป  
    • พม่านี่ก็แปลกเหมือนกัน  ข่าวสารภายในประเทศถูกควบคุมด้วยรัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์  
    • ผมเจอเขานอกประเทศขนาดดอกเตอร์นะ   ไม่ทราบข่าวสารใดๆของโลกนี้  
    • ต้องนอนค่อยเล่าให้ฟัง 
    • เดือนที่แล้ว  เราต้องแอบฝากวิทยุคลื่นสั้นเข้าไปให้   เขาขอบคุณเรามากๆ  จะได้  ฟังข่าวของโลกได้
    • สัปดาห์ที่แล้วสมาชิกเครือข่ายเราที่ญี่ปุ่น  ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตประจำกัมพูชา (อุ่นๆ) 
    • สัปดาห์หน้า  เราจะไปเลี้ยงรับรองที่พนมเปญ
    • เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย  ก็เป็นสมาชิกที่กัมพูชาด้วย  
    • เห็นไหม  มิตรภาพไร้พรมแดนครับ 
    • รู้จักกันไว้   ดีกว่าว้าเหว่ในฝูงชนไปไหนๆ
    • ขอบคุณครับ   สวัสดี
    P

    สวัสดีครับพี่

    • ขอบคุณพี่มากๆ เลยครับ
    • ตอนนี้พายุประชิดฝั่งแล้วนะครับ ยังไงก็ฝากพี่ด้วยนะครับ
    • เมื่อตอนเช้าผมแจ้งไปทางเพื่อนและทีมงานที่รู้จักกันที่พม่ากันไปแล้วครับ แต่ตีกลับบ้าง ส่งได้บ้างครับ แต่ก็อย่างที่พี่ว่านั่นหล่ะครับ
    • ส่วนบังคลาเทศคิดว่าทางเครือข่ายอุตุก็คงแจ้งกันแล้วด้วย แต่ผมไม่ทราบว่าการทำงานเป็นอย่างไรกันแน่ครับ พี่คลิกภาพทางขวาคือในบล็อกนี้ก็ได้นะครับ หรือว่าเว็บหน้านั้นก็ได้นะครับ
    • อย่างไรก็สำคัญนะครับ ชีวิตคนสำคัญไม่มีการแบ่งแยกใดๆ ทั้งสิ้นนะครับ ขอให้รู้เท่าทันเป็นดีที่สุดครับ
    • มีเครือข่ายไว้แบบพี่นั้นนะดีแล้วครับ เครือข่ายผมยังแคบนักครับ ยังไงก็ต้องบอกผ่านทางพี่นะครับ เพราะยังไงก็ถึงกัน เมื่อเอาเครือข่ายของแต่ละคนมารวมกันก็จะได้เครือข่ายที่ดีครับ
    • ขอบคุณมากๆนะครับ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท