005 : กรณี 'ยกทรงมรณะ' - ชิ้นส่วนโลหะในตัวคุณเป็นสายล่อฟ้าจริงหรือ?


ข่าวคราวเกี่ยวกับฟ้าผ่าทำให้มีผู้เสียชีวิตนั้นมักจะโผล่มาให้เห็นเป็นระยะ อย่างเมื่อราวปลายปี 2542 หนังสือพิมพ์ยอดนิยมฉบับหนึ่ง ได้พาดหัวไว้หวาดเสียวว่า

 

 

 ข่าว 'ยกทรง’มรณะ จาก นสพ.มติชน ซึ่งตำรวจอังกฤษสรุปว่า ฟ้าผ่าสองสาวไทยเนื่องจากโครงลวดโลหะในยกทรงเป็นสื่อล่อ 

(ซึ่งเป็นการสรุปที่ไม่ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์)

 

  • อีกไม่กี่เดือนต่อมา ก็มีข่าวแคดดี้ถูกฟ้าผ่ากลางสนามกอล์ฟ โดยมี “ข้อสรุป” ว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากไม้กอล์ฟที่แคดดี้ดวงจู๋แบกอยู่ หรือไม่ก็จากสร้อยทองเส้นโตที่เขาสวม
  • ถัดมาอีกก็มีลูกศิษย์ของวัดดังแห่งหนึ่งถูกฟ้าผ่ากลางสนาม โดยข่าวระบุว่า เจ้าอาวาสบอกว่าเป็นเพราะกรรมเก่าของเขาเอง!
  • นอกจากนี้ยังมีกรณีที่นักฟุตบอลถูกฟ้าผ่ากลางสนามขณะเล่นบอลกลางสายฝน โดยมีผู้สรุปว่าอาจจะเป็นเพราะเข็มกลัดที่ติดอยู่ที่เสื้อ

 

ข่าวฟ้าผ่าจาก นสพ.ข่าวสด ซึ่งมีผู้สรุปว่า นักฟุตบอลถูกฟ้าผ่ากลางสนามขณะฝนตกเนื่องจากเข็มกลัดที่ติดอยู่เป็นสื่อล่อ 

(ซึ่งเป็นการสรุปที่ไม่ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์เช่นกัน)

ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่?

ลองไปทำความเข้าใจเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับฟ้าผ่าน ในเรื่อง คุณควรทำตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูก 'ฟ้าผ่า' ? กันก่อน เพื่อให้เข้าใจการวิเคราะห์ต่อไปนี้


วิเคราะห์กรณี “ยกทรงมรณะ”

แหล่งข่าวจากรอยเตอร์ (27 ตุลาคม 2542) กล่าวว่า สาวไทย 2 คน ถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตใต้ต้นไม้ในสวนสาธารณะไฮด์พาร์ค (Hyde Park) กลางกรุงลอนดอน

 แพทย์และเจ้าหน้าที่ของอังกฤษ ได้พบรอยไหม้เป็นแนวเดียวกับขอบเสื้อชั้นในซึ่งมีโครงเป็นโลหะของสองสาวไทยผู้โชคร้าย และได้สรุปว่า โครงโลหะของยกทรงนี้เองเป็นตัวล่อกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายทำให้สาวไทยทั้งสองคนถึงแก่ความตาย

ฟังการวิเคราะห์แบบนี้แล้ว รู้สึกทะแม่ง ๆ ไหมละครับ เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ใครสวมสร้อยโลหะ หรือใส่ลวดจัดฟันแล้วไปยืนยิ้มกลางสายฝน ก็น่าจะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าด้วยเช่นกัน ถ้า “คำอธิบาย” ข้างต้นเป็นความจริง

ผมขอให้ข้อคิดเห็นจากมุมมองทางวิทยาศาสต์ว่า

เส้นลวดโลหะในสายไฟไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่สองสาวผู้เคราะห์ร้ายถูกฟ้าผ่าในกรณีนี้

ทั้งนี้ลำดับเหตุการณ์ที่เป็นไปได้มากกว่าน่าจะเป็นอย่างนี้ครับ

  • สายฟ้าผ่าลงมาที่ยอดของต้นไม้ก่อน
  • จากนั้นกระแสไฟฟ้าก็ไหลลงมาตามกิ่งก้านและลำต้น
  • ทีนี้ถ้าสองสาวไทยผู้เคราะห์ร้ายไปแตะโดนลำต้น (เช่น อาจจะนั่งหรือยืนพิงลำต้น หรือไปโดนกิ่งก้านของต้นไม้เข้า) กระแสไฟก็จะวิ่งเข้าทำอันตรายได้โดยตรง
  • แต่ถ้าทั้งสองท่านไม่ได้แตะลำต้นหรือกิ่งก้านของต้นไม้ แต่ยืนอยู่ใกล้ ๆ ลำต้น ก็อาจเสียชีวิตเพราะ ไฟฟ้าที่แลบออกมาจากด้านข้าง คล้าย ๆ กรณีชายหนุ่มเคราะห์ร้ายในกรณี Side Flash
  • จากกระแสไฟฟ้าที่วิ่งมาตามพื้น ก็จะไหลผ่านลำตัวได้ ถ้ากระแสไฟฟ้าไหลผ่านอวัยวะสำคัญ  (เช่น หัวใจ สมอง และไขสันหลัง) ในปริมาณที่มากเพียงพอ ก็จะทำให้เหยื่อถึงแก่ความตายได้(คล้าย ๆ กรณีวัวเคราะห์ร้ายในกรณี Step Voltage

กรณี Side Flash และ Step Voltage

ได้อธิบายไว้แล้วในเรื่อง คุณควรทำตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูก 'ฟ้าผ่า' ?

แล้วเจ้า “รอยไหม้” ที่พบล่ะ จะอธิบายได้อย่างไร?

มีคำอธิบายอย่างน้อย 2 แบบที่เป็นไปตามหลักการทางฟิสิกส์ครับ

คำอธิบายแบบที่ 1 :

       กระแสไฟฟ้าจากฟ้าผ่าทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแผ่ออกไปโดยรอบ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านี้สามารถเหนี่ยวนำลวดโลหะที่เป็นโครงของยกทรงให้เกิดกระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำ (induced current)

       กระแสไฟฟ้านี้เองที่ทำให้เส้นลวดร้อนขึ้นจนทำให้ผิวหนังที่สัมผัสกับลวดเกิดเป็นรอยไหม้

คำอธิบายแบบที่ 2 :

      ในกรณีของกระแสที่ไหลมาตามพื้น (ground current) อันเนื่องมาจากแรงดันช่วงก้าว (step voltage) กระแสนี้เมื่อวิ่งเข้าสู่ตัวคนนั้นมีทางเลือกหลายทาง เช่น

  • วิ่งตามเสื้อผ้าที่เปียกน้ำ
  • วิ่งตามเนื้อหนังของคน
  • วิ่งตามเส้นลวดโลหะที่เป็นโครงเสื้อของยกทรง

ในบรรดาทางเลือกเหล่านี้ โลหะมีความต้านทานไฟฟ้าต่ำที่สุด

ดังนั้น จึงได้รับส่วนแบ่งกระแสไฟฟ้าไปในปริมาณมาก

เส้นลวดที่ไฟฟ้าวิ่งผ่านนั้นจะร้อนขึ้นตามหลักทางฟิสิกส์

ส่งผลให้เกิดรอยไหม้ตามข่าวนั่นเอง!

ในทางปฏิบัติ การเกิดได้ทั้งสองกรณีพร้อมๆ กัน


ประวัติของบทความ

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Know How & Know Why หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุกิจ
  • ตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ Know How & Know Why ลมฟ้าอากาศ, สนพ. สารคดี
  • ดัดแปลงเพื่อบันทึกใน GotoKnow.org เพื่อประโยชน์สาธารณะ
หมายเลขบันทึก: 89165เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2007 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

แต่เดี๋ยวนี้บราเซีย เขาใส่โครงแบบไม่ล่อฟ้าแล้วค่ะ
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
1. ห้ามสาบาน
2. ปฎิบัติตน ให้ถูกต้องตามคำแนะนำของพี่ชิว เมื่อฟ้าผ่า

 พี่ชิวครับ ผมจำได้ลางๆว่า ถ้าเราอยู่ในรถแล้วฟ้าผ่าใส่รถในขณะฝนตก เราจะไม่เป็นไรใช่มั้ยครับ หรือเราอยู่ในกรงเหล็กแล้วฟ้าผ่าลงมาก็ปลอดภัย เนื่องจากโลหะนำไฟฟ้าไปได้ดีกว่าร่างกายที่มีความต้านทานสูงกว่า แล้วไฟฟ้าก็ไหลลงสู่โลกที่มีศักย์เป็นศูนย์
ยกทรงมาจาก corset ซึ่งทั้งสองอย่างทำหน้าที่ ดามร่างกายให้ตรงกับ ตัณหาของผู้ชาย เทพ feminist เห็นแล้วอาจจะไม่พอใจ จึงไม่ควรใส่

ขอขอบคุณอาจารย์บัญชา...

  • จำได้ว่า สารคดีญี่ปุ่นกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ถูกฟ้าผ่าอยู่ที่ "ความสูง"
  • ดูเหมือนโลหะที่ติดกับร่างกายจะมีผลไม่มาก ยกเว้นโลหะนั้นทำให้ตัว "สูงขึ้น" เช่น ต่อสายล่อฟ้าไว้ที่หมวก ฯลฯ

อ่านเป็นประจำครับ และเห็นที่ผิดด้วย(ไม่ได้ตั้งใจหาเรื่องนะครับ คนอื่นก็คงเห็นเหมือนกัน)

คุณควรทำตำอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูก 'ฟ้าผ่า' ?  

ทั้งสองตำแหน่งเลยครับ (คัดลอกมาแน่ ๆ เลย)

ขอบคุณครับ สำหรับความรู้ดี (สำหรับหนังสือด้วย) 

โอ - อุทัย : ขอบคุณมากครับ พี่แก้ไขแล้ว :-)

อาจารย์หมอวัลลภ : ใช่แล้วครับ ปัจจัยสำคัญคือ ความสูง ส่วนโลหะชิ้นเล็กๆ ที่ติดกับร่างกายนี่แทบไม่มีผลเลย แต่เรื่องนี้เราเข้าใจผิด และสอนผิดๆ กันมาตลอดครับ

เดอ - นักลงทุนเงินน้อย : หากเราอยู่ในรถ หรือกรงโลหะ (เรียกว่า Faraday Cage) กระแสไฟฟ้าจะไหลไปตามโลหะเกือบทั้งหมด (ในกรณีของรถคือตัวถัง) ทำให้เราไม่ได้รับอันตรายครับ

        แต่น่าสนใจเหมือนกัน หากมีคนถามว่า อ้าว! แต่ล้อที่สัมผัสพื้นเป็นยางไม่ใช่เรอะ? ตอบไงดีเนี่ย...ช่วยคิดหน่อย :-)

 มันต้องเปียกไงครับพี่ชิว ถ้าล้อไม่เปียก เราเดี้ยงแน่ อิอิ เพราะส่วนใหญ๋ถ้าผ่าจะผ่ามาแรงๆ ฝนก็น่าจะตกด้วยนะครับ

สุขสันต์วันสงกรานต์ and สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท