NKM III : สร้างแรงบันดาลใจ สู่มหกรรม KM เบาหวาน


อยากเห็นคนจัดไม่ใช่ สคส. แต่เป็นภาคีจัดแล้วเชิญ สคส.ไปดู

ช่วงสุดท้ายของงาน เรามาพร้อมกันที่ห้องประชุมใหญ่ เพื่อ AAR งานมหกรรมครั้งนี้ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ดำเนินรายการ โดยมีคุณเดชา ศิริภัทร จากมูลนิธิข้าวขวัญ ครูจำนง หนูนิล จาก กศน.นครศรีธรรมราช พท.ญ.วรรณทิมา เหรียญราชา จาก รพ.ค่ายจิรประวัติ แทนวิทยากรประจำบูธ น้องอ้อ วรรณา เลิศวิจิตรจรัส ในฐานะที่รับผิดชอบภาคราชการ และคุณธวัช หมัดเต๊ะ ซึ่งรับผิดชอบภาคเอกชน ร่วมเวทีด้วย

บนเวที

คุณเดชาเล่าว่าให้คนไปเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน ถามความเห็น พบว่าชาวบ้านมาประชุมได้น้อย ในห้องย่อยต่างๆ นั้น บางห้องคนแน่น บางห้องคนน้อย ทำอย่างไรจึงจะให้แต่ละห้องมีคนพอๆ กัน อาจารย์ประพนธ์จึงสรุปว่าชาวบ้านคงจะชอบโต๊ะจีนมากกว่าบุฟเฟต์

ครูจำนงเล่าเบื้องหลังการดำเนินการภายในก่อนที่จะมาร่วม NKM III ได้ ว่าทำอย่างไรจนจังหวัดและ กศน.ใหญ่เข้ามาร่วมด้วย และเห็นว่างานครั้งนี้ยิ่งใหญ่จริงๆ อาจารย์ประพนธ์บอกว่างานนี้เป็นเวทีทดสอบความโลภของคน บุฟเฟต์อาจมากไปสักนิด ไม่ได้ทำ KM แบบพอเพียง แต่เป็น KM แบบมากมาย

พท.ญ.วรรณทิมา บอกว่าตนไปเข้าห้องต่างๆ ไม่ได้ อยู่ที่บูธมีคำถามเยอะว่า KM ทำอย่างไร เริ่มอย่างไร ทำอย่างไรจึงเนียนในเนื้องาน มีคนขอเอกสารมาก มางานนี้ได้เพื่อน ได้กัลยาณมิตร สถานที่กว้างมากเลยเหมือนคนไปดูบูธน้อย ปีที่แล้วแคบแต่อบอุ่น อาจารย์ประพนธ์เห็นด้วยเรื่องการได้เพื่อน บางคนรู้จักกันในบล็อก เพิ่งมาเจอหน้าค่าตากันก็ในคราวนี้ ปีหน้าคงต้องคิดเรื่องสถานที่อีกที

น้องอ้อ เปรียบเทียบกับเมื่อ ๑-๒ ปีที่แล้วที่คนลงทะเบียนเป็นภาคราชการเยอะ จึงเตรียมห้องไว้มาก ปีนี้ราชการก็ลงทะเบียนเยอะอีก แต่ไปอยู่ห้องอื่นๆ เช่น เอกชน การศึกษา ประชาสังคม ฯลฯ วิทยากรห้องภาคราชการยังอยากไปเข้าห้องอื่นเลย ห้องที่ให้ทำกิจกรรมจะได้รับความสนใจมาก คนเข้าเยอะแล้วอยู่ตลอด ห้องที่ให้ทดลองทำ เช่น ห้องของกรมสุขภาพจิต ส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมอนามัยก็เข้ากันได้ดี อาจจะชวนกันไปจัดตลาดนัด “หนุ่มเกษตร สาวอนามัย” ต่อไปก็ได้

คุณธวัชบอกว่าบริษัทเอกชนได้พูดคุยกับชาวนา ได้คุยกับราชการ มีการให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กๆ ที่อยู่หน้างาน AAR จากคนที่เข้าร่วมกับภาคเอกชน พบว่าได้แรงบันดาลใจ ได้เทคนิคต่างๆ concept ใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน มีการบูรณาการเครื่องมือหลายตัว อาจารย์ประพนธ์สรุปได้ว่ามีการเรียนรู้ข้ามเครือข่าย

ช่วงที่สอง แต่ละคนบอกว่าอยากส่งต่ออะไรสำหรับปีหน้า คุณเดชาแสดงความคิดเห็นได้ประทับใจผู้ฟัง ได้อารมณ์สนุกๆ บอกว่าถ้าทำอะไรซ้ำ ๓ ครั้งแล้วจะยั่งยืน เห็นว่า NKM ดีขึ้นทุกครั้ง เพราะฉะนั้นยั่งยืนแน่นอน KM เราดีที่สุดในโลก เรารับมาแล้วทำได้ดีกว่าต้นฉบับ KM ของเราเอามาทำกับคนจน เอาไปใช้กับชาวนา บริษัทปูนซีเมนต์ไทยที่มียอดขายเป็นแสนล้านยังมาอ้อนวอนขอเรียนรู้จากชาวนา ข้อดีมากๆ คือ KM ประเทศไทยค่อยๆ เปลี่ยนจากภาคธุรกิจไปสู่ภาคสังคมมากขึ้น เข้าไปถึงจิตวิญญาณ ของฝรั่งเข้าไม่ถึงหรอก ชนบทจะมีบทบาทมากขึ้น

ครูจำนงบอกว่าก่อนมาคราวนี้ก็เตรียมการหลายรอบ แต่คราวหน้าจะมาด้วยความเข้มข้นยิ่งขึ้น จะขนสิ่งดีๆ มาเพียบ

พท.ญ.วรรณทิมา “อยากให้บางส่วนเปิดบ้าง ปิดบ้าง” คือให้คนเข้ามาได้เยอะขึ้น เพื่อคนจะได้เรียนรู้อย่างกว้างขวาง

อ้อพูดในฐานะตัวแทนคนทำงาน สิ่งที่อยากส่งต่อคืออยากเห็นคนจัดไม่ใช่ สคส. แต่เป็นภาคีจัดแล้วเชิญ สคส.ไปดู คำพูดของอ้อโดนใจอย่างจัง จนไม่ทันฟังว่าคุณธวัชพูดอะไรบ้าง

 

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กล่าวปิดท้ายว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ๒ วันนี้เป็นผลจากการดำเนินการมายาวนาน อาจจะหลายร้อยปี KM กำลังเดินทางจากที่ไม่มีระบบ ไม่รู้ตัว ไปสู่มีระบบ รู้ตัว จนกระทั่งไร้กระบวนท่า ทำแบบไม่รู้ตัว แต่คนละระดับกับจุดเริ่มต้น ถ้าการจัดมหกรรมเป็นแบบที่อ้ออยากได้ สคส.ก็ชอบใจ อาจจะเกิดขึ้นหลายภาคหลายกระทรวง 

KM ไม่ว่าที่ไหน เป้าหมายใหญ่คือการเปลี่ยนวัฒนธรรม เปลี่ยนจากการเอาความรู้จากคนอื่นมาใช้แบบไม่คิด เป็นเอามาปรับใช้ ทำเป็นกลุ่ม แล้วสร้างความรู้ใช้เอง กระบวนการ KM จะเป็น KM จริงต้องทำเป็นอัตโนมัติ สิ่งที่แสดงถึงการเปลี่ยนวัฒนธรรมคือพูดถึงตัวเราน้อย แต่ “พวกเรา” เยอะ มีความเป็นกลุ่มเป็นทีม เปลี่ยนจากงานคนอื่นฉันไม่เกี่ยว เป็น multifunction เข้าใจงานคนอื่น ทำแทนได้

   

KM คือเรียนจากภายนอกและเรียนจากภายในตัวเอง ฝึกพูดออกมาจากใจ ฟังคนอื่นด้วยใจ บางคนติดทฤษฎีแล้วไม่ไปไหน ในกระบวนการ KM ต้องประณีต ละเอียด ประณีตเป็นทั้ง means และ end ของ KM ที่ลึกที่สุดคือความละเอียดประณีตทางใจ เป็นพื้นฐานให้เกิด intuition การทำ KM ให้จิตที่ละเอียดอ่อนได้ ให้จิตที่ระลึกรู้ตัวอยู่เสมอได้ จะเข้าใจได้ดี ต้องปฏิบัติมาแล้ว

สิ่งต่างๆ ที่ได้ฟังมาจะไปคิดต่อแล้วหารือกันต่อสำหรับวันที่ ๑-๒ ธันวาคม ปีหน้า

จบงานด้วยแรงบันดาลใจสำหรับเครือข่าย KM เบาหวาน ฟัง AAR ช่วงแรกๆ ดิฉันแค่คิดว่าปีหน้าห้องของเครือข่ายเรา (ถ้ามี) จะจัดเป็นกิจกรรม ให้ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้ผ่านการทดลองปฏิบัติ แต่พอฟังอ้อรอบหลังเกิดคิดการใหญ่ว่าปีหน้าเราจะจัด “มหกรรม KM เบาหวาน” ดิฉันชวนคุณหมอนิพัธ คุณหมอสกาวเดือน และ ภก.เอนก นั่งรถไปด้วยกัน เราคุยกันตลอดทางว่าจะทำอะไรบ้าง คุณหมอนิพัธเสนอว่าเราน่าจะจัดงานในราวเดือนกรกฎาคม ดิฉันคิดจะใช้โอกาสนี้ออกหนังสือ “ร้อยเรื่องเล่าเบาหวาน” เสียด้วยเลย

เย็นวันนั้นดิฉันแวะส่งคุณหมอสกาวเดือนและ ภก.เอนกที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พาคุณหมอนิพัธไปส่งบ้านคุณแม่ที่ซอยสามัคคี และพาตัวเองไปเยี่ยมแม่ที่บ้านพี่สาวแถวถนนงามวงศ์วาน ใจครุ่นคิดถึงแต่งาน “มหกรรม KM เบาหวาน” ต่ออีกหลายวัน งานนี้ต้องขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจาก สคส.แน่นอน

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 65706เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2006 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
ตามมาขอบคุณอาจารย์วัลลา ครับ ที่กรุณาให้คำแนะนำการแทรกรูปใน Blog ในการอบรมการเขียน Blog เมื่อวันที่ ๑ ธ.ค. ที่ผ่านมา ตอนนี้ผมสามารถดำเนินการได้แล้วด้วยความกรุณาของอาจารย์ครับ
ยินดีที่ได้รู้จักอาจารย์ดิศกุลค่ะ และดีใจที่อาจารย์ใส่รูปในบล็อกได้แล้ว

ขอบคุณอาจารย์วัลลาที่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้อาจารย์ดิศกุลค่ะ

ปล. หนังสือเรื่องเบาหวานวางตลาดเมื่อไรอย่าลืมแจ้งข่าวนะค่ะ ดิฉันจะซื้อไว้ให้คุณพ่ออ่านค่ะ แล้วค่อยไปขอลายเซ็นต์จากอาจารย์เมื่อมีโอกาสค่ะ

ชอบจังเลยครับอาจารย์ วันก่อนได้พบอาจารย์หน่อยเดียวเอง

ขอบคุณอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง สำหรับตัวอย่างบันทึกดีๆเช่นนี้ รู้สึกว่าน่าจะกอดอาจารย์ให้นานๆกว่าที่ทำไปแล้ว จะได้ซึมซับความเป็น"ผู้ให้"มาจากอาจารย์ให้มากกว่านี้ค่ะ

ซาบซึ้งเลยว่า คนที่คิดแต่จะให้นั้น ช่างมีราศรีที่อิ่มเอิบ ทำงานได้มากมายอย่างดูมีความสุข แล้วยังมีพลังคิดจะทำเรื่องดีๆต่อยอดต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ เชื่อมั่นว่างาน “มหกรรม KM เบาหวาน” จะต้องเกิดและยิ่งใหญ่แน่นอนค่ะ

อาจารย์มา BAR กับเราสักครั้งในวันพุธเช้า วันใดวันหนึ่งดีไหมครับ     นัดแนะกับอุได้เลยนะครับ

วิจารณ์

เรียนอาจารย์วิจารณ์

ขออนญาตนัดผ่านบล็อกเลยนะคะ ไม่ทราบว่าถ้าเป็นวันพุธที่ ๒๐ ธันวาคม ทาง สคส.จะสะดวกไหมคะ

เรียน อาจารย์วัลลา ค่ะ....

        เบื้องต้น  อุ ก็ขออนุญาตนัดแนะผ่านบล็อกก่อนนะคะ....แล้วจะโทรศัพท์ติดต่อประสานงานอีกครั้งคะ....... วัน พุธ ที่ ๒๐ ธ.ค.๔๙ สคส. สะดวกคะ  เพราะเราจะมี weekly meeting ทุกวันพุธ เวลา ๐๘.๓๐-๑๒.๐๐ น. ...สมาชิก สคส. ทุกคนอยู่กันครบคะ......

เรียน อ.วัลลา 

หนูเป็นนศ.ป.เอก คณะพยาบาลศาสตร์ มข. ค่ะ และหนูได้ติดตามงานของอาจารย์มาบ้าง แต่พึ่งจะมีโอกาสได้เข้ามาศึกษาความรู้จาก web นี้ หนูทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาชุดข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานในภาคประชาชน ซึ่งผลการวิจัยที่ได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ในการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานและคนในชุมชนชนบท (อีสาน) ซึ่งหนูคงจะต้องศึกษาและขอรับคำชี้แนะจากท่านอาจารย์  ในส่วนที่เกี่ยวกับงานมหกรรม KM เบาหวาน เมื่อหนูได้อ่านเจอแล้ว รู้สึกว่าน่าสนใจและน่าติดตามมาก หากเป็นไปได้ หนูมีความปรารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสช่วยงานของอาจารย์ ซึ่งจะทำให้หนูมีโอกาสได้ช่วยเหลือผู้ป่วยเบาหวานและประชาชนในประเทศ

ขอบพระคุณค่ะ  ปิยะธิดา

สวัสดีครับ
    แม้จะผ่านมานาน  แต่บันทึกนี้ให้คุณค่าต่อการอ่าน ได้ความคิด ได้แนวทางไว้ปรับใช้ได้อย่างดียิ่ง
    ขอบพระคุณอาจารย์ และทุกท่านที่ช่วยกันต่อเติมครับ

ขอบคุณอาจารย์ดิศกุลที่แวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท