หลังจากปิดเทอม ผมกลับบ้านได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น อาการของแม่ผมดูเหมือนจะแย่ลงเล็กน้อย ที่แย่ลงหมายถึงมีความจำสั้นลง แป๊ปเดียวก็ลืมแล้ว แต่ลูกชายคนเดียวกลับมาบ้าน ก็ทำให้บ้านคึกคักขึ้นพอสมควร ^^
ช่วงนี้ก็อยู่ดูแลแม่ทั้งวัน มีอุปสรรคหลายอย่างในการดูแล พอสรุปได้ดังนี้
- นิสัยส่วนตัวของผู้ป่วย ซึ่งแม่ผมค่อนข้างดื้อ ใครพูดก็ไม่ฟัง หากวุ่นวายกับท่านมากเกินไป ก็จะอารมณ์เสียได้ง่ายๆ และการเป็นคนตระหนี่มาก ก็เป็นอุปสรรคเช่นกันนะครับ เช่น การนำเงินไปจ่ายตลาดหรือไปที่ไหนก็ตาม จะพกเงินไว้น้อยมาก ปัญหาที่ตามมาคือ จะซื้อของ เงินไม่พอ นำของมาก่อน พอกลับมาบ้าน ก็ลืมนำเงินไปจ่าย T_T วิธีแก้ปัญหา คือ ถามก่อนออกไปซื้อ ว่ามีเงินมั๊ย แต่ถามมากๆท่านก็อารมณ์เสีย วิธีที่ 2 คือ ตามไปซื้อของด้วย ซึ่งผมก็ต้องตื่นแต่เช้าไปจ่ายตลาดกับท่านทุกวัน
- การจำแต่เรื่องร้ายๆ มองโลกในแง่ร้าย บางครั้งการดูข่าว พอมีข่าวไม่ดี ก็จะตั้งใจฟัง ผมคิดว่าอาจส่งผลให้ผู้ป่วยจำเรื่องร้ายๆได้ดีกว่าเรื่องดีๆ ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จะย้ำคิดย้ำทำมาก คิดถึงแต่เรื่องไม่ดีเยอะๆ ก็ทำให้ตัวเองเครียดเอง ต้องพยายามหาข่าวดีๆ ให้ดูเยอะๆ บอกข่าวไม่ดีน้อยๆ
- นิสัยส่วนตัวของผู้ดูแล ต้องเป็นคนมีความอดทนสูงทีเดียวครับ ต้องพยายามหาเรื่องดีๆพูดให้ฟัง พูดให้สนุก หากิจกรรมให้ทำ ต้องตามไปทุกที่ หากผู้ป่วยอารมณ์เสียขึ้นมา ก็ต้องอดทน อย่าให้ตัวเองอารมณ์เสียไปด้วยเด็ดขาด ต้องให้เวลากับการดูแลผู้ป่วยมาก
- การหากิจกรรมที่จะให้ผู้ป่วยทำ หายากมากจริงๆเลยครับ บางครั้งจะให้เล่นไพ่ฝึกสมอง ก็ไม่ยอมเล่นด้วย จะให้ค้าขายก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะจะมีปัญหาในการรับเงินทอนเงิน หากแม่ผมอยู่คนเดียว ท่านเปิดทีวีไม่เป็น เปิดหน่อยก็บอกว่าประหยัดไฟให้ปิดซะ T_T ทำให้เวลาที่ลูกๆไปโรงเรียนกันหมด ท่านเองก็ไม่ได้ฝึกสมองเลย ด้วยเหตุต่างๆเหล่านี้จะทำให้อาการแย่ลง เพราะสมองไม่ถูกใช้มากเท่าที่ควร
อุปสรรคต่างๆในการดูแลยังมีอีกมาก ส่วนใหญ่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมต่างๆ และนิสัยของผู้ป่วยเองด้วย จำเป็นต้องมีผู้ดูแลตลอด ช่วยจำเรื่องต่างๆให้
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย วงศกฤต เกรียงวรกุล ใน อยากให้คนไทยเข้าใจและช่วยเหลือ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์
สวัสดีค่ะคุณวิว
เข้ามาอ่านแล้ว ต้องขอบคุณที่เอาเรื่องนี้มาลงไว้นะคะ เป็นภาวะที่เครียดและอึดอัดสำหรับผู้ป่วยเองและครอบครัวหรือผู้ดูแลค่ะ เพราะสิ่งที่เกิดความผิดปกติอยู่ภายใน ซึ่งมองไม่เห็น ที่สำคัญก็คือ เมื่อมองจากภายนอกแล้วผู้ป่วยจะเป็นเหมือนคนแข็งแรงดี แต่ทำไมพฤติกรรมที่แสดงออก ทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจและรับไม่ได้ จริงๆแล้วผู้ที่เป็นไม่อยากเป็นอย่างนี้นะคะ แต่เนื่องจากการทำงานของสมองผิดปกติไป ทำให้การรับรู้และการควบคุมพฤติกรรมเลยเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมนะคะ ต้องใช้ความเข้าใจและอดทนอย่างมากเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีค่ะ ลักษณะและท่าทีของผู้ดูแลจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมที่แสดงออกด้วยนะคะ อาจจะต้องเรียนรู้และพยายามรู้ใจท่านสักหน่อย ถ้าเป็นในระยะแรกๆ การทำหน้าที่ต่างๆ ก็ยังเป็นปกติอยู่ แต่เมื่อเป็นไปนานๆ จนเข้าระยะหลัง จะดูแลตนเองไม่ค่อยได้ ต้องให้ผู้ดูแลช่วย
ถ้าในกรณีของคุณแม่คุณวิว ถ้าท่านยังทำหน้าที่หรือมีกิจกรรมต่างๆได้ พยายามส่งเสริมให้ทำกิจกรรมไว้นะคะ การจ่ายตลาดก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้ท่านคงความสามารถในการทำหน้าที่ได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นมากขึ้น การทำกิจกรรมที่ซับซ้อนมากๆ หรืออยู่ในที่่ชุมชน คับคั่งอาจจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดมากขึ้นค่ะ
ในกรณีของคุณแม่คุณวิว อาจจะต้องลองสังเกตว่าท่านชอบทำอะไรเป็นพิเศษเพื่อฝึกสมอง จริงๆ แล้วในเรื่องของการฝึกสมองสามารถทำได้หลายวิธีค่ะ แต่ต้องพยายามหาที่คุณแม่ชอบเป็นพิเศษน่ะคะ แล้วถ้ามีโอกาสคุยกับอาจารย์ที่ชำนาญเรื่อง Cognitive training แล้วจะมาเล่าต่ออีกทีนะคะ ทราบข่าวมาว่าที่โรงพยาบาลพระมงกุฎมีกิจกรรมด้านนี้อยู่นะคะ ต้องขอโทษด้วยที่ไม่มีรายละเอียด เพราะเพิี่งทราบโดยบังเอิญน่ะค่ะ
ขอโทษนะคะที่ตอบยาวไปหน่อย ถ้ามีข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติมจะมาบอกเล่ากันอีกทีค่ะ
ศิริกุล