เพลงพื้นบ้าน จากการปฏิบัติจริง 5 (เพลงกระบอก)


การแต่งเนื้อแต่งตัว จะต้องทำให้ดูน่าสงสาร

เพลงพื้นบ้าน

จากการปฏิบัติจริง

(ตอนที่ 5)  เพลงกระบอก

                เพลงกระบอก หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เพลงขอทาน ที่เรียกว่าเพลงขอทานก็เพราะว่าผู้ร้องเพลงใส่เสื้อผ้าเก่า ๆ ขาด ๆ แต่งตัวมอมแมม (ปลอมตัวไป) แถมใส่แว่นตาแบบคนตาบอดอีก เพื่อให้ชาวบ้านในละแวกที่ไปขอทานจำไม่ได้ว่าเป็นใคร  เป็นการแสดงตัวว่า เป็นคนจนเพื่อที่จะให้ดูเหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย ผู้ร้องเพลงขอทานจะร้องไปเดินไป ถ้าจะหยุดก็เพียงรอรับสิ่งของที่ผู้คนนำมาให้ทานและที่สำคัญ ถ้าผู้ร้องเป็นศิลปินเพลงด้านนี้จริง ๆ ผู้ชมจะได้รับความสุขในการได้ดูได้ฟังตลอดการร้องเพราะผู้ร้องจะร้องไป ตีกลองตีฉิ่งไปด้วย ทำให้เกิดความสนุกสนานมาก ส่วนคำว่า เพลงกระบอก ด้วยเหตุที่คนสมัยก่อนไม่มีเครื่องดนตรี ก็นำเอากระบอกไม้ไผ่ 2 กระบอกมากระทุ้งหรือกระแทกกันให้เกิดเป็นเสียงจังหวะขึ้นมา เพลงขอทานใช้จังหวะเร็ว ท่วงทำนองที่เคยได้ยินน้าชาย และพวกของน้าเขาร้องเมื่อตอนไปขอข้าวกระยาสารท มักจะเอ่ยถึงความยากจนเข็ญใจไม่มีจะกิน มาขอข้าวขอน้ำ ขอเงิน เอาไปซื้ออาหารพอปะทังชีวิตไปวัน ๆ และบางที่เขาก็ร้องทำนองเพลงอื่น ๆ ผสมผสานกันเข้าไปด้วยก็มีส่วนการร้องเพลงขอทานของนักเพลงระดับครูเพลงที่เคยได้ยินมาคือ พ่อไสว วงษ์งาม เสียงร้องและลีลาการร้องของท่านน่าฟังมาก ผมเคยได้ฟังโดยดูจากการแสดงในงาน เมื่อตอนที่ผมยังเด็กมาก ส่วนเพลงของทานที่ร้องโดยครูหวังเต๊ะ (ลำตัดหวังเต๊ะ) ครั้งแรกผมไปดูท่านแสดงที่วัดอัปสรสวรรค์ ภาษีเจริญ เมื่อตอนผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ที่ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ เมื่อใดที่ครูหวังแกจะร้องเพลงขอทาน อุปกรณ์ของวณิพกจะต้องนำเอามาแต่งให้ครบ มีแว่นตา มีหมวกเก่าๆ ปิดหน้า และสำนวนการพูดนำเข้าสู่บทเพลงของครูแกสุดยอด เรียกเสียงฮาได้ตลอดตับที่พูด ขนาดว่ายังไม่ได้ขึ้นเนื้อเพลงเลยก็เรียกเสียงฮาได้อย่างลืมตัว อาศัยว่าผม ได้ยินเพลงขอทานมานานมากตั้งแต่ยังเด็ก ๆ และก็ร้องตามน้าชาย รวมทั้งนำเอาเพลงขอทานไปร้องเวลามีงานเชียร์รำวงด้วย ผมฝึกฝนตนเองในการร้องเพลงขอทานมาโดยตลอด

         จนมาเมื่อมีการรณรงค์ให้โรงเรียนมัธยม สอนนักเรียนโดยวิธีการสืบค้น โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นโรงเรียนนำร่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ของเขตการศึกษา 5 และครูทั้งโรงเรียนจะต้องเข้ารับการอบรม ในปี พ.ศ. 2545 ช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม เขตการศึกษา 5 เชิญวิทยากร และโรงเรียนต้นแบบภูมิปัญญามาแนะนำ (เป็นวิทยากร) ก่อนที่วิทยากรท่านหนึ่งจะจบการบรรยาย ท่านได้ขึ้นต้นเพลงขอทานเอาไว้ที่หน้าไมโครโฟน (ผมฟังดูว่าใช่นะ) จนท่านบรรยายจบ ท่านบอกว่า เมื่อสักครูนี้ได้ร้องเพลงกระบอก แต่จำเนื้อและทำนองได้ไม่หมด ชักลืมไปบ้างในฐานะเจ้าของสถานที่ และศึกษานิเทศก์ เขตการศึกษา 5 ก็เชิญผมออกไปร้องและกล่าวคำขอบคุณท่านวิทยากร ผมเลยร้องเพลงกระบอกโดยการด้นสด ๆ เป็นการขอบคุณวิทยากรไปด้วยเลย เนื่องจากว่าผมไม่ได้ตั้งตัวมาก่อนดังนั้นการร้องเพลงกระบอกในวันนั้นจึงร้องเพียง 5-7 นาที เพียงแค่ขอบคุณและอวยพรให้ท่านวิทยากร

         แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 ผมได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากรายกระจกหกด้านของคุณสุชาดี มณีวงศ์ จะมาขอพบผมและบันทึกเทปโทรทัศน์เพลงกระบอก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2547 ในวันนั้นผมสวมชุดม่อฮ่อม ตอนแรกคาดผ้าขาวม้าด้วย แต่ผู้ควบคุมการผลิตให้เอาออก และในการร้องเป็นการร้องแบบเดิมจึงต้องรักษาบทเพลงเก่า รวมทั้งทำนองแบบเก่า แต่ก็นั่งร้องนะมิได้เดินร้องแบบเก่า เพราะเป็นการบันทึกวิดีโอ ในวันนั้นใช้เวลาในการบันทึกเทปประมาณ 2 ชั่วโมง โดยผมร้อง เพลงกระบอก เพลงอีแซว และเพลงฉ่อย จนกระทั่งต้นปี 2548 จึงได้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง 7  สำหรับเพลงขอทานมีความยากที่จะต้องเยื้องรับบทร้องในวรรคลงเพลงให้ได้และร้องต่อจากเสียงเอื้อนด้วยนับว่าเป็นทำนองเพลงที่ยากตั้งแต่ตอนขึ้นต้นเกริ่นเพลงเลยก็ว่าได้ แต่สำหรับผม ชอบเพลงประเภทนี้มากครับ  เนื้อร้องเพลงขอทาน มีดังนี้ครับ

บทร้องเพลงขอทาน

(ร้องเกริ่น)   เอ่อ เออ เอิ้ง เง้อ....  เออ เอิ้ง เงอ...   เอ่อ เอย....

                พ่อแม่ท่านเข้าขา       ขอทานมาถึงแล้ว             

               ขอดื่มน้ำสักแก้ว         แว่วเสียงว่า

                เพราะยากจนเข็ญใจ  จึงได้ดั้นด้น                  

                ไม่กลัวเสียงใครบ่น    แล้วก็คนว่า

                หากลูกมีเงินทอง       ว่าก่ายกองเหลือกิน           

               คงไม่มาร้องให้ติฉิน   หรือว่านินทา

                เพียงข้าวสักคำ          เพียงน้ำสักจอก                    

                ฉันมาส่งเรียกบอก     อยู่ด้านหน้า

                ว่าแม่คุณ ๆ                 แม่ใจบุญสูนทาน                         

                หรือว่าจะให้ข้าวสาร  ใส่ย่ามผ้า

                ขอขอบพระคุณ         ถ้าการุนคนยาก                   

                ขอแป้งข้าวหมาก       ขอเงินตรา

                มาเลย มาเลย  เอิ้ง เงอ เอิง เงอ.. ชะ เออ เอ่อ เอิ้ง เง้อ          

                อย่ามัวทำเฉยชา         มาเลยมาเลย  แม่อย่ามัวทำเฉย                      

               ให้ส่งเสียงร้องว่า   เอ๊ย...  จนขาดใจ 

   เอิ้ง เงอ.... เอ่อ เอ่อ เอ้อ...   เอิง เง้ย......

  (ชำเลือง  มณีวงษ์ / เพลงกระบอก 2550)

หมายเลขบันทึก: 97709เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สิบนิ้วประนมชื่นชมท่านพี่ เผยแพร่ผลงานเพลงพื้นบ้านดีดี...ดีเสียยิ่ง..นะในบลอก...นี้เอย
  • เอิ๊ง..เงอ...เออ...เอ่อ..เอ๊อ..เอิง...เงย.
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท