การบริหารการเปลี่ยนแปลง (6)


ซุนวู บอกว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง ดังนั้นหากจะรบให้ชนะ ต้องรู้จักพลิกแพลงยุทธวิธี ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ และจริงใจ

ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง  จำเป็นต้องรู้กระบวนการบริหาร  สาเหตุการต่อต้าน  และวิธีการรับมือ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  ให้ความหมายไว้  ดังนี้
 “การบริหารการเปลี่ยนแปลง  คือ  การจัดการกับเหตุการณ์  สถานการณ์  หรือลักษณะที่ต่างไปจากเดิมให้ดีขึ้น”

ดังนั้น  ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง  ผลของการเปลี่ยนแปลงต้องดีขึ้นครับ  ถ้าเสมอตัวหรือแย่ลง  อย่าเปลี่ยนแปลงเป็นอันขาด

กระบวนการหรือขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง  ควรจะมีการดำเนินการดังนี้
      1.  หาคำตอบว่า “ทำไมจึงต้องเปลี่ยนแปลง?”  ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?  จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหรือไม่?
      2.  หาคำตอบว่า  เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงคืออะไร?  ทำอย่างไรจึงจะไปถึงเป้าหมาย?  และจะถึงเป้าหมายเมื่อไร?
      3.  หาคำตอบว่า  มีทางเลือกสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายกี่ทาง?  ทางไหนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด?  เพราะอะไร?  ทางที่เลือกจะมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง?  และจะแก้ปัญหาอย่างไร?
      4.  แผนกลยุทธ์อะไรจะสนองตอบยุทธศาสตร์ที่กำหนด?  ผู้เกี่ยวข้อง  และผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด?  มีเสียงคัดค้านด้านใดหรือไม่?  เพราะอะไร?
      5.  ประชาสัมพันธ์อย่างไร?  ด้วยวิธีใด?  จึงจะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเข้าใจในสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง
      6.  ต้องมีการปฏิบัติตามแผนอย่างจริงจัง  ถ้าเกิดปัญหาระหว่างปฏิบัติ  ต้องให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมรับทราบ  และมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน
      7.  ต้องประเมินผลแผนกลยุทธ์  และยุทธวิธีตามดัชนีชี้วัด (KPI) ที่กำหนด  ทั้งก่อนปฏิบัติ  ระหว่างปฏิบัติ  และภายหลังปฏิบัติ  รวมทั้งต้องตรวจสอบ (Check)  และปรับปรุง  แก้ไข (Act) ตลอดระยะเวลาการบริหารการเปลี่ยนแปลง
      8.  เมื่อการเปลี่ยนแปลงสิ้นสุด  ถามตนเองว่ามีอะไรดีขึ้นบ้าง?  เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่?

ไม่ว่าบริหารการเปลี่ยนแปลงจะเต็มไปด้วยเหตุผล  และความรอบคอบเพียงใด  การต่อต้านก็ยังคงมีอยู่  เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงด้วยความกลัวอย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือหลายอย่าง  ดังต่อไปนี้
      1.  กลัวการสูญเสียอำนาจที่เคยมี  ไม่ว่าอำนาจบังคับบัญชา  อำนาจอิทธิพล  หรืออำนาจอื่นใดที่ทำให้ตนเองเหนือคนอื่น
      2.  กลัวการรับภาระเพิ่ม (เพราะติดสุข) ต้องเรียนรู้เพิ่ม  ทำให้เสียเวลา  และไม่อยากรับงานเพิ่ม
      3.  กลัวเสียหน้า  เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะกระเทือนถึง  ฐานะ  ตำแหน่ง  สถานภาพ  เพราะต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่แน่นอน
      4.  กลัวสูญเสียความมั่นคง  เนื่องจากในการเปลี่ยนแปลงต้องมีการปรับเปลี่ยน  อาทิ  เงินเดือน  สวัสดิการ  ผลประโยชน์ตอบแทน  ซึ่งจะต้องถูกกำหนดโดยภาระงานและความรับผิดชอบ  ซึ่งแน่นอนคงจะต้องสูงขึ้น
      5.  กลัวการเปลี่ยนแปลง  อาจเป็นด้วยระยะเวลาเร็วเกินไป  ข้อมูลน้อยเกินไป  การรับรู้น้อยเกินไป
      6.  กลัวถูกกลั่นแกล้ง  การเปลี่ยนแปลงอาจทำให้มีการปรับโครงสร้างโดยเฉพาะบุคลากร  จึงหวั่นไหวว่าจะมีการกลั่นแกล้ง  รวมทั้งกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็น
      7.  กลัวเพราะประโยชน์ส่วนตน  หากมีการเปลี่ยนแปลงแล้วตนจะได้อะไร  และเสียอะไรบ้าง  ทั้งสองอย่างต้องชัดเจน  และมีหลักประกันที่แน่นอน  ที่สำคัญต้องไม่เสียผลประโยชน์

การรับมือการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
      1.  สู้ด้วยข้อมูล  การสื่อสาร  ต้องชี้แจง  แม้จะบ่อยครั้งก็ต้องทำ  เพราะการรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างจะทำให้การเปลี่ยนแปลงยากขึ้น  ปัจจุบันใช้ประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เป็นเครื่องมือ  เพื่อให้ประชาคมมีส่วนร่วม
      2.  ค้นหาผู้ต่อต้าน  และให้เกียรติ  ในการชี้แจงแต่ละครั้งแน่นอนว่าจะต้องมีผู้นำในการซักถาม  ซักค้าน  ซักฟอก  ต้องหาผู้ต่อต้านให้พบ  และให้เกียรติโดยอาจตั้งเป็นกรรมการ  เป็นคณะทำงาน  ฯลฯ
      3.  ทบทวนเหตุผลการต่อต้าน  เมื่อมีข้อสรุปของคำถามแต่ละประเด็นแล้ว  ต้องนำมาทบทวนเพื่อหาคำตอบในทุกประเด็น  เพื่อความเข้าใจสูงสุด
      4.  นำเหตุผลมาปรับปรุงการเปลี่ยนแปลง  กรณีที่ข้อคำถามหรือการเสนอความเห็นมีเหตุผลและมีน้ำหนัก  ต้องนำประเด็นเหล่านั้นไปปรับปรุงแก้ไข  อย่าดื้อรั้น
      5.  ปรับยุทธศาสตร์  และยุทธวิธี  ซุนวู  บอกว่า  รู้เขารู้เรา  รบร้อยครั้ง  ชนะร้อยครั้ง  ดังนั้นหากจะรบให้ชนะ  ต้องรู้จักพลิกแพลงยุทธวิธี  ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์  และจริงใจ

ผู้บริหารต้องตั้งคำถามกับตนเองก่อนว่า  หากเปลี่ยนแปลงแล้ว  ดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่?  แก้ปัญหาได้หรือไม่?  ถ้าล้มเหลวจะทำอย่างไร?  ถ้ายังหาคำตอบไม่ได้  อย่าเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างของการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่สำเร็จคือ  การเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัย  จากส่วนราชการไปเป็น  มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ถ้าการบริหารปกติ  ยาก  การบริหารการเปลี่ยนแปลง  ยากกว่า ครับ
เพราะต้องเริ่มต้นที่ตัวผู้บริหารก่อน

หมายเลขบันทึก: 92884เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2007 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ถ้ายังหาคำตอบไม่ได้  อย่าเปลี่ยนแปลง
  • ชอบคำนี้ครับ ขอนำองค์ความรูดังกล่าวติดสมองไปใช้
  • ขอบคุณครับ

บีเวอร์

  • ครูภูมิใจในตัวลูกศิษย์คนนี้ เพราะได้อ่านบล็อกบ่อยครั้ง 
  • ส่วนที่ชอบคำว่า  ถ้ายังหาคำตอบไม่ได้ อย่าเปลี่ยนแปลง นั้น  ประโยคนี้มี 2 นัย ที่ต้องคิดหาเส้นแบ่งระหว่าง "ความรอบคอบ กับการกล้าเปลี่ยนแปลง"
  • ผู้นำต้องใช้วิจารณญาณ ด้วย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท