เรื่องเล่าจากดงหลวง 15 สหายเชด


สหายท่านนี้เมื่อจากดงหลวงไปพร้อมกับพี่น้องไทโซ่ที่เป็นทหารพิทักษ์หลายคนนั้นไม่มีโอกาสได้กลับมาอีกเลย สหายท่านนี้ก็คือ พ.ท.พโยม จุฬานนท์ บิดาท่าน พลเอก สุรยุทธ์ จุฬานนท์ ท่านมีชื่อในป่าว่า “สหายคำตัน” เข้าใจว่าท่านตั้งชื่อนี้เพราะขึ้นไปอยู่ภาคเหนือ เพราะ “คำตัน” เป็นคำพื้นเมืองเหนือ แต่พี่น้องโซ่ดงหลวงรู้จักท่านในนาม “สหายเชด”

1.             คำบอกเล่า: พ่อชาดี วงษ์กะโซ่ ผู้นำคนสำคัญของเครือข่ายไทบรูอยู่ที่บ้านเลื่อนเจริญ ต.ดงหลวงอ.ดงหลวงจ.มุกดาหาร ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ใกล้ชิดท่านพ.ท.พโยม เพราะมีหน้าที่เอาข้าวเอาน้ำส่งท่านทุกวัน  เป็นเวลาประมาณ 1 ปี ก่อนที่ท่านจะเดินทาไปภาคเหนือ ซึ่งพี่น้องไทโซ่ก็เป็นทหารอารักษ์ตามไปด้วยจำนวนหลายคน พ่อชาดีบอกว่าตอนนั้นประมาณ พ.ศ. 2506-2507 พ่ออายุประมาณ 20 ปีเศษ....ผู้ใหญ่มอบหมายให้เอาอาหารไปให้สหายสำคัญคนหนึ่ง ทุกวัน ตอนเช้า พ่อชาดีก็เอาข้าวเหนียวใส่กระติ๊บ พร้อมกับข้าวท้องถิ่นตามฤดูกาล เดินทางไปให้ที่ริมป่าห้วยขี้หมู บ้านหนองหมากสุก ต.ดงหลวง อ.ดงหลวง บางที่ก็ไปพักที่นาเหล่าใหญ่

 

ตอนนั้น สหายท่านนี้ดูอายุจะประมาณ 50 เศษ ผิวเนื้อดำแดง หน้าตากลมๆ พูดจาฉะฉานแม้สุขภาพท่านไม่ค่อยดี  ไอเป็นประจำ ซึ่งท่านสูบบุหรี่พื้นบ้าน เมื่อมวนบุหรี่ใกล้หมดท่านจะขยี้ทิ้ง ท่านไม่ได้อยู่คนเดียวจะมีเพื่อนอยู่ด้วย โดยมากจะเป็นพ่อล้วน วงษ์กะโซ่ สหายนำคนหนึ่งของพื้นที่ดงหลวง พ่อล้วนเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายไทบรูด้วย (ท่านเสียชีวิตเมื่อต้นปี 2549 นี่เอง) สหายท่านนี้จะผูกเปลนอนระหว่างต้นไม้เอาพลาสติกมุงกันฝนตก เวลาพ่อชาดีเอาข้าวไปให้ เมื่อถึงที่พักก่อนเข้าพบต้องส่งสัญญาณโดยการเคาะต้นไม้ให้มีเสียงดัง 3 ครั้ง เมื่อได้ยินเสียงเคาะตอบจึงเข้าไปพบได้ เนื่องจากท่านเป็นนายทหาร และมีความรอบรู้เรื่องมากมาย ท่านจึงมักใช้เวลาส่วนใหญ่ทำการอบรม ให้ความรู้เรื่องต่างๆแก่พี่น้องชาวโซ่ที่ไปพบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานการณ์บ้านเมืองและสถานการณ์โลก ท่านจะพาชาวบ้านที่แดงเด่น หรือปิดลับไม่ได้แล้วไปรับการศึกษาที่ค่ายทหารต่างๆ 

 

พ่อชาดี ได้เรียนรู้เรื่องราวประเทศและโลกจากท่านมากมาย  เมื่อครบกำหนดประมาณ 1 ปี สหายท่านนี้ก็เดินทางต่อไปทางภาคเหนือ มีพี่น้องไทโซ่เป็นทหารคุ้มกันที่เรียกทหารอารักษ์ไปด้วยหลายคน  ส่วนพ่อชาดีก็เดินทางไปเวียตนาม ศึกษาลัทธิการเมือง การทหารและการรักษาโรคอย่างพื้นฐานเป็นเวลา 12 เดือน เมื่อกลับบ้านดงหลวงก็ใช้ชีวิตแบบกึ่งบ้านกึ่งป่า โดยได้รับมอบหมายให้ไปหามวลชนที่เขตคำชะอี  ซึ่งได้ใกล้ชิดคุณหมอแหวง โตจิราการ หน้าที่หลักอีกประการของพ่อชาดีคือเป็นทหารสื่อสาร ส่งข่าวสารต่างๆให้สหายนำในป่า  โดยมากข่าวต่างๆจะถูกวิเคราะห์ก่อน นี่คือคุณสมบัติของพ่อชาดีในปัจจุบันที่ชอบวิเคราะห์ หรือมีความถนัดในการวิเคราะห์ขณะที่คนอื่นๆไม่มีหรือมีน้อยกว่า

 สหายท่านนี้เมื่อจากดงหลวงไปพร้อมกับพี่น้องไทโซ่ที่เป็นทหารพิทักษ์หลายคนนั้นไม่มีโอกาสได้กลับมาอีกเลย  สหายท่านนี้ก็คือ พ.ท.พโยม จุฬานนท์ บิดาท่าน พลเอก สุรยุทธ์ จุฬานนท์ ท่านมีชื่อในป่าว่า สหายคำตันเข้าใจว่าท่านตั้งชื่อนี้เพราะขึ้นไปอยู่ภาคเหนือ เพราะคำตันเป็นคำพื้นเมืองเหนือ แต่พี่น้องโซ่ดงหลวงรู้จักท่านในนามสหายเชด

หมายเลขบันทึก: 75390เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2007 22:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ถ้าวิญญาณสหายคำตันยังอยู่เวลานี้ ท่านคงจะบอกว่ากูไม่น่ามีลูกชายเลย

สวัสดีค่ะ

ได้ติดตามอ่าน เรื่องของสหายคำตัน (พ.ท.พโยม) จากหนังสือหลายฉบับที่เขียนโดยนายทหารและนักปฏิวัติ  ล่าสุดอ่านจาก "คมเสธแดง" และการสูญเสียกองกำลังที่สมรภูมิบ้านป่าแลว น่าน  ทำให้ รอ.จีรนันท์ และ รอ.ชาติชาย อุบลเดชประชารักษ์ และนายทหารหนุ่ม ๆ เสียชีวิตหลายนาย

เหมือนเป็นการรบระหว่างยุทธวิธีของรุ่น  "ลุงกับหลาน"   ขอขอบคุณเรื่องเล่าค่ะ แม้นานแล้ว แต่ก็ยังมีคนสนใจอ่านนะคะ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ หวงว่าสบายดีนะครับ คงมีโิกาสได้พบกันบ้างครับ

บางทราย ลำน้ำสายเลือดไทยบรูดงหลวง และพี่น้องภูไทยคำชะอี เทือกภูเขาภูสีฐาน ลำห้วยบางทราย ห้วยตาเปอะ ภูหลักควาย

ลุบอีเลิศ ผาชาน ภูไก่เขี่ย เชื่อมต่อด้วยสายห้วยบังอี ห้วยทราย ห้วยคันแท ห้วยมุก เขตหาอยู่หากินร่วมของพี่น้องทั้งเขตจังหวัดมุกดาหารและอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เขตงาน 333 เขตงานนี้นอกจากมีโอกาสได้ปกป้อง สหายเชด (พ.ท.พโยม) สหายเข้ม (นายแพทย์เหวง โตจิราการ) สหายยศ เจ้าของ บทกลอน นิราศแม่ โดยยงค์ ยโสธร หรือ อดีต ส.ส.จังหวัดยโสธร พรรคสังคมนิยม ผู้เงียบไปกับลมทะเลตะวันออก ตะวันยังรำลึกถึงทุกท่าน และยังติดตามความเคลื่อนไหว ตลอด 50 ปี ที่ได้พบและรู้จัก ในภารกิจการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่

ขอน้อยขอคารวะ ท่านตะวัน ภูสีฐานและทุกผู้ทุกนามที่กล่าวถึงครับ

คุณ ส.บางทราย ผมเชื่อว่าบรรดาทหารพิทักษ์ ที่ติดตามสหายเชดหรือ ลุงคำตัน ขึ้นทางเหนือ (เขตน่านเหนือ) แล้วไม่ได้กลับมาที่ดงหลวง และมีบุตรหลานนักปฏวัติ สืบทอดอุดมการณ์มาจนทุกวันนี้ กำนันตำบลขุนน่าน ท่านให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือเดอะเนชั่นสุดสัปดาห์ ว่าพ่อผมเป็นภูไทย เป็นนักปฏิวัติจากนครพนม แม่ผมเป็นชนเผ่าลัวะ จังหวัดน่าน กำนัน ส.พรหมภักดี ผู้มีส่วนสร้างให้ตำบลขุนน่าน พัฒนาได้ก้าวไกล ดังประจักษ์อยู่ทุกวันนี้ เราชาวดงหลวงควรภาคภูมิใจยิ่งนัก ผมเลือดภูไทยจึงภูมิใจยิ่งนักที่คน ภูไทยไปมีชื่อเสียงอยู่ทางเหนือสุดของประเทศ (ผมเอ๋ยถึงท่านกำนันด้วยความภาคภูมิใจนะครับ จะหาโอกาสไปคารวะให้ได้สักครั้ง)

ส. ตะวันครับ ขอบคุณมากๆครับที่เติมข้อมูลที่สำคัญ ผมทำงานกับโซ่ หรือ บรู ดงหลวง และพี่น้องผู้ไท ในทางวิชาการนั้น ผู้ไท เป็นกลุ่มชนเผ่าที่ขยัน ทันสมัย ปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า ค้าขายเก่ง เป็นผู้นำ สอาด และเรียนรู้เก่ง เรียกว่าเป็นชนเผ่าที่ก้าวหน้ากว่า สตรีโดดเด่นมาก มากกว่า สตรีเผ่าโซ่ รวมกลุ่ม ทำงานแซงหน้าผู้ชายในหลายเรื่อง สตรีผู้ไทหลายท่านเป็นผู้นำ แต่สตรีโซ่เกือบไม่มีเลย ผมทำงานสนับสนุนชาวบ้านตั้งตลาดชุมชน พบว่า สตรีผู้ไทยสามารถตั้งตลาดชุมชนได้และบริหารงานได้ดีมากๆ เติบโตมากมีเงินหมุนเวียนในชุมชนเดือนละมากมาย เป็นการพึ่งตนเองในระดับหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้เงินไหลออกจากชุมชน หรือให้ไหลออกน้อยที่สุด

ลัวะนั้นผมยังไม่เคยทำงานด้วย เพียงแต่ได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังเท่านั้นครับ

ขอบคุณมากๆที่มาเติมข้อมูลให้ครับ

ความรีบเร่ง และดีใจที่มีโอกาสแลกเปลี่ยน ทำให้พลาดไป กำนันตำบลขุนน่าน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ชื่อมงคล พรหมพินิจ ในอดีตคือเขตงานภูพยัคฆ์ (น่านเหนือ) เขตอำนาจรัฐของ พคท.กำนันผู้ส่งเสริมโครงการปิดทองหลังพระ เจ้าของคำกล่าวที่ว่า "เราพากันไปตายยังไปได้ ทำไมเราจะแก้จนให้ชาวบ้านไม่ได้" อยากให้ตำบลขุนน่าน เหมือนโครงการดอยตุง นี่เป็นความคิดของ สหายบ่อเนิน หรือมงคล พรหมพินิจ ซึ่งตั้งแต่เกิดจนอายุสิบห้าปี เขาและครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในป่า และจับอาวุธสู้รบกับรัฐบาลตลอดมา (จากคำให้สัมภาษณ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับ 952) ผมกล่าวถึงท่านกำนันด้วยความนับถือและชื่นชม เมื่อวานผมเขียนนามสกุลท่านกำนันผิดไป หากมีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมรำลึกที่อนุสรณ์สถานภูพยัคฆ์ ภูแว ในช่วง 11-12 ธันวาคมทุกปีก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ไว้สนทนากันอีกนะครับ

ยินดียิ่งครับที่มาเติมข้อมูลครับ สังคมต้องการคนจริงจังสร้างบ้านแปงเมืองอย่างท่านกำนันนะครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท