kmของชาวเทคนิคพิจิตร


เชิญแสดงความคิดเห็นได้อย่างหลากหลาย..........คร๊าบ..........เจ้านาย
ดีใจจังที่เข้าใจกระบวนการkmเพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบยั่งยืนแล้ว และขอขอบคุณศูนย์ฯภาคเหนือ อศจ.น่าน ที่กรุณาอำนวยความสะดวกทุกๆอย่างตลอดระยะเวลาการอบรม(6-9ธ.ค.2548) มั่นใจว่าดำเนินงานkmให้กับ อศจ. พิจิตร ได้แน่นอนครับ ...............ธานินทร  บุญยะกาพิมพ์ ครู(คศ.3) วท.พจ.
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9304เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2005 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
ธานินทร บุญยะกาพิมพ์

ขอเชิญชวนทุกท่านแสดงความคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับknowledge management ได้ตามสบายครับ โดยเฉพาะการจัดการความรู้ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน เพื่อที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ผ่านมาในบล็อกนี้ในการช่วยเหลือประชาชนไทยที่ยังมีความยากจนและต้องการหนีพ้นจากความยากจนนั้นด้วยวิธีการที่ยั่งยืน

ธานินทร บุญยะกาพิมพ์

อศจ.พิจิตร คงจะเริ่มต้นการดำเนินการkmเพื่อแก้ปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน ดังนี้ครับ

1.  รายงานผลการอบรมkmที่น่านให้ผู้บริหาร อศจ. ได้รับทราบ

2.  ขยายผลเท่าที่ทำได้

3.  สำรวจข้อมูลเดิมที่อศจ. มีอยู่ในมือ

4.  ประสาน/จัดหาภาคีในการดำเนินงานภาคสนาม

5.  จัดเวทีชาวบ้าน(ดำเนินการตามแบบของkm)

6.  นำผลที่ได้มาจัดทำโครงการ(ตามใจชาวบ้านนะคร๊าบ ไม่ตามใจเราแล้วครับเจ้านาย)

7.  ดำเนินการตามโครงการ(จัดเวทีชาวบ้านเป็นระยะๆ เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการมีประสิทธิภาพ และตรงความต้องการของชาวบ้านที่ยากจน)

.......ไม่ทราบว่าเท่านี้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดีได้ป่าวครับ........

น่าจะประสานงานกับเครืออข่ายปราชย์ชาวบ้าน จ. พิจิตร ด้วยครับ    ติดต่อที่คุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ๐๙ ๙๖๑ ๑๒๐๔   ท่านจะได้ภาคีร่วมงานที่เข้มแข็งที่สุดในประเทศไทย

วิจารณ์

ธานินทร บุญยะกาพิมพ์
ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์วิจารณ์เป็นอย่างสูงยิ่งครับที่ท่านกรุณาเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ นับว่าเป็นเกียรติและเป็นมงคลแก่พวกเราชาว อศจ. พิจิตร ที่ปรมาจารย์แห่ง km เข้ามาให้ความเห็นพวกเรา................ดีใจจังครับ
ประธานวิทย์ ยูวะเวส
เรียนแล้วต้องรู้ ถ้าอยากรู้ก็ต้องเรียน
                                                                                                                                                   “สังคมแห่งการเรียนรู้”  “โลกแห่งการเรียนรู้”   ข้อความทั้งสองนี้ นับว่าเป็นข้อความที่นิยมกล่าวถึงกันอย่างยิ่งในสังคมโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมของคนไทยในยุคโลกาภิวัฒน์  เจตนาของคำกล่าวทั้งสองนี้ ก็เพื่อที่จะต้องการสื่อ หรือต้องการบอกให้รู้ว่า ต่อไปนี้คนไทยทุกคนจะต้องรู้จักแสวงหาความรู้ให้มากขึ้น เพราะความรู้ตามนัยที่กล่าวถึงนั้น มีอยู่มากมาย รอบ ๆ ตัวเรา รอบ ๆ บ้านเรา  รอบ ๆ หมู่บ้านเรา รอบ ๆ ที่ทำงานของเรา หรืออาจจะกล่าวได้ว่า มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง
                เมื่อความรู้มีอยู่ทุกหนแห่งแล้ว คนไทยทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหา หรือค้นหาความรู้เหล่านั้นแล้วนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมีคำกล่าวในแวดวงการศึกษาว่า คนไทยในยุคปฏิรูปการศึกษา จะต้องมีลักษณะเด่น 3 อย่างคือ เก่ง ดี มีความสุข  นั่นหมายความว่าคนไทยทุกคนที่อยู่ในโลกแห่งการเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้แล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาจะต้อง เป็นคนเก่ง เป็นคนดี และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
                ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะไปถึงลักษณะเด่นทั้งสามที่ว่านั้นให้ได้?  ก็คงจะต้องย้อนไปที่
คำว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้”  “โลกแห่งการเรียนรู้” ทั้งสองคำนี้ มีสิ่งที่เหมือนกันหรือซ้ำกันอยู่คือคำว่า เรียนรู้ ก็คงจะต้องถามอีกว่า เรียนรู้คืออะไร ทำอย่างไรจึงจะเกิดเรียนรู้ และเมื่อเรียนรู้แล้วจะได้อะไร ซึ่งคำถามที่ว่า “จะได้อะไร” เป็นคำถามยอดฮิตในสังคมไทย
                ถ้าศึกษาในตำราทางการศึกษาที่มีรากเหง้าจากต่างประเทศ ก็จะอธิบายเหมือน ๆ กัน และที่สำคัญคือ เมื่อเรียนรู้แล้วจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย ด้านทักษะพิสัย และด้านจิตพิสัย อ่านแล้วก็ต้องแปลความกันอีกยกใหญ่ หรืออาจจะเกิดความเหนื่อยอกเหนื่อยใจจนไม่อยากจะเรียนรู้แล้ว
                ผู้เขียนขออธิบายง่ายๆ ว่า การเรียนรู้ คือ การเรียนแล้วรู้ ท่านผู้อ่านอย่าด่วนสรุปว่าคำตอบนี้
ช่างกำปั้นทุบดินเสียเหลือเกิน สิ่งที่ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นในที่นี้ คือเมื่อคนเราได้เรียนแล้ว ก็ควรจะต้องรู้ในสิ่งที่เรียน นั่นคือเจตนาของผู้เขียน  แล้วท่านคงถามต่อว่า แล้วที่รู้นั่นคืออะไร?
                ในฐานะที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ในด้านการจัดการอาชีวศึกษามาตลอดชั่วชีวิต ผู้เขียนมีความเห็นว่า เมื่อคนเราเรียนแล้วต้องรู้ ซึ่งหมายถึงจดจำและเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ หลังจากนั้นจะต้องนำสิ่งที่รู้ไปจัดการด้วยตนเองให้ได้ คำว่าจัดการในความหมายของผู้เขียนคือ นำความรู้นั้นไปสร้างคุณค่า
ไปสร้างประโยชน์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้วยการฝึก ด้วยการประยุกต์ใช้ ด้วยการทดลองใช้ หรือตามแต่วิธีที่ผู้เรียนมีความถนัด เมื่อสามารถนำความรู้ไปจัดการได้เหมาะสมกับความสามารถของตนเองแล้ว จึงกล่าวได้ว่า เกิดการเรียนรู้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การเรียนรู้ในทัศนะของผู้เขียน คือ เรียนแล้วรู้ เมื่อรู้แล้วจะต้องนำความรู้ไปสร้างประโยชน์ ไปสร้างคุณค่าหรือไปจัดการให้ได้ 
              



ประธานวิทย์ ยูวะเวส
ความสำคัญของการวิจัย
เราเคยตั้งคำถามถามตัวเราบ้างหรือไม่ว่า ทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีขีดจำกัดใน โลกที่เราอยู่อาศัยกันอยู่ทุกวันนี้  หลายคนคงจะให้คำตอบที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่น่าจะเหมือนหรือคล้าย ๆ กันก็คือ วิทยาการต่าง ๆ และเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งมีผลต่อปริบทต่าง ๆในโลกนี้  อย่างน้อยที่สุดพลโลกต้องพยายามปรับตัวเองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว บางคนปรับได้มากบางคนปรับได้น้อยขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้นั้น
                การทำงานในห้วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร้ขีดจำกัดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวัง อย่างมีเหตุผล ต้องอาศัยแหล่งข้อมูลเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และกระบวนการหรือวิธีการทำงานที่เหมาะสมอย่างยิ่งต่อสภาวะเช่นนี้ คือการนำเอากระบวนการวิจัย หรือวิธีวิจัยมาบูรณาการเข้าด้วยกัน
                ถึงตรงนี้ท่านคงเกิดข้อสงสัย หรือเกิดความกังวลว่าหากนำเอาเรื่องการวิจัยมาบูรณาการเข้ากับการทำงานคงปวดหัวแย่เพราะกระบวนการต่าง ๆของการวิจัยที่หลาย ๆคนคุ้นเคยถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมีขั้นตอนมากมาย ดังนั้นจึงขอบอกทุกท่านตรงนี้ว่าการวิจัยที่กล่าวนี้ไม่มีความยุ่งยากอะไรเลย ในทางตรงข้ามกลับเป็นการนำเอาวิธีการทำงานที่ทำกันเป็นประจำมาจัดระบบระเบียบให้เข้าที่เข้าทาง ให้มีเหตุมีผลมากขึ้นเท่านั้นเอง และที่สำคัญเวลาจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลต่างก็ทำได้ง่ายขึ้น ทำได้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                ถ้าให้อธิบายถึงคำว่า วิจัย หรือ Research  ก็ต้องบอกว่า คือ กระบวนการในการศึกษาหาความรู้ความจริงอย่างมีระบบ สมเหตุสมผล และมีความรอบคอบ ด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้ โดยสามารถตรวจสอบความรู้ความจริงที่ค้นพบได้ (เกษมสาหร่ายทิพย์, 2540: 3)  จากความหมายนี้คงต้องย้อนถามตัวเราเองว่าในการทำงานนั้นเราต้องทำงานอย่างมีระบบมีระเบียบ มีเหตุผลในการพิจารณาดำเนินการ และต้องการความรอบคอบทั้งการตัดสินใจ การวางแผน หรือแม้แต่การดำเนินงานใช่หรือไม่ ตรงนี้คงมองเห็นแล้วใช่หรือไม่ว่าการวิจัยเกี่ยวข้องกับการทำงานอยู่โดยตลอด คำถามที่เกิดตามมาคงหนีไม่พ้น “แล้วจะบูรณาการวิจัยเข้ากับการทำงานได้อย่างไร”
                ในการบริหารงานหรือการปฏิบัติงานของนักพัฒนาทุกอาชีพ หากนักพัฒนามีความสามารถในการวิจัย จะส่งผลให้สามารถปรับปรุง พัฒนา หรือยกระดับคุณภาพงานได้อย่างต่อเนื่อง (สุพักตร์ พิบูลย์, 2544: 7) การวิจัยจะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน เป็นการช่วยให้การตัดสินใจแม่นยำและถูกต้องมากขึ้น เพราะการตัดสินใจใด ๆ หากไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องย่อมนำมาซึ่งความผิดพลาดอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย กิจกรรมต่าง ๆ ในการวิจัยเป็นกิจกรรมที่มีระบบมีขั้นตอนมีเหตุมีผลมีความรอบคอบซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการปฏิบัติงาน
                กระบวนการทำงานมักจะเป็นวิธีการเชิงระบบหรือเรียกอีกอย่างว่ากระบวนการตัดสินใจ(สุพักตร์ พิบูลย์, 2544: 12) ที่เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์สภาพปัจจุบันหรือสภาพปัญหาขององค์กร วิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่เหมาะสม วางแผนดำเนินการ ดำเนินการตามแผนที่กำหนดและประเมินผลการดำเนินงาน  ทั้งหมดนี้คือกระบวนการวิจัยนั่นเอง
                ในกระบวนการทำงานเราสามารถนำเอาวิธีการทางการวิจัยเข้ามามีบทบาทในการวางแผนพัฒนางาน การพิจารณาเลือกวิธีการพัฒนา การประเมินความเป็นไปได้ในการปฏิบัติงาน การตรวจสอบความก้าวหน้าของการทำงาน การตรวจสอบหรือประเมินความสำเร็จของงานหรือโครงการ ทั้งยังสามารถตรวจสอบผลกระทบของการทำงานที่มีต่อสภาวะรอบด้านได้อย่างดี
                การประยุกต์ความรู้เรื่องการวิจัยเข้าสู่การปฏิบัติงานนับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งและจะส่งผลต่อความสำเร็จของการปฏิบัติงานได้อย่างแน่นอน ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ นักบริหาร นักปฏิบัติมืออาชีพต้องเร่งศึกษาและทำความเข้าใจ “วิจัย”ให้ถ่องแท้ ก็จะส่งผลให้ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างไร้ขีดจำกัดได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
แหล่งข้อมูล
-          กลยุทธ์การวิจัยเพื่อพัฒนางานวิจัยเพื่อพัฒนาองค์กร โดย ดร. สุพักตร์ พิบูลย์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จตุพร ดีไซน์ 2544
-          ระเบียบวิธีวิจัย โดย รองศาสตราจารย์เกษม สาหร่ายทิพย์ ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพิมพ์นิวเสรีนคร 2540
ประธานวิทย์ ยูวะเวส

ครูกับเครือข่ายการเรียนรู้

คำว่า “การศึกษา” ที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  หมายถึงกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก
การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้าง
องค์ความรู้ อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคม การเรียนรู้ และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้
อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต   
                เมื่อพิจารณาจากความหมายดังกล่าวจะพบว่า กิจกรรมต่าง ๆ ด้านการศึกษาจะต้องดำเนินไปอย่างเป็นกระบวนการ ที่มีความต่อเนื่องกัน มีความสอดคล้องกันในหลาย ๆ ส่วนทั้งด้านการถ่ายทอดความรู้ หรือองค์ความรู้ การฝึกฝนความชำนาญ การเห็นคุณค่า การผสมผสานองค์ความรู้ทั้งด้านวิชาการ วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม โดยผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น คือความเจริญงอกงามของบุคคล
และสังคม
                การจัดการศึกษาจึงเป็นการบูรณาการ(Integration) หลาย ๆ สิ่งหลายอย่างเข้าด้วยกัน เป็นการ
ใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ความร่วมมือ
ประสานงานกัน โดยเป้าหมายสุดท้าย คือ การสร้างความเจริญงอกงามให้เกิดแก่ผู้เรียนและสังคมอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้อาจจะเป็นการบูรณาการหลักสูตรเนื้อหาการเรียนรู้กับการแก้ปัญหาจริงที่พบในชีวิต
ประจำวันของการทำงาน (NCRVE, 1998)
                การสร้างเครือข่ายนับว่ามีความสำคัญและได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น แนวคิดในการการสร้างเครือข่ายหรือการเชื่อมโยงกันด้านวิทยาศาสตร์ และ
เทคโนโลยี ระหว่างสถานศึกษากับ หน่วยงานด้านพลังงานถือว่ามีความสำคัญ  การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้นับว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการบูรณาการเพื่อสร้างสรรค์งานวิชาการและสนองตอบต่อการพัฒนาความเจริญงอกงามให้แก่ผู้เรียน และสังคมไ ด้เป็นอย่างดี เนื่องจากเครือข่ายการเรียนรู้มีวัตถุประสงค์
ในการสร้างความร่วมมือระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับ
การศึกษา โดยมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ระหว่างกัน นอกจากนั้นยังมุ่งหวังการขยายฐานการสร้างองค์ความรู้ให้กว้างขวาง มีการเผยแพร่ และสร้างสรรค์งานด้านการศึกษาให้แพร่หลาย และเกิดประโยชน์ต่อบุคคล และสังคมโดยส่วนรวม
               
ประโยชน์ที่เกิดจากการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้มีมากมายแต่ที่ชัดเจนได้แก่  ความร่วมมือ
ในการดำเนินกิจกรรมทางการศึกษาที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเจริญงอกงามให้แก่ผู้เรียนและสังคม ความสำเร็จในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้ใหม่ ๆ ระหว่างสมาชิกเครือข่ายอันจะนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม   ความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรมการศึกษาทั้งด้านการสอน การฝึกอบรม การสร้างสรรค์องค์ความรู้และสืบสานวัฒนธรรม  ความหลากหลายของประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ต่อเนื่องและสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียนนับว่าเป็นประโยชน์
ที่เห็นได้ชัดจากการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้
                กลยุทธ์สู่ความสำเร็จตามแนวทางของการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ ที่สมควรนำไปใช้ คือ “ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ อย่างต่อเนื่องเพื่อความสำเร็จของผู้เรียน” ความสำเร็จในที่นี้ หมายถึง
ความเจริญงอกงามทั้งส่วนบุคคลและสังคม
                การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้สามารถมีได้หลายระดับ ทั้งเครือข่ายภายในกลุ่มหรือแผนกวิชาเดียวกัน เครือข่ายต่างแผนกวิชากัน หรือ เครือข่ายต่างสถาบันแต่มีความสนใจตรงกัน ทั้งนี้กิจกรรม
ที่เครือข่ายตกลงร่วมกันดำเนินการถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารข่าวสารระหว่างกัน การจัดประชุมวิชาการ การเสวนา การร่วมกันศึกษาค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์
ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า การถ่ายทอดความรู้สู่สมาชิกเครือข่าย และนักเรียนนักศึกษา การพัฒนาผู้เรียน การแสดงผลงานนักเรียนนักศึกษา การสาธิต การฝึกงาน หรือ การศึกษาดูงานฯลฯ โดยภาพรวมแล้ว
สามารถจำแนกกิจกรรมเครือข่ายได้ 2 ลักษณะ คือ กิจกรรมระหว่าสมาชิกในกลุ่มหรือระหว่างกลุ่ม และ กิจกรรมระหว่าสมาชิกกับนักเรียนนักศึกษา
                การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้นับว่ามีประโยชน์มหาศาลต่อการศึกษา แต่สิ่งที่ไม่สมควรจะมองข้ามคือ ความชัดเจนในเรื่องภาระและกิจกรรม งบประมาณและการแสวงหาแล่งงบประมาณ เป้าหมายของเครือข่าย และที่สำคัญที่สุดคือความตั้งใจจริงของมวลสมาชิกที่ต้องการดำเนินกิจกรรมเพื่อนผู้เรียน และสังคมโดยส่วนรวม
แหล่งข้อมูล:
-          พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดย กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
-          NCRVE(1998), The 1998 Agenda and Personnel Directory for the National Center for
        Research in Vocational Education
-          Vocational Education Schools and Colleges and the Needs of the Economy by Dr. David Lancaster, Managing Director of International Training, Research and Education Consortium, The United Kingdom

ธานินทร บุญยะกาพิมพ์

ครูโซนนิ่ง

จากหัวข้อบทความ “ครูโซนนิ่ง” ที่ปรากฏด้านบน คุณครูที่เคารพ และท่านผู้อ่านทุกท่าน       คงสงสัยว่าผมกำลังคิดอะไรอยู่ หรือกำลังจะเขียนอะไร แต่หากทุกท่านย้อนระลึกถึงอดีตนักการเมือง    ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลที่ผมยอมรับนับถือว่าท่านมีคุณอเนกอนันต์ ต่อวงการศึกษา ต่อเยาวชนของชาติและต่อสังคมไทย นักการเมืองท่านนี้คือ ท่านปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ท่านเป็นนักการศึกษาที่ได้รับ      การยอมรับทั้งในประเทศไทย และนานาชาติ   ท่านเคยหันเหเสี้ยวชีวิตเหนึ่งของการเป็นนักการศึกษา  ที่มีชื่อเสียง มารับใช้ชาติบ้านเมืองในฐานะนักการเมืองที่มีคุณภาพ ตั้งใจทำงานเพื่อชาติเพื่อแผ่นดิน ผลงานชิ้นเอกของท่านที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผม และคนไทยทุก ๆ คน โดยเฉพาะวงการศึกษาของชาติ คือการจัดโซนนิ่งสังคมไทย ถึงตรงนี้ผมคิดว่าท่านผู้อ่านทุกท่านคงพอที่จะมองออกแล้วว่าทำไมผมจึงใช้ชื่อบทความนี้ว่า “ครูโซนนิ่ง”  ในขณะเดียวกันผมคงไม่ต้องอธิบาย หรือขยายความคำว่า “โซนนิ่ง” ให้มากไปกว่าสิ่งที่บันทึกอยู่ในความทรงจำของทุกท่าน หากแต่ผมอยากให้ทุกท่านได้ลอง โยงคำว่า “โซนนิ่ง” เข้ากับความเป็นครู และเส้นทางการทำงานของคุณครูที่เคารพทุกท่าน.............
                ผมมีเพื่อนที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นนักทำงาน เป็นนักทุ่มเทให้กับงานด้านการศึกษาอยู่มากมายหลายคน ทั้งที่อยู่ในสถานศึกษาเดียวกัน และต่างสถานศึกษา ผมพยายามเฝ้ามองเพื่อน ๆ เหล่านี้ว่า    เขาทำงานกันอย่างไร เขาทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างไร ทำไมเขาจึงทุ่มเทมากมายขนาดที่เรียกได้ว่า “ทำกันมากมายจนเราอาย”  ทุกเวลานาทีของเพื่อน ๆ เหล่านี้  ล้วนแต่ทำงานที่ตนรับผิดชอบ   ตัวอย่าง      ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตัวเราต้องการพักผ่อน ต้องการเวลาที่เป็นของตนเอง ต้องการนอนตื่นสาย ต้องการเดินดูต้นไม้ต้นไร่ ฯลฯ   แต่เพื่อน ๆ จำนวนหนึ่ง  ตื่นแต่เช้า ทำภารกิจส่วนตัวตามปกติ  เช่นเดียวกับวันจันทร์-ศุกร์  หลังจากนั้นพวกเขาก็ออกจากบ้าน ตรงไปยังที่ทำงานที่พวกเขา ไปเป็นประจำ  แล้วลงมือทำงานด้วยความสุขเช่นเคยกับทุก ๆ วัน สรุปว่า   “ทำงานกันตามปกติตั้งแต่  วันจันทร์ ถึง วันอาทิตย์”  ผมศรัทธาเพื่อน ๆ เหล่านี้มาก ในทางตรงกันข้ามก็ตั้งคำถามในใจว่าพวกเขาไม่เหนื่อยกันบ้างหรือ เมื่อใดก็ตามที่ถามคำถามนี้ เพื่อน ๆ มักตอบว่า “ไม่เหนื่อย” “ก็งานมันไม่เสร็จ” “ภูมิใจที่ได้ทำงานเพื่อลูกศิษย์” “ถ้าเราเหนื่อยแล้วใครจะทำให้ลูกศิษย์เล่า” ฯลฯ
                ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ตัวอย่างที่ผมกล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณครูที่น่ารัก น่าบูชาจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากแจงนับกันแล้ว ผมมั่นใจว่ามิใช่น้อยเลยทีเดียวในวงการวิชาชีพครูที่เป็นดั่งที่ผมกล่าวมาข้างต้น ผมอยากให้กำลังใจ อยากสรรเสริญ และอยากยืนเคียงข้างแม่พิมพ์ที่น่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
                “แม่พิมพ์” ผู้เสียสละทุกท่านครับ บทความฉบับนี้ผมขอมอบเป็นสิ่งบูชาและเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านเพื่อสร้างเสริม เพิ่มเติมสิ่งที่ผมคิดว่ายังขาดหายไปจากโอกาสที่ทุกท่านสมควรได้รับมากกว่าผู้อื่น หากท่านหันมาพิจารณาสิ่งที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ผมเชื่อมั่นเหลือเกินว่า “แม่พิมพ์ผู้เสียสละ” “แม่พิมพ์ผู้สมควรได้รับการสรรเสริญ”  คงจะมีกำลังใจ คงจะมีพลัง คงจะมีโอกาสทำงานที่ท่านรัก      ที่ท่านทุ่มเท ที่ท่านเสียสละ ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
                คุณครูครับหากท่านพิจารณาการทำงานของท่าน จะพบว่างานที่ทำพอจะแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
-          งานในหน้าที่ของครูโดยตรง คือ การสอน หรือให้ทันสมัยหน่อย ก็เรียกว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  และแก้ปัญหานักเรียน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า การอบรมบ่มนิสัยนักเรียน
-          งานที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา หรืองานพิเศษที่สถานศึกษามอบให้ทำ เช่น     งานอาจารย์ที่ปรึกษา งานแนะแนว งานกิจกรรมนักเรียนนักศึกษา งานหัวหน้าแผนก หัวหน้าหมวดวิชา หัวหน้าคณะวิชา งานการเงิน งานอาคารสถานที่ ฯลฯ
งานทั้งสองลักษณะเป็นสิ่งที่คุณครูทุกท่านหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในสถานศึกษาของทุกท่านจำเป็นต้องมีการพัฒนา มีการเคลื่อนไหว มีการปรับตัวให้ทันกับพลวัตรอบด้าน คุณครูทุกท่านทำหน้าที่ ใน 2 ลักษณะด้วยความเสียสละ อย่างดียิ่ง น่าสรรเสริญอยู่แล้ว และเมื่อพิจารณาพร้อมไปกับเวลาที่ท่านทุ่มเทให้กับงาน ก็อาจจะพบว่าหลายท่านทุ่มเทให้กับงานทั้งสองลักษณะเต็มที่ เต็มเวลาที่มีอยู่ถึง 100 %
“ท่านมีเวลาเผื่อไว้สำหรับพัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพของท่านบ้างไหมครับ”
                ผมอยากจะขออนุญาตเสนอแนะความคิดเห็นส่วนตัว (หากไม่ได้เรื่องก็โปรดให้อภัยกัน แต่หากมีประโยชน์ผมก็จะได้ดีใจ) ไว้ในบทความนี้ว่า งาน หรือภาระที่คุณครูทุกท่านต้องแบกอยู่น่าจะได้รับการจัดโซนออกเป็น 3 โซนคือ
-          โซนที่ 1 งานสอน และการอบรมบ่มนิสัยนักเรียนให้เป็นคนดี ซึ่งเป็นภาระงานในหน้าที่ครูโดยตรง
-          โซนที่ 2 งานสนับสนุนการเรียนการสอน หรืองานที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา หรืองานพิเศษที่สถานศึกษามอบให้ทำ เช่น งานอาจารย์ที่ปรึกษา งานแนะแนว งานกิจกรรมนักเรียนนักศึกษา    งานหัวหน้าแผนก    หัวหน้าหมวดวิชา    หัวหน้าคณะวิชา          งานการเงิน   งานอาคารสถานที่ ฯลฯ
-          โซนที่ 3 งานพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ เช่น การเลื่อนวิทยฐานะ(เดิมเรียกว่าการทำผลงานวิชาการนั่นเอง)
กฎระเบียบ กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาชีพครู มากมายในปัจจุบันล้วนเป็นสิ่งที่คุณครูทุกท่านต้องให้ความสนใจ หากพิจารณาให้ถ้วนถี่  โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542  ท่านก็จะพบว่า สาระที่ปรากฏล้วนเป็นประโยชน์ต่อท่านเอง ที่สำคัญคือสามารถนำมาเป็นกรอบในการทำงานหรือนำมาจัดโซนในการทำงานสำหรับตัวคุณครูเองได้เป็นอย่างดี  มีบทความหนึ่งที่คุณครูสามารถนำมาพิจารณาเกี่ยวกับโซนนิ่งการทำงานของท่านเอง คือ บทความเรื่อง “พร้อมหรือยังกับการเป็นครู มืออาชีพ ในปีการศึกษา 2548” เขียนโดย ประธานวิทย์  ยูวะเวส  ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร    ในบทความนี้กล่าวถึงการก้าวสู่ครูมืออาชีพ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าที่โดยตรงของการเป็นครูมืออาชีพ (โซนที่ 1 ) หรือ แม้แต่หน้าที่พิเศษ (โซนที่ 2 )  แต่สิ่งที่ผมให้ความสนใจ คือ (โซนที่ 3) ที่ท่านผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “ครูมืออาชีพจะต้องพัฒนาตนเองโดยการศึกษาหาความรู้จากเอกสาร หรือตำราทางวิชาการพร้อมทั้งนำความรู้นั้นมาวิเคราะห์ วิจารณ์และเผยแพร่ให้เพื่อนครูให้ชุมชน  จะได้ชื่อว่าครูมืออาชีพมีการพัฒนางานและพัฒนาวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ  ครูมืออาชีพต้องรู้จักร่วมมือกับชุมชนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชนซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา การพัฒนาการเรียนรู้ให้แก่ชุมชนนี้ครูมืออาชีพสามารถใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา(Research and Development)ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่”
                “แม่พิมพ์” ผู้เสียสละทุกท่านครับ หากท่านยังคงทุ่มเทเวลาทั้ง 100 % เท่าเดิมที่ท่านมีอยู่ให้กับงานที่ท่านรัก ให้กับงานที่ท่านภูมิใจ  พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนเวลา    ปรับเปลี่ยนโซนนิ่งใหม่ จาก  2 โซน     2  ภาระงาน  มาเป็น 3 โซน 3 ภาระงาน   ผมเชื่อมั่นเหลือเกินครับว่า ท่านจะไม่เพียงพบกับความสำเร็จ   ท่านจะไม่เพียงพบกับความภาคภูมิใจตามที่ท่านปารถนาดังเดิม ตามที่ท่านเคยปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ   แต่ผลพลอยได้ที่  จะเป็นกำลังใจ   จะเป็นเพื่อนยืนเคียงข้างท่าน จะเป็นสิ่งเพิ่มโอกาสการทำงานให้แก่แผ่นดินของท่าน ก็คือ การที่ท่านได้รับการพัฒนาตนเองพร้อม ๆ ไปกับการทุ่มเททำงานที่ท่านรัก     การที่ท่านมีโอกาสพัฒนาวิทยฐานะให้สูงขึ้น  จากครูชำนาญการ เป็นครูชำนาญการพิเศษ   จากครูชำนาญการพิเศษเป็น ครูเชี่ยวชาญ ฯลฯ ซึ่งเป็นเกียรติภูมิ และรางวัลแห่งความสำเร็จ  ของตัวท่านเอง ของครอบครัวอันเป็นที่รักของท่าน ของวงศ์ตระกูลอันเป็นที่เคารพเทิดทูนของท่าน และท้ายที่สุดก็คือของสถานศึกษาต้นสังกัดที่มอบโอกาสให้กับตัวท่าน

ธานินทร บุญยะกาพิมพ์
Hello!  Good morning!   เสียงของคำทักทายทั้งสองนี้ ถูกเปล่งออกมาพร้อมด้วยความเบิกบาน และเป็นธรรมชาติ ในทุก ๆเช้า ที่วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ด้วยเหตุที่นักเรียน-นักศึกษาของสถานศึกษาแห่งนี้ ถูกปลูกฝังให้กล้าพูด กล้าทักทาย โดยใช้ภาษาอังกฤษที่มีความเป็นธรรมชาติ และออกมาจากจิตใจที่เบิกบานในยามเช้าของทุก ๆ วัน ไม่ว่าวันฝนตก วันแดดออก หรือแม้แต่ในวันที่เหน็บหนาว
หลายคนอาจจะสงสัยว่า “ทำไมครูภาษาอังกฤษของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร เขาฝึกเรื่องที่ง่าย ๆ ไม่เหมาะสมกับระดับการศึกษาของผู้เรียนเลย” เพราะการทักทายแบบนี้เขาใช้กันมาตั้งแต่เริ่มเรียน
ภาษาอังกฤษแล้ว
                ในฐานะที่เป็นหนึ่งในครูภาษาอังกฤษของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ก็คงจะต้องรีบทำความเข้าใจกับผู้อ่านทุกท่านในประเด็นนี้ ถ้าจะบอกว่าคำทักทายดังกล่าวเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องหมู ที่ฝึกกันมานาน  นานจนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติวิสัย แต่สิ่งที่พบกันเสมอ อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีทางหนีพ้น ก็คือ คำทักทาย
ที่หลายคนคิดว่าง่ายนี้เอง กลับถูกเปล่งออกจากปากของผู้เรียนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับชั้น ด้วยความยากลำบาก ไม่เป็นธรรมชาติ หรือไม่ก็ผิดพลาดเสมอ เช่น Good-s-mor-ning! หรือ Good-sa-morning! แล้วเสียงที่ตามมาหลังจากข้อความทักทายนี้ คือ เสียงหัวเราะที่บ่งบอก ถึงความอาย ความตลก ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร?  มีใครเคยให้ความสนใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้บ้างหรือไม่
                Hello! Good morning! นับว่าเป็นคำทักทายที่ใช้กันมากมายในภาษาอังกฤษ และเป็นคำพื้นฐานที่สุดในการเปล่งเสียงภาษาอังกฤษ ดังนั้นถ้าผู้เรียนสามารถเปล่งเสียงคำทักทายดังกล่าวด้วยความเคยชิน ด้วยความกล้า ด้วยความเข้าใจธรรมชาติของคำทักทายนี้แล้ว ผู้เขียนมั่นใจว่าการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในระดับต่อ ๆ ไปจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
                ด้วยความเชื่อดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ Hello! Good morning! จึงดังกังวานในทุก ๆยามเช้าของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ด้วยเจตนาที่ว่า “นี่แหละคือการเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร”
                เมื่อมีความสุข มีความเบิกบาน มีความมั่นใจในยามเช้าแล้ว การฝึกภาษาอังกฤษในลำดับต่อไปก็จะง่าย จะสะดวก และจะเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้นถ้าผู้สอนภาษาอังกฤษรู้จักใช้เทคนิคง่ายๆ ที่ถูกลืมไปจากสังคมไทยแล้ว นั่นก็คือการทำซ้ำ ทำบ่อยๆ ดังเช่นที่สังคมไทยเคยใช้ในอดีตซึ่งก็คือเทคนิคที่ใช้
ในการท่องอาขยาน ผู้เขียนมั่นใจว่า สำหรับเยาวชนยุคปัจจุบันคงไม่รู้จัก คำว่า “อาขยาน” เป็นแน่แท้
                “จะฝึกแนวท่องอาขยานอย่างไร?”  คงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบจากผู้เขียนแน่นอน คำตอบง่ายที่สุดที่ผู้เขียนอยากจะตอบให้เพื่อนครูภาษาอังกฤษนำไปใช้ ก็คือ การซักถามคำถามง่าย ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน โดยถามบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ในทุกต้นชั่วโมงที่ทำการสอน และให้ผู้เรียนได้มีโอกาสตอบอย่างทั่วถึง ทั้งนี้อาจจะใช้วิธีแข่งขัน หรือวิธีการให้แรงเสริมด้วยคะแนนก็ได้
                คำถามที่สามารถใช้ได้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อฝึกความสามารถในการสื่อสาร ได้แก่
-          Where do you usually go to the market?
-          Where do you usually go to the hospital?
-          When do you usually go to school?
-          When do you usually go to bed?
-          How do you come to school?
-          How tall are you?
-          What is your last name?
-          What is your favourite subject?
-          Who is your best friend?.....................
ผู้อ่านคงคิดว่าคำถามข้างต้นล้วนเป็นคำถามง่าย ๆ แต่ผู้เขียนขอยืนยันว่า ง่าย ๆ แบบนี้ใช้แก้ปัญหาในการฝึกพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้อย่างแนบเนียนดีนักแล ที่สำคัญครูภาษาอังกฤษต้องถามอย่างเป็นกันเอง อย่างเป็นธรรมชาติ และอย่างมีความสุข ห้ามตำหนิผู้เรียนเมื่อตอบผิดโดยเด็ดขาด
                ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีผู้เรียนคนไหนอยากพูดภาษาอังกฤษที่ยาก และสลับซับซ้อน รวมทั้งไกลจากตัวเองมากนัก (เพราะผู้เรียนมิใช่นักภาษา แต่เป็นผู้ใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารกัน) ดังนั้นการให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษที่ง่าย ไม่สลับซับซ้อน มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับตนเอง ให้โอกาสในการใช้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ นับว่าเป็นเทคนิคที่ดี และเหมาะสมสำหรับเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กไทยที่เรียนภาษาอังกฤษในวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ถ้าท่านอยากได้ยินภาษาอังกฤษที่เปล่งออกมาด้วยความเบิกบาน ด้วยความสุข และเป็นธรรมชาติ ในยามเช้า ผู้เขียนคิดว่า วิทยาลัยเทคนิคพิจิตรเป็นหนึ่งในหลาย ๆแห่งทีท่านสามารถสัมผัสได้
ธานินทร บุญยะกาพิมพ์

ผมคิดว่าทุกๆท่านคงได้ลิ้มรสความเครียดมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย(แต่ผมว่ามาก) คนทุกคนที่อยู่ในสังคม ที่อยู่ในวัฎสงสาร ล้วนแล้วแต่ได้สัมผัสความเครียดมากันโดยถ้วนหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน การทำงาน การพบปะผู้คน การเล่นกีฬา การรับประทาน ฯลฯ ร้อยแปดพันประการ แต่ความเครียดที่เห็นจะรุนแรงและมีผลต่อทุกๆท่าน ก็น่าจะเป็นความเครียดจากการทำงาน และความเครียดในกลุ่มนี้ที่เห็นจะรุนแรงที่สุดก็น่าจะความเครียดที่เกิดกับเพื่อนร่วมงาน จะให้ตรงเป้าก็คงจะเป็นความเครียดจากการอิจฉาริษยา จากการแก่งแย่งชิงดี จากการหวังดีเกินผิดปกติ จากการหวังดีประสงค์ร้าย ทำไงดีถึงจะกำจัดความเครียดชนิดนี้ให้จงได้  ผมขอแนะนำสูตรสำเร็จ "3 ค" ครับ

สูตรนี้ ตัว"ค" หมายถึง คน ครับ

คนที่ 1 เป็นคนที่รักเรา เห็นเราทำอะไรก็ดีไปหมด แม้แต่เดินไปตดไป(ขออนุญาตใช้วาจาไม่สุภาพหน่อยนะครับ) เขาก็หัวเราะไม่ว่าอะไรเรา ดูแล้วเราทำอะไรก็ดีไปหมด

คนที่ 2 คนนี้ตรงข้ามกับคนที่ 1 อย่างสุดกู่เลยครับ เราทำอะไรก็เลวไปหมด ทำงานมากก็ว่าเว่อร์ ไม่ทำงานก็ว่าขี้เกียจ ทำปานกลางก็ว่าไม่เหมาะสม (แต่ถ้าเป็นพวก เป็นเพื่อนของเขา ไม่เป็นไร)

คนที่ 3 คนนี้น่าสนใจนะ เพราะ มักจะพูดว่า"เออ.....ช่างเขา" "เออ....ช่างมันเถอะ"

ผมอยากถามท่านผู้อ่านว่าถ้าเป้นท่าน ท่านจะใส่ใจหรือฟังคนที่ 1 2 หรือ 3

ถ้าท่านฟังคนที่ 2 ท่านจะรู้สึกเครียดมากๆๆๆๆๆๆ

ดังนั้นถ้าต้องการหนีพ้นความเครียดจากเพื่อนร่วมงาน หรือจากการทำงานก็ต้องฟัง คนที่1 หรือ 3 แล้วท่านจะมีความสุขตลอดเดือนสุดท้ายของ ปี 48 และตลอดไปตั้งแต่ปี 49 ครับ.........ด้วยความห่วงใจจากใจ ธานินทร ครับ

ธานินทร บุญยะกาพิมพ์

          30 ธันวาคม 2548 มีโปรแกรมจัดเวทีkmที่วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร(กำลังนำเสนอท่านผู้อำนวยการประธานวิทย์ เพื่อขออนุญาต) เวทีนี้ไม่มีพระเอกแต่ทุกท่านคือพระเอก(คำคมนี้มาจากครูหม่ำ...แห่งแผนกช่างยนต์)  ขอเชิญชวนทุกท่านที่ผ่านมาในบล็อกนี้เข้าร่วมนำเสนอKM ที่เวทีของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ไม่จำกัดเนื้อหา ไม่จำกัดวิชา ขอเป็นความรู้ก็ใช้ได้

          ดีใจมากๆที่ได้ครูหม่ำอาสามาช่วยประชาสัมพันธ์เวที KM รวมทั้งได้ครูมณี ครูพินิจ มาช่วยเรื่องเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          กระซิบอีกนิดว่า ครูสิทธิพงษ์(ครูฮูกของลูกน้อง)ครูเรณู ครูสริมนต์ ครูหม่ำ ครูบุญธรรม ต่างจองเวลาขึ้นเวที KM แล้ว...คร๊าบ.เจ้านาย........

         

เรณู สมบัติใหม่ (ครูแจ๊ว)
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  จึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่เหล่า  เพื่อการดำเนินชีวิตและภารกิจต่าง ๆ ร่วมกันให้เกิดความอยู่รอดและความก้าวหน้าของสังคมนั้น  จึงมีการจัดตั้งองค์การขึ้นมาเพื่อให้คนจำนวนมากมารวมกันดำเนินภารกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ แต่บุคคลเหล่านี้มีความแตกต่างกันทั้งด้านความคิด ความรู้ความสามารถ จึงมีพฤติกรรมที่แตกต่างและยากแก่การที่จะปฏิบัติงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  จึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่สมาชิกในองค์การให้การยอมรับ  เพื่อเป็นผู้นำการทำงานและความคิด ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง  เป็นบุคคลที่ทำให้องค์การประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ เป็นผู้มีลักษณะความเป็นผู้นำอยู่ในตัวเอง  และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่นได้ ซึ่งเราเรียกบุคคลนี้ว่ามี  “ภาวะผู้นำ”
จากประสบการณ์การทำงาน การเรียนรู้ และการศึกษาของข้าพเจ้ามากว่า 20 ปี ข้าพเจ้าได้แนวคิดว่าผู้ที่มีภาวะผู้นำที่ดีและเป็นแบบอย่างได้นั้นควรมีคุณสมบัติ   5  น.
ดังนี้
1.       หนักแน่น  คือ  มีอารมณ์มั่นคงไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและมากระทบต่อการทำงาน  พร้อมทั้งยืดหยัดที่จะทำในสิ่งที่สร้างความเจริญก้าวหน้าและถูกต้องต่อองค์การและสังคม
2.       น้อมนำ  คือ  เป็นผู้ที่นำนโยบาย  นำความคิด  นำการทำงานให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมงานทุกคน เพื่อให้องค์การดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ 
3.       นบนอบ  คือ  เป็นผู้มีกริยาวาจาสุภาพ  อ่อนโยน และเป็นกันเองกับผู้ร่วมงาน  ไม่เอาแต่ใจตนเอง  ข่มขู่บังคับหรือวางอำนาจใหญ่โต  ควรมีการประชุมปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานบ้าง
4.       หนุนเนื่อง  คือ  ควรยกย่องชมเชย  สนับสนุนและให้กำลังใจกับผู้ร่วมงานอยู่เสมอ  ให้โอกาสผู้ร่วมงานได้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน  มีการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ยุติธรรม  เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ร่วมงานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์การเจริญก้าวหน้าต่อไป
5.       แนบเนียน  คือ  เป็นผู้มีศิลปะในการพูดและในการใช้คนให้ทำงานด้วยความเต็มใจ  ด้วยความจงรักภักดีต่อองค์การ  รู้กลวิธีการว่ากล่าว ตำหนิติเตียน ผู้ร่วมงานโดยไม่ให้เกิดความคับข้องใจ ไม่สบายใจ ให้ผู้ร่วมงานรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการทำให้เขายอมรับอย่างแท้จริง
สรุปแล้วจากคุณสมบัติ  5  น. ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนั้น  เป็นคุณสมบัติของ ผู้ที่มี  ภาวะผู้นำ  ในการทำงาน ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อถือศรัทธาและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ร่วมงานในองค์การ  ดังคำที่ว่า  “ตัวอย่างที่ดีมีคุณค่ามากกว่าคำสอน”
ธานินทร บุญยะกาพิมพ์
ดีใจจังที่ครูเรณู ส่งองค์ความรู้เข้ามาในถนนkmของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร คิดว่าครทุกท่านคงรีบส่งมานะครับ วันนี้ครูวนิดาเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการพรำสอนวิชาภาษาอังกฤษอินเทอร์เน็ตมาให้อ่าน ดีใจมากที่ครูของเรามีองค์ความรู้กันมากมายครับ ที่ส่งมาให้อ่านบนโต๊ะผมก็มีอีกหลายๆท่าน แต่ต้องขอโทษที่ยังไม่ได้เอามาลงเพราะหาเวลาว่างไม่ได้เลยครับ

ชอบเด็กอิเล็กคอมฯ ทุกคนเรย

ทุกคนน่ารักดี

ออกฟิตอิดแล้วเท่ห์มากเรยอ่า

.......................................

ตอนนี้ครูแจ๊วเขียน "เรื่องเล่าของคุณครู" ลงในเว็ปไซต์ www.dek-d.com เป็นเรื่องยาว (บทความ) ลงได้ 7 ตอนแล้วนะคะ

ขอความกรุณาช่วยเข้าไปอ่านและให้ความเห็นนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

ผมเพิ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคเมื่อเทอมที่ผ่านมาผมเรียนอยู่แผนกช่างกลโรงงานครับผมขอบคุณอาจารย์มากที่สอนผมเป็นอยา่งดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท