"ปัญหา" คือ ทุนทางปัญญาเพื่อการก้าวต่อ : เรื่องจริงวิถีของคนชายขอบ


ผมมองว่านี่ เป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญ เป็นทุนที่ทำให้กลุ่มน้อง นศ.ชนเผ่า ได้เรียนรู้ต่อสู้ร่วมกัน เพื่อความสันติและเท่าเทียม

เด็กชายตัวเล็กๆดูมอมแมม วิ่งซน ท่าทางเด็ดเดี่ยวไม่กลัวใคร  เป็นภาพที่ผมเห็น อะตาผะ ครั้งแรกที่บนดอยสูงแห่งหนึ่งในอำเภอปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน

พ่อของอะตาผะ กับเด็กลีซูในหมู่บ้านของเขาบนดอยสูงแม่ฮ่องสอน

ภาพนี้ถ่ายโดย  :น้องไต๋ Painaima.com 

อะตาผะเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลีซู เป็นเด็กอายุ๗ ขวบ ตัวเล็กๆผอมๆ ที่ยังซนตามประสาเด็ก แต่เด็กคนนี้แตกต่างจากเด็กบนดอยทั่วไปที่เคยเห็น เขากล้า และดูท่าทางฉลาด เมื่อได้หยอกเย้าพูดคุยก็รับรู้ถึงความน่ารักที่บริสุทธิ์ของวัยเด็กของเขา

ผมคุยพ่อของอะตาผะ เขาบอกผมว่า  อะตาผะถูกส่งลงไปเรียนโรงเรียนสงเคราะห์ตั้งแต่ชั้น ป.๑ แล้ว ตอนนี้ ป.๓ แต่ที่กลับมาเยี่ยมบ้านบนดอยครั้งนี้ พ่อเด็กบอกว่าอะตาผะไม่สบาย

ผมสังเกตเด็กชายตัวเล็ก ผอมเห็นแต่ซี่โครง ผิวหนังเป็นตุ่มๆ จ้ำๆ ก็พอเดาเอาว่าที่โรงเรียนกินนอนฟรี (สงเคราะห์) ไม่ค่อยให้ความสนใจเด็กเท่าไหร่ นอกจากเป็นหิดที่เห็นแล้ว ยังดูเหมือนขาดอาหาร ถามเรื่องการเรียนก็ปรากฏว่า ยังอ่านเขียนหนังสือไม่ได้ ทั้งที่อยู่ ป.๓ แล้ว ...

ผมสงสารอะตาผะจับใจ เมื่อเขาเล่าถึงบรรยากาศการกินการอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่า โรงเรียน  ผมเข้าใจว่าอะไรที่ฟรี คุณภาพก็คงต้องตามมีตามเกิด ผลลัพธ์ก็อยู่ตรงหน้าผม ขืนอะตาผะลงไปเรียนต่อไป มีแต่แย่ นอกจากจะเรียนไม่รู้เรื่องแล้ว เขาคงต้องขาดสารอาหาร...ผมตัดสินใจ คุยกับคุณพ่อคุณแม่ของเขา เรื่อง เอาอะตาผะไปเรียนที่บ้านของผม และอยู่กับครอบครัวผม เสมือนสมาชิกหนึ่งในครอบครัว   .....

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๔๑

ในใจผมตอนนั้น ผมคิดเพียงอย่างเดียวว่า  ผมอยากให้โอกาสเด็กชาวเขาที่ด้อยโอกาสสักคน เพื่อวันหนึ่งเขาจะกลับมาพัฒนาบ้านบนดอยของเขา และในตอนนั้นเขาจะเป็นความหวังของคนบนดอย ...คงอีกไม่นานเขาจะกลับมา

อะตาผะถูกส่งเข้าโรงเรียนใกล้บ้านผม เมื่อไปเรียนครั้งแรกเขาอ่านเขียนหนังสือไม่ได้  และพูดภาษาไทยสำเนียงตลกๆพูดไม่ชัดจนเพื่อนล้อ แต่ด้วยความน่ารักของเด็กชายชาวดอยคนนี้ เขาอารมณ์ดี จนชนะใจเพื่อนๆและครู  ทั้งหมดจึงเคี่ยวเข็ญการเรียนอะตาผะอย่างหนัก กลับมาถึงบ้านคุณพ่อผมก็สอนการบ้าน ทุกวันเป็นกิจวัตร ผลการเรียนอะตาผะค่อยๆดีขึ้น จนในที่สุดเขาการเรียนก็กระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ จนเรียนร่วมชั้นเพื่อนได้อย่างไม่มีปัญหา

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วหลังจากจบที่โรงเรียนประถมใกล้บ้าน เขาได้เรียนในโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอที่ผมร่ำเรียนมา อะตาผะตั้งใจเรียนอย่างขยันขันแข็ง เขาเติบใหญ่ขึ้นมาก ดูเป็นหนุ่มตัวโตขึ้น หากนึกย้อนไปไม่กี่ปี เขายังเป็นเด็กตัวเล็กๆที่น่าสงสารอยู่เลย

ผมมีส่วนในการวางแผนการเรียนของเขา ทุกช่วงชั้นเรียน โดยการดูความสนใจและความถนัดของอะตาผะเป็นหลัก ไม่ว่าจะตัดสินใจเรียนไปทางไหน มีครั้งหนึ่งที่ผมให้ความเห็นที่ไม่ตรงกับอะตาผะ เพราะเขาอยากตามเพื่อนไปเรียนวิชาชีพ ปวช. ปวส. ซึ่งผมคิดว่าอะตาผะน่าจะเดินทางสายปกติที่เรียนจบมัธยมและสอบเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เพราะเขามีภาระที่จะต้องไปช่วยคนบนดอยบ้านเขา  เราคุยกันเป็นที่ตกลงและก็ตั้งใจเรียนจนจบชั้นมัธยมปลายที่อำเภอ

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตก็มาถึง  ผมและเขาพร้อมกับพ่อของอะตาผะ นั่งคุยกันว่าระดับอุดมศึกษาน่าจะไปเรียนอะไร? ผมถามย้อนกลับว่า แล้วอะตาผะอยากไปเรียนอะไร และอยากเรียนที่ไหน (ผมตระหนักเสมอว่า อยากให้เป็นที่ๆเขารักและต้องการเรียน ไม่ว่าจะสาขาใด) ตามคุณสมบัติและความต้องการของเขาผมมีสาขาให้เขาเลือกเรียน ในมหาวิทยาลัยราชภัฎแห่งหนึ่งในภาคเหนือ

อะตาผะ ได้สมัครเข้าเรียน ชาติพันธุ์ศึกษาอนุภาคลุ่มน้ำโขง ที่สถาบันชาติพันธุ์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ผมเชื่อว่า สาขานี้จะสร้างบัณฑิตชนเผ่าที่เรียนรู้เรื่องของตนเอง เพื่อกลับไปทำงานพัฒนาบ้านของพวกเขา ด้วยความรู้ทางวิชาการที่สอดคล้องกับวิถีของเขา  และอ่านจากหนังสือแนะนำชองทางสถาบันฯ มีทุนให้กับเด็กชนเผ่าเหล่านี้ด้วย ทั้งค่าเรียน ค่ากินอยู่ และที่สำคัญเป็น นศ.กลุ่มแรกที่เข้ามาเรียนในปีการศึกษา ๒๕๔๙  ประกอบด้วย น้องๆชนเผ่าหลากหลายเผ่า ประมาณ ๑๕ คน

ผมยังจำได้ดีวันที่ผมกับพ่ออะตาผะ ขับรถไปส่งเขาที่เชียงราย เขาแต่งชุดนักศึกษาครั้งแรก ผมรู้ตื้นตันใจมาก ในที่สุดเขาก็มีวันนี้ เขาคือความหวังของทุกคนที่อยู่บนดอยสูง ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นพ่อของเขาบอกว่าไม่ต้องห่วงเขาจะทำงานหนักเพื่อส่งลูกชายเขาให้ถึงฝั่งฝันให้ได้... เงินจากผลิตผลเกษตรที่พวกเขาเก็บหอมรอบริบเพียงพอที่จะส่งอะตาผะเรียนต่อเนื่องไปได้

ผมและเขา ติดต่อกันเสมอ ทางโทรศัพท์ เขามักจะเล่าเรื่องการเรียนให้ฟังอย่างสนุกสนานในเทอมแรก ผมยินดีและให้กำลังใจเขาเรื่อยมา

ช่วงหลังเขาโทรมาคุยบ่อยขึ้น เรื่อง ทุนที่ทางสถาบันที่ว่าจะมีให้ก็ไม่มีแล้ว ที่อยู่หอพักก็อยู่รวมกันอย่างแออัด อาหารการกินก็ช่วยกันทำ ช่วยกันกิน ในกลุ่มเพื่อนๆทั้ง ๑๕ คน และผมทราบมาหลังสุดว่า ค่าเทอมที่แพงแสนแพงใกล้เคียงกับที่ผมเรียนปริญญาโท และอะตาผะต้องรับผิดชอบทั้งหมด ในปีการศึกษาหนึ่งที่ผ่านมาเขาได้เรียนไม่เป็นชิ้นเป็นอันมากนัก...

และวันที่ผมตกใจมาก...อะตะผะเขาโทรมาคุยเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นกับ นศ.ชนเผ่า

คลิ๊ก ข่าว (๑)      นศ.ชนเผ่า มรภ.เชียงราย สุดทนยื่นหนังสือร้อง กสม. สอบ-แฉพฤติกรรมของ ผอ.สถาบันชาติพันธุ์หลอกมาเรียน

 

คลิ๊ก ข่าว (๒)   ศิษย์เก่านศ.เชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ประณาม ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ ราชภัฎเชียงราย

 

คลิ๊กข่าว (๓)    มรภ.เชียงรายแจงรอสอบข้อเท็จจริงกรณี ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ฯลวง นศ.มาเรียน 

 

และวันนี้เขาอยู่ที่เชียงใหม่ เพื่อมาเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาสูญเสียไป

ผมรู้สึกมึนๆ...และพูดไม่ออก สิ่งที่ผมคิดฝันไว้ และความฝันของพ่ออะตาผะ รวมทั้งตัวเขาเองที่กำลังปะติดปะต่อกำลังสิ้นหายมลายลงไป

เรื่องนี้ผมยังไม่คุยกับพ่อของอะตาผะเลย และเขาก็ขอร้องว่าอย่าเพิ่งบอกเรื่องนี้กับพ่อของเขาที่บนดอย เขาจะบอกเองเมื่อเรื่องราวคลี่คลายไปทางที่ดี

เขาบอกผมว่า ผมกลัวพ่อจะเสียใจ

ปลายเดือน มค. ๒๕๕๐ ที่เชียงใหม่

หนุ่มน้อยลีซู  อะตาผะ หรือ นายสรวิชญ์ เปรมวชิระนนท์ หนึ่งใน นศ.ชาติพันธุ์ จำนวน ๑๕ คนที่ยื่นเรียกร้องขอความเป็นธรรม ในเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

การตอกย้ำซ้ำเติม ที่พี่น้องชนเผ่า ที่ด้อยโอกาส ถูกทำให้เสียโอกาส ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งแรก แต่ทุกครั้งที่กรณีแบบนี้กลุ่มชนเผ่ายอมที่จะไม่ต่อสู้ และให้เรื่องมันเงียบหายไป


ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมมองว่านี่ เป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญ เป็นทุนที่ทำให้กลุ่มน้อง นศ.ชนเผ่า ได้เรียนรู้ต่อสู้ร่วมกัน เพื่อความสันติและเท่าเทียม


หมายเลขบันทึก: 76584เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2007 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)
  • แล้วปัจจุบันน้องเค้ายังได้เรียนต่ออยู่ใช่มั้ยค่ะ สถาบันยังคงจัดการเรียนการสอนต่อไปใช่มั้ยค่ะ
  • อ่านแล้วเป็นห่วงความรู้สึกพ่อเค้ามาก เพราะเค้าน่าจะเป็นความหวังที่สำคัญของครอบครัว
  • บทเรียนนี้เป็นสิ่งสำคัญ เป็นกำลังใจให้น้องเค้าประสบความสำเร็จนะคะ

คุณกาเหว่า 

น้องอะตาผะ เป็นความหวังของครอบครัวครับ เพราะเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ลีซูจะให้ความสำคัญกับลูกชายมาก

พ่อเขาทุ่มเทครับ เท่าที่ผมรู้จักมากว่า ๑๐ ปี

ส่วนน้องก็ประพฤติตัวดี น่ารัก และเชื่อฟังผมด้วยตลอดมา

เรื่องเรียนต่อเนื่อง ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนครับ ..ยังไม่ได้มีการพูดกัน คิดว่าคงมีทางออกที่ดีในเร็วๆนี้

เขาบอกกับผมล่าสุดว่า อยากมาเรียนที่เชียงใหม่ หมายถึง มรภ.เชียงใหม่ อาจจะลาออกจากตรงนั้นมาครับ ..ผมก็ให้เขารอดูสถานการณ์ไปก่อน เพราะช่วงนี้ปิดเทอมอยู่

ผมคิดว่าคงมีเรื่องดีๆเกิดขึ้นหลังจากนี้ครับ

อ่านแล้ว มองเห็นถึงสิทธิมนุษย์ชนและความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยครับ
ที่หลายคนยังมองคนอีกกลุ่มเหมือนเป็นคนละพวก คนละชนชั้น

ความพยายามของคนอีกกลุ่มมักจะถูกมองอย่างไม่ให้ความสำคัญมากนัก

ความพยายามในการเรียกร้องสิทธิต่างๆทั้งของชาวเขา จนถึงคนพิการ เรื่องราวการต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิที่พึงจะได้ น่าประทับใจทั้งสิ้นครับ ตั้งแต่เรื่องคนพิการทางร่างกายสอบที่เป็นเนติบัณฑิตแล้วไม่ได้รับการยอมรับให้เข้าทำงาน มาจนถึงเรื่องของพระสงฆ์ที่ให้ความรู้ทางหลักธรรมะแก่ชาวต่างชาติ ที่ถูกมองว่า ทำได้อย่างไร เพราะพระสงฆ์พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่มีใครในชุมชนยอมรับ

พระสงฆ์ท่านจึงบอกว่า คนเราแต่สั่งให้ควายทำนา ไถนาได้
แล้วใครมีที่พูดภาษาควายได้บ้าง

น้อง  บอน!-กาฬสินธุ์

ความไม่เท่าเทียมเป็นปรากฏการณ์สามัญของสังคมเลยครับ

ด้วยอัตตา ด้วยการแบ่งพวก แบ่งกลุ่มทำให้มนุษย์เราห่างกันไปทุกที

ไม่ใช่แค่นั้นยังมีการข่มเหงของคนที่มีกำลังมากกว่า และมีพร้อมกว่าตลอดเวลา

ความเท่าเทียม เป็นเหมือนสิ่งที่เรียกร้องมาโดยตลอด และดีขึ้นในช่วงหลังๆครับ

ปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ มรภ.เชียงราย ยังไม่ได้สรุปที่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ อะตะผะ โทรมาคุยกับผมก่อนเที่ยงนี้ว่า ตัดสินใจแล้วที่จะไม่เรียนต่อที่นั่น และปรึกษาผมเรื่องที่เรียนแห่งใหม่ และพ่อของน้องก็ทราบเรื่องแล้ว ให้น้องอะตาผะมาคุยกับผมก่อน

เราก็ให้กำลังใจกันไป......ครับ

เป็นการเรียนรู้ครับ

 

รายชื่อนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หลักสูตรชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 

 

  ชื่อ-นามสกุล                             กลุ่มชาติพันธุ์                ภูมิลำเนาเดิม

1.น.ส.อรวรรณ ไพรคีรี พฤกษา        ปกาเกอญอ                     เชียงใหม่

2.นายจีรศักดิ์ วังชัย                       ลัวะ                               น่าน

3.น.ส.เบญจพร หอมดอก               ลัวะ                               น่าน

4.น.ส.ศิริพร รัตนคีรีกุล                  ปกาเกอญอ                     เชียงใหม่

5.นายสรวิชญ์ เปรมวชิระนนท์          ลีซู                                แม่ฮ่องสอน

6.นายสุริยัน สินลี้                         ลีซู                                แม่ฮ่องสอน

7.นายประสิทธิ์ ศรีใส                     ลัวะ(ปลัง)                       เชียงราย

8.น.ส.ศิริพรรณ อัสนีวิจิตร              ลาหู่                               แม่ฮ่องสอน

9.นายรอด อาจารย์                       ดาราอ้าง                         เชียงใหม่

10.นายกิตติพงษ์ ขัตติ                   ลัวะ                               น่าน

11.น.ส.พัชรินทร์ พฤกษาฉิมพลี       ปกาเกอญอ                     เชียงใหม่

12.น.ส. สนทนา มณีรัตนชัยยง        ปกาเกอญอ                     เชียงใหม่

13.น.ส.นิภา แซ่ลิ้ม                       ลัวะ                               น่าน

14.นายสุรพจน์ มงคลเจริญสกุล       ปกาเกอญอ                     เชียงใหม่

15.นายจะอือ ปะป่า                       ลาหู่                               เชียงราย

 

ภาพจาก : http://www.prachatai.com/

ตัวแทน นศ.ชาติพันธุ์ ฯได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เพื่อขอความเป็นธรรม

เห็นด้วยครับ ที่ลาออก
การไปเรียนที่อื่น อาจจะได้รับโอกาสที่ดีมากกว่านี้ครับ
คนๆนั้นใน มรภ.เชียงราย  ก็.....เกินไปจริงๆ


สรุปว่า น้องอะตาผะ ลาออกคนเดียวหรือมีเพื่อนคนอื่นๆในกลุ่มออกด้วยครับ ?

 

น้อง บอน!-กาฬสินธุ์

ผมยังไม่ทราบเรื่องของน้องท่านอื่นๆ แต่ทราบว่า พวกเขามีการคุยกันว่า หากไปไหนก็อยากไปด้วยกัน เพราะรักและผูกพันกัน ครั้นจะให้กลับไป สถาบันเดิมก็คงไม่มีความสุขที่จะอยู่ จะเรียนแล้ว

มีเพื่อน ชาว ดาระอั้ง ที่เป็นเพื่อนสนิทของ สรวิชญ์ ที่อยากไปเรียนด้วยกัน หมายถึงว่าไปไหนไปด้วย ประมาณนั้น

สรวิชญ์ เล่าให้ผมฟังว่า ทุกคนผูกพันกันมาก เรียนรู้และอยู่ด้วยกันมาตลอด

คาดว่าจะมีทางออกที่ดีให้กับน้องๆกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มนี้ครับ

และ ผมก็หวังว่า สิ่งที่เกิดขึ้น มองในมุมบวก ก็เป็นเหตุการณ์ที่สอนใจ และ เกิดกระบวนการเรียนรู้ให้กับสังคม

หากใช้ KM เข้าจับ ผมว่าจะได้ประโยชน์ต่อการเคลื่อนตรงนี้อีกมากครับ

ขอบคุณครับ สำหรับ ข้อคิดเห็น ที่ผมหมายถึง กำลังใจที่ให้มา ให้น้องๆชนเผ่า กลุ่มชาติพันธุ์

มาฝากรอยว่าติดตามเรื่องราวค่ะ...และอยากจะบอกว่าชื่นชมคุณจตุพรที่ช่วยเหลือและให้โอกาสน้องอะตาผะ.....แต่เรื่องสถาบันแห่งนั้นบอกได้อย่างเดียวว่าเศร้าใจ.....

หากทั้งหมดไปไหนไปด้วยกันแล้ว พี่เอกจะต้องคอยเป็นที่ปรึกษาเรื่องที่เรียนใหม่ให้กับทุกคนหรือเปล่าครับ
ดูแล้วเป็นปัญหาใหญ่พอสมควรเหมือนกันนะครับ

หลายสถาบัน เมื่อได้ข่าวคราวของนักศึกษาที่ย้ายมาว่า ก่อนเหตุประท้วงก็มักจะไม่กล้าที่จะรับเข้าศึกษาต่อ กลัวว่า จะมาก่อเหตุเช่้นเดียวกัน โดยไม่ไ่ด้มองถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น

ยังไงก็ขอให้น้องๆชนเผ่าที่ตัดสินใจย้ายที่เรียนทุกท่าน ได้ที่เรียนใหม่ทุกท่านนะครับ

ขอบคุณอาจารย์ paew 

ที่สุดแล้ว "อะตาผะ" ก็เหมือนน้องชายที่ผมรักคนหนึ่ง เขาเป็นต้นกล้าของคนบนดอย ที่มีอุดมการณ์ ผมเชื่ออย่างนั้น เขาซึมซับสิ่งดีๆ จากสิ่งแวดล้อมที่เขาพบเจอมามากเหมือนกันครับ

ผมอยากให้กำลังใจเขา และช่วงนี้ก็โทรคุยกับเขาทุกวันครับ...

พ่อเด็กทราบเรื่องแล้วครับ...พ่อเขาก็บอกอะตะผะว่าให้คุยกับผมว่าจะเดินทางยังไงต่อ ผมก็สบายใจว่า พ่อของอะตะผะ เข้าใจดีว่า เกิดอะไรขึ้นและจะไปต่อยังไง

 

 

น้องบอน!-กาฬสินธุ์

ผมคิดว่า ทางผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้ แม้กระทั่งเครือข่ายผู้รู้กลุ่มชาติพันธุ์มีทางออกที่ดีให้กับเด็กๆครับ

หากเป็นที่ปรึกษาเรื่องที่เรียนให้กับเด็กทั้งหมดผมก็ไม่มีปัญหาครับ แต่ผมคิดว่าเขาควรต้องได้รับการชดเชยจากเหตุการณ์นี้

สรวิชญ์ บอกผมว่า เขาอยากเรียน "พัฒนาสังคม " หรือ "พัฒนาชุมชน" และผมก็เห็นว่ามี มรภ.อีกหลายแห่งที่มีสาขานี้ หากเขาต้องการ สนใจ ผมก็สนับสนุนได้ครับ

คิดว่าสถานศึกษาแห่งใหม่ใจกว้างพอที่จะรับเด็กชนเผ่าเหล่านี้ครับ เพราะ ตามเหตุผลแล้ว การต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรม เป็นสิ่งที่ชอบ ของผู้ที่ถูกกระทำ

 

ขอบคุณค่ะ สำหรับการแบ่งปันประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง

เมื่อปี 2545  เคยได้รับเรื่องราวเรื่องกลุ่มชาติพันธ์จากน้องจากจุฬาฯ คนหนึ่ง   เขาเล่าถึงประสบการณ์การต่อสู้ เรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม และการเสียสละที่จะละทิ้ง เงินทอง ชื่อเสียง ที่อยู่เบื้องหน้า  เพื่อที่จะเข้าไปร่วมงาน ช่วยเหลือ เรียกร้องสิทธิกลุ่มชาติพันธ์  หากหาเจอบันทึกที่น้องเขาส่งมาให้จะนำมาแลกเปลี่ยนนะคะ

อาจารย์ ปทุมารียา ธัมมราชิกา

ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ร่วมกันครับ อาจเป็นประสบการณ์ที่ดี และไม่ดี ก็เป็นวิถีแห่งการเรียนรู้ได้ท้งหมด เป็นทุนนำไปแก้ไขปัญหาอื่นๆได้

ยินดีสำหรับการแลกเปลี่ยนครับ เรื่องราวของ"คนชายขอบ" ยังมีอีกมากครับในสังคมนี้ ความไม่เท่าเทียมก็มีให้เห็นเรื่อยๆเช่นกัน

 

 

ไหนบอกว่าไม่เก่งภาษาปะกิตไงค่ะ....หน้าประวัติเต็มไปด้วยภาษาปะกิตหมดเลย.....สวยมากด้วย หมายถึง blog นะค่ะ....ทำยังไงค่ะดอกไม้สวยๆเป็น background.......

อาจารย์ paew

ในส่วนประวัติเป็น resume ที่ผมใช้สมัครงานครับ จริงๆผมยังไม่ได้ update ครับ

ผมอยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้เก่ง ถึงขั้นสื่อสารเหมือนนักข่าว คุณ...(เนชั่น) ที่สัมภาษณ์ มหาเธร์ ในทีวีเมื่อคืนครับ

ส่วนการทำ background ไม่ยากครับ โหลดรูปที่เราต้องการ(ชอบ) ลงในไพล์อัลบั้มของเรา ก็นำไปใช้ได้ ตามรายละเอียดที่ นี่  ผมส่งให้น้องบอนครับ

 

Thank you so much.  I will try and let you know the result na ka.  ลองซ้อมๆฝึกเขียนภาษาอังกฤษดูค่ะ....ขอบคุณค่ะ

มาเยี่ยม...ผมอยากให้โอกาสเด็กชาวเขาที่ด้อยโอกาสสักคน เพื่อวันหนึ่งเขาจะกลับมาพัฒนาบ้านบนดอยของเขา และในตอนนั้นเขาจะเป็นความหวังของคนบนดอย ...คงอีกไม่นานเขาจะกลับมา

ผมชอบมุมคิดนี้...

ถึงแม้ปลายทางชีวิตนั้นอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดไว้ก็ได้...

 

  • คุณจตุพรครับ หน้าประวัติ background สีเท่ห์มากครับ
  • มหาวิทยาลัยบางครั้งตอนเข้ากับความเป็นจริงไม่เหมือนกันครับ เดี๋ยวนี้ marketing กันเยอะเกินไปครับ เห็นใจน้อง ๆ จริง ๆ ครับ

ขอบคุณอาจารย์ paew ครับ

คิดจะตอบเป็นภาษาอังกฤษแต่เขียนไม่ไปแล้วครับ ...ผลเป็นยังไง(การตกแต่ง Blog) นำมาอวดผมบ้างนะครับ

 

 

อาจารย์ ดร.อุทัย umi

นั่นเป็นความหวังหนึ่งของผมครับ :)

 

 

Aj Kae

หน้าประวัติที่อาจารย์บอก คือที่ประวัติส่วนตัวใช่มั้ยครับ ...

ต้องขอบคุณท่านผู้พัฒนาระบบครับ ที่ให้เราสามารถตกแต่ง ในบางส่วนของประวัติได้ครับ

เข้าใจว่า สถานศึกษา(เกือบ)ทุกแห่ง ต้องการที่จะอยู่ให้ได้ เลย marketing กันทั่วหน้า ผมคิดว่าที่สุดแล้วมาตรฐานการศึกษา และคุณภาพของคนที่ผ่านระบบนั้น สำคัญมาก ...แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ครูเอก ครับ  

ครูยังมีเวลาเหลือที่ว่างเว้นจากการทำงาน การเรียนรู้ อยู่อีกบ้างเปล่าครับ  ถ้ามี  ผมมีไอเดียให้ครูครับ ครูไม่ลองเขียน นวนิยาย หรือ  พ๊อกเก็ตบุ๊ก บ้างไม่ดีเหรอครับ  อย่าง  "อะตาผะ"  หรือ "คนชายขอบ"  ผมว่า ข้อมูลดิบที่ครูมีอยู่  สามารถนำไปแต่ง ได้ทั้งสาระความรู้ และ อรรถรส

    อย่าง "อะตาผะ" ผมอ่านแล้วยังคิดว่าตัวเองกำลังอ่านนวนิยาย รู้สึก in ไปในเรื่องราวดังกล่าวด้วยซ้ำไป ครับ

 

พี่ไข่นุ้ย

หนังสือที่ผมผมเขียนกำลังจะออกเร็วๆนี้ครับ หากเสร็จเมื่อไหร่ ผมจะแจ้งให้ทราบนะครับ

ขอบคุณที่ติดตามมาโดยตลอดครับ คำติชม เป็นเหมือนกำลังใจที่ให้คนเขียนBlog ผลิตบันทึกใหม่ๆครับ

 

  • สวัสดีครับคุณเอก...
  • สบายดีนะครับ
  • อ่านบันทึกนี้แล้วยังอยากจะย้ำแนวคิดที่ว่า

คุณค่าความเป็นคน

สูงส่งสักแค่ไหน

ต้อยต่ำสักปานใด

ล้วนอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน

      ขอบคุณครับ...

ย้ำอีกทีได้ไหม

คุณค่าความเป็นคน

สูงส่งสักแค่ไหน

ต้อยต่ำสักปานใด

ล้วนอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน

สุดท้าย "ดินกลบหน้าเหมือนกัน"

ขอบคุณครับ คุณ แผ่นดิน

อ่านแล้วเศร้าครับ...

เขาน่าจะได้รับโอกาสมากกว่านี้...

เพื่อจะได้กลับไปพัฒนาท้องถิ่น...

คุณ Mr.Direct

ช่วงนี้ข่าวเรื่องของ น้องๆก็เผยแพร่ทางสื่อตลอดเวลา แต่ก็น่าแปลกว่า การดำเนินการยังไม่คืบหน้าไปทางไหน ทาง มรภ.ยังยืดยื้อ ...ซึ่งไม่เป็นผลดี

อะตาผะ เขาเป็นเด็กที่ผมเห็นตั้งแต่เล็ก ผมเพิ่งได้ยินจากปากเขาว่า "เขาเหนื่อยมาก" กับเรื่องนี้

ผมสมัครเรียนที่แห่งใหม่ให้แล้วครับ...(ตามประสงค์ของอะตาผะ)

ทาง เครือข่ายสิทธิฯ ก็กำลังดำเนินการอยู่ครับ คาดว่าน่าจะมีทางออกที่ดีร่วมกัน

วันที่ ๓ มีนาคน ๕๐ เป็นคล้ายวันเกิดของ อะตาผะ ครับ วันเกิดปีนี้เขาได้เรียนรู้อะไรมากมาย จนเมื่อไม่กี่วันเขาได้เดินทางไปกรุงเทพครั้งแรกในชีวิต ไปร้องเรียนกับครูหยุย

มองในแง่ดีก็เป็นการเรียนรู้ ผมบอกอะตาผะแบบนั้น

 

 

  • ฝากกำลังใจให้อาตะผะด้วย
  • ถ้าคนทำร้าย เอาเปรียบ เด็กๆ ยังลอยนวล 
  • ความรู้สึกของพวกเราทุกคน ที่อ่านหรือรู้เรื่องนี้คงแย่ไปด้วย 
จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

เรียน ท่าน ศน.ลำดวน  

ตอนนี้ อะตาผะ ไปเรียนต่อที่ มรภ.เทพสตรี สาขา รัฐประศาสนศาสตร์ ครับ

เขาสุขสบายดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท