การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ(นิวโรน)ทำให้เกิดสิ่งใหม่(จิต)


จิของเราจึงเกิดขึ้นในสมองของเรานี่เอง

วัตถุ ได้แก่สิ่งที่มีตัวตน  มีขนาด  มีน้ำหนัก  ในเมื่อมันมีตัวตน  มันจึงต้องการที่อยู่ เพื่อตั้งวางตัวมัน  และที่อยู่ดังกล่าว  คือ  ที่ว่าง หรืออวกาศ (Space)  และในโลกหรือจักรวาลนี้มีวัตถุ  ฉะนั้น ในจักรวาลนี้จึงต้องมีที่ว่าง  หรืออวกาศ

วัตถุ  มีการเปลี่ยนแปลง  เปลี่ยนแปลงโดยการแยกสลายจากหน่วยใหญ่ไปสู่หน่วยย่อย   เช่น  ถ้าเราทุบก้อนหินให้แตกเป็นชิ้นๆ   การแยกเป็นชิ้นๆนี้เรียกว่า  การเปลี่ยนแปลงของหินก้อนนั้น(วัตถุ)

น้ำ  เมื่ออยู่ในแก้วน้ำ  มันจะมีรูปร่างเหมือนแก้วน้ำนั้น  ถ้าเอาน้ำในแก้วนั้นไปเทใส่จานแบนๆ  มันก็จะเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นแบนๆเหมือนจานนั้น  การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก็เรียกว่า  การเปลี่ยนแปลง. ถ้าเอาน้ำไปต้มให้เดือด  ก็จะเกิดไอน้ำ  ดังนี้ก็เป็นการเปลี่ยนแปลง  แต่การเปลี่ยนแปลงคราวนี้ทำให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา  สิ่งใหม่นี้คือ  ไอน้ำ  และการลอยได้  และการลอยได้นี้ใหม่จริงๆ  เพราะน้ำเดิมไม่สามารถลอยได้   แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงเป็นไอ  คุณภาพใหม่ก็เกิดขึ้น   คือ  การลอยได้.  การลอยได้นี้จึงเป็น สิ่งใหม่   เป็นสิ่งใหม่ที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำ(วัตถุ)

นิวโรน  ก็เป็นวัตถุ  มันจึงเปลี่ยนแปลงได้  เมื่อนิวโรนตัวหนึ่งเชื่อมต่อกันเข้า(Synapse) กับนิวโรนตัวอื่นๆ  ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น   ผลจากการเปลี่ยนแปลงจะเกิดสิ่งใหม่บางอย่าง  และสิ่งใหม่ที่สำคัญที่สุดก็คือ  ความรู้สึก(Conscious)  ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของจิต(Mind).

จิตของเราจึงเกิดขึ้นที่สมองของเรานี้เอง.

ในเมื่อความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นจากกิจกรรมของกลุ่มนิวโรน  ความรู้สึกจึงมีที่มาจากกิจกรรมของนิวโรน   นั่นก็คือ  ความรู้สึกมีที่รองรับ  ที่รองรับคือกิจกรรมของนิวโรนหรือตัวนิวโรน  ดังนั้น  ถ้าเราสาวลงไปจากความรู้สึกใดๆลงไปจนถึงนิวโรนแล้ว  เราก็จะลงไปพบต้นตอของมันได้   แต่เราได้แต่สันนิษฐานเอาเชิงเหตุผล  จะจริงหรือเท็จ  เราต้องทดสอบด้วยกระบวนการวิจัย   ฉะนั้น ที่ว่ากิจกรรมของนิวโรนทำให้เกิดความรู้สึก  จึงมีฐานะเป็นสมมติฐานในขณะนี้   นั่นคือ  เป็นภาวสันนิษฐานเชิงสมมติฐาน(Hypothetical Construct)   ต่อเมื่อเราได้พบว่าเป็นจริงในเวลาต่อมา ภาวสันนิษฐานเชิงสมมติฐานนั้นก็จะหมดไปทันที  กลายมาเป็น  ภาวจริง  และภาวจริงนี้มีสภาพเป็นกิจกรรมของกลุ่มนิวโรน  หรือตัวนิวโรน(วัตถุ)

อนึ่ง  กิจกรรมของกลุ่มนิวโรนเป็นกระบวนการ  ฉะนั้น  ความรู้สึก จึงเป็นกระบวนการด้วย  อีกประการหนึ่ง  ความรู้สึกใดๆ  ไม่ใช่วัตถุ ดังนั้นเราจึงจัดความรู้สึกทุกอย่างเข้าอยู่ในประเภท คุณภาพ(Quality)

นอกจากนี้  เมื่อความรู้สึกมีแหล่งกำเหนิดจากกิจกรรมของนิวโรน  มันจึงมีอยู่ควบคู่ไปกับการมีอยู่ของนิวโรนด้วย   และความรู้สึกนี้มีอยู่จริง  เพราะทุกคนสามารถมีประสบการกับมันได้ตลอดชีวิต และสามารถสังเกตได้ด้วยวิธีพินิจภายใน(Introspection)

การรู้สึกสัมผัส  การรับรู้  การจำ  การคิด ฯลฯ  หรือจิต (Mind)โดยรวม  เราก็สามารถอธิบายได้ในทำนองเดียวกัน

ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงของวัตถุเช่นกันคือ  การเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่  ตัวนิวโรนเองไม่ได้เคลื่อนที่  แต่สารเคมีอื่นๆที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวนิวโรนนั้นเคลื่อนที่  การเคลื่อนที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง   การเคลื่อนที่นี้  IMPLY ว่านิวโรน(วัตถุ)ต้องการเวลา(Time)

ฉะนั้น  วัตถุ จะต้องต้องการอวกาศ - เวลา (Space - Time)

ถ้าเช่นนั้น  มโนทัศน์เล่าจะอยู่ตรงไหน  มโนทัศน์เป็นกฎ(Rule) ที่ใช้แยกประเภทของ  สิ่งของ  การกระทำ  และความคิด  แต่ที่จะเพิ่มในที่นี้ก็คือ  กฎที่ว่านี้ เป็น ความคิดสรุป  คือคิดสรุปลงเป็นกฎ  ความคิดเชิงกฎจึงเป็นความคิด  เป็นคุณภาพ  และเกิดจากกิจกรรมของกลุ่มนิวโรนเช่นกัน  ดังนั้นมันจึงต้องถูกรองรับด้วยภาวสันนิษฐานเหมือนกัน  และสามารถสาวลึกลงไปหากลุ่มนิวโรนได้เช่นเดียวกันกับคุณภาพอื่นๆ

มาถึงตรงนี้  ผมขอสรุปดังนี้  (1) วัตถุใดๆต้องการอวกาศและเวลาเพื่อการเปลียนแปลง (2) การเปลี่ยนแปลงของวัตถุเกิดจากการสลายตัว  และการเคลื่อนที่  (3) ผลจากการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมของนิวโรน  ทำให้เกิดเหตุการณ์ทางจิต  รวมกันเข้าเป็นจิตโดยรวม (4) Hypothetical Construct ของจิตก็คือสมอง.

หมายเลขบันทึก: 8040เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2005 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 07:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สมองตาย...แต่คนยังมีชีวิตอยู่

จิตแท้จริง... นั้นคือใจ

"จิตใจ"

จังหวะการเต้นของหัวใจ จะสัมพันธ์กับ คลื่นสมองที่เป็นตัวบอกสิ่งต่างๆ  บนโลกนี้ ... ??? ท่านต้องทดสอบด้วยตัวท่านเอง  สิ่งท่านรู้ท่านก็จะพูดสิ่งที่ท่านรู้  ยอมรับรับสิ่งที่ท่านรู้  แต่สิ่งที่ท่านไม่รู้ท่านกล้าที่จะพิสูจน์หรือไม่ ??? 

ผมดีใจมากครับ ที่คุณเชนสนใจเรื่องจิต(Mind)ครับ  ความคิดเรื่องจิตมีหลากหลาย  ตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง  ก็เรามีเสรีภาพที่จะคิดนี่ครับ  เรื่องความผิด-ความถูกนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ขณะนี้ยังสังเกตโดยตรงไม่ได้  แต่ถ้าเราคิดว่า มันมีความเป็นไปได้ที่จะสังเกตได้ในอนาคต จะโดยตรงหรือโดยอ้อมแล้ว  ความคิดนั้นก็ป็นความคิดเชิงสมมุติฐาน  หรือเชิงทฤษฎี  และต้องการการทดสอบ(Test)ว่า ผิด หรือยังไม่ผิด ด้วยวิธีวิจัยเชิงประจักษ์

แต่ถ้าความคิดนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือ Supernatural  ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะสังเกตแล้ว  ต้องใช้วิธีการเชิงเหตุผลมาพิสูจน์(Proof)  ผลออกมาเป็น Valid-Invalid

ความคิดเกี่ยวกับจิตที่ผมบันทึกไว้นี้ เป็นทางฟากวิทยาศาสตร์ ถ้าอยากรู้ว่าจริงหรือเท็จ(True-False) ต้องใช้วิธีทดสอบ(Test)สมมุติฐาน ด้วยวิธีวิจัยเชิงประจักษ์ จะใช้วิธีพิสูจน์ด้วยวิธีการทางเหตุผล ไม่เหมาะสม

เรื่องคลื่นสมองนั้น  ที่จริงเป็นกราฟแสดงสัญญาณของกระแสประสาทสมอง ที่วัดออกมาเป็นคลื่น  ถือว่าเป็นสัญญาณของพฤติกรรมโมเลกุล(Molecular Behavior)  คลื่นสมองไม่ใช่ความรู้สึก(Conscious)  และไม่ใช่จิต(Mind)  เรื่องนี้ต้องคุยกับNeurologists หรือ คุณหมอ เพราะเป็นสาขาวิชาของท่าน

รู้สึกหนักอึ้งเลยครับ  พอบันทึกเสร็จก็รู้สึกเบาหวิว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท