ชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน


มีคนจำนวนมากทำเรื่องนี้อยู่แล้วทั่วแผ่นดิน คนทำมีทั้งที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาโดยตรงและที่ทำเพราะเห็นความสำคัญ ทำกันโดยไม่รอวิสัยทัศน์ นโยบาย หรือทรัพยากรจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ทำด้วยใจไปตามความเชื่อ กำลังสติปัญญา เงื่อนไข โอกาส และทรัพยากรที่อำนวย แล้วก็ทำกันทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม (เช่น โรงเรียนวิถีพุทธหลายรูปแบบที่ไม่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง) จนถึงอุดมศึกษา รวมทั้งการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว (เช่นโรงเรียนชาวนา ที่เรียนกันโดยวิธีการจัดการความรู้) กลุ่มที่ทำเรื่องการจัดการความรู้ในสถานศึกษา ในชุมชน ในหน่วยงานต่างๆ ผมคิดว่าล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับการสร้างปัญญาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม

หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ ๑๗ เมษ.๕๐ หน้าการศึกษา มีบทความของอาจารย์ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ที่เกษียณจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ไปอยู่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ชื่อบทความคือ เมื่อเวียดนามเชื่อว่าการศึกษาเปลี่ยนแปลงประเทศได้ 

เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว อ.ไพฑูรย์เคยทำวิจัยเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของประเทศเวียดนาม บทความนี้เพิ่งเขียนหลังกลับจากการไปศึกษาดูงานเวียดนามเมื่อปลายเดือน มค.๕๐

ประโยคที่ท่านเอามาตั้งเป็นชื่อบทความ ท่านบอกว่าเป็นคำพูดของ Dr.Vu Minh Giang รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม และ Dr.Tran Tri Ha อธิบดีกรมอุดมศึกษาของเวียดนาม ท่านยังบอกว่ารัฐธรรมนูญของเวียดนามก็ถือว่าการศึกษาเป็นความสำคัญอย่างสูง (top national priority) เวียดนามจึงลงทุนทางการศึกษามาก 

ท่านบอกว่าเวียดนามกำหนดเป้าหมายสำคัญ ๓ ประการของการศึกษาไว้อย่างชัดเจนสิบปีมาแล้วว่า การศึกษาจะต้อง

  1. ยกระดับสติปัญญาของประชาชน
  2. ยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ และ
  3. สรรหา ส่งเสริม และใช้ประโยชน์จากกลุ่มอัจฉริยะ

เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว เวียดนามก็กำหนดแผนและวิธีปฏิบัติที่จะไปสู่เป้าหมายนั้น โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างมาก เช่น

  • เพิ่มเงินให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติมากขึ้น ๕๐ เท่า (ย้ำว่าห้าสิบเท่า) ให้ใช้พัฒนามหาวิทยาลัยขึ้นสู่มาตรฐานโลก
  • ทุ่มงบประมาณสร้างคนจบปริญญาเอกให้ได้ ๒๐.๐๐๐ คน ภายใน ๑๐ ปี (เฉลี่ยปีละ ๒,๐๐๐ คน)
  • ให้อาจารย์ผู้สอนระดับอุดมศึกษาทุกคนได้รับการอบรมหรือประกาศนียบัตรการสอนอุดมศึกษาทุกคน
  • ผู้บริหารตั้งแต่ระดับอธิการบดีถึงระดับอื่นๆ ต้องผ่านการอบรม
  • อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องมีบทความวิชาการตีพิมพ์ ๒ เรื่องต่อปี 
  • ฯลฯ

เมื่อมองเพื่อนบ้านแล้วท่านก็ย้อนมามองเมืองไทยของตัวเอง อ.ไพฑูรย์เห็นว่า "ของไทยเราเองยังไม่เชื่อกันอย่างจริงจังว่าการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราจึงจัดการศึกษาแบบงาน routine ซึ่งยากที่จะทำให้การศึกษาสามารถนำสังคม หรือเปลี่ยนแปลงประเทศได้"

ท่านอ้างคำพูดของ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนี้ว่า "การปฏิรูปการศึกษาคือการปฏิรูปคนในวงการศึกษา"

อ.ไพฑูรย์จบบทความด้วยการสรุปและตั้งคำถามว่า "นับวันการศึกษาบ้านเรากำลังเดินไปสู่ความไม่เอาไหนมากขึ้นทุกที ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้การศึกษาของเรามีความหมายมากขึ้นให้ได้? และใครจะเป็นคนทำ?"

ท่านจบบทความด้วยคำถามไว้แค่นั้น ส่วนผม อ่านแล้วเกิดความคิดและความรู้สึก ดังนี้ครับ

  • เมื่อเห็นชื่อบทความก็นึกถึงคำพูดของ เบนจามิน ดิสราเอลี่ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่เคยพูดในเชิงนโยบายในทำนองเดียวกัน “On the education of the people of this country the fate of the country depends.” Benjamin Disraeli (1804-81) ดร.เสรี พงศ์พิศ ผอ.สสวช.ที่ผมทำงานอยู่ ท่านยกคำพูดนี้อยู่เสมอเวลาบรรยายเรื่องโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต โดยท่านแปลเป็นไทยว่า "ชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน" โทนี่ แบร นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบันก็เคยพูดทำนองเดียวกันว่า "ถ้าคุณถามผมว่าสิ่งสำคัญ ๓ อย่างที่รัฐบาลผมจะทำคืออะไร ผมก็จะตอบว่า การศึกษา การศึกษา และการศึกษา" 
  • คำถามของอาจารย์ไพฑูรย์ในบทความว่าใครทำ ท่านคงไม่ตั้งใจเรียกร้องให้ ดร.วรากรณ์ ทำ เพราะท่านคงคิดเพียงเข้ามาแก้ปัญหาโน้นปัญหานี้ในเวลาสั้นๆ ของรัฐบาลชั่วคราว(รัฐบาลรักษาการณ์)ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญใหม่  แต่ผมก็ยังเห็นปัญหาต่อไปว่าหลังเลือกตั้งแล้วเราจะได้รัฐมนตรีใหม่มาคิดเรืองนี้จริงจังอีกหรือเปล่า เพราะเท่าผ่านมา รัฐมนตรีบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ค่อยชอบคิดชอบทำเรื่องนโยบาย แต่ชอบทำงานเป็นโครงการๆ โดยเฉพาะชอบมีส่วนร่วมในโครงการใหญ่ๆ มากกว่า คนที่คิดทำเรื่องนโยบายต้องมีวิสัยทัศน์ หลายคนก็ไม่ถนัดเรื่องนี้
  • คำถามที่ อ.ไพฑูรย์ตั้งว่าทำอย่างไรให้การศึกษาของเรามีความหมายมากขึ้น ผมคิดว่าท่านตั้งใจถามหาวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจหน้าที่ในเชิงนโยบายและการจัดสรรทรัพยากร ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ตลอดถึงปลัดกระทรวง อธิบดีหรือเลขาธิการหน่วยงานต่างๆ ทางการศึกษา ซึ่งในความเห็นผม ถ้าท่านทั้งหลายเหล่านั้นเชื่อว่าชะตากรรมของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนจริง และลงมือทำบางสิ่งบางอย่างในเชิงนโยบายและผลักดันการปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศได้
  • มีคนจำนวนมากทำเรื่องนี้อยู่แล้วทั่วแผ่นดิน คนทำมีทั้งที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาโดยตรงและที่ทำเพราะเห็นความสำคัญ ทำกันโดยไม่รอวิสัยทัศน์ นโยบาย หรือทรัพยากรจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ทำด้วยใจไปตามความเชื่อ กำลังสติปัญญา เงื่อนไข โอกาส และทรัพยากรที่อำนวย แล้วก็ทำกันทุกระดับตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม (เช่น โรงเรียนวิถีพุทธหลายรูปแบบที่ไม่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง แต่เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง) จนถึงอุดมศึกษา รวมทั้งการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้ว (เช่นโรงเรียนชาวนา ที่เรียนกันโดยวิธีการจัดการความรู้) กลุ่มที่ทำเรื่องการจัดการความรู้ในสถานศึกษา ในชุมชน ในหน่วยงานต่างๆ ผมคิดว่าล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับการสร้างปัญญาเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม โครงการมหาวิทยาลัยชีวิตเป็นหนึ่งตัวอย่างเล็กๆ ในนั้น ผมเองเชื่อเรื่อง การเปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง การเปลี่ยนแปลงจากรากฐานจริงๆ เท่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน 

(บันทึกนี้จะมีต่อภายใต้ชื่อบันทึก "การศึกษานั้นแพง แต่ความไม่รู้แพงยิ่งกว่า")   

หมายเลขบันทึก: 90758เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2007 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์
  • เห็นหัวข้อแล้วโดนเต็มหัวใจ การศึกษา การศึกษา และการศึกษา
  • พัฒนาหัวสมอง พัฒนาต้นกล้า พัฒนาครู พัฒนาการศึกษา พัฒนาชุมชน ล้วนเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก
  • ผมได้เพ้อฝันไว้ในบทความหนึ่ง ฝันเพื่อให้หลุดพ้นจากการศึกษาไทย เรียนเชิญท่านอาจารย์อ่านยามว่างนะครับ เพราะผมแค่เพ้อเท่านั้น และจะทำในสิ่งที่ทำได้
  • ผมเสนอว่า การศึกษากับการเมืองควรรวมหรือแยกกันบริหาร คุณคิดอย่างไร
  • ผมเชื่อว่าประเทศเรา ควรจะให้มีการศึกษาควบคุมทุกสังคม ให้การศึกษาแผ่ไปยังทั่วทุกหย่อมหญ้าของไทย ก่อนจะสายเกินไป การศึกษานี้ ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัยนะครับ แต่คือทุกที่ ทำให้คนรู้จักคิด ตั้งปัญหา และวิจัยตนเอง ตัวเอง รอบข้าง และมองไปข้างหน้าได้
  • หากคิดจะแข่งกับประเทศอื่น ก็ต้องแข่งกันในเรื่องการศึกษา การแข่งในที่นี้ คือแข่งกันพัฒนาหัวสมองและเรียนรู้ร่วมกัน ให้เกิดการเกื้อกูล แข่งกันแล้วได้ผลคือ ชนะ-ชนะ win-win ทั้งสองฝ่ายนะครับ
  • หากคนมีปัญญา ต่อให้ไฟไหม้บ้านกี่สิบรอบ ก็สามารถจะสร้างบ้านใหม่ให้ดีกว่าเดิมได้ โดยไม่ต้องมานั่งกังวลว่าคนจะต้องฆ่าตัวตายครับ เพราะนั่นคือคนมีการศึกษามีปัญญาในการคิด
  • รัฐก็ต้องสนับสนุนการศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ใช่จะเอาการศึกษาไปครอบครอง หมายถึงองค์กรของรัฐทั้งหลาย เราต้องให้โอกาสในการพัฒนาคน พัฒนาครู
  • การให้ปัญญากับคน นั่นคือ การให้อาชีพที่ยั่งยืนกับเค้าเหล่านั้น ให้คิดเป็นทำเป็นแก้ปัญหาเป็น พัฒนาเป็น
  • ไทยคิด ไทยทำ ไทยใช้ ไทยพัฒนา ไทยยั่งยืน
  • ขอบคุณมากครับ พูดเรื่องประเด็น นิ้วผมมันจะรัวๆ สมองมันรัวๆ เปิดก๊อกแล้ว น้ำไหลเข้าบทความอาจารย์ ไม่ค่อยทันครับ
  • ขอบคุณมากๆ ครับ ตลอดจนสวัสดีปีใหม่และโชคดีตลอดไป และขอให้อยู่กับในวงศ์การศึกษานี้ตลอดไปนะครับ
  • เป็นที่ยึดเหนี่ยวให้ผมด้วยครับ

ประเทศไทยไม่ก้าวหน้าเพราะเราชอบของสำเร็จรูป เอามาเป็นผลงานได้เลย ไม่ชอบลงทุนอะไรที่เห็นผลช้า กว่าจะเห็นผลสำเร็จ คนอื่นก็ชุบมือเปิบเอาไปเป็นผลงานเสียนี่ มองกันอย่างนี้ทั้งนักการเมืองและข้าราชการครับ วิสัยทรรศน์มีครับ แต่พอถึงแนวปฏิบัติก็จบด้วยเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว ในศธ.ก็ก้าวไม่พ้นเรื่องอัตรา เรื่องตำแหน่ง เรื่องซี การปฏิรูประบบการศึกษาติดขัดอยู่ที่การกระจายอำนาจและตำแหน่ง

การศึกษาในเมืองไทยยังติดอยู่ในระบบมากๆ และระบบในเมืองไทยก็ชะงักงันมา 40 ปีได้นะครับผมว่า เห็นเวียตนามแล้วสะท้อนใจบ้านเราครับ 

การเมืองต้องเข้มแข็งมากๆ จึงจะฟันฝ่าระบบราชการที่เป็นแรงถ่วงอันรุนแรงของการศึกษาชาติไปได้ 

ครั้นพอจะฝากความหวังกับนักการเมืองไทยก็ ...

P
มาโนช เมื่อ ส. 21 เม.ย. 2550 @ 01:49

สวัสดีครับคุณหมอ

ผมคนหนึ่งล่ะครับที่ไม่ฝากความหวังกับนักการเมือง แต่เป็นคนละเรื่องกับการเสนอความเห็นหรือเรียกร้องให้เขาทำในสิ่งที่เราคิดว่าเขาควรทำ เสนอครับ แต่ถ้าไม่ทำก็รอเสนอคนอื่นต่อไป ไม่หยุดเสนอถ้าเราเห็นว่าทำแล้วมันดี เช่นที่กลุ่มชาวบ้านที่ต้องอยู่กับป่าเสนอกฏหมายป่าชุมชนมาเป็นสิบๆปีแล้ว ไม่ผ่าน ก็ต้องเสนอกันต่อ วันหนึ่งก็ต้องผ่านแน่ ไม่อีก ๕ ปี สิบปี ยี่สิบปี ก็ร้อยปี เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

การเมืองเข้มแข็งของนักการเมือง กับการเมืองเข้มแข็งของชาวบ้าน (ภาคประชาชน) อาจไม่ได้ไปด้วยกัน หรือกระทั่งอยู่กันคนละด้าน พอการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งมาก การเมืองของนักการเมืองที่อิงกับโครงสร้างอำนาจตามตัวหนังสือก็กระเทือน กระทั่งต้องล้มกระดาน ตั้งต้นกันใหม่ก็มีบ่อย ไม่ใช่แต่บ้านเรา

คำขวัญคิดเอง ๑ "การเมืองเข้มแข็งได้ด้วยคุณภาพของประชาชนในเมืองนั้น" (ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น)

คำขวัญคิดเอง ๒ "คุณภาพของประชาชนในบ้านเมืองใด ขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษาของบ้านเมืองนั้น" (รวมทั้งเรื่องของโอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกคน ทุกรูปแบบ ในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศรัย) อันนี้เป็นการดัดแปลงจากของดิสราเอลี่ที่ว่า "อนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน"

แล้วยังคิดเลยจากการเมืองไปเรื่องเศรษฐกิจด้วย เป็นคำขวัญ ๓ "เศรษฐกิจของบ้านเมืองจะเข้มแข็งได้อย่างแท้จริง ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน" ไม่ขึ้นกับความเข้มแข็งของเศรษฐกิจของบางตระกูล บางกลุ่ม หรือบริษัทข้ามชาติที่แข็งมาลงทุน คำว่า "อย่างแท้จริง" จงใจใส่เข้ามาให้เห็นว่าไม่ใช่ "อย่างฉาบฉวย"

แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน) เป็นแนวทางอย่างดีสำหรับนำไปประยุกต์(ปฏิบัติ)เพื่อความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชน เพียงแต่ว่าแต่ละคน แต่ละแห่งต้องมาตีให้แตกสำหรับตัวเอง ตามบริบทของตัวเองว่า แค่ไหนของและทำกันอย่างจริงจัง สำหรับคนที่เห็นด้วยและเชื่อในแนวทางนี้ (ไม่ใช่พูดตามแฟชั่น) คนชนบทคนเมือง คนไหนก็ทำได้ ระดับปัจเจกก็ทำได้ ระดับชุมชนก็ทำได้ ระดับภูมิภาคก็ได้ ประเทศก็ได้ โลกก็ได้

  • ขนาดไหนตามเงื่อนไขของแต่ละคนจึงเรียกว่าพอประมาณ  
  • ความสมเหตุสมผลของการมีขนาดนั้นคืออะไร
  • เมื่อ รอดแล้ว อยู่ได้แล้ว พอเพียงแล้วจะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแบบไหน อย่างไรให้มีหลักประกันว่าความรอดความพอเพียงนั้นจะยั่งยืนตลอดไป

ผมก็เริ่มทำจากตัวเองและไปสู่ครอบครัวแล้วครับ ชีวิตเริ่มเบาสบายขึ้น (ดูในบันทึกเรื่องการ์ตูนที่ผมเขียนไปหน่อยหนึ่ง)

ประเด็น "ระบบราชการ" ผมเขียนลงตรงนี้แล้วลบออกไปแล้วครับ เกรง g2k จะถูกปิด เพราะแนวคิดที่เสนอรู้สึกจะรุนแรงเกินกว่าที่คนจะรับได้ บันทึกเป็นไฟล์เล็กๆ ไว้เอง

ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ สุรเชษฐ ในทุกประเด็นครับ โดยเฉพาะ คุณภาพของประชาชนในบ้านเมืองใด ขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษาของบ้านเมืองนั้น" สำคัญมากจริงๆ ครับ 

ถ้าจะมองย้อนอีกที สังคมที่จะเห็นคุณค่าของการศึกษาก็จะเป็นสังคมที่มีคุณภาพระดับหนึ่ง ซึ่งมีรากมาจากค่านิยมในสังคมเป็นพื้นฐานด้วย เช่น ชาวยิวที่เน้นเรื่องการศึกษา แต่ถ้าสังคมที่ค่านิยมในเรื่องนี้ยังไม่แรงพอ คนที่เป็นหัวหอกหรือกลุ่มแกนนำที่เห็นคุณค่าหากทำไปนานๆ ผมเชื่อว่าชุมชนนั้นๆ ก็จะเปลี่ยนไปได้ในที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท