ลุงประทิน ห้อยมาลา (2/2)


จะได้ข้าวเยอะหรือน้อยไม่ผมสนใจแล้ว สิ่งที่ผมสนใจก็คือ ต้นทุนที่ถูก และปลอดภัย
"สุดท้ายได้มาเรียนรู้เรื่องการคัดพันธุ์ข้าว การผสมพันธุ์ข้าว ซึ่งผมพอทำได้ แม้ยังไม่เก่งยังไม่คล่อง  แต่รู้ว่าข้าวพันธุ์ดีเป็นอย่างไร  ข้าวเมล็ดงอไม่เอา เมล็ดหักก็ไม่เอา จมูกใหญ่ก็ไม่เอา เมล็ดยาวเกินและสั้นไปก็ไม่เอา การทดลองเรื่องนี้ต้องทดลองถึง ๓ ครั้ง พันธุ์จึงจะนิ่ง คงจะประมาณ ๒ ปี”

ทำปุ๋ยหมักชีวภาพสำหรับบำรุงดินในนาข้าว
"เรื่องการผสมพันธุ์ข้าว ผมได้ผสมพันธุ์มาแล้ว ๒ ครั้ง ในครั้งแรกยังไม่เข้าใจ จนข้าวออกรวงมาแล้ว ไม่ได้เป็นเมล็ดเลย  เท่าที่สังเกต...ทั้งรวงก็ไม่เหมือนกัน  ตั้งแต่ปลายรวงจนมาถึงโคนรวงก็ไม่ได้ออกพร้อมกัน และไม่สามารถผสมในวันเดียวให้เสร็จ จะทยอยกันลงมาเรื่อยๆ มันจะผสมกันไป แล้วที่ออกใหม่จะมีเกสรขึ้นมา หากสังเกตดูในเวลากลางวัน จะสามารถเห็นเนื้อในเมล็ดเลย ดูเมล็ดใดที่จะบานวันพรุ่งนี้  รอเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. ผมนั่งรอ...จับตารอ เพื่อผสม แต่รู้ไหมว่าในครั้งแรกนั้นทำผิดไป จึงไม่ได้ผล  มาทำได้ในครั้งที่ ๒  ผสมติดเยอะมาก”
“ในเมื่อผมเป็นชาวนา ผมอยากได้ข้าวในฝัน เป็นข้าวที่กินอร่อย  เป็นข้าวที่กินแล้วนุ่มและหอม เมื่อผสมพันธุ์ข้าวเป็นแล้ว ข้าวที่กลายพันธุ์ก็ไม่เอา จะผสมให้พันธุ์นิ่งให้ได้”

ทำน้ำหมักและฮอร์โมนไว้เป็นจำนวนมาก
“นักเรียนชาวนาที่เรียนในโรงเรียนชาวนาได้เรียนรู้มาแล้ว มีความพร้อมเหมือนกันหมด เพราะทุกคนเคยใช้แล้วกับมือ...ใช้เป็น ทุกคนทำเป็น จึงมั่นใจ ไม่ต้องพูดถึงสารเคมีแล้วว่าจะใช้ยาตัวไหนดี แล้วเรื่องที่ว่าจะได้ข้าวเยอะหรือน้อยไม่ผมสนใจแล้ว สิ่งที่ผมสนใจก็คือ ต้นทุนที่ถูก และปลอดภัย
ผมเอาความรู้ที่ได้เรียนรู้มาใช้กับนาและชีวิตของตัวเอง ทำให้ครอบครัวมีความสุข เพราะไม่มีสารเคมีแล้ว นี่แหละคือความฝันที่ผมต้องการ นักเรียนชาวนาทุกคนคิดอย่างนี้ ต้องการให้ครอบครัวมีความสุข”
"มีหลายคนมองผม ว่าผมได้ข้าวน้อย แต่ผมลงทุนไม่มาก  ...ไม่เคยเสียใจหรอกนะ เพราะดินในนาเริ่มจะดีขึ้นแล้ว ผมจะได้ข้าวเพิ่มขึ้นทีหลัง ส่วนคนอื่นที่เขาได้เยอะ ผมมั่นใจว่าวันหน้าผมจะได้เยอะกว่านี้" 
"ผมชักชวนคนอื่นเขา ว่าต้นทุนถูกนะ  ตัวอย่างมีที่ผม ผมลงทุนแค่พันเดียวต่อไร่ และผมไม่ต้องพึ่งแหล่งทุน  ผมเองก็มีหนี้อยู่ยืมจากแหล่งทุน แต่หนี้นั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องทำนา"
"ตอนนี้ ทำนา...ผมต้องซื้อน้ำมันใส่รถไถ หมดค่าน้ำมันประมาณ ๑๐๐ ลิตร ต่อ ๑๕ ไร่  เกี่ยวข้าวก็จ้างเหมารวมได้ไร่ละ ๕๐๐ บาท  ค่าใช้จ่ายตรงนี้ต้องยอมรับ แต่อย่างอื่นผมทำได้เองหมด ไม่ต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาแล้ว”
"ผมมีนา ๑๕ ไร่ ปลูกข้าวได้ ๑๒ เกวียน เก็บไว้ ๑ เกวียน”
"ถ้าปุ๋ยเคมี ผมเคยได้ไร่ละ ๙๐ – ๑๐๐ ถัง หรือ ๑ เกวียน ใส่ปุ๋ยไร่ละ ๑ ลูก ส่วนยาฆ่าแมลง รุ่นหนึ่ง ๓ – ๔ ครั้ง ค่ายาก็ ๓๐๐ – ๔๐๐ บาท ฮอร์โมนขวด ๑๐๐ บาท”
“ผมทำนาแบบชีวภาพมาแล้ว ๓ – ๔ รุ่นแล้ว ๒ ปี ดินนุ่มทั้งแปลง มีแหนแดงขึ้นด้วย ผมสามารถปรับสภาพดินฟื้นแล้วนะ...แม่ธรณีฟื้น”
“นักเรียนชาวนา อย่างเช่น คุณระเบียบ ทำนานับร้อยไร่ ช่วงที่ใช้สารเคมีนะ ปีหนึ่งๆ หมดหลายหมื่น ตอนนี้เขาปรับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แม้ว่าจะปรับไม่ได้หมด แต่สามารถลดต้นทุนได้เกือบครึ่งแล้ว เขาทำได้เพราะเขามองเห็น เขาอยากได้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับทั้งหมดเลย แต่ปุ๋ยมีไม่พอ จึงจำยอมใช้ปุ๋ยเคมีปนไปก่อน แต่ข้าวที่เขากินนั้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์หมด"
"ผมรวมกลุ่มนักเรียนชาวนาแล้วอยากจะทำข้าวปลอดสารพิษ มีโรงสีเล็กเพื่อสีข้าวกล้องขาย จะทำให้กลุ่มมีรายได้สูงขึ้น จะทำกันเองนะ”
“กลุ่มนักเรียนชาวนาที่เรียนกันมาสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้คนใหม่ได้ และไม่ปิดบังวิชา เพราะต้องการช่วยเหลือคนอื่น”
"พวกผมเห็นผู้หลักผู้ใหญ่มาเยี่ยมก็รู้สึกน้ำตาจะไหล เพราะดีใจ
อ้อม สคส.
ที่มา : รายงานความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวฯ (เมษายน 2550)
อาจารย์พรหม (1/2) อาจารย์พรหม (2/2) ลุงสุข ลุงประทิน (1/2)
หมายเลขบันทึก: 97713เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 08:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เป็นเรื่องเล่าที่ดีมากเลยครับ   หากมีโอกาสได้ลงพื้นที่กับเกษตรกรที่ทำนา ขอนำไปเล่าต่อนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ
ยินดีค่ะ  และอยากเห็นเรื่องเล่าจากเกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร ที่คล้ายๆ แบบนี้หรือดีกว่านี้มาแลกเปลี่ยนกันบ้างค่ะ จะส่งกลับไปสุพรรณบุรีด้วย ว่าที่กำแพงเพชรเขาทำ เขาคิดกันอย่างไร
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท