มหันตภัยยักษ์ใหญ่พ่อค้าปลีก The Wal-Mart Effect


ร้านค้าขายของชำนั้นต้องปรับตัวและใช้จุดเด่นของตัวเองเป็นยุทธวิธีหลักครับ จุดเด่นของร้านค้าของชำนั้นคือการที่ตั้งมานาน อยู่ท่ามกลางชุมชน ดังนั้นวิธีการที่เราจะใช้เพื่อเพิ่มการขายก็ต้องเจาะไปที่จุดเด่นของเราครับ

มีพี่ที่ผมรู้จักท่านนึงได้ให้เกียรติเข้ามาอ่านบล็อกนี้ (จริงๆพี่เขาอาจจะจำใจก็ได้นะครับ เพราะว่าผมเล่นส่ง URL ไปให้) แล้วพี่เขาได้ถามเรื่อง Wal-Mart ผมเองได้อ่านหนังสือเรื่อง The Wal-Mart Effect เขียนโดย Charles Fishman จบเมื่อไม่นานมานี้ครับ Charles Fishman นั้นเป็นนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังซึ่งเคยได้รับรางวัล Gerald Loeb ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลที่สูงสุดของนักหนังสือพิมพ์สายธุรกิจเลยทีเดียวครับ

อีกทั้งตอนนี้ผมเองก็ยังไม่ได้อ่านเรื่อง China shakes the world ไปถึงไหน ถ้ายังไงผมก็ขอคั่นรายการด้วย The Wal-Mart Effect ก็ละกันนะครับ

Wal-Mart นั้นเป็นร้านค้าปลีกที่ใหญ่มากที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วก็ของโลกเลยทีเดียวนะครับ สำหรับบางท่านที่ไม่รู้จัก Wal-Mart ถ้าเทียบกับเมืองไทย Wal-Mart ก็ประมาณโลตัสซุปเปอร์เซ็นเตอร์ครับ

ความจริงอันน่าทึ่ง 

Wal-Mart นั้นชอกไชไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา ในหนังสือบอกว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนสหรัฐอเมริกานั้นอยู่ห่างจากร้าน Wal-Mart ไปเพียงแค่ 10 นาทีของการขับรถเท่านั้น และ 90% ของคนสหรัฐอเมริการโดยเฉลี่ยอยู่ห่างจาก Wal-Mart แค่ 15 ไมล์หรือประมาณ 24 กิโลเมตรครับ หนังสือยังได้บอกอีกว่า คนไปชอปปิ้งที่ Wal-Mart นี่มีถึงเจ็ดหมื่นสองพันล้านคน ในขณะที่โลกเรามีคนแค่ หกหมื่นห้าพันคนเท่านั้นเอง นั่นหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนทั่วโลกไป Wal-Mart กันมากกว่าหนึ่งครั้งเลยนะครับ แต่ถ้าลองคิดกลับไปอีก คนอเมริกันมีแค่ประมาณ 200 กว่าล้านคนเท่านั้น แล้วคนอเมริกันนั้นไป Wal-Mart กันโดยเฉลี่ยกี่เที่ยวกันเนี่ย โดยเฉลี่ย(อีกแล้ว)ครอบครัวคนอเมริกานั้นใช้เงินใน Wal-Mart ประมาณ $2,060.36 แต่ของที่ขายใน Wal-Mart นั้นเป็นเหมือนสินค้าที่ขายในโลตัส มีตั้งแต่ขายเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ จาน ชาม ถ้วย จะมีมากกว่าหน่อย ก็เป็นพวกของเล่น ขายยา เครื่องใช้ภายในบ้านและของใช้ในครัวเรือน แต่ของเหล่านี้นั้นไม่ได้แพงมากครับดังนั้น สองพันเหรียญนั้นเยอะมากทีเดียวครับ

เรื่องน่าทึ่งอีกอย่างหนึ่งคือสมัยผมมาอเมริกาใหม่ๆ ช่วงหน้าเทศกาลพักผ่อนอย่างวันขอบคุณพระเจ้า (คนอเมริกันบางคนนั้นนิยมซื้อของขวัญวันคริสต์มาสกันในช่วงวันขอบคุณพระเจ้าครับ จะมีวันหนึ่งซึ่งถือเป็นวันสวรรค์ของนักชอปปิ้งของอเมริกาเรียกว่า Black Friday ซึ่งของที่ขายในวันนี้นั้นจะลดแลกแจกกระหน่ำ ของบางอย่างนี่ฟรีเลยครับ (จ่ายเงินก่อน แต่เขาจะคืนเงินให้เท่ากับราคาเต็มของสินค้าที่ซื้อไปทีหลัง ผ่านทางการ Rebate)) ซึ่งในช่วงหลังจากเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าข่าวเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกานั้นจะรายงานว่า Wal-Mart นั้นขายของได้มากเท่าไร จะเรียกว่า Wal-Mart นั้นเป็นดัชนีบ่งชี้วัดเศรษฐกิจของอเมริกาเลยทีเดียวครับ

ในหนังสือไม่ได้กล่าวถึงประวัติของ Wal-Mart ครับ แต่เท่าที่ผมทราบ Wal-Mart นั้นตั้งขึ้นมาโดยกระทาชายนาย Sam Walton ครับ แต่ก่อนที่แซมจะมาตั้ง Wal-Mart นั้น เขาเป็นแค่คนขับรถบรรทุกครับ แล้วเขาก็เห็นช่องทางของร้านค้าปลีก เลยมาตั้งร้านค่าปลีกที่ชื่อ Wal-Mart ขึ้นที่เมืองเล็กๆในรัฐอาคันซอ และสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยไม่ว่าขนาด Wal-Mart จะใหญ่ขนาดไหน ก็คือว่า สำนักงานใหญ่ของ Wal-Mart ก็อยุ่ที่เดิมไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยคิดจะย้ายไปเมืองใหญ่ที่สะดวกสบายให้สมกับฐานะความเป็น Wal-Mart เลยครับ เรียกได้ว่า Wal-Mart นั้นต้นตำรับของคำว่า Penny saving หรือที่จะแปลเป็นไทยก็คงจะได้ว่า เก็บทุกบาททุกสตางค์จริงๆ

ปรัชญาความสำเร็จของWal-Mart

Wal-Mart กว่าจะมาเป็นถึงทุกวันนี้ได้นั้นเรียกว่าลำบากมาพอสมควรทีเดียว จากเท่าที่อ่านมา Wal-Mart นั้นมีปรัชญาความสำเร็จหลักๆ 3 ประการด้วยกันคือ

  1. ความขยันทำงานหนักครับ พนักงานระดับผู้จัดการของ Wal-Mart นั้นมาตั้งแต่ 6 โมงเช้า กลับบ้านกัน ทุ่มนึงครับ เรียกว่าทำงานกันหามรุ่งหามค่ำเลยทีเดียวครับ
  2. ประหยัดแหลกครับ เรียกกันว่าประหยัดๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ประหยัดกันสุดๆ Wal-Mart นั้นประหยัดค่าแรงของพนักงานที่ขายของโดยใช้คนแก่รวมไปถึงคนปัญญาอ่อน นี่ไม่นับรวมไปถึงความพยายามที่จะบีบผู้ขายครับ
  3. ความมีวินัย พนักงานของ Wal-Mart นั้นค่อนข้างมีวินัยเนื่องจากสมัยก่อน แซม วอลตันนั้นมีการไปตรวจร้าน Wal-Mart อยู่บ่อยๆ และด้วยตัวของแซมเองที่มาทำงานเช้ากลับเย็น เลยเป็นตัวอย่างที่ดีของพนักงาน ทำให้หนักงานนั้นมีวินัยมากทีเดียว

Wal-Mart กับงานวิชาการด้าน Supply Chain Management

Supply Chain Management เรียกได้ว่าเป็นคำฮิตติดปากคนไทยคำหนึ่งเลยทีเดียวนะครับในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา คำว่า Supply Chain Management คืออะไร สำหรับผมแล้ว Supply Chain Management คือการจัดการสินค้าตั้งแต่ยังเป็นวัตถุดิบจนถึงมือลูกค้าครับ Wal-Mart นี่แหละครับที่ทำให้งานวิจัยด้าน Supply Chain Management นั้นเป็นที่สนใจของวงการวิชาการทั่วโลกครับ และผลพลอยได้ของงานวิจัยด้าน Supply Chain Management ก็เลยรวมไปถึง Logistics (การเคลื่อนย้ายสินค้า) transportation แล้วก็ knowledge management ด้วยครับ

Wal-Mart นี่แหละครับต้นตำรับของงานด้าน Supply Chain Management เลยก็เพราะ Wal-Mart นี่แหละครับจู้จี้จุกจิกต้องการสินค้าให้มาถึงวันเวลาที่ Wal-Mart ต้องการ แล้วราคาสินค้านั้นต้องไม่เกินไปกว่าที่ Wal-Mart ต้องการซะด้วย ดังนั้นเรื่อง Supply Chain Management ก็เลยจำเป็นมากกกกกกกกกก สำหรับทั้ง Suppliers ครับ

Wal-Mart กับ Suppliers

เรื่อง Wal-Mart กับ Suppliers นั้นจะว่าไปก็เหมือนกับละครเกี่ยวกับแม่สามีและลูกสะใภ้ครับ เนื่องจาก Wal-Mart นั้นต้องการสินค้าราคาถูก เขาก็เลยบีบๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ Suppliers เพื่อที่จะได้สินค้าราคาถูก Wal-Mart นั้นตั้งเป้าไว้เลยครับว่าต้องการให้ราคาสินค้าที่ตนเองซื้อจาก Suppliers นั้นถูกลงไปเรื่อย 3% ต่อปีครับ ไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น น้ำมันถูกน้ำมันแพงไม่สน ค่าเงินตกไม่ตกไม่รับรู้ ขอแค่ของมันมาถึงWal-Martถูกที่เท่ากับที่ Wal-Mart ต้องการเป็นพอ

แหมมมมม แนวโน้มของนั้นก็มีแต่แพงขึ้นๆๆๆๆๆๆ เพราะว่าค่าเงินนั้นมันนับวันก็ตกลงๆ แล้วนี่Wal-Martจะยังให้ลดราคาลงไปอีก โหหห แล้ว Suppliers จะทำอย่างไรเนี่ย แค่คิดก็ปวดหัวแล้ววววววววว แต่น่าแปลกใจไหมครับ ว่าทำไม Suppliers ก็ยังอยากจะขายของกับ Wal-Mart อยู่ดี ทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองนั้นเสียเปรียบแล้วก็ต้องโดนบีบๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆจากWal-Mart จนหน้าเขียวแน่นอน คำตอบนั้นง่ายมากครับแล้วก็เหมือนกับคำตอบที่ว่าทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่อยากไปลงทุนในเมืองจีน ทั้งๆที่รู้ว่าไปแล้วก็โดนบีบ คำตอบก็คือ เพราะขนาดไงครับ ขนาดของ Wal-Mart ที่เข้าถึง90%ของคนอเมริกาภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที แหมมมมมมม แล้วทำไมถึงจะไม่มีคนอยากทำ เห็นไหมครับว่าความสัมพันธ์ระหว่างแม่สามีกับลูกสะใภ้ไหมครับ มีเรื่องกันตลอดเวลา

แล้วทุกท่านทราบไหมครับว่า Suppliers มีวิธีอย่างไรที่จะลดราคาตาม Wal-Mart ไปได้ Suppliers เองก็มีกลยุทธหลักอยู่ 3 วิธีเช่นกันครับ

  1. จัดการให้มันดีขึ้น ตรงไหนประหยัดได้ก็ประหยัด บีบตรงไหนได้ก็บีบหมดครับ
  2. คุณภาพที่ห่วยลง ถ้าประหยัดจนหมดแรงแล้ว ก็มาดูว่าตรงไหนจะประหยัดได้กับสินค้า โดยการใช้วัตถุดิบที่แย่ลง ถ้าใช้วัตถุดิบที่แย่ลงแล้วยังไม่ได้มีท่าทีที่ดีขึ้น ก็ต้องไปพูดถึง design ของสินค้าที่แย่ลงไปอีกครับ
  3. ถ้าหมดแรงกันจริงๆก็ ต้องย้ายฐานการผลิตไปที่ที่ถูกกว่าครับ นี่แหละครับที่ทำให้ประเทศจีนนั้นมีโอกาสบูมๆๆๆๆๆๆ

แต่อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆคนอาจจะคิดว่า Wal-Mart นั้นคงจะกำไรน่าดู ด้วยความที่บีบ Suppliers ซะจนหน้าเขียวขนาดนั้น แต่ทราบไหมครับว่า ถ้า Wal-Mart อยากทำรายได้เข้าตัวเอง 1 เหรียญ Wal-Mart ต้องขายสินค้ากี่เหรียญ (อย่าลืมนะครับว่า Wal-Mart นั้นเป็นแค่ร้านค้าปลีก) Wal-Mart นั้นต้องขายของถึง 35 เหรียญครับ นั่นหมายความว่า Wal-Mart นั้น ได้เงินไม่ถึง 3% ของการฝากขายสินค้าจาก Suppliers แล้วส่วนการลดราคานั้นไปไหน การลดราคาแต่ละครั้งนั้น Wal-Mart ส่งต่อไปให้กับผู้บริโภคหรือผู้ซื้ออย่างเราๆท่านๆทั้งนั้นแหละครับ

Wal-Mart นี่แหละครับที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐไม่สูงมากนัก จะว่าไปผมก็คิดเหมือนกันนะครับว่า ถ้าไม่มี Wal-Mart นั้นป่านนี้เราจะเจอสินค้าราคาสูงกันขนาดไหน ลองคิดถึงพ่อค้าแม่ค้าขายข้าวแกงสิครับ การขึ้นราคาของข้าวแกงเมืองไทย ไม่มียักษ์ใหญ่คอยคุมราคาสินค้าเหมือน Wal-Mart (ไม่ค่อยอยากจะแขวะกระทรวงพาณิชย์เล้ยนะจริงๆนะเนี่ย) ดังนั้นคงไม่แปลกที่เราจะเห็นว่าค่าครองชีพของเมืองไทยนั้นสูงขึ้นทุกวันๆและทุกวัน

แต่หลายคนนั้นถกเถียงกันถึงผลประโยชน์ที่คนทุกคนได้รับหล่ะ เราทุกคนได้ผลประโยชน์กันจริงๆหรอ

ปัญหาของ Wal-Mart และร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่

ปัญหาแรกก็เหมือนกับของเมืองไทยครับ คือว่าร้านขายของชำ และร้านโชว์ห่วย นั้นปิดตัวลงๆ(ผมอยากรู้จริงๆครับว่า คำนี้ใครคิด จะเป็นพระคุณมากนะครับ ถ้ามีใครชี้แนะ (ก็โชว์ของห่วยใครจะซื้อครับ)) ก็ในเมื่อ scale หรือขนาดของ Wal-Mart นั้นใหญ่มาก ก็เลยทำให้ Wal-Mart นั้นสามารถบีบ Suppliers ทำให้ได้ของราคาที่ถูก อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นครับ

ปัญหาที่สองก็ต่อเนื่องมาจากยุทธวิธีการลดราคาของ Suppliers ครับ ที่ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังที่ที่มีค่าแรงถูก ทำให้โรงงานนั้นปิดไปหลายที่ คนตกงานกันระเนระนาดเป็นแถวๆเลยครับ ดังนั้นก็เลยเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมากครับ ในหนังสือได้กล่าวถึงผลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกจาก MIT ว่าจริงๆแล้ว ถ้า Wal-Mart ไปเปิดที่ไหน ที่นั่น คนตกงานเพิ่มขึ้นแล้วก็คนจนลงด้วย

ปัญหาที่สาม ก็คือเรื่องแรงงานราคาถูกและสวัสดิการของคนงาน เมื่อโรงงานนั้นปิดจากประเทศสหรัฐอเมริกาไปเปิดยังประเทศที่ด้อยพัฒนามากกว่า แล้วด้วยความที่ประเทศเหล่านั้นไม่มีกฏหมายคุ้มครองแรงงานที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการที่ Wal-Mart นั้นบีบ Suppliers ทุกปีๆ ทำให้โรงงานที่ขายของให้ Wal-Mart นั้น ใช้แรงงานเยี่ยงทาส สวัสดิการไม่มี

ปัญหาที่สี่ ก็คือเรื่องสิ่งแวดล้อม Wal-Mart นั้นไม่ได้ขายของเพียงแค่สินค้าที่ผลิตจากโรงงาน แต่ยังขายเนื้อสัตว์และปลาด้วย หนังสือได้พูดถึงฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนที่ส่งขายให้Wal-Martที่มาจากประเทศชิลี ที่ไม่มีกฏหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมทำให้สามารถขายปลาแซลมอนตีตลาดปลาแซลมอนที่มาจากประเทศที่พัฒนาแล้วได้

อนาคตของ Wal-Mart 

ถ้าพูดกันตามตรงปัญหาเหล่านี้นั้นเราก็ล้วนแล้วแต่รู้กันดีอยู่แล้ว น่าแปลกที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบครับ แต่ปัจจุบันคนเริ่มทราบกันมากแล้วทำให้ Wal-Mart เองเริ่มที่จะกวดขันเรื่องคุณภาพของสวัสดิการของแรงงานรวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ของบริษัทและประเทศที่ส่งของให้ Wal-Mart ซึ่งเรื่องพวกนี้นั้นมีผลต่อWal-Mart ทั้งสิ้นโดยเฉพาะในแง่ของราคาสินค้า และถ้าเป็นจริงก็จะมีผลต่อราคาสินค้าที่ขายไปยังร้านขายปลีกยักษ์ใหญ่โดยทั่วไปด้วยครับ แต่ผลดีก็คิอมันจะทำให้แรงงานนั้นมีสภาพกินดีอยู่ดีเพิ่มขึ้น

ตอนนี้ Wal-Mart นั้นพยายามที่จะบุกตลาดไปยังประเทศอื่นๆเพิ่มขึ้น แต่ภาพลักษณ์ของ Wal-Mart นั้นกลับไม่ได้ดีในสายตาประเทศอื่น ทำให้ผลประกอบการของ Wal-Mart นั้นไม่ได้เหมือนกับที่คาดคิดไว้ในหลายๆประเทศเช่น เยอรมัน เกาหลี ที่แคนาดานั้นถึงกับต้องปิดไปเลยบางร้านครับ

ทางรอด ทางแก้ ของร้านขายของชำ

ผมคงไม่บังอาจที่จะบอกถึงทางรอดแล้วก็ทางแก้ของร้านขายของชำเมืองไทย แต่เท่าที่อ่านมา ผมก็พอที่จะสังเกตได้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ Wal-Mart มายืนถึงจุดนี้ได้ก็คือขนาดครับ ดังนั้นมันอาจจะจำเป็นที่ร้านขายของชำต้องมารวมตัวกัน ลักษณะอาจจะเป็นการตั้งบรืษัทมหาชนขึ้นมาโดยที่ร้านขายของชำนั้นมารวมตัวกันถือหุ้นในบริษัท เพื่อที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองของราคาสินค้าให้กับตัวเอง รวมไปถึงเพื่อดึงเอาทุนมาพัฒนาปรับเปลี่ยนสภาพร้านให้ดูดี สะอาดครับ

วิธีอีกวิธีหนึ่งก็คือ ร้านค้าขายของชำนั้นต้องปรับตัวและใช้จุดเด่นของตัวเองเป็นยุทธวิธีหลักครับ จุดเด่นของร้านค้าของชำนั้นคือการที่ตั้งมานาน อยู่ท่ามกลางชุมชน ดังนั้นวิธีการที่เราจะใช้เพื่อเพิ่มการขายก็ต้องเจาะไปที่จุดเด่นของเราครับ ใช้ความที่ตั้งมานาน ใช้ความที่อยู่ท่ามกลางชุมชน เป็นที่รู้จักของชุมชนมาก่อน เจ้าของร้านจำเป็นที่จะต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ให้การต้อนรับลูกค้าเหมือนกับต้อนรับเพื่อนครับ ทำอย่างไรให้เราสามารถสร้างจุดเด่นให้กับตัวเองได้ ผมยกตัวอย่างอย่างร้านจีฉ่อย ที่ยังยืนหยัดอยู่ได้เป็นที่นิยมของนิสิตหลายคนที่จุฬา ท่ามกลางกระแสการต่อสู้อันรุนแรงของทุนนิยม ผมมองว่า Customer Relationship Management สำหรับร้านโชว์ห่วยก็คงจะเป็นการต้อนรับลูกค้าเหมือนเพื่อน ให้ความเป็นกันเองเหมือนเพื่อนมาเยี่ยมร้านครับ

รัฐเองก็อาจจะมีส่วนช่วยได้โดยผ่านการกำหนดโซนนิ่งครับ ในเมื่อร้านค้าขายของปลีกยักษ์ใหญ่นั้นเน้นด้านราคา เราอาจจะจำเป็นต้องให้ร้านค้าของปลีกยักษ์ใหญ่นั้นออกไปอยู่นอกเมือง โดยเฉพาะเมืองที่อาจจะมีพื้นที่ไม่เหมาะกับการเกษตร เพื่อเพิ่มงานให้คนในท้องถิ่นรวมไปถึงเพิ่มปัจจัยการตัดสินใจกับผู้ซื้อครับ (อันนี้ผมคงพูดถึงคนต่างจังหวัดเป็นส่วนมากครับ คนกรุงนั้นคงจะไม่มีทางเยียวยาแล้วครับ ไปที่ไหนก็เจอแต่ร้านพวกนี้)

สำหรับ Suppliers มุมมองของผมนั้นมองว่าเราจำเป็นที่จะต้องถีบตัวไปเรื่อยๆครับ ไม่ว่าจะเน้นไปในด้านการจัดการที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รัฐเองคงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างศูนย์ logistics ที่ครบวงจร รวมไปถึงระบบการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางน้ำ ทางบก ทั้งทางถนนและทางราง ถ้ารัฐทำได้เราก็อาจจะช่วยลดราคาการขนส่งได้มากขึ้นเยอะครับ

เรื่องสุดท้ายและท้ายสุดครับ ผมพูดไว้ตอนต้นว่า Supply Chain Management นั้นคือการจัดการวัตถุดิบตั้งแต่ต้นจนถึงเป็นสินค้าส่งไปยังมือลูกค้า อันนั้นมันมิติเดียวครับ รัฐบาลไทยจำเป็นต้องมองข้ามไปอีกช็อตก็คือ เรื่อง Return goods and Waste Mangement ครับ ถ้าจะว่ากันจริงๆ มันก็ต่อกันครับ เนื่องจากคนอเมริกันนั้นบางคนเป็นพวกซื้อแล้วชอบคืนครับ แล้วเมื่อคืนแล้วตามหลักแล้วพวกร้านเหล่านี้ก็จะคืนไปยัง Suppliers หรือไม่ก็เอาไปขายตามร้านค้า Outlets บางทีเราอาจจะต้องมองว่าเราจะทำอย่างไรกับของที่คืนมาครับ ส่วนเรื่องการจัดการของเสียนั้น มันก็เป็นเริ่มต้นของกระบวนการ recycle ครับ ผมอยากให้รัฐบาลของเรามองข้ามช็อตไม่ใช่แค่ Supply Chain Management ที่เน้นแค่การจัดการวัตถุดิบไปจนถึงแค่สินค้าสู่มือลูกค้า แต่อยากให้มองว่า จากวัตถุดิบจนถึงการจัดการโละทิ้งไปเลยครับ

ที่มา: Fishman, C., The Wal-Mart Effect, Penguin, NY, 2006. ISBN 978-0-14-30387-8

หมายเลขบันทึก: 81729เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2007 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ขอขอบคุณอาจารย์ "ไปอ่านหนังสือ"

  • บันทึกนี้โดดเด่นมากๆ เลยครับ
  • ผมตั้งสมมติฐานเองว่า ร้านซูเปอร์เซ็นเตอร์มีส่วนช่วยลดเงินเฟ้อ อ่านพบในบันทึกของอาจารย์ก็ตรงกับที่คิดไว้

เรียนเสนอ...

  • เรียนเสนอให้อาจารย์กด Enter ทุกๆ 2-3 บรรทัด เนื่องจากการอ่านผ่านจอคอมพิวเตอร์จะทำให้ตาล้าได้ง่ายกว่ากระดาษ...
  • ครูภาษาไทย (ครูภิญโญ บุญหนุน) ท่านว่า ย่อหน้าบ่อยหน่อย อ่านง่ายขึ้นเยอะ
  • อาจารย์เป็นนักอ่านชั้นแนวหน้า... ถ้าลงที่มา หรือชื่อหนังสืออ้างอิงไว้น่าจะดีมาก เพราะจะทำให้ผู้สนใจหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติม หรือเสนอให้ห้องสมุดซื้อหนังสือได้ถูกเล่ม

ขอขอบคุณครับ...

กราบสวัสดีคุณหมอครับ

แล้วก็ขอบพระคุณคุณหมอมากสำหรับคำแนะนำครับ ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนครับว่าผมไม่ใช่อาจารย์ครับคุณหมอ ผมแค่ชอบอ่านหนังสือแล้วก็เลยอยากเขียนความรู้จากหนังสือที่ได้อ่านออกมาครับ แต่จริงๆนะครับตอนแรกตั้งใจว่าอยากเขียนวิจารณ์หนังสือ ไปๆมาๆกลายเป็นเขียนเล่าไปซะแล้ว (ฮ่าๆๆๆๆ)

เรื่องลงที่มาของหนังสือ นั้นเดี๋ยวผมจะไปลงปรับแก้ทุกบล็อกของผมเลยล่ะกันครับ ขอบพระคุณอีกครั้งครับสำหรับคำแนะนำครับ

เกือบลืมไปอย่างหนึ่งครับ

คุณหมอกรุณาพูดถึงเรื่องร้านซุปเปอร์เซ็นเตอร์ลดภาวะเงินเฟ้อได้ ทำให้นึกขึ้นได้ว่าในหนังสือเล่มนี้ได้บอกว่ามีผลงานวิจัยที่พูดว่าหน่วยงานในรัฐบาลกลางของสหรัฐนั้นถึงขั้นคำนวณอัตราเงินเฟ้อผิดพลาด โดยที่หน่วยงานดังกล่าวนั้นประเมินมากเกินกว่าความเป็นจริงไป ประมาณ 2-3% ครับ

เหตุผลก็เพราะว่าหน่วยงานดังกล่าวไม่ได้คำนวณถึงราคาของที่ขายที่ Wal-Mart ครับ ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อของประเทศอเมริกานั้นต้องต่ำกว่านี้

แต่ถ้าอ่านถึงตรงนี้แล้วมีใครเห็นถึงปัญหาบ้างไหมครับ ในเมื่อประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีอัตราเงินเฟ้อไม่สูงมากนักมานานแล้ว แล้วก็อาจจะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆเพราะ Wal-Mart และสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนที่ชอนไขไปทุกที่

ปัญหาก็คือว่า ถ้าว่ากันตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว อัตราเงินเฟ้อนั้นสัมพันธ์กับอ้ตราการว่างงานครับ เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใช่ไหมครับที่จะเห็นอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขี้นเรื่อยๆของอเมริกา ซึ่งนั่นเริ่มเป็นสัญญาณแรกของภาวะเศรษฐกิจซบเซา แล้วก็ตามมาติดๆดัวยเงินฝืดครับ  

 

สวัสดีครับ คุณไปอ่านหนังสือ..

  • ผมมองว่า สังคมอยู่ได้ ด้วยการทำงานให้คนอื่นโดยเก็บค่าบริการตามสมควร
  • ผมไม่ได้มองในมุมว่า เก็บเพื่อให้รวย
  • ผมมองว่า เก็บเพื่อยังชีพ
  • หากผมสามารถผลิตสินค้าขาย รองรับการดำรงชีพทุกย่างก้าวของมนุษยชาติได้ แล้วไม่มีกำไรเกิดขึ้นเลย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมนี้จะไม่มีการผลิต การค้า การบริการเกี่ยวกับสินค้านั้นเหลืออยู่อีก เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจในส่วนนั้น
  • ตอนวิกฤติปี 40 ช่วงนั้น คงเคยเห็นการลดกระหน่ำขายของแบบไม่เอากำไรของห้างต่าง ๆ ถ้วนหน้า และของร้านต่าง ๆ ด้วย กันมาบ้างแล้ว
  • เมื่อมีคนหนึ่งเริ่มเล่นสงครามราคา สงครามราคา ก็จะระบาดไปทั่ว
  • ผลคือ ตายหมู่ทางเศรษฐกิจ
  • ที่มีคนต้องเล่นสงครามราคาตอนนั้น ผมมองว่า เพราะเขาไม่มีทางเลือกเช่น หนี้ปานกลาง กลายเป็นหนี้มหาศาล เพราะผลของค่าเงินลอยแพ เขาขายแบบยอมขาดทุน ไม่ใช่เพราะเป็นนโยบายดำเนินธุรกิจเป็นแบบนั้น แต่เป็นการดิ้นรนหาสภาพคล่องมาต่อลมหายใจแบบวันต่อวันเท่านั้นเอง

 

  • เมื่อห้างยักษ์ขายถูกเกิน สิ่งที่เกิดคือ คนไทยตายเรียบครับ
  • supplier ตายเพราะขายแบบไม่มีกำไร (จะเอาอะไรกินล่ะครับ)
  • ร้านค้าทั้งโชว์ห่วยและโชว์ไม่ห่วย ตายเรียบ เพราะไม่มีใครส่งเด็กไปเลี้ยง เอ้ย ไม่ใช่ ล้มตายเพราะขายไม่ออก เพราะสเกลเล็ก ต้นทุนแพงกว่า ไม่มีใครโง่มาซื้อ
  • คนซื้อก็ตาย เพราะเงินไหลออกนอก ประเทศขาดเลือดมากๆ ก็ทำให้วงจรเศรษฐกิจทรุด ล้มระเนนแบบลูกโซ่
  • สังคมอยู่ได้ ด้วยการทำงานให้คนอื่นโดยเก็บค่าบริการตามสมควร แต่การใช้ economy of scale มาเป็นข้อได้เปรียบจนเกิดสงครามมัดมือชกเรื่องราคา สังคมจะวอดวายครับ

 

สวัสดีครับคุณ wwibul

ขอบพระคุณสำหรับ comments ที่ยอดเยี่ยมมากเลยครับ จริงๆแล้วถ้าจะว่ากันตามตรง ตามหลักการแล้วก็คงต้องเป็นอย่างที่คุณ wwibul กล่าวไว้ว่า "สังคมอยู่ได้ ด้วยการทำงานให้คนอื่นโดยเก็บค่าบริการตามสมควร" แต่ปัญหาคือไม่ค่อยจะมีใครเก็บค่าบริการตามสมควรนะสิครับ Wal-Mart เองนั้นก็เอากำไรจากการฝากขายสินค้า ไม่ถึง 3% ด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากขนาดอันมหึมา ทำให้ตัวเองได้เปรียบอย่างมาก แต่แล้วตรงไหนคือราคาที่พอดีครับ ไม่ได้กำไรเกินควรครับ

มันเหมือนคำถามกวนประสาท แต่มันเป็นคำถามที่ผมเชื่อว่าแต่ละคนก็ให้คำตอบไม่เหมือนกัน ในเรื่องไม่ดีมันก็มีเรื่องดีปนอยู่ด้วยตรงที่ว่า ถ้าไม่มีร้าน Wal-Mart ก็ไม่มีคนมาต่อรองให้กับบรรดาผู้บริโภค เมื่อไม่มีคนคอยต่อรองลดราคาให้ นั่นก็เท่ากับว่าค่าเงินเราลดลงๆๆ ทุกปีเหมือนกัน

เรื่องสงครามราคานั้น ถ้าจะพูดเรื่องประโยชน์ก็มีอยู่ตรงที่ suppliers นั้นต้องห้ามหยุดนิ่งครับ ต้องพยายามหาหาทางใหม่ๆให้เราผลิตได้ถูกลงไปให้ได้ ยกตัวอย่างเช่นตอนที่ญี่ปุ่นนั้นก้าวเข้ามาเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนั้น ญี่ปุ่นเน้นการดำเนินการผลิตแบบ Just in Time พอผู้ผลิตของอเมริกาและประเทศอื่นๆเห็นดีเห็นงามด้วย เลียนแบบ Just in Time เขาก็ทำไม่ได้ดีเท่าญี่ปุ่นครับ

ตอนนั้น(หรือแม้กระทั่งตอนนี้ ระบบการผลิตแบบ Push-Pull system) ก็ยังคงได้รับความสนใจจากนัก Queuing theorists ที่พยายามจะหาทางให้ระบบของตัวเองดีขึ้น ในขณะเดียวกันนั้นเองประเทศสหรัฐอเมริกาก็คิดค้น Lean Manufacturing System ขึ้นเพื่อที่จะมาต่อกรกับ Just in Time นั่นผมก็มองว่าเป็นผลดีของสงครามราคาครับ

แต่ผลร้ายที่ตามมาก็อย่างที่คุณ wwibul พูดไว้ว่าท้ายที่สุดยักษ์ใหญ่ก็เบียดคนอื่นที่ทุนไม่หนาเท่าตายเรียบ

 

เรื่องนี้น่าสนใจทีเดียว ตัวเองเรียนการเงินมา สนใจเรื่องความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศด้วย เพราะเชื่อว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ใครทำอะไรที่ประเทศไหน ย่อมส่งผลกระทบไปทั้วโลก บางทีการมอบผลกระทบต่างๆในแง่ภูมิศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์จะมองผลกระทบตามขอบเขตของชาติใดชาติหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองผลรวมทั้งหมดทั้งโลกเลย

ถ้ามองกรณีของ Wal mart โดยมองในภาพกว้างกว่าผลกระทบต่อสหรัฐเป็นต่อโลกต่อชุมชนต่างๆทั่วโลกฏ้อาจจะได้มุมมองอะไรที่น่าสนใจมากขึ้นนะคะ

 

 

สวัสดีครับคุณเอ๋ ขอบพระคุณมากครับสำหรับคอมเมนท์และมุมมองของคุณเอ๋ครับ ในหนังสือ The Wal-Mart Effect นั้นคนเขียนเขียนในผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลักครับ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่าถ้าจะให้เขาเขียนถึงผลกระทบไปทั้งโลกนั้นก็คงจะต้องใช้เงินในการหาข้อมูลมากทีเดียวครับ

มากที่สุดที่เราสามารถทำได้กับการประเมินผลกระทบของอะไรบางอย่างในระดับโลกนั้น ก็คงต้องอาศัยการประเมินผลกระทบจากระดับประเทศก่อน แล้วก็ค่อยๆพูดถึงผลกระทบที่ตามมาในระดับโลกครับ

อ้อ ในเรื่อง China shakes the world ของ James Kynge ได้พูดไว้ตอนต้นเรื่องน่าสนใจมากครับว่า เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อตัวเราด้วยเหตุการณ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 หนังสือยกตัวอย่างถึงเหตุการณ์ที่มองโกลบุกยุโรปครับ สำหรับคนอังกฤษแล้วนั้น เหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่นี้ เขารู้ถึงมันได้เนื่องจากราคาปลาที่ท่า Harwich ตรงทะเลเหนือนั้นมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก เหตุผลเนื่องมาจากว่าชาวประมงที่อยู่แถบทะเลบอลข่าน ต้องไปเป็นทหาร ไม้ที่ใช้ทำเรือนั้นต้องเอามาใช้ทำอาวุธ

ก็เหมือนกับคำว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวแหละครับ แต่ว่าผลกระทบนั้นอาจจะน้อยมาก หรือว่าอาจจะมากมายเหลือเกิน แต่เราอาจจะไม่สามารถที่จะพูดกันได้ถึงในตอนนี้ครับ  

แต่ในความคิดของผมแล้ว มันมีผลกระทบกันแน่นอนครับ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจครับ ในโลกแห่งทุนนิยมที่คนมีทุนหนาย่อมได้เปรียบนั้น และกำไรเป็นสิ่งสำคัญนั้น ทุนก็จะไหลไปตามที่ที่มีแรงงานถูกไปเรื่อยๆครับ แล้วในประเทศที่ไม่ค่อยพัฒนานั้นสิ่งแวดล้อมก็จะเริ่มสูญเสียไปกับการพัฒนาของโลกครับ (อันนี้เดี๋ยวไว้คุยกันในตอนเมื่อเมืองจีนเขย่าโลกตอนที่ 2 ครับ)

มีข้อเท็จจริงประเด็นหนึ่ง ที่ทำให้การเปรียบเทียบโชห่วย กับห้างยักษ์ไม่เป็นธรรม ขอเปรียบเทียบตัวเลขแบบสมมติ ตัวเลขคงไม่ตรง แต่แนวคิดคงไม่ผิด

สินค้ามีต้นทุน 95 บาท

supplier ส่งห้างยักษ์ที่ 96 บาท

ส่งโชห่วย 99 บาท

ราคาฉลาก 100 บาท

ใครรวย ?

ยังไม่จบครับ

วันดีคืนดีห้างใหญ่ขายลดกระหน่ำลงมา 99 บาท

โชห่วยอึ้งครับ ได้แต่มองตาปริบ ๆ

ใครตายครับ ?

ผมนี่โง่จังแฮะ รู้แล้วยังถาม...

ผมว่ากรณีนี้ยังไม่น่ากลัวมากนะครับ ถ้ารัฐบาลสามารถที่จะควบคุมคุณภาพสินค้าที่ขายในห้างพวกนี้ได้ เพราะการที่ลูกค้าสามารถซื้อของได้ถูกลงเป็นข้อดีอยู่แล้ว แต่ถ้าห้างที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายมาก ๆ ไปกดดันผู้ผลิตให้ลดราคา แล้วทำให้คุณภาพสินค้าต่ำลงด้วยนี่สิอันตราย

 

ส่วนกรณีร้านค้ารายย่อย ก็ต้องหามาตราการอื่นช่วยเหลือต่อไป ถ้าสู้เรื่องราคาไม่ได้ ก็ต้องสู้ด้วยเรื่องอื่นแทน

ผมว่าระบบสหกรณ์คือทางแก้ไขสำหรับสังคมแบบไทย ระบบดี ๆ ที่จะแบ่งปันส่วนลดระหว่างผู้บริโภคด้วยกันเราก็มีอยู่แล้ว แต่เราบริหารจัดการไม่ดีเอง

คุณไปอ่านหนังสือคิดว่าไงครับ

สวัสดีครับ wwibul

ก็อย่างที่ผมได้เขียนไว้ใน ทางรอด ทางแก้ ว่าวิธีหนึ่งก็คือเพิ่มขนาดของร้านโชว์ห่วย โดยการรวมตัวกันครับ เพราะจะได้มีอำนาจการต่อรองชองร้านเพิ่มขึ้นได้ราคาที่ของที่ถูกลง จะได้มีพอสู้กับร้านค้ายักษ์ใหญได้ครับ

แต่ต้องเข้าใจกันนิดหนึ่งก่อนนะครับว่า Wal-Mart นั้นอาจจะไม่เหมือนกับห้างยักษ์เมืองไทย เพราะ Wal-Mart นั้นกดราคาของลงไปด้วย เพื่อที่จะลดราคาสินค้าที่ขายใน Wal-Mart ครับ (โดยไม่สนว่าราคาป้ายที่ติดในตัวสินค้าจะเท่าไร)

นั่นก็อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่แตกต่างระหว่าง Wal-Mart กับห้างในเมืองไทยครับ แต่สิ่งที่เราต้องมองคือว่าแล้วราคาไหนที่ต่ำสุดที่คนสามคนจะยอมรับได้ คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภคและผู้ค้าปลีก อย่าลืมนะครับ ในบรรดาคนสามคนนี้ ผู้บริโภคนั้นเสียงน้อยที่สุดครับ

สวัสดีครับคนเมืองนรา

เรื่องคุณภาพของสินค้านั้นจริงๆแล้ว เมืองไทยจำเป็นต้องกวดขันกันมากหน่อยครับ กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคยังค่อนข้างหย่อยยานอยู่ เมื่อลูกค้าได้สินค้าด้อยคุณภาพก็ทำอะไรไม่ค่อยได้

แต่ถ้ากฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเข้มแข็ง มีการบังคับใช้ที่รัดกุมและได้ผล โดยที่ผู้บริโภคมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากสินค้าผ่านร้านค้าที่ซื้อได้ ก็คงจะทำให้เกิดการกวดขันเรื่องคุณภาพสินค้าได้ครับ

เรื่องสหกรณ์นั้นน่าสนใจมากครับ อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่พอจะทำให้ร้านโชว์ห่วยเกิดการอยู่รอดได้ แต่สหกรณ์นั้นถ้าจะอยู่รอดให้ได้ก็ต้องเกิดการรวมกลุ่มกันครับ ตัวร้านโชว์ห่วยโดดนั้นอาจจะไม่เหมาะกับการทำสหกรณ์ครับ

ตามความคิดของผมนะครับ การแข่งขันระหว่างร้านโชว์ห่วยกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อยู่ที่ราคาเป็นหลักครับ ดังนั้นการรวมกลุ่มกันเพื่อที่จะต่อรองราคานั้นจึงเป็นวิธีหลักที่จะเพิ่มอำนาจต่อรองกับ suppliers ได้

คิดมาถึงตรงนี้ทำให้คิดถึงอีกเรื่องครับ จุดแข็งของร้านโชว์ห่วยคืออยู่ท่ามกลางชุมชน ดังนั้นคงต้องใช้จุดแข็งนี้เป็นการขาย แต่แหมผมอยู่ท่ามกลางผู้เชี่ยวชาญ knowledge management ทั้งหลาย ผมลืมไปได้อย่างไรครับเนี่ย นั้นก็คือเรื่อง database ขนาดเล็ก ที่เราเก็บราคาสินค้า เก็บชื่อลูกค้า และที่สำคัญก็คือ เก็บข้อมูลว่าลูกค้าซื้ออะไรบ้าง แล้วมีความถี่ในการซื้อเท่าไร พอเห็นภาพไหมครับ ถ้าเรามีข้อมูลเหล่านี้ เราก็พอจะประมาณได้ว่า ลูกค้าเรานั้นใช้สินค้า โดยเฉลี่ย นานขนาดไหน

และด้วยความที่ร้านโชว์ห่วยนั้นตั้งท่ามกลางชุมชน ร้านโชว์ห่วยอาจจะปรับแผนการเชิงรุกโดยการนำสินค้าไปเสนอก่อนที่ของของลูกค้าจะหมดนะครับ วิธีนี้จำเป็นที่จะต้องลงทุนเบื้องต้น แต่ก็เป็นการปรับแผนการเชิงรุกขึ้นมา ไม่ต้องตั้งรับเหมือนเดิมครับ  

ประเด็นที่ผมเสนอเรื่องสหกรณ์ ผมก็มองการต้องรวมตัวกันของโชว์ห่วยกันอยู่แล้ว เพราะถ้าร้านใครร้านมันตายลูกเดียว แต่ถ้ารวมตัวกันต่อรองกับผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายอย่างเดียวผมว่ามันก็เท่านั้น เพราะรวมกันอย่างไรก็สู้7-11รวมกันกว่า3000สาขาไม่ได้ สู้พวกดิสเคาท์สโตรทั้งหลายไม่ได้ ถ้าพวกนี้จะทุบเรื่องราคาจริง ๆ เดี๋ยวก็ตาย

 

ผมมองว่าร้านโชว์ห่วยรวมตัวกันแล้ว ก็เอาเครือข่ายลูกค้าของตัวเองนั่นแหละเข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ ร้านของตัวเองก็เปลี่ยนเป็นสหกรณ์หนึ่งสาขา ลูกค้ามีบัตรสมาชิก ซื้อของในรหัสตัวเองมากก็ได้ส่วนลดมาก หรือไม่ก็จ่ายเป็นปันผล ถ้าให้ลูกค้าได้เป็นหุ้นส่วนได้ยิ่งดี ตัวร้านค้าก็ได้ส่วนแบ่งจากกำไร และค่าบริหารจัดการร้านไป

 

การดำเนินงานต่าง ๆ ความคิดก็คล้าย ๆ คุณไปอ่านหนังสือ แต่ละคนมีรหัสสมาชิกอยู่แล้ว ดังนั้นเราสามารถเก็บข้อมูลการซื้อสินค้าได้ ว่าเขาซื้ออะไรบ้าง มีพฟติกรรมการซื้ออย่างไรบ้าง อาจมีการจัดโปรโมชั่นให้กับลูกค้าเป็นรายกรณีตามกลุ่มสินค้าที่ลูกค้าซื้อประจำ (เหมือนอย่างที่ท็อปซูปเปอร์มาเก็ตทำอยู่) หรือให้มีการสมัครสมาชิกต่อ ๆ กันไป ใครมีสมาชิกในกลุ่มมากมียอดสั่งซื้อสินค้ามาก ก็ได้ปันผลกับไปมาก แบ่งจ่ายกำไรกันอย่างยุติธรรม (อย่างที่แอมเวย์ทำ)

 

ถ้าทำได้อย่างนี้รับรองโชว์ห่วยไม่ตาย กำไรต่อชิ้นอาจจะลดลง แต่ขายได้มากขึ้น เพราะถ้าสามารถขายสินค้าได้ในราคาใกล้เคียงห้างยักษ์ใหญ่ แต่มีเงินปันผลคืนให้ มีสิทธิพิเศษ ใกล้บ้าน และเป็นคนในชุมชนกันเอง รู้จักมักคุ้นกัน หรือลูกค้าเองก็เป็นผู้ถือหุ้นในสหกรณ์ในหมู่บ้านตนเองด้วย รับรองโลด

 

คุณ ๆ ว่าไงครับ 

 

คุณ คนเมืองนรา ครับ...

  • แนวคิดน่าสนใจดีครับ
  • แต่วิธีการรวมตัวของโชห่วย ผมมองว่า เป็นไปได้หลายวิธี
  • จะรอให้โชห่วยเกาะกลุ่มกันเองคงยาก
  • คงต้องมีเจ้าภาพ
  • ผมไม่หวังพึ่งรัฐ
  • ...เพราะความอุ้ยอ้าย และกริ่งหน้าเกรงหลังเยอะ
  • ผมไม่หวังพึ่งองค์กรไม่หวังผลกำไร
  • ...เพราะคงจะบริหารไม่มีกำไร
  • ผมไม่หวังพึ่งภาคประชาชน
  • ...เพราะไม่มีความเป็นนิติบุคคล
  • ผมมองไปที่ภาคเอกชนแบบหวังผลกำไร
  • ...เพราะมีแรงจูงใจ มีทักษะ และสถานการณ์เริ่มสุกงอม...
  • แต่จะออกมาในรูปไหน ยังนึกไม่ออกเหมือนกันครับ

สวัสดีครับ คุณคนเมืองนราและคุณ wwibul

ชอบคุณมากนะครับที่ได้กลับมาร่วมเสนอความคิด ที่จะมาต่อยอดกันไปเรื่อยๆ

เรื่องสหกรณ์นั้น ด้วยความเคารพครับ ผมไม่ค่อยรู้รายละเอียดมากเพียงพอที่จะออกความเห็นได้นะครับ

แต่ก่อนที่เราจะลงลึกไปในรายละเอียด สิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือแล้วร้านโชว์ห่วยต้องการกำไรขนาดไหนครับ (ผมมองว่าร้านค้ายังไงก็ต้องการกำไรเป็นหลัก) แล้วสหกรณ์สามารถให้ผลกำไรอย่างที่ต้องการได้หรือเปล่า เพื่อจะทำให้เจ้าของร้านอยากมารวมในสหกรณ์ แล้วสถานภาพของร้านโชว์ห่วยแต่ละร้านในสหกรณ์จะเป็นอย่างไรและมีสภานะแบบไหนในสหกรณ์

คำถามผมคงตอบให้ไม่ได้ เพราะผมไม่ค่อยรู้เรื่องสหกรณ์มากนัก ตอบไปก็คงเป็นการแสดงความไม่รู้ออกมามากกว่าครับ   

อีกเรื่องหนึ่งก็คือพฤติกรรมผู้บริโภค ผมคิดว่าระหว่างการที่คุณจะซื้อสินค้าลดราคาทันทีจากร้านค้าสะดวกซื้อ กับสินค้าที่ไม่ได้ลดราคาทันทีจากสหกรณ์ แต่ไปรอเงินป้นผลปลายปี หรือทุก 6 เดือน พฤติกรรมผู้บริโภคนั้นเป็นอย่างไร ชอบแบบไหนมากกว่ากัน

นอกจากคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกี่ยวกับด้านราคาแล้ว ในเรื่องของความคาดหวังของผู้บริโภคกับร้านค้าก็เป็นสิ่งสำคัญครับ ถ้าร้านขายของชำส่วนใหญ่ดูแล้วมืด อึมครึม ไม่โปร่งตา สิ่งที่ทุกคนมองก็คือ สินค้านั้นเก่าเก็บ อาจจะหมดอายุ ก็ได้

แล้วระหว่างร้านสะดวกซื้อที่สว่าง ดูสะอาดมากกว่า มันก็เป็นไปได้ว่าคุณคิดว่าสินค้านั้นใหม่ ไม่เก่าเก็บ

คำตอบนั้นมันไม่ใช่แค่การรวมกลุ่มเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการจัดการด้วยครับ ราคาอาจจะทำให้เราสู้ได้ แต่ถ้าการจัดการไม่ได้เรื่อง ก็อาจจะไม่ก่อเกิดประโยชน์อะไร

ผมมองเรื่องการรวมตัวกันแบบบริษัทมหาชน อาจจะเป็นไปได้ที่รัฐต้องเป็นหัวหอก (เพราะไม่มีใครใหญ่พอ หรือถ้าจะให้ซีพี หรือโลตัส หรือแม็คโคร มาทำ มันก็จะเป็นเหมือนเดิม คือเจ้าของร้านแปรสภาพเป็นไปเป็นแค่ลูกจ้าง) เพราะที่เราต้องการก็คือทุน ที่จะมาพัฒนาระบบ เสริมสร้างการจัดการ และภาพลักษณ์

ร้านโชว์ห่วยในระบบ อาจจะไม่ต้องหรูหรา ติดแอร์ แต่อย่างน้อยก็ต้องมีสภาพน่าดู ไม่รกหูรกตา ไม่มืด ไม่ดูอึมครึม ดูสว่างสะอาดตา

สวัสดีค่ะคุณไปอ่านหนังสือ

หนูเป็นนิสิตนะคะ พอดีหนูสนใจทำรายงานในหัวข้อเกี่ยวกับผลกระทบจากการขยายตัวของค้าปลีกข้ามชาติในไทย เลยเปิดหาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนมาลิงค์เข้ากับblogนี้ ซึ่งทำให้หนูรู้สึกดีมากจริงๆ บลอกนี้เป็นบลอกที่ดีมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆเลยค่ะ น่าสนใจมาก มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ของคุณไปอ่านหนังสือและเรื่องราวที่คุณไปอ่านหนังสือได้มาเล่าให้ฟังก็มีสาระจริงๆค่ะ ส่วนเรื่องหัวข้ออื่นๆที่คุณไปอ่านหนังสือได้เล่าไว้ในหน้าอื่นก็น่าสนใจมากๆๆๆๆค่ะ หนูเปิดอ่านไปหลายเรื่องเลย(ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับรายงานที่ต้องทำ^^)เลยอยากขอบคุณคุณไปอ่านหนังสือมากนะคะที่ได้ร่วมแบ่งปันความรู้แประสบการณ์จากการอ่านหนังสือดีดีให้คนอื่นๆได้รับรู้เรื่องราวอันน่าสนใจไปด้วย จะเป็นกำลังใจให้คุณไปอ่านหนังสือบอกเล่าเรื่องราวคุณภาพและน่าสนใจแบบนี้เรื่อยๆต่อไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท