“วิกฤต” เหตุผลักดัน “การเรียนรู้”


ในหลายๆ คน, กลุ่มคน, ชุมชน หรือองค์กร ที่มี “การจัดการความรู้” ก็เพราะต้องเจอกับ “วิกฤต” มาก่อนซึ่งนับได้ว่าเป็นแรงผลักดันสูง

          เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเยี่ยม  “โรงเรียนกุ้งชีวภาพ แห่งหนึ่ง ที่ อ.บ้านสร้าง  จ. ปราจีนบุรี  (ใช้สถานที่ฟาร์มของคุณบังอร  มั่งมี,  มีนักเรียน 7 คน)  ซึ่ง ธกส. ได้ริเริ่มขึ้นมาและจัดงบสนับสนุน   คุยไปคุยมาทำให้นึกเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์ในวงการกุ้งที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มเรียนรู้ของกลุ่มเกษตรกรที่เห็นในวันนี้

       ถ้าใครอยู่ในวงการกุ้ง หรือติดตามข่าว ก็จะรู้ว่ากุ้งไทยเจอ วิกฤตมากแค่ไหนเมื่อ 4-5 ปีก่อน  ตั้งแต่ยุโรปสั่งงดนำเข้ากุ้งไทย เพราะตรวจพบว่ามีสารพิษตกค้างเกินกำหนดในปริมาณสูง(สารปฏิชีวนะ, ไนโตรฟลูแรน, ฯลฯ) ซึ่งเหล่านี้ก็หลงเหลือมาจากการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงทั้งนั้น   แถมยังเจออเมริกาฟ้องข้อหาไทยทุ่มตลาดกุ้งเข้าไปอีก   ผลกระทบทำให้กุ้งราคาตกต่ำมาก ส่งออกไม่ได้ เกษตรกรขาดทุนจนต้องกู้หนี้ยืมสิน  ห้องเย็น บริษัทขายอาหาร-ยากุ้ง เสียหายขาดทุนไปตามๆ กันเป็นลูกโซ่   ต้องปรับตัวกันยกใหญ่มาใช้ระบบชีวภาพ  ทั้งเกษตรกรก็เปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งแบบชีวภาพ  บริษัทขายอาหารและสารเคมี ก็หันมาวิจัย, ผลิตจุลินทรีย์ชีวภาพขายแทน  แต่กระนั้นการเลี้ยงกุ้งชีวภาพก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะการเลี้ยงกุ้งอย่างหนาแน่นในฟาร์มจะเจอกับปัญหาโรคกุ้งสารพัด, กุ้งตาย, กุ้งไม่โต (นี่เป็นสาเหตุหนึ่งของการใช้ยาสารเคมีต่างๆ)  ต้องหาทางแก้กันไม่หวาดไม่ไหว ดังนั้นการสามัคคีกันรวมกลุ่มกันเรียนรู้ จึงเป็นทางรอดทางออกที่สำคัญของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง

         และด้วยเหตุนี้  ธกส. เองซึ่งเป็นนายทุนปล่อยกู้ให้กับกลุ่มเกษตรกร  ก็ได้เห็นแล้วว่า  การสนับสนุนให้เงินทุนกับเกษตรกรอย่างเดียวคงไม่พอ  ในเมื่อเกษตรกรลงทุนทำฟาร์มกุ้ง แล้วขาดทุนอยู่เรื่อย แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้   ธกส. จึงหันมาใช้แนวคิดของ โรงเรียนชาวนามาทำกับเกษตรกรกุ้งบ้าง   โดย ธกส. ได้เปิดรับกลุ่มอาสาสมัครในแต่ละพื้นที่เข้าร่วมตั้ง โรงเรียนกุ้งชีวภาพ ขึ้นมา  ให้งบสนับสนุนเป็นอาหารเลี้ยงกุ้ง   มีการจัดประชุมกลุ่มหรือมาเรียนกันเดือนละ 2 ครั้ง ห่างกัน 2 อาทิตย์  โดยมาเล่าสถานการณ์, ปัญหาของฟาร์มกุ้งตนเองที่เจอ และร่วมกันหาทางแก้ปัญหาจากกลุ่ม     มีบ่อตัวอย่างทดลองของโรงเรียนให้นักเรียนเกษตรกรร่วมกันเลี้ยง, ดูแล, ทดลองและเรียนรู้     นอกจากนี้ ธกส. ได้จัดพากลุ่มนักเรียนเกษตรกรไปดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงกุ้งชีวภาพและฟาร์มกุ้งอื่น เพื่อเอากลับมาปรับใช้เอง  โดยอาหารกุ้งที่ให้แทนงบสนับสนุนก็ได้จากการไปดูงานแล้วกลับมาตั้งโรงงานทดลองผลิตทดลองใช้กันเอง

          โครงการนี้ของ ธกส. เพิ่งเริ่มมาไม่นานในพื้นที่เลี้ยงกุ้งต่างๆ (รร. ที่ไปดูเป็นรุ่น 2) แม้ยังมองไม่เห็นผลสำเร็จที่ชัดเจน  และยังต้องแสดงผลงานให้เกษตรกรกุ้งมั่นใจว่า การรวมกลุ่มกันเรียนรู้เป็นโรงเรียนกุ้งชีวภาพจะทำให้เขาได้ความรู้ดีๆ ไปใช้ในการทำฟาร์มกุ้งให้ประสบความสำเร็จ      แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการใช้พลังการเรียนรู้ของกลุ่มเพื่อข้ามวิกฤตที่เกิดขึ้น แล้วมุ่งหน้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้   ซึ่งเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งก็ยังคงมีความหวังว่าธุรกิจกุ้งจะกลับมาดีและทำกำไรให้มากเหมือนเดิม

            จากเรื่องราวที่ได้พูดคุยในวันนั้น   แล้วลองย้อนกลับมานึกดู ก็พบว่า ในหลายๆ คน, กลุ่มคน, ชุมชน หรือองค์กร ที่มี การจัดการความรู้  ก็เพราะต้องเจอกับ วิกฤต มาก่อนซึ่งนับได้ว่าเป็นแรงผลักดันสูง  และต้องใช้พลังของกระบวนการเรียนรู้เป็นกลุ่ม/ เครือข่าย เพื่อสร้างความอยู่รอด จนกระทั่งประสบความสำเร็จ     เอ!  แต่ถ้ากลุ่มที่ยังไม่เกิดวิกฤตหล่ะ   เขาจะรู้สึกว่าต้องใช้ การจัดการความรู้หรือไม่     หรือจะต้องรอให้เกิดภาวะวิกฤตขึ้นเสียก่อน ซึ่งคงไม่ดีแน่ค่ะ     

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 760เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2005 07:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ฟังที่เ่ล่ามาแล้ว ผมนึกถึงบทความที่เคยอ่านได้เรื่องหนึ่ง
เขามองแง่ร้ายว่า คนส่วนใหญ่จะไม่เรียนรู้ เพราะการเรียนรู้นั้นมี
ความอึดอัดใจในการเรียนรู้ (Learning Anxiety) ที่เกิดจาก การ
เปลี่ยนวิธีทำงาน ความไม่แน่ใจว่าวิธีใหม่จะสำเร็จ ความกลัว ฯลฯ
ดังนั้น ในสภาวะปกติ คนมักจะทำอะไรไปในแบบเดิมๆ อย่างที่เคยทำมา
เรียกว่า เรียนรู้ทำไมอยู่เฉยๆ สบายกว่า

คนจะเริ่มหันมาเรียนรู้ ก็ต่อเมื่อ "มีวิกฤต" คือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือน
ต่อความอยู่รอด เป็นความอึดอัดใจว่าจะไม่รอด (Survival Anxiety)
กังวลว่า พอวิกฤษมา ฉันคงตายแน่ เมื่อใดที่ Survival Anxiety มากกว่า
Learning Anxiety คนก็จะเริ่มเรียนรู้ เพราะเรียนแล้วแก้ปัญหาได้
แม้จะทุกข์ระหว่างเรียนบ้าง ก็ยอมทน เรียกว่า Learn or Die ก็จะ learn

ผมไม่ได้เห็นด้วยกับทฤษฏีนี้ทั้งหมด แต่ฟังแล้วก็พอมีเหตุผลดี
ลึกๆ ผมยังเชื่อว่า คนเรามีเมล็ดพันธุ์แห่งการเีรียนรู้ คือมีความสงสัย ใฝ่รู้อยู่
มีมากน้อยไม่เท่ากัน คนบางกลุ่มจึงชอบเรียนรู้มาก บางกลุ่มมีน้อยก็ไม่ชอบ
เรียนรู้เท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเฉื่อยเฉยไปซะหมด

โย่ว โย่ว

อิอิ

ไม่ได้แย้งอะไรแต่อยากให้ข้อมูลเพิ่มเติม "โรงเรียนกุ้งชีวภาพ" ใช้การจัดการความรู้อย่างไร

ทึ่มาที่ไปของ"โรงเรียนกุ้งชีวภาพ" เกิดจากการที่ ธ.ก.ส.ไม่อยากให้หนี้สูญ จึงเข้าไปหาวิธีให้เกษตรกรมีทางออก และสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง   (เกษตรกรอยู่ได้จะได้มีเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส.)และทางหนึ่งนั่นคือการผุดโครงการนี้ขึ้นมา 

       การเลี้ยงกุ้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนอกจากลงทุนสูงถึง ตั้งแต่ 500,000 - 1,000,000 บาท เป็นอย่างน้อยแล้วซึ่งคนที่ไม่มีทุนรอนของตัวเอง ไม่มีที่นาหรือที่ดินสำหรับทำบ่อเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามา การเลี้ยงกุ้งจึงเป็นความเสี่ยงที่ ชาวบ้านบอกว่าถึงจะเสี่ยงแต่หาก"รอด"หมายถึงกุ้งเติบโตดีและสามารถจับขายได้ในช่วง 120 วัน (ปกติหากได้ขนาด 60-70 ตัว/กก.) ก็ถือว่าคุ้มมาก ๆ  เพราะกำไรจากมากกว่าเท่าตัว ถึงขนาดที่เกษตรกรบางรายถึงกับยืนยันว่า นอกจากการขายยาบ้าก็เลี้ยงกุ้งนี่แหละที่รายได้ดี "รวยได้" ถ้ามีความรู้และเลี้ยงเป็น   และการเลี้ยงกุ้งก็ไม่ต้องเหนื่อยยากเหมือนการทำนา เพียงแต่ต้องอาศัยการใส่ใยดูแล ให้อาหารและสังเกตุการเติบโตของกุ้งอย่างใกล้ชิด การเลี้ยงกุ้งจึงเป็นความเสี่ยงที่น่าทำ  และแม้จะเกิดวิกฤติกับอาชีพการเลี้ยงกุ้งที่ผ่านมา แต่เกษตกรก็ยังยืนยันว่าเป็นอาชีพที่น่าทำ

          และเมื่อไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อ ธ.ก.ส. เข้ามาเสนอทางเลือกที่ว่าจะสามารถลดต้นทุนสำหรับการเลิ้ยงกุ้ง  จากแนวทางเดิมที่ใช้เคมีมาเป็นแนวทางของเกษตรชีวภาพ และมีการสนับสนุนทุนในการจัดหาอาหารกุ้ง การแสวงหาความรู้ และทดลองเรียนรู้(ลงมือปฎิบัติจริง)ในแปลง/บ่อเลี้ยงที่ใช้ชื่อว่าเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งของโรงเรียน ที่สมาชิกจะได้มาเรียนรู้ร่วมกันหรือทดลอง ควบคู่ไปกับการเลี้ยงในบ่อของตนเอง  ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การสนับสนุนและติดตามอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ที่พยายามพาไปดูงานที่โน่นที่นี่

           ทั้งนักเรียนโรงเรียนกุ้งชีวภาพ และธ.ก.ส. จึงเป็นผู้ปฎิบัติที่อยู่ระหว่างการรอผลเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการเลี้ยงกุ้งในแนวทางนี้จะทำให้เกษตกรลดต้นทุน (สำหรับเกษตกรผลการเลี้ยงกุ้งในรุ่นแรกยืนยันว่าต้นทุนลดลงจากเดิมที่เคยลงทุนเป็นแสน ๆ หรือหลาย ๆ แสน ก็เหลือเพียงแค่ 2 หมื่นบาท และเหลือกำไรประมาณกว่า 150,000 บาท ซึ่งสัดส่วนของกำไรไม่แตกต่างจากการใช้สารเคมีในรูปแบบเดิมแต่ทุนจะมากกว่าหลายเท่า) ผลการทดลองในการเลี้ยงกุ้งรุ่นที่ 2 จึงเป็นข้อยืนยันที่จะสร้างความมั่นใจก่อนจะขยายโรงเรียนกุ้งชีวภาพไปสู่พื้นที่อื่น ๆ  ซึ่งสิ่งที่เห็นผลสำหรับ ธ.ก.ส.คือการเปลี่ยนแนวคิดหรือทัศตคติต่อการเลี้ยงกุ้งแบบเดิมที่เกษตรกรตระหนักแล้วว่า "ก่อหนี้สิน"ให้กับตนแต่ก็ยังจำเป็ฯต้องทำเป็นอาชีพต่อไป มาเป็นการเลี้ยงแบบชีวภาพที่พึ่งพิงตนเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมมือรวมกลุ่มร่วมกันพัฒนาการเลี้ยงกุ้งที่มีต้นทุนต่ำ ลดภาระหนี้สิน 

            ฟังจากคุณบังอร ซึ่งสมาชิกตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนกุ้งชีวภาพ เล่าอย่างฉาดฉาน คือ ตัวเธอและสมาชิกให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่จุดใหญ่ก็ยังเป็นการทำตามแบบอย่างที่ได้ไปเรียนรู้ดูงาน โดยเฉพาะความรู้และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในแนวของ อ.วิวัฒน์  ศัลยกำธร (วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ที่มีความประทับใจแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างมาก อดีตเขาเคยเป็นผู้อำนวยการ กองสำนักงานโครงการพระราชดำริ แต่ปัจจุบันเขาเป็นชาวนา  อ.วิวัฒน์เคยทำงานรับใช้ในหลวงมาตั้งแต่ปี 2524-2539ทำหน้าที่จดบันทึกพระราชดำริทุกอย่าง และ ดำเนินงานที่พระองค์สั่ง เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ และเกษตร ทั้งยังได้เห็นพระปรีชาญาน อัจฉริยะภาพ และ พระราชอารมณ์ขันของพระองค์ ต่อมาเขาได้ศึกษาแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มเติม และไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ แต่คนมักจะท้าทายว่าจะทำได้จริงหรือ ดีแต่พูด ประกอบกับความไม่เห็นด้วยกับระบบราชการ เขาเลยตัดสินใจลาออกมา ทำนา ทำสวน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพิสูจน์ และเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ทำได้จริง มีความสุข และ มีเงินพออยู่ได้  

เขาเริ่มบนพื้นที่เปล่า 3 ไร่ที่เป็นดินทราย แห้งแข็งเป็นซีเมนต์ ปลูกอะไรไม่ได้ จนตอนนี้ขยายเป็น 40 ไร่ มีสวนสมุนไพร,ไม้ป่า,ไม้กิน และ นาข้าว (ที่ออกรวงสวย) ปลอดสารพิษ 100 % ต่อมาได้เปิดเป็นศูนย์ฝึกอบรมความรู้เรื่องเกษตรกรไร่สารพิษ และ เศรษฐกิจพอเพียง ปัจจุบัน เพิ่งก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่องและชัดเจน )ซึ่งได้ถ่ายทอดเทคนิค สูตรการทำอาหารกุ้ง การทำน้ำหมักชีวภาพ และอื่น ๆ ให้กับเกษตรกรไปทดลองทำเองโดยไม่หวงความรู้

                สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการจัดการความรู้โรงเรียนกุ้งชีวภาพ คือ

1.     ธ.ก.ส. ซึ่งอาจเล่นบทบาทคุณอำนวย ที่จะคอยอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ ที่จะทำให้โรงเรียนกุ้งชีวภาพต้นแบบนี้ขยายต่อไปได้ ด้วยการนำ กระบวนการจัดการความรู้เข้าไปใช้อย่างเข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่

2.  ผู้ปฎิบัติคือบรรดานักเรียนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งที่เป็นสมาชิกของโรงเรียนกุ้งชีวภาพ หรืออาจเป็นสมาชิกนอกโรงเรียน อาทิ โรงเรียนกุ้งอีก 4 แห่งในพื้นที่ รวมทั้งสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่มีทั้งกลุ่มจักรสาน กลุ่มทำนา เป็นต้น ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย

3. กระบวนการของโรงเรียนกุ้งชีวภาพ อาจเป็นเพียงจุดเริ่มของการนำกระบวนการจัดการความรู้เข้ามาใช้ เพื่อพัฒนาอาชีพการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืนในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากในกลุ่มนี้มี"ผู้นำ"ที่มีลักษณะของการเป็น คุณกิจที่ใฝ่หาความรู้ และพร้อมจะขยายความรู้ไปสู่การปฎิบัติจริง รวมทั้งการถ่ายทอดสู่เพื่อนสมาชิก ( ลักษณะของคุณบังอร คือเป็นคนช่างพูดช่างคุย และเก็บรายละเอียดเรื่องราวที่ได้พบมาเล่าอย่างละเอียดทุกขั้นตอน แม้จะสอดแทรกความรู้สึกนึกคิดของตนเองเข้าไปบ้าง  และการถ่ายทอดเรื่องราวของคุณบังอรไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มนักเรียนสมาชิกแต่ยังรวมถึงสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจะด้วยเหตุใดไม่รู้แต่สมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 40 คนเมื่อเริ่มก่อตั้ง เป็น 60 คนในปัจจุบัน และร่วมกันสร้างระบบบริหารจัดการที่เอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกเพื่อการมีชีวิตอย่างมั่นคง โดยเฉพาะการผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้งและน้ำหมักชีวภาพ ที่ต้นทุนต่ำ ราคาถูก จำหน่ายแก่สมาชิกและเป็นรายได้ของกลุ่มที่จะนำไปจัดสวัสดิการอื่น ๆ ให้กับสมาชิก)

สรุป   จุดเริ่ม ๆ ของกระบวนการจัดการความรู้ในกลุ่มโรงเรียนกุ้งชีวภาพ คือ มีการนำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปเป็นกิจกรรมสำคัญของการเรียนการสอน ที่เน้นให้สมาชิกมาเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างความรู้ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาได้ในที่สุด  ขณะเดียวกันวิธีการเช่นนี้ก็นำไปใช้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีสมาชิกหลากหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น  ซึ่งทั้งหมดก็ยังอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ ธ.ก.ส.

 

 

 

 

ฟังแล้วน่าปลื้มใจแทนครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท