ค่ายวงแคนปีนี้ : ความท้าทายที่ไม่ง่าย ดังคิด !


เป็นค่ายแรกที่ชาววงแคนเลือกจัดกิจกรรมในชุมชนที่ปราศจากพื้นฐานทางด้านเหล่านี้ – เป็นครั้งแรกที่พวกเขาต้องจัดการกับโจทย์อันท้าทายที่ไม่เคยพานพบมาก่อน

ปีนี้ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน) ปักหลักปักใจจัดกิจกรรมค่ายศิลปวัฒนธรรมสู่สถานศึกษา หรือ “ค่ายสืบสานศิลป์ 9” ในระหว่างวันที่ 13 – 18 มีนาคม 2550 ณ โรงเรียนบ้านโนนจาน ตำบลเมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม


ค่ายครั้งนี้ดูจะมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจกว่าทุกครั้งอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ โดยปกตินิสิตจะตระเวนสัญจรออกสำรวจค่ายด้วยตนเองแล้วนำข้อมูลชุมชน หรือสถานศึกษานั้น ๆ มาวิเคราะห์เลือกพื้นที่ปฏิบัติงาน แต่ครั้งนี้ “มาแปลก” ท่าน ผอ. โรงเรียนบ้านโนนจานถึงขั้นหอบหิ้วโครงการมานำเสนอด้วยตนเองเลยทีเดียว

แท้ที่จริง, ชาววงแคนก็ได้เที่ยวตระเวนเสาะหาข้อมูลชุมชนเพื่อจัดกิจกรรมเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ข้อมูลที่ท่าน ผอ. โรงเรียนบ้านโนนจานนำมาเสนอต่อคณะกรรมการชมรมฯ ก็เป็นแต่เพียงข้อมูลส่วนหนึ่งที่รับพิจารณาเท่านั้น เนื่องจากยังต้องนำมาเลือกเฟ้นร่วมกับพื้นที่อื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง

แต่การบุกถึงถิ่นวงแคนของท่านผู้อำนวยการครั้งนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะหลังจากที่วงแคนได้ลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ก็ตัดสินใจปักหลักใช้พื้นที่โรงเรียนบ้านนาจานเป็นพื้นที่ถ่ายโยงมรดกอันล้ำค่าในทางศิลปะดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้านอีกสาน จาก “พี่สู่น้อง”

ความมุ่งมั่นของทางโรงเรียนที่ผนึกแรงพลังความร่วมมืออันแน่นแฟ้นและแข็งแกร่งร่วมกันระหว่างโรงเรียน, ชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบล คือ ปรากฏการณ์ที่น่ายินดี เนื่องจากชุมชนละแวกนี้แทบไม่มีกิจกรรมเช่นนี้ให้ได้ชื่นชมกันเท่าใดนัก ลูก ๆ หลาน ๆ ต่างถนัดและคุ้นชินกับการเป็น “หางเครื่อง” มากกว่าการซึมซับ “ดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน”



ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังว่า“แถบนี้ บ่มีผู้ได๋เล่นดนตรีอีสานบ้านเฮาได้เลย งานบุญงานทานกะเล่นแต่ดนตรีฝรั่ง บ่สั่นกะไปจ้างดนตรีหมอลำมาจากทางอื่น เวลามีกิจกรรมของโรงเรียน นักเรียนกะมักแต่สิเต้นประกอบเสียงเพลง บ่เคยเลยที่สิมีวงโปงลางให้ม่วนซืนโฮแซว”


คำบอกเล่าดังกล่าว ถือเป็นคำบอกเล่าที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมที่ขาดหายไปจากดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้านอีสาน หากแต่ยังมีความโหยหาอาทรต่อสิ่งนั้นอยู่ย่างไม่ว่างเว้น


และเมื่อโรงเรียน, ชุมชน และองค์กรบริหารท้องถิ่นเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจึงไม่รีรอที่จะเริ่มต้นอย่างทันที - เป็นการเริ่มต้นแบบ “เอาใจวัด” จัดซื้อเครื่องดนตรีหลายหลากชนิดโหมโรงลงที่โรงเรียน - เป็นการจัดซื้อทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเด็กนักเรียนยังไม่มีใครมีทักษะทางดนตรีและนาฏศิลป์อีสานเลยแม้แต่น้อย


หรืออาจจะเป็นการเริ่มต้นเพราะเชื่อและศรัทธาว่า “ลูกอีสาน” ยังไงเสียก็ต้องมีเลือดอีสานข้นเข้ม และเบื้องลึกก็ต้องมี “เสียงลำ เสียงแคน เสียงโปงลาง” ก้องกระหึ่มอยู่ในหัวใจบ้างล่ะ



โรงเรียนบ้านโนนจานเป็นโรงเรียนขยายโอกาสในระดับมัธยมต้น มีนักเรียนเกือบ 400 คน แต่มีครูไม่ถึง 20 คน ที่สำคัญคือ ไม่มีครูที่มีความรู้และทักษะทางดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้านเลยแม้แต่คนเดียว

มีเครื่องดนตรี…มีนักเรียน แต่ไม่มีครูสอนในเรื่องศิลปะเหล่านี้ …รวมถึงการมีนักเรียนแต่นักเรียนไม่มีทักษะทางด้านนี้เลยแม้แต่น้อย ดูเหมือนจะเป็น “โจทย์” อันยากยิ่งของชาววงแคนที่จะสอนหรือขับเคี่ยวในเวลาอันสั้นเพื่อให้ “ลูกอีสาน” ทั้งหลายได้มีความรู้และทักษะ “ต่อยอด” กันเองในยกต่อ ๆ ไป

เป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก และเป็นงานที่ยากกว่าทุกครั้งอย่างเห็นได้ชัด ! ไหนต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดกับตัวเด็ก ไหนต้องเคี่ยวสอนทักษะและความรู้พื้นฐานภายใต้เวลาอันน้อยนิด และยังไม่รวมถึง “ความคาดหวัง” ของชุมชนที่ต้องการเห็นลูกหลานของพวกเขาได้ขับกล่อมชุมชนด้วยสรรพเสียงของดนตรีพื้นถิ่นอันทรงคุณค่าและทรงพลัง


ผมเชื่อว่าชาวบ้านปรารถนาที่จะได้ชมและได้ฟังสรรพเสียงดนตรีและนาศิลป์พื้นบ้านเหล่านี้จากลูกหลานของตนเองเป็นที่สุด และปรารถนาให้ลูกหลานของชุมชนได้สืบต่อลมหายใจของบรรพชนอีสานอย่างไม่รู้จาง



นี่เป็นค่ายแรกที่ชาววงแคนเลือกจัดกิจกรรมในชุมชนที่ปราศจากพื้นฐานทางด้านเหล่านี้ – เป็นครั้งแรกที่พวกเขาต้องจัดการกับโจทย์อันท้าทายที่ไม่เคยพานพบมาก่อน !

แต่สำหรับผมแล้ว, ผมมองว่านี่คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ของชาววงแคนแห่ง มมส ที่จะก่อร่างสร้างชีวิตในทางดนตรีและนาฏศิลป์ให้กับที่นี่ “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว”ค่ายนี้ก็ใช่จะมีขึ้นครั้งเดียวเสียที่ไหน เรายังสามารถกลับมาสานฝัน ต่อเติมฝันร่วมกับพวกเขาได้อย่างต่อเนื่อง ขอเพียงพวกเขาทั้งหลายไม่สิ้นไร้ซึ่งลมหายใจที่จะสืบต่อ ….(ผมตั้งใจเช่นนั้น - เพียงแต่ยังไม่เอ่ยคำใดให้พวกเขาได้ยิน)


ปีนี้เป็นปีที่ “วงแคน” ประสบความสำเร็จโด่งดังอยู่ไม่น้อย หนังสือพิมพ์และนักข่าวประโคมข่าวเรื่องราวของวงแคน มมส อย่างคึกคักและกว้างไกล รวมถึงการมาเยือนของเหล่าขุนพลข่าวค่าย “ทีวีบูรพา” ที่มาฝังตัวอยู่กับวงแคนยาวนาน รวมถึงการเกาะติดอยู่ในค่ายครั้งนี้เพื่อถ่ายทำรายการ “คน ค้น ฅน” ย่อมเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพวงแคนแล้วในระดับหนึ่ง



ผมยังเชื่อมั่นว่า “คนวงแคน” จะไม่ล้มเหลวกับค่ายครั้งนี้ และจะมีความสุขกับการทำงานไม่แพ้ค่ายอื่น ๆ ที่เคยลงแรงมาแล้ว

และการที่ผมตัดสินใจส่งเจ้าหน้าที่อย่าง คุณสุริยะ สอนสุระ ลงพื้นที่อีกครั้งก็มิได้หมายถึงการไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของนิสิต หากแต่หมายถึง การส่งแรงใจไปอยู่ใกล้ ๆ กับพวกเขา

ผมเชื่อว่าพวกเขาทำได้… ท่านเชื่อเหมือนผมหรือไม่ !


...

15 มีนา..ดนตรีที่แปร่งเสียงและท่ารำที่คร่อมจังหวะ..



ความเห็น (20)
สวัสดีตอนเช้าครับ เห็นกิจกรรมที่ทำกันแล้ว น่าภูมิใจครับ ดีจังครับ มีการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามกันต่อ ขอเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไปนะครับ ขอบคุณมากนะครับ สำหรับบันทึกกิจกรรมที่ดีครับ
เยี่ยมเลยครับ ชอบเด็กๆๆมาก ตอนี้อยากเป่าแคนได้บ้าง ชอบที่เขาพูด แถบนี้ บ่มีผู้ได๋เล่นดนตรีอีสานบ้านเฮาได้เลย งานบุญงานทานกะเล่นแต่ดนตรีฝรั่ง บ่สั่นกะไปจ้างดนตรีหมอลำมาจากทางอื่น เวลามีกิจกรรมของโรงเรียน นักเรียนกะมักแต่สิเต้นประกอบเสียงเพลง บ่เคยเลยที่สิมีวงโปลงลางให้ม่วนซืนโฮแซว”

เป็นกิจกรรมที่ดีค่ะ

ขอบคุณที่ร่วมกันศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามและภูมิปัญญาของคนไทย

ชอบเสียงเพลงที่(ช่าง)เร้าใจของโปงลางมาก

ไม่แน่ใจว่าถ้าวันดีเดย์ที่บ้านพ่อครูได้ยินเสียงโปงลางแล้ว จะสามารถควบคุมตัวเองได้ไหม ฮา.....

มาเยี่ยม...

ลูกอีสาน  ยังไงเสียก็ต้องมีเลือดอีสานข้นเข้ม  และเบื้องลึกก็ต้องมี เสียงลำ เสียงแคน เสียงโปงลาง  ก้องกระหึ่มอยู่ในหัวใจบ้างล่ะ...

ที่กรุงเทพ ฯ  ลานอโศก  วัดมหาธาตุ ฯ ท่าพระจันทร์  วันนั้นมีงานศูนย์รวมสงฆ์มีท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม (อาจ  ดวงมาลา ) ชาวอุบล  อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุเป็นประธาน

ในงาน  ผมนั่งอยูใกล้ท่าน  พอเสียงแคนคนตรีอิสานขึ้น  ดูท่านอมยิ้มมีความสุขจริง ๆ

เสียงเหล่านี้ ใช่  ก้องอยู่ในจิตใจแน่นอน

ฮา ๆ เอิก ๆ

สวัสดีครับ ...สวัสดีเช้าวันใหม่ (อีกวัน)

P

เมื่อวานนี้  ผมไปเยี่ยมค่ายที่ จ.สกลนคร  กลับมาถึงตอน 6 โมงเย็น  บึ่งรถไปให้กำลังใจชาวค่ายที่บ้านพ่อครูบา

กลับออกมา 6 ทุ่มรถน้ำมันจะหมดแวะพักนอนที่ อ.วาปีปทุม  ตื่นมาบึ่งรถกะจะไปเยี่ยมค่ายที่กาฬสินธ์  ...อนิจจาสภาพร่างกายไม่ไหว

แต่วันนี้ผมมีกิจกรรมถนนเด็กเดินที่ตัวเมือง  เลยกะจะพักสักครู่แล้วค่อยลุยงานต่อ

..ทำงานมีความสุขมากครับ !

  • เห็นบรรยากาศแล้ว เชื่อได้เลยว่าลูกอีสานต้องมีสายเลือดเข้มข้น สานต่อจากรุ่นสู่รุ่นแน่ๆ และดำรงใว้ไม่ให้ขาดหายไป
  • เราพบว่าในปัจจุบัยวํมฯธรรมหลายอย่างไรที่ขาดหายไป เช่นวัฒนธรรมการกิน ตั่งแต่ฟ๊าส์ฟู๊ดทางตะวันตกเข้ามา ทำให้เด็กรุ่นใหม่นิยม จนลืมวัฒธรรมชาติพันธุ์ตนเอง

ขอบคุณ อ.ขจิต มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและสู้อุตส่าห์มาเป็นวิทยากรช่วย เจ้หนิง

P

คราวหลังจะเอาวงแคนไปโหมโรงต้อนรับอาจารย์ด้วยตนเองเลยนะครับ...

คุณสมพร ครับ
P

ผมไปที่ไหนไม่ได้ยินเพลงลุกทุ่ง หรือแม้แต่เสียงดนตรีพื้นบ้านก็เหมือนไปที่นั่น ไม่มี "ข้าวเหนียว" ให้ทาน

ยินดีต้อนรับสู่ผืนแผ่นดินที่ราบสูง ครับ. (ยินดีล่วงหน้า...เลย)

สวสดีครับ

P
อ.umi

อยู่ใต้ได้ยินเสียงพิณเสียงแคนบ่อยมั๊ยครับ...ตอนนี้อีสานบ้านเฮาก็กำลังเข้าสู่ฤดูแล้ง   เด็ก ๆ ลงทุ่งและขึ้นป่าคล้องกิ้งก่า กะปอม กันแล้ว

แต่หลายคนก็ไม่กล้าไปไหน กลัว "รถตู้ลักพาเด็ก"

ฮา ๆ เอิก ๆ

ขอบคุณพี่อัมพรมากครับ

P

ผมเห็นว่าการที่ทุกสถานศึกษามีชมรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะท้องถิ่นของภูมิภาคนั้น ๆ  จะช่วยเป็นการยืนยันถึงการคงอยู่ของมรดกทางสังคม

วันนี้ช่วงเย็น,  วงแคนกลับจากค่ายก็จะเข้าไปจัดกิจกรรม "ถนนเด็กเดิน"  ซึ่งผมก็กำลังจะตามเข้าไปดู

ขอบคุณมากนะครับที่แวะมาเป็นกำลังใจ

ทำได้แน่นอน..ไม่เกินความสามารถของวงแคน มมส...เชื่อมั่นอย่างนั้นค่ะ

ขอบคุณครับ.คุณโก๊ะ...

เมื่อคืนที่ผ่านมาเป็นการนำเสนอผลการเรียนรู้ต่อชุมชน  โดยลูก ๆ หลานทั้งหลายได้มีโอกาสโชว์ฝีมือที่เกิดจากการเรียนรู้ที่ค่ายฯ  ซึ่งพี่ มมส  เป็นพี่เลี้ยงสอนให้

จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ก็ทราบว่า พอใจในระดับหนึ่ง  ส่วนชาวบ้านพอใจมาก เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นในชุมชนมาก่อน...

ผมเองก็กำลังคิดวิธีการติดตามและต่อยอดกับกระบวนการเหล่านี้...สงสารก็แต่วงแคนช่วงนี้เหนื่อยกันมาก.... แต่ก็ดีใจ ที่น้องนิสิตมีความสุขกับกิจกรรมของตนเอง

 

มาเยี่ยม...

อยู่ใต้ได้ยินเสียงพิณเสียงแคนบ่อยมั๊ยครับ...ตอนนี้อีสานบ้านเฮาก็กำลังเข้าสู่ฤดูแล้ง   เด็ก ๆ ลงทุ่งและขึ้นป่าคล้องกิ้งก่า กะปอม กันแล้ว

แต่หลายคนก็ไม่กล้าไปไหน กลัว "รถตู้ลักพาเด็ก"

ได้ยืนเมื่อเปิดเพลงนักร้องอิสานครับ...

นึกถึงตอนช่วงที่ผมเป็นเด็กไม่มีใครมาสนใจเด็ก ๆ อย่างเราเลย...วิ่งสนุก  เป็นอิสระ...มีหนังสติ๊กคู่กายไปเข้าป่า...กินหมากไม้ป่า...อร่อยดี...ฮา ๆ เอิก ๆ

สำนวนภาษาเร้าใจตามจังหวะเสียงโปงลางยังไงยังงั้น...ถ้านี่เป็นหมอลำซิ่งก็คงลุกฟ้อนตามประสาบ่าวไทบ้านไปแล้ว...พี่พนัสทำให้ผมรู้สึกว่า "โอ้โห...วงแคนนี่ไม่ธรรมดาจริงๆ"
ขอบคุณครับ
P
อ. umi

ฤดูปิดภาคเรียนหอมหวนสำหรับเด็กมาก  ได้เที่ยวท่องไปในทุ่งและป่าโคก  ...  ท้องนาหรือป่าเขาล้วนเป็นห้องเรียนอันไพศาลสำหรับเด็กชนบทเสมอ

ว่าแต่พวกเขาชอบฟังเพลงสตริงมากกว่าลุกทุ่งนะครับ

ฮา ๆ เอิก ๆ

สวัสดีครับ
P

วงแคน..ไม่ธรรมดาจริง ๆ นะครับ  ฝีไม้ลายมือเชื่อถือได้  ถึงแม้จะไมมีงบสนับสนุนการทำวงมากนัก  แต่ก็นับถือในหัวจิตหัวใจของพวกเขาว่า "ยิ่งใหญ่"  เหลือเกิน

ผมฟังแล้วสนุกทุกครั้ง  แต่แสดงออกไม่เป็น  ยิ้มในใจ, เต้นในใจ และฟ้อนในใจ ครับ !

  • เข้ามาทักทายครับ
  • หายเหนื่อยแล้วนะครับ แต่ความสบายใจภายในยังเต็มเปี่ยมใช่ไหมครับ
  • ขอเป็นกำลังใจในการทำโครงการต่อไปนะครับ ผมเข้าไปดูที่คุณทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง ชื่นชมครับ ทำให้ผมนึกถึงกิจกรรมหลายๆ อย่างในอดีตเช่นกัน คงได้เอามาทำกันต่อไปครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับที่เอากิจกรรมดีๆ มาให้รับรู้ แล้วพลอยสุขใจไปด้วย
  • ว่าแล้วหากข่าวหน้าหนึ่งเมืองไทย เปลี่ยนเป็นกิจกรรมดีๆ แบบนี้ก็คงดีครับ แล้วย้ายข่าวอาชญากรรม ตบตี แย่งของกัน ไปไว้หน้าอื่นครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ

ขอบคุณมากครับ

P
  • ช่วงนี้ได้พักฟื้นมาเกือบเต็มวันก็สดชื่นขึ้นเยอะครับ  พรุ่งนี้มีนัดไปเป็นประธานมอบค่ายที่ จ.สกลนคร ตอนตี 4
  • เห็นด้วยนะครับ กรณีหนังสือพิมพ์ไทยหากเปลี่ยนพาดหัวข่าวมาทำนองนี้บ้าง  จะช่วยสะท้อนความเป็นนิสิตนักศึกษาออกสู่สังคมได้กว้างขึ้น
  • ขอบคุณอีกครั้ง

 

ชอบดนตรีโปงลางมากค่ะ งานกิจกรรมนิสิตของ มมส โดดเด่น และเป็นที่น่าภูมิใจของมหาวิทยาลัย และชาวอิสานมากๆ ที่มีลูกหลานรัก และสืบทอดวัฒนธรรมดนตรีอิสาน

ราย คน ค้น คน ออกอากาศเมื่อไหร่ค่ะ จะได้ติดตามดูค่ะ

สวัสดีครับ อ.แป๋ว

P
  • ก่อนอื่นขออภัยอย่างยิ่งครับที่เข้ามาตอบบันทึกนี้ช้านัก
  • ปีนี้...เรามีค่ายใหญ่ด้านศิลปวัฒนธรรมโยตรง 2 ค่าย  แต่ผมก็สะท้อนมุมมองตนเองออกสู่นิสิตแล้วว่า  ชมรมด้านนี้มีน้อยมากในมหาวิทยาลัย
  • รายการคนค้นคน...ยังไม่มีกำหนดออกอากาศ  แต่อยู่ระหว่างการถ่ายทำข้อมูล  ช่วงนี้ก็ยังมีการบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ อยู่เหมือนเดิม...
  • ไว้ชัดเจนแล้วจะเรียนอาจารย์อีกครั้งนะครับ
  • ขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท