Best practices กับคนไทย


การถามตอบ เป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง

               มาอีกแล้วค่ะ  ตัวอย่างจริงจากการปฏิบัติจริงของ คุณเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย ผู้ก่อตั้งและเป็นประธานของ TheCoach  (www.thaicoach.com)

             อ่านเรื่องนี้แล้ว ทำให้นึกถึงตอนที่ สคส. ชวนภาคีไปเยี่ยมชมการทำ KM ของปูนซิเมนต์ไทย แก่งคอย สระบุรี

             สคส. ตั้งใจว่า เมื่อเราโชคดีได้พบ "ปูนซิเมนต์ไทย แก่งคอย"  ภาคีภาคธุรกิจที่ทำ KM  และอยู่ในภาวะพร้อมสำหรับการให้เยี่ยมชนและเปลี่ยนเรียนรู้ได้   จึงถือโอกาสไปสัมผัส Best practices ที่เรารู้จัก  เข้าใจว่า ในส่วนของ สคส. เราได้เตรียมตัวว่าจะไป "จับภาพ KM"  ด้วยวิธีการใด  แต่ไม่แน่ใจว่า ภาคีที่ไปกับเรา เข้าใจวิธีการที่เราทำ เหมือนกันทุกท่านหรือไม่ 

             โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่า ใช่เลย คุณเกรียงศักดิ์ สามารถบันทึกออกมาให้เห็นเป็นภาพได้ชัดเจนและเตะใจค่ะ  มาตามอ่าน+คิดตาม+คิดต่อยอด+ปฏิบัติได้เลยนะคะ

            “คุณเกรียงศักดิ์  ผมกำลังคิดจะพาผู้บริหารชาวไทยไปเยี่ยมชมธุรกิจอื่น  เพื่อศึกษา Best practices หรือวิธีการที่เขาประสบความสำเร็จเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของผม  คุณคิดว่าคนไทยกับวิธีการเรียนรู้แบบนี้จะไปด้วยกันได้ไหม”  ปีเตอร์ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรแห่งหนึ่งถามคุณเกรียงศักดิ์ในระหว่างการโค้ชตัวต่อตัว

            “ปีเตอร์วิธีนี้เป็นแนวคิดที่ว่า  ทำไมต้องสร้างวงล้อใหม่ (Reinvent the wheel)  โดยมีที่มาจากแนวคิดที่ว่า หากมีคนเคยสร้างวงล้อมาแล้ว  ทำไมต้องมาเสียเวลาสร้างใหม่โดยเริ่มจากศูนย์ละ  สู้ไปเรียนรู้จากเขา  แล้วมาคิดต่อยอดเอาดีกว่า  เป็นวิธีที่น่าจะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีนะ  แต่น่าเสียดายที่ว่าวิธีนี้  คนไทยอาจจะยังไม่พร้อมก็ได้"  (เหมือน KM ที่จะไม่เริ่มจากศูนย์)

             เมื่อสองปีก่อน  ผมพาผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันการเงินหลายแห่งราวยี่สิบคน  ไปเยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง  โรงงานนี้เขาได้รับรางวัลมากมายจากการที่เขาได้คิดค้น  และพัฒนา  Best Practices  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการการผลิต  เรื่องคุณภาพ  เรื่องการบริหารคน  เรื่องของการบริหารด้านต่างๆ  เมื่อไปถึง  เขาก็พาเราเยี่ยมชมโรงงานหนึ่งชั่วโมง  หลังจากนั้นก็จะกลับเข้าห้องประชุม  ผู้บริหารระดับสูงก็มาบรรยายถึงโครงการต่าง ๆ ว่าเขามีแนวทางดำเนินการอย่างไรจึงประสบผลสำเร็จ  ผมรู้สึกทึ่งมากกับสิ่งที่ได้เรียนรู้  (คนที่คิดเพื่อประยุกต์ใช้ได้ ก็จะรู้สึกว่าเป็นประโยชน์)

             ปรากฏว่าพอกลับมาดูผลการประเมิน  ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรมากนัก  พวกเขาบอกว่า  เป็นธุรกิจคนละประเภทกัน  ไม่น่าจะประยุกต์ใช้กันได้ เพราะมีปัจจัยที่แตกต่างกันมากมาย  พวกเขาเสนอว่า  ครั้งต่อไปขอให้ไปดูสถาบันการเงินของต่างชาติดีกว่า  เพราะว่าจะได้เห็นแล้วนำมาใช้โดยไม่ต้องคิดมาก”  (คนที่ยังไม่คิดต่างหรือคิดออกจากกรอบ ก็จะเห็นว่าเสียเวลา)

             “ทำไมพวกเขารู้สึกอย่างนั้นละครับคุณเกรียงศักดิ์”

             “ผมและผู้อำนวยการโครงการได้ลองวิเคระห์ออกมาว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจจะเป็นสาเหตุของปัญหานี้ (กำลังทำ AAR กันอยู่)

             ประการแรกเลย  เราอาจจะไม่ได้ปฐมนิเทศน์พวกผู้เรียนก่อนออกไปดูงานว่า  การดูงานนั้นไม่ใช่แนวคิดที่จะไปลอกแบบแล้วมาทำในองค์กรของเรา  แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อศึกษาหาแนวคิด  แล้วนำมาคิดวิเคราาะห์ต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้กับแต่ละธุรกิจ 

             ต่อไปหากจะทำอีก  ผมคงปรับรูปแบบใหม่  โดยการทำให้การเยี่ยมชมเป็นโครงการในลักษณะการบ้าน  เพราะว่าระบบการศึกษาและรูปแบบการทำงานในองค์กรแบบไทย ๆ  หล่อหลอมเราให้ทำตามคำสั่งและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน  จนทำให้เรามีความยุ่งยากกับการเรียนรู้แบบที่ต้องขวนขวายและพัฒนาโครงงานการเรียนรู้ด้วยตนเอง 

             พวกเขาต้องการคำสั่งที่ชัดเจน  และมีแบบฟอร์มให้เติมคำในช่องว่างเลยล่ะ  ผมคงต้องปรับรูปแบบโดยการเตรียมแบบฟอร์มการเยี่ยมชม  ในแบบฟอร์มนั้นคงต้องบอกว่า ต้องสังเกตอะไรบ้าง  ต้องจดบันทึกอะไรบ้าง  ต้องถามอะไรบ้าง  และสิ่งที่จะต้องทำรายงานหลังจากการเยี่ยมชม”

             ปีเตอร์ท้วงขึ้นมาว่า  “ถ้าผมเป็นผู้เรียน  คงจะรู้สึกอึดอัดมากนะกับวิธีการนี้  เพราะคุณปฏิบัติกับผมเหมือนเด็กนักเรียนเลย”

             “ผมทราบ  ผมพอเข้าใจ  หากเป็นผมก็คงจะรู้สึกคล้าย ๆ กันนั่นแหละ  แต่ว่าผมว่าคนส่วนใหญ่น่าจะโอเคนะ  อาจจะมีคนกลุ่มน้อยที่คุ้นเคยกับการเรียนรู้ด้วยตนเองที่อาจจะอึดอัดบ้าง  แต่เพื่อคนส่วนใหญ่  คงต้องใช้แนว ๆ นี้แหละ  ผมถึงชอบการสอนแบบตัวต่อตัวมากกว่าเป็นกลุ่มไงละ  เพราะผู้เรียนมีแนวทางการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกันทุกคน”

              “ทำไมต้องทำถึงขนาดนี้เลยหรือ”  ปีเตอร์ยังไม่หายแคลงใจ    

              “ผมจะเล่าให้ฟังต่อเรื่องกลุ่มที่ผมพาไปชมโรงงาน  ก่อนการเยี่ยม  แทนที่พวกเขาจะประชุมวางแผนการศึกษาดูงาน  พวกเขากลับวางแผนการไปเที่ยวว่า  เมื่อจบการเยี่ยมชมแล้ว  เขาจะแวะเที่ยวที่ไหนบ้างในระหว่างทาง  จะกินข้าวกันที่ไหน  จะซื้อของที่ระลึกได้อย่างไร  รวมความแล้ว  เขาใช้เวลาการวางแผนการทัศนาจรมากกว่าวางแผนการเรียนรู้  เขามุ่งความสนใจเรื่องของสนุกมากกว่าเรื่องขององค์ความรู้   จากประสบการณ์ครั้งนั้น  ทำให้ผมได้แนวทางว่า หากจะเยี่ยมชมดูงาน  หรือเรียนรู้ว่าองค์กรอื่น ๆ เขาประสบความสำเร็จอย่างไรนั้น  มีคำแนะนำดังนี้

             1. ผู้เยี่ยมชมต้องหมั่นสังเกต  ผมอ่านจากหนังสือเล่มหนึ่งว่าเราน่าจะเรียนรู้การสังเกตจากความอยากรู้อยากเห็นของสุนัข  ลองดูซิว่าสุนัขนี่มันเดินไปไหนก็ตาม  มันจะอยากรู้อยากเห็น  โดยการใช้จมูกมันเที่ยวดมไปตลอดทาง  ผมว่าคนเราก็มีสัญชาติญาณของการอยากรู้เหมือนกันนะ  โดยเฉพาะตอนเราเป็นเด็กๆ  แต่ว่าพอโตขึ้นมา  พ่อแม่  และครูของเรา  ทำลายความอยากรู้อยากเห็นของเราไปซะเยอะเลย

                  เมื่อเรามีความอยากรู้อยากเห็น  คุณก็จะมีคำถามมากมายในหัวเรา  แล้วเราก็จะเริ่มมองหาคำตอบ  การสังเกตการณ์ของคุณก็จะมีเป้าหมาย  ไม่ใช่การเดินเที่ยวสะเปะสะปะไปเรื่อย  การถามตอบ  เป็นการเรียนรู้ที่แท้จริงเลยละ

            2. การจดบันทึก  คนไทยเราไม่ค่อยชอบจด  อาจจะเกี่ยวกับการศึกษา  และวิธีการที่ผู้ใหญ่มอบหมายงานเรามานั้น  ในเชิงลักษณะสั่งให้ไปทำมากกว่า  ไม่ต้องจดรายละเอียดไป  ถ้านายอยากให้จดก็จะบอกให้จด 

                 เราอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการเรียนรู้ด้วยการริเริ่มขวนขวายด้วยตนเองเท่าไรนัก  ถ้าหากว่าเราไม่จด  เราก็ไม่มีวัตถุดิบเกี่ยวกับเรื่องราวนั้น ๆ   เราไม่สามารถจะวางใจว่าเราจะจำรายละเอียดทั้งหมดได้  โดยเฉพาะถ้าเราไปเยี่ยมชมธุรกิจที่เราไม่คุ้นเคยด้วยแล้ว  มีสิ่งต่างๆที่อาจจะทำให้เราไขว้เขว  หรือเสียสมาธิไปได้ 

              3. การวิเคราะห์  ถ้าเรามีการจดบันทึก  เราจะมีวัตถุดิบ  เมื่อนำมาวิเคราะห์เราก็จะได้ข้อมูลทีมีนัยยะสำคัญ  ซึ่งหากเราตั้งคำถามเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลนั้น ๆ ว่า  เราคิดว่านัยยะสำคัญจากข้อมูลที่เราได้คืออะไร  เราก็จะเกิดปัญญาหรือการเรียนรู้ขึ้น (หากยกระดับเป็นการสังเคราะห์ได้ จะยิ่งดี)

              4.  ขั้นตอนต่อไปก็คือการบูรณาการความรู้นั้นกับธุรกิจของตนเอง  วิธีการง่ายๆก็คือ  การตั้งคำถามว่า  เราได้เรียนรู้แล้วว่าธุรกิจนี้เขาใช้วิธีการนั้น  ทำให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าว  ถ้าเราจะนำมาประยุกต์ใช้กับบริษัทของเรา  เราจะประยุกต์ใช้ได้อยางไร  มีอะไรที่ต้องปรับแต่งบ้าง  มีแง่คิดอะไรที่เราสามารถต่อยอดได้บ้าง

              5. เรื่องสุดท้ายก็คือ การถ่ายทอดความรู้ที่เราได้บูรณาการทางความคิดออกมา  ซึ่งอาจจะทำได้โดยการถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูด  หรือตัวอักษร  (เหมือนที่ชาว blogger กำลังคลั่งไคล้อยู่นี่ไง)

             ปีเตอร์  อย่างที่ผมเคยบอกหลายหนแล้วว่า  คนไทยอาจจะยังไม่ชำนาญวิธีการคิด  สังเคราะห์  วิเคราะห์  การบูรณาการองค์ความรู้  และการถ่ายทอดองค์ความรู้  แต่ว่าสิ่งเหล่านี้พัฒนาได้  เพียงแต่ว่าคนที่จะโค้ชพวกเขานั้น  ต้องใจเย็น  และอาจจะต้องใส่ใจโดยสอนแบบประกบไปกับผู้เรียน”

             บทสนทนาผ่านเรื่องราวจบแล้วค่ะ   ถึงเวลาที่เราจะต้องลงมือปฏิบัติเอง  คิดต่อยอดเองได้แล้วค่ะ  เวทีนี้เป็นของท่านแล้วค่ะ ลองมองหาตัวช่วยใกล้ตัวมาร่วมด้วยช่วยกันนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #expression#limelight#thecoach
หมายเลขบันทึก: 81737เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2007 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรื่องเล่าของคุณแกบ เห็นชัดถึงการปฏิบัติเลยนะคะ ดิฉันได้ประโยชน์มากเลยกับ

  1. การถามตอบ  เป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง
  2. การจดบันทึก
  3. การวิเคราะห์
  4. บูรณาการความรู้นั้นกับธุรกิจของตนเอง
  5. การถ่ายทอดความรู้

ขอบคุณค่ะ

เป็นเรื่องที่สะท้อนภาพ การเรียนรู้ของบางกลุ่มได้ดี และยังช่วยกระตุ้น บอกเทคนิคให้เกิดการเรียนรู้อีกด้วย

 ขอบคุณที่นำมาแชร์

ขอบคุณค่ะ คุณหมอนนทลี และ อ.มณฑล

หากมีการนำไปปรับใช้ แล้วได้ผลดี มาช่วยกันกระทบยอดต่อนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท