ความแตกต่างของนักเรียนโรงเรียนเอกชน กับโรงเรียนรัฐ ผ่านคำบอกเล่าของครูคนหนึ่ง


ปรากฏการณ์ที่เล่ามา ฝากให้คิดว่า เราพัฒนาเด็กปฐมวัย มาถูกทางหรือยัง?

ได้พูดคุยกับคุณครูจากโรงเรียนอนุบาลแม่ฮ่องสอน อดไม่ได้ที่จะนำเนื้อหาที่คุยกันมาเขียนบันทึก เพื่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน 

ครูเล่าว่า นักเรียนจากโรงเรียนเอกชน(บางแห่ง)  ที่เข้ามาเรียนต่อระดับปฐมวัยที่โรงเรียนอนุบาลแม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐ มีสภาพปัญหาที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนดังนี้ (ตามข้อสังเกตของคุณครู) 

เด็กนักเรียน ที่มาจากโรงเรียนเอกชนเรียนเก่งมาก เมื่อเทียบกับโรงเรียนของรัฐ เรียนรู้และทำแบบฝึกหัดได้อย่างรวดเร็ว อ่านเรื่อง เติมคำ โยงภาพ ทำได้แบบเกินคาดหมาย !!! จนเด็กโรงเรียนของรัฐเทียบไม่ติด.....(ดูเหมือนจะเริ่มเป็นปัญหา นะครับ) 

แต่...พอให้ นักเรียนลองทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) เช่น การวาดภาพ การสร้างเรื่องราว การเขียนหนังสือง่ายๆ เด็กนักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาล ทำได้ดี และมีความสุข (ขอย้ำว่า ...มีความสุข)ผลงานที่ได้หลากหลาย สวยงามตามการสร้างสรรค์ของเด็กแต่ละคน เด็กโรงเรียนเอกชนเทียบไม่ติด ...(ดูเหมือนเป็นปัญหาใหม่) 

คุณครู เล่าถึง เรื่องสังคม การเข้าเพื่อน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ การมีสมาธิ จดจ่อกับสิ่งที่ทำ อารมณ์ของเด็ก เห็นได้ชัดว่าเด็กโรงเรียนของรัฐไม่มีปัญหา......(นี่มัน...เพราะอะไรกัน?) 

หากหลักการการจัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ก็พอที่จะเห็นคำตอบว่า ความสำเร็จ ของการจัดการศึกษาที่พัฒนาโครงสร้างกระบวนการคิด (Metacognitive Thinking) นำไปสู่โครงสร้างทางปัญญา (Cognitive Structure) ของเด็กๆน่าจะเป็นอย่างไร ?

สุดท้ายเด็กปฐมวัยควรที่จะได้รับผลจากการพัฒนา  ๕ ด้านดังนี้

·         กาย

·         อารมณ์

·         สังคม

·         สติปัญญา  >>>แถมอีกเรื่องที่แม่ฮ่องสอน คือ ภาษา ครับ

ปรากฏการณ์ที่เล่ามา ฝากให้คิดว่า เราพัฒนาเด็กปฐมวัย มาถูกทางหรือยัง? 

หมายเลขบันทึก: 40437เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)
  • ถูกแน่นอน ถ้าเด็กได้ใช้ Critical thinking บ่อยๆได้เรียนอย่างสนุกสนาน น่าจะไปได้สวย
  • ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณสำหรับความคิดเห็นครับอาจารย์ขจิต

อาจารย์กรุณาช่วยอธิบายเพิ่มเติมอีกนิด เพื่อ ผู้ที่มาอ่านบันทึกครับ....

  • คือว่า กระบวนการคิดมีหลายประเภทเช่น คิดหลากหลาย ตัวอย่างเช่น ผ้าขาวม้าใช้ทำอะไรได้บ้าง ให้นักเรียนตอบ คิดคล่อง คือให้บอกชื่อสัตว์ที่ขึ้นต้นด้วย ก ไก่เช่น กา เก้ง กาเหว่า ฯลฯ ยังมีคิดแนวขวาง คิดทางข้าง อีก
  • แนะนำว่าให้ไปอ่านบันทึกที่ต่อไปน้องจตุพรจะเขียนครับ ยิ้ม ยิ้ม
เอาเป็นว่าบวกกันหารสองได้ไหม    นำข้อดีของแต่ละแบบมาประยุกต์ใช้

 ผมเห็นด้วยครับพี่   Nidnoi

ตามปรัชญา ที่ว่า "เก่ง ดี และมีความสุข" น่าจะเป็นไปตามรูปแบบนั้นครับ

แต่ยังไงก็ตาม สถาบันไม่ว่าของรัฐและเอกชน ต้องคุยกันให้ชัดเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาเด็ก แม้ ปัจจุบัน จะมีการคุยกัน ปฏิรูปกัน ทั้งงานวิชาการ วิจัย แต่ปัญหาดูเหมือนยังมีเรื่อยๆ

เข้าใจว่า ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย โทษสถาบันการศึกษาอย่าสงเดียวก็คงไม่ได้

ที่เขียนเพราะอยากให้ เห็นว่า ปรากฏการณ์ แบบนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย นะ

ไม่อยากเห็นเด็กเก่งแต่ไร้ความสุขในชีวิต ครับ

ใช่แล้วครับคุณจตุพร

ผมขอเพิ่มเติมในมิติของนักบริหารครับ

ถ้ามองตามระบบธุรกิจ โรงเรียนเอกชน ผู้บริหารจะมีระบบการจัดการเรียนการสอนที่ค่อนข้างรัดกุมและมีประสิทธิภาพมากกว่าโรงเรียนรัฐ ตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร การจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ การประเมินผล เพราะถ้าเขาจัดการศึกษาได้ไม่ดีกว่าโรงเรียนร้ฐ ผู้ปกครองคงจะไม่เสียเงินที่มากกว่า "จ่ายแพงกว่าทำไม"

ผู้ปกครองยอมเสียเงินที่มากกว่า เพราะเลือกที่จะซื้อสินค้าที่ดีกว่า ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารในโรงเรียนเอกชนที่จะต้องแข่งขันทางด้านคุณภาพให้มากกว่าโรงเรียนรัฐครับ

บันทึกมาเพื่อ ลปรร. ครับ

โรงเรียนเอกชนหลายโรงเรียนประยุกต์ศาสตร์และศิลป์ กายและใจ จิตวิณญานเข้าด้วยกัน โรงเรียนรัฐและเอกชนน่าจะลองเอาประสบการณ์ของโรงเรียนแต่ละประเภท มาปรับปรนใช้ในโรงเรียนของตนเองนะครับ สนับสนุนความสมดุลแห่งกายและใจ

อาจารย์ปภังกร

ขอบคุณอาจารย์ที่มาเติมในมิติอีกมิติหนึ่ง...ในบันทึกผมพยายามจะบอกว่า  โรงเรียนเอกชนบางแห่งมีคุณภาพ (จริงหรือ??) เก่งแล้ว มี ี"ความสุข" หรือไม่ครับอาจารย์

ผมยอมรับว่าระบบการบริหาร จัดการโรงเรียนเอกชนดูดีมาก และระบบการเรียนการสอนที่รัดกุมอย่างที่อาจารย์ได้แลกเปลี่ยน ...เพราะมีเม็ดเงินหล่อเลี้ยงเพียงพอ

หากนำส่วนดีของ รร.เอกชน และ รร.รัฐ มารวมกัน สร้างเป็น รร.ทางเลือก เหมือนกับผมเคยดูทางทีวีที่ ดร.อาจอง ไปสร้า้ง รร. ลักษณะนี้ที่ไหนสักแห่ง จำไม่ได้ น่าสนใจมากครับ....

คุณออต

ผมสนับสนุนความคิดอย่างที่คุณออต แลกเปลี่ยนเรียนรู้มา เพื่อสรา้งสมดุล เป็นการศึกษาที่พอเพียง ไม่สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง

ไม่ทราบว่าท่านไหนทราบเรื่อง โรงเรียนที่ ดร.อาจอง ไปสร้าง และเป็นโรงเรียนทางเลือก นำมาแลกเปลี่ยนกันนะครับ 

  • อยากทราบข่าวการประชุมครับผม
ขออนุญาต ลปรร ในฐานะอดีตเคยเป็นครูปฐมวัยโรงเรียนรัฐบาล และจบการศึกษาด้านปฐมวัย ปัจจุบันสอนนักศึกษาโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย การจัดการศึกษาปฐมวัยต้องเข้าใจทฤษฎีและพัฒนาการที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัย ซึ่งในหนังสือเอกสาร ตำรา งานวิจัยมีให้ศึกษาหาอ่านมากมาย มีทั้งผู้ให้ความสำคัญ และไม่เห็นความสำคัญของเด็กปฐมวัย เด็กวัยนี้เรียนรู้จากการเล่นกับสื่อของเล่นต่างๆ เรียนรู้จากการลงปฏิบัติด้วยตนเอง  พัฒนาการทุกด้านพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านสมองและเส้นใยประสาทต่างๆกำลังพัฒนาอย่างมาก  ในการจัดการเรียนการสอนต้องให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุขเหมาะสมกับพัฒนาการตามวัย จัดกิจกรรมให้เด็กใด้สังเกต จำแนก เปรียบเทียบ คิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ฯลฯมีหลักสูตรการจัดการศึกษาปฐมวัย ซึ่งปัจจุบันเป็นหลักสูตรปี2546 ปัญหานี้มีมานาน ครูและผู้ปกครองทำร้ายเด็ก

เรียนอาจารย์ Ms.sunee

น่าสนใจมากเลย สำหรับความรู้ที่อาจารย์นำมาต่อยอด

Tacit knowledge ของอาจารย์มีมากมายทั้งวิชาการและการปฏิบัติ อยากให้อาจารย์เขียนบันทึก เรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยครับ...ขอบคุณครับผม

 

โดยไม่รู้ตัว เพราะไม่คิดว่าจะมีผลเสียในระยะยาวแต่ก็มีหลายท่านที่เข้าใจและจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมส่งเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา ....เด็กแรกเกิด -6ปี เป็นวัยสำคัญที่สุด ต้องให้ความรัก ความอบอุ่นอย่างมากที่สุด ให้เขาเติบโต และเรียนรู้อย่างมีความสุข เรื่องอ่าน เขียน ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยถ้าพัฒนาการเขาพร้อมเด็ก สามารถทำได้อย่างมีความสุข ....ความรักและเข้าใจเด็กเท่านั้น ที่จะสร้างให้เขาเติบโตอย่างสุขสมบูรณ์ทั้งกายและใจ .....ลปรรมากไปหรือเปล่าคะ ขอบคุณค่ะ
ขออภัยด้วยนะคะ เกิดการผิดพลาดนิดหน่อยข้อมูลเลยไม่ต่อเนื่องกัน......ขอบคุณค่ะขอเวลาหน่อยนะค๊ะจะเขียนเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ค่ะ...

ขอบคุณอาจารย์ Ms.Sunee อีกครั้งครับ

            ให้ข้อคิดเห็นมากๆเลยครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หลายๆท่านที่เข้ามาอ่าน คงพอจะทราบแล้วว่า ท่านอาจารย์  บอกแนวทางการจัดประสบการณ์ที่ถูกต้อง ในบันทึกที่ผมเขียนอย่างไร?

ส่วนบันทึกของผม มีหลายๆบันทึกด้วยกันครับที่กล่าวถึง การพัฒนาสมองเด็ก ซึ่งผมสนใจส่วนตัวครับ 

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยในฐานะเคยเรียนในโรงเรียนเอกชน  เป็นครูโรงเรียนของรัฐที่พบนักเรียนจากโรงเรียนเอกชน  และโรงเรียนของรัฐ  ในมุมของการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ

เมื่อสองปีก่อนได้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งสอนมากว่า 10 ปี  พบว่า  นักเรียนที่มาจากชั้นอนุบาล  มี 2 พวก คือมาจากอนุบาลเอกชนและอนุบาลของรัฐ(ที่อื่นและโรงเรียนตัวเอง)

มีความลำบากมากในระยะแรกที่ได้สอนชั้นป.1 เพราะความไม่เท่ากันของประสบการณ์  กล่าวคือ  เมื่อครูสอนเนื้อหาเพื่อนำเข้าสู่การเรียนเรื่องใดๆก็ตาม  นักเรียนที่มาจากเอกชนจะพูดว่า  เคยเรียนแล้ว...

แต่นักเรียนที่มาจากรัฐ  จะนั่งมองตาปริบๆ

ครูผู้สอนต้องละลายพฤติกรรม  โดยการใช้วิธีการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร  นักเรียนทุกคนได้ปฏิบัติจริงด้วยการสนทนา  ร้องเพลง  เล่นเกม  แล้วจึงเข้าสู่การฟัง พูด อ่านและเขียน  จึงลดปัญหานี้ลงไปได้

จากการสังเกต  นักเรียนที่มาจากโรงเรียนเอกชน  จะไม่ค่อยกล้าแสดงออก  ไม่มีความพร้อมของกล้ามเนื้อ  เส้นสายลายมือไม่หนักแน่น  ขีดเขียนเก่งก็จริง  พูดเป็นนกแก้ว  นกขุนทอง  ไม่ครบกระบวนการของการรับรู้  หมายถึง  พูดได้  เขียนได้  แต่ยังขาดการวิเคราะห์  คิดไม่ค่อยเป็น  แก่งแย่งชิงดี  ขี้ฟ้อง(พ่อแม่)

แต่นักเรียนที่มาจากรัฐ  ช้ามากในการรับรู้  ต้องให้แรงเสริมอยู่เสมอ  หมั่นถามและให้ความใกล้ชิดด้วยการสัมผัสทางกาย  สภาพทางร่างกายมีความมั่นคงทางอารมณ์  กล้าแสดงออก  มีความอดทน  ทำงานได้รวดเร็ว  ไม่ทิ้งงานกลางคัน   รับผิดชอบดี

ดิฉันก็ตามไปดูการจัดการเรียนการสอนของครูปฐมวัย(อนุบาล 4 ขวบ)  หมายถึงเรียน 2 ปี จึงจะได้ขึ้น ป.1

ครูใช้วิธีการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อ  ไม่เน้นวิชาการ  แต่เสริมบ้างเล็กน้อย  นักเรียนได้ปั้นดินน้ำมัน  วาดภาพ  ระบายสี  มีกิจกรรมตามมุมสันทนาการ  ได้วิ่งเล่นที่สนามอย่างมีความหมาย  มีการทำงานเป็นกลุ่ม  รู้จักการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี  นอนกลางวัน  เก็บที่นอนเข้าที่ด้วยตนเอง  ฝึกการมีสมาธิ  เวลาเรียนเงียบมาก  ไม่มีเสียงจอแจ  นักเรียนมีสมาธิสูง (ไม่ทราบที่อื่นเป็นอย่างไร)

ดิฉันก็สังเกตนะคะ เพราะตัวเองสอนด้วยความลำบากมาก  และที่สำคัญคือ  ตัวเองเคยเรียนในโรงเรียนเอกชน  จะย้ำเน้นการท่องจำ  ท่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษมากมาย  โรงเรียนเอกชนเขามีจุดขายอยู่ตรงนี้  ซึ่งชนะใจผู้ปกครอง  จึงส่งบุตรหลานเข้าเรียนในชั้นปฐมวัยที่โรงเรียนเอกชน  เพราะมีคิดว่ามีพื้นฐานการเรียนอย่างแน่นหนา  ก็คงจะจริง  แต่การเรียนหนักย่อมมีการล้า  และส่วนใหญ่ก็ล้าจริงๆ  นักเรียนในวัยนี้ยังต้องการเล่น  ต้องการบรรยากาศที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง  ดังนั้นครูในระดับนี้จึงจัดการเรียนการสอนที่เหมือนบ้าน  เช่น  ทำกับข้าว  ทำงานบ้าน  เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องในชีวิตประจำวัน  นำกลับไปใช้ที่บ้าน  เท่าที่สังเกต  นักเรียนมีความสุข

เราเป็นครู  ก็มีความมุ่งหวังให้นักเรียนเป็นผลิตผลที่  ดี  เก่งและมีความสุข  ควบคู่กันไป

โอกาสหน้าจะเล่าสู่กันฟังอีก  ขอบคุณค่ะ  บันทึกนี้ดีจริงๆ

ข้อคิดเห็นของอาจารย์สิริพร ครั้งนี้เป็นการต่อยอดความรู้จากผู้ผ่านประสบการณ์จริง และถ่ายทอดออกมาได้เห็นปรากฏการณ์ที่ชัดเจนครับ

ความไม่สมดุล ของการจัดกระบวนการเรียนการสอน ไม่ว่าจะโรงเรียนรัฐหรือโรงเรียนเอกชนก็ตามครับ...เราควรที่จะต้องทำความเข้าใจของ

พัฒนากับการเรียนรู้ด้วย หากละเลยเรื่องพัฒนาการมุ่งจะสรา้งเด็ฏเก่งอย่างเดียว จริงๆเราก็จะได้เด็กเก่งสมใจใช่มั้ยครับ...แต่เด็กเก่งแบบนั้นอาจเป็นเด็กเก่งที่มีปัญหา

ถามว่า...เราอยากให้เด็กไทยถูกพัฒนาอย่างไร?

เป็นโจทย์ใหญ่ที่บุคลากรทางการศึกษาต้องขบคิดมากขึ้น กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสมอง น่าจะเป็นเรื่องสำคัญครับ 

เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากค่ะ

เคยคุยกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า "การต้านกระแสผู้ปกครองเป็นเรื่องที่ยากมาก ผู้ปกครองมักจะมาถามว่าทำไมโรงเรียนนี้ไม่มีสิ่งนี้ๆนั้นๆ ที่เอกชนอื่นมี"

โรงเรียนของท่านเป็นโรงเรียนที่เน้นความสุขและพัฒนาการตามวัยของเด็ก ซึ่งมีความยากลำบากในการจัดการ...โดยเฉพาะการให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าพัฒนาการของเด็กควรเป็นอย่างไร

เห็นใจทั้งสองฝ่าย...โดยเฉพาะปัจจุบันที่เน้น การตลาดทางการศึกษา...การหาแนวทางตัดสินใจที่เหมาะสมคงต้องร่วมมือกันทุกคนค่ะ

การสร้างความรู้ให้แก่กลุ่มที่เกี่ยวข้องการดูแลเด็ก เป็นประเด็นที่สำคัญครับ

การดำเนินการพัฒนาเรื่องนี้ ผมเคยมีประสบการณ์ที่ดำเนินการในกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

  • พ่อแม่อาสา คือ คนในชุมชน อาจเป็นเยาวชนก็ได้
  • พ่อบ้าน แม่บ้าน
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ดูแลเด็ก รวมถึง ครูปฐมวัย
  • ผู้บริหาร
  • เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก เช่น จนท.สาธารณสุข อบต. เป็นต้น

ก็จะเน้นในเรื่องของ การพัฒนาเด็ก กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก

ผมเติมในส่วน การทำงานของสมอง กับการเรียนรู้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมสมใจ

ดังนั้นหากทุกฝ่ายเข้าใจกลไกของสมอง อารมณ์ ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก การพัฒนาเด็กจะถูกทิศถูกทางมากขึ้น

คือ อนาคตของประเทศเลยทีเดียว...ครับ

ขอบคุณอาจารย์จันทรัตน์ ที่มาช่วยเติมครับ 

สวัสดีครับ คุณเอก

  • คุณเอกเขียนเรื่องนี้หลายปีมาแล้ว ตั้งแต่ผมยังไม่ได้ว่ายเวียนอยู่แถวนี้เลยครับ
  • เรื่องราวตรงประเด็น น่าสนใจดีครับ
  • ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

:)

สวัสดีครับ หลังวันเด็ก ๑ วันครับ อ.  Wasawat Deemarn (เห็นบอกว่าเป็นวันของ อาจารย์)

ประเด็นการพัฒนาเด็ก เป็นประเด็นที่"สำคัญ"มากๆครับ เริ่มจากที่ผมได้เรียนรู้การพัฒนาสมอง ผมเห็นความสำคัญมาก ประกอบกับเห็นเพื่อนที่มีลูกเราทดลองดูแลแบบ BBL. ตั้งแต่ปฏิสนธิ ลูกที่คลอดออกมาฉลาดและ EQ ดีมากๆ หากเราได้ดูแลต่อเนื่อง มีการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม มีรีแอคชั่น กับ สมองโดยตรง เป็นเรื่องที่"ควร"ทำมาก

ผมมีโอกาสได้สอน นศ.ปฐมวัยด้วยครับ ช่วงนั้น เน้น BBL.โดยเฉพาะเลยครับ

ประเด็น ความแตกต่าง ของการเรียนรู้ รร.เอกชน รร.รัฐ นั้น ละเอียดอ่อนนะครับ ขอให้บันทึกนี้ กระตุกให้ร่วมกันคิดประเด็นการพัฒนาเด็กไทยของเราครับผม

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีค่ะคุณครู อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญทุกท่าน พอดีดิฉันเข้ามาหาข้อมูลระหว่างโรงเรียนของรัฐและเอกชน เพื่อเอาไปพิจารณาในการเลือกโรงเรียนประถมในเมืองไทย(ต่างจังหวัด)ให้กับลูกสาวค่ะ คือลูกสาวเกิดและเรียนอนุบาลที่ญี่ปุ่น แต่ทุกปีก็จะพากับเมืองไทยประมาณเดือนนึง เพื่อไปเยี่ยมคุณตาคุณยาย เป็นลูกครึ่งค่ะ ตอนนี้ใกล้จะจบอนุบาลแล้ว อายุ 6ขวบ ภาษาไทยพอพูดได้ระดับหนึ่งค่ะ อ่านยังไม่ได้ เขียนชื่อและก.ไก่-ฮ.นกฮูกได้ สระยังไม่ได้สอนค่ะ แต่ภาษาญี่ปุ่นอ่านออกเขียนได้คล่องค่ะ ก็เลยคิดหนักว่าจะให้ลูกเข้าโรงเรียนแบบใหนดี เพื่อที่จะเหมาะกับตัวของลูกสาวในพื้นฐานแบบนี้ค่ะ ดิฉันได้สอบถามเพื่อนๆที่มีลูกเรียนทั้งเอกชนและรัฐบาลต่างก็ให้แง่ดีและเสียต่างกัน แต่ลองมามองดูอีกทีว่าลูกเราไม่ได้เกิดและใช้ชีวิตที่เมืองไทยม ดังนั้นการปรับตัว สังคมและสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนย่อมแตกต่างกันจากทีนี่ ซึ่งกลัวทำให้ลูกรู้สึกอัดอึด ไม่แน่ใจว่าดิฉันคิดมากไปเองหรือเปล่า ขอรบกวนทุกท่านแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมและแนะนำในกรณีลูกสาว เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจด้วยค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท