"เรียนอย่างไร ให้ไทยพึ่งตนเอง" คำตอบจาก นพ.ประเวศ วะสี


เรียนอย่างไร ให้ไทยพึ่งตนเอง
จากคำถามที่ตั้งไว้สำหรับ งานประชุมวิชาการ “เรียนอย่างไร ให้ไทยพึ่งตนเองมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราตีโจทย์นี้แตกย่อมเกิดคุณค่าและมูลค่ามหาศาล

ต่อไปนี้คือความพยายามที่จะตอบโจทย์ข้างต้น จาก นพ. ประเวศ วะสี จากในงานประชุมวิชาการ นักเรียนไทย ในเยอรมัน

๑. จากปัญญาสู่ความรู้ ปัญหาของการเรียนทั่วโลกขณะนี้คือ การเรียนแบบความรู้สู่ปัญญาแต่มักไปไม่ถึงปัญญา คือรู้แยกย่อยและติดอยู่ในส่วนเสี้ยวนั้น เหมือนการรู้อยู่ในแต่ละส่วนของจิ๊กซอว์ โดยไม่เห็นทั้งหมด ย่อมไม่รู้ว่าทั้งหมดเป็นรูปช้าง หรือรูปหมี หรือรูปเสือ ปัญญาคือการรู้ทั้งหมด เราอาจจะเถียงว่าถ้าไม่รู้ทีละส่วนๆ แล้วจะรู้ทั้งหมดได้อย่างไร นั่นก็เป็นวิธีคิดอย่างหนึ่ง แต่ลองถามดูว่ามีสักกี่คนที่รู้ทีละส่วนๆ แล้วประกอบกันเกิดสภาวะรู้ทั้งหมด อีกวิธีหนึ่งคือ รู้ทั้งหมดก่อนแล้วค่อยรู้เป็นส่วนๆ เพื่อมาใช้ทั้งหมด ศาสนากับวิทยาศาสตร์มีกระบวนคิดที่ต่างกัน คือวิทยาศาสตร์ทำจากความรู้(ที่แยกย่อย)สู่ปัญญา ศาสนาจากปัญญาสู่ความรู้ บางทีเราอาจจะ ต้องการ ทั้ง ๒ วิธีเข้ามาบูรณาการกัน

ศาสนาถามว่าโลกคืออย่างไร ชีวิตคืออย่างไร และความดีคืออะไร นั่นเป็นเรื่องใหญ่ รวบยอดทั้งหมดและสำคัญที่สุด แล้วก็ถามต่อไปว่าทำอย่างไร

ฉะนั้น ในการเรียนต้องระวัง ถึงแม้เราเรียนวิชาก็อย่าเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เพราะวิชาจะแยกส่วน ทำให้ไม่เห็นทั้งหมด ทั้งหมด(whole) มีหลายระดับโจทย์ว่า ทำอย่างไรไทยจะพึ่งตนเองได้ถือเป็นภาพรวมได้ระดับหนึ่ง เราทำความเข้าใจภาพรวมนี้ ซึ่งถือเป็นปัญญา แล้วแสวงหาความรู้ตาม วิชาที่เราเรียนมารับใช้ปัญญา

๒. การพึ่งตนเอง หรือ อัตตา หิ อัตโน นาโถ เป็นเรื่องสำคัญ การพึ่งตนเองไม่ใช่การแยกตัว รังเกียจผู้อื่น ไม่คบผู้อื่น เด็กเล็กๆ ยังพึ่งตนเองไม่ได้ ต้องมีคนป้อนข้าวป้อนน้ำหรือหยิบอะไรมาให้ แต่เมื่อโตขึ้นต้องทำเองได้ ถ้ายังพึ่งคนอื่นเรื่อยไปก็จะเดินไม่เป็น ง่อยเปลี้ยเสียขา อ่อนแอ การพึ่งตนเองทำให้แข็งแรง เพราะต้องคิดต้องทำให้ตนเองอยู่ได้ และมีปัญญาพอที่จะเผชิญกับ การเปลี่ยนแปลงและเอาชนะวิกฤตได้ เพราะไม่มีอะไรอยู่กับที่ สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง

ถ้าเราแข็งแรงเราก็สามารถสัมพันธ์กับประเทศอื่นอย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรี สามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับประเทศต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ และอย่างรักษาสมดุลของตัวเองไว้ได้

๓. ความสมดุลทำให้ปรกติและยั่งยืน ระบบร่างกายเป็นตัวอย่างระบบที่ดีที่สุด ทางสังคมยังไม่มีตัวอย่างของระบบที่ดีที่สุด ในร่างกายมีความหลากหลายสุดประมาณ แตกต่างกัน ตั้งแต่เซลล์สมองจนถึงเซลล์หัวแม่เท้า แต่ทั้งหมดมีบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าตับ ปอด หัวใจ ไปคนละทางสองทางเราย่อมดำรงความเป็นคนอยู่ไม่ได้ ความเชื่อมโยงถึงกันหรือบูรณาการ ทำให้เกิดความสมดุล ความสมดุลคือความเป็นปรกติ และความสมดุลทำให้เกิดความยั่งยืน ความเจ็บป่วยใดๆคือการเสียสมดุล ถ้าเสียมากขึ้นก็วิกฤต และยังมากขึ้นก็ตาย

การคิดและทำแบบแยกส่วนย่อมนำไปสู่การเสียสมดุลและวิกฤตเสมอ เช่น พัฒนาแต่ เศรษฐกิจอย่างเดียวแบบแยกส่วน เศรษฐกิจ จิตใจ ครอบครัว ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุขภาพ ต้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นบูรณาการ สังคมจึงจะเกิดความสมดุลและยั่งยืน

๔. ถ้าฐานล่างของสังคมแข็งแรง สังคมทั้งหมดก็มั่นคง สังคมก็เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมใดๆ ที่ถ้าฐานล่างแข็งแรงโครงสร้างข้างบนทั้งหมดก็มั่นคง ที่แล้วมาเราพัฒนาที่ให้ประโยชน์กับ คนส่วนน้อยข้างบนโดยทำลายฐานล่าง ทำให้สังคมทั้งหมดอ่อนแอและทรุดตัวลง ฐานล่างหมายถึง ชาวบ้านที่เป็นคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน หมายถึงทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน หมายถึงวัฒนธรรมอันเป็นวิถีชีวิตร่วมกันของชาวบ้าน และหมายถึงชุมชนซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานทางสังคม ทั้งหมดเหล่านี้ถูกทำลายลงเพื่อประโยชน์ ของคนส่วนน้อยข้างบน ทำให้ฐานล่างของสังคมแตก ไม่มีอะไรจะรองรับโครงสร้างข้างบน

ลองสมมุติในทางตรงข้ามว่า ชาวบ้านทั้ง ๗ หมื่นหมู่บ้านหายจน จะมีอำนาจซื้อมาก จะซื้อวิทยุ พัดลม โทรทัศน์ ฯลฯ เศรษฐกิจข้างบนก็จะดีเองและมั่นคง ฉะนั้นยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาคือส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งทุกๆทาง ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ปัญญา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การดูแลรักษาสุขภาพ การแก้ปัญหายาเสพย์ติด เป็นต้น นั่นคือถ้าชุมชนพึ่งตนเองได้ สังคมไทยทั้งหมดจะพึ่งตนเองได้ การที่ไทยจะพึ่งตนเองได้อยู่ที่ ชุมชนเข้มแข็งเป็นสำคัญ

๕. ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่แก้ไม่ได้ และเชื่อมโยงกับการพึ่งตนเองไม่ได้ ที่แก้ไม่ได้เพราะมีแนวคิดหรือทิฐิที่ผิด (มิจฉาทิฐิ) เกี่ยวกับความยากจน โดยคิดว่าความยากจนเกิดจากปัญหาของคนจน ดังที่พูดว่า โง่จน-เจ็บแท้ที่จริงปัญหาความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าตั้งทิฐิให้ถูกแล้วก็ตั้งคำถามต่อไปว่า โครงสร้างอะไรบ้างที่ทำให้คนจนจน และคนจนไม่หายจน เช่น ทรรศนะเกี่ยวกับคนจน กฎหมาย การใช้ทรัพยากร ทิศทางการพัฒนา การเงิน การศึกษา การขาดเทคโนโลยี การขาดองค์กร สื่อ ฯลฯ โครงสร้างเหล่านี้เพียงพอแก่นักวิชาการทุกสาขาจะเข้ามาศึกษาวิจัยให้เข้าใจ เพื่อคลี่คลาย โครงสร้างเหล่านี้ อันจะทำให้คนจนหายจนและพึ่งตนเองได้

๖. เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคให้เกื้อกูลกัน ที่แล้วมาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทำลายรายย่อยและทำลายชุมชน แท้ที่จริงถ้าเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคเชื่อมโยงกันอย่าง เกื้อกูลจะพากันเข้มแข็งทั้งคู่ โจทย์คือทำอย่างไรเศรษฐกิจมหภาคกับเศรษฐกิจชุมชน จะเชื่อมโยง อย่างเกื้อกูลกัน


๗. การสร้างพลังแผ่นดิน คน ครอบครัว ชุมชน องค์กร หรือประเทศ ต้องมีพลังจึงจะเผชิญวิกฤตได้ ประเทศที่อ่อนแอพึ่งตนเองไม่ได้ก็จะวิกฤต การจะฝ่าวิกฤตได้ ประเทศต้องการพลังแผ่นดินหรือภูมิพละ พลังแผ่นดินเกิดจากการผนวกกันของพลัง ๕ ดังต่อไปนี้

(๑) พลังทางสังคม หมายถึงการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของคนไทยทั้งประเทศ ในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกเรื่อง

(๒) พลังทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ วัฒนธรรมเป็นรากของสังคม การตัดรากต้นไม้ทำให้ต้นไม้อับเฉาหรือตายฉันใด การตัดรากสังคมก็ให้ผลเช่นเดียวกัน

(๓) พลังทางศีลธรรม ศีลธรรมพื้นฐานคือการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคน ของคนทุกคน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยคนยากคนจนนี้ เป็นฐานของสัมมาพัฒนาทั้งปวง ตั้งแต่สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ไปจนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ

(๔) พลังทางการจัดการและจัดองค์กร “Management makes the impossible possible” การจัดการเป็นปัญญาที่ทำให้สำเร็จ หรืออิทธิปัญญา

(๕) พลังทางปัญญา คือพลังแห่งการเรียนรู้ และการวิจัยสร้างความรู้ เช่น ควรมีการวิจัยสร้างความรู้ในทุกตารางนิ้วของแผ่นดินในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสามารถวิจัยเชิงนโยบายได้ เป็นต้น

ที่กล่าวโดยย่นย่อทั้ง ๕ ประการนี้ มีรายละเอียดอีกมาก ถ้าศึกษาให้เข้าใจและส่งเสริมให้เกิด พลังแผ่นดินก็คือความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ และแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

๘. เรียนอย่างไรให้ไทยพึ่งตนเอง ลองทบทวนทั้ง ๗ ข้อข้างบนแล้วจะเห็นว่าเรียนอย่างไร ดังต่อไปนี้

(๑) เรียนให้เข้าใจความจริงของแผ่นดินไทย โดยเฉพาะปัญหาของคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะไม่ทรงหนีออกจากวงล้อมของวังไปรับรู้ความจริงเกี่ยวกับคนจน คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ก็จะไม่มีฐานทางปัญญาที่จะทำให้ทรงบรรลุธรรม การมีฐานอยู่ในความจริงจะทำให้เกิดปัญญา ผู้เรียนทุกคนควรจะมีโอกาสไปอยู่ใน วัฒนธรรมของชาวบ้าน เพื่อเข้าใจ เห็นใจ และเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคน ของชาวบ้าน (ศีลธรรมพื้นฐาน) ถ้าไม่มีโอกาสโดยตรงก็เรียนรู้จากบุคคลและสื่อต่างๆ สัมผัสจนสามารถตั้งคำถามว่า เราจะทำอะไรให้คนอื่นได้บ้างถ้ามีคำถามนี้ประจำใจ ก็จะเป็นการเริ่มต้นของปัญญาอันยิ่งใหญ่
(๒) คิดอย่างเชื่อมโยง หรือทำ mind mapping ให้เข้าใจเรื่องของประเทศไทยอย่างมีบูรณาการ อย่าเข้าใจเพียงส่วนใดส่วนเดียว จะทำให้คิดแบบแยกส่วน
() ตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรฐานล่างของสังคมไทยจะเข้มแข็งพึ่งตนเองได้
(๓) โยงเรื่องที่ตนเรียน ไม่ว่าสาขาใดๆเข้าไปตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ในข้อ (๓) การตอบโจทย์นี้ต้องการวิชาการทุกสาขาอย่างเชื่อมโยงกัน
(๔) สร้างชุมชนวิชาการ (academic community) ได้แก่การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ การเรียนรู้ที่เข้มแข็งที่สุดคือ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (interactive learning through action) ชุมชนวิชาการจะช่วยให้มีความสุข และความก้าวหน้าในการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสามารถเรียนรู้จากข้อ (๑) ถึงข้อ (๔) ข้างต้น หรือแม้เรื่องอื่นใด

ขอให้นักเรียนไทยได้ไตร่ตรองเรื่องชีวิตของตนเอง เรื่องความจริงของแผ่นดินไทย และเรื่องวิชาการ ว่าจะเรียนรู้อย่างไรเพื่อให้สังคมไทยเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ มีศักดิ์ศรี จนกระทั่งเราทุกคนภูมิใจ ในคุณค่าของการเป็นคนไทย
หมายเลขบันทึก: 77042เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2007 00:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ดีครับที่ได้อ่นบทความของพี่เม้ง
ว่าแต่เมื่อไหร่จะกลับมาหละครับ

เป็นความรู้ที่ได้อ่านแล้วดีมากๆๆคะ   สามารถอ่านแล้วทำให้คิดไปได้ด้วย ยังไงก็นำความรู้ดีๆอย่างนี้มาเล่าสู่กันฟังใหม่นะคะ

น้องสายลมแสงแดดครับ คงไม่นานเกินรอครับ คงได้เจอกันครับ เพราะมาเสียนาน รอกันจนลืมกันไปแล้วเลยนะครับ

 

ขอบคุณมากครับ คุณ Valentine ไว้จะเอามาเล่าสู่กันฟังอีกครับ  เข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่

http://www.thaistudents.de/thaisac/ คลิก บอกเล่าเรื่องราวนะครับ

ผมมีคำถามครับครูเม้ง...เค้ง

ที่ว่าพุทธศาสนานั้นมีกระบวนการคิดแบบปัญญาสู่ความรู้นั้น

พอดีผมมีหนังสือ "วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม" ของพระธรรมปิฎก(ประยุทธ์ ปยุตโต) อยู่ใกล้มือ เลยหยิบมาพลิกดูก็เจอหน้า 11 หัวข้อ ข)กระบวนการของการศึกษา  ผมขอสรุปเพื่อให้พอกับเนื้อที่ และเพื่อไม่ให้ยาวเกินไปนะครับ...

กระบวนการของการศึกษา(ในพุทธศาสนา)นั้นแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ เรียกว่า ไตรสิกขา(หลักการศึกษา 3 ประการ) คือ

  1. อธิสีลสิกขา(ศีล) การฝึกฝนอบรมด้านความประพฤติ ระเบียบวินัย ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีวะ
  2. อธิจิตตสิกขา(สมาธิ) การฝึกฝนอบรมทางจิตใจ การปลูกฝังคุณธรรม
  3. อธิปัญญาสิกขา(ปัญญา) การฝึกฝนอบรมทางปัญญาให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

คำถามของผมก็คือ เมื่อบทความข้างต้น(ของพี่)บอกว่าพุทธศาสนานั้นมีกระบวนความคิดจากปัญญาสู่ความรู้นั้น และเมื่ออ้างจากกระบวนการเกิดปัญญาที่ผมยกมานั้น กว่าที่เราจะเกิดปัญญาจริงๆ นั้นยากแสนยาก เพราะต้องฝ่าด่านอรหันต์สองด่านคือ ศึล และ สมาธิเสียก่อน ซึ่งรู้กันอยู่แล้วว่ายาก ก็ไม่แน่ว่าชาตินี้จะทำกันได้ทุกคนหรือเปล่า แล้วถ้าเรายังไม่เกิดปัญญา หรือกำลังอยู่ในกระบวนการที่ทำให้เกิดปัญญานั้น เมื่อไหร่กันล่ะครับที่เราจะได้มีความรู้ (เพราะต้องรอให้เกิดปัญญาก่อน) และได้เอาความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม?

สวัสดีครับ น้องธรรมาวุธ

     พอดีเอาคำตอบของท่าน นพ.ประเวศ วะสี มากระจายให้อ่านกันนะครับ พี่ตอบได้แต่กระบวนทางปัญญาที่เกิดจากทางวิทยาศาสตร์ครับ ส่วนกระบวนการทางในพุทธศาสนา ยังไม่ได้ฝึกปฏิบัติเลยครับ

ศึกษาเข้านะครับ เผื่อจะได้ถ่ายทอดแล้วเอามาผสมกันในทางวิทย์ตามที่ ท่าน นพ.ประเวศ กล่าวไว้

อิอิ ครับพี่ จะพยายามมมมมมมมครับ
ลุงรักชาติราชบุรี

....ไตรสิกขา..๑.ถ้ามองว่าเป็นลำดับขั้นตอนของการเรียนรู้..ศีล..การเตรียมความพร้อมที่จะศึกษาปรากฏการณ์ต่างๆด้วยการทำความสะอาดจิตใจ สร้างความเข้มแข็งให้ร่างกาย จิตใจ ขจัดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ก็ได้..สมาธิ..การมุ่งมั่นในการสังเกตพิจารณาปรากฏการณ์ให้เข้าใจ ด้วยความเด็ดเดี่ยว ไม่วอกแวกแต่เป็นไปด้วยความสงบสันติมีความแยบคายที่จะตามติดพิจารณาด้วยเหตุผลโดยมีหลักของทางสายกลาง มีความเข้าใจในสภาวะของตนและทุกสิ่งว่ามีความเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนจริงๆ..ไม่ยึดมั่นถือมั่น..ปัญญา..คือผลจากการพิจารณาปรากฏการณ์ที่จะสามารถนำไปประยุกต์เทียบเคียงกับเรื่องอื่น..เกิดดวงตาเห็นธรรม..ทั้งสามสิ่งเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกัน..เป็นวัฏจักรของสติ..รับรู้เรียนรู้..ถือเป็นเคล็ดวิธีของการสร้างองค์ความรู้..ใช่อย่างนี้หรือเปล่าครับ..

ไม่มีรูป
7. ลุงรักชาติราชบุรี

 

กราบขอบพระคุณคุณลุงมากครับ

  • ผมเองยังอ่อนด้อยนักครับ เรื่องธรรมะครับ
  • แต่อ่านที่คุณลุงเขียนมาแล้วรู้สึกอิ่มครับผม
  • กราบขอบพระคุณมากๆ นะครับ

แวะมาบอกว่า...ปลายเดือนสิงหาคม พี่หนิงก็ได้รับโอกาสที่ดี  เรียนรู้จากท่าน ศ.นพ.ประเวศ วะสี  มาอ่ะค่ะ  บันทึกครบรอบ 1 ปี กับ G2K  และ เรื่องดีดีที่ต้องขยายค่ะ  นะคะ

P
9. DSS "work with disability" ( หนิง )

 

สวัสดีครับพี่หนิง

  • ดีมากๆ เลยครับพี่ เข้าไปเยี่ยมมาแล้วครับ
  • ขอบคุณพี่สาวมากๆ เลยครับ ที่นำมาถ่ายทอดให้เข้าถึงคำว่า INN ได้มากขึ้นครับ
  • ผมได้มีโอกาสคุยกับท่านอาจารย์มานานแล้วครับ ตอนจัดงานประชุมวิชาการที่เยอรมันครับ ท่านอาจารย์ได้ให้แนวคิดในงานวิจัยผมด้วย โยงไปถึงชาวนา มีอะไรให้คิดต่อได้เยอะเลยครับ
  • ขอบคุณมากๆ นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท