"วัฒนธรรม(ในความหมายอย่างไทย)"=Culture?


หากเรายอมรับความหมายของวัฒนธรรมว่าเป็นวิถีการดำเนินชีวิต ทุกอย่างจะเข้าใจง่ายขึ้น ปัญหาก็จะชัดเจน

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้อ่านบทความหนึ่งในหนังสือพิมพ์มติชน เรื่อง "ขี้หมาหน้าบ้าน" เขียนโดย คุณโกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ซึ่งขยายความไปสู่ประเด็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมจากการได้อ่านเรื่องชื่อเดียวกันนี้ของน.สพ.ปานเทพ รัตนากร ในต่วย'ตูน ที่ว่าด้วยเรื่องของวิธีการแก้ปัญหาที่มีคุณหมา(ของคนอื่น)มาทำเลอะที่หน้าบ้านทุกวัน มีข้อแนะนำถึง 10 ประการ

อ่านข้อแนะนำก็ขำมาก แต่ที่คิดว่ามีประโยชน์มากอยากนำมาเล่าและวิพากษ์กันต่อเป็นเรื่องของคำว่า "วัฒนธรรม" ที่คุณโกวิทได้ชี้ให้เห็นความหมายที่ความแตกต่างกันในวิธีคิดของคนไทยกับฝรั่งต่อคำๆนี้

 แม้ว่าคุณโกวิท จะหยิบเรื่องวัฒนธรรมขึ้นมาวิพากษ์โดยอาศัยเรื่องเลอะๆโดยหมา แต่คำอธิบายถึงความแตกต่างดังกล่าวจะทำให้เข้าใจกิจกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบในสังคมไทยที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกแปลกๆเช่นรณรงค์การคัดลายมือ รณรงค์ให้วัยรุ่นใช้ผ้าไทยแต่งอย่างไทยโดยการจัดเดินแฟชั่น

คุณโกวิท ฟันธงว่าคำว่า"วัฒนธรรม"ในภาษาไทยนั้นมีความหมายไม่ตรงกับคำว่า"Culture" ในภาษาอังกฤษ โดยอธิบายว่า

คำว่าculture มีรากเดิมจากคำว่า agriculture คือการเพาะปลูก

ดังนั้น culture คือการปลูกฝังวิถีการดำเนินชีวิตธรรมดาๆตั้งแต่เกิดจนตายนั่นเอง

เช่นคนไทยปลูกข้าวเจ้าแล้วก็กินข้าวเจ้า ส่วนฝรั่งปลูกข้าวสาลีแล้วก็เอาข้าวสาลีนำมาทำเป็นแป้งเพื่อทำเป็นขนมปังกินกันเป็นอาหารหลัก สำหรับการแต่งงานของคนไทยฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ส่วนฝรั่งแต่งงานผู้หญิงต้องไปอยู่บ้านผู้ชาย ในเรื่องเกี่ยวกับการตาย การทำศพ คนไทยเผาศพ ส่วนฝรั่งใช้การฝัง

วิธีการเหล่านี้แหละที่เรียกว่า culture

แต่วัฒนธรรมที่คนไทยเข้าใจกันนั้นเป็นเรื่องของสิ่งที่ดีงาม โดยเฉพาะต้องเป็นสิ่งที่ดีงามแบบไทยอีกด้วย

ซึ่งเข้าใจยากและเข้าใจไม่ตรงกันเสมอ   เพราะไม่มีใครอธิบายชัดๆเลยว่าวัฒนธรรมที่ดีงามแบบไทยนั้นคืออะไรแน่

คุณโกวิทชี้ว่าคนไทยเป็นจำนวนมากไพล่ไปเข้าใจว่าวิธีหลอกเอาสตางค์ฝรั่ง เช่นเอาผู้หญิงมาแต่งชุดไทยที่คิดขึ้นมาไม่กี่สิบปีมานี้เองที่เป็นชุดทรมานผู้สวมใส่อย่างมากเพราะต้องแขม่วท้องตลอดเวลา และหายใจแรงๆก็ไม่ได้ มานั่งแกะสลัก ผัก ผลไม้ หรือการที่เอาคนมาแต่งชุดลิเกสวมชฎาแล้วคิดว่านั่นคือวัฒนธรรมไทย

คุณโกวิทเน้นว่า หากเรายอมรับความหมายของวัฒนธรรมว่าเป็นวิถีการดำเนินชีวิต ทุกอย่างจะเข้าใจง่ายขึ้น ปัญหาก็จะชัดเจน ซึ่งหากรู้และเข้าใจปัญหาอย่างกระจ่าง แล้วการแก้ปัญหาจะง่ายขึ้น ไม่เหมือนกับการที่ยังไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร อย่างการใช้คำว่าวัฒนธรรมที่ดีงามแบบไทยย่อมจะไม่มีทางแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาด เพราะไม่มีใครรู้ว่าวัฒนธรรมที่ดีงามแบบไทยนั้นคืออะไรนั่นเอง

ในมุมมองของคุณโกวิท เราควรจะสอนเรื่อง "วัฒนธรรม" ในความหมายของ culture แทนที่จะเป็นการสวมชุดไทยแขม่วท้องแต่อย่างเดียว เพราะว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนไปให้เหมาะสมกับกาลเวลา การเรียนรู้ปัญหาและเท่าทันปัญหาย่อมทำให้แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อมองในมุมของการจัดการความรู้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าKM กับCulture นั้นไปในทิศทางเดียวกัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 91841เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2007 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีค่ะ

ในความเข้าใจ ของดิฉัน เข้าใจว่า หมายถึง วิถีการดำเนินชีวิต ตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า (The way of life)

   วัฒนธรรม หมายถึง วิถีแห่งการดำรงชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ  นับตั้งแต่การดำรงชีวิติในแต่ละวัน การกิน การอยู่ การแต่งกาย การพักผ่อน การทำงาน การจราจรการขนส่ง การแสดงอารมณ์ การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งวิถีชีวิตนั้น เริ่มมาจากการที่มีต้นแบบ อาจจะเป็นตัวบุคคลแล้วมีคนส่วนใหญ่ หรือประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นด้วยและ ปฏิบัติสืบทอดกันมา โดยสิ่งนั้นต้องเป็นสิ่งที่ดีงามเพื่อดำรงไว้ซึ่ง วัฒนธรรมไทย ตราบจบชั่วลูกชั่วหลาน

แต่การแต่งกายคับๆมาแสดงที่กล่าว น่า จะมุ่งการค้า การท่องเที่ยว ก็จะเว่อร์ๆหน่อย คิดว่า นักท่องเที่ยว ก็เข้าใจนะคะ

สวัสดีค่ะ

เบิร์ดเห็นด้วยกับคุณ sasinanda ค่ะ

วัฒนธรรมหมายถึงการดำเนินชีวิต ที่เป็นไปในทางที่ดี ( วัฒน = เจริญงอกงาม )

ขอบคุณค่ะที่ทำให้ได้ข้อคิดในวันดีๆวันนี้

P สวัสดีค่ะคุณsasinanda และ
Pคุณเบิร์ด
ขอบคุณที่มาร่วมให้ข้อคิดเห็นกันค่ะ
คิดว่าที่คุณโกวิทยกเรื่องแต่งชุดไทยคับๆเป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งที่คนสมัยนี้ที่พอจะจับเรื่องวัฒนธรรมแล้วมัวไปติดอยู่ที่แค่สิ่งที่มองเห็น แล้วก็ปรุงเว่อร์ๆไปอย่างที่คุณsasinandaกล่าว โดยไม่มีความเข้าใจ "วิถี"และบริบทที่สิ่งนั้นได้ถือกำเนิดขึ้น ดำรงอยู่ ปรับเปลี่ยน และสืบทอดต่อคนรุ่นต่อไป
ดิฉันก็เชื่อว่าฝรั่งที่มีการศึกษาและเห็นโลกกว้างคงเข้าใจดีระหว่างของจริงกับของกลายพันธ์ เราจึงเห็นชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ซอกซอนไปในชนบทไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน ชาวเขา  อย่างเข้าถึงและเข้าใจคำว่าวัฒนธรรม
ในบล็อกดิฉันชื่นชมหลายท่านที่ทำงานเพื่อสังคมอย่างเข้าใจวัฒนธรรมที่มีความหมายอย่างคำว่าculture เช่นคุณบางทรายและคุณจตุพร เป็นต้นค่ะ

ส่วนตัวผมเห็นว่า คำว่า "วัฒนธรรม" เป็นคำที่ไม่นิ่งนะครับ และมันไม่สมควรจะนิ่ง (static) หรือถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานแบบใดแบบหนึ่ง (Standardization)

 เพราะนั่นหมายความว่า เราจะไม่เปิดโอกาสให้สังคม ชนกลุ่มต่างๆมีสิทธิที่จะตีความสิ่งต่างๆให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพวกเขา

การใช้อำนาจที่ซ่อนเร้นสำคัญของรัฐก็ดี ของการศึกษาสมัยใหม่ก็ดี มักจะยึกติดอยู่ที่การผูกขาด "ความรู้" โดยการแช่แข็งนิยามความหมายของสิ่งต่างๆให้มีความหมายเดียว และเป็นความหมายที่คนบางกลุ่มได้อำนาจไปกดทับคนกลุ่มอื่นๆ

เช่น ผู้ชายอาจจะนิยาม " การแต่งงาน " ต่างจากผู้หญิง , วัยรุ่นนิยาม "ระเบียบวินัย" ต่างจากผู้อำนวยการโรงเรียน , หญิงค้าบริการ นิยามการใช้เรือนร่างตนเอง ต่างจากนักบวช

นิยามทางวัฒนธรรมก็เช่นเดียวกันครับ ประเทศมหาอำนาจเคยสร้าง และใช้ (และยังใช้อยู่) นิยามคำว่า "อารยธรรม" หรือความศิวิไลซ์ ไปเที่ยวจัดลำดับชนพื้นเมืองว่าต่ำต้อย และสมควรที่จะได้รับ "การพัฒนา" ดังนั้น จึงชอบธรรมให้พวกตนเข้าไปยึดครองในฐานะ"ผู้ปลดปล่อย"

แต่แท้จริงแล้ว มหาอำนาจเหล่านั้น ไปปลดปล่อยหรือไปดูดกลืนเอาทรัพยากรต่างๆมากมายแค่ไหน พวกเราคงรู้ๆกันอยู่นะครับ

ทางสังคมวิทยามานุษยวิทยา เรามักจะใช้กระบวนการสร้างความหมายอย่างนี้ว่า การสร้าง "วาทกรรม" ครับ (ไม่รู้ว่าผมเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่า)

และผมคิดว่า สังคมไทยส่วนใหญ่ รวมถึงนักวิชาการกระแสหลักทั้งหลาย ยังติดอยู่ใน "กับดัก" ทางความคิดแบบนี้อยู่

คือมันทำให้ เสียงและความคิดของคนเล็กๆน้อยๆ คนด้อยโอกาสไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก และต้องยอมจำนนอยู่ใน "ถ้อยคำ หรือ ""ความจริง" ที่คนกลุ่มอื่นสร้างขึ้นมาควบคุมพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม

ส่วนหนึ่งที่จะปลดปล่อยมนุษย์อย่างเราๆให้เป็นอิระได้ เราต้องรู้ตัวก่อนครับว่า เราถูกครอบงำ กักขังอยู่ภายใต้ "คำ" ที่ใครสร้างขึ้น และมันมีผลต่อตัวเราและผู้อื่นอย่างไร

มิฉะนั้น เราเองก็อาจจะไปผลิตซ้ำอำนาจกดขี่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวก็ได้นะครับ 

ผมเองก็ยังติดอยู่ในความคิดแคบๆอยู่มาก ก็พยายามสลัดแอกที่แบกอยู่นี้ออกไปเรื่อยๆครับ

เห็นด้วยกับคุณยอดดอยอย่างยิ่ง หากเราไม่เข้าใจเรื่องของวิถีและบริบท เราก็จะถูกลากไปติดกับดัก standardization จนหาตัวเองไม่พบ การรู้ตัว รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และมีความเท่าทันโลกจะทำให้เรามีอิสระ มีวัฒนธรรมที่งอกงามอยู่ในบริบทของตนเอง

วัฒนธรรมจึงส่งเสริมความหลากหลาย ความหลากหลายเป็นความงดงามในตัวของมันเอง

ขอบคุณที่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะคะ ตัวเองก็ไม่ได้รู้วิชาการทางสังคมวิทยามานุษยวิทยานัก พูดจากประสบการณ์และความรู้สึกของคนที่อยู่นอกกระแสหลักเป็นส่วนใหญ่ค่ะ

 

 

 

ผมพยายามเข้าใจกับสิ่งที่เห็นอยู่แบบ "คนใน" ผมพยายามซึมซับสิ่งที่เป็นอยู่ อย่าง "คนใน" แต่เราไม่ใช่คนใน จึงพยายาม พยายาม สลัดคราบคนเมืองออก เพื่อเข้าใจเขาเหล่านั้น ให้เข้าใกล้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะวัฒนธรรมคือแก่นแกนของการดำเนินชีวิต จึงเกาะติดแล้วค่อยๆแกะออกมาทำความเข้าใจ ผมเห็นด้วยครับ โอย..คุณนาย ขอบคุณที่เอ่อยนามนะครับ
  • ไม่อยากให้คนไทย
  • ตามแบบฝรั่งครับ
  • อาจารย์สร้งแพลนเน็ตนะครับ
  • ไปที่แผงควบคุม
  • เลือกจัดการแพลนเน็ต
  • กดที่ สร้างแพลนเน็ต
  • เพื่อเชื่อมโยงกับคนที่เราสนใจครับผม
  • ขอบคุณครับ
  • ลองทำดูนะครับ
Pพี่บางทรายเป็นคนที่เป็นตัวอย่างที่ดีได้(แถมเป็นลูกช้างอีกด้วย)ไม่ปลื้มได้อย่างไรคะ
น้องคุณนายฯคิดว่าการทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเราเราต้องมองอย่างไม่ตัดสินโดยการใช้มาตรฐานของเรา พยายามเห็นทุกอย่างตามที่มันเป็น ไม่ไปปรุงแต่งด้วยความคิดของตัวเอง ไปคิดแทน ที่สำคัญต้องมองแบบช้าๆ ไม่ใช่ผ่านๆจึงจะเห็นเนื้อแท้
Pขอบคุณในคำแนะนำสร้างแพลนเน็ตค่ะ จะลองทำดูค่ะ
ดีใจที่คิดตรงกันว่าเราไม่ควรตามแบบฝรั่ง เรียนรู้ จากเขาได้แต่ไม่ใช่ เลียนแบบ เหมือนน่าจะเข้าใจได้ง่ายแต่ไม่ค่อยมีคนเข้าใจนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท