แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กรมอนามัย » ภาคีจัดการความรู้ภาคราชการ plus กรมอนามัย Open House (9) นวัตกรรมการเสียภาษี ... 1


การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของกรมฯ นี้ จะเป็นการเรียนรู้จากปัญหา และหาวิธีการแก้ปัญหาว่า ... ปัญหาที่เกิดนี้กรมฯ จะแก้อย่างไร

 

คุณพัชชา จากกรมสรรพากร มาเล่าเรื่องราวพัฒนาการของการเสียภาษีให้ฟังค่ะ เป็นพัฒนาการที่ยาวมากเลย ก็เลยต้องใช้พื้นที่เยอะสักหน่อยนะคะ

อ.อ้อ เกริ่นนำไว้ว่า ... มีนวัตกรรมอีกชิ้นหนึ่ง เป็นเรื่องของภาษี ซึ่งเราทุกคนก็คงต้องเสียภาษี คนเก่าคงเคยเสียภาษีในระบบภาษีเก่าเป็นเงินเดือน หรือว่ากว่าจดหมายจะแจ้งมา ... แต่ว่าในยุคปัจจุบัน มีการเสียภาษีทาง Internet พี่เขาไม่ได้เริ่มจากเอา KM มาใช้ ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะใช้ KM ทำอะไร แต่เริ่มที่เป้าหมายเลย แล้วก็ลองแกะดีดี พี่พัชชาอาจจะไม่พูดเรื่อง KM เลย แต่ดูเบื้องหลังการถ่ายทำ จะรู้ว่า เขารวมกันนำเอาประสบการณ์เก่าๆ ของเขามาต่อยอดยังไงจนได้เป็นผลสำเร็จ ไม่ใช่แค่ Knowledge assets แล้ว แต่ตอนนี้มันออกมาเป็นผลงานและเห็นกับตาประชาชนตรงนี้ได้อย่างไร 

  • คราวที่แล้ว คุณอ้อให้นำเสนอเรื่องของการลดขั้นตอนงาน ในวันนี้บอกว่า มาในเรื่องของ KM
  • ความจริงกรมฯ ก็ใช้ KM มาตลอดชีวิตของกรมฯ ตอนนี้เมื่อถึง 22 กย. ก็ครบรอบ 92 ปี
  • การทำงานของเรานี้ก็จะเปลี่ยนทุกปี มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทุกปี และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของกรมฯ นี้ จะเป็นการเรียนรู้จากปัญหา และหาวิธีการแก้ปัญหาว่า ... ปัญหาที่เกิดนี้กรมฯ จะแก้อย่างไร
  • ... ทีนี้การที่จะแก้ปัญหาได้ ก็ได้ออกมาเป็นนวัตกรรมใหม่ในการทำงานนั่นเอง
  • ก่อนอื่นจะให้ท่านได้เห็นภาพของกรมสรรพากร ว่า มีการปรับปรุง มีการพัฒนางานมาอย่างไร เป็นภาพการทำงานในงานของกรมฯ ... เพราะว่าในกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างจะอุ้ยอ้ายพอสมควร มีหน่วยงานเล็กๆ ลงไปถึงระดับอำเภอ หน่วยงานเล็กสุดของกรม เป็นระดับอำเภอ ปัจจุบันเราเรียกว่า สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา บางท่านอาจจะรู้จัก เคยไปยื่นแบบ สูงขึ้นมานิดหนึ่งที่ดูแลหน่วยระดับอำเภอ ก็คือระดับจังหวัด เราเรียกว่า สำนักงานสรรพากรพื้นที่ และระดับคลุมพื้นที่ไปอีกทีคือ สำนักงานสรรพากรภาค แล้วก็ถึงจะขึ้นไประดับกรมฯ หน่วยงานระดับอำเภอ เรามี 800 กว่าแห่ง ระดับพื้นที่ 90 แห่ง ทั่วประเทศ และระดับภาคอีก 62 แห่ง เพราะฉะนั้นหน่วยงานเราค่อนข้างใหญ่พอสมควร และมีข้าราชการประมาณ 20,000 กว่าคน
  • ในการที่เราจะทำอะไร หรือปรับปรุงอะไรสักเรื่อง เป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบากนิดหนึ่งในการสื่อสาร ในการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตาม
  • ภารกิจหลักของกรมสรรพากร คือ การจัดเก็บภาษีอากร เพื่อหารายได้ให้รัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลมีเงินไปบริหารประเทศได้ แล้วภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บนี่ มีด้วยกันอยู่ 6 ประเภท อันแรกค่อนข้างคุ้นชิน คงไม่มีใครไม่เป็นลูกค้า นี่คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อันที่สอง คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเราเก็บจากบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล อันที่สาม คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เราก็เสียกันทุกคนตอนที่ซื้อของ จะเห็นมี vat บวกเข้าไป ที่เราเจอกันบ่อยๆ คือ ธรรมดา กับมูลค่าเพิ่ม อันอื่นขออนุญาติไม่พูดถึง เพราะว่ามีเวลาจำกัด ก็อยากให้เห็นภาพเรื่องของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งพวกเราต้องเจอกันทุกคน
  • ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซี่งเราต้องเจอกันทุกคน ... เราเก็บปีละครั้ง และจะเป็นปัญหามากเลย เพราะว่าตอนรับเงินปกติส่วนใหญ่ผู้มีรายได้บุคคลธรรมดาส่วนใหญ่ก็คือจะได้รับจากเงินเดือน ถ้าเราได้รับไปทุกเดือนๆ และรอไปเสียภาษีรู้สึกเป็นภาระหนักมาก ... และการยื่นแบบเสียภาษีของกรมสรรพากร ให้เกียรติผู้มีอุปการะคุณของประเทศ คือ ผู้เสียภาษีให้ประเมินตนเอง เพราะว่าในทั้งปี การประเมินตนเองมีเงินได้เท่าไร เอาไปกรอกแบบ และยื่นแบบผู้เสียภาษี
  • ทีนี้เราบอกว่า เพื่อไม่ให้เป็นภาระตอนสิ้นปีมากนัก ที่ต้องควักเงินก้อนออกมาจ่ายให้กับรัฐบาล ก็เลยมีวิธีการยื่นภาษีแบบหัก ตอนรับเงินเลย จะได้ไม่รู้สึกว่า ต้องจ่ายเงินเยอะ แทนที่จะรับเต็มก็หักไปบางส่วน ตอนสิ้นปี และตอนประเมินเสีย ก็อาจจะยื่นแบบแต่ไม่ต้องเสียภาษีก็ได้ บางท่านอาจถูกหักมากไป สิ้นปีมายื่นแบบมีค่าลดหย่อนต่างๆ เยอะแยะ อาจได้คืน
  • ในการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร แต่เดิม ... วิธีการจัดเก็บคือ ให้ผู้เสียภาษีกรอกแบบ ลูกค้าจะต้องกรอกแบบและไปยื่นแบบกับหน่วยงานของกรมสรรพากร ซึ่งหน่วยงานเรามีหน่วยงานย่อยๆ ... เราก็มองว่า เอ๊ เนื่องจากผู้เสียภาษีเป็นผู้อุปการะคุณ เลี้ยงดูประเทศชาติ เพราะว่าถ้าไม่มีภาษี ก็คือประเทศอยู่ไม่ได้ เพราะว่าอำนวยความสะดวกอย่างไร ผู้เสียภาษีก็จะดีที่สุด ก็คล่องตัวที่สุด และไม่ลำบากลำบนมากนักในการที่จะเอาเงินมาให้รัฐบาลใช้ เราก็ต้องอำนวยความสะดวกโดยให้ยื่นในหน่วยงานที่ใกล้ที่สุด ก็คือระดับอำเภอ
  • ทีนี้ในการยื่นแบบเสียภาษี ปีหนึ่งครั้งเดียว เราบอกว่า ยื่นได้ตั้งแต่ 1 มกรา ไปถึงวันที่ 31 มีนา ของปีถัดไป แต่ 1 มกราเป็นวันหยุดละ เดิมก็ยื่นไม่ได้ ... มีบางท่านเป็นพลเมืองดีของชาติ ตั้งใจมาก อยากยื่นวันที่ 1 แต่หน่วยงานของกรมสรรพากรไม่ได้เปิดรับ แต่มีหลายท่านเลยก็รอจนวาระสุดท้ายของการยื่นแบบ แล้วส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น คือ จะมียื่นใกล้ๆ 31 มีนา แต่เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรที่รอรับอยู่ที่อำเภอก็มีไม่มากนัก หนักๆ ก็คือช่วงเดียวคือช่วงมีนา เคยไปแล้วอึดอัดไหมคะ สมัยก่อนคนเยอะมากเลย ไปรอคิวแล้วก็โมโห เจ้าหน้าที่ทำอะไรกันนะ เจ้าหน้าที่ก็จะเครียดมากเลย เพราะว่าต้องการบริการให้เร็วที่สุด
  • ช่วง 15-31 มีนา เจ้าหน้าที่กว่าจะได้เลิกงาน กลับบ้านก็ ตี 1 ตี 2 โดยเฉพาะวันที่ 30 หรือ 31 บางครั้งต้องนอนค้างที่หน่วยงานเลย จนกระทั่งมีแม่ข้าราชหญิงโทรมาเจริญพรท่านอธิบดี ว่า ใช้งานลูกชั้นยังไง เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ อายุน้อย ต้องอยู่งานจนมืดจนค่ำ และกลับบ้านก็ลำบาก ถ้าเกิดถูกฉุดไป หรืออะไรไประหว่างนั้น ใครจะรับผิดชอบ กรมฯ ก็มานั่งคิดกันว่า เอ๊ะ ยังไงดีนะ ... อันนี้เป็นปัญหาแรกละ
  • ทีนี้ แบบพอรับไปยื่นที่อำเภอนี่ รับเสร็จแล้ว แบบก็ต้องถูกส่งไปที่จังหวัด เพื่อที่จะประมวล ดูแล และวิเคราะห์แบบ สำหรับผู้เสียภาษีที่ถูกหักค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าภาษีที่ต้องชำระ ก็จะขอคืนมาในแบบ เราเข้าใจ ... ทุกคนพอทราบว่าจะได้อะไรคืน พอได้รับเงินก็ต้องจ้องละ ถ้าได้วันนี้เลยยิ่งดี
  • ... แต่กรมก็มีภาระ เนื่องจากกรมบอกว่า ภาระเราคือเก็บ และทราบไหมคะว่า ปีหนึ่งกรมสรรพากรต้องเก็บภาษีได้แค่ไหน ปีงบประมาณ 2551 ใครฟังข่าวหรือยัง 1 ล้าน 5 แสน (ถ้าจำไม่ผิด) 1 ล้าน 5 แสน ล้านบาท ที่เป็นภาระ
  • เพราะฉะนั้น เราก็ต้องดูอีกว่า ผู้ที่ยื่นแบบขอคืนมานี้ สมควรจะต้องได้รับคืนไหม เพราะว่าภาษีที่เก็บมานี้ เข้าไปเป็นรายได้ของรัฐบาลแล้ว เมื่อเราพิจารณาว่าสมควรคืนแล้ว เราก็จะไปถอนรายได้จากรายได้แผ่นดินมาเพื่อจ่ายคืนผู้เสียภาษี
  • ... และก็เป็นภาระของกรมสรรพากรที่ต้องตรวจ วิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ว่าเป็นผู้สมควรได้รับคืน ไม่งั้นก็จะเป็นภาระกับเจ้าหน้าที่ที่พื้นที่ ทุกคนในช่วงนั้นก็ต้องก้มหน้าก้มตา วิเคราะห์และทำให้คืนเร็วที่สุด ในขณะที่เราต้องทำการวิเคราะห์
  • ... ก็ต้องเรียนให้ทราบในอีกมุมมองหนึ่งซึ่งท่านอาจจะมองไม่เห็น คือ เราจะรับโทรศัพท์ตลอดเลย เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศที่ดูแลมีประมาณหลักพัน ประมาณพันกว่าคน ในขณะที่มีผู้ขอภาษีคืน ปีหนึ่งประมาณล้านกว่าราย เมื่อปีที่แล้วประมาณล้านแปดแสน แต่เจ้าหน้าที่พันกว่าคน เกือบๆ สองพัน ต้องดูแลและคืนให้เร็วที่สุด ก็จะมีคนนี่ละคะ ขอแสนเดียวเจ้าหน้าที่ก็ไม่เป็นอันทำงานแล้วในแต่ละวัน เพราะมัวแต่รับโทรศัพท์ และจะบ่นว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่รับโทรศัพท์ บางคนกำลังวิเคราะห์ ติดพันค่ะ ถ้าไปรับปุ๊บ ก็ต้องตั้งต้นใหม่ เราก็จะเจอปัญหานี้มาหลายๆ เดือน
  • ... พอวิเคราะห์เสร็จ ก็จะมีการบันทึกข้อมูลในแต่ละจังหวัด และเป็น computer แบบ stand alone เก็บข้อมูลไว้ เราก็จะเจอผู้เสียภาษีแบบหัวหมอ ที่ไม่สุจริต ตัวเองแทนที่จะได้คืนครั้งเดียว แต่อยากคืนหลายครั้ง หนังสือรับรองมา คำนวณยื่นแบบเสียภาษี คำนวณแล้วถูกหักค่าใช้จ่ายไว้สูงกว่า ที่จะต้องเสียจริง 5,000
  • ... เนื่องจากเราต้องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีมาก ก็เลยให้ยื่นแบบที่ไหนก็ได้ สามารถกรอกแบบที่ไหนก็ได้ ที่ผู้เสียภาษีสะดวก เพราะต้องการอำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด ก็เลยเป็นช่องทางให้ผู้เสียภาษีบางท่าน ที่ยื่นแบบที่อยุธยาฉบับหนึ่ง ขอคืน 5,000 และพอไปที่กรุงเทพอีกฉบับหนึ่งขอคืนอีก 5,000
  • ... ถามว่าสรรพากรทราบไหม เพราะว่าแบบก็จะไปที่อยุธยาฉบับหนึ่ง เข้าไปที่กรุงเทพฉบับหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็จะตรวจวิเคราะห์ เคยเจอปัญหาไหมคะที่ว่า เจ้าหน้าที่เราขอหนังสือรับรองตัวจริง เราไม่อยากได้สำเนา เพราะเกรงว่าใช้ฉบับจริงไปยื่นอีกที่หนึ่ง สำเนาไปยื่นอีกที่หนึ่ง เราเจอปัญหานี้
  • ... แต่ถามว่า ตรวจเจอไหม เจอ แต่เจอภายหลัง แต่เจ้าหน้าที่พิจารณาคืนไปแล้ว เพราะต้องทำเร็ว รอข้อมูลมาชนกันไม่ได้ แต่หลังจากที่คืนแล้ว เรามีการบันทึกข้อมูล แล้วก็ส่งข้อมูลไปเก็บ แต่ระหว่างนั้น เราก็ทำหนังสือแจ้งคืน ไปให้เขาขอคืนก่อน เราก็จะส่งหนังสือแจ้งคืนไปให้ผู้เสียภาษี ขอคืน
  • ... และในขณะเดียวกันที่ส่งหนังสือแจ้งคืน เราก็ต้องแจ้งไปยังกองคลัง เพราะต้องขออนุมัติถอนเงิน เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่กรมสรรพากรเก็บได้ ต้องนำส่งคลังไปทั้งหมด เราเก็บเอาไว้เองไม่ได้
  • ... และเมื่อพิจารณาแล้วนี่ มีภาษีที่ต้องคืนให้ผู้เสียภาษี ทางเราก็ต้องไปถอนเงินจากรายได้แผ่นดินออกมา เพื่อมาจ่ายคืน และเงินก้อนนี้เรารอได้แค่ 30 วัน ตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่า ผู้คืนจะต้องมารับเงินคืนภายใน 30 วัน ถ้าไม่มาภายใน 30 วัน หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร ต้องส่งเงินนี้กลับคืนคลัง ถือเอาไว้ไม่ได้นาน บางท่านก็จะรู้สึกว่า เออ เดี๋ยวไม่สะดวกไปเอา อีกสักพักหนึ่งก่อน ค่อยไป พอไปถึงเจ้าหน้าที่บอกไม่มีสตางค์ เอ๊ะ ไม่มีได้ยังไง ก็แจ้งแล้วนี่
  • นี่ละค่ะ เป็นเหตุผลด้วยระเบียบของราชการ เราก็รอไม่ได้ และก็จะมีปัญหาชี้แจง บางท่านก็เข้าใจ บางท่านก็ไม่เข้าใจ ว่า ทำไมล่ะ เมื่อหนังสือแจ้งคืนก็ออกมาแล้ว ทำไมไม่คืน บางท่านก็จะรับฟัง มันก็จะเป็นปัญหาของเราทุกจุด
  • ในกรมฯ ก็พยายามจะคิดวิธีการแก้ ว่า เราจะแก้ยังไง และปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตรงนี้ละค่ะ
  • บันทึกข้อมูล ... เจ้าหน้าที่ที่ทำการบันทึกข้อมูล เราก็ไม่จ้างปริญญาตรีมาบันทึก เพราะว่าลงทุนสูงไป ก็จะจ้างเด็ก ปวช. หรืออะไรบ้างก็ตามมาบันทึก แต่เด็กที่บันทึกข้อมูลนี่จะโอนย้ายเยอะมาก เราก็จะมีจ้างลูกจ้าง ก็จะอยู่ไม่นาน และที่บันทึกๆ พอนานๆ ก็จะไป เพราะมองเหมือนไม่เห็นอนาคตตัวเอง ณ จุดงานตรงนั้น เพราะว่างานไม่ได้ใช้ความรู้อะไรมาก และถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการจริง พอไปสอบผ่านเลื่อนระดับซี ก็จะเจอปัญหาว่า สอบสู้ชาวบ้านไม่ได้ เพราะว่าความรู้น้อยกว่า ก็จะเจอ turn over สูงมาก ในจุดนี้ ก็จะเจอปัญหาทุก step กรมก็พยามจะศึกษาปัญหา และหาวิธีแก้ปัญหา ว่าจะแก้ยังไงในแต่ละจุด
  • เมื่อมีการบันทึกข้อมูลแล้วก็จะส่งไป เราก็จะเจอละ ว่า ใครที่ยื่นแบบซ้ำ เราก็จะทวงเงินคืน แต่บางครั้งกว่าจะคืนก็เป็นปี ข้อมูลจะวิ่งกันไปมา เราก็เปลี่ยนวิธีการว่า จะทำยังไง เพื่อที่จะดักไม่ให้ยื่นแบบซ้ำได้ เราก็บอก เราจะวิเคราะห์ก่อน ประมวลผลก่อน
  • ... เจ้าหน้าที่บันทึกเราก็จะลดไปด้วยว่า ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ตรงนี้เป็นคนบันทึก pass แบบไปเลยที่ภาค ก็มี 12 ภาค แล้วเราก็หาเจ้าหน้าที่บันทึกไปที่หน่วยเดียว และรวมมาบันทึก และเพื่อบันทึกอย่างอื่นด้วย เพื่อลดเจ้าหน้าที่บันทึกในแต่ละพื้นที่ 90 แห่งให้น้อยแล้ว และระหว่างที่เขาไม่มีงานคืนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ก็ไปทำด้านอื่นแทน ไปบันทึกเรื่องระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หรืออะไรแทน จะได้ลดปัญหาเจ้าหน้าที่ส่วนนี้ไป และลดปัญหาการยื่นแบบซ้ำซ้อน บันทึกก่อน ประมวลผลก่อน และเราก็บอกว่า จะทำยังไง
  • ผู้เสียภาษีที่ได้รับหนังสือแจ้งคืนไปแล้ว ว่างเมื่อไรไปขึ้นเงินได้เมื่อนั้น และไม่ต้องเดินทางไกล ... เราก็มาคิดกันว่า เราเคยเห็นของตลาดหลักทรัพย์ เวลาจ่ายเงินปันผล ถ้าเราถือหุ้น เงินปันผลจะมีหนังสือแจ้ง และด้านล่างเป็นเช็คให้
  • ... เราก็ เอ๊ ทำอย่างไรกรมสรรพากรจะคืนเงินภาษีอาการจะส่งเงินคืน โดยส่งเป็นเช็คไปให้ผู้เสียภาษี หรือผู้ขอคืน และสะดวกเมื่อไร ก็หมายความว่า เอาเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารตัวเองได้ ไม่นาน ไม่ต้องมาภายใน 30 วัน มาแล้วไม่ได้สตางค์ จะได้ไม่เสียความรู้สึกกันทั้งสองฝ่าย
  • เราก็ไปศึกษาวิธีการ และเราก็คุยกันภายในว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนจากเดิมที่จังหวัดเป็นคนพิจารณาแล้วคืน เราจะให้จังหวัดเป็นคนพิจารณาเหมือนเดิม แต่เราจะคืนเป็นเช็คส่งให้ และพอพิจารณาเสร็จก็ส่งเป็นหนังสือแจ้งคืน และส่งเช็คไปให้ผู้เสียภาษี ซึ่งการเตรียมเงินนี่เราก็บอกว่า
  • ... เมื่อเป็นเช็คปุ๊บนี่ มีบัญชีเงินฝากที่เป็นกระแสรายวัน เราก็บอกว่า ต้องการให้เป็นบัญชีเดียว ใช้ได้ทั่วประเทศ ไม่ต้องเป็นคืนไปแต่ละจังหวัด เราก็มาเปิดบัญชี และเราก็ไปคืน
  • ... ต้องไปศึกษาก่อนว่า จะทำอย่างไร วางฎีกาและไปถอนเป็นก้อน และฝากไว้ที่ธนาคารกระแสรายวันที่เดียว ... เราก็จะลดคนทำงาน ไม่ได้ลดขั้นตอนงาน จากทุกจังหวัดนี่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของแต่ละจังหวัด ต้องไปวางฎีกา ต้องไปถอนเงินที่หน่วยเดียว คือ กองคลัง เป็นคนวางฎีกา และรวมข้อมูลจากทั่วประเทศ วางที่เดียวและโอนเงินเข้าบัญชี เพื่อรอผู้เสียภาษีมาขึ้นเงิน
  • แต่แบบหนังสือแจ้งคืนเราก็ยังคีย์อยู่ที่พื้นที่ก่อน และให้พื้นที่ไปตรวจวิเคราะห์ และส่งไปให้ การเตรียมเป็นเงินเราก็จะลดลง
  • ทีนี้ก็จะมีปัญหาว่า เราพิมพ์หนังสือและก็เช็คก่อน และส่งไปให้จังหวัดตรวจวิเคราะห์
  • ทีนี้เนื่องจากปริมาณมาก มาก ซึ่งเรียนไปแล้วว่า มีประมาณเป็นล้านกว่าราย เจ้าหน้าที่แต่ละจังหวัดมีไม่ถึง 10 ท่าน นอกจากจังหวัดใหญ่ๆ ถึงจะมีถึง 17 ท่าน จะต้องดูลูกค้าประมาณเป็นแสน บางครั้งเช็คมีอายุ 6 เดือน พิมพ์วันที่ในเช็คไปแล้ว แต่กว่าเจ้าหน้าที่จะตรวจเสร็จ กว่าจะส่งไปให้เพื่อขอคืน ตรงนี้เช็คใกล้หมดอายุแล้ว ไปถึงผู้ขอคืนก็หมดอายุพอดี อุตส่าห์ดีใจจะได้คืนแล้ว พอไปเข้าบัญชี มีแต่การจ่ายเงิน เช็คหมดอายุ เราก็เลยเปลี่ยนอีก

มีจุดเปลี่ยนหลายครั้งนะคะ ... สนใจต่อ ตามอ่านบันทึกต่อไปได้ค่ะ

รวมเรื่อง ภาคีจัดการความรู้ภาคราชการ plus กรมอนามัย Open House  

 

หมายเลขบันทึก: 126241เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2007 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณหมอนนท์คนขยันของครูอ้อย..... เพื่อนร่วมทาง

  • ครูอ้อยมาสวัสดีและจะตามมาอ่านอีกค่ะ
  • คุณหมอขยันจังเลยค่ะ...รวมบันทึกออสเตรเลียนะคะ  ครูอ้อยจะอ่าน อิอิ..ดูรูปภาพด้วยนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท