บันทึกจากประกายรังสี "มาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิค ฝันที่เป็นจริง"


การที่ตอนนั้นเรายังไม่มีข้อยุติเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นความเห็นพ้องร่วมกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีมาตรฐาน มาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคย่อมมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมันเอง
อ่านเรื่องพร้อมภาพประกอบได้ที่ http://www.tsrt.or.th/note/RTnote17.htm

     ผมเคยเขียนบันทึกจากประกายรังสีเรื่อง "ใบประกอบโรคศิลปะ บนพื้นฐานจิตสำนึก" ไว้นานแล้ว (ตุลาคม 2547) ตั้งแต่เริ่มมีการสอบใบประกอบโรคศิลปะฯกันใหม่ๆ ประเด็นตอนนั้นคือ ได้ตั้งคำถามไว้ว่า ชาวรังสีเทคนิคทำอะไรได้บ้างเมื่อมีและไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ?? ในตอนนั้น ความชัดเจนในเรื่องนี้ไม่มี ไม่มีใครฟันธงได้ว่ารังสีเทคนิคประเทศไทยทำอะไรได้บ้าง ทั้งๆที่มีการจัดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะฯไปแล้วถึง 6 ครั้ง มีผู้เข้าสอบทั้งหมด 2467 คนและสอบผ่านเกณฑ์ 60% ของทั้งสองหมวดวิชา 1709 คน มาบัดนี้ ความชัดเจนในเรื่องมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิค เริ่มใกล้ความเป็นจริงเข้ามาแล้ว
     ก่อนอื่นขอย้อนรอยกลับไปดูตอนต้นๆของเรื่องนี้ก่อน ตอนนั้นแม้เราจะยังไม่มีมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคที่เป็นรูปธรรม เราก็ได้มีการดำเนินการสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะฯกันไป ตามสภาพที่เป็นในตอนนั้น ถามว่า คณะกรรมการวิชาชีพ(กช.)สาขารังสีเทคนิค ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้หลับหูหลับตาจัดสอบไปใช่ไหม ส่วนตัวผมคิดว่าคำตอบคือไม่ใช่ กช.ไม่ได้หลับหูหลับตาทำ ตรงกันข้ามเท่าที่ทราบ กช. กลับทำด้วยความระมัดระวัง ละเอียด ถี่ถ้วน และรอบครอบ แม้จะยังไม่มีข้อยุติในเรื่องมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคก็ตาม
     ผมเชื่อว่า การที่ตอนนั้นเรายังไม่มีข้อยุติเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นความเห็นพ้องร่วมกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีมาตรฐาน มาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคย่อมมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมันเอง ชาวเราทราบดี เพราะชาวเราต่างเป็นผลผลิตจากระบบที่มีความเป็นมาตรฐาน หมายความว่า หลักสูตรที่เปิดสอนรังสีเทคนิคของทุกสถาบันนั้น กว่าจะดำเนินการได้ ต้องผ่านการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านและหลายรอบ และสถาบันผู้ผลิตก็ถูกควบคุมมาตรฐานโดยทบวงมหาวิทยาลัย เพียงแต่ว่ามันยังขาดความเป็นเอกภาพ (Unity) วันดีคืนดีใครนึกอยากจะเปิดสอนรังสีเทคนิคคงทำไม่ได้ ฉะนั้น จึงมั่นใจได้ว่า รังสีเทคนิคมีมาตรฐาน มีศักดิ์ศรี มีความน่าภาคภูมิใจ เฉกเช่นวิชาชีพอื่นๆ
     ผมเชื่อว่า กช.ก็เห็นเช่นนี้ การมีมาตรฐานวิชาชีพเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นเรื่องดีที่ต้องรีบช่วยกันทำเพื่อให้ชัดเจน แต่การที่จะรอให้มีมาตรฐานที่มีความสมบูรณ์พร้อมอย่างใจฝันนั้น คงต้องรอกันนานกว่าจะทำอะไรได้ ดังนั้น กช. ก็ต้องทำในสิ่งที่ต้องทำไปก่อน ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมการวิชาชีพ ด้านพัฒนามาตรฐานและวิชาการ ที่มี รศ.ชวลิต วงษ์เอก เป็นประธาน และรับผิดชอบเรื่องการจัดทำร่างมาตรฐานไม่ได้หยุดทำเรื่องนี้เลยในหลายปีที่ผ่านมา โดยได้จัดให้มีการระดมความคิดเห็นหลายครั้ง ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และล่าสุดได้จัดให้มีการสัมมนามาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิค เมื่อวันที่ 3-4 สิงหาคม 2549 เพื่อระดมความคิดเห็นให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่สุดก็ได้ร่างมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิค ร่างนี้ได้เสนอให้ กช. พิจารณาแล้วเมื่อต้นเดือนมกราคม 2550 ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์
     เมื่อมีร่างมาตรฐานฯแล้ว ต่อไปก็ต้องประกาศใช้อย่างเป็นทางการ หลังจากประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วจะมีผลกระทบอะไรบ้างต่อรังสีเทคนิคไทย...หากวิเคราะห์ในมุมมองของผมเอง ผลกระทบในทันทีได้แก่ .....
     ผลกระทบต่อการทำงาน การทำงานของชาวเรา จะมีมาตรฐานที่เป็นรูปธรรมมากำกับ มีความชัดเจนในการทำงานมาก ว่าเราต้องทำและควรทำอะไรได้บ้างในทางวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เดิมนั้นอาจจะมีความไม่เข้าใจกันว่า ขอบเขตความรับผิดชอบของรังสีเทคนิคแค่ไหน ซึ่งขอบเขตความรับผิดชอบนั้น อาจจะมีบางส่วนที่มีการซ้อนทับกันกับวิชาชีพอื่น เช่น แพทย์(รังสีแพทย์) พยาบาล ฟิสิกส์การแพทย์ และเภสัช เป็นต้น บริเวณที่มีการซ้อนทับกันนั้น นับจากนี้ไปเขตการซ้อนทับกันนั้นจะเริ่มจางลงหรือหายไปเลย แต่ว่าการทำงานของเราก็ใช่ว่าจะทำตามลำพังได้ การทำงานของรังสีเทคนิคก็ยังคงอยู่ในทีมสุขภาพ ที่ต้องทำงานในแบบที่มีความเชื่อมโยงกันกับวิชาชีพอื่น ขาดจากกันไม่ได้
     ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข กำลังจัดทำระเบียบว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบโรคศิลปะของผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ระเบียบนี้จะเป็นการกำหนดเงื่อนไขว่าอะไรที่ชาวเราทำไม่ได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ชาวเราจะปฏิบัติงานด้านรังสีเทคนิคได้เมื่อได้รับการขอตรวจจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือทันตกรรม หมายความว่า ถ้าชาวเรามีคนที่ไม่มีหน้าที่มาขอให้ถ่ายภาพเอกซเรย์หรือใช้รังสีกับใครสักคนโดยไม่มีใบ request ก็จะถือว่ากระทำผิดตามระเบียบนี้ มีการกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เช่น การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสีวิทยาภายใต้มาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิค (เช่น general x-ray, dental x-ray, mammography, gamma camera, ฯลฯ อันนี้ชาวเรารับผิดชอบตรงๆ) การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางรังสีวิทยาภายใต้ควบคุมโดยรังสีแพทย์ (เช่น การทำ angiogram, fluoroscopy, ultrasound, gamma knife, ฯลฯ) เป็นต้น นอกจากนี้ ระเบียบนี้ได้มองไปถึงการกำหนดข้อห้ามที่มิให้ชาวเราซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคปฏิบัติ ได้แก่ ห้ามมิให้ทำการเจาะหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง ห้ามมิให้ฉีดสารใดๆเข้าสู่ร่างกาย ห้ามมิให้ทำการสวนปัสสาวะ และห้ามมิให้ทำการเตรียมหรือสอดใส่สารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายโดยตรง ทั้งหมดนี้เป็นความชัดเจนที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ซึ่งไม่ต้องมาเถียงกันอีกแล้วว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร แต่ถึงอย่างไรการทำงานเป็นทีมหมายถึงทีมสุขภาพก็ยังคงมีอยู่ และเราซึ่งเป็นหนึ่งในทีมก็ต้องทำงานให้เข้าขา
     ผลกระทบต่อสถาบันการศึกษาทุกสถาบัน ทันทีที่มาตรฐานรังสีเทคนิคประกาศใช้อย่างเป็นทางการ และมีผลทางกฎหมาย หลักสูตรรังสีเทคนิคปริญญาตรีทุกแห่งต้องปรับให้เป็นไปตามมาตรฐานรังสีเทคนิค อะไรที่มาตรฐานกำหนดว่าต้องทำได้ เช่น ต้องทำ CT Brain Scan ได้ หลักสูตรรังสีเทคนิคของทุกสถาบันต้องสอนให้บัณฑิตที่จบออกมาทำได้เลย ไม่ต้องไปเสียเวลาฝึกกันอีกตอนทำงาน เป็นต้น เพราะฉะนั้น สถาบันการศึกษาผู้ผลิตรังสีเทคนิคทุกแห่งขณะนี้ จึงต้องเร่งศึกษามาตรฐานรังสีเทคนิคแม้จะยังคงเป็นร่าง แต่ก็คาดว่าเมื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการคงไม่แตกต่างจากตัวร่างในส่วนสาระสำคัญ ผมดีใจที่ได้เห็นคณาจารย์ของ 5 สถาบันผู้ผลิตได้แก่ มหิดล เชียงใหม่ นเรศวร ขอนแก่น และสงขลานครินทร์ มาประชุมสัมมนากันเมื่อ 18-19 มกราคม 2550 ที่ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคำแนะนำของรศ.ชวลิต วงษ์เอก ประธานคณะอนุกรรมการวิชาชีพ ด้านพัฒนามาตรฐานและวิชาการ ผมก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งการสัมมนานี้ได้นำไปสู่ความชัดเจนในเรื่องมาตรฐานรังสีเทคนิคมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทย และจากนี้ผู้ผลิตทุกสถาบันก็จะได้นำผลสรุปนี้ไปปรับใช้
     สำหรับรังสีเทคนิคมหิดลนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรทันที โดยได้เสนอปรับปรุงหลักสูตรในส่วนของรายวิชาในหมวดการศึกษาทั่วไปไปแล้ว และจะเริ่มใช้กับนักศึกษาปี 1 ในปีการศึกษา 2550 นี้เลย ส่วนรายวิชาในหมวดอื่นได้แก่หมวดวิชาเฉพาะ และวิชาเลือกจะได้เสนอปรับปรุงเพื่อให้ทันใช้ในปีการศึกษา 2551 ต่อไป
     ผลกระทบต่อการสอบใบประกอบโรคศิลปะ ในเรื่องของการสอบใบประกอบโรคศิลปะก็จะได้รับการปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ที่เคยออกข้อสอบตามมาตรฐานแบบมาตรฐานของใครของมันทำไม่ได้แล้ว ข้อสอบต่อไปนี้จะมีความชัดเจนมากว่าจะวัดอะไรของผู้เข้าสอบ โดยไม่ใช้ข้อสอบที่ยากเกินไปเพื่อหาที่ 1 หรือที่ 2 และไม่ง่ายเกินไปจนถึงขนาดลิงที่ไหนก็ทำได้ แต่จะเป็นข้อสอบที่วัดสมรรถนะ (competency) ของผู้เข้าสอบจริงๆตรงตามมาตรฐานรังสีเทคนิคที่ยอมรับกัน
     ผลกระทบในระยะยาวคือ ผลกระทบต่อการศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรี มีความชัดเจนขึ้นในการจัดการศึกษาว่า ส่วนไหนจะเป็นปริญญาตรีและส่วนไหนจะเป็นระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี ซึ่งอาจจะเป็น ประกาศนียบัตรชั้นสูง ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ที่มีความเป็นรังสีเทคนิคอย่างชัดเจน โอกาสตรงนี้มีความเป็นไปได้สูงมากเพราะ องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านรังสีวิทยาในปัจจุบันถูกพัฒนาไปมาก และในอนาคตก็จะยิ่งมากขึ้น ทำให้ผมนึกถึง "นักรังสีเทคนิคชั้นเซียน (Super RT)" ที่มีความสามารถในงานรังสีเทคนิคอย่างลึกซึ้งขั้นเซียน ที่มีความเหนือกว่าการทำงานแบบรูตีน (routine) และสามารถวิจัยและพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาเทคนิคทางรังสีได้อย่างมีประสิทธิผล เอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและแพร่หลาย และสามารถทำงานร่วมกันกับทีมสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างสมศักดิ์ศร
     ชาวเรากำลังมาถึงช่วงเวลาแห่งการสิ้นสุดการรอคอย มาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคที่เป็นรูปธรรมกำลังจะเกิดขึ้น เป็นไปอย่างที่ฝันหรือไม่ไม่ทราบ สมบูรณ์หรือไม่ คงไม่สมบูรณ์ แต่ก็ดีกว่าไม่มี เมื่อมีการเริ่มนับหนึ่งก็จะมีการนับสอง สาม สี่ ห้า .....ไปเรื่อยๆ ดีและเหมาะสมขึ้นเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ
มานัส มงคลสุข
กุมภาพันธ์ 2550
 
หมายเลขบันทึก: 79405เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
สถานการณ์ของวิชาชีพรังสีเทคนิคในตอนนี้ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยความเคร่งเครียดของผู้ที่ได้ชื่อว่า" สอบใบประกอบโรคศิลปะไม่ผ่าน" เพราะชะตาชีวิตและความก้าวหน้าในวิชาชีพของพวกเขาถูกปิดกั้นด้วยใบประกอบโรคศิลปะ การจบการศึกษาและรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต(รังสีเทคนิค)ซึ่งจัดว่ายากแล้ว แต่การสอบให้ผ่านใบประกอบโรคศิลปะยากกว่าหลายเท่านัก จากสถิติการสอบ 6 รุ่นที่ผ่านมามีผู้สอบผ่านเฉลี่ย 60% แต่รุ่นล่าสุดสอบผ่านเพียง 16.6% เท่านั้น โดยพวกท่านอ้างว่ามาตรฐานข้อสอบได้รับการรับรองจากนักการศึกษาแล้ว อยากถามว่านักการศึกษาเขาได้เรียนจบหลักสูตรรังสีเทคนิคหรือไม่ และจะรู้ไหมว่าข้อสอบแบบไหนง่าย แบบไหนยาก ไม่รู้ว่าจะสอบเพื่อเรียนต่อปริญญาโทหรือเรียนต่อต่างประเทศกันแน่ สงสารคนที่สอบมาหลายครั้งแล้วยังไม่ผ่าน วิชาชีพอื่นๆในสายงานสาธารณสุขเขาจะสอบผ่านกันอย่างน้อย 80% ต่อรุ่น (โดยเฉพาะสาขาเทคนิคการแพทย์ ม.ขอนแก่นปี 49 สอบผ่านใบประกอบฯ 100%) ไม่รู้ว่าพวกท่านสนับสนุนเพื่อนร่วมวิชาชีพหรือเหยียบย่ำให้จมดินกันแน่ 

อาจารย์ค่ะ ดิฉันฝันว่าถ้าเรามีมาตรฐานวิชาชีพแล้วเราจะรวมกันได้โดยไม่แบ่งว่าเป็นรังสีการแพทย์หรือรังสีเทคนิค เพราะเรามีหลักการปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

สิ่งที่ควรจะเกิดตามมาคือเราทุกคนรู้หน้าที่......และรู้ที่หน้าว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุดจากการใช้รังสีของพวกเรา

การสอบใบประกอบวิชาชีพแต่ละครั้งเราน่าจะประเมินได้ว่าข้อบกพร่อง หรือปัญหาอยู่ที่ใหน

ถ้าอยู่ที่ผู้เข้าสอบ....วิชาการน้อยก็ควรจะได้รับการพัฒนา สมาคมต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพราะเราไม่สามารถประเมินตนเองจากข้อสอบที่เราสอบไป

การสอบเหมือนเราสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีมีทั้งเก่ง และเฮ็งรวมกัน แต่ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังต้องมีการทบทวน ปรับปรุงทุกปี

ทำอย่างไรให้ทุกคนสอบผ่านและเป็นการสอบที่ได้มารตฐานเหมือนกันจะได้เป็นความภาคภูมิใจและสิ่งที่ทุกคนปราถนาคือได้รับความไว้วางใจให้แพทย์วินิจฉัยโรคและรักษาโรคได้และการันตรีด้วยใบประกอบวิชาชีพ

และผู้ที่ปฏิบัติงานแต่ละคนยืนอยู่บนตำแหน่งของตนเองมิได้เบียดบังใครและไม่ได้ข้ามใครขึ้นมา

หลายวิชาชีพถามพวกเราเสมอว่าเรายังทะเลาะกันอยู่หรือแย่งตำแหน่งกันหรือ

การสอบใบประกอบผ่านหรือไม่ผ่านสามารถประกันได้ไหมว่าคนๆนั้นทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ ข้อสอบส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นเรื่องความเข้าใจเลย เน้นแต่ความจำ ซึ่งผู้เข้าสอบก็อายุมากๆกันทั้งนั้น ข้อสอบน่าจะเป็นข้อสอบที่เป็นแบบบูรณาการณ์ที่เน้นการนำไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง เพราะการสอบแบบท่องจำมันหมดสมัยแล้ว ในการสอบครั้งต่อไปถ้ามีผู้สอบผ่านไม่ถึง 20% ท่านต้องพิจารณาตัวเองให้จงหนัก เพราะนั่นหมายความว่าพวกท่านไม่ได้รับความเชื่อถือจากชาว RT อีกต่อไป

การสอบครั้งต่อไปอย่างไรเสียก็ต้องมีคนมาสมัครสอบแน่นอน ดิฉันขอความกรุณาคณะกรรมการออกข้อสอบช่วยพิจารณาเรื่องข้อสอบที่ท่านว่าได้มาตรฐาน

ในความเป็นจริงผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทั่วไป รพ.ศูนย์  รพ.ชุมชน เขาเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะปฏิบัติงานด้านรังสีรักษา หรือเวชศาสตร์นิวเคลียร์เลยด้วยซ้ำ บางคนแม้แต่ CT หน้าตาเป็นอย่างไรไม่เคยเห็นในชีวิต  ต้องมาขวนขาย หาเอกสารมาอ่าน แต่ก็ไม่ตรงใจกับผู้ที่ค่ำวอร์ด อยู่กับเอกสารวิชาการเหมือนผู้ที่อยู่ รพ.มหาลัย หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ สิ่งที่จะวัดว่าเขามีความรู้หรือไม่ไม่ได้วัดกันที่การสอบแต่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานด้วย(รังสีแพทย์หรือแพทย์ทั่วไป)ถ้าจะเข้า CASE กับคนที่จบใหม่ๆเขาไม่เอาเขาจะเรียกหาคนที่ปฏิบัติงานกับเขามาเก่าแก่ที่ยังสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ผ่านนะค่ะ(นี่มันบอกอะไร)

ประสบการณ์ เป็นสิ่งวิเศษมากเพราะเขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ที่เรียกว่า Tacit  knowledge  ดิฉันว่าถ้าการสอบให้ทุกคนเล่าประสบการณ์การทำงานต่างๆที่ประสบความสำเร็จ ที่เรียกว่าสิ่งๆดีๆ ดิฉันว่าพวกเขาผ่านแต่ในมุ้งแล้วละค่ะ

ความรู้(ท่านอาจารย์ วิจารณ์ พานิช) ท่านบอกว่าคือสิ่งที่เมือนำไปใช้จะไม่หมดหรือสึกหรอแต่ยิ่งจะงอกงามและเกิดเป็นทุนทางปัญญาที่ใช้สร้างคุณค่าและมูลค่าด้วย

แบ่งระดับความรู้ออกเป็น

1 ความรู้เชิงทฤษฎีล้านๆ เป็นความรู้ของผู้ที่จบปริญญาตรีใหม่ๆ เมื่อนำความรู้ไปใช้จะได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

2 ความรู้เชิงทฤษฎีและเชิงบริบท เป็นความรู้ของผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วไปทำงานแล้วในระยะหนึ่ง

3 ความรู้ระดับที่สามารถอธิบายเหตุผลได้ ว่าสามารถนำไปใช้ได้กับบริบทหนึ่งแต่ไม่สามารถนำไปใช้กับอีกบริบทหนึ่งได้

4 ความรู้ที่สร้างคุณค่า  สร้างความเชื่อถือ ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจที่ต้องให้กระทำสิ่งนั้นๆขณะที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์นั้นๆ

ถ้าถามแพทย์ที่กำลังช่วยคนไข้เขาต้องการรังสีคนใหนช่วยงานเขาขณะนั้น

เห็นด้วยกับความเห็นคุณขนิษฐา

ถ้าจะแก้คงต้องแก้ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง

ถ้าบริบทเปลี่ยนไปในทางที่เป็น hi-tech แต่วิชาชีพอยู่กับที่ หรือการที่เราไม่มี basic knowledge เป็นของตนเองเป็นการยากที่จะพัฒนา

ลองกลับไปค้นหาดูงานวิจัยในวิชาชีแล้วจะทราบถึงพัฒนาการดี

ถ้าจะให้ใครเล่าว่าสมาคมฯมีวิวัฒนาการอย่างไรจากอดีตถึงปัจจุบันจะมีกี่คนที่เล่าได้บ้าง หรือไม่มีเลย ถึงแม้จะฟังดูไม่เป็นสาระ แต่สะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ค่อยสนใจพัฒนาวิชาชีพ ถ้ารอบบ้านเต็มไปด้วยสังคมยาเสพติด บ้านเราหลังเดียวคงยากที่สมาชิกในครอบครัวจะรอด

พลาเดช 

 

 

วิชาชีพอะไรเอ่ยที่สอบใบประกอบโรคศิลปะยากที่สุด? ตอบ รังสีเทคนิคไง

ถึงคุณ RT failed โดยเฉพาะครับ

จริงๆผมคิดว่าผมเข้าใจconcept ของคุณนะครับ

แต่วิธีการสอบก็คือวิธีการสอบ

เนื้อหาและขอบเขตที่ใช้สอบผมว่าน่าจะ OK

แต่กระบวนการและวิธีการที่จะให้คนสอบแล้วผ่านตรงนี้ผมว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้คนสอบแล้วไม่ผ่านเยอะ เป็นที่น่าตกใจว่าแทนที่ส่วนใหญ่จะสอบได้แต่ส่วนใหญ่กลับสอบไม่ผ่าน

ดังนั้นมันต้องแก้ที่สาเหตุครับ ซึ่งผมดูแล้วค่อนข้างยากในระดับมากที่เดียว

ปัญหาคือถ้าไม่รู้ว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน แล้วจะแก้ยังไง คิดแค่นี้ก็จุกแล้วครับ

ยังไงก็ตามผมว่าถ้าคุณ RT failed ยังอยู่ในอารมณ์แบบนี้นอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้วยังจะทำให้การทำงานในอาชีพไม่สนุกด้วย สุดท้ายก็จะ quit ออกจากอาชีพไป

ถ้ายังอยากทำงานอยู่ในอาชีพรังสีอย่างเป็นสุขสนุกสนาน โทร.มานัดผมเข้ามาคุยกัน ที่ทำงานผมมีตัวอย่างทางด้านรังสีให้ดู คุยและดูตัวอย่างแล้วจะสบายใจขึ้นครับจะกลับไปทำงานอย่างเป็นสุขครับ

หรือจะเมล์มานัดก่อนก็ได้ถ้าไม่อยาก โทร.

พลาเดช

0-2564-7200 ext.5370

 

ตามความเข้าใจของคนแก่ตกรุ่นนะครับ  ใบประกอบฯมิใช่มาตรฐานวิชาชีพ แต่เป็นใบรับรองขั้นต่ำเท่านั้น วิชาชีพรังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ต้องมีมาตรฐานการทำงานสูงมากในยุคปัจจุบัน เพราะมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งฟิสิกส์(ระดับพลังงานของรังสีแตกต่างกันจะต้องมีความเข้าใจในหลักการของฟิสิกส์ที่แตกต่างกันออกไป คณิตศาสตร์ เนื่องจากมีการใชเคอมพิวเตอร์ในการสร้างภาพรังสีมากมาย ดังนั้นนักรังสีควรจะมีความรู้พื้นฐาน,ขั้นสูงของการสร้างภาพมิใช่เป็นเพียงแต่ผู้ใช้เครื่องมือ และการควบคุมคุณภาพมิใช่หน้าที่ของช่างเท่านั้น นักรังสีต้องมีส่วนในการควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐาน นอกจากนั้นยังมีเรื่องเทคนิคต่างๆมากมาย เช่นการประมวลภาพ(Film processing) ซึ่งนักรังสีจะต้องสามารถรักษาและควบคุมมาตรฐานของเครื่องมือได้ ปริมาณรังสีที่ใช้ นักรังสีจะต้องสนใจรับผิดชอบต่อปริมาณรังสีที่ให้กับผู้ป่วย มาตรฐานของเครื่องมือที่ใช้

        ถ้าจะให้อาชีพรังสีเทคนิคมีคุณค่ามากขึ้นสมาคมฯควรจะมีการกำหนดมาตรฐานในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่นปริมาณรังสีที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคด้วยเทคนิคแต่ละชนิด จากประสบการณ์ของข้าพเจ้าพบว่านักรังสีไม่ค่อยคำนึงถึงปริมาณรังสีที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค(จากการวิจัยของนักศึกษาพบว่า ในร.พ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผู้ป่วยที่ได้รับการถ่ายเอกซ์เรย์ทรวงอกได้รับค่าผลคูณของปริมาณรังสีกับพื้นที่(DAP:Dose area product) สูงมากกว่ามาตรฐานสากลมาก เครื่องมือที่ใช้แม้ว่าจะถือเอามาตรฐานของกรมวิทย์เป็นเกณฑ์ แต่กรมวิทย์ก็มีข้อสงสัยว่าเพื่อตรวจสอบแล้วเครื่องมือไม่ได้มาตรฐานเช่น เควี, เอ็มเอ, แล้วจะอรุญาติให้ใช้เครื่องได้หรือไม่ และอาจจะมีปัญหามากกว่านี้ที่กรมวิทย์มิได้ตรวจสอบ เช่นรังสีกระเจิงนอกพื้นที่รับรังสี,ความสม่ำเสมอของรังสี และถ้าใครเคยอ่านหนังสือเกณฑ์มาตรฐานเครื่องมือของกรมวิทย์ เรื่องความหนาของแผ่นกรองรังสี ซึ่งมีแต่ขีดจำกัดล่าง หมายความว่าเมื่อใช้เควี ขนาดนี้จะต้องมีแผ่นกรองที่มีความหนาอย่างต่ำ เท่ากับ...HVLของAl ท่านจะสงสัยมั้ยว่าทำไมไม่มีขีดจำกัดบน เพราะถ้าใส่แผ่นกรองหนากินไปจะมีผลต่อคุณภาพรังสีหรือไม่ นอกจากนี้กรมวิทย์ก็ไม่ได้ตรวจสอบเครื่องมือทุกชนิด เช่นเครื่องล้างฟิล์ม รวมถึงมาตรฐานของเคมีภันฑ์ที่ใช้ ความปลอดภัยต่อประชาชนและบุคลากรรังสี ร.พ หลายแห่งมิได้มีการวัดปริมาณรังสีในบริเวณที่ประชาชนทั่วไปนั่งรอ รวมถึงปริมาณสารเคมีที่แพร่มาจากห้องล้างฟิล์มที่มีผลทั้งต่อบุคลากรและประชาชน ซึ่งเรื่องเหล่านี้สมาคมควรจะมีการระดมสมองกำหนดมาตรฐานของทุกเรื่องในวิชาชีพรังสีเทคนิค

       ประการสุดท้ายที่คนแก่คนนี้อยากจะฝากถึงก็คือการใช้ภาษาไทยในวงการรังสีเทคนิค หลายๆคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่ภาษาคือสื่อที่ทำให้เข้าใจเหมือนกัน ประเทศไทยต้องใช้ภาษาไทย การใช้ภาษาในภาษาราชการนั้นจะต้องปฏิบัติตามราชบัณฑิตฯ แต่ในราชบัณฑิตนั้นยังไม่มีศีพท์รังสีเทคนิค ดังนั้นพวกเราจึงใช้กันตามใจ ไม่ว่าจะเป็นภาษาในวารสารหรือเอกสารประกอบการสอนก็มักจะแตกต่างกันออกไปตามความพอใจ และบางครั้งก็ควรปรับปรุงเช่น ศัพท์คำว่า Optical density ก็มักจะใช้คำไทยว่าความดำของฟิล์ม ทั้งๆที่ราชบัณฑิตกำหนดให้ใช้ ค่าความทึบแสง Intensifying screen ก็มักจะใช้คำว่าสกรีน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นที่เข้าใจของพวกเราชาวรังสีเทคนิค แต่อาจจะเป็นปัญหาของคนนอกวงการของเรา และไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

        ถ้าสมาคมรังสีฯจัดทำมาตรฐานวิชาชีพรังสีเทคนิคของประเทศไทยขึ้นมาก็จะไม่มีปัญหาเรื่อง HA เฮ็ดเอง(ชอบใจจริงๆ เพราะทุกแห่งก็เป็นอย่างนี้ เขียนอย่างที่ทำ ทำอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น ยางทีก็ไม่ทำตามที่เขียน เช่นการกำจัดกากรังสี มีหลายโรงพยาบาลที่อาจจะได้ไอ้เซ่อร์หมื่นสี่เพราะเขียนเอกสารดี แต่เวลาทำไม่ได้ทำตามนั้น ระวังตอนนี้มีใบประกอบฯ แล้ว อันตรายจากรังสีจะเป็นเรื่องที่พวกเราถูกฟ้องมากที่สุด

ถึงได้ใบประกอบมาก็ใช่จะมีตำแหน่งให้ ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่รังสีไม่ได้รับการเอาใจใส่จากจังหวัดอยู่แล้วโดยเฉพาะ ร.พ.ชุมชนเนื่องจากไม่มีหน่วยงานเกี่ยวกับรังสีภายใน สสจ.
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท