ทำอย่างไรนักวิชาการไทยจะนิยม “การถาม” และ “การที่มีคนถาม”ในที่ประชุมวิชาการ


ที่ผ่านมาคนไทยมองการถามในเชิงลบ แต่คนต่างชาติมองการถามในเชิงบวก
 

ผมขอสรุปจากประสบการณ์การทำงานและการพูดคุยกับนักวิชาการในระดับต่างๆ มาไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี ว่า สาเหตุที่นักวิชาการไทยไม่นิยมการถาม หรือ ได้รับคำถามในที่ประชุมเนื่องด้วย นักวิชาการคนไทยรู้สึกว่า หรือคิดว่า

1.    เป็นการท้าทาย การถามแสดงความก้าวร้าว

 

2.    แสดงความไม่นับถือผู้พูด ไม่เชื่อ ไม่นับถือ

 

3.    ความไม่เคารพผลงานของผู้เสนอ

 

4.    ผู้เสนอนำเสนอไม่ดี ไม่ชัดเลยต้องถาม (ผู้เสนอรู้สึกเสียหน้า)

 

5.    ผู้นำเสนอเสนอได้ชัดเจนแล้ว เลยไม่มีคำถาม (ฟังแบบไม่คิดต่อ)

 

6.    การสร้างศัตรูทางวิชาการ ต่อไปจะหาเพื่อนยาก และอาจมีการจองเวร ล้างแค้นในภายหลัง เมื่อมีโอกาส ทั้งที่ลับและที่เปิดเผยต่างๆ

 

7.    ชี้จุดอ่อนของงาน ทำให้ผู้นำเสนอเสียหน้า

  

สาเหตุจากผู้เสนอ

 

1.    ไม่มั่นใจในงานที่ทำ

 

2.    ไม่รู้จริงในสาขาและงานที่ทำ

 

3.    ไม่เข้าใจความเชื่อมโยง เมื่อตอบไม่ได้ ก็คิดว่าถามนอกเรื่อง นอกประเด็น

  

นักวิชาการต่างชาติกลับคิดว่า การถาม เป็นการ

 

1.    แสดงความสนใจ

 

2.    เห็นงานของผู้เสนอมีสำคัญ

 

3.    ให้ข้อเสนอแนะในการทำงานต่อไป

 

4.    ชี้ข้อประเด็นที่ควรปรับปรุง ทำให้มีโอกาสทำงานได้ดีกว่าเดิม

 

5.    โดยเฉพาะผู้ถามมีความรู้สูง ยิ่งมีประโยชน์กับงาน และการทำงานต่อไป

 

6.    การถามเป็นการสร้างพันธมิตรทางวิชาการ

  

แม้สถานการณ์ในเมืองไทยจะเปลี่ยนไปพอสมควร แต่ระบบไทยไทยก็ยังคงมีอยู่พอสมควร ผมจึงคิดว่าความแตกต่างของทั้ง ๒ แนวคิดนี้ก็เพียง

 

1.    ที่ผ่านมาคนไทยมองการถามในเชิงลบ แต่

 2.    คนต่างชาติมองการถามในเชิงบวก 

เราลองปรับมามองการถามให้เป็นแนวคิดเชิงบวกจะได้ไหมครับ

  

ผมจึงขอเสนอแนวทางแก้ไขของคนไทย ที่เห็นมีคนใช้กันมาก ก็คือ

 

1.    ไม่ถามแต่ตั้งข้อสังเกต

 

2.    เสนอแนะแบบอ้อมๆ

 

3.    ยกตัวอย่างเปรียบเทียบแทนการถาม

 

4.    ยกย่องข้อเด่นยาวๆ แล้วปิดด้วยข้อด้อยแบบเหมือนไม่เน้น แต่ฝากให้คิด

  หรือใครมีข้อเสนอเพิ่มเติมครับ
หมายเลขบันทึก: 85105เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2007 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมมองว่าขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กรมากทีเดียวครับ อย่างวงการของผมนี่การถามเป็นเรื่องปกติมากในการบรรยาย  ถ้าไม่มีคนถามแสดงว่าการบรรยายนั้นยังนำเสนอไม่ดีพอ เพราะถ้าเป็นการบรรยายที่ดี ผู้นำเสนอมีการสื่อแบบสองทางกับผู้ฟัง มีการตั้งคำถามที่ท้าทายแล้ว จะมีการตอบสนอง การถาม การตั้งข้อสังเกตจากผู้ฟังมากจนเกินเวลาเลยทีเดียว

ประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในสังคมไทยเรา คือ การมี hierarchy ขอโทษที่เขียนภาษาอังกฤษเพราะนึกภาษาไทยที่ตรงไม่ออก เรามักจะมองว่าผู้สอนเป็นผู้รู้ ถ่ายทอด ความรู้ให้แก่ผู้ฟัง ซึ่งนี่คือจิตวิสัยของคนไทย จะด้วยความรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เพราะฉะนั้น การถาม จึงแสดงถึงความไม่เคารพ ความท้าทาย ต่างจากของฝรั่งที่เขาไม่มีลำดับขั้น ความรู้เป็นสิ่งที่แลกเปลี่ยนกัน ไม่มีคำว่าผู้ใหญ่ผู้น้อยในเรื่องของความรู้

 เพราะฉะนั้น ผมเลยขอมองต่างมุมว่า การที่ผู้ฟังไม่ถามนี่แหละเป็นสิ่งท้าทายว่า ผู้สอนจะสามารถสร้างบรรยากาศแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้ มากกว่า การถ่ายทอดความรู้หรือไม่ ผมขอฟันธงเลยว่า ถ้าผู้สอนมีท่าทีเป็นผู้รู้ ทรงภูมิ ฉันเก่ง  ฉันแน่ พูดมาก ฟังน้อย  ก็ยากที่จะหาผู้กล้าถามหรือจะเอาความคิดเห็นที่ต่ำต้อยของตนเองไปแลกเปลี่ยนกับท่าน

มันมีหลายเวที

หลายรูปแบบ

ถ้าเวทีชาวบ้านที่พัฒนาบ้างแล้วเขาจะถาม

กล้าถาม อยากรู้ อยากเห็น

รวมทั้งเวทีของภาคธุรกิจเอกชน

แต่ส่วนใหญ่วัฒนธรรมไทยก็จะเป็นอย่างที่อาจารย์แจกแจงนั่นแหละ มันไม่ค่อยมีพิศดารกว่านี้หรอก ไม่งั้นภาควิชาการเราจะเดินตามก้นเขาต้อยๆรึครับ อาจารย์ก็คงต้องทำหน้าที่เป่าปี่ต่อไป..ถ้ารักที่จะเป็นวิทยากร ให้ดีต้องสีซอด้วยจะได้เพลินเพลินในการฟัง

 

1.    ไม่ถามแต่ตั้งข้อสังเกต

 

2.    เสนอแนะแบบอ้อมๆ

 

3.    ยกตัวอย่างเปรียบเทียบแทนการถาม

 

4.    ยกย่องข้อเด่นยาวๆ แล้วปิดด้วยข้อด้อยแบบเหมือนไม่เน้น แต่ฝากให้คิด

  • ชอบมากเลยครับ จะนำเอาไปใช้ครับ เป็นคำแนะนำที่ผมชอบมากครับ

ผมว่าอีกประเด็นที่คนไม่ถามอาจจะเป็นเพราะเหตุดังนี้ก็ได้นะครับ

  1. ไม่มีความรู้เบื้องต้นในประเด็นนั้นๆมาก่อนทำให้แลกเปลี่ยนยาก
  2. ไม่ได้ทำการบ้านโดยการอ่านงานนั้นมาก่อน
  3. นักวิชาการอาจจะไม่ได้มีจุดยืนอะไรเป็นการเฉพาะสำหรับประเด็นนั้นๆ ?
  4. ประเด็นที่ตนสนใจ ไม่มีประเด็นเชื่อมโยงกับเรื่องนั้น หรือยังมองไม่เห็นประเด็นเชื่อมโยงกับเรื่องที่กำลังนำเสนอ

ผมว่า สามประเด็นนี้ เลยอาจทำให้เกิดคำถามได้ยากนะครับ หากว่า ผู้นำเสนอนั้นนำเสนอได้ชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้เพราะการมีความรู้เบื้องต้น และการทำการบ้านมาก่อนนั้น ทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้นในการพินิจพิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นที่นำเสนอ... บางครั้ง คนอาจจะไม่ถามเพราะไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ถามเค้านำเสนอไปหรือยัง

นอกจากนี้ยังทำให้สามารถ เปรียบเทียบเรื่องที่กำลังนำเสนอกับงานอื่นๆที่ตนเคยผ่านตามาด้วย ซึ่งจะทำให้เห็นจุดที่ควรจะถาม ...

ทำนองเดียวกับการมีจุดยืนในประเด็นนั้นๆ ... การที่ผู้ฟังมีจุดยืนในประเด็นนั้นๆอยู่บ้างแล้ว อาจทำให้เกิดการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้มากขึ้น ทั้งในส่วนที่สนับสนุนและส่วนที่เห็นแตกต่างกัน ...

และท้ายที่สุด ถ้าหากผู้เข้าร่วมฟัง เข้าฟังโดยมีจุดประสงค์เพื่อรับความรู้และนำไปพัฒนางานของตนก็อาจทำให้เกิดคำถามที่พยายามเชื่อมโยงมันเข้ากับประเด็นที่ตนสนใจอยู่ก็ได้ครับ

 

ถ้าที่ผมคิดเป็นตามนั้นจริง ผมคิดว่ามันก็จะเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆอีกมากเลยครับ ... เช่น ระบบแรงจูงใจในการทำงานวิชาการของมหาวิทยาลัยไทย ที่จะทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีแรงจูงใจที่จะเจาะศึกษาในประเด็นต่างๆ ... ฯลฯ

  • ผมเห็นด้วยในหลายๆ ประเด็นที่ทุกๆท่านเสนอมานะครับ คิดว่าเป็นประโยชน์มากครับ
  • การถามบางที ผมว่าหากกล้าที่จะถามก็ได้ถาม เพราะหากการถามนั้นมีความมั่นใจเพื่อที่จะเรียนรู้
  • ส่วนคนตอบหากกล้าที่จะตอบที่จะให้ก็สามารถโยนคำถามได้ ผมมักจะโยนคำถามไปยังผู้ฟัง แบบท้าทายทั้งๆที่เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะตอบอย่างไร แต่เราน่าจะเรียนรู้ไปด้วยกันได้ครับ
  • สำหรับฝรั่งและไทยนั้นแตกต่างกันหลายเรื่อง ที่ผมเคยบอกว่า ครูถามเด็กไทยเสมือนยิงศรปักที่ยอด-อก ของเด็ก
  • แต่หากคุณไปเอาเด็กตัวเล็กมาเทียบกันก็จะช่างถามเช่นกัน
  • ที่ยกตัวอย่างเด็ก เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันนี้
  • ผู้ใหญ่หรือนักวิชาการ ก็เคยเป็นเด็กมาก่อน มีส่วนอยู่เหมือนกันจากอดีตในการชอบถาม อยากรู้ ชอบตั้งคำถามครับ
  • ดังนั้นการนำเสนออะไรซักอย่าง ทั้งสองฝ่ายต้องจูนให้เข้ากันก่อน แล้วถึงจะไปด้วยกันได้ในเรื่องของการเรียนรู้
  • สมมุติว่าผมไม่รู้เรื่องต้นไม้เลย ท่านอาจารย์พูดเรื่องต้นไม้ หากผมสนใจจริงแล้วน่าติดตามมาก อยากรู้ ผมก็ต้องหาทางถามจนได้ครับ
  • สำหรับในเวทีวิชาการ นั้น บางที่หากไม่มีคำถาม ผู้พูดต้องชงประเด็น แม้ว่าเค้าไม่กล้าถามในที่ประชุมตอนนำเสนอ นอกรอบผมเชื่อว่าเค้าจะเข้ามาหา
  • ผมเคยไปนำเสนอที่ CMM2002 ที่จัดที่เมืองไทย ตอนผมนำเสนอ หาคนถามยากมากครับ นศ. ไม่กล้าถามเลย ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั่นมันเลิศเกินไป หรือว่าคนละสาขากันเลย
  • แต่พอผมพบจบ มีน้องๆ เข้ามาคุยด้วยหลายคน ถึงที่มาที่ไป ทำอย่างไร อะไรประมาณนี้ครับ
  • ผมเห็นด้วยนะครับ ในเรื่องการสนับสนุนให้มีการถาม ดังนั้น คนพูดกับคนฟังต้องจูนให้คลื่นส่งและรับมันสอดกันก่อนครับ
  • ผมอยู่เยอรมัน ฟังสัมมนามาเยอะมากครับ เชื่อไหมครับ ว่าหลายๆ หัวข้อ ไม่รู้จะถามอย่างไร เราถามนอกรอบดีที่สุด เพราะว่าจะเข้าได้ถึงจริงๆ
  • เพราะสาขาประยุกต์นี่ มันกว้างจริงๆครับ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกสาขา เชื่อมกันอยู่ด้วยปรัชญาที่มีรากมาจากศาสตร์เดียวกันครับ
  • ขอบคุณมากนะครับ ท่าน อ.แสวง รักษาสุขภาพด้วยนะครับ

การถามเป็นระบบทดสอบความเข้าใจของเราด้วครับ

แต่การถามแบบเสนอแนะก็จะมีประโยชน์มากกว่าการถามธรรมดาครับ

ขอตอบแบบล่าช้าอีกครั้งนะครับอาจารย์ ตอนนี้อยู่ในช่วงตามเก็บบล็อกของอาจารย์อยู่ ผมเข้าใจว่าที่อาจารย์ยกประเด็นมาคุยในบล็อกนี้ มุ่งที่การประชุมวิชาการเป็นหลัก ดังนั้นเรื่องในห้องเรียน เรื่องในการประชุมสัมมนาอาจารย์อะไรก็ละไว้ก่อน

เรื่องประเด็นทางวัฒนธรรมองค์กรอย่างที่คุณหมอมาโนชกล่าวไว้ ผมว่าน่าสนใจครับ แต่พอมาฟังที่อาจารย์เปรียบเทียบนักวิชาการไทย กับต่างชาติ แบบเหมารวมไปเลย ผมก็ว่าถูกเหมือนกัน ผมมองอย่างนี้ครับ

ผมขอใช้คำว่า hierarchy เหมือนอย่างคุณหมอมาโนชนะครับ ในที่นี้ผมหมายถึง hierarchy ทางภาษา วัฒนธรรมไทยในปัจจุบันก็ยังมีการถือผุ้ใหญ่ผุ้น้อย การใช้ภาษาก็ต้องมีลำดับขั้น ต่างจากภาษาอังกฤษซึ่งไม่มี hierarchy ของผู้พูดผู้ฟัง ผมว่านี้เป็นหนึ่งในความยากของภาษาเรา ยากในที่นี้หมายถึงจะพูดหรือจะเขียนอย่างไรให้ดูสุภาพ ไม่เป็นการพูดเชิงลบ ไม่เป็นการจับผิด ผมสงสัยว่าเราต้องมีทักษะในภาษาไทยสูง ถึงจะถามได้อย่างเหมาะสม ตรงประเด็นแต่นุ่มนวล

ผมนึกๆ ดูว่าถามแบบไหน ถึงจะสร้างสรรค์ ... ก็พอจะนึกได้แค่ ถ้าเราสงสัยประเด็นไหน ก็ขอให้ผู้พูดช่วยขยายความได้ไหม? ถ้าเราคิดว่าประเด็นไหน พอจะเกี่ยวโยงกับเรื่องที่เราสนใจ ก็ถามว่าจะสามารถโยงหัวข้อของผู้พูดกับหัวข้อของเราได้อย่างไร?

ก็คงต้องฝึกการถามนั่นแหละครับอาจารย์

เห็นข้อคิดของครูบา ที่ว่าชาวบ้านเขาสนใจใคร่รู้ ฟัง คิดแล้วถาม ผมรู้สึกว่านักวิชาการส่วนหนึ่งก็ยังอยู่กันในหอคอยงาช้าง ที่ำกำลังผุพัง ปลวกขึ้น ไม่รู้จะล้มครืนมาวันไหน... เฮ้อ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท