สภาพัฒน์สำทับห่วงเศรษฐกิจ


สภาพัฒน์สำทับห่วงเศรษฐกิจ

            สศช. ชี้ตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 4 หดตัว เพราะการลงทุนและการบริโภคทั้งรัฐและเอกชนชะลอตัว หวั่นเศรษฐกิจโลกซึมฉุดส่งออกไทย แต่หวังปัจจัยบวก ดอกเบี้ย การเมือง เงินเฟ้อ ราคาน้ำมันช่วยหนุนเศรษฐกิจ ปี 50 ให้ขยายตัวร้อยละ 4-5            

            นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไทยจริงในไตรมาสสุดท้ายปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 4.2 ลดลงจากร้อยละ 4.7      ในไตรมาส 3 เพราะการลงทุนและการบริโภคของเอกชนและรัฐบาลชะลอตัวลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ลดลงร้อยละ 4.2  เนื่องจากอยู่ในช่วงรอการอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 ส่วนเศรษฐกิจทั้งปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 5 สูงกว่าร้อยละ 4.5 ในปี 2548  โดยมีแรงกระตุ้นจากการส่งออกที่ขยายตัวถึงร้อยละ 17.4   ขณะที่ปริมาณการนำเข้าชะลอลงขยายตัวร้อยละ 8 และการท่องเที่ยวฟื้นตัว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 6.1

            สำหรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2550 มีความเป็นไปได้ถึงร้อยละ 88 ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว ร้อยละ 4-5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้เมื่อ 4 ธ.ค.2549  แต่มีความเป็นได้ถึงร้อยละ 63 ที่อัตราการขยายตัวจะปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4-4.5  เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ทำให้การลงทุนไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และมีผลกระทบทำให้การส่งออกขยายตัวในอัตราที่ลดลง โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8-9 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7    อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้คืออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน มาอยู่ที่ร้อยละ 4.75 ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง โดยคาดว่าจะอยู่ประมาณ 55-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ และการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะลดกำลังการผลิตน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5-3

            นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2549 โดยที่วงเงินงบประมาณรัฐบาลเท่ากับ 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2549 ร้อยละ 15.2 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นทำให้การลงทุนของภาครัฐและเอกชนน่าจะดีขึ้น โดยคาดการณ์ว่าการลงทุนภาคเอกชนอยู่ที่ร้อยละ 5 การลงทุนภาครัฐที่ร้อยละ 4 การบริโภคของภาคเอกชนที่ร้อยละ 5 การบริโภคภาครัฐที่ร้อยละ 5.5 อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถที่จะจัดการเลือกตั้งได้ตามกำหนดเวลาและมีการร่างรัฐธรรมนูญ ความมั่นใจของภาคเอกชนที่กำลังรีรอก็จะกลับคืนมา            

            นายอำพน กล่าวอีกว่า สศช. ได้สรุปมาตรการเศรษฐกิจเพื่อเสนอให้รัฐบาลดำเนินการในปี 2550 คือ เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล และงบฯ รัฐวิสาหกิจ ให้อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 80 ของวงเงินงบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของจังหวัด ซึ่งมีวงเงิน 5,000 ล้านบาท   โครงการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีก 5,000 ล้านบาท   การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่นระบบน้ำ รถไฟฟ้า พัฒนาโลจิสติกส์ ลงนามในข้อตกลงหุ้นเศรษฐกิจไทยและญี่ปุ่น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ          นักลงทุนต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งมีการลงทุนในไทยจำนวนมาก รักษาราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพ       เตรียมมาตรการป้องกันและปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นช่วงกลางปี มองหาตลาดส่งออกใหม่ และสร้างความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว และดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานและพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน

สยามรัฐ   7   มีนาคม  2550

คำสำคัญ (Tags): #สภาพัฒน์
หมายเลขบันทึก: 82377เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2007 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท