คำสาป (โลกในใจของบุญถึง ตอนที่ 7)


“บรรยากาศที่โรงเรียนไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมดหรอกนะ อย่างน้อยเรายังมีสมชัย มีคุณครูอรุณี คุณครูมีศักดิ์ และคุณครูอีกหลายคนที่เข้าใจเรา ชีวิตมันก็อย่างนี้แหละนะ มีทุกข์มีสุขคละเคล้ากันไป เมื่อเช้าดีใจที่ขายใบตองได้ ตอนสาย ๆ ก็มีเรื่องเสียใจบ้างเป็นเรื่องธรรมดา”
       ตีสี่ของวันนั้น ผมตื่นนอนโดยไม่ต้องให้แม่ปลุกเหมือนทุกครั้ง ก็ด้วยความลิงโลดใจที่แม่อนุญาตให้นำใบตองกล้วยแตก ๆ จากต้นกล้วยที่แม่ตัดเครือกล้วยไปบ่มแล้วเอาไปขายเป็นรายได้ส่วนตัว ผมได้จัดใบตองใส่หาบตะกร้าเตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อวาน
      เรื่องการพับใบตองกล้วยไปขายนั้น ผมมีความชำนาญมาก ผมจะเริ่มจาก
การเลือกก้านกล้วยที่สังเกตว่าใบไม่แตกมากนัก ตัดมากองรวมไว้ แล้วใช้มีดบางกรีดให้ชิดก้าน ลอกใบจากโคนก้านจนถึงปลายก้านทั้งสองข้างจนหมดทั้งกอง แล้วนำมาพับเป็นแหนบ ๆ ใบตองแหนบหนึ่งจะใช้ใบกล้วยที่ลอกแล้วประมาณ 3 แผ่น ได้ 10 แหนบ จึงนำมามัดรวมกันด้วยเชือกที่ลอกจากก้านกล้วยแห้งหมาด ๆ ที่ตัดไว้ครั้งก่อน เพราะมีความเหนียวคงทนกว่าเชือกจากก้านกล้วยสด ๆ 
     การพับใบตองนั้นผมจะเอาใบที่แตกมาก ๆ ไว้ด้านใน ใบที่ดีหน่อยเอาไว้ข้างนอก ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นต้นคิดเรื่องนี้ก็เลียนแบบกันมาโดยไม่คิดอะไรจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา คงเหมือนพ่อค้าแม่ค้าที่ชอบหลอกลวงผู้บริโภคที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ ซึ่งก็เป็นค่านิยมที่ส่งผลเสียตามมามากมาย
    
พูดถึงกล้วยแล้ว นับว่ามีประโยชน์ทุกส่วนจริง ๆ ไม่ว่าจะใช้ผลรับประทาน ใช้ใบห่อของห่อขนม ใช้ก้านทำเชือกหรือทำเป็นม้าหรือทำปืนเป็นของเล่นสำหรับเด็กชนบท หัวปลีใช้รับประทาน ต้นกล้วยหรือที่เรียกว่าหยวกกล้วยใช้รับประทานหรือเลี้ยงหมู กาบกล้วยใช้ทำเชือกหรือทำงานประดิษฐ์ต่าง ๆ หน่อใช้สำหรับขายหรือขยายพันธุ์
    ในการปลูกกล้วย พวกเราจะมีกรรมวิธีแปลก ๆ ตามความเชื่อที่ได้รับการถ่ายทอดกันมา กล่าวคือ
เวลาเอาหน่อกล้วยลงหลุมระหว่างที่กลบดินถมโคนกล้วยนั้น จะต้องสาปแช่งกล้วยเสียก่อนด้วยภาษาที่หยาบคาย ยังกับว่ากล้วยต้นนั้นเป็นผู้หญิงมากชู้หลายผัว แล้วมีลูกมาก ๆ เพื่อให้กล้วยออกเครือละหลาย ๆ หวี และการจะให้กล้วยออกเครือไปทางทิศใดนั้น เราก็สามารถทำได้โดยหันโคนหน่อกล้วยไปในทิศทางตรงกันข้าม
          
ดาวประกายขึ้นแล้ว ไปกันเถอะเดี๋ยวไม่ทันรถเที่ยวแรก”
      แม่ตะโกนจากนอกชาน เตือนให้ผมรีบล้างหน้าแต่งตัว แม่จะอาศัย
ดาวประกายหรือดาวประกายพรึก เป็นเครื่องบอกเวลาในการหาบผักผลไม้ออกจากบ้านไปขายที่ตลาดในเมือง “ดาวประกายพรึก” ก็คือ “ดาวรุ่ง” หรือ “ดาวพระศุกร์” ที่มองเห็นได้ในเวลาตั้งแต่ตีสี่กว่า ๆ และเวลาหัวค่ำ
       ผมแต่งชุดนักเรียนเตรียมกระเป๋าหนังสือและรองเท้า ถุงเท้าวางไว้บนตะกร้าใบตองอย่างเร่งรีบ แล้วหาบของนำหน้าแม่ โดยถือตะเกียงรั้วคนละใบเดินลัดเลาะไปตามคันนาที่ลดเลี้ยวและขาดเป็นบางตอน เสี่ยงต่องูเงี้ยวเขี้ยวขอ จนถึงถนนใหญ่ระยะทางราวกิโลเมตรเศษเห็นจะได้ เพื่อให้ทันรถโดยสารเที่ยวแรกที่จอดรอรับแม่ค้าในหมู่บ้านพอดี
             “เร็ว ๆ หน่อย รถจะออกแล้ว”
      
ป้าสมร แม่ของสมบุญ ตะโกน เร่งให้แม่รีบขึ้นรถ ทุกวันป้าสมรจะรอเดินทางออกจากบ้านมาพร้อมแม่ แต่วันนี้คงมีของมากกว่าทุกวัน เลยล่วงหน้ามาก่อนพร้อมกับสมบุญและคำมูลพี่สาวของสมบุญ
      “ไอ้ถึง ตื่นสายเหรอ” สมบุญทักผม
       “เปล่า” ผมตอบสั้น ๆ พร้อมกับวางหาบข้างรถโดยสาร กระเป๋ารถรี่มาคว้าหาบของผมและของแม่ยกขึ้นไปไว้บนหลังคารถ ผมคว้ารองเท้าถุงเท้าและกระเป๋าหนังสือ วิ่งไปล้างเท้าข้างถนน ใส่ถุงเท้ารองเท้าลูบแข้งลูบขาให้เรียบร้อย หิ้วกระเป๋าหนังสือ รีบขึ้นไปบนรถที่มีผักผลไม้เต็มหลังคารถ ช่องทางเดินขึ้นรถมีไม้คานวางเรียงราย ผมต้องหลีกเข้าไปข้างในหาที่นั่ง วันนี้โชคดีพอมีที่ให้นั่งไม่ต้องยืนเหมือนทุกครั้ง พ่อค้าแม่ค้าคุยกันเสียงขรมเช่นเคย
      รถโดยสารคันเก่าวิ่งโขยกจากถนนใหญ่มาถึงตัวเมืองก็ราว 10 กิโลเมตร ยังไม่ทันสว่างดี พ่อค้าแม่ค้าและผู้ซื้อจากที่ต่าง ๆ เต็มไปหมด เราต้องรีบหาที่วางของขายเอาเองเพราะเทศบาลไม่อนุญาตให้จองที่อย่างถาวร จะจองได้ก็เฉพาะในแผงลอยที่เทศบาลจัดสร้างขึ้นให้เท่านั้น ที่เราต้องรีบมาแต่เช้าก็ด้วยเหตุนี้ ถ้าวันไหนมาสายก็ต้องไปขออาศัยแทรกกับคนอื่นที่พอรู้จัก หากได้ทำเลไม่ดีก็ขายของไม่ค่อยได้
       บ่อยครั้งที่ผมเห็นพ่อค้าแม่ค้าทะเลาะกันเพราะแย่งที่ขายของบางทีถึงกับรำไม้คานเข้าฟาดฟันกันก็มี แต่แม่ผมไม่เคยมีเรื่องทำนองนี้สักครั้ง
     โชคดีที่ผมวางของขายอยู่ไม่นานก็มีผู้เหมาใบตองของผมทั้งหมดในราคา 18 บาท หัวใจผมพองโต คิดในใจว่ารวบรวมเงินอีกสักครั้งหรือสองครั้งก็คงพอซื้อเสื้อกางเกงได้สักชุด ตอนผมรับเงินจากคนซื้อใบตอง ผมเห็นแม่ชำเลืองดูแล้วยิ้ม ผมไม่รู้ว่าแม่คิดอะไร
      วันนั้นผมต้องเสียค่าข้าวแกงมื้อเช้าไปเอง 3 บาท เพราะเห็นแม่ทำเฉย คงคิดว่าผมมีรายได้แล้ว และผมก็ไม่กล้าขอแม่ด้วยก็ยังดีเหลือเงินอีกตั้ง 15 บาท ผมเก็บใส่กระเป๋ากางเกงเอายางรัดไว้กลัวจะหาย แล้วช่วยแม่ขายของที่ยังเหลือต่อจน 7 โมงเช้า จึงหิ้วกระเป๋าเดินทางไปโรงเรียน ระยะทางจากตลาดสดถึงโรงเรียนก็ราว 2 กิโลเมตร ผมเดินจนชินเสียแล้ว ได้เดินบนถนนที่ราบเรียบดีกว่าเดินบนหัวคันนาเป็นกอง ที่จริงมีรถประจำทางทุก 10 นาที เสียค่าโดยสาร 50 สตางค์ แต่ผมเสียดายเงิน เลยเดินทางตลอดทั้งเที่ยวไปเที่ยวกลับ
     
เช้าวันนี้บรรยากาสการเรียนการสอนที่โรงเรียนดูสดชื่นแจ่มใสเป็นพิเศษ ชั่วโมงแรกเป็นวิชาประวัติ-ศาสตร์ของคุณครูอรุณีก็สนุกสนานได้สาระเช่นเคย ชั่วโมงที่สองเป็นวิชาเรขาคณิตของคุณครูผัน แม้ท่านจะดุแต่ก็สอนดีทำให้ผมเข้าใจ และชอบวิชานี้มาก แต่พอถึงชั่วโมงที่สามวิชาวาดเขียนของคุณครูทรงศิลป์ ซึ่งเป็นวิชาที่ผมไม่ถนัดมาตั้งแต่ชั้นประถมแล้ว ในช่วงต้นของชั่วโมงสอน ได้เกิดเหตุการณ์ที่ผมไม่คาดฝัน บรรยากาศที่แจ่มใสมาตั้งแต่เช้าก็ต้องมีอันเปลี่ยนไป
          “นี่...รูปนี้ใครเป็นคนวาด”
       คุณครูทรงศิลป์ ประกาศลั่นหน้าชั้นเรียน พร้อมชูภาพที่ผมวาดส่งครูตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ให้นักเรียนในชั้นดูแล้วพลิกกลับมาดูชื่อคนวาด
       “อ๋อ...นายบุญถึงเหรอ นี่เธอเอามือหรือเอาอะไรวาด ออกมาหน้าชั้นซิ”
       เสียงหัวเราะอย่างขบขันเยาะเย้ยของนักเรียนดังคิกคักสายตาทุกคู่หันมามองผมเหมือนตัวประหลาดอะไรสักอย่าง
       ผมชาวูบไปทั้งตัว หัวใจเต้นแรงตกใจกลัวยิ่งกว่าครั้งใดใดค่อย ๆ ทรงตัวลุกขึ้น สมชัยเอื้อมมือมาจับข้อมือผม และสบตาผมอย่างให้กำลังใจ ผมเดินก้มหน้าขาสั่นออกมาหน้าชั้นตามบัญชาของคุณครูทรงศิลป์ ท่ามกลางสายตาและเสียงหัวเราะของนักเรียนในชั้นไล่ตามหลังมา
     
ดูซินี่ แต่งเนื้อแต่งตัวก็มอมแมมเหมือนกับรูปที่วาด เอ้า...ถือเอาไว้ตลอดชั่วโมงนี้ หันให้เพื่อน ๆ ดูให้ทั่ว ...อะไรกันไม่มีความตั้งใจเลยคนอย่างเธอ เอาดีไม่ได้หรอก”
        
เสียงนี้ดังก้องในโสตประสาทของผมตลอดเวลา
       “...คนอย่างเธอเอาดีไม่ได้หรอก ...คนอย่างเธอเอาดีไม่ได้หรอก...”
       ผมยืนก้มหน้าไม่กล้าสบตาผู้คนในห้อง ใจสั่นระริกชาไปทั้งตัวรู้สึกน้อยใจและเสียใจที่คุณครูไม่เห็นใจ และเข้าใจในความรู้สึกของผมสักนิด หากผมเลือกเกิดได้ ผมคงไม่ต้องมายืนให้คุณครูและเพื่อน ๆ ประณามด้วยคำพูด สายตาและเสียงหัวเราะที่ถากถางเชือดเฉือนหัวใจเช่นนี้หรอก
      “ผมผิดด้วยหรือที่ไม่มีเสื้อผ้าดี ๆ ใส่เหมือนเพื่อน ๆ ในห้อง เพียงแค่ผมวาดรูปไม่สวยเหมือนคนอื่น ผมก็เป็นคนเลวในสายตาของคุณครูกระนั้นหรือ”
     
ทำไมคุณครูไม่มองในส่วนดีของผมบ้าง วิชาอื่นผมก็เรียนได้ดีไม่น้อยหน้าคนอื่น คุณครูรู้ไหมว่าผมต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ ช่วยพ่อแม่ทำงานตัวเป็นเกลียว แม้แต่วันเสาร์วันอาทิตย์ก็ไม่ได้ว่างเว้น”
     
คุณครูรู้ไหมว่า กว่าผมจะเดินทางมาถึงโรงเรียนผมต้องเหนื่อยยากและใช้เวลานานแค่ไหน”
       ผมคิดไปต่าง ๆ นานา ยิ่งคิดก็ยิ่งเต็มตื้น น้ำตามันไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว
        
ให้มายืนแค่นี้ทำเป็นสำออย ไปกลับไปได้แล้ว คนอะไรเอาดีไม่ได้เลย”
      
คุณครูทรงศิลป์ ยิงคำผรุสวาทที่เจ็บปวดทิ้งท้าย โดยไม่สนใจว่า คำพูดของคุณครูเพียงไม่กี่คำ ดุจคำสาปอันศักดิ์สิทธิ์ที่ส่งผลต่ออนาคตของผมให้อุดตันการพัฒนาด้านศิลปะในระยะยาวอย่างน่าสงสาร
      พักกลางวันวันนั้น ผมไม่รู้สึกหิว รู้สึกเคว้งคว้าง และไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น อยากจะหนีไปให้พ้นจากโรงเรียน แต่ก็กลัวถูกลงโทษ สมชัยชวนไปกินข้าวที่โรงอาหารผมก็ปฏิเสธปลีกตัวหลบสายตาผู้คนมานั่งที่ใต้ร่มหูกวางหลังโรงเรียน รอให้เวลาเรียนภาคบ่ายผ่านพ้นไปโดยเร็ว
        “เบื่อ... เบื่อโรงเรียน เบื่อทุกสิ่งทุกอย่าง”
      ผมสบถกับตัวเอง เพื่อระบายความคับแค้นในอก
นึกอิจฉาสมบุญ ทองย้อย บรรจง และเพื่อน ๆ ในหมู่บ้านโคกหัวนาอีกหลายคนที่ไม่ต้องมาเรียนหนังสือ และทุกข์ทรมานเหมือนอย่างผม ป่านนี้พวกเขาคงได้ปีนเขา ยิงนกหรือทำในสิ่งที่เขาชอบในโลกแห่งความเป็นอิสระ ไม่ต้องมาทุกข์ทรมานใจเหมือนผม
       “บุญถึง จวนได้เวลาเรียนภาคบ่ายแล้ว ... อย่าคิดอะไรมากเลย”
      สมชัยเดินมาโอบไหล่ผมอย่างปลอบโยน มองผมด้วยสายตาห่วงใย
      “กินอะไรหรือยัง เราตามหานายตั้งหลายที่ ไม่รู้ว่ามานั่งหลบมุมที่ใต้ต้นไม้นี่ เราซื้อขนมปังมาฝาก..กินซะ” สมชัยกล่าว พร้อมกับยื่นขนมปังให้ผมก้อนหนึ่ง
       “ขอบใจมาก เราไม่หิวหรอก” ผมตอบสมชัยอย่างเลื่อนลอย
        “รับไว้เถอะน่า เดี๋ยวก็ป็นโรคกระเพาะหรอก”
      ผมรับขนมปังจากสมชัย เพื่อไม่ให้เพื่อนเสียน้ำใจ ปกติขนมปังสังขยา ถือเป็นอาหารวิเศษสำหรับผม แต่วันนี้ทำไมช่างไม่มีรสชาติ และกลืนลงคอได้ยากเย็นเสียจริง
     ผมยิ้มให้สมชัยระหว่างเคี้ยวขนมปัง ด้วยความรู้สึกตื้นตันในน้ำใจของเพื่อน เมื่อขนมปังชิ้นสุดท้ายถูกกลืนหายไปในลำคอ เสียงออดก็ดังขึ้น เราต่างเดินกอดคอกันไปเข้าแถวหน้าห้องเรียน เพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนในภาคบ่าย
      ระหว่างเดินไปเข้าแถว สมชัยพยายามพูดจาปลอบโยนให้กำลังใจ และเย้าแหย่ ให้ผมหัวเราะ จนทำให้ผมลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมาชั่วขณะ ผมพยายามปลอบใจตัวเอง อย่างคนที่เริ่มเข้าใจชีวิต

บรรยากาศที่โรงเรียนไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมดหรอกนะ อย่างน้อยเรายังมีสมชัย มีคุณครูอรุณี คุณครูมีศักดิ์ และคุณครูอีกหลายคนที่เข้าใจเรา ชีวิตมันก็อย่างนี้แหละนะ มีทุกข์มีสุขคละเคล้ากันไป เมื่อเช้าดีใจที่ขายใบตองได้ ตอนสาย ๆ ก็มีเรื่องเสียใจบ้างเป็นเรื่องธรรมดา”

 ...นี่แหละรสชาติของชีวิต แต่เป็นรสชาติที่ผมไม่อยากให้เกิดกับใครอีก

หมายเลขบันทึก: 80113เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2007 20:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เรียนคุณครูธเนศ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นคนดีหรือไม่ดี เราเท่านั้นที่รู้ว่าตัวเราเป็นใคร แถมมีเพื่อนรู้ใจคอยให้กำลังใจอีก ดีถมไปค่ะ แต่อดีตก็จะทำให้เรากระตุ้นให้แข็งแกร่งขึ้นต่อสู้ต่อไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท