ร้อนแล้งปีนี้ ถ้ามีใครสังเกตจะเห็นว่า อาการมันรุ่นแรงมากขึ้น ฝนตกแทบจะนับเม็ดได้
เมื่อบ่ายวานนี้ มีชาวบ้านนายหนึ่งอายุประมาณ 27-28ปี มาด้อมๆมองๆแล้วก็เข้ามาบอกว่า ขอพบเจ้าสำนัก อ.อุทัย เชิญให้มาร่วมวงสนทนาที่เราตั้งวงเมาส์กันอยู่แล้ว พอนั่งเข้าที่เข้าทางได้ นักเล่าพเนจรก็สาธยายว่า ผมอยู่ในตำบลที่ติดต่อกันนี่เอง สนใจเลี้ยงโค ผ่านไปผ่านมาแถวนี้บ่อย เห็นรถบัสคันใหญ่ๆวิ่งเข้าวิ่งออกก็สงสัยมานานว่าที่นี่มีอะไรและเป็นอย่างไร วันนี้จึงถือโอกาสบุกมาเสียเลย”..
แกเป็นนักเล่าที่สนุกมาก งัดเอาความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความต้องการ ปัญหาที่เห็น ความเป็นไปในสังคมเศรษฐกิจนิยมของหมู่บ้าน แกเล่าว่าที่หมู่บ้านอุดมสมบูรณ์กว่าที่นี่เยอะ อยู่ติดแม่น้ำ มีคลองส่งน้ำ แต่ชาวบ้านก็ยากจนเร้นแค้น แม้แต่ตัวแกเองก็ยังเข้ากรุงเทพ เพราะมันแล้งจนต้องปล่อยวัวไปกินต้นข้าวที่เหี่ยวเฉา ..อ้าวแล้วคลองส่งน้ำละ “มันทำมาตั้ง6ปีแล้วแต่ไม่เห็นสูบน้ำมาสักที ตอนนี้ดินหญ้าเข้าไปคลุมร่องน้ำหมดแล้ว ผมเห็นมันไร้ประโยชน์จึงปลูกต้นยูคาใส่มันซะเลย”
ตอนนี้ในหมู่บ้านผมกำลังตัดไม้พื้นเมือง ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ไม้ฯลฯ ออกขาย เพื่อทำการล้างพื้นที่เตรียมปลูกอ้อย ปีที่แล้วมีคนปลูก 100ไร่ มาปีนี้เพิ่มเป็น700-900ไร่ อีกส่วนหนึ่งกำลังปลูกยางพารา เพราะมีคนบอกว่า ใครมีสวนยางจะเป็นพวกเสือนอนกิน แต่ผมคิดว่ากว่าจะได้กรีดยางมันใช้เวลา7-8ปี สู้ปลูกยูคาฯไม่ได้3ปีก็ตัดแล้ว ผมจึงปลูกไปสิบกว่าไร่ วันนี้ผมเข้ามาเห็นต้นยูคาใหญ่ๆก็ยิ่งสนใจ
“เพื่อนบ้านผมเป็นหนี้เงินล้านกันทั้งนั้น พอถึงเวลาชำระก็ไปกู้เงินนายทุนจากข้างนอก เขาคิดดอกร้อยละ2บาท ก็ผมนี่แหละไปหาเงินจากนายทุนที่ตลาดมาจ่ายคราวละหนึ่งล้านบาท ปีนี้ได้ข่าวว่าออมสินจะไม่ปล่อยกู้เงินล้านอีก พวกนายทุนเขาก็กล้าๆกลัวๆยังไม่ยอมให้เอาเงินมาปล่อยดอก ผมก็นึกไม่ออกว่าชาวบ้านจะทำอย่างไร” ..นี่คือตัวอย่างกองทุนเงินล้านที่ระบุว่า จะมาช่วยให้ชาวบ้านมีโอกาสลืมตาอ้าปากมีทุนทำอะไรๆได้ ผมชวนคุยต่อว่า ชาวบ้านเขาคิดเรื่องเงินทุนหมู่บ้านอย่างไร แกแจกแจงว่า
..ชาวบ้านต้องเขียนแผนประกอบการว่าจะเอาเงินไปลงทุนทำอะไร บางรายบอกว่าจะไปซื้อหมูมาเลี้ยง5ตัวๆละ1,000บาท รวมค่าพันธุ์หมู5,000บาท ที่เหลืออีก10,000บาทไว้ซื้อหัวอาหาร แต่ในทางปฏิบัติเขาไม่ได้ทำตามแผนหรอก ไปซื้อลูกหมูตัวเดียวมาเลี้ยงก๊อกๆแก๊กๆ เลี้ยงไปเลี้ยงมาเป็นหมูพันธุ์หนังหุ้มกระดูก ขายขาดทุน ไม่มีเงินคืนรัฐบาล เกิดวงจรหนี้ซ้อนกันไม่รู้กี่ชั้น”
..นี่แหละคือผลพวงการพัฒนาที่มักง่าย เอาเงินไปให้ไม่มีความรู้กำกับไปด้วย วิชาเศรษฐศาสตร์ชุมชนต้องวิจัยแล้วกระมัง ว่าถ้าบริหารเงินกับกิเลศระดับครัวเรือนจะต้องใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ฉบับไหน
"ผมอยากให้มีวิทยากรออกไปแนะนำในหมู่บ้าน ทุกวันนี้มีแต่พวกมาโฆษณาขายปุ๋ย มีแต่เรื่องเสียเงิน เรื่องได้ความรู้ไม่มี .."
สนุกครับเรื่องจริงจากชีวิตสดๆ คุยกันไม่เบื่อตลอดเวลา2ชั่วโมง ก่อนร่ำลาเราตกลงกันว่าให้ไปหาเพื่อน อบต.ของแก ให้ประชุมกันดูว่ามีใครสนใจที่จะมาเข้าค่ายอบรมเรื่องวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงบ้าง ถ้าหาผู้สนใจได้ตำบลละ 50ครัวเรือน เราก็จะรับอบรมให้ ใช้เวลา4วัน เพราะเรื่องอย่างนี้มันต้องมีเวลา กิน-นอน-คุย-กัน พอสมควร เราขอชื่อที่อยู่แกไว้ ถ้าแกหาคนมาอบรมไม่ได้ คุยกันว่าจะให้นักศึกษาตามลงไปดู
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ใน KM ในมหาชีวาลัยอีสาน
เรียนถาม ครูบา ครับ
ต้องปลูกในเนื้อที่ซักเท่าไหร่ครับ ถึงจะคุ้มกับการปลูกในแต่ละครั้ง เพราะผมมีพื้นที่ไม่มากเท่าไหร่ครับ