ผมเขียนต้นฉบับคอลัมน์นี้ในวันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ 2550 ทำให้มีข้อมูลสำคัญมารายงานให้ท่านผู้อ่าน “ไทยนิวส์” ได้รับทราบ ซึ่งก็คือการประกาศแต่งตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนประจำจังหวัดชุมพร และที่ผ่านไปแบบสด ๆ ร้อน ๆ ก็คือ คณะกรรมาธิการฯ ได้ประชุมร่วมกันเป็นทางการครั้งแรกในวันนี้ ทำให้เราได้รับทราบการกำหนดโครงสร้างและตำแหน่ง รวมทั้งบทบาทหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่สัมฤทธิ์ผลของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 21 คน เท่ากันหมดทุกจังหวัดทั่วทั้งประเทศ โดยได้รับการคัดเลือกและประกาศแต่งตั้งจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ หลักในการคัดเลือกจะให้ความสำคัญกับสมาชิกสมัชชาแห่งชาติของแต่ละจังหวัด ซึ่งในจังหวัดชุมพรเรามีอยู่ด้วยกัน 13 คน ส่วนที่เหลืออีก 8 คน มีที่มาจากการเสนอชื่อของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในที่ประชุมเราได้มีมติร่วมกันกำหนดตำแหน่ง ดังนี้
- นายพินัย อนันตพงศ์ ประธานที่ปรึกษา
- นายอวยชัย วรดิลก ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ
- นายไพสิษฎ์ ลิมสถายุรัตน์ รองประธานฯ คนที่ 1
- นางวิภา วิภาสวัชรโยธิน รองประธานฯ คนที่ 2
- นายสมพงษ์ อินทรสุวรรณ รองประธานฯ คนที่ 3
- นายทนง สมร่าง กรรมาธิการฯ
- นายธงชัย ลิ้มตระกูล กรรมาธิการฯ
- นายประยูร สงค์ประเสริฐ กรรมาธิการฯ
- นายสมชาย สุทธิรักษาวงศ์ กรรมาธิการฯ
- นายสังคม บำรุงราษฎร์ กรรมาธิการฯ
- นายสุชาติ มีสมบัติ กรรมาธิการฯ
- นายสุรวุฒิ แพชนะ กรรมาธิการฯ
- นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา กรรมาธิการฯ
- นายนิพันธ์ ศิริธร กรรมาธิการฯ
- นายธนยศ พราหมนาเวศ กรรมาธิการฯ
- นายพจน์ปรีชา จารุจารีตร์ กรรมาธิการฯ
- นายสุทธินันท์ จันทระ กรรมาธิการฯ
- นายไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์ เลขานุการฯ
- นายประวิทย์ ภูมิระวิ ผู้ช่วยเลขานุการฯ
- นายศุภวัฒน์ สินธพานนท์ เหรัญญิก
- นายสาธิต ศรีหฤทัย โฆษกฯ
ภารกิจหลักของคณะกรรมาธิการฯ คือ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยแบ่งออกเป็น 5 ประการ ดังนี้
-
จัดทำแผนงาน/โครงการรับฟังความคิดเห็น ประชาพิจารณ์ และการประชาสัมพันธ์
-
ดำเนินการประชาสัมพันธ์ จัดตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็น การทำประชาพิจารณ์ โดยการประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป เพื่อเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
-
จัดทำสรุปและรายงานผลการรับฟังความคิดเห็น ประชาพิจารณ์ โดยบันทึกสรุปการรับฟังความคิดเห็น การจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคใต้ และคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ
-
ประสานงานกับคณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคใต้ และคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
- ดำเนินงานเกี่ยวกับด้านงบประมาณ การจัดซื้อ จ้าง เช่า และการยืม ตลอดจนการรายงานค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินงานให้สภาร่างรัฐธรรมนูญทราบ รวมทั้งการจัดทำรายงานต่อสำนักการคลังและงบประมาณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อสิ้นสุดโครงการ
นี่ว่ากันตามภารกิจหลักที่กำหนดมาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ การปฏิบัติจริงในพื้นที่ยังมีรายละเอียดอีกมากมายหลายประการที่จะต้องประสานงาน ช่วยกันขับเคลื่อนให้กระบวนการมีส่วนร่วมของจังหวัดชุมพรเข้าถึงประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด
ตัวผมเองได้รับการมอบหมายให้ทำหน้าที่ออกแบบและวางระบบการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ บอกตรง ๆ ว่า รู้สึกหนักใจในภารกิจนี้ แต่ก็ภูมิใจที่ได้รับความเชื่อมั่นจากหมู่คณะ
โจทย์ที่ตั้งไว้ในตอนนี้ก็คือ ทำอย่างไรคุณภาพและปริมาณของการแสดงความคิดเห็นของจังหวัดชุมพรจึงจะออกมาได้อย่างดีที่สุด ? ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น วิทยากรกระบวนการ บรรยากาศ ฯลฯ
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน สสร. ผู้มีประสบการณ์ ท่านได้สรุปให้ผมตระหนักว่า ภายหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็น “สิ่งที่เกิดขึ้นและได้รับจากประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ก็คือบทสะท้อนสติปัญญาของสังคม ณ ที่แห่งนั้น”
ถ้าสังคมชุมพรเราช่วยกันแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์ ร่วมกันนำเสนอและผลักดันจนกระทั่งได้รับการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปรากฏชัดเจน เราก็จะเกิดความรู้สึกร่วมในการรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ
ถึงตอนนั้น ปรากฏการณ์ “ธงเขียว” เหมือนสมัยที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง.
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ไอศูรย์ ใน ร่วมสร้างสังคมชุมพร
คำสำคัญ (Tags)#รัฐธรรมนูญ
หมายเลขบันทึก: 80172, เขียน: 23 Feb 2007 @ 08:42 (), แก้ไข: 11 Feb 2012 @ 17:31 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, อ่าน: คลิก
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก