อาจารย์ยังไม่มา ...(นั่นใครน่ะ?)


การสอน โดยการทำให้เชื่อก่อนแล้วค่อยบอกความจริงทีหลังนั้น ทำให้ฉุกใจคิดได้ง่าย และจำนาน

(16) 

กรณีศึกษาที่ 2 ความเชื่อกับความจริง

กิจกรรมนี้ ดิฉันจะลองพยายามนำเสนอเป็นลำดับขั้นตอนการสอน เพื่อให้เห็นที่มาที่ไปว่าดิฉันคิดอะไร และสอนอย่างไรนะคะ (ได้เขียนเล่าภาพรวมในบันทึกที่ 15  ก่อนหน้านี้ค่ะ )

กิจกรรมที่ 2.1 : อาจารย์ยังไม่มา ...(นั่นใครน่ะ?)


จุดมุ่งหมาย (ขออนุญาตเขียนแบบภาษาบอกเล่าธรรมดานะคะ)

1. เพื่อให้นักศึกษาสงสัย สังเกต และรู้สึกถึงความผิดปกติ
2. เพื่อให้นักศึกษาเกิดความพยายามในการสื่อสารเพื่อตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง
3. เพื่อให้นักศึกษาเกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร
4. เพื่อให้นักศึกษาฝึกสะท้อนความคิด โดยการพูดและการเขียน


กระบวนการกิจกรรม

ในชั่วโมงแรกของการเรียนการสอนนักศึกษานิเทศศาสตร์ปีหนึ่ง เด็กๆยังไม่รู้จักดิฉันซึ่งเป็นผู้สอน ดิฉันแต่งชุดสูททำงานธรรมดาและได้เดินเฉยๆเข้าทางด้านหลังห้องเรียน ไปนั่งรอที่เก้าอี้แถวหลังสุดอย่างสุภาพ


เมื่อถึงเวลาเรียน สิบห้านาทีผ่านไป เด็กๆก็เริ่มสงสัยว่าทำไมอาจารย์ยังไม่มา แต่ไม่มีใครลุกมาถามว่าดิฉันเป็นอาจารย์หรือเปล่า บางคนได้แต่หันมองและเริ่มคุยกันว่าสงสัยอาจารย์จะไม่เข้าสอน น่าจะเผ่นเอ๊ยสลายตัวกันดีกว่า

ดิฉันจึงเดินไปหน้าชั้นและแนะนำตัว แล้วก็ขอโทษเธอ พร้อมกับอธิบายให้เธอฟังอย่างสุภาพนุ่มนวลว่า เหตุที่ดิฉันเข้าห้องเรียนโดยไม่แนะนำตัวก่อน ในคาบแรกของการเรียนการสอนนี้ เพื่ออะไร..?
(ขออนุญาตเน้นคำว่า สุภาพนุ่มนวล ทุกครั้งนะคะ )


การอธิบายให้เชื่อมโยงกับการรู้เท่าทันการสื่อสาร

ดิฉันอธิบายเด็กๆเรื่อง การรู้เท่าทันการสื่อสาร โดยยกเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดสดๆร้อนๆนี้เป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อให้เธอมองเห็นว่า สิ่งที่เห็น ไม่ได้เป็น อย่างที่คิด เสมอไป

ดิฉันอธิบายเธอว่า เมื่อสักครู่ เธอกำลังสื่อสารกับพื้นที่ เป็นการสื่อสารภายในจิตใจของเธอ และเธอกำลังให้ความหมายแก่พื้นที่นั้นตามความเคยชินของเธอ พื้นที่หน้าห้องเรียนเธอให้ความหมายแบบหนึ่ง... พื้นที่หลังห้องเรียนเธอให้ความหมายอีกแบบหนึ่ง เธอจึงยึดติดความเชื่อเดิมที่ติดมากับรูปธรรมคือพื้นที่นั้น

ถ้าเธอเชื่อพื้นที่ ว่าหน้าชั้นเรียนต้องเป็นพื้นที่ของอาจารย์เท่านั้น หรือเชื่อสัญลักษณ์ ว่าถ้าใส่ชุดของบริษัทนี้แล้วต้องเป็นคนของบริษัทนี้เท่านั้น เธออาจถูกลวงโดยรูปธรรม หรืออาจถึงขั้นถูกหลอกได้
หากคิดแบบสรุปตามความเคยชิน โดยไม่รู้จักหาความจริง อาจทำให้เรามองอะไรบางอย่างพลาดไป

การสอน โดยการทำให้เชื่อก่อนแล้วค่อยบอกความจริงทีหลังนั้น ทำให้ฉุกใจคิดได้ง่าย และจำนาน คืออันนี้ดิฉันยังไม่เคยทำแบบสอบถาม แต่ใช้วิธีการสังเกตและฟังที่นักศึกษา(บ่น)พูดถึงการสอน

อย่างไรก็ตาม วิธีสอนอย่างนี้เสี่ยงนัก ดิฉันจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ก่อนสอนต้องคิดแล้วคิดอีก ต้องดูหน้าดูตา ดูทิศทางลมให้ดีก่อน เพราะจิตใจคนละเอียดอ่อนซับซ้อน ดิฉันเองก็ไม่เคยเรียนครู ไม่ใช่ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ จึงต้องซักซ้อมซ้ำแล้วซ้ำก่อนสอน สอนเสร็จแล้วก็ต้องขอโทษเด็กๆ และอธิบายให้เธอเข้าใจ ที่ผ่านมายังไม่เจอเด็กคนไหนงอนครูค่ะ ดูพวกเธอจะเข้าใจดี

การสะท้อนความคิดและวิธีคิด ..
(ไม่ทราบเป็นการใช้คำฟุ่มเฟือยหรือไม่ ตอนนี้ดิฉันขอใช้สองคำนี้ไปพลางๆก่อนนะคะ )

1. ให้นักศึกษาพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ก่อนหน้านี้โดยอิสระ
2. ให้นักศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์และบอกข้อคิดที่ได้
3. จากนั้นให้นักศึกษาเขียนวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็น

ดิฉันให้พูดแสดงความคิดเห็นโดยอิสระก่อน และไม่ประเมินค่าวิธีคิดของเธออย่างเด็ดขาดจนกว่าเธอจะพูดจนหมดมุขแล้ว ไม่เช่นนั้นเธอจะไม่ยอมพูดอีก (กว่าจะทำให้เธอพูดใหม่ได้ก็เหงื่อตก)

จากนั้นต่อด้วยคำถามที่ใช้ถามเป็นประจำคือ เธอได้ข้อคิดอะไรบ้างจากกิจกรรมนี้ และดิฉันได้เห็นว่าหลายๆครั้ง เด็กๆมีมุมมองที่ดูดีมีระดับกว่าดิฉันมาก

เสร็จแล้วก็จะให้เธอเขียนแสดงความคิดเห็นและเขียนข้อคิดกันอย่างสนุกสนาน... 

(คือดิฉันคิดเอาเองว่าเธอจะสนุกสนาน ส่วนครูก็ตรวจลายมือแบบสมรภูมิรบของเธอกันจนตาลาย)

การสรุปข้อคิดและความรู้ที่ได้จากกิจกรรม

เด็กๆบอกว่า หัวข้อ การสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ ออกจะหรูไป  แล้วเธอก็บอกว่าจะเอาที่เพื่อนๆเขียนมารวมกัน ตัดที่ซ้ำกันออก แล้วก็ปรับคำให้สละสลวย สรุปว่าดิฉันก็เอาที่เธอเขียนบ่นๆกันไว้มารวมเล่มเป็นอนุสรณ์รอไว้ให้เธอกลับมาอ่านตอนแก่เช่นเคย :)

 

 

หมายเลขบันทึก: 80986เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2007 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นชื่อบันทึกแล้วต้องรีบเข้ามา เพราะมันกระตุกให้ผมระลึกความหลังสมัยยังเป็นนิสิตแพทย์

ชั่วโมงหนึ่งในวิชารังสีวิทยา ซึ่งปกติจะมีอาจารย์รังสีแพทย์เป็นผู้สอนให้พวกเราอ่านฟิลม์เอกซเรย

ตอนที่พวกเราเข้าห้องเรียนซึ่งเป็นห้องอ่านฟิลม์รวม มีคุณป้าสูงวัยคนหนึ่งกำลังเก็บและจัดซองฟิลม์เอกซเรย์อยู่เงียบๆ คุณป้าอยู่ในชุดสีน้ำตาลเรียบๆ ใบหน้าไม่มีการตกแต่ง เรามองแล้วคิดในใจว่า.. คนงานมาทำความสะอาดห้อง..แหงๆ

พอได้เวลาเรียน หนึ่งในกลุ่มนักเรียนเห็นว่าอาจารย์ยังไม่มาซํกที ก็ออกไปถามเจ้าหน้าที่ข้างนอก แล้วก็ออกมาประกาศให้พวกที่เหลือเสียงดังลั่นว่า อาจารย์ยังไม่มา ให้รอก่อน

คุณป้าคนนั้นจึงเงยหน้าจากงานที่ทำอยู่ ู่แล้วบอกพวกเราว่า ฉันนี่แหละ ..อาจารย์ของพวกเธอ

ปัจจุบันอาจารย์แพทย์ท่านนี้ได้เสียชีวิตแล้ว ท่านมีความเป็น ..ครู..มากกว่าอีกหลายๆคนที่มีภาพลักษณ์ภายนอกที่มองดูแล้วว่า อาจารย์หมอ แน่ๆ

ท่านสอนผมทั้งวิชารังสีวิทยา และการใช้ชีวิต จากวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รักและอบรมลูกศิษย์อย่างจริงใจ

ขอบคุณอาจารย์มากครับ สำหรับมุมมองเรื่องการสื่อสาร และการชวนให้ผมได้ระลึกถึง ครู คนหนึ่ง 

 

 

ขอบพระคุณอาจารย์เช่นกันค่ะ   ที่กรุณาแวะมาให้ข้อคิดที่น่าประทับใจ  

ดิฉันก็ได้พบครูที่เป็นครูด้วยใจอย่างเงียบๆมาหลายท่าน  ลักษณะร่วมสำคัญคือความสมถะ  เรียบง่าย และไม่แสดงตน

ท่านทำหน้าที่สร้างคนอย่างเงียบๆ  งานของท่านกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับวิถีชีวิต  แล้วท่านก็ไม่ได้ต้องการลาภยศสรรเสริญใดๆ  นอกจากทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด  

วัตรปฏิบัติของท่านเป็นแบบอย่างให้แก่ครูรุ่นหลัง  ดิฉันได้เห็นแบบอย่างเช่นนั้นแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตครูนี้เป็นชีวิตที่เย็นกายเย็นใจดี   ถ้าเป็นผู้มีความสุขที่จะให้มากกว่ารับ

ขอบพระคุณสำหรับเรื่องดีๆเกี่ยวกับ หมอ ครู และพระที่อาจารย์เขียนในบล็อกด้วยนะคะ

 

  

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท