กำเนิดเขาไกรลาส : อัศจรรย์แห่งธรณีแปรสัณฐาน


 

ใครๆ ก็รู้ว่าเทือกเขาหิมาลัยนั้นสุดแสนยิ่งใหญ่ เพราะมียอดเขาเอเวอร์เรสต์ที่สูงที่สุดในโลก

ส่วนชื่อก็สุดแสนเหมาะสม เพราะว่า

หิมาลัย = หิมะ + อาลัย (ที่อาศัย)

ซึ่งบ่งว่าเทือกเขานี้มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี

แต่หากรู้เพียงแค่นี้ ก็น่าเสียดายความสำคัญในมิติอื่นๆ เพราะหิมาลัยเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสาย เช่น คงคา ยมุนา และพรหมบุตร โดยเฉพาะ “คงคาสวรรค์” ตามคติของชาวอินเดียนั้น ได้หล่อเลี้ยงพื้นที่กว่า 300,000 ตารางกิโลเมตร ตามแนวเส้นทางราว 3,000 กิโลเมตร มานานนับพันปีแล้ว

หิมาลัยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นดินแดนแห่งเทพเจ้าของชาวฮินดู เขาไกรลาส (เขียนว่า ไกลาส ก็ได้) นั้นถือกันว่าเป็นที่สถิตของพระอิศวร

ส่วนในทางพุทธศาสนานั้น หิมาลัยเป็นดินแดนต้นกำเนิดของศากยวงศ์ เพราะพระเจ้าโอกกากราช ได้สร้างเมืองที่ป่าไม้สักกะอันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบสแห่งเทือกเขาหิมาลัย และสถาปนาราชวงศ์ศากยะขึ้น แม้แต่พระพุทธองค์ก็ประสูติ ณ ลุมพินีวัน ในเขตหิมาลัย หรือประเทศเนปาลในปัจจุบัน

หิมาลัยเป็นขุมทรัพย์ทางวิชาการของเหล่านักวิทยาศาสตร์ เพียงแค่ความหลากหลายทางชีวภาพก็น่าตื่นตะลึงแล้ว เพราะหิมาลัยมีระดับความสูงแตกต่างกันทำให้มีสภาพภูมิอากาศหลากหลาย จึงพบพืชกว่า 5,000 ชนิด นก 530 ชนิด แมลง 2,300 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 190 ชนิด (ข้อมูลปัจจุบันอาจแตกต่างไปจากนี้)  

 

เมื่อราว 40-50 ล้านปีก่อนนั้น แผ่นเปลือกโลกอินเดียชนกับแผ่นยูเรเชีย เกิดเป็น “รอยย่น” หรือเทือกเขาหิมาลัยอันสลับซับซ้อน แผ่นเปลือกโลกอินเดียนั้นมีทั้งผืนน้ำและพื้นดิน แต่ต่อมาผืนน้ำเหือดแห้งไป และก้นทะเลก็ได้กลายเป็นเทือกเขา

 

ที่มั่นใจว่าภาพนี้น่าจะถูกต้องก็เพราะว่า หากดูภาพจากมุมสูงจะเห็นรอยย่นที่ว่าชัดเจน หากดูเนื้อภูเขา ก็จะพบหินตะกอนซึ่งบ่งบอกว่าที่แห่งนั้นเคยเป็นทะเลมาก่อน แถมยังพบซากฟอสซิลของสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์ที่เรียกว่า แอมโมไนต์ (ammonite) แถวๆ แม่น้ำ Kali Gandaki ในเนปาลอีกด้วย  

ปัจจุบัน เทคโนโลยี GPS (Global Positioning System) สามารถวัดได้ว่า แผ่นเปลือกโลกอินเดียยังคงเคลื่อนไปทางเหนือด้วยอัตราเร็ว 18 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งทำให้เทือกเขาหิมาลัยสูงขึ้นประมาณ 5 มิลลิเมตรต่อปี แม้จะน้อยนิด แต่ก็วัดได้จริง

มุมมองของนักวิทยาศาสตร์นั้นฟังแล้วน่าตื่นเต้น แต่คงจะสมดุลยิ่งขึ้น หากได้เห็นความงดงามของเทือกเขาหิมาลัยในมุมมองของศิลปินดูบ้าง

ในวรรณกรรมเรื่อง เมฆฑูต ท่านมหากวีกาลิทาส (Kalidasa) ได้บรรยายความงดงามนี้เอาไว้ โดยอาจารย์กรุณา-เรืองอุไร กุศลาศัย ได้ถอดความเป็นบทกลอนไว้ว่า

                        ลิ่วละล่องฟ่องฟ้านภากาศ            ถึงไกลาสสิขรินทร์ปิ่นสวรรค์

            สุกสกาวขาวระยัยจับคนันตร์            รับอาคันตุกะชนด้นดำเนิน

               อันไกลาสคีรีศรีสิงขร                  ถิ่นอมรเทพเจ้าภูเขาเขิน

               ดังคันฉ่องส่องเงาสกาวเกิน          เทพีเพลินส่องโฉมประโลมสุรางค์ 

 

หรือดังที่อาจารย์อรุณ เฉตตีย์ พรรณนา ไว้ในหนังสือ อินเดีย แผ่นดินถิ่นมหัศจรรย์ว่า

“เทือกเขาหิมาลัยดูประหนึ่งคล้ายสายสังวาลที่ล่ามฟ้าและดินมิให้พรากจากกัน

เป็นสายสัมพันธ์จากพื้นพิภพที่ไปบรรจบหมู่เมฆอันสูงสุดลิบสุดสายตา”  

นั่นเอง...


ประตูสู่มิติอื่น 

  • ใครสนใจหิมาลัยในเชิงธรณีวิทยา ลองไปเริ่มที่ The Himalayas – Geology – Formation of the Himalayas ที่ http://library.thinkquest.org/10131/geology.html
  • สำหรับกลอนและเกร็ดความรู้ส่วนใหญ่ ผมนำมาจากเรื่อง หิมาลัยรำลึก ในหนังสือ อินเดีย แผ่นดินถิ่นมหัศจรรย์ เขียนโดยอาจารย์อรุณ เฉตตีย์ จัดพิมพ์โดย ศูนย์อินเดียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ISBN 974-572-552-8) 

 


ประวัติของบทความ

  • ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ มิติคู่ขนาน เซ็คชันจุดประกาย เสาร์สวัสดี นสพ. กรุงเทพธุรกิจ เสาร์ 15 มกราคม 2548
  • ตีพิมพ์รวมเล่มในหนังสือ Know How & Know Why : มิติคู่ขนาน สนพ. สารคดี พิมพ์ครั้งที่ 1 มิถุนายน 2548
  • แก้ไข & ดัดแปลงเพื่อนำเผยแพร่ใน GotoKnow.org วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2550 
หมายเลขบันทึก: 84506เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2007 07:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
เป็นอีกที่ที่น่าไปดูของจริง

เป็นอะไรที่ชวนฝันมากๆเลยค่ะอาจารย์

ขอบคุณที่เขียนมาให้อ่านกันค่ะ

^__^

  • ตามมาขอบคุณเจ้ากบตัวน้อย
  • พ่อครูบาสุทธินันท์เอาไปนำเสนอให้เด็กๆๆดู
  • ปรากฎว่าทุกคนชอบมาก
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ คุณ k-jira

        ยินดีอย่างยิ่งที่ชอบนะครับ ^_^

...............................................................

สวัสดีครับ อาจารย์ขจิต

        ดีใจมากที่ เจ้า Gecko (ตุ๊กแก) ร้องเพลงทำให้เด็กๆ มีความสุขนะครับ (เจ้าตัวนี้ลูกสาวของผมก็บอกว่า กบ เหมือนกัน จริงๆ มันก็เหมือนกบจริงๆ แหละ ทั้งหน้าตา และสีสัน)

P

เข้ามาเยี่ยม....

อาจารย์อ้างเรื่อง เมฆฑูต ที่อาจารย์กรุณาฯ แปล ก็นึกขึ้นได้ว่า อาตมาเคยมีหนังสือเล่มนี้ แต่ให้ใครหรือใครยืมไปไม่คืนนานแล้ว....

เจริญพร

 

กราบนมัสการหลวงพี่พระมหาชัยวุธครับ

         ขอบคุณครับ

         หลวงพี่พอจำได้ไหมครับว่า หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ใด ผมไม่มีหนังสือเล่มนี้ครับ และอยากอ่านมาก :-)

กราบขอบพระคุณครับ

บัญชา

P

จำไม่ได้ (ปกติไม่ได้สร้างนิสัยจำสำนักพิมพ์... ต่อไปจะพยายามดู)....

หนังสือเล่มที่ว่านั้น อาตมาเคยมีตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็สิบกว่าปีแล้ว... จำได้แต่เพียงว่า ขนาดเล่มใหญ่ เท่ากับสมุดทั่วไป แต่ค่อนข้างบาง... และอ่านยากส์...

ลองไปค้นดูในเน็ต มีประกาศขายหนังสือเก่าเล่มนี้... ถ้าอาจารย์สนใจก็ลองดู http://www.pantipmarket.com/view.php?id=L5608338

เจริญพร

กราบขอบพระคุณหลวงพี่มากครับ เมื่อกี้ตาม link เข้าไป ปรากฏว่าหายไปแล้ว แต่ไว้ผมจะลองค้นดูใหม่ครับ

ขอบคุณค่ะ ขออนุญาตเก็บรูปฝากเพื่อนๆที่อีกเวปนะคะ

เป็นสถานที่ที่ตั้งใจจะไป ครั้งหนึ่งในชีวิต

 

[url] http://www.thaiclinic.com/cgi-bin/wb_xp/YaBB.pl?board=doctorroom;action=display;num=1195480567[/url]

 

_/)(\_

สวัสดีครับ คุณปลายฟ้า

          ด้วยความยินดีครับ เมื่อกี้ลองเข้าตาม link ไป แต่เข้าไม่ได้ครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่

เอาไปใช้พรีเซ้นสัมมนาค่ะ

สวัสดีครับ คุณ thanya

         สัมมนาในหัวข้ออะไรหรือครับ เรื่องนี้ถึงแทรกเข้าไปเป็นเกร็ดความรู้ได้? สงสัย สงสัย....

มีรูปให้ดูใหมครับที่เกียวกับเทือกเขาหิมาลัย

ชอบภาพสุดท้ายจังเลย........สวยมาก :)

น่าสนใจทีเดียว ตอนนี้กําลังติดตามการเดินทางของ พระอาจาย์ฝรั่ง(ท่านบวชใด้ 33 พรรษา ลูกศิษย์หลวงปู่ชาฯ ท่าน เดินทางไปภูเขา ไกรลาส อยู่และจะนํามาเสนอต่อไป เพราะกําลังอยากหาคณะที่สนใจเดินทางด้วยจังเลยค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท