"คี้พร้าหล่าไป ผักไหหล่ามา" พื้นฐานไทยแห่งสังคมเกื้อกูล


เมื่อทุนนิยมเริ่มเข้ามาเบียดบังสังคมนิยม รั้วบ้านที่ไม่เคยมี ก็จะเริ่มมี รั้วบ้านที่เคยเป็นป่า หรือที่เคยเป็นแนวต้นไม้ ก็จะกลายเป็นลวดหนาม หรือกำแพงอิฐปูน แทน


สวัสดีครับทุกท่าน


          ทำไหรกินกันเย็นนี้ น้าสาว

          แกงพุงปลาน้ำเต้า กับน้ำชุบ ผักบุ้งลวกหัวทิ

          ออ พอดีแม่ฝากแกงส้มกบยอดส้มขาม มาห้าย

          ได้กบมาจากไหนหล่ะ

          พอดีน้าข้างๆ บ้านเค้าไปโหลกกบแรกคืน ได้หลายตัวเลยเอามาให้สามตัว

          งั้นเดี๋ยวน้าสาวฝาก ยอดผักบุ้งลวกหัวทิ ไปฝากแม่ด้วย

----------------------------------------------------------------

ศัพท์และความหมายคำ

   ทำไหร่ = ทำอะไร
   แกงพุงปลา = แกงไตปลา (บางที่เรียกแกงน้ำเคย)
   น้ำเต้า = ฟักทอง
   น้ำชุบ = น้ำพริก
   หัวทิ = หัวกะทิ
   ยอดส้มขาม = ยอดส้มมะขาม
   มาห้าย = มาให้
   โหลก-กบ = ไปจับกบ
   แรกคืน = เมื่อคืน

----------------------------------------------------------------

   จากบทสนทนาข้างต้น เป็นกระบวนการหนึ่งที่สังคมไทย ได้เกิดขึ้นมานานแสนนาน จนมาถึงช่วงอายุผมก็ยังได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้อยู่

   กระบวนการในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกื้อกูลกันในสังคมชนบท ที่เรียบง่ายและกินอะไรกัน มีอะไรก็จะเกื้อกูลกัน แบ่งปันกันตามมีตามเกิด ตามภาวะที่ตัวเองจะให้ได้ นับญาติกันแม้ว่าจะไม่เป็นญาติพี่น้องกันก็เรียก น้าบาว น้าสาว ลุง ป้า อา หลาน ปู่ ย่า ตา ยาย ได้ทั้งหมด แม่ว้าจะไม่ใช่จะเป็นญาติกันจริงๆ ก็ตาม

   แม่เคยบอกเสมอว่า สิ่งเหล่านี้คือ เทียบได้กับ สำนวนใต้ที่ว่า "คี้พร้าหล่าไป ผักไหหล่ามา" (คี้พร้า คือ ฝักเขียว, ผักไห คือ ผักเลื้อยตระกูลตำลึง, หล่าไป หล่ามา คือเลื้อยไป เลื้อยมา) มีความหมายประมาณว่าการหยิบยื่นแบ่งปันสิ่งที่เรามีให้กับเพื่อนบ้าน วันนี้ วันหน้าก็จะมีการเอื้อเฟื้อแบ่งปันจากเพื่อนบ้านมาให้เราเช่นกัน แต่ตัวเนื้อใจแท้เกิดจากการอยากให้ก่อน โดยไม่หวังผลตอบแทน

      ปัจจุบันนี้ ชีวิตเหล่านี้ก็ยังหาได้อยู่ในชนบท หลายๆ ที่ ครับ สำหรับในเมืองนั่น ก็คิดว่าอาจจะมีบ้าง ส่วนจะลดหน่อยหรือแค่ไหน ไม่ทราบครับ

     เมื่อทุนนิยมเริ่มเข้ามาเบียดบังสังคมนิยม รั้วบ้านที่ไม่เคยมี ก็จะเริ่มมี รั้วบ้านที่เคยเป็นป่า หรือที่เคยเป็นแนวต้นไม้ ก็จะกลายเป็นลวดหนาม หรือกำแพงอิฐปูน แทน หลายๆ ที่ก็จะมีขวดแตกๆ ปักไว้ที่บนกำแพง หรืออาจจะมีเหล็กแหลมๆ เป็นรูปลูกศรติดตั้งไว้ด้วย วิถีปักเจกชน ก็เริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น

ขอบคุณมากครับ

สมพร ช่วยอารีย์

หมายเลขบันทึก: 87946เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2007 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • พี่เข้ามาอ่านแล้วอดชื่นชมน้องชายคนดีไม่ได้
  • ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองถึงเยอรมัน
  • แต่น้องเป็นคนรักถิ่นฐานบ้านเกิด รักสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นเราดีเหลือเกิน
  • เยาวชนไทยเราน่าจะเอาเป็นต้นแบบนะคะ
  • นอนหลับฝันดีนะคะ
P

สวัสดีครับพี่สาว

  • ขอบคุณมากครับผม
  • พิมพ์ไปก็กลืนน้ำลายไปครับ อิๆ
  • บ้านเกิดคือเรื่องใหญ่ครับ หัวใจเรื่องรองครับ
  • รักคนไทยครับ แต่คนไทยต้องศึกษาไทยให้เข้าใจ ผมเองก็ต้องศึกษาคนไทย และตัวเองเช่นกันครับผม
  • ผมยังมีวีซีดีเขาหลัก และจำภาพเหล่านั้นที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อนได้ดีครับ จึงเป็นที่มาของการสร้างโปรแกรมจำลองคลื่นสึนามิขึ้นมาครับ
  • คิดว่าสิ่งร้ายๆ คงจะไม่เกิดซ้ำอีก หากจะเกิดขอให้คนไทยทุกคนมีสตินะครับ หลายสิ่งที่ทำแล้วดีงามก็รักษาเอาไว้ครับ ส่วนไหนต้องปรับปรุงก็ต้องรับฟังแล้วพัฒนาครับ
  • ให้พี่สาวหลับฝันดีเช่นกันครับ โชคดีในการทำงาน

มาติดตามด้วยความชื่นชมเช่นกันครับ
    เรื่องแบบนี้พี่บ่าว ไม่ต้องฟังใครเล่า  เพราะประสบมาด้วยตนเองเมื่อยามเป็นเด็กครับผม .. เงินมีความหมายน้อย  จิตใจมีความหมายมาก  มันคือความศิวิไล ที่เหือดหายไปกับความเจริญทางวัตถุ .. ไม่อยากคิดให้เศร้าแต่อดสลดใจแทนสังคมไทยไม่ได้ครับ ..
      อ่านกลอนนนี้ดูก็แล้วกัน  เขียนไว้นานแล้ว ..

   ฉันเป็นคน  บ้านนอก  ขอบอกกล่าว
มีเรื่องราว  มากมาย  ให้นึกถึง
กาลเวลา  ล่วงไป  ใฝ่คนึง
สิ่งที่ตรึง  ใจมั่น  นั้นมากมาย

   สมัยนั้น  เราอยู่กัน  ฉันท์น้องพี่
มากน้ำใจ  ไมตรี  มิเหือดหาย
ไร้ไฟฟ้า  ไร้ประปา  แต่สบาย
เราอยู่ได้  กับธรรมชาติ  อันอุดม

   อยากกินปลา  เราไปหา  ตามท้องทุ่ง
เต็มตะกร้า  ล้นกระบุง  ก็สุขสม
แบ่งจ่ายแจก  ลุงป้า  น่านิยม
เป็นสังคม  แห่งน้ำใจ  อยู่ไกลเมือง

   ทั้งทำนา  ปลูกข้าว  และทำไร่
จวบต้นข้าว  ออกรวงใหญ่  ชูช่อเหลือง
ต่างช่วยกัน  เก็บเกี่ยวไป  ไม่สิ้นเปลือง
ไม่มีเรื่อง  จ่ายค่าจ้าง  เป็นรางวัล

   ยังมีอีก  มากมาย  หลายตัวอย่าง
ยังจำได้  ไม่จืดจาง  ใช่เรื่องฝัน
ชักอ่อนล้า  ด้วยกรำงาน  มาทั้งวัน
วันนี้พอ  ก็แล้วกัน  นะ บ๊าย บาย !

P

สวัสดีครับพี่บ่าว

  • ขอบคุณมากๆ เลยครับพี่ ที่เข้ามาเยี่ยมเยียน
  • งานหนักไหมครับ สู้ๆ ต่อไปเพื่อสังคมไทยนะครับ
  • ได้อ่านกลอนแล้วดีใจครับ จินตนาการ เรื่องการทำนา กับค่าใช้จ่าย ปัจจุบัน ก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้ชาวนาต้องหยุดทำนากัน เน้นทำไว้กินเองครับ ทำกันเท่าที่พอมีแรง จากที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีจนดินชินซะแล้ว หากไม่ใช้ปุ๋ยเคมีใส่ลงไปเหมือนว่าต้นกล้าจะไม่งอกงาม ไม่รู้ว่าคิดกันไปเองไหม มองๆ แล้วคล้ายๆ กับตอนที่ยังใช้เทียนไขหรือตะเกียงน้ำมัน แล้วมาเป็นยุคไฟฟ้าหลอดนีออน  แต่พอคืนไหนไฟฟ้าดับปั๊บ ไปงมหาเทียนไขกันครับ แล้วมาจุดเทียนไขหรือตะเกียง สมองจะมึนตึ๊บ เอทำไมมันไม่สว่างเอาซะเลย ทั้งๆ ที่เคยอยู่กับความเข้มแสงแบบหนึ่งหรือสองแรงเทียนมาก่อนหน้านี้นับนานแสนนาน
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ ตลอดขอเป็นกำลังใจในการทำงานครับพี่บาว
  • ไม่ได้ยินคำนี้มานานแล้วครับ
  • "คี้พร้า
  • ชอบมาก
  • ดีไม่ต้องไปโต่งมะม่วงคันด้วย
  • ฮ่าๆๆๆๆ
P

สวัสดีครับพี่บ่าว

  • ขอบคุณมากๆนะครับ
  • โต่งลูกม่วงคัน (ถ้าได้โดนยางมะม่วงคันนะครับพี่ รับรองได้ครับ ไหม้ให้เห็นทันตา อิๆ)
  • น่าจะนำมาสกัด มาทำประโยชน์เสียเลย ท่าทางคุณสมบัติยางของ มะม่วงคันนี้ไม่เบาครับ
  • โชคดีในการทำงานครับ

พี่ชอบเรียกผู้เข้าร่วมเวทีของพี่ว่าคนบ้านนอกประจำ....

 

บางคนหาว่าพี่ดูถูกคน...

 

แต่พี่อธิบายต่อว่า...สมัยก่อนโคกมะตูมบ้านพี่นี่แหละ บ้านนอก...ผ่านไป 10 ปี กลายเป็นในเมือง...แล้วพี่ก็กลายเป็นคนในเมืองยิ่งขึ้นไปอีกเพราะต้องทำงานในเมือง....

 

วันหนึ่งพี่ออกไปประเมินชุมชนเข้าใจเอดส์...พบกับชาวบ้านที่ใสซื่อ...มีน้ำใจใสสะอาด...เล่นเอาไม่อยากกลับเข้าเมือง...เพราะรู้ว่าต้องมาเจอกับคนสวมหน้ากาก มากเล่ห์ เพทุบาย เช่นเคย.... 

P

สวัสดีครับคุณพี่นายขำ

  • ดีใจครับ ที่พี่เข้ามาแลกเปลี่ยน ทำให้ผมรับรู้ชีวิตในที่อื่นด้วยครับ
  • จริงๆ แล้วในเมืองผมว่า ก็ผสมผสาน ความชนบทลงไปด้วย ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เช่นมีร้านข้าวแกงขายตามที่ต่างๆ แทนที่จะเป็นห้างอย่างเดียว ให้ผสมอยู่กลมกลืนกันครับ
  • อย่างมหาวิทยาลัยเก่าๆ จะพบว่าไม่รู้ว่าขอบเขตของมหาวิทยาลัยอยู่อย่างไร ไม่มีรั้วกั้น ผสมกันระหว่างสถาบันนั้น นี้ กับห้างเอกชน ร้านค้าทั่วไป นักท่องเที่ยว ผสมกันไป เป็นชีวิตจริงครับ
  • เพราะนั่นคือสังคม ผมดีใจเสมอและประทับใจมาก เวลาดูโฆษณาในทีวีไทย แม้ว่าเป็นกลอุบายบางอย่างก็ตาม แต่อย่างน้อยก็สะท้อนความรู้สึกดีๆ ว่านี่คือสังคมไทย นี่คือรากของไทย
  • ฝรั่งหลายๆ คนต้องไปหลงและยอมทุ่มตัวเพื่อสังคมไทยหลายๆ คนก็ไปตกหลุมรักน้ำใจคนไทย เข้าตรงนี้หล่ะครับ เต็มๆ เราเลยเกิดโครงการดีๆ มากมายจากชาวต่างชาติ หากมีองค์กรไหน ไม่ว่าระดับส่วนตัวหรืออย่างไรก็ตาม หากลงไปหาที่มาที่ไป ที่มาทำเพื่อคนไทย อาจจะได้อะไรดีๆ
  • และได้ความน่าประทับใจมากยิ่ง ทำให้เราย้อนกลับมาดูตัวตนของเราในความเป็นไทยของเราเอง ว่าเราทำอย่างไรบ้างด้วยครับ
  • ผมเคยไปอยู่ กทม. สองปีครึ่ง ตอน ป โท เชื่อไหมครับ ว่าเพื่อนข้างห้องสองห้อง ผมไม่รู้จักเค้าเลย ได้แค่ยิ้มให้กัน มองดูแล้ว ทำไมเราแย่จัง แต่พอมาต่างประเทศครับ พอเห็นหน้าตาคนไทย ก็รีบเข้าไปทักทาย ว่าคนไทยหรือเปล่า
  • คนอินโด อินเดียก็เข้ามาทักด้วยภาษาของเค้า แล้วถามว่ามาจากอินโดหรือเปล่า
  • มีอะไรหลายๆ อย่างที่ผมคิดผิดมาตลอด ก่อนมาเยอรมัน คือมองภาพฝรั่งหลายๆ อย่างผิดไปเต็มๆ
  • คุณเชื่อไหมว่า หากผมออกไปแบบบ้านๆ หรือว่าบ้านนอกที่พี่ว่านั่นหล่ะครับ คนเยอรมันเค้ามีน้ำใจกันมากเลยครับ ใจดีมากๆ รั้วบ้านไม่ได้กั้นอะไร ไม่ต้องใช้ลวดหนาม อาจจะมีรั้วเตี้ยๆ แค่นั้นเอง เรื่องน้ำใจก็ไม่ธรรมดา แล้วรู้จักกันทั้งหมู่บ้าน
  • เวลาอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่น่าประทับใจอีกอย่างคือ เดินสวนกัน ก็ทักทายสวัสดีไปได้เลย แล้วจะได้รับการสวัสดีตอบ ทั้งๆที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
  • เล่าสู่กันฟัง สนุกๆ ครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ

บ่อยครั้ง, ผมเคยได้ยินทำนองว่า   รั้วบ้านคือสัญลักษณ์ของความอ่อนแอของมนุษย์ ...เป็นสิ่งสะท้อนถึงความหวาดหวั่นต่อสรรพสิ่ง

เมื่อทุนนิยมเริ่มเข้ามาเบียดบังสังคมนิยม รั้วบ้านที่ไม่เคยมี ก็จะเริ่มมี รั้วบ้านที่เคยเป็นป่า หรือที่เคยเป็นแนวต้นไม้ ก็จะกลายเป็นลวดหนาม หรือกำแพงอิฐปูน แทน

ขอบคุณครับ...

P

สวัสดีครับพี่พนัส

  • ขอบคุณมากครับพี่
  • หลายครั้งที่ผมลองเปรียบเทียบบ้านที่เยอรมัน รั้วบ้านเค้าแค่ครึ่งขา ครับ ผมก็เลยถามตัวเอง เอเค้าไม่ได้เอาไว้กันขโมยนี่สงสัย เอหรือว่าไว้กันสัตว์สุนัขไม่ให้เข้าไป แต่สุนัขจรจัดก็ไม่มีอีก
  • แล้วได้คำตอบว่า ออสงสัยระบบการศึกษาเค้าทำให้คนไม่เป็นขโมย หากเป็นจับได้ ก็ลงโทษหนัก ปรับหนักอีก สู้ทำดีกันดีกว่า
  • เหมือนช่วงหนึ่งครับ ตอน อยู่ ปริญญาตรี มีการถกเถียงกันเรื่องหมวกกันน็อค กับ ปัจเจกบุคคลครับ ถกกันอย่างเมามัน
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ ที่ทำให้ขบคิดได้อีกหลายๆ อย่างครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท