โลกทั้งผอง...ล้วนพี่น้องกัน


 

มน & นิ ลูกรัก 

 

         วันนี้พ่ออยากชวนคุยเรื่องแปลกๆ สักเรื่องหนึ่ง ที่อาจทำให้หนูทั้งสองคนเห็นมุมมองที่ลึกและกว้างขึ้นไปพร้อมๆ กัน

        หนูเคยสังเกตเห็นไหมว่า คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ครูสอนในชั้นนั้น  บางคำช่างดูเหมือนคำไทยซะนี่กระไร อย่างเช่น

        cow (วัว) = โค

        brother (พี่ชาย หรือน้องชาย) = ภราดร (ไทย) = bhratar (สันสกฤต)

        มองกลับกัน หากเริ่มจากภาษาอังกฤษก่อน...

        burgh (เช่น เมือง Edinburgh) = บุรี (แปลว่า เมือง)

        two (สอง) = ทวิ (สอง)

        ignite (จุดไฟ) <--> agni (ภาษาสันสกฤต) = อัคนี (ไฟ)

       ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะทั้งคำศัพท์ในภาษาไทย (บางคำ) เกี่ยวดองเป็นญาติห่างๆ กับคำศัพท์ (บางคำ) ในภาษาอังกฤษ

       อีกตัวอย่างหนึ่งที่พ่อชอบมากที่สุด ก็คือ ทำไมคำว่า linguistics จึงแปลว่า ภาษาศาสตร์ หรือ bilingual จึงหมายถึง พูดคล่องสองภาษา

       คำตอบคือ คำว่า 'lin' ที่ซ่อนอยู่ในคำว่า linguistics และ bilingual ก็คือ ลิ้น (ใช้พูด) นั่นเอง 

       ถ้าหนูอยากเข้าใจเรื่องนี้ ก็ต้องลองศึกษาประวัติของ ภาษาอินโด-ยูโรเปียน (Indo-European Language) สักหน่อย

       คำว่า อินโด (Indo) นี่บอกเราว่าเกี่ยวข้องกับคนอินเดีย

       ส่วน ยูโรเปียน (European) นี่ก็เกี่ยวกับคนยุโรป

       แล้วแขก (อินเดีย) กับฝรั่ง (ยุโรป) มาเกี่ยวกันได้ยังไง...หนูอาจสงสัย?

       เรื่องนี้พ่อขอเท้าความไปยังชนชาติที่ยิ่งใหญ่ชนชาติหนึ่ง คือ พวกอารยัน (Aryan) เมื่อหลายพันปีก่อน

       เล่าแบบย่อที่สุด ก็คือ พวกอารยันนี้เดิมทีอยู่ในเอเชียแถวๆ ตอนกลาง ต่อมาแตกลูกแตกหลาน แยกย้ายกันออกไปหลายสาย

  • สายหนึ่งมาทางตอนเหนือของอินเดีย กลายเป็นแขกขาว เป็นต้นกำเนิดของภาษาสันสกฤต (และบาลี)
  • สายหนึ่งไปทางเปอร์เซีย กลายเป็นพวกอิหร่านในปัจจุบัน (เรื่องนี้มีตำนานที่เทียบเคียงได้กับคัมภีร์พระเวทของอินเดียด้วย)
  • อีกสายหนึ่งขึ้นเหนือไปทางยุโรป กลายเป็นฝรั่งยุโรป ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของภาษาต่างๆ ของยุโรปจำนวนมาก

          นี่ไงที่ทำให้คำศัพท์ในภาษาอังกฤษ (และภาษายุโรปจำนวนมาก เช่น ภาษาเยอรมัน) มีเค้าเหมือนภาษาไทย (เฉพาะในส่วนที่รับมาจากภาษาสันสกฤต) อีกที 

         โลกทั้งผองล้วนพี่น้องกัน...นะลูก  ;-)

 

ปล. เรื่องการแยกย้ายออกไปของพวกอารยันนั้น จริงๆ แล้วซับซ้อนกว่านี้มากนัก พ่อเล่าแบบนี้จะได้จำง่ายๆ เอาไว้ถ้าลูกสนใจ พ่อจะหาหนังสือให้อ่าน (เอง)

หมายเลขบันทึก: 82378เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2007 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ดิฉันอ่านบันทึก เรื่อง "โลกทั้งผอง...ล้วนพี่น้องกัน" ของอาจารย์บัญชาอย่างมีความสุขมากค่ะ

คิดถึงพระคุณของครูทุกท่านที่สละเวลามายืนให้ความรู้หน้าชั้นแก่เด็กหลังห้องทั้งหลายด้วย

ดิฉันเสียใจเหลือเกินที่ตอนเรียนเอกไทย  ดิฉันไม่ตั้งใจเรียน  ไม่เห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความรู้   ไม่รู้จักแปลความ และตีความ  ว่า เบื้องหลังความรู้นั้น มีคุณค่า  ให้เราได้คิด   หรือให้เราได้นำไปใช้   ต่อไปอย่างไร   ในการดำรงชีวิต

มารู้สึกตัวอีกที ก็มีอาชีพเป็นครูเขา  มาเจอมดตัวน้อยตัวนิดที่คิดแบบเดียวกับเราสมัยก่อนเปี๊ยบ    คือเขาเรียกว่ากรรมมีจริง ......

บันทึกนี้ของอาจารย์ ทำให้ดิฉันได้คิดว่า เมื่อสอนความรู้ ก็ควรชี้ให้เห็นด้วยว่า ความรู้นี้ นำให้คิดอะไร นำไปสู่อะไร  และนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง 

เพื่อสร้างคุณค่าให้เกิดแก่ชีวิตได้อย่างแท้จริง...!.

ขอบพระคุณสำหรับบันทึกที่มีคุณค่าทางจิตใจเช่นนี้นะคะ    ภาคฤดูร้อนนี้ดิฉันจะตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือที่อาจารย์แนะนำไว้   สงสัยต้องไปตัดแว่นเพิ่มอีกอันแล้วอ่ะค่ะ  :) 

 

สวัสดีครับ อาจารย์ดอกไม้ทะเล

          ผมทิ้ง comment ของอาจารย์ไว้นานมากกกก... ต้องขออภัยจริงๆ ครับ

          ผมว่าเรื่องการตีความ และแปลความนี่ ต้องอาศัยเวลาครับ บางคนก็ทำได้เร็ว เพราะอาจมีตัวอย่างอยู่ใกล้ๆ หรือไปได้ "อาจารย์ดี" (อาจหมายถึง หนังสือ หรือคนที่เป็นกัลยาณมิตร ก็ได้)

          แต่ในที่สุด ถึงจะช้าก็จะทำได้เหมือนกันครับ

         ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ คนๆ หนึ่ง จะสามารถ "ตีความ" ประเด็น หรือปรากฏการณ์หนึ่งๆ ได้มากกว่า 1 แบบหรือเปล่า เอาไว้เป็นทางเลือก

         พูดแบบนี้ เพราะมีคนเคยบอกว่า วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราได้ความคิดที่ดีเยี่ยม ก็คือ เริ่มต้นจากการที่มีความคิดจำนวนมาก (ให้เลือกเฟ้น)

         อีกมุมหนึ่งก็คือ ในวิชาฟิสิกส์ที่ผมใช้เป็นหลักในหลายๆ กรณีนั้น สอนว่า การตีความปรากฏการณ์หนึ่งๆ อาจทำได้หลายแบบ ขึ้นกับกรอบความคิด และเงื่อนไขที่เราใช้ครับ

  • ดิฉันเข้ามาเรียนอาจารย์ว่าโปรดอย่ากังวลเรื่องการตอบคอมเม้นท์นะคะ  ดิฉันสื่อสารอย่างเต็มใจไม่ว่าเมื่อไรก็ตาม  และพร้อมที่จะสื่อสาร(ยาวๆอยู่เสมอ)ค่ะ  
  • คือทำไมก็ไม่ทราบเขียนทีไรยาวทุกที  ได้ทราบว่า คุณ k-jira  ก็เป็นเหมือนกัน  :) สงสัยเป็นลักษณะร่วมของสุภาพสตรีอะค่ะ
  • ตอนนี้ดิฉันกำลังอ่านหนังสือ  ภาษาศาสตร์เบื้องต้น  ของอาจารย์ท่านหนึ่งที่ ม.เกษตร เขียนอ่านง่าย ตัวอย่างชัดดีค่ะ ดิฉันอยากรื้อฟื้นและทบทวนความรู้ทางภาษาใหม่ 
  • เห็นอาจารย์เขียนถึงเรื่องภาษา(ทั้งที่อาจารย์เป็นนักวิทยาศาสตร์)แล้ว เป็นแรงบันดาลใจอย่างดีเลยค่ะ 
  • ดิฉันกำลังศึกษาเรื่องที่กล่าวถึง Dead End Dialoge  ด้วยค่ะ  เพราะพบผู้เรียนจำนวนหนึ่ง ที่มักด่วนสรุปคำตอบสุดท้ายของของคู่สนทนาเพียงตอบเดียว  ไม่เผื่อทางเลือกเมื่อสนทนา (ไม่ยืดหยุ่น) ทำให้มีข้อจำกัดในการสื่อสาร  
  • เข้ากับที่อาจารย์พูดข้างต้นเลยค่ะ  คือการไม่ยอมตีความเป็นหลายประเด็น  ไม่มองให้หลากมุมมอง   แต่ด่วนสรุปเอาเฉพาะหน้า  ทำให้การสนทนาไม่ใคร่สุนทรีย์
  • สื่อสารยากมากอะค่ะ :)

สวัสดีครับ อาจารย์ดอกไม้ทะเล

         เรื่องภาษานี่น่าสนใจมากครับ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ นิรุกติศาสตร์ (etymology) คือ วิชาว่าด้วยรากศัพท์

         อาจารย์ช่วยขยายความคำว่าว่า Dead End Dialogue หน่อยครับ ผมไม่คุ้นกับคำนี้เลย

- โลกทั้งผองล้วนเป็นพี่น้องกัน(ด้วยคน)

กินเจ> มังสะ=เนื้อ วิรัติ=การงดเว้น ซึ่งหมายถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า "เวเจเทเรียนนิซึม" (Vegetatianism) มีรากศัพท์มาจาก
ภาษาลาติน คือ "เวเจตัส"(Vegetus) แปลว่าสมบูรณ์ดีพร้อม สดชื่นเบิกบาน

สวัสดีครับ คุณ Man In Flame

          น่าสนใจมากครับว่าเป็นรากเดียวกันจริงหรือไม่ หรือเป็นความบังเอิญ

มีคำนึงที่สงสัยมานาน กาว glue โก๊ว สามภาษา ไทย อังกฤษ จีน (แต้จิ๋ว) ออกเสียงคล้ายกันอย่างเหลือเชื่อ น่าจะมีที่มาอะไรสักอย่าง

สวัสดีครับ ซูซาน

        น่าคิดจริงๆ ครับ

        แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับภาษาจีนแต้จิ๋วในเมืองไทย นั่นคือ คำหลายๆ คำเป็นคำไทยที่ถูกผันเสียงไปเป็นสำเนียงจีนอย่าง "ตั๊กลั๊ก" = ตลาด

        ส่วน glue กับ กาว นี่ น่าจะพอค้นได้อยู่ ต้องลองดูรากศัพท์

        จะหาโอกาสลองถามผู้รู้ให้ครับ

สวัสดีครับ คุณหมอ

        ได้ตามไปอ่านแล้วครับ

โลกทั้งผองพี่น้องกัน.....เลยทำให้มีปรากฏการณ์ตาม "ทฤษฎีโลกใบเล็ก" ให้ประหลาดใจอยู่เรื่อย

 

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท