องค์กรนานาชาติกับการพัฒนาท้องถิ่น


คนที่ทำงานก็ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรมากกว่านักวิชาการทั่วไป แต่อาจมีความสามารถในการเขียนเอกสาร การนำเสนอ และประสบการณ์ต่างประเทศมากหน่อย เท่านั้นเอง ผมจึงไม่ค่อยคาดหวังกับการทำงานกับองค์กรต่างประเทศมากนัก

 เรื่องนี้สะกิดใจ มาจากเรื่องที่ผมได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม เรื่องการจัดการความรู้ที่จัดโดย World Bank  ร่วมกับ สคส. ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ที่กรุงเทพฯ  

 

ตอนแรกผมเข้าใจว่าเป็นการประชุมกลุ่มเล็กๆ ที่พอจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้เต็มที่ แต่พอทราบจากคุณธวัช หมัดเต๊ะ  ที่พบกันเมื่อวานนี้ (๑๐ กพ ๕๐) ในงานประชุม UKM9 ที่ขอนแก่น ว่า เป็นการประชุมที่ใช้จังหวะการเดินทางของผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลก ผ่านมาทางเมืองไทยพอดี และเป็นการประชุมเชิงบรรยาย กับคนจำนวนมาก กว่า ๓๐๐ คน ผมก็เลยมาทบทวนใหม่ว่า ควรจะเข้าประชุมดีหรือไม่ ได้ลองโทรไปถามเจ้าหน้าที่ ที่ทำหน้าที่ประสานงาน (Buntarika Sanagarun) ก็ไม่ได้ความชัดเจน ว่า

 

·        ประเทศไทยเราและผม จะได้รับความรู้อะไรบ้าง และ

 

·        ทาง World Bank จะได้รับความรู้อะไรบ้างจากคนไทยหรือจากผม หรือ

 

·        เราจะมีแผนการทำงานร่วมกันในเรื่องอะไรบ้าง ที่พอจะคุ้มค่ากับเวลา และทรัพยากรที่ผมต้องใช้ลงทุนไปในการเข้าร่วมครั้งนี้

 

·        ผมเลยสงสัยจะไม่เข้าร่วมซะมากกว่า ขนาดกรอบงานยังไม่ชัด แล้วเป้าหมายงานจะได้อะไรไหมครับนี่

  เหตุการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่ประสบการณ์แรกของผม เกี่ยวกับ สไตล์การทำงานขององค์กรนานาชาติ หรือองค์กรต่างประเทศ 

ผมเคยรับนักศึกษาปริญญาโทชาวอังกฤษมาเรียนกับผมที่ขอนแก่น ประมาณสัก ๑๕ ปีมาแล้ว ทำอยู่ประมาณ ๓ รุ่น ผมต้องบอกเลิก สาเหตุมาจากแบบสอบถามว่า  

นักศึกษาที่มานั้น ได้มาช่วยประเทศไทยพัฒนาการวิจัยมากน้อยแค่ไหน ผมพยายามตอบดีๆ ว่า คงไม่ได้หรอกเพราะนักศึกษามาเรียนกับผม ยังไม่ถึงขั้นมาพัฒนาผมหรือพัฒนาประเทศไทย เขากลับตอบย้ำมาว่า ถ้าเช่นนั้นก็ผิดวัตถุประสงค์ของการช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ผมก็เลยบอกว่า ถ้าผิดก็ยกเลิกไปซะ เพราะที่ผมทำอยู่นี้ผมช่วยเหลือการพัฒนาของประเทศอังกฤษ และระดับนักศึกษาปริญญาโทนั้น จะมาช่วยพัฒนาผมและประเทศไทยนั้น จะฝันมากเกินไป จึงเป็นการติดต่อครั้งสุดท้ายกับองค์กรนั้น 

ในระหว่างที่ผมทำงานอยู่ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่างประเทศหลายองค์กร ที่มาในนามของการช่วยเหลือประเทศไทย และประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย  

ผมรู้สึกว่า องค์กรเหล่านี้ ดูเหมือนจะมีทรัพยากรมาก และคนที่มีความรู้มาก

ผมจึงฝันที่คิดจะไปทำงานในองค์กรเหล่านี้ด้วย ๒ เหตุผล คือ

·        จะไปช่วยดูการให้ทุนและสนับสนุนที่เป็นประโยชน์มากกว่าเดิม และ

·        ไปอยู่ใกล้ผู้รู้มากๆ อาจจะทำให้ผมฉลาดขึ้นอีกสักหน่อย 

แต่พอผมลองไปทำเมื่อปี ๒๕๔๕ อยู่ปีหนึ่ง ก็ค่อนข้างผิดหวัง และรีบวิ่งแจ้นกลับมาทำงานกับชุมชนที่ผมรัก สนุกกว่ามาก 

·        เพราะไปพบว่าองค์กรเหล่านี้ก็มีขีดจำกัดในตัวเองค่อนข้างมาก

 ·        ทำงานจริงๆไม่ได้

·        นอกจากนั่งประสานงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์กันเป็นส่วนใหญ่

จนผมเรียกเพื่อนร่วมงานแบบล้อเลียน ว่าเขาเป็น Email Scientist  ที่ยังไม่มีใครเถียงสักคนทุกคนที่ทำงานจะอยู่ภายใต้แรงกดดันและความคาดหวัง ที่จะ

·        ทำงานใหญ่ๆ ให้เสร็จเร็วๆ

·        จากข้อสมมติที่ว่า เป็น ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งความรู้ และความสามารถ

·        และยังต้องสร้างโครงการใหญ่ๆ หางบประมาณเข้าองค์กรได้มากๆจึงจะอยู่ได้  

ฉะนั้น ทุกคนต้องหาทางทำงานแบบ

·        ใหญ่ๆ  ด่วนได้ ด่วนเสร็จ และ

·        ใช้เวลา น้อย ที่สุด

·        ที่เขาจะต้องลงเวลาทำงานเป็นรายชั่วโมง เพราะเขาจ่ายค่าตอบแทนจากโครงการต่างๆ เป็นรายชั่วโมง  

จึงทำให้ไม่มีโอกาสที่จะทำงานที่เป็นรูปธรรมที่เห็นผลได้จริง ที่จำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร

แต่ไปเน้น การทำงานเชิงนามธรรม เชิงนโยบาย เชิงแนวคิด เชิงหลักการ เชิงทฤษฎี

ที่สามารถอ้าง อย่างลอยๆ แบบไม่มีใครอยากเสียเวลาเถียง หรือตรวจสอบ เช่นทำให้เกิดนโยบายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบคนในพื้นที่ ๓ แสนตารางกิโลเมตร หรือมีครอบครัวได้รับผลประโยชน์ ๕ หมื่นครัวเรือน เป็นต้น ผมก็ลองถามเพื่อนร่วมงานในองค์กรอื่นๆ ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน 

ฉะนั้น การทำงานขององค์กรเหล่านี้ จึงไม่มีโอกาสมุ่งเน้นความสัมฤทธิ์ผลในทางปฏิบัติ แต่ต้องเน้นผลเชิงการประชาสัมพันธ์ และภาพลักษณ์ให้มาก

ไม่งั้นอยู่ยาก และคนที่ทำงานก็ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรมากกว่านักวิชาการทั่วไป แต่อาจมีความสามารถในการเขียนเอกสาร การนำเสนอ และประสบการณ์ต่างประเทศมากหน่อย เท่านั้นเอง

ผมจึงไม่ค่อยคาดหวังกับการทำงานกับองค์กรต่างประเทศมากนัก 

 และที่ผมพบมาทั้งหมด มีแต่จะมา ซื้อเอางานจากเราแบบถูกๆ (จ่ายไม่เกิน ๑๐% ของมูลค่างานที่เขาได้รับงบประมาณมา) ไปอ้างอิงเป็นงานเขาเป็นส่วนใหญ่  ตัวเลขนี้ผมเคยเห็นในช่วงที่ผมไปทำงานในองค์กรนานาชาติ ที่ต้องทำเพราะเขาต้องจ้างคนแพง ค่าใช้จ่ายจากการติดต่อประสานงานแพง

ฉะนั้นโครงการอะไรที่ต่ำกว่า ๑ แสนเหรียญ (สี่ล้านบาท) เขาจะไม่ทำกัน ส่วนใหญ่เขาจะทำโครงการ ๕ แสนเหรียญขึ้นไป ครับ

แต่โครงการใหญ่ๆ ก็อย่าคิดว่าเขาจะจ่ายมากขึ้นนะครับ เขาก็ให้เราเท่าเดิม ด้วยเหตุผลว่า ค่าใช้จ่ายของเราต่ำ เงินน้อยๆก็ทำได้   

ผมเลยไม่ค่อยสนใจที่จะทำงานร่วมกับองค์กรนานาชาติมากนัก ด้วยความที่ผมรู้สึกว่า

  • เขาเอาเปรียบสังคม และนักวิชาการระดับประเทศมากเกินไป
  • และแม้ไม่มีเขาเราก็ไม่เดือดร้อน
  • มีเขาเราก็ไม่เห็นได้ประโยชน์อะไร และ
  • ความรู้ที่เขามี ส่วนใหญ่เรามีดีกว่า
  • เพียงแต่ขอให้เรามาจัดการความรู้กันให้ชัดๆ
  • คนเหล่านั้นจะไม่มีช่องอ้างสิทธิใดที่จะฉกฉวยความรู้ และผลประโยชน์ไปจากเรา
  

เห็นมีนักวิชาการที่ภูมิปัญญาไม่พอใช้ ต้องทำตัวเป็นผู้ช่วยวิจัย หรือแม้กระทั่งคนงานให้กับต่างชาติ อันนี้ ท่านจะรับผลประโยชน์อย่างไร ก็เชิญตามสบายทางใครทางมัน

  แต่เพียงขอร้อง ระวังอย่าทำให้ประเทศชาติเสียหายเลยนะครับ สงสารคนจนๆบ้างเถอะนะครับ 
หมายเลขบันทึก: 77781เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2007 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบพระคุณอาจารย์ ดร.แสวง มากครับ ที่นำประสบการณ์ชีวิตมาสรุปให้ฟังอย่างเข้าใจง่าย และเป็นข้อเตือนใจให้ผม ที่กำลังก้ำๆ กึ่ง ๆ ว่าวัฒธรรมไทย หรือวัฒนธรรมต่างชาติดีกว่ากัน ดีกว่ากันอย่างไร แล้วจะปรับใช้กันได้แค่ไหน

คนบ้านเราก็ตื่นเต้นกับเรื่องราวของต่างประเทศ เห่อของต่างประเทศ บางทีไม่ทันได้คิดนะครับ ว่าตกลงแบบไหนดี แล้วที่ดีนั้น ดีกับเราไหม หรือดีแค่ที่บ้านเขา?

อ่านข้อเขียนของอาจารย์แล้วผมเตือนตัวเองให้มีสติอยู่เสมอในการทำงานที่มีความหลากหลายทางวัฒธรรม

ขอบพระคุณอีกครั้งครับ (ขออภัย ข้อคิดเห็นแรกนิ้วไปโดน spacebar เลยส่งข้อคิดเห็นไปเลยครับ)

อาจารย์วสะ ผมลบข้อผิดพลาดให้แล้วครับ

ประเด็นคือต่างชาติ (ตะวันตก) มีแนวโน้มจะดูถูกเรา

ยิ่งเราทำตัวให้เขาดูถูก ก็เข้าทางเขาพอดีครับ

เราต้องกล้ายืนหยัดเพื่อตัวเอง และประเทศชาติ แบบไม่ดูถูกใคร และไม่ให้ใครดูถูกเรา จึ่งน่าจะดีที่สุดครับ

  • การเข้ามาของความรู้จากภายนอกชุมชน  ภายนอกประเทศ  ต้องมีสื่อเป็นช่องทางให้เข้ามา
  • ช่องทางผ่านเข้ามาของความรู้  ไม่มีคุณภาพ การใช้ประโยชน์ย่อมไม่เกิดคุณภาพ เช่นกัน
  • ผมแปลกใจมานานแล้วว่า  บรรดาผู้ที่มีโอกาสไปเรียนรู้ถึงต่างประเทศ  (เป็นบางคน)  ทำไมมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาที่ได้เรียนมาเหลือเกิน จนไม่กล้าดัดแปลงวิชาการเหล่านั้นให้เหมาะกับเมืองไทยเอาซะเลย

เรียน อ.ดร.แสวง ที่เคารพยิ่ง

ตามที่ผมได้เขียน เกี่ยวกับ Inside out and out side in  เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งว่า การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง (บุคคล - ชุมชน) สิ่งหนึ่ง ก็คือ "การรู้ตัวเอง" ว่าเราคือใคร เราจะเดินไปแนวทางใด ที่เหมาสมกับบริบทเรามากที่สุด  จุดยืนเราอยู่ตรงไหนสุดท้าย คืออะไร หรือ หนทางใดที่เป็นคำตอบของ "การอยู่ดีมีสุข"

การรู้ไม่เท่าทัน เท่ากับการเตรียมเงินไว้เสียค่าโง่...นอกจากเสียเงินแล้ว ยังเจ็บใจอีกต่างหาก

"ของดีมีอยู่" โดยที่ผมบอกใครต่อใครอยู่เสมอว่า ทุนต่างๆที่อยู่ในชุมชน ตัวตนคนท้องถิ่น มีมากมาย แต่กระบวนการจัดการความรู้ยังไม่เกิด(ชัดเจน) การพัฒนาจึงพึ่งพา Out side In ค่อนข้างมาก จนในที่สุดก็ถวายตัวเป็นสาวกที่จงรักภักดี...

บันทึกนี้ฉุกใจได้คิด ...การที่จะรับอะไรมาสักอย่างหนึ่ง ควรคิดอย่างรอบด้าน และไม่ได้ให้มองโลกในแง่ร้าย ขอเรียกว่า "รู้เท่าทัน" ดีกว่า

ในความเป็นจริง คนชนบทเป็นผู้ถูกกระทำเสมอ

จากปรากฏการณ์ลักษณะนี้ คนที่เป็นเสริมเหล็ก ทอดสะพานระหว่างคนนอกที่รูปลักษณ์ดีแต่ประสงค์ร้าย  ก็คือ นักวิชาการ ที่เป็นสาวกที่ดีนั่นหละครับ กลุ่มปากคาบคัมภีร์ทั้งหลาย ...

บันทึกนี้ ผมอยากให้หลายๆท่านได้อ่าน ครับ ...

ถามไปถึง นักพัฒนาที่รับทุนจากภายนอก(นอกประเทศ หรือ  อื่นๆ) - บางคน บางองค์กร

วันนี้คุณเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนอ่อนแอลงไปหรือเปล่า เราได้ทำร้ายชุมชนหรือเปล่า...ละเอียดอ่อน และต้องระมัดระวัง

...

ผมไม่แน่ใจว่า อาจารย์ เข้าใจในข้อความที่ผมสื่อหรือเปล่าครับ...

ผมขอคารวะอาจารย์ครับ

คุณจตุพรครับ

ผมเข้าใจครับที่สื่อมา ผมก็พยายามสื่อในมุมเดียวกัน ให้เรารู้เท่าทัน ไม่หลง ไม่ต้าน แต่เข้าใจว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรต้องระวัง

ผมคิดว่าเมืองไทยยังโชคดีที่มีทั้งภูมิต้านทาน และ "ยาดี" ที่ทำให้เรายังอยูรอดมาถึงทุกวันนี้ ทั้งๆที่ ระบบการพัฒนาได้ทำลายพื้นฐานของโครงสร้างมาตลอด

แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าฐานจะทนได้นานแค่ไหน  ผมดูไปแล้วเหมือนเสาบ้านที่มอดปลวกเจาะจนพรุน เพียงแต่ยังรักษาสภาพ และยังแบกรับภาระอยู่ไหว โดยไม่รู้จะไหวได้นานแค่ไหน

  • ขึ้นอยู่กับการเจาะทำลายที่เพิ่มขึ้น
  • และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

ความกลวงโบ๋ของสังคมไทยมีหลายมุม ตั้งแต่

  • ระบบครอบครัวที่เคยแข็ง ก็อ่อนแอลง
  • ระบบการพึ่งพามีน้อยลง ทั้งทรัพยากร และความเข้มแข็งของชุมชน
  • ระบบทรัพย์สิน กลายเป็นระบบหนี้สิน
  • ระบบทุนต่างๆ แปรเป็นระบบเงินที่ไหลออก และแปรเปลี่ยนได้ง่าย
  • การพึ่งพาภายนอกสูงมากขึ้นจนมีชีวิตบนความเสี่ยง แบบยืมจมูกคนอื่นหายใจ เขาเป็นหวัดเมื่อไหร่เราก็สาหัสทันที
  • การพึ่งภายนอกทำให้ถูกเอาเปรียบและอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง

การที่เราจะกรองความช่วยเหลือนั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ ถ้าเขาทำแบบทาสของระบบต่างชาติ เราก็จะไม่ได้อะไร

น่าเป็นห่วงจริงๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท