004 : คุณควรทำตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูก 'ฟ้าผ่า' ?


แม้ว่าคุณจะไม่ได้ไปแตะต้องกับอะไรก็ตามที่ถูกฟ้าผ่าโดยตรง ถ้าคุณอยู่ใกล้สิ่งนั้นเกินไป หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม คุณก็อาจเป็นอันตรายได้อีกเช่นกัน!

ในช่วงเวลาที่มีฝนฟ้าคะนอง ไม่ว่าจะเป็นช่วงหน้าร้อนซึ่งมี พายุฤดูร้อน หรือหน้าฝนซึ่งมีฝนตกชุก สิ่งที่น่ากลัวซึ่งมาพร้อมกับฝนฟ้าคะนองก็คือ ฟ้าผ่า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเราควรจะเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับฟ้าผ่าและการทำตัวให้ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงในการถูกฟ้าผ่า

เปิดโปงความจริงเกี่ยวกับฟ้าผ่า

ฟ้าผ่าเกิดจากการที่ประจุไฟฟ้าวิ่งจากก้อนเมฆลงมาที่พื้นดิน (หรือกลับกันก็ได้) ประจุไฟฟ้าอาจจะวิ่งอยู่ในก้อนเมฆ หรือวิ่งจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่งที่เรียกว่า ฟ้าแลบ

แต่เป็นไปได้อีกเหมือนกันที่ประจุไฟฟ้าอาจวิ่งจากก้อนเมฆตรงดิ่งไปยังปีกของเครื่องบินที่คุณนั่งอยู่ (ในกรณีนี้ก็สวดมนต์กันเองว่าอย่าให้เครื่องยนต์มีอันเป็นไปนะครับ)

เราลองมาดูกรณีที่ฟ้าผ่าจากเมฆสู่พื้นกันดีกว่า เพราะเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ หลักการสำคัญมีอยู่ว่า สายฟ้ามักจะฟาดเปรี้ยงลงมายังจุดที่สูงที่สุดในบริเวณหนึ่ง ๆ  ความจริงสายฟ้ามีโอกาสที่จะจะฟาดลงไปยังจุดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จุดที่สูงที่สุดด้วยเช่นกัน แต่ยิ่งสูง โอกาสถูกหวยก็ยิ่งมาก

 


ฟ้าผ่าต้นไม้สูงเนื่องจากอยู่โดดเด่นในบริเวณที่โล่ง

 

ชม คลิปวิดีโอฟ้าผ่าต้นไม้

 


ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ จุดที่สายฟ้าฟาดนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นโลหะหรือตัวนำไฟฟ้าชั้นดีก็ได้  ฟ้าผ่ายอดต้นไม้สูงก็มีถมไป ในกลางทุ่งโล่งซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ไม่กี่ต้น สายฟ้ามักจะผ่าลงไปที่ต้นไม้ใหญ่ที่สูงที่สุด หรือในที่ ๆ มีบ้านเรือนอยู่ ฟ้าก็มักจะผ่าจุดที่สูงที่สุดของบ้าน ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้วิศวกรก็ติดตั้งสายล่อฟ้าในส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร

แต่เรื่องที่น่าฉงนและต้องรู้เอาไว้ก็คือ แม้ว่าสายฟ้าจะไม่ฟาดถูกตัวคุณจัง ๆ มันก็สามารถทำอันตรายคุณได้!  เอ๊ะ! ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

สมมติว่าคุณหลบอยู่ใต้ต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่า แล้วเผลอไปแตะต้องส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ ก็แน่นอนว่าไฟฟ้าจะวิ่งเข้าตัวคุณ คล้าย ๆ กับตอนที่คุณถูกตู้เย็นหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าดูดนั่นล่ะครับ เรื่องนี้ตรงไปตรงมา

แต่ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ไปแตะต้องกับอะไรก็ตามที่ถูกฟ้าผ่าโดยตรง ถ้าคุณอยู่ใกล้สิ่งนั้นเกินไป หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม คุณก็อาจเป็นอันตรายได้อีกเช่นกัน! อันตรายจากฟ้าผ่าแบบนี้มี 2 ลักษณะดังนี้
     

กรณีที่ 1 - Side Flash : กระแสไฟฟ้าที่วิ่งลงมาตามลำต้นของต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่าอาจจะเปลี่ยนใจกระโดดเข้าหาคุณ ดังนั้นจึงไม่เหมาะแน่ถ้าคุณคิดจะยืนหลบฝนฟ้าคะนองอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือโครงสร้างอื่น ๆ เช่น ศาลากลางสวนที่ตั้งอยู่โทนโท่โดยไม่มีสายล่อฟ้า ลักษณะนี้นักวิชาการจะบอกว่า อันตรายเกิดจาก ไซด์แฟลช (side flash) ซึ่งผมขอแปลหลวม ๆ ว่า ‘ไฟฟ้าแลบจากด้านข้าง’ ก็แล้วกัน

Side Flash - แม้ชายหนุ่มเคราะห์ร้ายจะไม่ได้แตะส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่าโดยตรงเลยก็ตาม แต่กระแสไฟฟ้าก็อาจจะกระโดดเข้าจู่โจมเขาจากด้านข้างได้

 

กรณีที่ 2 - Step Voltage : ในกรณีที่เจ้าวัวยืนอยู่ใกล้ ๆ ต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่านั้น ไฟฟ้าที่วิ่งลงมาตามต้นจะไหลออกสู่พื้นดินโดยรอบในแนวรัศมี ดังนั้น ไฟฟ้าที่ไหลมาตามพื้นก็จะวิ่งเข้าทาง 2 ขาหน้าของวัว ผ่านลำตัว และออกไปทาง 2 ขาหลัง ครบวงจรพอดี!

สัตว์ที่อยู่ในทุ่งโล่งนั้นตายเพราะสาเหตุนี้มานักต่อนักแล้ว (ไม่ได้ตายเพราะ กระดิ่งผูกคอโลหะเป็นตัวล่อสายฟ้า อย่างที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ในบ้านเรานี่แหละ)  สำหรับลักษณะนี้เรียกว่า อันตรายเกิดจาก ความต่างศักย์ต่างกันในแต่ละจุด (step voltage) หรือ กระแสที่ไหลมาตามพื้น (ground current) ก็ได้

 

Step Voltage - วัวเคราะห์ร้ายอาจถูกไฟฟ้าทำอันตรายได้ แม้ว่าจะไม่ได้ถูกฟ้าผ่าโดยตรงก็ตาม (ภาพจากหนังสือ The Flying Circus of Physics with Answers เขียนโดย Jearl Walker หน้า 164)

คุณควรทำตัวอย่างไร ในสภาวการณ์ที่อาจเกิดฟ้าผ่า?

ถ้าคุณอยู่ในที่โล่ง และหาที่หลบได้ : 

  • รีบหาที่หลบที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ หรือรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังอาคาร และอย่าแตะตัวถังรถ เป็นอันขาด
  • ที่สำคัญ อย่ายืนหลบใต้ต้นไม้สูงเป็นอันขาด (ยกเว้นว่าคุณอยากรู้ว่า “ไซด์แฟลช” นั้นเป็นยังไง!)

ถ้าคุณอยู่ในที่โล่ง และหาที่หลบไม่ได้ : 

  • ให้ “หมอบนั่งยอง ๆ เท้าชิดกัน” หมอบนั่งเพื่อให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด ส่วนเท้าชิดก็เพื่อลดพื้นที่สัมผัสพื้นให้น้อยเข้าไว้ ดังภาพซ้ายมือ (สังเกตว่า คนในภาพเขย่งปลายเท้าด้วย เพื่อให้พื้นที่สัมผัสน้อยที่สุด)  แต่ถ้าทนเมื่อยไม่ไหว ก็ลองภาพขวามือก็ได้ 

 

  • ที่สำคัญคือ อย่านอนหมอบกับพื้น เพราะท่านอนทำให้คุณมีจุดสัมผัสพื้นหลายจุด (ลองทำดูจะเข้าใจ) ซึ่งหากเกิดฟ้าผ่าลงมาใกล้ๆ คุณ กระแสไฟฟ้าอาจจะวิ่งมาตามพื้น เข้าทางจุดหนึ่ง แล้วออกอีกจุดหนึ่ง แต่ระหว่างทางอาจเลี้ยวแวะเข้าสู่หัวใจ หรือไขสันหลังของคุณได้นะ ...จะบอกให้! ;-P

ถ้าคุณอยู่ในบ้านหรืออาคาร : 

  • ให้อยู่ห่าง ๆ ประตูและหน้าต่าง แล้วถอดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นออกให้หมด  อย่าลืมดึงสายอากาศของโทรทัศน์ออกด้วย เพราะสายฟ้าอาจผ่าลงที่เสาอากาศบนหลังคาบ้าน แล้ววิ่งเข้าสู่โทรทัศน์ของคุณได้


ขณะอยู่ในบ้าน อย่าใช้โทรศัพท์ (เพราะสายโทรศัพท์เป็นตัวนำไฟฟ้าอย่างดี) อย่าเพิ่งอาบน้ำ และปิดแอร์ให้เรียบร้อย

ถ้าคุณอยู่ในรถ :

  • ให้ปิดประตูและหน้าต่างรถให้สนิท อย่าแตะต้องกับส่วนที่สัมผัสกับตัวถังรถ

 

เมื่อเพื่อนๆ ชาว GotoKnow เข้าใจพื้นฐานของฟ้าผ่าและวิธีลดความเสี่ยงจากการที่จะถูกฟ้าผ่าแล้ว ก็คงจะทำตัวได้อย่างถูกต้อง และอย่าลืมส่งต่อความรู้-ความเข้าใจนี้ไปให้คนรอบข้างด้วยนะครับ

ที่เล่าให้ฟังไปทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องจริง...สาบานได้

ถ้าไม่จริง ขอให้ฟ้าผ่าบ้านเจ้าพ่อยาบ้าสิเอ้า!

^__^

 


บทความที่เกี่ยวข้อง


แนะนำขุมทรัพย์ทางปัญญา

ขอแนะนำเว็บไซต์เกี่ยวกับการป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าต่อไปนี้


ประวัติของบทความ

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Know How & Know Why หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุกิจ
  • ตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ Know How & Know Why ลมฟ้าอากาศ, สนพ. สารคดี
  • ดัดแปลงเพื่อบันทึกใน GotoKnow.org เพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

คำสำคัญ (Tags): #ฟ้าผ่า
หมายเลขบันทึก: 89158เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2007 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

อาจารย์ครับ

มีอีกข้อหนึ่งครับ คือ ห้าม หรือ ไม่สาบานกับคนอื่นๆ ว่า "หากไม่จริงให้ฟ้าผ่า" แบบนี้ครับ

นี่คือเสี่ยงโดยตรง

(ขออนุญาตแซวๆ ครับ พอดีอากาศมันร้อนครับ เลยหาอะไรที่ผ่อนคลาย 555)

อาจารย์บัญชาคะ   เรียนถามนิดนะคะ  ไม่ทราบว่าคลื่นมือถือเสี่ยงไหมคะ?  กรณีอยู่ในรถใส่สมอลทอล์ก  และพูดโทรศัพท์ขณะที่ฝนตกฟ้าคะนองนะคะ   (คือว่าดิฉันกลัวฟ้ามาก  ไม่ใคร่ชอบเท่าไหร่  เวลาฝนตกไม่กล้ารับโทรศัพท์ในรถฯ   โดนแม่บ่นว่ากลัวไม่เข้าเรื่องอ่ะค่ะ)

เป็นประโยชน์มาก ๆ ครับ...

ขอบคุณครับ..

พี่ชิวคะ สงสัยอีกอย่างค่ะ  ร่างกายคนเรามีไฟฟ้าสถิต มากน้อย ไม่เท่ากันหรือ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ได้อีก คือบางทีรู้สึกว่าเป็นสาวไฟแรงสูง (ไม่ใช่เซ็กซี่นะคะ) แต่เดินๆ มีแปล๊บๆ กับวัตถุรอบข้าง เช่น บันไดเลื่อนในห้าง หรือ ลูกบิดประตู อะไรแบบนี้อะค่ะ

 วันนั้นดูรายการอะไรจำไม่ได้ มีคนสร้างไฟฟ้าสถิตย์จากร่างกายจนช็อตคนข้างๆได้เลยครับ เค้าบอกว่าเค้าควบคุมด้วยจิต ครับ

  ดูแล้วก็แปลกๆดี อยากทำได้มั่งเอาไว้ช็อตคนอื่น อิอิ

เข้ามาอีกทีค่ะ  ดิฉันอ่านประสบการณ์คุณหุยแล้วตกใจด้วยดีใจด้วยที่เหมือนกัน  ตะกี้พิมพ์แล้วด้วยแต่ไม่กล้าโพสต์อ่ะค่ะ   

เคยไปห้างกลางคืนแล้วจับเหล็กที่รถเข็น  รู้สึกเหมือนโดนไฟช็อต  ..สองหนแล้ว  นึกว่าไฟรั่วที่พื้น

อีกทีตอนนั่งที่โต๊ะประชาสัมพันธ์  มีไมค์ขาตั้ง  ถึงคิวประกาศเอื้อมมือไปจับไมค์ก็โดนไฟดูด  คนอื่นๆจับก็ไม่โดนดูด  เจ้าหน้าที่โสตบอกว่ารับรองได้ไม่มีไฟรั่วแน่นอน

ดิฉันลองเอามือซ้ายแตะฐานไมค์(เป็นเหล็กๆ)บังเอิญพร้อมๆกันนั้นลูกศิษย์มาจับที่แขนขวา  กระแสไฟก็วิ่งผ่านจากฐานไมค์ ผ่านตัวดิฉันเข้าไปที่เด็ก  เธอชักมือกลับแทบไม่ทัน  สะดุ้งเฮือกกันทั้งคู่เลยค่ะ

ดิฉันพอทราบเรื่องไฟฟ้าสถิตย์ในร่างกายคนที่มีความชื้นสูงมาบ้าง  แต่วันนั้นดิฉันตัวแห้งปกติดีนะคะ     ท่านเล่นดูดๆช็อตๆไม่เตือนล่วงหน้าเลยอ่ะค่ะ  :-(

 

ยิ่งแห้งน่าจะยิ่งมีนะครับ อาจารย์ดอกไม้ทะเล เพราะพอตัวเราแห้งเราจะมีการเสียดสีกับวัตถุอื่นๆได้มากขึ้น เกิดการจัดเรียงของ อิเลคตรอน บนพื้นผิววัตถุนั้นแล้วก็มาออกันที่ส่วนขอบ เลยไปจับอะไรก็มีไฟฟ้าวิ่งข้ามไปทันที เกิดไปช๊อตๆๆ ขึ้นมาเลยครับ

  เหมือนการลากรถเข็นในห้าง การที่เรานั่งเก้าอี้บุด้วยพลาสติก ลองเอาก้นถูๆแล้วเอามือจับที่ขาโลหะ ไฟก็ดูดครับ อ๊ากๆๆๆ เจ็บๆๆ

ปล.เข้าท่าค่ะ  คุณนักลงทุนเงินน้อย   เดี๋ยวพรุ่งนี้จะลองเบ่งพลังแล้วแตะแมวที่บ้านดูอ่ะค่ะ   :-)

 อาจารย์ทำไมโหดจัง อิอิ (เข้าท่าจัง เอามั่งนะครับ)
  • พี่ชิวครับ มีเรื่องสงสัยอีกเหมือนกันครับ
  • ทำไมหลบในรถถึงปลอดภัยครับ? เคยดูหนังบางทีเห็นฟ้าผ่ารถจนไฟใหม้เลยครับ
  • เครื่องบินติดสายล่อฟ้าไหมครับ (แต่จะล่อไปลงอะไรหว่า ไม่มีดิน) ต่อไปจะได้ไม่ขึ้นตอนฝนตก :>
  • (ปล. เกมที่ส่งให้พี่ชิวเล่นได้ครึ่งนี่เก่งมากเลยครับ ผมเล่นได้ไม่ถึง 1/3 ครับ :>)
อ่าฮะ เจอคนไฟแรงสูงเหมือนกันแล้ว คุณดอกไม้ทะเล ...
ที่ถามเพราะบางครั้งเราไม่ได้ถูๆๆ เหมือนที่คุณเดอ บอก  มันก็..แปล๊บ..ให้สะดุ้ง เลยนะ.. ส่วนนึงก็อากาศแห้ง ในห้าง ห้องแอร์ อะไรแบบนี้ค่ะ ถ้างั้นหน้าหนาว เราจะสปาร์ค ง่าย ฮ่าๆๆ
 อากาศมันเย็น เลยต้องการไฟเพิ่มครับ อิอิ แบบร้อนแรงยิ่งดี แบบเจ็บแปล๊บๆ ไม่เอาจ้า อิอิ
คุณเดอ ไปเจอตัวตัวดีกว่า เดี๋ยว blog พี่ชิวมีเรื่อง ๆๆ ฮ่าๆๆ ไม่เป็นไรค่ะ หุยไม่ถือ เพราะเป็นคนตกน้ำไม่ไหล (อ้วน) ตกไฟไม่ไหม้ (เมือกเยอะ) แต่ตกบันได ขาแพลง ....

ขอขอบคุณอาจารย์บัญชา...

  • เห็นท่านั่งยองๆ + เขย่งเท้าเล็กน้อยในภาพแล้ว... ทึ่งมากครับ
  • เรื่องนี้อ่านมาก่อนแล้ว ทว่า... ไม่ละเอียดเท่าภาพที่อาจารย์แนะนำในบันทึกนี้
  • ถ้าคนพม่ามาเห็นเข้าคงจะดีใจ เพราะคนพม่าชอบนั่งยองๆ ซึ่งเป็นท่าที่ปลอดภัยจากฟ้าผ่ามากที่สุด

อาจารย์หมอวัลลภครับ : ใช่แล้วครับ เป็นท่าที่ถูกต้องหากหาที่หลบไม่ได้ (แต่เมื่อยน่าดู)

        ฝรั่งนี่เขาสอนเรื่องพื้นฐานพวกนี้ตั้งแต่เด็กเลย ของเราคงต้องสอนครูและพ่อแม่ก่อน แล้วให้ครูและพ่อแม่ไปสอนเด็กๆ หรือถ้าจะให้ดีกว่า อาจจะต้องให้ครูสอนเด็ก แล้วเด็กไปสอนพ่อแม่อีกที อาจจะได้ผลมากกว่าในทางปฏิบัติครับ

หุย + เดอ + อาจารย์ดอกไม้ทะเล : เรื่องไฟฟ้าสถิต (ไม่มี ย์) นี่ ไว้ผมจะไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติมให้นะครับ...โปรดอดใจรอ

อาจารย์เก๋ครับ : เรื่องฟ้าผ่าเครื่องบินนี่พี่ก็สงสัยมานานแล้ว แต่ยังไม่มีคำตอบ พวกเราช่วยกันไปค้นคว้ามาดีไหม หรือถ้ามีวิศวกรการบิน บินผ่านมาแถวนี้ก็ช่วยตอบทีครับ..ขอบคุณล่วงหน้าครับ :-)

อาจารย์ดอกไม้ทะเลครับ : เรื่องคลื่นมือถือ กับ ฟ้าผ่า นี่ก็มีการพูดถึงกันมาก แต่ผมยังไม่แน่ใจนะครับว่าเกี่ยวข้องกันแค่ไหน

         พวกเราช่วยกันไปค้นมาดีกว่า (ไม่อยากบอกว่า จะไปค้นให้คนเดียว เพราะเดี๋ยวถ้าไม่ว่าง..จะนานเกินไป) ดีไหมครับ :-)

พี่ชิว คะ หุยรอได้ เพราะยังชอบเป็นสาวไฟ้แรงสูง ฮ่าๆๆ

 น่าจะผ่ามาตามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผ่านอากาศมาจากเสาส่งนะครับ (เดาเอา) เพราะเวลาคลื่นที่ส่งมาผ่านอากาศน่าจะเกิดการเคลื่อนที่ของ อิเลคตรอน ด้วย อาจเป็นช่องทางของการเดินทางของฟ้าผ่าได้มั้ยหน้อ

  ที่เดาแบบนี้เพราะมีรุ่นพี่ ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การส่งคลื่นโทรศัพท์ผ่านการเกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการตกลงมาของอุกาบาทมายังพื้นโลก (โห เรื่องอะไรเนี่ย น่างงจริงๆๆ)

ขอบคุณค่ะอาจารย์สำหรับเรื่องที่ประโยชน์ดีๆอย่างนี้  หนูปริ๊นไปให้คนที่บ้าน+เพื่อนๆคนอื่นๆ อ่านด้วยค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ อาจารย์บัญชา  เรื่องคลื่นมือถือ  ดิฉันจะลองค้นๆดูเหมือนกัน แต่สงสัยว่าจะไม่สนุกเท่ากับได้อ่านที่อาจารย์เขียนเล่านะคะ  ...ไม่เชื่อถามคุณหุยดูได้เลยค่ะ.... :)

เข้ามาเรียนสนับสนุนคุณหุยด้วยเรื่องไฟฟ้าสถิตด้วยค่ะ    คุณนักลงทุนเงินน้อย .....ดิฉันเอามือแตะเฉยๆเองจริงๆนะคะ   (คือว่าแตะรถเข็นนะคะ)    ยังไม่ทันได้ทำอะไร ก็สปาร์กแล้วอะค่ะ  ดีนะคะเนี่ยที่ไม่ดังเปรี๊ยะๆแล้วมีไฟแล่บ  ไม่งั้นดิฉันวิ่งกระเจิงไปแล้ว........  :)

ขอบพระคุณอาจารย์บัญชาด้วยนะคะ เรื่องการสะกดคำ  ดีจังเลยค่ะ มีอีกคำดิฉันก็เพิ่งฉุกใจคิด  คือคำลงท้ายว่า อ่ะค่ะ  ดิฉันใส่วรรณยุกต์เอกที่คำว่า อะ มาโดยตลอด  อ่านดูอีกทีตกกะใจ  เด๋วเอ๊ยเดี๋ยวจะลองรวบรวมคำเผลอมานำเสนออีกสักหน

การช่วยๆกันดู ช่วยๆกันบอก น่ารักออกค่ะ  เมื่อเรารู้ว่าที่ถูกเป็นอย่างไร เวลาเขียนจริงๆ  เราจะได้ไม่เผลอ อะค่ะ  :) ขอบพระคุณอาจารย์อีกทีนะคะ :)

 

คุณ Som_O WAY : ยินดีที่ข้อมูลเป็นประโยชน์นะครับ

       ยิ่งช่วงหน้าร้อนนี้ ทางภาคเหนือและภาคอีสาน จะโดนพายุฤดูร้อนกระหน่ำบ่อยหน่อย ก็ต้องระวังเรื่องฟ้าผ่าให้มากๆ & พอถึงหน้าฝนก็จะมีพายุฝนฟ้าคะนองอีก

อาจารย์ดอกไม้ทะเล : เรื่องไฟฟ้าสถิตนี่ ผมก็โดนในห้างสรรพสินค้าอยูเรื่อยครับ ไม่รถเข็นก็ราวจับบันไดเลื่อน จับลงไปที ต้องชักมือกลับทุกที แต่ไฟไม่แรงสูงเหมือนอีกหลายๆ ท่านนะครับ ;-) (ไฟอ่อน..อิอิ)

        เรื่องตัวสะกดภาษาไทยนี่ ผมมักจะสะกดเพี้ยนระว่าหว่างคำที่ลงท้ายด้วย 'น' กับ 'ณ' เป็นประจำครับ แก้ยังไม่ค่อยหายเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เขียนมาก็เยอะ เป็นบรรณาธิการมาก็ไม่น้อย

       ส่วนคำว่า สถิต นี่ก็กวนดีจริง

       ไฟฟ้าสถิต ไม่มี 'ย์' แต่ สถิตยศาสตร์ (statics) มีตัว 'ย' อยู่ด้วย

       อีกคำที่มาแนวเดียวกันก็คือ

       สมดุล (สม-ดุน, สะ-มะ-ดุน) ซึ่งไม่มี 'ย์' แต่ ดุลยภาพ และดุลยพินิจ มีตัว 'ย' อยู่ด้วย

       จำยังไงๆ ง่ายๆ ดี? ใครช่วยคิดทีเถอะ! ;-)

 

 

ท่านอาจารย์  P ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ ครับ...

  • วัฒนธรรมไทยปัจจุบันเชื่อว่ามีสองเรื่องที่ "ล่อ"ให้ฟ้าผ่า
  • เรื่องแรก ใช้ไปแล้ว (สาบานได้ !)
  • อีกเรื่อง ยังไม่เห็นพูดถึงเลยนี่ครับ..

สวัสดีครับ อาจารย์วิบุล

       ยินดีอย่างยิ่งที่อาจารย์แวะมาเยี่ยม และฝาก comments เอาไว้ครับ :-)

       อย่างไรก็ดี ไม่แน่ใจว่าอีกเรื่องคือเรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องที่ว่า ใส่สร้อย หรือเครื่องประดับโลหะแล้ว จะเป็นตัวล่อสายฟ้า ก็ได้พูดถึงในเรื่อง ยกทรงมรณะแล้วครับ

  • สวัสดีครับ อาจารย์
  • ขอขยายความนะครับ...
  • ในวัฒนธรรมไทย ฟ้าจะผ่าเมื่อ
  1. ผิดสาบาน
  2. สร้างปัญหาเรื่องป่าไม้

แหม! อาจารย์ก็คิดไกลไปนู่นเลย ;-)

อันนี้ไว้ให้ท่านอื่นมาช่วยขยายความแทนน่าจะดีกว่าคร้าบ...

  • สวัสดีครับพี่ชิว
  • เห้อ...(ถอนหายใจ) ไม่มาดู ก็ไม่เกิดความกลัวฟ้าผ่านะครับ
  • เมื่อมาดูแล้วก็เลยเกิดความกลัว (แต่ก็จำได้ว่าไม่ค่อยได้สาบานอะไรไว้กะใครเท่าไร)
  • ฟ้าแลบ โบราณ เชื่อว่า นางมณีเมขลา  นำแก้วมณีมาโยนเล่น (ล่อแก้ว) รามสูร เลยขว้างขวาญ ฟ้า เพื่อจะชิงแก้วมณี
  • เคยดูข่าวจากทีวี กรณีที่ฟ้าผ่าจาก ล่าง ขึ้น บน
  • เป็นสนามฟุตบอลแห่งหนึ่งครับ
  • อยู่ดีๆ นักฟุตบอลล้มลงกับพื้นไม่ทราบสาเหตุ
  • ภายหลังทราบว่า เป็น ฟ้าผ่าจากล่างขึ้นบน อะไรทำนองนี้  

สวัสดีครับ น้องกวิน

          เรื่องฟ้าผ่าจากล่างขึ้นบนนี่ ไว้จะหาโอกาสขยายความอีกที

          ส่วนเรื่องฟ้าผ่าลงสนามฟุตบอล แล้งมีนักฟุตบอลล้มลงหลายคนนี่น่าจะเกิดจาก กระแสไฟฟ้าที่ไหลมาตามพื้น (ground current) ครับ เคยเกิดอยู่กรณีหนึ่งที่ ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ พี่เก็บข่าวเอาไว้ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท