วัตรปฏิบัติในการจัดการความรู้


บทเรียนจากนักจัดการความรู้ในงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2

เกริ่นนำ

เมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมากลิ่นอายการจัดการความรู้ที่ผมได้สัมผัสจากอายตนทั้ง 5 ยังคงฝังแน่นอยู่ในความทรงจำอันประทับใจ นับตั้งแต่การให้การต้อนรับด้วยไมตรีจิตมิตรภาพของท่านศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์  พานิช และคณะกรรมการเจ้าหน้าที่สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

ผมไม่นึกไม่ฝันว่าการจัดงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 จะจัดได้ดีถึงเพียงนี้
เพราะ สคส.มีเจ้าหน้าที่เพียง 10 ท่าน แต่ท่านสามารถประสานเครือข่ายช่วยทำหน้าที่ "คุณอำนวย" "คุณเอื้อ" "คุณกิจ" "คุณลิขิต" ได้อย่างครบถ้วนกระบวนความแสดงให้เห็นถึง "ความเป็นนักจัดการความรู้มืออาชีพ" ของ สคส. ซึ่งน่าภาคภูมิใจและสามารถนำไปเป็นแบบอย่างที่ดีของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ในการที่จะพัฒนาองค์กรของตนให้เป็นองค์กรอันทรงประสิทธิภาพต่อไป

สิ่งที่ผมสามารถถอดบทเรียนจากการได้ร่วมงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งนี้ สรุปประเด็นสำคัญๆ ได้ 4 ประการดังนี้

1)  จากเครือข่ายสู่โครงข่ายการเรียนรู้  สคส.ได้พยายามสนับสนุนส่งเสริมให้หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวทางประสบการณ์การจัดการความรู้ที่หลากหลายก่อให้เกิดเครือข่ายการจัดการความรู้ที่ทรงพลังและจากเครือข่ายที่กระจัดกระจายกลายเป็นโครงข่ายที่แน่นหนาครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศภายในระยะเวลาอันสั้น

2) จากวิถีชุมชนสู่วิถีมวลชน  การจัดการความรู้ที่ผ่านมาเริ่มต้นจากการรวมตัวแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการความรู้ของคนในชุมชน (Community Knowledge Management)ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจาก สคส.ให้นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน เกิดเป็นขุมพลังแห่งการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่กลายเป็นแบบอย่างที่ดี (Best practices) พัฒนาไปสู่วิถีการจัดการความรู้ของมวลชน (Mass Knowledge Management)

3) จากความรู้ของเอกัตตบุคคลสู่ความรู้ที่เป็นสากล  งานมหกรรมการจัดการความรู้ครั้งที่ได้มีเวทีแลกเปลียนเรียนรู้ของชุมชนนักปฏิบัติซึ่งมีการสกัดเอาขุมความรู้จาก "คุณกิจ" แต่ละคนมาบูรณาการและสรุปเป็นองค์รวมของความรู้ที่สามารถสืบค้นและถ่ายทอดได้อย่างมีระบบ เป็นขั้นเป็นตอนชัดเจนและอ้างอิงได้

4) จากมหกรรมการจัดการความรู้สู่มหกรรมการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้   ผลจากการจัดงานมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 2 นี้ แม้ว่าจะประสบความสำเร็จก้าวหน้าดีสักเพียงใด  "หากไม่มีการนำเอาความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตปรกติของบุคคล หน่วยงาน องค์การต่างๆ ก็เป็นการยากที่จะบอกว่าเป็นความสำเร็จของการจัดการความรู้ที่ยั่งยืน"

ดังนั้นในฐานะที่ สคส.ได้หว่านกล้า "เมล็ดพันธุ์แห่งความดี" ลงในพื้นที่เพาะปลูกองค์ความรู้ในงานมหกรรมการจัดการความรู้ครั้งที่ 2 ในปี 2548 แล้วไชร้  บทบาทต่อไปคือการเฝ้าติดตามดูแลบำรุงรักษาต้นกล้าให้เติบโต แข็งแรง และหวังว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลิตผลในงานมหกรรมการจัดการความรู้ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2549 ณ อิมแพค เมืองทองธานี   ด้วยเหตุนี้ "วัตรปฏิบัติ" ของนักจัดการความรู้ทั้งหลายจึงต้องดำเนินการตามพันธสัญญาใจที่เราให้ไว้แก่กัน  ซึ่งคงไม่ต้องรอให้ถึงวันนั้นกระมัง  ผมเชื่อว่าทุกๆท่านคงอยากเล่าเรื่องความสำเร็จ หรือความล้มเหลวในการทดลองนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติจริงให้บรรดามวลสมาชิกของเราได้รับฟังหรือรับรู้ร่วมกัน  ฉะนั้นจึงถือโอกาสนี้เชิญชวนท่านทั้งหลายเล่าเรื่องผ่าน weblog "gotoknow' นี้ครับ

ปฐมพงศ์ ศภเลิศ
   5 ธ.ค.48

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 8866เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2005 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยค่ะ เพราะหลังจากมหกรรมพวกเราก็เดินหน้าเตรียมงานปีหน้ากันแล้วค่ะ ส่วนที่อาจารย์กล่าวว่า สคส.ได้หว่านกล้า เมล็ดพันธุ์แห่งความดี แล้วบทบาทคือการเฝ้าติดตามนั้นก็ใช่ แต่การบำรุงรักษา ให้เติบโตแข็งแรง นั้นต้องอาศัยความร่วมมือและร่วมใจกันระหว่างเมล็ดพันธุ์กับผู้หว่านด้วย จริงไหมค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท