อุดมศึกษาไทย...ตกต่ำ... T_T


เคยเจอเจ้าของบริษัทฯ ที่เป็นรุ่นพี่บางคน เขาบอกเลยว่าถ้าจบวิศวฯ ป.ตรี จาก........... มาจะบอกเลยว่า "งานที่ให้ทำน่ะเป็นงานคุมงานหน้างาน เงินเดือนเท่า ปวส. นะ จะทำหรือไม่ทำ.... " เขาให้เหตุผลว่าเด็กจบใหม่จากสถาบันนั้นๆ ไม่มี engineering sense เลย... ทำงานตามสั่งได้อย่างเดียว

เพิ่งเขียนบันทึกเรื่อง world-class university ไปเมื่อไม่กี่วันที่แล้ว เพิ่งเขียนข้อคิดเห็นกับคุณอนิลฑิตา ไปหยกๆ ว่า..

...ตอนนี้มหาวิทยาลัย(เกือบ)เหมือนโรงงานผลิตสินค้าเกรดต่ำ ปั้มเอาจำนวนไว้ก่อน คุณภาพไม่ต้องเช็ค เพราะขายถูก เน้น volume ไว้ก่อน เพราะฉะนั้น Foreman หรือผู้จัดการ line ผลิตอย่างดิฉันก็กลุ้มใจเหมือนที่คุณอนิลฑิตารู้สึก เพราะเรื่องหลายเรื่องอยู่นอกเหนืออำนาจที่จะแก้ไข ไม่สามารถแก้ไขระบบผลิตของโรงงานในภาพรวมด้วยตัวเองคนเดียว  แล้วพอยอดขายตก หรือ defect เยอะก็จะถูกด่า จากทั้งเจ้าของโรงงานและลูกค้า ตอนนี้ความเชื่อถือใน brand สินค้าเกือบไม่เหลือแล้วเหมือนกัน ....

เมื่อกี้เพิ่งอ่านข่าวในมติชนออนไลน์ ฉบับวันที่ 20 เมษายน ๒๕๕๐ เรื่อง "รมช.ศธ.ชี้"อุดมศึกษา"ตกต่ำ" ที่ท่านรมช. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

"นอกจากนี้ ผมเชื่อว่าแนวโน้มในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะต้องเป็นยุคแห่งการปรับปรุงการศึกษาในระดับอุดมศึกษากันใหม่ โดยผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจะต้องกลับไปเรียนเพิ่มเติมใหม่ เพื่อให้มีทักษะความเชี่ยวชาญตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาไทยมุ่งผลิตบัณฑิตออกมาในลักษณะของโรงงานผลิต คือเน้นปริมาณมาก ทำให้คุณภาพลดน้อยลงและไม่มีทักษะที่จะทำงาน จึงเกิดปัญหาประสิทธิภาพการทำงานต่ำกว่าวุฒิ เช่น คนเรียนจบปริญญาตรีแต่ไปทำงานในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือจบ ปวส.แต่ต้องไปทำงานในวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยสถานการณ์นี้จะทรงตัวอยู่ระยะหนึ่ง และถ้าเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น ผมเชื่อว่าแม้แต่ผู้ที่จบระดับ ปวช.ก็จะไม่มีงานให้ทำ ถ้าไม่มีทักษะฝีมือที่ตรงกับตลาดแรงงาน"

ดีใจที่ท่านเห็นปัญหาแบบเดียวกัน....  แต่ก็เศร้าใจที่บ้านเมืองเราต้องเป็นแบบนี้ คนเรียนจบวุฒิหนึ่ง แต่ทำงานไม่ได้ตามวุฒิ ต้องไปทำงานวุฒิที่ต่ำกว่า เพราะ ๑. ตำแหน่งงานไม่มีจริง ไม่มีงานให้ทำ และ ๒. ฝีมือไม่มีจริง ....

เคยเจอเจ้าของบริษัทฯ ที่เป็นรุ่นพี่บางคน เขาบอกเลยว่าถ้าจบวิศวฯ  ป.ตรี จาก........... มาจะบอกเลยว่า   "งานที่ให้ทำน่ะเป็นงานคุมงานหน้างาน เงินเดือนเท่า ปวส. นะ จะทำหรือไม่ทำ.... "   เขาให้เหตุผลว่าเด็กจบใหม่จากสถาบันนั้นๆ ไม่มี engineering sense เลย... ทำงานตามสั่งได้อย่างเดียว

ข้อมูลที่ได้รับมา ตรงกันหมดทุกทางว่าปัญหานี้มีจริง และหนักจริงๆ

ในบันทึกเรื่อง world-class university นี้ดิฉันได้เขียนตอบคุณ sasinanda ไว้อีกว่า

....ตอนนี้บ้านเราขาดคนทำงาน field work ที่เก่งๆ โดยเฉพาะในสาขาช่าง หรือวิศวกรรมค่ะ คือวิศวกรที่ทำอะไรไม่ค่อยเป็นล้นตลาด ใครๆ ก็เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์กันเกร่อไปหมด แต่ช่างเก่งๆ ที่เป็นรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยมีค่ะ ดิฉันกำลังรอดูอีกสัก 10-15 ปี เวลาที่ช่างเก่งๆ เกษียณหมดแล้ว อุตสาหกรรมไทยจะเป็นอย่างไร (ไม่อยากจะคิดเลยค่ะ...)

ที่เอามาฉายซ้ำในบันทึกนี้ เพราะอยากให้คนอ่านรู้จริงๆ ว่าเรามีปัญหาการศึกษาในภาพรวมขนาดไหน...

มีเพื่อนเคยบอกว่า บางทีเราก็มาพูดกันเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ อีกแล้ว ทุกคนรู้ปัญหาอยู่แล้ว ...  ลงมือทำจะดีกว่า....  จริงค่ะจริง.... 

ฝากทุกท่านที่เกี่ยวข้องด้วยนะคะ ช่วยกันคนละไม้ คนละมือค่ะ มันจะต้องดีขึ้นบ้างแหละค่ะ   ไม่งั้นก็ถือเสียว่าดิฉันขออนุญาตบ่นกับคนกลุ่มใหญ่เป็น therapy บำบัดจิตให้กับตัวเองก็แล้วกัน....

หมายเลขบันทึก: 91563เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2007 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (41)

ได้ยินมามากเหมือนค่ะ จากผู้ใช้บัณฑิต ว่าบัณฑิตสมัยนี้ ต้องจับมาฝึกมาสอนก่อนจึงจะทำงานได้ เจองานหนักก็ไม่สู้ เดี๋ยวเปลี่ยนเดี๋ยวย้ายงาน ... แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดนะค่ะ ที่ดีก็มี แต่ที่มีปัญหาก็มากขึ้น

คงจะจริงอย่างที่ท่านรมช. ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ว่าแหละค่ะ...เราเร่งผลิตบัณฑิต ป.ตรี กันมากเกินไป ทั้งเปิดมหาวิทยาลัย จำนวนมากๆ รับนักศึกษาจำนวนมากๆ ... จนกลายเป็นได้แต่ปริมาณ คุณภาพไม่ได้...ต่อไปจบตรีไม่มีงานทำ ต่อเรียนต่อโท แล้วก็เลื่อนๆไปเป็นจบเอกจึงจะมีงานทำ...

ในขณะที่การจัดการศึกษาเพื่อเตรียมเยาวชนคนเข้าสู่การทำงานตกต่ำ การจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำงานอยู่แล้วก็ไม่อยู่ในความสนใจของรัฐด้วย ยิ่งไปกันใหญ่ ผมเพิ่งคอมเมนต์บทความของอาจารย์ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ที่ลงในมติชนฉบับวันที่ ๑๗ เมษ.๕๐ ในบันทึกชื่อ ชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน http://gotoknow.org/blog/surachetv/90758 อยากให้อาจารย์อ่านดูครับ
  • หวัดดี ตามมาเจ๊าะแจ๊ะด้วยครับ
  • เห็นด้วย เข้าใจ บ่นออกมาเถอะ เพราะผมก็บ่นมามากพอสมควร
  • ผมอยากให้มาฝึกงานสนามกับผมสัก 2-3 เดือน จะเอา หลักสูตร แนหแระรผฟะรนื
  • กดมือพลาดไปหน่อยครับ เอาใหม่
  • เห็นด้วย เข้าใจ บ่นออกมาเถอะ เพราะผมก็บ่นมามากพอสมควร
  • ในทัศนะผม น่าที่จะมีการฝึกงานสนาม และงานสนามมิใช่ฝากหน่วยงานนั้นๆทำงาน แต่เป็นสนามที่เป็นหลักสูตรหนึ่ง มีรายละเอียดชัดเจน และเน้นการสร้างทัศนคติ ในการทำงาน เน้นความรับผิดชอบการทำงาน เน้นการนำความรู้มาใช้ เน้นการแก้ปัญหาในงานที่รับผิดชอบ และให้รับภาระกิจงานที่หนักๆ เพื่อสร้างให้เขาเรียนรู้งานของจริง  แล้วมีกระบวนการ reflection และต้องเอาการประเมินผลหนักๆ แบบหากไม่ได้เรื่องจริงๆก็ไม่ผ่านให้
  • ข้างบนเป็นเสี้ยวส่วนหนึ่งของการพัฒนาหลักสูตรนะครับ ผมละอยากฝึกพวกนี้จริงๆ  จะเอาให้หนักเลย อิ อิ..

ใครๆ ก็เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์กันเกร่อไปหมด แต่ช่างเก่งๆ ที่เป็นรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยมีค่ะ  

ตอนนี้แพทย์ก็กำลังจะเข้าวงจรนี้เหมือนกันครับ บางมหาวิทยาลัยเปิดรับโดยที่ยังไม่รู้เลยว่าจะส่งนักเรียนแพทย์ไปฝึกที่โรงพยาบาลที่กำหนดได้ไหม  ผมถามแพทย์ที่เขาอยู่ในโรงพยาบาลนั้น ก็บ่นว่าวันๆ ตรวจคนไข้เป็น 30-40 คน จนหมดแรงแล้ว แค่จะทำงานให้ดียังทำไม่ได้เลย จะเอาเวลาที่ไหนมาสอน  ฟังแล้วห่อเหี่ยวใจครับ

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยากเปิดเพราะเห็นแก่เงิน ผอ.โรงพยาบาลก็อยากรับนักเรียนแพทย์มาฝึกงานเพราะเห็นแก่เงินและชื่อเสียงจอมปลอม

แต่กรรมตกอยู่ที่นักเรียนกับประชาชนครับ

ผมว่ามันเป็นทั้งระบบเลยละครับ ไม่ใช้แต่อุดมศึกษาหรอก ถ้าจะจริงจังกันควรเริ่มในระดับอนุบาลเลยครับ จะสอนให้คิดเป็น จะสอนให้ชอบอ่านหนังสือ จะสอนให้เป็นคนดีก็ต้องเริ่มตั้งแต่เล็กๆนะครับ...

ผมสอนสถาปัตยกรรมครับวิชาออกแบบ เดี๋ยวนี้นักศึกษาถามเลยว่าอาจารย์ชอบแบบไหน ??? ไม่คิดเองกันเลยหรือนี้ ??? งงมากเลยครับ ต้องมานั่งปรับทัศนคติกันใหม่ อนาคตของชาติทั้งนั้น...

เศร้าครับ แต่ก็ต้องพยายามต่อไป...

โอชกร

สวัสดีค่ะ อ. P paew

  • เท่าที่อ่านจากข้อคิดเห็นของทุกท่าน รวมถึงท่าน รมช. เราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คุณภาพของบัณฑิตต่ำลง อุตสาหกรรมกำลังเริ่มมีปฏิกิริยาที่ชัดเจน
  • ดิฉันว่าถ้าอุตสาหกรรมใดยังมีงานอยู่ อุตสาหกรรมก็คงจะจำยอมที่จะรับเข้าไปแล้ว train หรือ retrain เพิ่มในส่วนที่เขาต้องการ  แต่ถ้าเศรษฐกิจใน sector นั้นไม่ดีก็คงไม่มีการจ้างงาน คราวนี้ก็คงจะเกิดสถานการณ์ตามที่ รมช.ว่าไว้
  • ดิฉันว่า เราไม่เคยปรับปรุงหลักสูตรให้ได้รวดเร็วทันตามที่อุตสาหกรรมต้องการ คือไม่เคยมีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่ายังมี need ในสาขานี้หรือไม่
  • เราเปิดหลักสูตรแล้วปรับปรุงน้อยมาก แล้วก็ไม่มีใครยอมรับและปิดหลักสูตรเท่าใดหรอกค่ะ เท่าที่ดิฉันทราบ ไม่มีการปิดหรือยกเลิกหลักสูตร แต่การไม่มีนโนยายรับนักศึกษาต่อไป คือการปิดแบบกลายๆ ค่ะ (อันนี้ถ้าอาจารย์หรือใครมีข้อมูล ฝาก ลปรร ด้วยนะคะ อยากรู้ค่ะ ว่าเขามีปิดหลักสูตรกันหรือไม่) ถ้าไม่มีการปิดหลักสูตรเลย แล้วหลักสูตรปรับน้อยมาก ก็เท่ากับเราผลิตบัณฑิตที่อาจไม่ตอบสนองสังคมที่เปลี่ยนไปอีกแล้ว
  • เรื่องที่ต่อไปคนจะเรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มีงานทำนั้น ตอนนี้ดิฉันว่าก็เริ่มมีปัญหาแล้วค่ะ ตอนนี้มีการเปิดหลักสูตร ป.โท บางหลักสูตร ที่ค่อนข้างทับซ้อนกัน เพื่อแย่งตลาดบางตลาดค่ะ อีกพักก็จะเกร่อ เยอะเกินและขาดคุณภาพ แล้วก็เข้า cycle นี้เหมือนเดิมค่ะ
  • ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามาให้ข้อคิดเห็นนะคะ

สวัสดีค่ะ อ. P นาย สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

     ดิฉันได้อ่านข่าวนี้ในมติชนเช่นกันค่ะ แต่วันนั้นไม่มีเวลา comment ได้แต่รู้สึกเซ็งๆ แค่เห็นแนวคิดที่เวียดนามคิดเกี่ยวกับการศึกษาก็รู้แล้วว่า เราจะสู้เขาไม่ได้(ตอนนี้หรือ)ในอนาคต

     ดิฉันเคยพบคนเวียดนามตอนไปสัมมนาเมื่อสัก ๘ ปีที่แล้ว รู้เลยว่าเขามีความคิดรักชาติและ conservative ขนาดไหน ตอนคุยกับเขาได้ความรู้สึกเลยว่าเขามองประเทศไทยอย่างไร ประมาณว่าเราทำลายสิ่งแวดล้อมเยอะและวัตถุนิยมมากๆ ...  (ก็จริงของเขา)

     ดิฉันเห็นด้วยกับท่าน รมช. ที่ท่านกล่าวว่า "การปฏิรูปการศึกษาคือการปฏิรูปคนในวงการศึกษา" แต่อย่างที่เขาว่ากันนะคะ ว่าสอนใครสอนได้ แต่อย่าได้ริมาสอนครูสอนพระ ประมาณนั้น.... เราคงเคยพบคนที่ยึดติดกับความคิดเดิมๆ ไม่มองว่าต้องปรับปรุงตัวเอง แต่มองว่าคนอื่นต้องเปลี่ยนให้ได้ตามเขาทั้งหมด เน้น complain มากกว่าทำ... เฮ้อ... แต่ก็ไม่ใช่เป็นกันหมด เพียงแต่คนกลุ่มนี้ทำให้คนที่เข้ามาทำงานใหม่เกิดความสับสน ทำให้บางคนอาจมีทัศนคติที่ผิดๆ เรื่องคนนี้แก้ยากจริงๆ...

     นโยบายและมาตรการจากฝ่ายบริหารสำคัญค่ะในกรณีข้างต้น แต่ก็อย่างว่าแหละค่ะ ถ้าผู้บริหารยังมีแนวคิดว่าที่ทำอยู่นี้ดีอยู่แล้ว หรือเกรงใจคน หรือเป็นคนแบบนั้นเสียเอง มองไม่เห็นผลเสียเลย ก็จบ...เห่..ค่ะ

     ดีใจที่อาจารย์ได้ยกให้เห็นว่ามีการดำเนินการแก้ไขเตรียมความพร้อมในทุกระดับ โดยไม่รอการสั่งการจากรัฐ หรือนโยบายของใคร แต่มันน่าเสียดายที่การระดมพล ร่วมกันทำนี้อาจมากันคนละแนว คนละทิศ แล้ว timing ที่ไม่สอดคล้องกัน อาจทำให้ผลกระทบด้านดีที่ควรจะมีมาก มันน้อยลงจนบางทีมองไม่เห็น  แต่ดิฉันเห็นด้วยนะคะ ที่รอไม่ได้ค่ะ ถึงผลของสิ่งที่เราพยายามทำการเปลี่ยนแปลงนั้นมีน้อย ก็ยังดีกว่าไม่มีค่ะ

     ขอบคุณอาจารย์มากนะคะ ที่เข้ามา ลปรร จะติดตามอ่านบันทึกต่อไปของอาจารย์เรื่อง "การศึกษานั้นแพง แต่ความไม่รู้แพงยิ่งกว่า" นะคะ

  • ถ้าจะจริง
  • เริ่มสงสาวิศวกรน้อยๆ
  • จะเริ่มตกงานแล้วครับ
  • อันนี้น่ากลัวจังเลยครับ
  • ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาไทยมุ่งผลิตบัณฑิตออกมาในลักษณะของโรงงานผลิต คือเน้นปริมาณมาก ทำให้คุณภาพลดน้อยลงและไม่มีทักษะที่จะทำงาน

สวัสดีค่ะ คุณ P บางทราย (คนเข็นครก ขึ้นภูเขา)

  • ขอบคุณที่เข้าใจค่ะว่าดิฉันอึดอัด...55555
  • ตอนนี้กลายเป็นคนขี้บ่น : ) ต้องพยายามเตือนตัวเองให้คิดแล้วทำด้วย ไม่อยากเป็นแบบคิดแล้วบ่น... แต่ไม่ทำ
  • การทำงานสนามจริง เป็นเรื่องที่ช่วยได้มากจริงๆ ค่ะ กำลังคิดว่าจะสอดแทรกยังไง ในวิชาที่ตัวเองสอน... กับเวลาอันจำกัดที่มีใช้ในการสอน และเนื้อหาที่ต้องสอน แล้วก็ที่สำคัญที่สุดคือ จำนวนคนที่ต้องสอนใน ๑ ชั้นปี....
  • กำลังว่าจะ experiment ในเทอมหน้า ได้ผลอย่างไรแล้วจะมาเล่าสู่กันฟัง
  • ถ้าไม่ได้ผล... จะส่งไปฝึกสนามกับคุณบางทรายให้หมดเลย.....  55555  พูดเล่นนะคะ
  • ขอบคุณที่แวะเข้ามาให้ข้อคิดเห็นดีๆ นะคะ ขอบคุณมากค่ะ .... ; )

สวัสดีค่ะอาจารย์ ดร. กมลวัลย์ ลือประเสริฐ

  • ครูอ้อยไม่มีความรู้ในเรื่องนี้อย่าง...ถ่องแท้  เลยไม่กล้าแสดงความคิดเห็น
  • แต่ครูอ้อยมีความรู้สึกค่ะ  รู้สึกไม่ค่อยดี  ไม่ใช่ไม่ค่อยดีที่อ่านบันทึกของอาจารย์นะคะ  แต่ไม่ค่อยดีเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองของเราค่ะ
  • เมื่อก่อนนี้ก็จะว่า  ครู  ผลิตออกมามากมายแล้วไมคุณภาพ
  • ปัจจุบันนี้  กระเถิบไปถึง  วิศวฯ  แล้วเหรอคะ

อุ๊ย ว้าย กรี๊ด....ขออภัยค่ะ  แสดงความรู้สึกมากไปนิด  แต่..จริงใจค่ะ   คุยกับอาจารย์แล้ว..สนุกดีค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณหมอ P มาโนช

  • น่าเสียดายและน่ากลัวจริงๆ ถ้าเรื่องนี้เกิดกับวงการแพทย์เหมือนกัน
  • เรื่องการแข่งกันผลิตวิศวกรนั้น ดิฉันคิดว่าเกิดขึ้นเพราะ bubble economy ค่ะ มีช่วงที่แนวโน้มเศรษฐกิจดี วิศวกรเป็นที่ต้องการ ก็แย่งกัน ผลิต แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ค่ะ แต่เรายังผลิตกันแบบไม่ดู need และไม่ค่อยพร้อม ก็เลยเข้าสู่วงจรนี้
  • กำลังพยายามหาคำตอบว่า การผลิตแพทย์ จะเข้าวงจรแบบนี้ได้อย่างไร สงสัยประชากรเพิ่มขึ้น คนอายุยืนขึ้นด้วย และโรคประหลาดก็มีมากขึ้น แล้วแพทย์ตามชนบทห่างไกลก็คงขาดแคลน
  • ดิฉันว่ารัฐสนับสนุนให้เปิดรับสาขาแพทย์หรือวิศวฯ เยอะๆ  เพราะดูแล้วมี need (จริง โดยเฉพาะทางการแพทย์) แต่รัฐไม่ได้ดูความเสียหายที่จะเกิดจากวิศวกร หรือแพทย์ที่ไม่ได้คุณภาพ บางทีดิฉันว่ามันเป็นอะไรที่ประเมินค่าไม่ได้เลย เพราะชีวิตคนทั้งนั้น
  • เมื่อวานเย็นได้ยินข่าวเด็ก ๕ ขวบโดนประตูหน้าบ้านทับ อาการโคม่า สาเหตุอาจมาจากการเชื่อมที่จับยึดประตูที่ไม่ได้มาตรฐาน  หรือแม้แต่ข่าวที่ตึกทรุด ตึกร้าว ตึกถล่ม ที่เกิดจากวิศวกรคุมงานหรือออกแบบที่ไม่มีความรู้ก็มีเยอะในอดีตที่ผ่านมา
  • ส่วนเรื่องผู้บริหารที่เห็นแก่เงิน .... ก็คงเป็นกันทุกวงการ... ก็วนกลับมาที่คุณภาพการศึกษานี้อีกแหละค่ะ ถ้าการศึกษา การดูแลจากครอบครัว สามารถสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับคนได้ ปัญหาเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัวก็น่าจะลดลง  (แต่ต้องรอคนรุ่นหน้า)
  • ไม่รู้ว่า ไก่จะเกิดก่อนไข่ หรือ ไข่จะเกิดก่อนไก่ ค่ะคุณหมอ
  • ขอบคุณที่ ลปรร เป็นประจำนะคะ

สวัสดีค่ะ อ. P โอชกร - ภาคสุวรรณ

ขอบคุณที่ให้ข้อมูลนะคะ ว่าสาขาของอาจารย์ก็มีผลกระทบด้วย

เด็กๆ เดี๋ยวนี้บางคนเขาค่อนข้างมุ่งเป้าทำคะแนนค่ะ อยากทำให้ตรงกับคำตอบ แต่เขาไม่รู้ว่าเรากำลังพยายามสอนเขาให้ apply เป็น ให้มีความคิดสร้างสรรค์ create งานเป็น โดยเฉพาะในสายออกแบบหรือสถาปัตย์ ที่ดิฉันว่าความคิดสร้างสรรค์สำคัญต่อผลงานมากๆ

ดิฉันเจอบ่อยค่ะว่านักศึกษาบางคนถามว่า ทำไมเขาได้คะแนนน้อย ถ้าดิฉันตอบว่าแนวความคิดในการตอบปัญหาไม่ถูก เขาจะถามต่อว่า แล้วอาจารย์จะเพิ่มคะแนนให้ได้บ้างไหม อย่างไร แต่ไม่ถามว่าที่เขาทำผิดแนวน่ะ มันตรงไหนค่ะ

แต่ก็มีนักศึกษาบางคนนะคะ ที่น่ารักมาก ถ้าผิดนิดผิดหน่อยจะมาถามเลยว่า ผิดตรงไหนอย่างไร กลุ่มนี้ perfectionist ค่ะ ก็ให้เหตุผลไป แต่ดิฉันว่าระบบคะแนนก็มีผลทำให้เสียนะคะ เพราะนักศึกษาบางคนก็ยึดระบบคะแนนมากๆ แต่อย่างว่าล่ะค่ะ ถ้าไม่ให้เกรดไม่ให้คะแนน การวัดผลเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มมันยาก 

จริงที่อาจารย์ว่า เราต้องช่วยกันปรับทัศนคติ ช่วยกันสอนค่ะ

ขอบคุณที่ให้ความเห็น และ ลปรร นะคะ

 

สวัสดีค่ะ อ. P นาย ขจิต ฝอยทอง

  • ช่วงนี้ก่อสร้างไม่ค่อยดีด้วยค่ะ พวกวิศวฯโยธา ก็หงอยๆ กันไป
  • ตอนนี้มีแต่งานระดับยักษ์ mega-project ที่พอจะเป็นแหล่งงานสำหรับคนที่ qualified บางกลุ่มบ้างค่ะ
  • แต่ปัญหาภาพรวมที่ยกไว้ตอนคุยกับคุณหมอมาโนชน่ากลัวกว่าเยอะค่ะ
  • ขอบคุณนะคะ ที่แวะมาให้ความเห็น ; )

เห็นด้วยดังความเห็นอ.คุณหมอ P มาโนชครับ เพราะถามเพื่อนผมที่จบสาธารณสุขสอบนักวิชาการได้ แล้วสอบติดแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

ตอนนี้อยู่ปี 4 ขึ้นปี 5 

ตอนอยู่ปี 4 ไปเรียนที่โรงพยาบาลทั่วไปในจังหวัดหนึ่ง มีแพทย์ประจำที่เป็นศัลยแพทย์เพียง 1 คน ต้องอาศัยรุ่นพี่แพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียง มาช่วยสอนศัลยกรรม! 

มีอายุรแพทย์ 2 ท่าน สูติแพทย์ 2 ท่าน

เร่งผลิตแพทย์เพิ่มแต่ไม่ดูเรื่องคุณภาพ และการกระจายตัวของแพทย์

ซึ่งผมคิดว่ามันเกาไม่ตรงจุด 

สวัสดีค่ะครูอ้อย P สิริพร กุ่ยกระโทก

  • ไม่ได้แสดงความรู้สึกมากไปหรอกค่ะ ครูอ้อยขา
  • ความจริงก็คือความจริง ตอนนี้(ตามความเห็นตัวเอง) การผลิตวิศวกรมันเป็นอย่างนี้จริงๆ แต่อาจจะมีปัญหาคุณภาพมากน้อยต่างกันตามแต่ละสถาบันค่ะ
  • ต้องคอยดูแลที่ตัวเองดูแลอยู่ไม่ให้แย่ลงค่ะ พยายามค่ะ พยายาม...
  • ขอบคุณนะคะที่ comment ตรงไปตรงมาค่ะ ชอบค่ะ ; )

สวัสดีค่ะ P นายแพทย์ ปฏิภาคย์ นมะหุต

  • ดิฉันไม่ค่อยมีความรู้กับกระบวนการผลิตแพทย์ค่ะ แต่อ่านที่คุณหมอกับอ.หมอมาโนชเขียนแล้วคิดว่า พอเข้าใจมากขึ้นค่ะ ว่าตอนนี้ที่ฝึกงานของนักศึกษาแพทย์ไม่ค่อยมีใช่ไหมคะ คนสอนก็เหนื่อยด้วย ...
  • เคยคุยกับอาจารย์สายวิศวฯ ด้วยกันค่ะ เพราะเห็นความสำเร็จของวงการแพทย์ไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก (เพิ่งห็นข่าวความสำเร็จในการผ่าตัดแยก conjoined twin ไปไม่นานนี้) แล้วก็เห็นมีคนต่างชาติมารักษาที่บ้านเราเยอะ เพราะเราบริการดี มีฝึมือ และราคาย่อมเยาว์กว่ารักษาที่บ้านเขา
  • เราคุยกันว่าน่าอิจฉาที่ทางแพทย์มี case ให้ฝึกปฏิบัติตลอดเวลา งานทางด้านวิศวกรรมเนี่ย ไม่ค่อยมีโรงงานไหนหรอกค่ะ ที่วิ่งมาหาวิศวกรให้ช่วยแก้ปัญหาให้ เพราะฉะนั้น case เพื่อการศึกษา วิจัย พัฒนาของทางสายวิศวฯ จะน้อยมากๆ ทำให้พัฒนาไม่ออก ทุกอย่างแทบจะเป็นความลับทางการค้าไปหมด
  • ดิฉันอยากจะผลิตนักศึกษาให้ไปฝึกงานในโครงการก่อสร้างจริงๆ ทั้งหมดเหมือนกัน แต่เราทำเป็น mandatory ไม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมเขาไม่ร่วมฝึกกับเราด้วย เขามองนักศึกษาฝึกงาน ไม่ค่อยมีประโยชน์ค่ะ เขาต้องมาสอนงาน แป๊บเดียวแล้วก็ไป ทำอะไรไม่ค่อยเป็นค่ะ แถมต้องจ่ายเงินเดือนอีก เสียเวลาและกำไรหดด้วย (อันนี้ดิฉันประเมินในมุมมองเขานะคะ)
  • ทุกวันนี้นักศึกษาบางส่วนเลยต้องไปฝึกงานตอนจบไปทำงานแล้ว Hence นำมาซึ่งการต่อว่าของอุตสาหกรรมว่าบัณฑิตทำงานไม่เป็นค่ะ
  • ปัญหา ไก่ กับ ไข่ อีกแล้วค่ะ แต่อย่างไรก็ดี ดิฉันว่าการผลิตแพทย์อยู่ในภาวะที่ดีกว่าในกรณีนี้นะคะ เพราะมีคนมาให้รักษาแน่นอน แต่จะมีโรงพยาบาลพอหรือเปล่านั่นคงเป็นอีกเรื่องหนึ่งค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ ยินดีต้อนรับค่ะ

ควรจะมี ranking เฉพาะสาขาวิชา เช่น rank แต่วิศวโยธาฯ เป็นต้น  (แต่วัดอย่างไรก็น่าปวดหัวเหมือนกัน) อาจจะเอาหน้าที่การงานของนักเรียนที่จบไปแล้วมาวัดด้วย  ก็น่าจะทำให้มีการแข่งขันเชิงคุณภาพมากขึ้น?

บางคนเขามาเรียนจบไปก็ไม่ได้ไปเป็นวิศวกรอะครับ แบบนั้นไปเรียนที่ไหนอย่างไรก็ได้ ก็ปล่อยไป

ส่วนคนที่ขวนขวายอยากจะทำงานจริงๆ ก็ต้องไปหาที่ดีๆ เรียนเอง เพียงแต่ว่ามันมีที่ดีให้เขาไปหรือเปล่า? 

สวัสดีค่ะ คุณ P บ่าววีร์

  • เพิ่งมาเห็นว่ามาคุณบ่าววีร์มาตอบที่บันทึกด้วย
  • ขอบคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ

เรื่องการปิดหลักสูตร...มีค่ะ...มีอยู่หลักสูตรหนึ่งที่ มข เป็นหลักสูตรที่มีทุนจากรัฐบาลด้วย  แต่เปิดรับแล้วมีคนมาเรียนน้อยมาก บางปีไม่มี เมื่อมีสถานการณ์อย่างนี้ประมาณ 4-5 ปี ติดต่อกัน ผู้บริหารจึงให้ปิดหลักสูตร แต่อาจารย์ประจำหลักสูตรไม่ยอก ทำหนังสือคัดค้าน แต่ท้ายที่สุดก็ปิดไปค่ะ

การปรับปรุงหลักสูตรของเรา ก็ปรับกันค่ะ...ในส่วนที่ดิฉันเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาจารย์ในหลักสูตรนั้นละค่ะ คิดและคาดกันเอง .... แล้วก็ยึดติดวิชา ... เพราะจะไปเกี่ยวกับโหลดภาระงานอีก... จึงทำให้ปรับไปยาก...อีกอย่างการสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารอยากจะทำ แต่การได้มาซึ่งข้อมูล และการทำนายว่าอีก 4 ปี ข้างหน้าหลักสูตรที่เหมาะสมกับประเทศ กับตลาดคือ อะไร ก็ลำบากเหมือนกันค่ะ ..... มีวิธีที่จะทราบมั้ยค่ะ?

เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ทุกประการเลยค่ะ  แต่จะทำอย่างไรค่ะ ในเมื่อนโยบายเป็นเช่นนั้น  ถ้าเด็กทำไม่ผ่านตามเกณฑ์ ให้ E ไปก็ต้องกลับมาแก้ แล้วถามว่าสอนอย่างไรให้นักศึกษาติด  E ซึ่งคะแนนห่างกันมาก ๆ ค่ะ ซึ่งห้องนั้นมี A  ถึง 13 คน คะแนนได้ 97 เต็ม 100 คือคะแนนที่สูงที่สุด  ต่ำสุด 20 กว่าคะแนน จะทำอะไรได้ เพราะเป็นช่วงที่ห่างมาก ๆ เพราะถ้าเราไม่ให้ เขาก็กลายเป็นคนที่ ไม่ได้คุณภาพไป อย่างที่ราชภัฎ 40 คะแนนขึ้นไป ก็ได้ D แล้ว คะแนนเก็บ 20 สอบอีก 20 ยังทำไม่ได้

ไม่รู้จะทำอย่างไร (บ่นไปอย่างนั้นแหละค่ะ)ไม่ใช่เด็กไม่เก่งนะค่ะ  แต่เด็กสมัยนี้ไม่ขวนขวาย ไม่อดทน และไม่ทบทวนเลยค่ะ อยากเก่งแบบไม่ต้องลงทุน ค่ะ

สวัสดีค่ะ อ. P paew

ดีใจค่ะที่รู้ว่ามีการปิดบ้างเหมือนกัน ของที่สถาบันที่ดิฉันอยู่ไม่ค่อยมีปิดค่ะ เท่าที่จำได้เหมือนมีอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่าใช้วิธีเลิกรับนักศึกษาเอา แต่อันนี้ไม่แน่ใจจริงๆ แต่ที่เคยได้ยินมาก็แค่หลักสูตรเดียวเองค่ะ

สำหรับเรื่องการปรับหลักสูตร เราก็มักทำกันตามเกณฑ์ และเหมือนที่อาจารย์ว่า ว่ามันเกี่ยวกับภาระงาน บางทีอาจารย์บางคนก็จะยึดสอนแต่วิชาเก่า อาจจะไม่อยากเตรียมวิชาใหม่หรือปรับเนื้อหา ทำให้การปรับหลักสูตรบางครั้งไม่ได้ดูเนื้อหาให้ทันสมัยเท่าใดนัก เพราะเวลาปรับต้องกลายเป็นปรับให้ตรงกับบุคลากรที่มีอยู่... แต่อันนี้ถ้าเราส่งเสียงดังจริงๆ จะแก้ไขได้

สำหรับเรื่องการ forecast needs หรือจำนวนที่เป็นที่ต้องการนั้น ดิฉันว่าเราทำกันเองไม่ค่อยได้หรอกค่ะ เพราะมันขึ้นอยู่กับว่ารัฐกำลังสนับสนุนการลงทุนด้านใดอยู่ในตอนนี้ หรือในช่วงหน้า และต้องมีข้อมูลปัจจุบันว่าประเทศกำลังขาดแคลนคนในสาขานั้นๆ หรือไม่ และตอนนี้มีใครผลิตบุคลากรเหล่านี้บ้าง เช่น รัฐมีแนวโน้มอยากทำครัวโลก คราวนี้อะไรบ้างที่เกี่ยวกับครัวโลก เช่น เกษตร food science ก็ต้องเตรียมเล็งกันให้ดีๆ เพราะน่าจะมีการจ้างงานใน ๓-๔ ปีข้างหน้า...

ในส่วนของสาขาของดิฉันเอง (วิศวกรรมโยธา หรือ อุตสาหกรรมก่อสร้าง) เราอยู่ในอุตสาหกรรมจะเห็น cycle ของการขึ้นและลงของอุตสาหกรรมค่ะ ว่ามีเป็นทุกกี่ปี กำลังจะอิ่มตัวแล้วหรือยังในช่วงนี้ ฯลฯ และสามารถประเมินได้จากแนวโน้มการลงทุนในโครงการรัฐประเภท mega-project ทั้งหลาย รวมถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวมด้วยค่ะ

แต่ข้อมูลที่ดิฉันไม่มีคือใครผลิตอยู่บ้าง จำนวนเท่าใด กำลังจะมีใครเปิดใหม่อีกไหม และตอนนี้มีการจ้างงานเท่าใด ฯลฯ ข้อมูลพวกนี้เป็นข้อมูลมหภาคทั้งนั้นค่ะ แต่ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อมูลเหล่านี้หรือไม่

ปัญหาคือรัฐสนับสนุนให้ผลิตอย่างเดียวค่ะ เน้นจำนวนอย่างที่ รมช. ว่าไว้  โดยรัฐก็ไม่ได้ดู need ไม่รู้ว่า กกอ. ดูอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ค่ะ  อย่างว่าแหละค่ะ การเมืองไม่นิ่ง คนบริหารก็เปลี่ยนไปเรื่อย แผนพัฒนา จะ ๑๐ หรือ ๑๕ ปีก็เป็นแค่แผนที่ไม่ได้รับการประเมินว่าบรรลุผลหรือยังเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้นๆ หรือไม่

บ่นมาเยอะเลยค่ะ ถ้าใครอ่านแล้วมีวิธีการ forecast มา share ก็คงจะดีนะคะ

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ ที่ ลปรร เรื่องการปิดหลักสูตรค่ะ

สวัสดีค่ะ อ. P Ranee

เห็นด้วยกับ อ.Ranee เหมือนกันค่ะเรื่องคุณภาพของนักศึกษาที่เข้ามาเรียน ถ้าเจอเด็กน่ารัก อยากเรียนเราก็ดีใจ ในห้องหนึ่งจะหลากหลายมาก แต่ส่วนใหญ่จะมาทางแย่ๆ เขายังค่อนข้างสนุกอยู่ค่ะบางคน เพราะเวลาตอบคำถามเอาตัวรอด (ไม่ใช่เรื่องเรียน) ก็เห็นว่าชาญฉลาดมีไหวพริบดี แต่พอให้เขียนอธิบาย หรือตอบคำถามเรื่องเรียนเท่านั้นแหละ ใบ้กิน ค่ะ

ดิฉันคุมสอบเคยเจอเด็กนั่งจ้องกระดาษคำถาม ก้มหน้า กุมหัว เป็นเวลานาน...  ดิฉันเดินไปอ่านดูข้อสอบก็ไม่เห็นว่ายากจนเกินไป แต่ดิฉันรู้สึกว่าบางคนเขียนไม่เป็นจริงๆ ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร บางคนคิดไม่ออกด้วยซ้ำว่าเรื่องที่อาจารย์ถามจะต้องเอาทฤษฎีอะไรมาตอบ ก็เลยเกิดอาการนั่งจ้องข้อสอบ ทำไม่ได้

ขอบคุณอาจารย์ที่เข้ามา ลปรร ให้ความเห็นร่วมกันนะคะ

ขอแสดงความคิดเห็น

สวัสดีค่ะ  จากที่ได้เห็นมาว่า ปัจจุบันสถาบันการศึกษามุ่งผลิตออกมามาก เพื่อตอบสนองนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาคน   ซึ่งยอมรับกันว่า  การศึกษาเป็นตัววัดคุณภาพของคน

ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น  แต่ การศึกษานั้น ไม่ได้มีเพียงในระบบอย่างเดียว    การเรียนรู้ด้วยตนเอง  การเรียนรู้จากประสบการณ์ก็เป็นส่วนหนึ่ง    แต่ในสภาพสังคมของเราเขาตีคุณค่าของคน  คำว่าคนที่มีคุณภาพที่ประกาศนียบัตรเสียเป็นส่วนใหญ่    ซึ่งนับได้ว่า ประกาศนียบัตรเป็นด่านแรกของใบเบิกทางในการเข้าสู่สถานที่ประกอบการต่างๆ

เรื่องการพัฒนาคน  เป็นเรื่องที่ละเอียด  ซึ่งก็เห็นว่า แต่ละคนก็มุ่งที่จะทำหน้าที่ของตน  ผู้บริหารก็มุ่งที่จะผลิตบัณฑิตให้ได้เยอะๆ    เพราะว่าสิ่งนี้จะดูเหมือนว่า สร้างคนที่มีคุณภาพ   เพราะเมื่อเขาสำเร็จไป เขาก็มีหน้าที่การงานดีๆ ทำ (มีโอกาสสูงกว่าคนที่ไม่สำเร็จการศึกษา)  

สม้ยก่อนดิฉันก็มีความคิดเช่นเดียวกันในเรื่องการผลิตบัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพ  ด้วยที่สถาบันบางแห่งไม่มีความพร้อมแต่ด้วยนโยบายสถาบันฯ นโยบายการเมือง  ทำให้ต้องเปิดรับนักศึกษา    ดิฉันเคยเป็นผู้สอนในโครงการสมทบ    ก็ได้เห็นว่า บัณฑิตที่จบไปเหล่านี้  ส่วนใหญ่จะมีความสามารถสู้บัณฑิตที่เรียนจบจากสถาบันฯ ที่มีความพร้อมไม่ได้

ขณะที่เปิดสอน ข้าพเจ้ายังคิดเลยว่า เมื่อไม่มีความพร้อม  เปิดสอนทำไม??  มันเหมือนฆ่าเขาทางอ้อม

ดิฉันเอาความคิดตนเป็นบรรทัดฐาน

แต่เมื่อได้สอนจริง  ก็พบว่า  นักศึกษาเหล่านี้ถึงแม้จะไม่ได้เชี่ยวชาญในด้านวิชาชีพสูงนัก   แต่เขาก็ได้เรียนรู้ในสิ่งที่คนที่มีความพร้อมไม่มีโอกาสได้เรียนรู้   คือ  การเรียนรู้ท่ามกลางความขาดแคลน    เด็กเหล่านี้จึงไม่ดูแคลนอาชีพ การงานต่างๆ   และก็จะเข้าใจคนที่ขาดโอกาสด้วยกัน

มีโอกาสได้คุยกับนักศึกษา  ซึ่งเธอบอกว่า   "อาจารย์คะ  ถ้าที่นี่ไม่เปิดสอน   หนูคงไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ   อาจารย์รู้มั้ย หนูได้รับสิ่งดีๆ ในการได้เรียนรู้ที่นี่ 

พอดิฉันได้ยินคำพูดจากเขา  ก็เห็นได้ว่า "การให้โอกาส  เป็นสิ่งที่มีคุณค่า"     ความสามารถด้านทักษะเรียนรู้กันได้    แต่ความคิดดีๆ ที่จะทำในสิ่งดีๆ นั้น  มันต้องได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเยาว์   ครอบครัว  ส้งคม  สิ่งแวดล้อม  มีผลมากต่อพฤติกรรมของเยาวชน

ปัจจุบันลูกศิษย์ของดิฉันจบไป  ก็ได้ประกอบอาชีพเป็นคุณครู  ซึ่งเมื่อได้ทำงานก็เห็นว่า ใจรัก และ ความตั้งใจดีที่จะเรียนรู้   พวกเขาก็สามารถที่จะไปสร้างสรรค์ผลงานให้กับสังคมประเทศชาติได้ค่ะ

ดังนั้น  ในเรื่องการผลิตบัณฑิตขึ้นมาเยอะๆ   ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ  ตามหน้าที่ของผู้บริหาร    ส่วนหน้าที่ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพที่ดี  ก็เป็นสิ่งที่ผู้สอนทุกคนต้องทำ    เพื่อให้ได้บัณฑิตที่ดี มีคุณภาพเยอะๆ ค่ะ      ..
----------------------------------------------------------------

สำหรับด้านสายอาชีพ วิศวกรรมศาสตร์ / หมอ  อันนี้ ขอไม่กล่าวถึง เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องคลุกคลีนัก   แต่ก็เห็นจริงดังที่อาจารย์ได้กล่าวค่ะ     การผลิตบุคลากรในสายอาชีพที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานออกมา  มีผลกระทบอันร้ายแรง      ดังนั้น สิ่งสำคัญที่น่าพิจารณา  คือ " การคัดเลือกคนเข้าทำงาน "

  • เห็นด้วยกับอาจารย์กมลวัลย์ทุกประการครับ
  • ผมว่าไม่ใช่เฉพาะระดับอุดมศึกษา แต่ผมว่าประเทศไทยกำลังตกต่ำในเรื่องการศึกษาทั้งระบบครับ perception ของสังคมคือ ปวช ปวส กลายเป็นสายวิชาชีพสำหรับคนที่เรียนสายสามัญไม่ไหวเท่านั้น
  • จะแก้ที่ใครหรือที่ไหนดีครับ? จะเริ่มตรงไหน? เราขาด ปวช ปวส ที่มีคุณภาพแต่เราดันไปผลิต ป. ตรี ที่ไม่มีคุณภาพแทนเปลืองเงินเปลืองทรัพยากรกันเปล่า ๆ
  • ต่อไปสงสัยจะต้องมี SCG University, AIS University กระมัง กลายเป็นว่าบัณฑิตปริญญาตรีผลิตออกมาไม่สามารถตอบสนองต่ออุตสาหกรรมได้ เฮ้อ คิดแล้วก็สงสารประเทศไทยครับ
  • http://gotoknow.org/blog/kmait/14899

 

สวัสดีค่ะ คุณ ขอแสดงความคิดเห็น เมื่อ อ. 22 เม.ย. 2550 @ 12:37 จาก 124.120.36.142

  • ดิฉันเห็นด้วยค่ะ เรื่องการยกระดับพัฒนาประเทศ เราต้องเริ่มจากการให้การศึกษาคนในทุกระดับค่ะ เริ่มตั้งแต่ พื้นฐาน จนถึงอุดมศึกษาค่ะ
  • จะเป็นการดีมาก ถ้าทุกคนในประเทศได้รับการศึกษาพื้นฐานในระดับหนึ่ง เพียงพอที่เขาจะไปเรียนต่อในสายที่เขาสนใจ หรือทำงานแล้วเรียนรู้เองผ่านประสบการณ์
  • ตัวดิฉันเองก็อยากให้ประเทศไทยมีคนจบเป็นวิศวกร เป็นหมอ เป็นครู เป็นนักวิทยาศาสตร์เยอะๆ เหมือนกัน แต่ต้องยอมรับว่าการที่จะผลิตให้ได้จำนวนมากๆ นั้นต้องมีความพร้อมทั้ง ๒ ด้าน คือทั้งในส่วนของผู้เรียนและในส่วนของสถานศึกษาหรือผู้สอน
  • ผู้เรียนเองก็ต้องมีคุณสมบัติเพียงพอในระดับหนึ่ง มีความชอบและรักในวิชาชีพ พอควร เช่น เรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ดีเป็นต้น
  • สำหรับฝ่ายผู้สอน ก็ต้องมีความพร้อมทั้งในด้านห้องปฏิบัติการ จำนวนผู้สอน ความเชี่ยวชาญของผู้สอน หลักสูตรที่เหมาะสม ฯลฯ ในส่วนนี้ต้องมีการลงทุนจากภาครัฐ มากทีเดียว
  • ปัญหาที่ดิฉันพบในปัจจุบันนั้นตรงกับที่ท่าน รมช. ว่าไว้  คนเรียนไม่ค่อยพร้อม และมีเหตุการณ์การเปิดรับนศ.ในสาขานี้เพิ่มขึ้นมากจากสถาบันที่ดูแล้วไม่น่าจะพร้อม แต่ที่เปิดเพราะมี demand เป็นที่นิยมจากผู้เรียน สุดท้ายก็จบลงที่ปัญหาคุณภาพนี่แหละค่ะ
  • สำหรับในส่วนของครู ดิฉันยังคิดเลยว่าคนที่เรียนควรจะเป็นคนที่มีคุณสมบัติพร้อมเหมือนกัน และอาชีพครู (ไม่ใช่อาจารย์มหาวิทยาลัย)  ควรจะเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องมากกว่านี้
  • เห็นด้วยกับการให้โอกาสคนค่ะ เพราะคนที่มีคุณสมบัติพร้อมกับขาดโอกาสนั้นยังมีอยู่มาก
  • แต่การที่สถาบันการศึกษาที่ขาดความพร้อม แล้วเปิดรับนักศึกษานั้น ดิฉันว่ามันหลอกกันเองทั้งสองฝ่ายค่ะ
  • คนเรียนก็ไม่ได้อะไรมากจากตรงนั้น อาจจะได้ใบปริญญาไปทำงานได้ และถ้าเป็นคนที่มีความสามารถ ขวนขวาย เรียนรู้ในการทำงานได้ดี ก็จะก้าวหน้าต่อไป แต่ถ้าจบแบบขอจบไปที ความรู้ไม่มี เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ไม่เป็น เข้าใจอะไรผิดๆ หรือขาดจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ ก็คงประกอบวิชาชีพนั้นๆ ได้ไม่รุ่งเรือง แล้วตรงนี้แหละค่ะ ที่ทำความเสียหายให้กับประเทศชาติได้มากๆ เพราะถ้าได้ครู ได้วิศวกร ได้หมอที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในวิชาชีพเพียงพอ ผลกระทบมันเกิดกับสังคมทันที
  • การมุ่งเน้นจำนวนเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่ต้องมีความพร้อมพอสมควร เพราะบางทีเราไม่รู้ว่าอะไรจะเสียหายกว่ากัน ถ้าผลิตน้อยลงสักนิด แต่ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพ กับผลิตมากแล้วได้บัณฑิต(จำนวนหนึ่ง) ที่อาจก่อความเสียหายได้
  • เป็นเรื่องน่าคิดค่ะ
  • ขอบคุณที่ได้ให้ประเด็นข้อคิดเห็นดีๆ นะคะ ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณ P Aj Kae

  • ยินดีต้อนรับค่ะ
  • ดิฉันไปอ่านที่คุณ Aj Kae เขียนไว้แล้วค่ะ ตรงประเด็นดีจริงๆ
  • ดิฉันคิดว่าประเทศไทยให้คุณค่ากับคนสายอาชีพ ปวช. ปวส. น้อยไปค่ะ คนอยู่ในสายนี้ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐในส่วนของการ recognize วิชาชีพของเขา เมื่อไม่มีการมองเห็นในวิชาชีพ (ประมาณว่าใครทำก็ได้) ดังนั้นการมีวุฒิ ปวช ปวส จะได้ค่าตอบแทนไม่ต่างไปกับคนที่ทำมาจากประสบการณ์โดยไม่ได้เรียนล้วนๆ
  • แถมงานที่ทำยังถูกมองเป็น blue collar ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นงานที่ต้องมี skill คราวนี้ก็เลยไปกันใหญ่ ค่านิยมเปลี่ยนไปเป็นว่าต้องเรียนสายสามัญเพื่อทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนนั่งโต๊ะ ดีกว่า!!!
  • ดิฉันเคยมี idea ว่ารัฐต้องออกกฎหมายเรื่องวิชาชีพช่างต่างๆ เช่น ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างประปา ช่างท่อ ช่างเชื่อม ฯลฯ แล้วกฎหมายต้องระบุว่าในการก่อสร้างจะต้องใช้ช่างที่มี certificate และมี skill เหล่านี้มาทำงาน ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาทำ โดยการขอ certificate จะต้องมีประสบการณ์หรือมีวุฒิการศึกษา ฯลฯ ถ้าทำแบบนี้ได้เราจะได้วิชาชีพที่ได้รับ recognition จากสังคม มีงานทำ เป็นอาชีพได้ชัดเจน แล้วเกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้บริการช่างเหล่านี้ด้วย 
  • แต่การทำอย่างที่ดิฉันเสนอ รัฐต้องสนใจจริงๆ และผู้บริโภคต้องร่วมจ่ายด้วยค่ะ เพราะปัจจุบันเราไม่เคยจ่ายค่าวิชาชีพให้คนเหล่านี้เลย (ดิฉันหมายถึงเราต้องซื้อของในราคาที่แพงขึ้นนิดหนึ่งค่ะ)
  • ก็เป็น idea หนึ่งเท่านั้นค่ะ ตอนนี้ไม่รู้จะปรับค่านิยมของคนไทยยังไง มองไปทางไหนก็เห็นแต่วัตถุนิยมล่อให้เด็กและคนที่ไม่เด็กแล้วหลงงมงายอยู่ เดี๋ยวนี้คนบางส่วนคิดว่า ไม่จำเป็นต้องรู้ ไม่จำเป็นต้องมีฝีมือ ทำยังไงก็ได้ ให้ได้แล้วเอาไว้เป็นของตัวเองไว้ก่อน  อันนี้เป็นความคิดแบบ negative สุดๆ นะคะ ประมาณว่าบ่นๆ น่ะคะ ; )
  • ขอบคุณที่ Aj Kae เข้ามาให้ความคิดเห็นร่วมกันนะคะ ขอบคุณค่ะ

แวะเข้ามาอ่านบันทึกครับ แต่ไม่มีความเห็นที่แตกต่างไปจากทุกท่านที่เขียนมาครับ

ขอบคุณค่ะคุณกัมปนาท อาชา (แจ๊ค) ที่แวะเข้ามาเยี่ยมค่ะ ถึงไม่ได้มีความเห็นเพิ่มแต่ก็ได้ช่วย confirm ค่ะ

เป็นปัญหาทั้งระบบเลยครับ

ตั้งแต่ต้นน้ำ จนปลายน้ำเลยครับ

แต่ผมว่า การแก้ปัญหา ทำพร้อมกันคงยาก

ควรวางกรอบปัญหาทั้งหมด แต่แก้ปัญหาเป็นส่วนเพื่อให้ค่อยๆปรับกันไป

สวัสดีค่ะ คุณตาหยู

เห็นด้วยค่ะว่าปัญหาคงเป็นทั้งระบบ เพราะปลายน้ำตอนนี้เริ่มมีปัญหามากๆ ขึ้นค่ะ แต่ก็ไม่ได้โทษคนในระบบต้นน้ำนะคะ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาแบบนี้มันกว้างมากค่ะ ทุกคนมีส่วนกันหมดแหละค่ะ เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกๆ คน

เห็นด้วยค่ะว่าคงต้องแก้กันเป็นส่วนๆ ไป เพราะถ้าต่างคนต่างแก้ แก้ที่หนึ่ง ปัญหาก็ไปเกิดอีกแบบหนึ่งในอีกที่หนึ่งได้ค่ะ ตอนนี้ก็ทำงานพยุงให้ status quo ไปก่อนค่ะ

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ

สวัสดีค่ะ

 โดยส่วนตัวแล้วไม่ได้อยู่ในวงการวิชาการเลย  แต่ทำงานอยู่ในองค์กร ๆ หนึ่งซึ่งจากจำนวนพนักงานแล้ว ถือว่าเป็นองค์กรใหญ่พอดู   จนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับสถาบันการศึกษาเลยทีเดียว

เปิดโครงการเฉพาะให้กับองค์กร (ที่เป็นความร่วมมือกับสหกรณ์/สหภาพ) แล้วก็มีสาขาให้เลือก 2-3 สาขาก็ได้ลูกค้าเพียบแล้ว  เพราะตอนนี้บัณฑิต และมหาบัณฑิต เต็มไปหมดในสำนักงาน  

และด้วยการันตีของการทำงานที่องค์กรแห่งนี้  พนักงานสามารถกู้เงินเพื่อการศึกษาได้เต็มที่จากสหกรณ์  ที่เป็นผู้มีส่วนร่วมกับโครงการของสถาบันการศึกษา

การได้รับใบปริญญาจากหลักสูตรดูงานเมืองนอกก่อนจบโทของหลักสูตรเฉพาะแบบนี้  เป็นเหมือนการตลาดทำโปรโมชั่นให้ลูกค้าด้วย  เป็นที่สนใจของพนักงานอยู่มาก

จบมาแล้วไม่รู้ว่านอกจากเอามาใช้โปรโมทตำแหน่งประจำปีแล้ว ปริญญานี่เอาไปใช้ทำอะไรได้อีกนะ

สวัสดีจ้าตุ๋ม..

เพิ่งเห็นข้อความเช้านี้เอง

อ่านแล้วเศร้าเลย หลักสูตรนี้เขาทำการตลาดเก่งจริงๆ แบบนี้เรียกว่าขายตรงเลยนะเนี่ย แถมลูกค้ามีเงิน มีงานทำแน่นอน ทำให้นึกถึงพวกที่เดินมาขายของที่สำนักงาน (soliciting) ขายของอย่างเปิดเผย ทำให้คนไม่ออกไปเลือกซื้อของข้างนอกที่อาจมีคุณภาพมากกว่า

เป็นหลักสูตรพาไปเที่ยว เอ๊ย ดูงานเมืองนอกด้วยเหรอ คนซื้อคงคิดว่าซื้อแป้ง puff แล้วแถม lipstick ด้วยแน่เลย เสียเงินไปเมืองนอกแล้วได้ใบปริญญาพ่วง  เอ..หรือมันกลับกันนะเนี่ย..

ฟังจากตุ๋มเล่าแล้ว ก็ยิ่งยืนยันความตกต่ำของอุดมศึกษาไทย... T_T

ตรงใจอย่างแรงค่ะอาจารย์ ตอนนี้นอกจากสาขาวิศวกรรมแล้ว
สาขาอื่นๆ ที่ต้องใช้การปฎิบัติเป็นหลัก ก็ประสบปัญหาเหมือนกัน
อย่างงานที่ดิฉันทำอยู่เป็นด้านออกแบบ และโฆษณา
สมัยก่อนเด็กจบมาทำงานได้เลย อย่างมากก็มาศึกษาเฉพาะทางเพิ่มเติมนิดหน่อย
แต่เดี๋ยวนี้ รับเด็กจบตรีมา ทำงานไม่เป็น ทำเสร็จก็ต้องให้คนอื่นมาแก้ไข (เหมือนทำใหม่)
เสียเวลา เสียงบประมาณเพิ่มโดยปล่าวประโยชน์

และที่สำคัญเด็กไม่มีความอดทน พอเจอปัญหาก็ย้ายหนี ย้ายไปเรื่อยๆ
วงการนี้มันแคบ ย้ายไปย้ายมาก็รู้กันหมด จะรับคนใหม่ มองไปทางไหน
ก็เจอแต่เด็กที่เป็นแบบนี้ ต้องทำใจยอมรับสภาพกัน ใครโชคดีก็เจอเด็กที่พอเป็นงาน
หรือฉลาด ก็อดทนสอนกันไป เพราะรับใหม่ก็เจออีก เป็นแบบนี้มา 5-6 ปีแล้ว
มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ใช้ได้ เรียกว่า 100 มีดีไม่ถึง 10 จริงๆ

สวัสดีค่ะคุณ Little Jazz \(^o^)/

ก่อนอื่นต้องขอชมว่าสัญลักษณ์ \(^o^)/ ที่ใช้น่ารักมากเลยค่ะ ผิดกับเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่ซึ่งเป็นเรื่องที่ T_T มากค่ะ

สิ่งที่คุณ Little Jazz \(^o^)/ บอกไว้ก็คงเป็นการยืนยันปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายๆ วงการในเมืองไทย คล้ายๆ กับที่อาจารย์หมอมาโนชบอกว่าในข้อคิดเห็นข้างต้นเหมือนกัน  ปัญหาที่เราประสบกันนี้เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกคนที่ต้องผ่านกระบวนการศึกษา การแก้ปัญหาต้องทำในภาพรวม จะทำจุดใดจุดหนึ่งจุดเดียวไม่ได้ค่ะ

ตอนนี้เลยได้แต่กินยาทัมใจ พยายามคิดในแง่บวก ระดมสมองกับเพื่อนๆ แล้วก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของเราให้ดีที่สุดก่อน แม้ว่าจะได้ผลน้อยขนาดไหนก็ตาม ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำค่ะ..

ขอบคุณที่แวะเข้ามา ลปรร นะคะ ยินดีต้อนรับสู่ G2K นะคะ

ผมชักจะแปลกใจ...หรือว่า...ในวงการอุดมศึกษาของอาจารย์...มันไม่มีเรื่องดี ๆ มาเล่าเลยเหรอ?...ผมเข้าใจว่าอาจารย์มีเจตนาดีที่จะยกระดับอุดมศึกษาของประเทศ...แต่คำถามแบบนี้ไม่นำไปสู่คำตอบที่ต้องการครับ...

ด้วยความเคารพ

สวัสดีค่ะคุณสวัสดิ์

ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีเรื่องดีๆ จะเล่าเลยค่ะ และขอบคุณที่เข้าใจเจตนานะคะ

ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • ผมไม่รู้ว่าเรื่องการวิดน้ำให้บัวโผล่กับบันทึกนี้ของอาจารย์มีความสอดคล้องกันด้วยหรือเปล่าครับ
  • ตัวผมเองคนหนึ่งตอบอย่างไม่อายว่าอาจารย์ไม่วิดช่วยผมไม่จบแน่นอนครับ
  • ผมอยากให้การศึกษาในระดับอุดมศึษกาของไทยสอนคนให้คิดเป็น แก้ปัญหาได้และมีคุณธรรมครับ 3 ข้อใหญ่ๆที่ทำได้ยากครับ
  • มหาวิทยาลัยสอนอะไรผมมากมายผ่านกิจกรรมที่เข้ามา เพื่อนผมหลายคนอาจจะจบมาเกรดแย่ๆ แต่กิจกรรมที่เคยทำกันมาตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะชุมชนต่างๆ สหกิจศึกษา กลุ่มสัมพันธ์ ช่วยทำให้การปรับตัวเข้ากับโรคภายนอกได้เยอะเลยครับ
  • สิ่งที่หวังสูงสุดของการศึกษาไทยผมว่าน่าจะเป็นการสอนอย่างไรที่จะให้นักศึกษาจบออกมาแล้วเป็นคนดีครับ
  • ปัญหาการว่างงานแฝงก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขครับ บางครั้งมาจากผู้ประกอบการที่เห็นแก่ได้
  • ผมเองก็เจอมาเยอะครับที่จบมาแล้วกลัวงานหนัก งานส่งเสริมการเกษตรเป็นงานที่ทำงานในพื้นที่ บางคนมาทำงานกลัวงานในลักษณะดังกล่าว เห็นแล้วก็อ่อนใจ ว่ารับเข้ามาได้อย่างไร
  • ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะคุณสุดทางบูรพา

เรื่องวิดน้ำให้บัวโผล่เป็นเรื่องการลดระดับมาตรฐานเพื่อให้มีนักศึกษาจบไปได้ แต่ในแง่มุมของตัวดิฉันเอง นักศึกษาที่ผ่านไปได้จากการวิดน้ำ เป็นนักศึกษาที่ไม่ผ่านมาตรฐานการศึกษาในวิชานั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรม ทำให้อาจต้องไปลดมาตรฐานในวิชาต่อๆ ไปด้วย ถ้านักศึกษาไม่ปรับปรุงตัวเอง (อันนี้ assume ว่าอาจารย์สอนได้มาตรฐาน)

แต่ถ้าอาจารย์สอนไ่ม่ได้มาตรฐาน ไม่เอาใจใส่ และ นักศึกษาก็ไม่มีพื้นฐานความรู้ที่แน่น+ไม่พยายาม  ก็จะเข้าข่ายอุดมศึกษาไทยตกต่ำ คนที่จบทำงานไม่ได้ตามที่ควรจะเป็น และไม่อยากทำงานลำบากด้วยแม้แต่ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ

การทำให้คนเป็นคนดีของสังคม มีคุณธรรม นั้นน่าจะมาจากทั้งครอบครัว สังคมรอบตัวคนๆ นั้น และการศึกษาของเขา

ส่วนตัวคิดว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่สามารถสอนคนให้เป็นคนดีได้เพียงลำพังฝ่ายเดียว หากขาดความสนใจและตั้งใจของตัวบุคคลนั้นๆ ประกอบค่ะ 

เรียน ท่านอาจารย์กมลวัลย์

ขอขอบพระคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ เป็นแนวคิดเพื่อหลายๆ มหาวิทยาลัยจะต้องนำไปวิเคราะห์ ,Benchmark และนำไปปรับปรุง คนในประเทศช่วยๆๆ ทุกอย่างคงจะดีขึ้นนะคะ สามัคคีคือพลังค่ะท่านอาจารย์

ขอบคุณคุณน้องนุชสำหรับข้อคิดเห็นนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท