โรงเรียนฤาจะสู้โรงงานได้


"วันนี้พวกเขาจะได้เรียนรู้อะไร" และ "จะได้เรียนรู้สิ่งนั้นอย่างไร"แทนคำถามเดิมๆที่คุ้นชินว่า "ชั่วโมงนี้ฉันจะสอนอะไร"

 

หลังจากงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ เสร็จสิ้นลง สแปนชั่น ไทยแลนด์ คือองค์กรที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในblogอย่างหนาตา เพราะทำการจัดการความรู้โดยยึด"คน" เป็นศูนย์กลาง และสร้างกระบวนการให้มีการจัดการความรู้ที่เนียนอยู่ในเนื้องาน ซึ่งเป็นความรู้ที่ได้มาจากการปฏิบัติจริง ที่เรียนรู้ได้ด้วยการลงมือทำ ในขณะที่โรงเรียนใช้เวลาส่วนใหญ่เรียนรู้ไปบนการเรียน และเลียน เพื่อให้จำและเก่งทำข้อสอบ ซึ่งไม่ใช่วิถีของการเรียนรู้เที่มุ่งไปสู่การพัฒนาผู้คน

โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษาที่เสียโอกาสที่จะได้"เรียน" เพราะต่างก็มุ่งที่จะ"สอน" ในขณะที่โรงงานหรือภาคส่วนอื่นนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางภาวะการณ์ของการแข่งขันที่หมายถึงความเป็นความตายของกิจการ ชีวิตจึงจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไหวไปบนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งมีรสชาติกว่าการเรียนจากตำรา ในขณะที่โรงเรียนยังมีจำเป็นต้องเรียนโดยใช้ตำราเป็นหลัก (ยกเว้นบางโรงเรียนที่แน่วแน่กับการเรียนรู้ในแบบของตน) การสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์เชิงประจักษ์ ด้วยการลงมือปฏิบัติจึงเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆที่ผู้เรียนได้พบพานในขณะที่ศึกษาอยู่ในรั้วโรงเรียนเท่านั้น

หากพิจารณากันในแง่นี้ ยิ่งโรงเรียนมุ่งไปสู่การเรียนการสอนในชั้นเรียนมากเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้โรงเรียนห่างไกลจากจากวิถีของKMมากขึ้นไปเท่านั้น โรงเรียนจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ไปบนทุกหน้างานอยู่ตลอดเวลา ให้สมกับสถานภาพของความเป็นสถานศึกษา หรือโรงเรียน(รู้)อย่างแท้จริง

เพื่อให้ความหวังนี้ก้าวเข้าไปใกล้กับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากหัวปลาจะมุ่งไปสู่ทิศทางดังกล่าวแล้ว ตัวผู้เกี่ยวข้องคือฝูงปลาตะเพียน(ครู)ที่ว่ายน้ำตามมายังจะต้องมีวิธีตั้งคำถามกับตัวเอง ให้เกิดความท้าทายทุกครั้งที่ได้ก้าวเข้ามายืนอยู่ต่อหน้านักเรียนของท่านว่า "วันนี้พวกเขาจะได้เรียนรู้อะไร" และ "จะได้เรียนรู้สิ่งนั้นอย่างไร"แทนคำถามเดิมๆที่คุ้นชินว่า "ชั่วโมงนี้ฉันจะสอนอะไร"

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 9299เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2005 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อืมม์... เห็นชื่อบล็อกก็น่าอ่านแล้วครับ

สวัสดีครับคุณครูใหม่ ยินดีต้อนรับสู่ Blog  ครับ

เห็นด้วยนะครับที่ว่า "โรงเรียนฤาจะสู้โรงงานได้" เพราะโรงงาน พนักงานก็ต้องเรียนรู้งานของตนเอง ยิ่งถ้ามีวิธีการจัดการความรู้กันในโรงงานแล้ว การแชร์ประสบการณ์เพื่อพัฒนางานก็จะมีมากขึ้น ทำให้งานนั้นพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง

ต่างจากโรงเรียน ที่ต้องเรียนโดยอาศัยตำราเป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมก็จำที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี กล่าว ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาคิครั้งที่ 2 ตอนหนึ่งได้นะครับ ความว่า..

"การที่ครูจะสอนจากประสบการณ์ตรงเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ก็มีวิธีง่ายๆนิดเดียวคือ การสอนศีลธรรมพื้นฐานให้กับเด็ก พร้อมกับจัดประเภทของความรู้ในตัวคนให้ด้วย  เพราะเราแบ่งความรู้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน กับความรู้ที่อยู่ในตำรา ทั้งสองอย่างมีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ แต่ต้องวางความสัมพันธ์ให้ถูกต้อง ที่ผ่านมาเราวางความสัมพันธ์ไม่ถูกต้อง"

และผมเห็นว่า ร.ร.เพลินพัฒนา ก็มัศักยภาพในตัวเอง มีการสอนที่เป็นแบบเฉพาะ ครูมีความรู้หลากหลาย อีกทั้งยังมีผู้ปกครองที่มีส่วนช่วยแชร์ความรู้อีกมากมาย หวังว่า สักวันโรงเรียนคงจะสู้โรงงานได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่งนะครับ

เอาใจช่วยครับ..

 

เห็นด้วยครับ  ผมเคยดูวีดีโอเรื่องการจัด QC Circle ในโรงงานประกอบรถยนต์แถวๆบางชัน  ได้เห็นคนงานจบ ม.๓ อายุราว ๑๘ ปี นำเสนอแนวทางแก้ไขระบบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เพิ่มประสิทธิภาพได้มาก  โดยใช้ทรัพยากรและบุคคลที่ไหว้วานเอากันภายในโรงงาน  เป็นการนำเสนอที่แสดงศักยภาพในการเรียนรู้และการถ่ายทอดความรู้ที่ดีเยี่ยม  เทียบเท่ากับนักเรียน ม.๓ กลุ่มที่ดีที่สุดของผม  ซึ่งผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่พวกเราช่วยกันคิดแล้วคิดอีก  แต่คนงานที่เห็นในวีดีโอเรียนรู้ได้เองบนการงานและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของผมก็คือ ความตื่นเต้นและความละอายไปพร้อมๆกัน  เพราะพวกเขา (ชาวโรงงานหัวก้าวหน้า) บริหารโรงงานจักรกลด้วยกระบวนการทางการศึกษา  แต่พวกเรา (...) กลับบริหารและจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางจักรกล

ตามมาอ่านช้าไปนิดเลยไม่ทันได้เขียนข้อคิดเห็นเป็นคนแรก  แต่ก็ยินดีที่ได้อ่านข้อคิดดีๆจากเพื่อนๆในบล็อกค่ะ 

ข้อคิดเห็นสำหรับประเด็นนี้มีอยู่ว่า....

นอกจากโรงงานแล้ว โรงเรือน-บ้านก็มีความสำคัญมาก

เด็กที่มีพ่อแม่ทำงานที่บ้านจะมีการเรียนรู้ถึงหัวถึงใจ เช่น ร้านค้า/บริษัทที่มีชั้นล่างเป็นสำนักงานและชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านชำ ชาวสวน ฯลฯ (ส่วนชาวนา ชาวไร่ นั้นขึ้นอยู่กับระยะทางระหว่างบ้านกับที่ทำกินอยู่เหมือนกัน) รวมทั้งลูกๆของพ่อแม่ที่มักเอางานมาทำที่บ้านให้ได้ยิน ได้เห็น ได้ฟัง เช่น นักดนตรี ศิลปิน นักเขียน นักวิชาการ สื่อมวลชน ฯ ที่มีอุปนิสัยตั้งวงสนทนาตามที่อยู่อาศัย

หากไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้ การสร้างการเรียนรู้อาจนับเป็นภาระกิจที่เพิ่มขึ้นมาของพ่อแม่

ไม่ว่าจะเป็นท่านประธาน หรือพนักงานในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นอธิการบดี หรือนักการ ฯ

แต่ไม่ว่าจะด้วยบริบทแบบไหนก็ตาม เมื่อเป็นพ่อแม่คนแล้ว ก็ต้องเป็นให้เป็น

ครูใหม่ครับ

ผมคงช้าไปประมาณครึ่งปีถึงจะได้มีโอกาสอ่าน Blog ของครูครับ แต่คงไม่สายเกินไปแน่นอน

ข้อแตกต่างที่เด่นชัดที่ผมเห็นระหว่างการพัฒนาคนในบริษัท กับนักเรียนในโรงเรียนก็คือ ในบริษัทนั้นมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคนที่ชัดเจนที่มีผลต่อความอยู่รอดของบริษัท แต่เราเองก็คงไม่ได้เน้นหนักหรือกังวลกับเค้ามากถ้าพนักงานคนนั้นได้ออกจากบริษัทเราไปแล้ว ซึ่งอาจจะต่างกับในโรงเรียนเพราะผลของการพัฒนาต่างๆจะไม่เห็นผลกระทบโดยตรงต่อตัวโรงเรียนเอง แต่จะมีผลกระทบต่อตัวนักเรียนเองอย่างมากเมื่อเค้าออก หรือจบไปแล้ว

ผมเป็นคนหนึ่งที่ลูกยังเล็กครับ (เจ้าลูกชายผม น้องนาโน พึ่งสองขวบแปดเดือน) เลยมีความสนใจในเรื่องการพัฒนาของเด็กเป็นพิเศษ ผมเชื่อว่าลูกของผมเป็นเด็กธรรมดาๆครับ เพราะในสังคมปัจจุบันโดยส่วนใหญ่แล้ว พ่อแม่ชอบอยากให้ลูกเป็นเด็กพิเศษ (โดยไม่มีความจำเป็น) กันทั้งนั้น คำว่าอัจฉริยะถูกใช้พร่ำเพรือเกินไป เก่งคำนวนกว่าใคร เรียนเก่งกว่าใคร สอบได้ 4 ลูกฉันเก่งกว่า (ซึ่งเป็นการอนุมานว่าเก่'กว่าลูกเธอนั่นไง) ฯลฯ มันอาจเป็นเรื่องตลกก็ได้ถ้าผมบอกว่าลูกผมเป็นเด็กพิเศษเพราะเค้าเป็นเด็กธรรมดาในสังคมปัจจุบัน

ส่วนตัวแล้ว ผมมีความนิยมในทฤษฏีพหุปัญญามากกว่า ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมหลายโรงเรียนเพื่อเป็นการเตรียมหาโรงเรียนสำหรับลูก (แต่คงไม่ได้มีโอกาสไปดูโรงเรียนเพลินพัฒนาครับเพราะไกลจากบ้านผมเหลือเกิน บ้านผมอยู่สุขุมวิท 71 ครับ) ผมพบข้อสรุปคร่าวๆในการเลือกโรงเรียนให้ลูกผมครับคือ 1. ต้องไม่มีการสอบหรือตัดเกรดจนกว่าประถมปลาย (หรือมัธยมต้นถ้าเป็นไปได้) 2. ใส่ใจในการพัฒนาตามปัจเจกบุคคล (ไม่ใช่ One size fit all) 3. มองการศักษาเป็นกระบวนการและมีความยืดหยุ่นมากกว่าเป็นแบบแผนและยึดแนวระเบียบปฏิบัติ 4. เอื้อหนุนให้เด็กพัฒนาและค้นหาตัวตนมากกว่าไปกำหนดด้วยความคาดหวังของสังคมหรือของใคร และ 5. ไม่มีความจำเป็นต้องเรียนพิเศษเลย

ภารกิจของโรงเรียนนั้นยิ่งใหญ่ครับ แม้ผมเองก็ไม่กล้าที่จะกระโดดเข้าไป โรงเรียนสร้างคนให้สังคมครับถ้าให้ผมมอง ใม่ใช่ในกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรืออาชีพใดอาชีพหนึ่ง ดังนั้นการให้เด็กหาตัวตนที่แท้จริงและมีนิสัยไฝ่เรียนรู้ตลอดเวลาต่างหากที่สำคัญ ไม่ใช่เรียนเก่งนะครับ และก็ไม่ใช่สอบเก่งด้วย แต่ต้องเรียนเป็น ไฝ่รู้เป็น จะเป็นอะไรไปถ้าเด็กอยากจะเป็นพ่อครัวที่เก่ง หรือคนส่งของที่เก่งที่สุด ทุกอาชีพสำคัญต่อสังคมทั้งนั้น

สแปนชั่นเราพยายามจะนำพหุปัญญามาใช้ในการพัฒนาคนอยู่ครับ ถ้าผมต้องเสียวิศวกรที่เก่งคนหนึ่งเพราะเราเปิดโอกาสให้เค้าได้พัฒนามิติอื่นจนพบว่าเค้าเป็นวิทยากร (trainer) ที่ดีและเค้ามีความสุข ผมก็ยินดีครับ

หวังว่าคงมีโอกาสและเปลี่ยนมุมมองกับฬนโอกาสต่อๆไปนะครับ  

ได้อ่านข้อคิดเห็นของคุณปรองแล้วไม่สงสัยเลยว่า ทำไม่การจัดการความรู้ถึงงอกงามได้ดีที่สแปนชั่น ..โดยส่วนตัวแล้วก็สนใจในความธรรมดามากกว่าความพิเศษ และคิดว่าพหุปัญญาเป็นเรื่องที่มองมนุษย์อย่างเป็นองค์รวมมากกว่าแนวคิดอื่นๆที่นักการศึกษาใช้กันอยู่ค่ะ

ถ้าสนใจเรื่องพหุปัญญาลองคลิกไปอ่าน ฉลาดได้ด้วยดนตรี ดูซิคะ เป็นบันทึกความรู้ที่ใหม่เขียนขึ้นจากการได้ไปฟังวิทยากรบรรยายเรื่อง Mozart Music & Intelligence และสมมติฐานที่สร้างขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวค่ะ

ขอบคุณมากสำหรับการ ลปรร.ในครั้งนี้ค่ะ

พอดีเข้ามาที่ gotoknow ก่อนระบบ Shut down เลยเห็นข้อคิดเห็นของครูใหม่ครับ

ผมกำลังวางแผนว่าจะให้ลูกเริ่มซึมซับดนตรีอย่างไรอยู่ นอกจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่บ้านแล้ว ผมกำลังดูอยู่ว่าที่ใหนมีการสอนเด็กตามแบบ Susuki บ้าง ตอนนี้มีหลักสูตรในบ้านเรามากมายแต่ดูเหมือนจะผนวกหลายเรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกันจนมากเกินไป เช่นเรียนภาษาอังกฤษและดนตรี ผมตั้งใจไว้ว่าลูกเรียนอะไรผมจะเรียนด้วย (ยกเว้นเปียโน) ด้วยเหตุผลง่ายๆครับ เด็กย่อมมีพัฒนาการเร็วกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นลูกผมคงภูมิใจว่าใช้เวลาเรียนพอๆกันแต่เก่งกว่าพ่อหลายขุม :)

แต่สิ่งที่ผมสนใจที่จะส่งเสริมลูกมากกว่าคือทางศิลปะครับ เวลาดูรูปภาพผมชอบฟังลูกผมเล่าเรื่อง เค้าตีความตามแบบของเค้าครับ น่าสนใจมาก ไม่ทราบครูใหม่มีข้อแนะนำอย่างไร e-mail ผมคือ [email protected] ครับ 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท