BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ครู


ครู

ในโอกาสวันครู ก็จะถือโอกาสนำคำว่า ครู มาเล่าเล่นๆ ...ซึ่งพวกเราถูกบอกกันต่อๆ มาว่า ครู มาจากภาษาบาลีว่า ครุ แปลว่า หนัก หมายถึง ผู้เป็นครูจะต้องหนักแน่น หรือ ความเป็นครูเป็นงานหนัก มิใช่สิ่งที่ใครทำได้ง่ายๆ ...ประมาณนี้

หลายปีก่อนเคยอ่านหนังสือซึ่งถอดเทปคำบรรยายของอาจารย์พุทธทาส ซึ่งท่านกล่าวต้อนรับคณะครูที่มาเยี่ยมส่วนโมกข์ ท่านก็อธิบายไว้หลายนัย เช่น หนัก ผู้นำทางวิญญาณ ...แต่มีคำหนึ่งที่กระทั้งปัจจุบัน ผู้เขียนก็ยังไม่เคยเจอว่าท่านเอามาจากไหน คือท่านบอกว่า ครู แปลว่า ผู้เปิดประตู หมายถึง เปิดประตูให้ศิษย์เข้ามาเห็นสิ่งต่างๆภายในห้อง หรือเปิดประตูเพื่อให้ศิษย์ออกไปสู่โลกกว้าง ..ประมาณนี้

 คำว่า ครุ มาจากรากศัพท์ว่า คร แปลว่า อุคฺคเม (ไปสูง) หมายถึง ผู้อยู่ที่สูง เป็นผู้ควรแก่การเคารพบูชา ผู้อยู่เหนือเรา หรือผู้ที่มีอิทธิพลครอบงำความคิดพื้นฐานของเราไว้ได้ ...ทำนองนี้

ครุ ในความหมายว่า ผู้ควรแก่การเชิดชูไว้ที่สูง คัมภีร์ท่านอธิบายว่ามี อาจารย์ มารดา บิดา เป็นต้น ...

ครุ นอกจากความหมายเบื้องต้นแล้ว ยังแปลว่า ปีกนก เพราะเป็นอวัยวะที่พานกไปสู่ที่สูงได้

ครุ เมื่อเป็นคำทั่วไป ก็มีความหมาย ๓ อย่าง คือ ความมีมาก (มหัตตะ) มั่นคง (ทุชชระ) ของหนัก (อลหุกะ)

หมายเหตุ

คำสอนที่โยงถึง ครู ในพระพุทธศาสนามีอยู่มากมาย เช่น ในเรื่องทิศทั้ง ๖ ...ครู เป็นทิศเบื้องขวา ขณะที่ เพื่อน เป็นทิศเบื้องซ้าย ..ตามนัยนี้ ผู้เขียนมาคิดว่า คนทั่วไปให้ความสำคัญมือขวามากกว่ามือซ้ายฉันใด ในการดำเนินชีวิต เราก็ควรเชื่อครูมากกว่าเชื่อเพื่อนฉันนั้น (ยกเว้น ผู้เขียนเป็นต้น ถนัดซ้าย นอกประเด็นนี้ 5 5 5)

ปุพฺพาจริยาติ มาตาปิตูนเมตํ อธิวจนํ คำว่า บูรพาจารย์เป็นชื่อเรียกมารดาและบิดา ...นัยนี้ พระพุทธเจ้ายกย่องว่า ครูคนแรกของคนเราก็คือพ่อแม่...

 

คำสำคัญ (Tags): #ครู
หมายเลขบันทึก: 72819เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2007 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
นมัสการครับ หลวงพี่

่อ่านแล้ว สงสัยว่า ในภาษาบาลี
คำว่า ครู กับ อาจารย์ ต่างกันหรือไม่ครับ
ขนาดครู ยังมาจาก ครุ คร....
แล้ว อาจารย์ล่ะครับ มาจากรากศัพท์คำใด

นายบอน

อาจารย์ บาลีว่า อาจริยะ มาจาก อา เป็นอุปสรรค นำหน้าและรากศัพท์ว่า จร...ส่วน อิยะ เป็นปัจจัยเดิมข้างท้าย (อา +จร+อิยะ)

อา คือ ทั่วไป โดยยิ่ง

จร คือ เที่ยวไป ประพฤติ

อิยะ ....ทำให้รากศัพท์เป็นคำนาม ปรกติจะต้องมีปัจจัยเติมข้างท้ายเสมอ เพียงแต่บางครั้ง เป็น อะ ทำให้เราสังเกตไม่เห็นในภาษาไทยนะ นายบอน

อา+จระ+ อิยะ = อาจริยะ (อาจารย์) ก็อาจแปลได้ว่า ผู้ทำให้ศิษย์ประพฤติได้ดียิ่งขึ้นได้ ผู้ทำให้ศิษย์ท่องเที่ยวไปได้ทุกสถานที่โดยไม่เก้อเขิน ...ประมาณนี้แหละ... แต่สำนวนไทยเค้ารวมความแล้วนิยมแปลว่า  ผู้ฝึกมารยาท (ให้ลูกศิษย์) นั้นเอง...

ครู เน้น เป็นที่เคารพของลูกศิษย์.. อาจารย์ เน้น ผู้ฝึกหัดมารยาท...

ส่วน ผู้สอน บาลีใช้ว่า สัตถา (สันสกฤตว่า ศาสดา) ...ยังมีอีกหลายศัพท์ แต่แค่นี้ก็น่าจะพอคลายสงสัยได้นะ นายบอน

เจริญพร

กราบนมัสการครับหลวงพี่
  กระจ่างแจ้งมากครับ อาจารย์ - อาจริยะ
ได้ความกระจ่างมากขึ้นครับ
กราบนมัสการด้วยความเคารพ

กราบนมัสการค่ะ

ได้ความรู้ และได้แง่คิดเตือนสติในการทำงานเป็นอย่างดีค่ะ

ขออภัยค่ะ อาจจะทำให้ท่านอื่นๆสงสัยว่าได้แง่คิดในการทำงานอย่างไร

เนื่องจากหนิงเป็นอาจารย์ค่ะ

จึงคิดว่าความรู้นี้สามารถใช้เตือนสติตัวเองให้ทำหน้าที่ให้ดีงามและเหมาะสมได้เป็นอย่างดี

ขออนุญาตนำเนื้อหาไปเผยแพร่ต่อให้เพื่อนร่วมงานได้ไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท