ตรุษจีน เชิดสิงโต แห่มังกร ตอนท้าย


ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ------ อั่งเปา ตั่ว ตั่ว ไก๊ ----- "ปีใหม่จีนนี้ ขอทุก ๆ ท่าน รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ร่ำรวย ร่ำรวย ได้สมปรารถนา กันถ้วนหน้าทุกท่านนะคะ"

              เทศกาลตรุษจีนยังมีอีกกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ การกลับมาร่วมกันของญาติพี่น้อง ไม่ว่าใครจะไปอยู่ไกลขนาดไหน หากไม่เหนือบ่ากว่าแรงทุกคนจะต้องกลับบ้านตัวเอง   แม้จะเหน็ดเหนื่อยและยุ่งยาก แต่การที่พ่อแม่ลูก พี่น้อง ปู่ย่าหลานได้กลับมาเจอกัน ก็นับเป็นวันชื่นคืนสุขอย่างยิ่ง 

              "การรวมญาติ / เทศกาลครอบครัว เพื่อแสดงความเคารพต่อท่านผู้ใหญ่, ให้อภัยซึ่งกันและกัน และเสริมสร้างสามัคคี  ดูจะเป็นประเพณีสำคัญ และปฏิบัติกันในหลายๆ วัฒนธรรม"

                คนจีน    รวมญาติในวันตรุษจีน
                ฝรั่ง        รวมญาติในวันคริสต์มาส
                คนฮินดู  รวมญาติในวันทีปวลี
                คนมุสลิม  รวมญาติในวันอีดิ้ลฟิตร์
                คนมอญ-พม่า-ไทย-ลาว-เขมร   รวมญาติในวันสงกรานต์

       

               เมื่อถึงตรุษจีน คนที่จากครอบครัวไปไกล ก็จะกลับไปเยี่ยมบ้าน คือ "ไป๊เจีย" หรือการไปไหว้ขอพร และอวยพรผู้ใหญ่ หรือญาติมิตร โดยไม่ลืมส้มสีทอง หรือ ไต้กิก 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าผู้ชาย  เพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ใหญ่หรือญาติมิตรที่นับถือกันมาก

              โดยมีเคล็ดธรรมเนียมว่า เมื่อเรารับส้ม 4 ผล ที่ห่อในผ้าเช็ดหน้า ก็ให้นำมาเปลี่ยน โดยนำส้มของแขกออกมา 2 ผล แล้วใส่ส้มของเราเข้าไปแทน 2 ผล  ผูกห่อผ้าเช็ดหน้าคืนแขกไป ดังนั้น ส้มสีทอง 4 ผลนี้ ก็จะมีส้มของแขก 2 ผล กับของเราอีก 2 ผล ถือเป็นการนำโชคดีมามอบให้และแลกเปลี่ยนโชคกันด้วย

               บางบ้านมีการวางส้มสีทองและลิ้นจี่ไว้ที่หมอน แล้วให้เด็ก ๆ รับประทานก่อนนอนในคืนวันตรุษจีน เรียกผลไม้นี้ว่า ‘เอี๊ยบส่วยก้วย’ เพื่ออวยพรให้โชคดี ซึ่งคนจีนในไทยไม่ได้นำธรรมเนียมวางเอี๊ยบส่วยก้วย ไว้ที่หมอนให้ลูกหลานทาน

           

              วันอาทิตย์นี้แล้วสินะ  ...  อั่งเปา ตั่ว ตั่ว ไก๊  (ขอบอกว่า ตอนเป็นเด็ก ชอบม้าก....มาก...ค่ะ เพราะได้อั่งเปา มีแบ็งค์อยู่ข้างในซองแดง  แต่พอโตเป็นสาว ต้องเสียอั่งเปา  -- เป็นธรรมเนียมของที่บ้านคือ เมื่อมีรายได้ ต้องตอบแทนคุณบิดามารดา และเอื้อเฟื้อไปถึงหลานๆ ด้วย)

              เวลาให้อั่งเปาใกล้เข้ามาเต็มที ลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนที่ยังเยาว์วัย ต่างรอด้วยใจจดใจจ่อ ส่วนวัยทำงานที่ผ่านพ้นวัยเด็กมาก็ต้องเข้าสู่ผู้ให้อั่งเปาบ้าง 

              เงินแต๊ะเอีย หรือ อั่งเป่า ที่แปลว่าซองแดง เด็ก ๆ มักได้จากผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยหลายบ้านจะถือธรรมเนียมว่าให้กันเฉพาะคนในครอบครัวหรือสกุลเดียวกัน แล้วอาจจะขยายวงไปถึงคนรักใคร่นับถือกันเหมือนญาติ โดยแต่โบราณเรียกเงินนี้ว่า เงิน ‘เอี๊ยบส่วยจี๊’  ( 'เอี๊ยบ’ แปลว่า กด, อัด, ห้าม    'ส่วย' แปลว่า อายุ  'จี๊'  แปลว่า เงิน )

             เอี๊ยบส่วยจี๊ เป็นดั่งหนึ่งเงินมงคลคุ้มครองชะตา ตามตำรา 100 ธรรมเนียมจีนโบราณ บอกว่า ดั้งเดิมนิยมให้กันในวันสิ้นปี ผู้ใหญ่จะเอาเหรียญทองแดง 100 อัน ร้อยด้วยด้ายแดง ผูกเป็นพวงให้เด็กในวันก่อนวันตรุษจีนหรือวันสิ้นปีนั่นเอง เรียกเงินพวกนี้ว่าเอี๊ยบส่วนจี๊ โดยมีลูกเล่นเล็กๆ ว่า คำว่า ส่วย ที่แปลว่า อายุ พ้องเสียงกับคำว่า ส่วย ที่แปลว่าผี ปีศาจ และคำว่า ‘ซวย เอี๊ยบส่วย’ หรือ ‘เอี๊ยบซวย’  ดังนั้น จึงแปลได้ว่า ห้ามความซวยหรือผี ปีศาจมาสู่

             เงินร้อยด้ายแดงทั้งพวง นี้ ดั้งเดิมเด็ก ๆ คงห้อยไว้กับเชือกผูกเอว เกิดคำว่า ‘แต๊ะเอีย’ แปลว่า ถ่วงเอว 

              ส่วนเงินสิริมงคลนั้น เรียกว่า เงิน ‘เอี่ยมเส่งจี่’  หมายถึงเหรียญเงินที่พิชิตความไม่ดี คำเต็มๆ คือ ‘จับยี่แซเสี่ยวเอี่ยมเส่งจี๋’ เป็นเงินเหรียญรูป 12 ปีนักษัตร สำหรับเป็นเครื่องรางคุ้มครองทุกดวงชะตาให้สันติสุขปลอดภัย

               ต่อมาเงินเอี๊ยบส่วยจี๋ ที่เป็นเหรียญ 100 อันร้อยเชือกแดงก็ดี เป็นเงินเอี่ยมเส่งจี๋ 12 นักษัตรก็ดี ก็พัฒนาเป็นการให้ธนบัตรใหม่ๆ ใส่ซองแดง เรียกว่า ‘เงินอั่งเปา’ หรือ ‘เงินแต๊ะเอีย’ สืบมาโดยคำนึงว่าเงินเอี๊ยมส่วยจี๋ได้หายไป หากเคล็ดการให้ก็ยังคงเพื่ออวยพรนั่นเอง เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ผู้รับ

               ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้เด็กเล็ก ๆ นี่คือการอวยพรให้เจ้าตัวน้อยเจริญเติบโตแข็งแรง

               ถ้าเป็นผู้ใหญ่ให้ลูกหลานที่ทำงานแล้ว ก็เพื่ออวยพรให้เจริญก้าวหน้าสุขภาพแข็งแรง

               หากเป็นลูกที่ทำงานแล้วให้พ่อแม่ ก็คือเพื่ออวยพรให้ท่านแข็งแรงอายุยืนยาว โดยการที่ลูกให้พ่อแม่ และพ่อแม่ให้ลูกนั้น ต้องเป็นเงินของใครของมัน ไม่ใช่ว่าลูกให้พ่อแม่ เมื่อพ่อแม่รับเงินอั่งเปาจากลูกก็ส่งคืนเงินทั้งซองกลับไป แต่ต่างฝ่ายต่างควรเตรียมเงินของตนไว้ให้เรียบร้อย

                เมื่อได้รับอั่งเปาเรียบร้อยแล้ว ธรรมเนียมต่อไปคือ การเที่ยวและอยู่พร้อมหน้าครอบครัว

                ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ --- อั่งเปา ตั่ว ตั่ว ไก๊ ---

               "ปีใหม่จีนนี้ ขอทุก ๆ ท่าน รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ร่ำรวย ร่ำรวย  ได้สมปรารถนา กันถ้วนหน้าทุกท่านนะคะ"

หมายเลขบันทึก: 79089เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2007 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตอนนี้กำลังกลับมารวมญาติค่ะ...อบอุ่นและได้เติมความสุขจากบันทึกนี้...ขอบพระคุณพี่สุปราณีค่ะ

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ --- อั่งเปา ตั่ว ตั่ว ไก๊ --- พี่สุปราณีครับ

ที่ปาย สันติชล ก็มีตรุษจีน ผมเองก็ร่ำๆอยากได้อังเปา แต่หลายท่านก็บอกว่าผมแก่เกิน น่าจะให้อังเปาเด็กมากกว่า....

 

แต่ผมคิดว่า...ผมยังเด็กและต้องการอังเปาอยู่ครับ :)

ตั่ง ตั๊ง ฮ่า ท่านผู้หนุ่ม ผู้สาว ทั้งสอง

สำหรับ ผู้หนุ่ม ถ้าอยากได้อั่งเปา ก็ไปหาซองแดง แล้วหยิบแบ็งค์ในกระเป๋าสตางค์ของตน ย้ายไปใส่ซองแดง เท่านั้นเอง สมใจนึกแล้วฮ่า (โห่ ฮา)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท