ชีวิตที่พอเพียง : 220. ทัศนศึกษา คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ


    องค์ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์     คือสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ     ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ของมูลนิธิฯ ไปทัศนศึกษาทุกปี ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หลังจากคณะกรรมการทำงานตัดสินรางวัลเสร็จ     แต่ปีที่แล้ว (ปี ๒๕๔๙) คณะกรรมการไม่ได้มาประชุม ใช้วิธี teleconference แทน    และก็ได้ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้รางวัลแก่ผู้มีผลงานที่นำไปสู่การใช้ผงเกลือแร่ (ORS - Oral Rehydration Salt) ในการรักษาโรคท้องร่วงอย่างแรง    เดือนพฤศจิกายนปี ๒๕๔๙ จึงไม่มีการไปทัศนศึกษา     ยกยอดมาจัดระหว่างวันที่ ๒๘ - ๓๐ มกราคม ๒๕๕๐ แทน     เพื่อให้คณะกรรมการรางวัลนานชาติได้มาร่วมพิธีพระราชทานรางวัลในวันที่ ๓๑ ม.ค. นี้     และมาร่วมประชุม Prince Mahidol Award Conference ระหว่างวันที่ ๑ - ๒ ก.พ. ๕๐ นี้ ที่โรงแรม อิมพีเรียล ควีนสปาร์ก ด้วย      ผมและภรรยาถูกล็อตเตอรี่ ได้ร่วมทัศนศึกษาเช่นเคย

          คำว่า "ทัศนศึกษา" นี้ เหมาะสมมาก     เพราะผมได้เรียนรู้เรื่องโครงการตามพระราชดำริมากมาย จนย่อยไม่ทัน
        
         วันที่ ๒๘ เราออกจากบ้าน ๖.๔๕ น. โดยลูกสาวขับรถไปส่งที่โอเรียนเต็ล    แค่ ๗.๑๐ น. ก็ถึง   ศ. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา กับ ศ. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล มาถึงก่อนแล้ว    ต่างพูดตรงกันว่าถนนโล่งดีเกินคาด 
   
         พาหนะหลักของการเดินทาง คือรถบัสของกรมการขนส่งทหารบก    ออก ๘ น. ขึ้นทางด่วนที่ด่านสีลมไปลงด่านพระรามสี่   ถึงวังสระปทุมเร็วมาก    ตอนแรกยังไม่คุ้น สงสัยว่าทำไมเร็วอย่างนี้    พอสังเกตจึงรู้ว่าเราเดินทางแบบวีไอพี  มีรถนำ มีการกันรถอื่นไว้ก่อน  มีตำรวจรับเสด็จริมถนน

        พอรถบัสไปถึงวังสระปทุม สมเด็จพระเทพฯ ก็เสด็จขึ้นรถบัสทันที    ตอนนี้ขบวนยาวหลายคัน    มีรถนำ และปิดถนนอำนวยความสะดวกแก่ขบวนไปตลอดทาง 

       ๙ น. บัสโฮสต์ก็แจกอาหารเช้าแบบบนเครื่องบิน   โดยเจ้าหน้าที่ชายในวัง    สาวชาววังแซวว่าน่าจะหาคนหนุ่ม ๆ หน่อย   อาหารเป็นแซนด์วิช กับขนมไทย น้ำผลไม้ น้ำขวด    เป็นการเดินทางที่รู้สึกคล้ายๆ นั่งเครื่องบินชั้น ๑

       สมเด็จพระทพรัตน์ฯ  ทรงคุยกับฝรั่งบ้าง ศ. นพ. ปิยะสกล คณบดีศิริราช รองประธานมูลนิธิฯ บ้าง  และพระสหายบ้าง ไปตลอดทาง    ผมนั่งค่อนไปทางหลัง ห่างมาก จึงไม่ได้มีโอกาสคุยกับท่านเลย     ผมนึกในใจว่าถ้ามีโอกาสผมก็คงจะพูดไม่ออก     เพราะผมมีลักษณะคล้ายๆ สัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยงที่ภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า "แห" หรือ "แห่" (๒ คำนี้สำเนียงปักษ์ใต้ออกเสียงเหมือนกัน)     คือไม่เชื่องคน     ในกรณีของผมคือไม่เชื่องเจ้านาย 

       สุดถนนพระราม ๒ ขบวน (มีรถบัส ๒ คัน  รถตู้  และรถเก๋ง ประมาณ ๑๐ คัน) เลี้ยวขวาไปทางราชบุรีแล้วเลี้ยวขวาเข้าปากท่อ   คุณจันทนี  ผู้จัดการทัวร์ของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทำหน้าที่ไกด์ชวนชิม     แนะนำร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อลวกสุดอร่อย     อยู่ทางซ้ายมือเลยทางรถไฟ     แต่วันนี้ปิดร้านไปรับเสด็จ 
 
       จุดแรกของทัศนศึกษา คือแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ ตำบลวันดาว อ. ปากท่อ จ. ราชบุรี      การตามเสด็จ "สยามบรมราชกุมารี" เช่นนี้ พิธีการมากหน่อย     การเตรียมการรับเสด็จย่อมใหญ่โต    และหลายกรณีมี "ผักชี" เยอะ     แต่ในทริปนี้ มี ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล บอสใหญ่แห่งมูลนิธิชัยพัฒนา มาอำนวยการรับเสด็จและเตรียมเจ้าหน้าที่บรรยายสรุป ด้วยตนเองตลอดรายการ ๓ วัน

        หัวหน้าศูนย์บรรยายสรุปเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีป้ายและรูปประกอบอย่างดี มีลักษณะถาวร   แสดงว่าน่าจะมีคนมาดูงานบ่อย    ผมได้ความรู้ว่า "เกษตรทฤษฎีใหม่" ไม่ใช่การทำตามสูตรตายตัว      แต่มีการสังเคราะห์ความรู้ที่ได้ จัดทำเป็นคำแนะนำวิธีทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ช่วงที่ ๒  ช่วงที่ ๓ ....       หลังจากประสบผลสำเร็จช่วงแรกแล้วก็ขยับไปดำเนินการในรูปแบบที่ก้าวหน้าขึ้น     ผมได้เรียนรู้ว่า วิธีนี้ทำให้ทำนาได้ผลผลิตเพิ่มจากวิธีที่ใช้อยู่เดิมถึง ๓ เท่า
 
        ต่อจากนั้นเสด็จไปหว่านนาน้ำตม    มีเจ้าหน้าที่อุ้มกระเฌอข้าวเปลือกพันธุ์สุพรรณ ๑ ให้หว่าน ในแปลงนาที่ไถคราดไว้อย่างดี ดินแห้งผาก   เจ้าหน้าที่บอกว่ารอฝนมาก็จะงอก     กรรมการ IAC และคณะที่ตามเสด็จได้ลงไปลุยดินหว่านข้าวกันทั่วหน้า  แล้วมีการสาธิตการใช้ควายคราดดินในแปลงนา   ๒ ตัว    ท่าทางทั้งควายและคนจูงและคนเดินกำกับจะไม่คุ้นเคย      ไม่แน่ใจว่าไม่เคยงาน หรือไม่เคยคนมากๆ อย่างนี้     แล้วเขานำควายมาให้แขกป้อนหญ้าขน      สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงป้อนด้วย

       ตอนนี้แดดเปรี้ยง เรากลับเข้าไปที่ปะรำ รับแจกมะพร้าวอ่อนเย็นเจี๊ยบชื่นใจ     และอ่อนพอดี คือเนื้อกำลังพอดีกิน ไม่อ่อนจนแทบไม่มีเนื้อ และไม่แก่จนเนื้อแข็ง     จึงจัดการเสียเรียบทั้งน้ำและเนื้อ    แล้วชมนิทรรศการสินค้า  ส่วนใหญ่เป็นขนม   ร้านที่มาออกงานถวายของ     ผมติดใจขนมสบันงา และขนมไทยหลายอย่างของร้านร้านวิทยาลัยพยาบาลราชบุรี     มีอาจารย์ของวิทยาลัยบอกว่าแฟนอ่าน บล็อก นี้ของผม     เราได้รับแจกของที่ระลึกเป็นพวงกุญแจรูปหนังตะลุงหัวหนุมาน

      บริเวณสถานีมีการยกร่องนาปลูกไม้ผลหลายอย่าง     แต่ละร่องปลูกไม้ผล ๒ ชนิดสลับกัน    คูน้ำระหว่างร่องมีน้ำอยู่สักครึ่งคู     แต่ละร่องปลูกไม้ผลแตกต่างกัน   ปักป้ายบอกชื่อไม้ผลที่ปลูกอย่างชัดเจน    มีลักษณะเป็นสวนผสมที่มีระเบียบ ไม่ปนเปแบบสวนสมรมของภาคใต้    จุดเด่นของที่นี่ คือมีน้ำอุดม    มีบ่อเก็บน้ำใหญ่ 

        ภาพร่องสวนที่ขุดยกร่องขึ้นจากที่นาเดิมแบบนี้ ทำให้ผมระลึกถึงชีวิตสมัยเด็ก อายุไม่ถึงสิบขวบ     ผมมีชีวิตอยู่ในพื้นที่แบบนี้

        สังเกตเห็นว่า การจัดทัศนศึกษาให้แก่คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ (IAC - International Award Committee) ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล นี้    ยิ่งจัดยิ่งชำนาญขึ้นเรื่อยๆ

       จุดแวะพักต่อไป คือศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี    ซึ่งอยู่ใน มรภ. เพชรบุรี     มีการมาตั้งร้านแสดงศิลปวัฒนธรรมกลางแดดเปรี้ยง     มีการแสดงละครชาตรีโดยตัวแสดงที่เป็นเด็ก     แต่ก่อนอื่นเราต้องรับเลี้ยงอาหารเที่ยงก่อน     จัดถวายโดย มรภ. เพชรบุรี บนอาคารเรือนไทยอันงดงาม     พวกเราก็ได้ร่วมโต๊ะเสวย     ในฐานะประธาน IAC ผมต้องนั่งร่วมโต๊ะเสวยทุกครั้ง     แต่นั่งห่างจากสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ มาก   

       ชุดถ้วยชามที่จัดอาหารหรูหราอลังการมากสำหรับผม     อาหารจัดเป็นชุดสำหรับแต่ละคน     ชุดละกว่า ๑๐ อย่าง    ผมติดใจหลนเนื้อปูมากที่สุด   นอกจากนั้นมีส้มตำ  หมูสะเต๊ะ เต้าหู้ทรงเครื่อง  ข้าวแช่  ขนมลอดช่องน้ำตาลโตนด    ที่ยกมาเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น     พนักงานเสิร์ฟเป็นนักศึกษา      เท่ากับเป็นการฝึกงานไปในตัว     เสวยเสร็จ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จไปถ่ายรูปกับทีมงานรับเสด็จของ มรภ.

      ผมไปชมห้องแสดงศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะปูนปั้น ซึ่งช่างสกุลเพชรบุรีเด่นมาก     และยังคงสืบต่อกันมาจนบัดนี้     ถือได้ว่าเป็นศิลปะที่มีชีวิตดำรงอยู่กับสังคมเมืองเพชรจนปัจจุบัน     ไม่ใช่ศิลปะที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น     แล้วตามเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการศิลปกรรม แบบช่างมาทำให้ดู    เช่น หัวสัตว์ปั้นทำด้วยเยื่อกระดาษ ช่างบอกว่าทนกว่าปูนปั้นธรรมดา   ศิลปะปูนปั้น  ลายรดน้ำ  ขนมไทย   เป็นต้น    ช่วงนี้แดดจ้ามาก

      ตอนบ่าย คณะไปที่ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ     เราเข้าไปในอาคารติดเครื่องปรับอากาศ     บรรยายสรุปโดยวิทยากรที่เก่งที่สุดที่ผมเคยฟังการบรรยายสรุปมา    คือ ศ. ดร. เกษม จันทร์แก้ว นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย    ท่านบรรยายสรุปเป็นภาษาอังกฤษ สั้นๆ แล้วดู วีซีดี ๑๒ นาที    ตามด้วยการซักถาม   แล้วไปดูสถานที่     ผมได้เรียนรู้ว่าโครงการแหลมผักเบี้ยคือโครงการทดลองบำบัดน้ำเสียของเมือง (เพชรบุรี) ทั้งเมืองด้วยวิธีธรรมชาติ    เป็นการศึกษาหาวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย  natural healing process     ทดลองใช้ man made wetland บำบัดน้ำเสีย    ใช้พืชร่วมมือกับจุลินทรีย์  น้ำ - แห้ง สลับกัน   จุลินทรีย์สลายอินทรียวัตถุไปเป็นอนินทรียวัตถุที่พืชดูดไปใช้ได้      เราไปดูโมเดลบ่อบำบัดขนาด ๑ : ๑๐๐ ของของจริงซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล     ได้เห็นว่าในขบวนการนี้เกิดแพงค์ตอนพืช ที่เมื่อปล่อยปลากินพืช (ปลานิล) ลงไป     ปลาจะช่วยกินแพลงค์ตอน    เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งของการบำบัดของเสีย    และก็ได้ปลามาเป็นผลพลอยได้ด้วย      ได้ตรวจสอบแล้วว่าปลาไม่มีอันตราย กินได้อย่างปลอดภัย      การเลี้ยงปลาก็เป็นการวิจัย  พบว่าต้องปล่อยปลา ๓ ตัวต่อ ตร.ม. จึงจะพอดี

        ศ. ดร. เกษม บรรยายสรุปว่า ในหลวงได้พระราชทานหลักการทดลองไว้ว่า  (๑) ให้ใช้ธรรมชาติ  (๒) เป็นเทคโนโลยีง่ายๆ   (ใช้วัสดุท้องถิ่น ที่ชาวบ้านทำเองได้     โครงการเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓     เวลานี้เข้าสู่ช่วงที่ ๓     มีการทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ ได้บัณฑิตปริญญาเอก-โท ๓๕๐ คน     ผมดูสภาพการณ์แล้ว เห็นชัดเจนว่า นี่คือ man-made biodiversity ที่โครงการ BRT (Biodiversity Research and Training) น่าจะเข้ามาร่วมจัดกระบวนการตั้งโจทย์วิจัยด้าน ความหลากหลายทางชีวภาพ     หาอาจารย์ที่ปรึกษาและ นศ. ปริญญาเอก-โท มาร่วมวิจัย

        ผมได้เห็นว่าในศูนย์ศึกษาการพัฒนานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการทดลอง หรือการวิจัย    ได้เห็นวิธีหมักขยะในบ่อซีเมนต์ และอื่นๆ    
 
         เราไปพักร่มและพักผ่อนดื่มน้ำ และกินของว่าง (ซึ่งมีมากมาย) ที่อาคารที่สร้างเหนือบ่อบำบัค    ที่คันดินไกลๆ มีกาน้ำและนกน้ำอื่นๆ มายืนอาบแดดอยู่      ผมได้โอกาสทดลองถ่ายรูปด้วยกล้องใหม่ ที่เป็นกล้อง HDD    อาจารย์ มก. ที่มาทำวิจัยที่นี่บอกว่า ต้องมาตอน ๕ โมงเย็นนกกาน้ำมาเล่นน้ำมากมาย      ที่ศูนย์มีนก ๒๔๒ species    ศูนย์จึงเป็นแหล่งดูนกที่มีชื่อเสียง     ผมหมายตาไว้ว่าผมจะต้องมาที่นี่ในฐานะนักดูนกสักครั้ง  

        จุดสุดท้ายสำหรับวันนี้คือ โครงการสาธิตสหกรณ์การเกษตรหุบกระพง  อ. หนองพลับ  จ. เพชรบุรี     ซึ่งเป็นโครงการหลวงโครงการแรกๆ     เริ่มมาตั้งแต่ปี 2510     ในพื้นที่ 12,000 ไร่  โดย มล. เดช สนิทวงศ์     เริ่มด้วย 2 ครอบครัวแรกมาทดลองอยู่โดยจัดที่ให้ 25 ไร่     เราไปที่อาคารนิทรรศการที่จัดอย่างสวยงาม     ได้เห็น (และถ่ายรูป) รูปเก่าๆ สมัยในหลวงยังหนุ่มๆ      แล้วไปดูเรือนตัวอย่างของชาวบ้านซึ่งกว้างขวางโปร่งสบาย     ฝาทำด้วยไม้ไผ่แผ่พื้นบ้านเป็นดินอัดแน่น     ที่นอนยกพื้นทำเป็นแคร่ไม้ไผ่     เราได้พบและพูดคุยกับคุณป้า ๒ คนที่เป็น ๒ ครอบครัวแรกที่เข้ามาอยู่     เราไม่มีเวลาไปดูบ้านจริงๆ ของชาวบ้าน     แต่เขาจัดให้นั่งพักผ่อนใต้ร่มไม้    มีเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ให้นั่งอย่างสบาย      มีเครื่องดื่มของว่างให้บริการเพียบ  

          แล้วจึงเดินทางสู่ที่พัก  คือโรงแรม วิรันดา (Veranda) ที่ชะอำ
 
         อาหารค่ำที่โรงแรม    จัดที่ชายหาด     โรงแรมส่องไปสลัวๆ ไปที่ชายหาดทำให้เห็นหาดทรายและคลื่นงามมาก

                        

       ต. วันดาว หว่านข้าวในนาน้ำตม ในท้องนาที่แห้งผาก

                        

                          ต. วันดาว ร่องไม้ผล สวนผสม

                       

ต. วันดาว  ดร. สุเมธ เป็น presenter ขนมสบันงา ของวิทยาลัยพยาบาลราชบุรี

                        

         ต. วันดาว  บรรยากาศของการจัดแสดงสินค้าหัตถกรรม

                       

                           ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเพชรบุรี

                       

                    ละครชาตี ศิลปพื้นบ้านของเพชรบุรี

                       

บรรยากาศการสาธิตศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาวบ้านในจังหวัดเพชรบุรี

                       

          ร้านกลางแจ้งแสดงศิลปหัตถกรรมและการสาธิต

                        

                                   สาธิตการทำปูนปั้น

                        

    แหลมผักเบี้ย  ศ. ดร. เกษม จันทร์แก้ว กำลังบรรยายสรุป

                        

    แหลมผักเบี้ย บ่อผึ่ง (oxydation pond) สาธิตขนาดเล็ก

                        

                            แหลมผักเบี้ย  บ่อผึ่งของจริง

                        

           แหลมผักเบี้ย  นกกาน้ำ ถ่ายระยะไกล ๑๐๐ เมตร

                        

         หุบกระพง  นั่งพักดื่มกิน  ฉากหลังคือบ้านตัวอย่าง

                         

          หุบกระพง  ฝาบ้านและแคร่นอนของบ้านตัวอย่าง

                         

             หุบกระพง  กลุ่มแม่บ้านมาออกร้านแสดงสินค้า

วิจารณ์ พานิช
เริ่มเขียน ๒๘ ม.ค. เขียนเสร็จ ๑๓ ก.พ. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 79397เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2007 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ช่วงนั้นติดตามดูอาจารย์วิจารณ์ทางข่าว ที วี ทุกวันค่ะ
เคยคิดเวลาดูข่าวกลุ่มบุคคลคณะใหญ่ๆตามเสด็จพระองค์ท่าน อยากทราบความคิดความอ่านของผู้คนในขบวน วันนี้โชคดีที่ได้รู้สิ่งที่เคยคิดอยากรู้ จากท่านที่อาวุโสระดับต้นๆของขบวนเสียด้วยค่ะ ชื่นชมพระจริยาวัตรของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯเป็นอย่างมากเสมอมาค่ะ ขอบพระคุณอาจารย์มากๆนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท