GotoKnow

ปัญหาเล็กๆ ของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

K. Songpol Jetanavanich
เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2548 19:32 น. ()
แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2555 12:45 น. ()

   คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น และทีมงานได้มาเยี่ยมพื้นที่รับผิดชอบของนักจัดการความรู้ท้องถิ่นตำบลจรเข้ร้อง อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง คือ คุณวลีรัตน์ จำนงค์เวช หรือตุ๊กตา ซึ่งได้มานัดพบกันที่โรงเรียนบางศาลา ตำบลชัยฤทธิ์ จังหวัดอ่างทอง ในวันนี้ (4 ธ.ค.48)มีครูผู้ดูแลเด็กปฐมวัยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนจำนวน 3 คนด้วยกัน มีครูอึ่ง ครูมะลิวัลย์และครูวรรณวิมล ประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนในประเด็นเล็กๆ ที่ครูทั้ง 3 ท่านได้สะท้อนออกมาให้ทางทีมงานโครงการฯ และนักจัดการความรู้ท้องถิ่นได้รับฟังกัน เรื่องเล็กๆ ของครูศูนย์เด็กเล็กจะเล็กเท่ากับเด็กตัวน้อยหรือไม่ มาติดตามกันครับ...
   ประเด็นเล็กๆ ประเด็นแรก (1) คือ ความต้องการในการพัฒนาตนเองของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 3 คน ซึ่งจุดนี้ ครูบางคนได้ไปอบรมมาแล้วหลายครั้งหลายที่ จึงพอมีความรู้ความเข้าใจต่อการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาศักยภาพของตนเอง แต่สำหรับครูบางคนไม่ค่อยได้ออกไปร่วมเวทีข้างนอก จึงส่งผลให้ไม่ได้รับความรู้ที่จะนำมาพัฒนาตนเองและศูนย์เด็กเล็กได้ดีเท่าที่ควร แต่สิ่งเหล่านี้ยังมีความเอื้ออาทรจากสายสัมพันธ์ของเพื่อนครูที่มีโอกาสไปรับการอบรมจากเวทีต่างๆ มาถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อนๆ ครูด้วยกันในบางครั้ง ครูมะลิวัลย์เล่าให้ฟังว่า “อย่างหนูไม่ได้ไปร่วมอบรมเหมือนกับพี่เค้า แต่พี่อึ่งก็มาถ่ายทอดให้ฟังบ่อย ว่าไปทำอะไรบ้าง แล้วจะเอามาทำต่ออย่างไร ก็ได้รับความรู้จากการที่ได้คุยกันแบบตัวต่อตัว แต่ตรงนี้การที่จะกลับมาขยายความรู้ให้เพื่อนครูคนอื่นๆ ทั้งหมดยังไม่มากเท่าที่ควร ถ้ามีตรงนี้ได้ก็จะดีเหมือนกัน เพราะครูศูนย์ฯ อื่นๆ จะได้รับความรู้และมาแลกเปลี่ยนความรู้กันได้”
   ความต้องการพัฒนาตนเองของครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้น จึงต้องหาวิธีการที่มาหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพโดยตรงต่อครูและเพิ่มพูนประสบการณ์ทางด้านความรู้ ทักษะ ความสามารถ จิตวิทยาสำหรับเด็กให้แก่ครูทุกคน เมื่อครูเกิดความมั่นใจในความสามารถของตนเองแล้ว เมื่อนำความรู้ไปสอนเด็กเล็กก็ย่อมจะเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นต่อตนเองที่จะหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้แก่เด็กเล็กด้วยเช่นกัน ซึ่งนอกจากนี้ครูก็ยังต้องการได้รับการสนับสนุนในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น วิธีการพัฒนาเด็ก, การประเมินผลเด็ก, วิธีการจัดการเรียนการสอนและสื่อการสอนต่างๆ
           
   ประเด็นที่ (2) เป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย คือ เรื่องของงบประมาณสนับสนุน ซึ่งปัญหานี้ครูทั้ง 3 ท่านได้สะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้กำลังรอคอยงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบที่จะจัดสรรงบประมาณมาให้ใช้ในการสอน ถึงแม้ว่าครูได้เคยส่งเสียงสะท้อนตรงไปยังหน่วยงานในเรื่องงบประมาณที่จะมาสนับสนุนการเรียนการสอนของเด็ก เพราะที่ผ่านมาครูอึ่งบอกว่า “บางทีไปอบรมข้างนอก พอเราไปเห็นสื่ออะไรดีๆ เช่น นิทาน ของเล่น ที่น่าสนใจเราก็คิดถึงเด็ก แต่ซื้อของเหล่านี้ก็ต้องใช้เงิน เราก็ต้องใช้เงิน สต. (สตางค์) ของตัวเองกันทั้งนั้น ที่ผ่านมาก็หมดไปหลายบาทแล้วเหมือนกัน” ประเด็นนี้ถ้าจะพูดไปก็ไม่เข้าใครออกใครแน่นอน ถึงแม้ว่าทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบจะจัดสรรงบประมาณมาให้ตามกำหนดต่อหัวต่อคนของเด็กเล็ก แต่งบประมาณเหล่านี้ก็ต้องผ่านทางโรงเรียนที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปขอใช้พื้นที่ ปัญหาที่ตามมาอีกก็คือ ทางโรงเรียนไม่ได้จัดงบประมาณแบ่งมาให้ตามที่ศูนย์ฯ ควรจะได้ ทางครูเองจึงไม่มีงบประมาณและวัสดุอุปกรณ์สำหรับนำมาจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ เช่น กระดาษ สี สื่อ ของเล่น หนังสือ ฯลฯ ซึ่งตรงจุดนี้ก็ต้องคอยทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณโดยตรงให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แนวทางแก้ไขปัญหาในประเด็นนี้จึงเหมือนเป็นแสงสว่างแห่งความหวังที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะได้รับงบประมาณมาใช้ในการบริหารจัดการศูนย์ฯ ได้เอง
   ประเด็นที่ (3) ถึงไม่ใช่เป็นปัญหาที่ใหญ่โตอะไรมากมายนัก แต่ก็มีเป็นปัญหาลำบากใจของครูศูนย์ฯ ที่จะยื่นมือเข้าไปจัดการได้ คือ เรื่องของผู้ปกครองที่ไม่เข้าใจและไม่ให้ความร่วมมือ เช่น ห้ามไม่ให้ครูฯ ไปตีเด็กหรือลงโทษเด็ก แม้แต่การว่ากล่าวตักเตือน เพราะลูกของใคร ใครก็ย่อมรักย่อมหวงแต่การรักการหวงที่ไม่รับฟังเหตุผลก็ย่อมเป็นโทษด้วยเช่นกัน ทำให้ครูดูแลเด็กได้ยากขึ้น จะสอนจะกล่าวเตือนก็กลัวว่าเด็กจะนำไปฟ้องผู้ปกครอง และย่อมส่งผลกระทบต่อการสอนในห้องเรียนด้วย ครูวรรณวิมลได้สะท้อนให้ฟังถึงหัวอกของครูว่า “เด็กเดี๋ยวนี้ไม่มีวินัย ไม่ค่อยเรียบร้อยและก็ซนกันมาก ทำให้ครูดูแลยากขึ้น ยิ่งเด็กคนไหนที่ผู้ปกครองห่วงมากไม่อยากให้ครูไปแตะเด็กหรือลงโทษเด็ก ก็จะทำให้ครูห่างจากเด็กคนนั้นไปด้วย บางคนถึงกับไม่พูด ไม่ใส่ใจเด็กไปเลยก็มี” 
    การจัดการเรียนการสอนให้กับเด็กจึงต้องใช้ความสัมพันธ์ที่เข้าใจกันด้วยดี ระหว่างครูและผู้ปกครองให้มากยิ่งขึ้น เพราะมิฉะนั้นแล้ว ตัวของเด็กเล็กที่ไม่รู้เรื่องราวอะไรจะได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ใหญ่ทันที ปัญหาในประเด็นนี้ คุณทรงพลได้ให้คำแนะนำต่อครูไว้ว่า “ถ้าเราไปเล่นเรื่องการสร้างวัตถุ เช่น สื่อ อาคาร เป็นเรื่องที่ยากมาเพราะไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการพัฒนาตัวครูและตัวเด็กเองและเป็นเรื่องที่ยากที่จะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหันมาสนใจ แต่ถ้าจะทำให้ง่ายขึ้นก็ควรจะหันมาดูเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้ปกครองมากกว่า ซึ่งครูจะสอนแต่เด็กอย่างเดียวไม่ได้ แต่ครูก็จะต้องหาวิธีการที่จะดึงผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลเด็กด้วย ซึ่งครูจะต้องออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและผู้ปกครองร่วมกันให้ได้ ที่โครงการฯ ได้เข้ามานี้ ก็มาเพื่อช่วยหนุนเสริมความรู้ให้กับครู เพื่อให้ครูได้นำความรู้ไปขยายผลต่อ เช่น พาไปศึกษาดูงาน จัดหาวิทยากรมาเสริมความรู้ให้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ต้องสอดคล้องกับความต้องการของครูด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นครูที่จะเข้ามาร่วมทำงานกับโครงการฯ จึงต้องมีใจเข้ามาเป็นอันดับแรก แล้วค่อยมาร่วมกันกำหนดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพของครูอีกครั้งหนึ่ง
           
   ประเด็นที่ (4) ที่ครูศูนย์ฯ รู้สึกปวดหัวใจเป็นอย่างยิ่งเมื่อต้องพูดถึงเรื่องนี้ คือ เดี๋ยวนี้ผู้ปกครองของเด็กเล็กในชุมชนต่างหันพาลูกหลานส่งไปเรียนในเมืองกันมากกว่าที่จะส่งมาเรียนตามบ้านนอก จึงเกิดการตั้งคำถามว่า ทำไมทางผู้นำชุมชนไม่พัฒนาชุมชนของตนเองให้ดีเสียก่อน ให้มีความพร้อมในทุกด้าน แล้วค่อยมาพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ดีมีคุณภาพ ผู้ปกครองก็จะพาเด็กมาเรียนใกล้บ้านไม่ต้องไปเรียนไกลถึงในเมือง และหันมาปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนให้ดีมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ เช่น มีสื่อการสอนที่พอเพียง ครูมีศักยภาพในการจัดการสอน ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ว่าผู้ปกครองเด็กต่างไม่เชื่อมั่นในตัวของครูและศูนย์เด็กเล็กที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในตัวเมือง เพราะภาพของศูนย์ฯ ในเมืองจะมีปัจจัยต่างๆ เพียบพร้อมมากกว่า เช่น สื่อ คอมพิวเตอร์ ห้องติดแอร์ ฯลฯ

บทบาทของนักจัดการความรู้ท้องถิ่น
            เสียงจากครูที่สะท้อนให้คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผอ. โครงการฯ ได้รับฟังถึงการที่ตุ๊กตา นักจัดการความรู้ท้องถิ่นซึ่งได้เข้ามาช่วยกระตุ้นให้กลุ่มของครูเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีหลายเรื่องด้วยกัน อาทิเช่น
(1)    นักจัดการความรู้ท้องถิ่นได้เข้ามากระตุ้นการเรียนรู้ของครู โดยเป็นผู้เชื่อมครูศูนย์ฯ ต่างๆ ให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน เช่น นำความรู้มาถ่ายทอดให้ฟัง พาไปศึกษาดูงาน มีเอกสารหรือหนังสือดีๆ เกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กก็นำมาให้ครูได้นำไปใช้ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถให้ครูนำไปใช้สอนเด็กๆ ได้ และเมื่อนำความรู้ไปใช้สอนแล้ว ก็กลับมาแชร์ประสบการณ์ที่ตนเองได้ไปสอนเด็กมาและแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มครู
(2)    เมื่อนักจัดการความรู้ท้องถิ่นได้เข้ามากระตุ้นกลุ่มครูศูนย์ฯ แล้ว การเปลี่ยนแปลงก็เริ่มเกิดขึ้น ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ คือ ได้มีการจัดเป็นเวทีศูนย์เด็กเล็กสัญจรขึ้น โดยเริ่มต้นที่พาครูทั้ง 10 ศูนย์ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศูนย์ฯ ของเพื่อนครูด้วยกัน ในขณะนี้ได้จัดเวทีไปแล้วที่ศูนย์ฯ ของครูอึ่งรับผิดชอบและศูนย์ฯ ของครูมะลิวัลย์ไปแล้ว 2 เวทีด้วยกันและคาดว่าจะให้สัญจรไปครบทั้ง 10 ศูนย์ นอกจากนี้ในอนาคตก็จะพาเด็กเล็กของแต่ละศูนย์ไปเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนเด็กที่ศูนย์ฯ ในเครือข่ายกันเองด้วย โดยสลับหมุนเวียนกันไป โดยเน้นฐานกิจกรรมเรียนรู้ อาทิ ฐานการพัฒนากล้ามเนื้อมือ การพัฒนาสมอง ฯลฯ แล้วเชิญผู้ปกครองซึ่งอยู่ในพื้นที่มาเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้กับเด็กเล็กด้วย
(3)    นักจัดการความรู้ท้องถิ่นเป็นตัวประสานระหว่างครูศูนย์ฯ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ให้หันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กเล็กและตัวของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักจัดการความรู้ฯ ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เสนอแผนงานโครงการฯ พัฒนาครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้องค์กรพิจารณา และวางแผนร่วมกับกลุ่มครูทั้ง 10 ศูนย์ในการออกแบบกิจกรรมเรียนรู้เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของครูเองและการเชื่อมโยงผู้ปกครองของเด็กเล็กให้เข้ามามีส่วนร่วมต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กร่วมกัน
(4)    นักจัดการความรู้ท้องถิ่นจะจัดกิจกรรมเรียนรู้เพียงอย่างเดียวไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะการจัดการความรู้จะต้องมีการถอดบทเรียน วิเคราะห์ปัญหา ผลสำเร็จจากการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ทั้งก่อนทำ ระหว่างทำและหลังทำ ซึ่งนักจัดการความรู้ฯ จะเป็นพลังที่จะนำพากลุ่มครูในเครือข่ายทั้ง 10 ศูนย์ได้เกิดการหมุนเกลียวความรู้ให้เพิ่มเติมพอกพูนความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดผล จึงไม่สามารถปฏิเสธการป้อนความรู้ให้เข้าไปเกิดผลต่อการจัดปรับกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งจะต้องผ่านการวิเคราะห์โจทย์มาแล้วเป็นอย่างดี และผลลัพธ์ปลายทางที่จะเกิดขึ้น ย่อมเปลี่ยนเป็นความรู้ใหม่ที่จะยิ่งขยายผลการเปลี่ยนแปลงต่อตัวของครูและเด็กเล็กได้สูงยิ่งขึ้น

คุณครูจะจัดการความรู้ได้อย่างไร
            ก่อนลาจากในการพบปะพูดคุยกันวันนี้ คุณทรงพลได้ฝากแง่มุมของหลักการและเครื่องมือการจัดการความรู้แก่ครูทั้ง 3 ท่านไว้ว่า “เราจะต้องใช้หลักการจัดการความรู้เข้ามาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไปนัก คือ เราสามารถสกัดความรู้มาจากการเรียนรู้ของเราเอง แล้วการเรียนรู้จะมาจากไหน ก็ย่อมต้องมาจากการปฏิบัติ จากการทำงาน โดยที่เราจะต้องฝึกหัดการบันทึกให้เป็นประจำทุกวัน โดยใช้การสังเกตดูว่าเด็กเล็กในศูนย์ฯ ของเรามีพัฒนาการดีขึ้นอย่างไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือจะหาทางปรับปรุงให้การทำงานของเราดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งความรู้เหล่านี้ถ้าบันทึกไว้เป็นประจำก็จะเป็นขุมความรู้ที่มีพลังมาก เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูศูนย์ฯ อื่นๆ ก็ยิ่งช่วยกระจายความรู้ได้มากขึ้น หรือไปพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กๆ ก็สามารถนำข้อมูลไปอธิบาย ไปอ้างอิงกับผู้ปกครองเด็กได้ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องทำประสบการณ์ให้เป็นความรู้ โดยใช้การถอดบทเรียนหลังจากจบกิจกรรมในแต่ละครั้งหรือในแต่ละวัน แล้วนำความรู้มาบันทึกเป็นคู่มือจัดการเรียนการสอนหรือเป็นคู่มือประเมินผลพัฒนาการของเด็กได้เอง และสามารถนำความรู้ไปแชร์กับเพื่อนครูคนอื่นๆ ได้ด้วย”
            การที่คุณทรงพลได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในวันนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นภาพเชิงเปรียบเปรยได้ว่า ต้นไม้แม้จะยืนต้นโตขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่มิใช่จะเติมโตได้เองเสมอไป เพราะต้นไม้ยังต้องการการเอาใจใส่ การดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง ต้องได้รับการบำรุงด้วยปุ๋ยและป้องกันด้วยยา เพื่อให้ต้นไม้เติบโตได้อย่างสวยงามและยืนต้นได้อย่างมั่นคงจนเติบใหญ่เป็นต้นไม้ที่แข็งแรง เหมือนดั่งที่ทางโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่นได้มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยการเรียนรู้ในชุมชนที่เรียกว่า “นักจัดการความรู้ท้องถิ่น” ในขณะนี้นั่นเอง
                                                                                               
ชยุต  อินพรหม
เจ้าหน้าที่โครงการฯ


ความเห็น

ยังไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย