จุดเปลี่ยนของวิถีชีวิตเกษตรกรต้นแบบในโครงการชุมชนเป็นสุขภาคอีสาน


วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป๋
ตัวอย่างกรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล
พ่อปัญญา เพชรนอก ปัจจุบันอายุ 54 ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ 129 หมู่ที่ 3 บ้านหนองปลิง ตำบลดอนเมย อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ภรรยาชื่อนางบัวพันธ์ เพชรนอก ปัจจุบันอายุ 51 ปี มีบุตรชายด้วยกัน 2 คน มีที่ดินทำกิน 11 ไร่ ซึ่งเป็นมรดกทางฝ่ายภรรยา
วิถีชีวิตก่อนมาเข้าร่วมเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน
                พ่อปัญญาและภรรยาประกอบอาชีพทำนาบนที่ดิน 11 ไร่ ซึ่งเป็นที่นาดอน ในการทำการเกษตรนั้นพ่อปัญญาและภรรยาจะใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเหมือนกับเกษตรกรทั่วไป ต้องใช้ปุ๋ยเคมี 5-7 กระสอบต่อปี ได้ผลผลิตข้าวเพียงพอแก่การบริโภคในครัวเรือน เลี้ยงวัว พอมีรายได้จุนเจือครอบครัว พ่อปัญญาเคยได้ยินเรื่องการทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยเหมักชีวภาพ แต่ก็ไม่สนใจ พ่อปัญญาเป็นคนรักสะอาด พื้นที่นาต้องไม่รกรุงรัง ถ้ามีใบไม้และกิ่งไม้ร่วงลงมาก็เผาทิ้งทั้งหมด เมื่อมีต้นไม้เล็กเกิดขึ้นมาสับทิ้งทั้งหมดเพราะกลัวร่มเงาจะกระทบผลผลิตข้าว “หงำนา” การทำเกษตรที่ไม่หลากหลายครอบครัวของพ่อปัญญาจึงต้องพึ่งพาร้านค้าในหมู่บ้านอยู่เสมอ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้ในครอบครัวไม่เคยทำบัญชีรับ- จ่าย แต่รู้ว่ารายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บางปีแม่บ้านต้องไปรับจ้างทำงานในโรงงานที่ชลบุรี เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งในขณะนั้นลูกชายคนโตเรียนอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนพ่อปัญญาอยู่กับลูกชายคนเล็กเพียง 2 คน พ่อปัญญาต้องไปรับจ้างเลื่อยไม้ในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง จนกระทั่งได้รับอุบัติเหตุไม้ทับไหล่ขวา หมอบอกว่ากระดูกทับเส้น ทำให้ต้องเดินทางไปฉีดยาที่คลินิกในจังหวัดอำนาจเจริญทุกเดือน
                พ่อปัญญาเลิกสูบบุหรี่นานหลายปีแล้ว เนื่องจากภรรยาไม่ชอบ แต่ยังชอบดื่มเหล้าเวลามีงานในหมู่บ้าน เพื่อนชวนไปไหนก็ไป เวลาเมาเหล้าแล้วไม่สนใจงานเกษตร ไม่สนใจครอบครัว บางครั้งก็ชวนเพื่อนมาดื่มเหล้าที่นา ซื้อเหล้าและจับปลามาทำอาหารเลี้ยงเพื่อน ๆ เพราะความ “ใจใหญ่” กลับมาบ้านแม่บ้านจะเปลี่ยนชื่อให้เสมอ การพนันก็เล่นบ้าง ส่วนมากเป็นการซื้อหวย ซื้อหมดครั้งละไม่เกิน 20 บาท
                เมื่อภรรยาไปทำงานที่ต่างจังหวัด พ่อปัญญานอนไม่ค่อยหลับ คิดมาก มีหนี้สินเพราะส่งลูกเรียน และต้องรักษาตัวเอง ทุกข์ใจมาก

 

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง
                เมื่อปี 2540 มีคนในหมู่บ้านเดียวกันมาชวนพ่อปัญญา เข้าร่วมเครือข่ายพ่อชาลี มาระแสง เนื่องจากเห็นว่าพ่อปัญญาทำเกษตร ปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงปลาและเลี้ยงวัวอยู่แล้ว พ่อปัญญาได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมหลักสูตร วปอ. จากมูลนิธิฯ ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกไปในนามผู้สนใจ ต่อมาไปอบรมภายใต้โครงการ SIF (Social Investment Found) และครั้งสุดท้ายในนามตัวแทนเกษตรกรต้นแบบ เมื่อได้รับการอบรม วปอ. ทำให้ได้สติ คิดทบทวนสิ่งที่ผ่านมา จึงเห็นว่าการดื่มเหล้ามากเป็นผลไม่ดี ทำให้เสียนิสัย เสียเงิน เสียบุคลิก เสียสุขภาพ และเมื่อได้ไปร่วมประชุมในเวทีประชุมประจำเดือนสัญจรได้รับฟังธรรมะจากหลวงพ่อบัญญัติ อนุตตโร และฟังธรรมะจากรายการวิทยุเป็นประจำทุกเช้า – เย็น ทำให้ตัดสินใจเลิกเหล้า เลิกเล่นการพนัน เลิกซื้อหวย รู้จักหลีกเลี่ยงเมื่อมีคนมาชวนให้ดื่มเหล้า ก็บอกเขาว่าหมอห้ามไม่ให้ดื่มเพราะป่วย หันมาสนใจทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกพืชผักให้หลากหลาย เห็นคุณค่า ของต้นไม้จึงปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น และอนุรักษ์ต้นไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติให้เจริญเติบโตต่อไป ใบไม้ที่ร่วงลงมานำไปใส่ในนาข้าว กิ่งไม้ นำมาทำเป็นฟืน ปลาที่เลี้ยงไว้ในสระเอาไว้กินในครอบครัว มีอาหารเลี้ยงในเวทีประชุมเกษตรกรเป้าหมายและเกษตรกรต้นแบบ การทำนาก็ใช้ปุ๋ยเคมีลดลง จนกระทั่งปี 2545 เลิกใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีโดยเด็ดขาด เพราะได้รับความรู้จากวารสารเครือข่ายฯ อีกทั้งเพื่อนบ้านเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่ามีคนในหมู่บ้านใช้ยาฆ่าหญ้าฉีดพ่นตามคันนา เมื่อเดินเท้าเปล่าขณะที่ เท้าเป็นแผลเพียงเล็กน้อยเพื่อไปถอนหญ้าในแปลงนา ต้องล้มป่วยลง หมอบอกว่ามีสารเคมีในร่างกาย ผ่านไป 1 สัปดาห์ก็เสียชีวิต พ่อปัญญาจึงพยายามเลิกใช้ปุ๋ยเคมี สังเกตว่าแต่ก่อนใช้ปุ๋ยเคมี เมื่อถึงฤดูทำนา ดำนาเสร็จขึ้นจากแปลงนารู้สึกคันตามนิ้วเท้า แต่ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร วิธีการรักษาคือเอาลูกมะเกลือดิบทุบแล้วนำมาทาบริเวณที่คัน ทิ้งไว้สักพักอาการก็ดีขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นเพราะปุ๋ยเคมี จากการอ่านวารสาร และสังเกตเห็นปลา ปู กบ เขียดในนาตายและมีบาดแผลด้วย พ่อปัญญาหันมาทดลองทำนาโดยใช้ปุ๋ยขี้ไก่และไถกลบฟางข้าว ปรากฏว่าผลผลิตข้าวที่ได้ไม่แตกต่างกันระหว่างปุ๋ยเคมีกับวิธีธรรมชาติของพ่อปัญญา แต่วิธีของพ่อปัญญาต้นทุนต่ำกว่า ในการปลูกพืชผัก ผลไม้ ใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ในช่วงแรก ๆ ที่หันมาทำแบบนี้แล้วนำผลผลิตไปขายในหมู่บ้านชาวบ้านไม่ค่อยสนใจ ขายไม่ดี ชาวบ้านบอกว่าพืชผักไม่งามสู้ของตลาดไม่ได้ ต่อมาปี 2546 ชาวบ้านหันมาสนใจเรื่องผักปลอดสารพิษมากขึ้น ผลผลิตเริ่มขายดี ประกอบกับตนเองและภรรยาขายในราคาไม่แพง บางครั้งมีชาวบ้านมาขอซื้อบอกว่ายังไม่มีเงินก็เอาไปกินก่อนได้ มีบ่อยครั้งที่แม่บ้านแจกฟรี เพราะการทำเกษตรปลอดสารพิษไม่ได้ลงทุนมากมาย ไม่มีขาดทุน ชาวบ้านต่างบอกว่าผลผลิตจากนาพ่อปัญญาอร่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อ ชาวบ้านบอกว่า “หวานอร่อยกว่าตลาด”สมาชิกในกลุ่มเกษตรกรเป้าหมายและคนในหมู่บ้านที่ได้มาเห็นแปลงเกษตรของพ่อปัญญาต่างบอกว่าอุดมสมบูรณ์ดี มีทุกอย่าง ทำให้พ่อปัญญาและภรรยามีกำลังใจในการทำงานต่อไป
                ปี 2544 ภรรยากลับมาอยู่ด้วยกันที่บ้าน จึงพากันออกไปอยู่ที่นาตลอด แรก ๆ ภรรยาก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่พ่อปัญญาทำ ต่อมาปี 2546 จึงได้ส่งภรรยาเข้ารับการอบรม วปอ. ในฐานะเกษตรกรเป้าหมายของหมู่บ้าน เมื่อภรรยากลับจากอบรม วปอ. เข้าใจกันมากขึ้น ช่วยกันพัฒนาแปลงเกษตร ปัจจุบันชีวิตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่นา ทำงานในแปลงเกษตร ทำอาหารกินเอง ตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 ฟังธรรมะ หาบน้ำรดพืชผักและต้นไม้ ระหว่างที่หาบน้ำก็เปิดเพลงออกกำลังกายไปด้วย มีความสุข สนุกสนานในการทำงาน พ่อปัญญาบอกว่า “อยู่ที่นาอากาศดี ไม่มีเสียงรบกวน เย็นสบายโดยไม่ต้องใช้พัดลม บางคืนไปนอนที่บ้านนอนไม่หลับ เสียงดัง เสียงรถมอเตอร์ไซด์บ้าง รถยนต์บ้าง” มีการจดบันทึกรายจับรายจ่ายตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
                เมื่อเป็นเกษตรกรต้นแบบได้มีโอกาสเข้าร่วมในเวทีประชุมสัญจรประจำเดือน คุณหมอทานทิพย์ได้พาออกกำลังกาย ผ่อนคลายกล้ามเนื้อและแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จึงได้นำท่าทางการออกกำลังกายและคำแนะนำของคุณหมอทานทิพย์กลับมาปฏิบัติเองที่บ้านอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าอาการปวดไหล่ (กระดูกทับเส้น) ดีขึ้น ไม่ต้องไปฉีดยาที่คลินิกทุกเดือน
                ปัจจุบันหนี้สินยังมีอยู่ แต่มีแนวทางในการปลดหนี้ ตั้งใจเก็บเล็กผสมน้อยจากการขายผลผลิตในแปลงเกษตร และลูกชาย 2 คน ได้ทำงานที่ กทม.แล้ว ถึงแม้ว่าลูกชายทั้ง 2 คน ยังไม่กลับมาอยู่ด้วย แต่ก็ทำทุกอย่างไว้เพื่อลูก เวลาลูกมีปัญหาเป็นที่พึ่งของลูกได้ เมื่อลูกกลับมาเยี่ยมบ้านก็เล่าสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ลูกฟัง ให้ลูกได้มีโอกาสไปเห็นแปลงเกษตร ลูกจะตัดสินใจกลับมาสานต่องานเกษตรหรือไม่นั้น สุดแท้แต่ลูก จะไม่บังคับ
                มีแผนในการขยายเครือข่ายการเรียนรู้ในหมู่บ้านคือ ปี 2549 คิดว่าจะทำบุญนา นิมนต์พระมาฉันภัตตาหารที่แปลงเกษตร เป็นการชักชวนให้คนในหมู่บ้านมาทำบุญร่วมกัน และจะได้เห็นสิ่งที่ตนเองทำ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านยังไม่เคยมาเห็นพื้นที่เกษตรของพ่อปัญญา และมีโครงการที่อยากดำเนินการในอนาคต คือ สร้างสวนไผ่ ปลูกต้นยางนาและต้นสักเพิ่มขึ้น

 

จุดเปลี่ยนของวิถีชีวิตพ่อปัญญา
                “เมื่อมีคนมาชักชวนแล้วเกิดความสนใจ ใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา”
“ได้ฟังธรรมะจากหลวงพ่อบัญญัติ อนุตตโร และธรรมะจากรายการวิทยุ”
                “ได้เข้ารับการอบรม วปอ. 3 ครั้ง และภรรยาก็ผ่านการอบรม วปอ.เหมือนกัน”
                “ออกมานอนนาแล้วอากาศดี ไม่มีเสียงรบกวน ค่าใช้จ่ายลดลง ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ใช้แบตเตอรี่แทน”
                “เมื่อเข้าร่วมเครือข่ายฯ แล้วสุขภาพดีขึ้น ภรรยากลับมาอยู่ด้วยกัน ทำงานช่วยกัน”
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 759เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2005 06:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท