ผมได้รับทราบข้อมูลที่ยังคลำหาข้อเท็จจริงๆได้ไม่ชัดเจนนัก รวมถึงอยากศึกษาร่องรอยประวัติศาสตร์ของคนจีนกลุ่มหนึ่งคือตระกูล "ล่ำซำ" ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมได้รับฟังผ่านการเล่าเรื่องของคนหลายต่อหลายคนในบ้านบางแก้ว อ.บางแก้ว จ.พัทลุง และเชื่อมโยงไปจนถึงว่าเกี่ยวข้องกับ ธนาคารกสิกรไทย ในปัจจุบัน จึงขอฝากประเด็นไว้ที่นี่ก่อน ที่จะพยายามสืบค้น หรือค้นคว้าให้จนได้คำตอบที่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวนี้ให้แจ่มชัดขึ้น คิดว่าจะต้องทำให้ได้ ในเร็ววันนี้
โดยเรื่องเล่านี้ได้พยายามอธิบายว่าคนในต้นตระกูลนี้ ได้เคยเข้ามาอยู่ในพื้นที่บ้านบางแก้ว แล้วค่อย ๆ ออกไป เพราะถูกรบกวน ถูกเกล้ง ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ได้รับรู้ว่ายังมีที่ดินบางส่วนเป็นกรรมสิทธิของคนในตระกูลนี้อยู่ในบริเวณตลาดบางแก้วด้วย ลองดูตามประวัติที่ผมพอจะได้สรุปไว้บ้างแล้ว ในขณะที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุขของ สสอ.บางแก้ว ในเอกสารสรปุผลงานประจำปี 2543 โดยขอเอามาตอนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ดังนี้ครับ
• เดิมพื้นที่อำเภอบางแก้วมีชื่อเรียกว่า “โคกแต้ว” หรือ “เกาะแต้ว” ตามชื่อต้นไม้แต้ว ซึ่งขึ้นอยู่มากมาย และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บางแก้ว” ตามชื่อคลองสายใหญ่ที่ไหลผ่าน วัดตะเขียนบางแก้ว (ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเขาชัยสน ในปัจจุบัน)
• บ้านบางแก้ว ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 6 ตำบล ท่ามะเดื่อ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสุขาภิบาล เมื่อปี พ.ศ. 2499 โดยเอาชื่อของตำบลท่ามะเดื่อเป็นชื่อของสุขาภิบาล เดิมบริเวณนี้เป็นที่ทุ่งกว้างใหญ่ไม่มีบ้านเรือนผู้คนอาศัยอยู่เลย นายดิษฐ์ คชวงศ์ เป็นผู้ครอบครองที่ดินไว้เพื่อเลี้ยงวัว ควาย สภาพพื้นที่เป็นเนินโคกเล็กน้อยมีต้นไม้แต้วขึ้นอยู่เต็ม ไม้แต้วเป็นไม้ยืนต้น เนื้อแข็ง คล้ายไม้ตะแบกแต่ใบและลำต้นเล็กกว่า โคนต้นมีหนามเล็กน้อยจากการที่มีต้นไม้แต้วขึ้นอยู่มากนี้เอง ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “โคกแต้ว”
• เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2541 ทางการรถไฟได้ทำรางรถไฟสายใต้ต่อจากชุมทางหาดใหญ่ผ่านโคกแต้ว ไปทางทิศเหนือเมื่อ สร้างทางรถไฟเสร็จแล้วได้จัดสร้างสถานีรถไฟขึ้น ใช้ชื่อว่า “สถานีรถไฟโคกแต้ว” โดยเอาชื่อโคกแต้วมาเป็นชื่อสถานีรถไฟห่างจากสถานีโคกแต้วไปทางทิศเหนือประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีลำคลองสายใต้ต้นกำเนินจากเทือกเขาบรรทัดทางทิศเหนือเขตอำเภอตะโหมดในปัจจุบันไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านวัดตะเขียนบางแก้ว ตั้งอยู่ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดพัทลุง ต่อมาทางการรถไฟได้ทำการปรับปรุง สถานีรถไฟโคกแต้วขึ้นใหม่ โดยนิมิตรหมายเอาคลองสายดังกล่าวมาเป็นชื่อของสถานีตั้งแต่ นั้นมาชาวบ้านเรียกสถานีแห่งนี้ว่า “บางแก้ว” และในที่สุด ชื่อโคกแต้วก็เลือนหายไป
• ปี พ.ศ. 2471 นายปักจิ่น แซ่ฉิ่น เป็นคนอำเภอติ่งอาน มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ได้อพยพครอบครัว และพรรคพวกมาตั้งรกรากอยู่ที่บางแก้วโดยครั้งแรกลี้ภัยการเมืองมาอยู่ที่เกาะปีนังประเทศมาเลเซีย เนื่องจากการเกิดปฏิวัติขึ้นในประเทศจีนต่อมาได้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านดินลานปัจจุบันอยู่ในอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ได้มาเห็นสภาพของพื้นที่บางแก้ว และนาปะขอเหมาะแก่การทำนา และเพาะปลูกจึงได้ชักชวนญาติ ๆ และเพื่อนฝูงจากเมืองจีนมาอยู่ที่บางแก้วหลายสิบครอบครัวซึ่งทำให้บางแก้วเกิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ ขึ้น
• ปี พ.ศ. 2479 ชาวจีนบางแก้วได้จัดทำผังเมืองขึ้น มีถนนสายหลัก 3 สาย แต่ละสายกว้าง 66 ฟุต มี 6 ซอย แต่ละซอยกว้าง 50 ฟุต ที่ดินสำหรับปลูกบ้าน แต่ละห้องกว้าง 18 ฟุต ยาว 90 ฟุต มีโรงพยาบาล เปิดโรงเรียนจีนให้เด็กได้เรียนหนังสือและคนจีนรุ่นนี้ได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างถนนสายบางแก้ว – หาดไข่เต่าซึ่งเป็นถนนสายหลักมีการสร้างโรงสีขนาดใหญ่ที่หน้าสถานีรถไฟบางแก้ว ส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวหัวนาหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าข้าวพันธุ์บางแก้ว ซึ่งทำชื่อเสียงให้กับบางแก้วเป็นอย่างมากมีการส่งจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ นายปักจิ่นจึงได้ขอจดทะเบียน ตั้งบริษัทเพื่อการค้าข้าว แต่ต่อมาก็ขายให้กับบุคคลอื่นไป ของดีที่มีชื่ออีกอย่างในสมัยนั้นคือ การเลี้ยงไก่พื้นเมืองจนเป็นไก่มันเนื้อนุ่ม อร่อยถูกปากส่งไปขายถึงหาดใหญ่ ยะลา มาปัจจุบันการเลี้ยงแม้จะไม่แพร่หลายอย่างในอดีต แต่ก็ยังมีผู้สืบทอดอาชีพนี้อยู่บ้าง
• “บ้านบางแก้ว” เป็นชุมชนที่มีความเจริญ รุ่งเรืองมาก่อนในยุคที่ประชาชนใช้เส้นทางรถไฟ ในการคมนาคมเป็นหลัก ปรากฎหลักฐานว่าเคยมีโรงสีข้าวขนาดใหญ่ถึง 3 โรง ผลิตข้าวส่งจำหน่ายทั่วไปในภาคใต้จนมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของประชาชนในนามของ “ข้าวบางแก้ว” และชุมชนก็ได้ขยายขึ้นเรื่อยๆโดยมีการอพยพมาจากบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะ จากบริเวณวัดตะเขียนบางแก้ว และรอบๆ และเริ่มมีตลาดสดตลาดบางแก้ว ซึ่งจะมีวันนัด 2 วัน (วันที่แม่ค้าจะมาชุมนุมกัน โดยนำสินค้ามาขายมากเป็นพิเศษ) คือวันพุธ และวันเสาร์ของทุกสัปดาห์จนถึงทุกวันนี้
• ต่อมาสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เปลี่ยนแปลงไป ชาวจีนที่อาศัยอยู่เดิมได้แยกย้ายกันไปทำมาค้าขายในจังหวัดใกล้เคียงและที่กรุงเทพมหานคร กอปรกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41 สายเพชรเกษมตัดผ่านในพื้นที่ตำบลโคกสัก ซึ่งมีระยะห่างจากตลาดบางแก้ว ออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร ประชาชนเปลี่ยนความนิยมจากการเดินทางโดยรถไฟมาใช้บริการรถยนต์มากขึ้นจึงทำให้ สภาพการเปลี่ยนแปลงไป ตลาดบางแก้วจึงได้เหลือเพียงร่องรอย ให้เห็นสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน